จากธุรกิจที่พลาดตั้งแต่ก้าวแรก Salad Factory พลิกมาเป็นร้านสลัดพันล้านได้อย่างไร

จากธุรกิจที่พลาดตั้งแต่ก้าวแรก Salad Factory พลิกมาเป็นร้านสลัดพันล้านได้อย่างไร

Salad Factory ธุรกิจที่พลาดตั้งแต่ก้าวแรก แต่สามารถพลิกมาเป็นแบรนด์ ‘ร้านสลัดพันล้าน’ ในเวลาต่อมา พวกเขามีกลยุทธ์และมุมมองที่น่าสนใจ ทำให้ก้าวมาสู่รายได้เฉียดพันล้านบาทต่อปี

  • Salad Factory เป็นร้านสลัดและอาหารสุขภาพที่เริ่มจากร้านเล็ก ๆ ย่านเมืองทอง 
  • เดิมร้านนี้มี ‘ปิยะ ดั่นคุ้ม’ และเพื่อนอีกสองคนลงทุนร่วมกัน ซึ่งเปิดร้านไม่นานก็เกิดปัญหาจนเกือบไปต่อไม่ได้
  • ทว่าตอนนี้ Salad Factory มีสาขา 34 สาขา ทำรายได้ไป 600 ล้านบาท และจะทะลุพันล้านบาทในปี 2024

หลายคนบอกว่า ก้าวแรกมักสำคัญเสมอ เพราะนั่นอาจจะเป็นดัชนีที่สามารถคาดการณ์ได้ว่า สิ่งที่ทำจะล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ ไม่ต่างจากการทำธุรกิจ แต่ใช่ว่า ทุกเรื่องจะไม่มีข้อยกเว้น

อย่างกรณี Salad Factory ร้านสลัดและอาหารเพื่อสุขภาพที่ก่อตั้งในปี 2012 เริ่มต้นจากร้านในอาคารพาณิชย์เล็ก ๆ ย่านเมืองทางธานีที่เจอปัญหาใหญ่เกือบไปไม่รอดหลังเปิดได้แค่ 2 เดือน แต่ปัจจุบันสามารถขยายสาขาถึง 34 สาขา และจากปีแรกทำรายได้หลักล้าน ตอนนี้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยรายได้ปี 2023 จะอยู่ที่ 600 ล้านบาท และจะแตะ 1,000 ล้านบาทในปี 2024

อะไรคือจุดเปลี่ยนที่พลิกสถานการณ์ของ Salad Factory ? 

Salad Factory เกิดจาก ‘ปิยะ ดั่นคุ้ม’ กับเพื่อนเห็นโอกาสธุรกิจในยุคนั้นที่มีร้านสลัดและอาหารสุขภาพในบ้านเรายังมีน้อยมาก จึงชักชวนเพื่อน 2 คนมาเปิดร้านอาหารแบบนี้ร่วมกัน โดยใช้เวลาตัดสินใจเพียง 2 อาทิตย์ 

พลาดตั้งแต่ก้าวแรก

ช่วงแรก Salad Factory เป็นร้านอาหารที่รองรับลูกค้าในย่านเมืองทอง แต่ด้วยความใหม่ของร้านประเภทนี้ในยุคนั้น ทำให้ผู้บริโภคไม่ค่อยเข้าใจคอนเซปต์ของร้าน เวลาคนเดินผ่านไปผ่านมาก็นึกว่าร้านขายผัก เขากับเพื่อนร่วมลงทุนและพนักงานต้องพยายามเข้าไปพูดคุยแนะนำเมนูกับลูกค้า ขณะเดียวกันก็เพื่อฟังความคิดเห็นและความต้องการจากผู้บริโภคสำหรับนำมาพัฒนาร้าน

แม้ปิยะเองจะมีประสบการณ์ทำร้านอาหารมาในช่วงไปศึกษาระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่การเป็นเด็กเสิร์ฟไต่ระดับไปจนเป็นผู้จัดการร้าน แต่นั่นทำในฐานะ ‘พนักงาน’ ไม่ใช่ ‘เจ้าของธุรกิจ’ ที่ต้องดูแลเรื่องการเงิน การลงทุน และการบริหารจัดการต่าง ประกอบกับการวางแผนที่ไม่ดีพอ และขาดความเข้าใจในการทำธุรกิจ ทำให้มีปัญหามาให้แก้แบบรายวัน สุดท้ายเพื่อนขอแยกตัวไม่ทำต่อ 

“ตอนนั้นทำด้วยใจล้วน ๆ มีอุดมการณ์มีความตั้งใจ แต่ไม่ได้วางแผนดีพอ ไม่เข้าใจในการทำธุรกิจ ไม่ได้คุยรายละเอียดอื่น ๆ คิดว่าเพื่อนกัน ทำให้ความต้องการของแต่ละคนไม่ตรงกันและเกิดปัญหาจนเพื่อนขอไม่ทำต่อ” ปิยะเล่าให้ The People ฟัง

จากธุรกิจที่พลาดตั้งแต่ก้าวแรก Salad Factory พลิกมาเป็นร้านสลัดพันล้านได้อย่างไร

เรียนรู้ความล้มเหลวเพื่อตั้งหลักสู้ใหม่

ณ เวลานั้นเขายอมรับว่า ตัวเองมืดแปดด้านมองไม่เห็นทางไปต่อ แต่ยังโชคดีที่ทางครอบครัวของเขาเข้ามาซัพพอร์ต โดยแม่และน้องสาวเข้ามารับดูแลด้านบัญชี น้องชายมาดูแลการจัดการร้าน

และจากเหตุการณ์ดังกล่าว สอนให้เขาเรียนรู้ว่า ถ้าต้องการทำธุรกิจต้องเริ่มจากการวางแผนให้ดี  ศึกษาให้รู้และทำทุกอย่างเองให้เป็นหมด เพราะหากเกิดปัญหาในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง คุณต้องสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองแบบไม่ต้องหวังพึ่งคนอื่น

ที่สำคัญ รายละเอียดของการทำงานหรือเกี่ยวกับสัญญาต่าง ๆ ต้องมีการพูดคุยกันแบบเปิดใจและลงลึกในเรื่องรายละเอียด เพื่อให้การทำงานชัดเจน และไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง 

“เรื่องพวกนี้แม่ผมพูดให้ฟังตอนเกิดปัญหา พอฟังปุ๊ปผมลงไปทำเองเลยไม่ว่าจะซื้อของเข้าร้าน เข้าครัว เพื่อให้รู้หากมีปัญหาต้องแก้อย่างไร ไม่ใช่หวังจะพึ่งคนอื่นอย่างเดียว ส่วนหนึ่งยอมรับโชคดีครอบครัวซัพพอร์ตทำให้ผ่านพ้นปัญหามาได้”

หลังจากใช้เวลาตั้งหลักอยู่พักหนึ่ง ปิยะได้เริ่มต้นมาพัฒนาร้านต่ออีกครั้ง ภายใต้ความตั้งใจอยากให้ Salad Factory เป็นร้านอาหารสุขภาพที่รับประทานได้ทุกวัน และเข้าถึงทุกคน ซึ่งนอกจากคุณภาพแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการราคาสมเหตุสมผล โดยวางราคาสลัดเริ่มต้นที่ 95 บาท อาหารจานหลักเริ่มต้น 120 บาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยความใหม่ของร้านคนยังไม่ค่อยรู้จัก และอาจจะเข้าใจลูกค้าได้ไม่ดีนัก การแก้อุปสรรคในเรื่องนี้ เขาเลือกดูแลลูกค้าเสมือนคนในครอบครัว ถามความต้องการของลูกค้าว่า อยากได้เมนูประเภทไหน อาหารประเภทใด เพราะต้องการทำความรู้จักและสร้างความไว้วางใจไปเรื่อย ๆ จากนั้นค่อยปรับและพัฒนาเพื่อทำอาหารและให้บริการได้ดีที่สุด

จากธุรกิจที่พลาดตั้งแต่ก้าวแรก Salad Factory พลิกมาเป็นร้านสลัดพันล้านได้อย่างไร ผ่านไป 2 ปี Salad Factory เริ่มได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น จึงเริ่มขยายสาขา 2 ที่โรบินสัน ศรีสมาน ตามด้วยสาขา 3 เลียบทางด่วนรามอินทรา กระทั่งปัจจุบันมีทั้งหมด 34 สาขา 

ส่วนรายได้จากปีแรกทำได้หลักล้านบาท ก็เติบโตเรื่อย ๆ กระทั่งในปี 2020 ไปสะดุดตาและโดนใจหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของธุรกิจอาหารอย่าง ‘บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด’ หรือ CRG ผู้บริหารเชนดังอาทิ Mister Donut, KFC, Auntie Anne’s, Pepper Lunch, Chabuton, Cold Stone Creamery, ไทยเทอเรส, อร่อยดี, Yoshinoya, Ootoya ฯลฯ ขอเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมลงทุนด้วยการถือหุ้น 51% 

ดีลนี้ปิยะใช้เวลาคุยเป็นปี และคุยแบบเปิดอกในทุก ๆ เรื่อง ทั้งเป้าหมายที่ต้องการ ทิศทางการเติบโตในอนาคต และเรื่องอื่น ๆ ที่ต่างฝ่ายต้องมีความเชื่อมั่นและเชื่อใจกันไม่ต่างไปจากการตัดสินใจแต่งงาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนตอนที่เขาเริ่มต้นธุรกิจกับเพื่อน ๆ 

“เป้าหมายของผม คือ เราอยากโตอย่างยั่งยืน และเรายังอยากดูแลคนที่เกี่ยวข้องกับเราในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า พนักงาน และดีลเลอร์ มีการขยายสาขา รายได้เติบโตอย่างปี 2023  เราจะทำรายได้ที่ 600 ล้านบาท และจะทะลุไปหลักพันล้านบาทในปี 2024 ด้วยจำนวนสาขา 50 สาขา”

อย่าลดความฝันของตัวเอง ให้เรียนรู้และเพิ่มที่การกระทำ

จากธุรกิจที่พลาดตั้งแต่ก้าวแรก Salad Factory พลิกมาเป็นร้านสลัดพันล้านได้อย่างไร

สำหรับผู้ประกอบการเชื่อว่า ทุกคนย่อมฝันอยากจะเห็นธุรกิจของตัวเองประสบความสำเร็จ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นปิยะบอกว่า การเริ่มต้นเป็นอะไรที่ยากที่สุด เนื่องจากหลายคนไม่รู้จะทำอย่างไร ดังนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้และทำการบ้านเยอะ ๆ 

ที่สำคัญเมื่อคิดแล้วต้องลงมือทำ เพราะถ้ามัวแต่คิด ไม่ลงมือก็ไม่เกิดประโยชน์ และเมื่อเจอปัญหา ต้องทำความเข้าใจแล้วรีบแก้ให้เร็ว

ต่อมา คืออย่าหยุดอยู่กับที่ และต้องมีความซื่อสัตย์และจริง ไม่เช่นนั้นเดินต่อยาก ส่วนการแข่งขันเป็นเรื่องปกติ และการเรียนรู้จากคู่แข่งจะทำให้เราแข็งแกร่ง หากทำทั้งหมดแล้วยังไม่สำเร็จ ก็อย่าลดความฝันของตัวเอง แต่ให้เพิ่มที่การกระทำ 

เหมือนกับตัวเขาเองที่ล้มตั้งแต่ก้าวแรกของการเริ่มต้นทำธุรกิจ สุดท้ายการเรียนรู้และไม่ยอมแพ้ ทำให้จากร้านเล็ก ๆ ที่คนไม่รู้จัก วันนี้ Salad Factory กลายเป็นหนึ่งร้านดังที่มีจำนวนสาขากระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ และจะก้าวสู่แบรนด์ระดับพันล้านภายในปี 2024 

 

ภาพ: กัลยารัตน์ วิชาชัย