‘Carolco’ บทเรียนของความบ้า กล้า และแพงที่สุดในฮอลลีวูด

‘Carolco’ บทเรียนของความบ้า กล้า และแพงที่สุดในฮอลลีวูด

บทเรียนจาก ‘Carolco Pictures’ สตูดิโอผู้สร้างภาพยนตร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเขย่าฮอลลีวูดด้วยวิสัยทัศน์สุดโต่ง งบประมาณทะลุเพดาน และการตัดสินใจที่กล้าบ้าบิ่น

KEY

POINTS

  • จุดเริ่มต้นของสตูดิโออินดี้ที่กลายเป็นยักษ์ใหญ่ ด้วยการกล้าเสี่ยงลงทุนภาพยนตร์ระดับปรากฏการณ์ในยุค 80s-90s
  • วิสัยทัศน์ที่กล้าคิดใหญ่ สร้างหนังแพงที่สุดในโลก ณ เวลานั้น ทำให้ Carolco เป็นทั้งผู้นำและเหยื่อของเกมทุนในฮอลลีวูด
  • เมื่อความทะเยอทะยานไม่อาจควบคุมได้ Carolco จึงกลายเป็นบทเรียนราคาแพงของการบริหาร ความโลภ และอีโก้ที่ล้นเกิน

“การทำงานกับเขาเป็นเรื่องน่าเคารพ ฮอลลีวูดไม่ใช่คารอลโค และคารอลโคก็ไม่ใช่ฮอลลีวูดเลย” พอล เวอร์โฮเวน ผู้กำกับชื่อดังให้นิยาม ‘คารอลโค’ (Carolco) บริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่ายหนังอิสระที่เคยโด่งดังเมื่อกว่า 30 ปีก่อน นานพอให้ใครลืมเลือน แต่คงไม่ใช่สำหรับคนดูหนังทั่วโลก หนังของคารอลโคยังคงปรากฎอยู่บนจอต่าง ๆ จนถึงวันนี้

ภาพแสงสีขาวอมฟ้าวิ่งเคี้ยวคดเป็นรูปตัว C พร้อมเพลงประกอบของ ‘เจอร์รี โกลด์สมิท’ คือภาพ-เสียงที่ใครเห็นก็จำแม่น ผ่านทางหนังดัง ๆ มัน ๆ ซึ่งวนเวียนมีมาให้ดูเรื่อย ๆ ต่างวาระกันไป เช่น Rambo 3 ภาคแรก, Total Recall, Cliffhanger หรือ Terminator 2: Judgment Day ฯลฯ

‘มาริโอ คาสซาร์’ (Mario Kassar) และ ‘แอนดรูว์ ไวจ์นา’ (Andrew G. Vajna) คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จและล้มเหลวของคารอลโค ทั้งคู่ก่อตั้งบริษัทจากคนทำงานไม่กี่คนจนกลายเป็นพัน กับรายได้มหาศาลจากทั่วโลก ทั้งจัดจำหน่ายและสร้างหนังสารพัดแนว ทุ่มทุนเสียยิ่งกว่าสตูดิโอเมเจอร์อย่างฟ็อกซ์, วอร์เนอร์, พาราเมาท์, ยูนิเวอร์ซัล ฯลฯ จะกล้าคิด 

คารอลโค เป็นอดีตไปนานแล้ว แต่เรื่องราวของสตูดิโอหนังอิสระแห่งนี้ยังเหนือกาลเวลา เพราะวันนี้หรืออนาคต คงหาได้ยาก หรืออาจไม่มีอีก สำหรับนักธุรกิจหรือบริษัทไหนจะกล้าและบ้าขนาดนี้

เริ่มต้นในฮังการี 

แอนดรูว์ หรือ ‘แอนดี’ ไวจ์นา เกิดเมื่อปี 2487 ในครอบครัวนักธุรกิจที่มีฐานะ ภายใต้ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ คาดว่าภายหลังเขาได้รับของเล่นชิ้นหนึ่งจากป้าที่ส่งมาจากอเมริกา ด้วยความล้ำสมัยของมันที่ไม่มีเพื่อนคนไหนเคยมี และแม้การปกครองที่เคร่งครัดและคุกคามจะไม่มีผลกับครอบครัว แต่ในปี 2499 ขณะมีอายุเพียง 12 ปี ด้วยความเห็นชอบของพ่อแม่ ไวจ์นาลักลอบหนีจากฮังการีเพียงลำพัง เพื่อไปเริ่มชีวิตใหม่ในอเมริกา

เด็กน้อยเดินทางมาถึงอเมริกา แต่ไม่มีผู้ปกครองมาด้วย กาชาดจึงส่งเขาไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ในแคนาดา 6 เดือน ก่อนครอบครัวจะอพยพตามมาตั้งรกรากใหม่ในแอลเอ 

ไวจ์นาเรียนมัธยมที่โรงเรียนเบเวอร์ลีฮิลส์ และศึกษาต่อที่ยูซีแอลเอในสาขาถ่ายภาพและภาพยนตร์

แต่เพราะรักอิสระ เขาออกจากมหาวิทยาลัยมาตั้งสตูดิโอถ่ายภาพ กระทั่งขาหักจากการเล่นสกี ต้องรักษาตัวอยู่เกือบปี แต่ด้วยความสนใจในเทคนิคเมกอัพของละครเวที และมีเพื่อนเป็นช่างทำวิกผมในฮอลลีวูด เขาจึงย้ายมาเปิดโรงงานผลิตวิกในฮ่องกง ธุรกิจไปได้ดี มีพนักงานถึง 3,000 คน ร่ำรวยขึ้นมาขณะอายุยังไม่ถึง 30 ปี

เมื่อเริ่มมีทุน ไวจ์นาก็หวนคิดถึงศิลปะอีกครั้ง เขาจึงหันมาลงทุนด้านภาพยนตร์ ซื้อโรงหนัง 2 แห่งในฮ่องกง พร้อมกับสร้างหนังทุน 1 แสนเหรียญ แต่ ‘Deadly China Doll’ หนังกังฟูตามกระแสในปี 2516 กลับทำเงินให้กว่า 2.5 ล้าน

ในปีต่อมา เขาขายกิจการโรงงานวิก แล้วเปลี่ยนมาทำธุรกิจหนังจริงจัง ก่อตั้งบริษัทจัดจำหน่าย ตระเวนทุกเทศกาลหนังโลกเพื่อซื้อหนัง ทั้งในมิลานและคานส์ ซึ่งทำให้ได้พบกับ มาริโอ คาสซาร์

ก้าวแรกกับคาสซาร์

“ดิโน เดอ ลอเรนตีส มีอิทธิพลกับผม เดวิด มาทาลอน แห่งไทรสตาร์ และแน่นอน มาริโอ คาสซาร์ ผมได้เจอเขาสมัยยังซื้อหนังยุโรปมาให้บริษัทจัดจำหน่ายของผม การเรียนรู้จากคนพวกนี้ ทำให้ผมได้รู้ว่าการเป็นโปรดิวเซอร์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไม่ใช่รู้แค่เรื่องตัวเลข” ไวจ์นากล่าวกับนิตยสารวาไรตีเมื่อปี 2517

มาริโอ คาสซาร์ เกิดในเบรุต ประเทศเลบานอน อายุน้อยกว่าไวจ์นา 7 ปี แต่พรรษาในตลาดหนังแกร่งกว่า เพราะเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นผู้สร้างหนังอิสระ และมักย้ายถิ่นที่อยู่ไปตามประเทศต่าง ๆ ในยุโรป

คาสซาร์เริ่มซื้อขายหนังตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี บางครั้งต้องนอนตามชายหาดในคานส์ ก่อนสร้างทีมซื้อขายหนังสำหรับตลาดตะวันออกกลาง

“แอนดีจะซื้อหนังจากอิตาลีไปฉายที่ฮ่องกง เขามีบริษัทชื่อแพนเอเชีย เขาอยากได้หนังใหญ่แต่ไม่ค่อยรู้จักใคร ผมเลยชวนเขาเซ็นสัญญา แล้วผมจะพาไปเจอบริษัทหนังอิตาลีใหญ่ ๆ เขาตกลง จากนั้นเราก็เริ่มโต” คาสซาร์กล่าวกับ Deadline.com ในบทสัมภาษณ์ปี 2559

จากหุ้นส่วนธุรกิจ ถนนของทั้งคู่ก็กว้างขึ้น ปี 2519 ไวจ์นาขายแพนเอเชียให้ ‘เรย์มอนด์ เชา’ แห่ง ‘โกลเดนฮาร์เวสต์’ แล้วก่อตั้งบริษัทร่วมกับคาสซาร์ หวังจัดจำหน่ายหนังครอบคลุมทั่วตลาดเอเชีย

ทั้งคู่เลือกชื่อ คารอลโค มาจากบริษัทที่เลิกกิจการไปแล้วในปานามา มันจึงไม่มีความหมายเป็นพิเศษ และ ‘The Sicilian Cross’ (2519) คือเรื่องแรกของคารอลโค หนังอิตาลีแท้ ๆ แต่ไปถ่ายทำในซานฟรานซิสโก 1 สัปดาห์เพื่อให้ดูเหมือนหนังฮอลลีวูด โดยมี ‘โรเจอร์ มัวร์’ หรือ ‘เจมส์ บอนด์’ ยุคนั้นเป็นจุดขาย ทั้งคู่ซื้อมาราว 1 แสนเหรียญ แต่นำไปขายต่อในฮ่องกงได้ถึงสองแสนห้า

“ตอนนั้นมีหนังอยู่เรื่องหนึ่งชื่อ ‘Chatterbox’ (2520) เราเอาไปขายในเทศกาลหนังอิตาลี เราอยู่ในมุมไหนสักแห่งในงานที่มีแค่โต๊ะ ไม่มีโทรศัพท์ เราเชิญชวนผู้จัดจำหน่ายมาดูหนังด้วยกัน ในห้องที่มีแค่ 25 ที่นั่ง แต่เราเชิญมา 100 คนให้แย่งกันเข้าไปดู ไม่มีใครได้ดูเกิน 10 นาที แต่เรายังขายตลาดนอกอเมริกาได้ภายในชั่วโมงเดียว มันเป็นหนังเล่าเรื่องผู้หญิงคนหนึ่งที่พบว่าช่องคลอดของเธอพูดได้ นี่ผมพูดจริง ๆ นะ” คาสซาร์กล่าว

ขายหนังมาสร้างหนัง

เฉพาะแค่ในปี 2522 คาสซาร์กับไวจ์นาทำดีลหนังอิตาลีถึง 6 เรื่อง มูลค่า 1 ล้านเหรียญ และระหว่างปี 2519-2524 ด้วยกลยุทธ์ของทั้งคู่ ทำให้คารอลโคทำดีลจากหนังผู้สร้างอิสระได้กว่า 20 เรื่อง ราวต้นคริสต์ทศวรรษที่ 80s คารอลโคก็เริ่มขยับขยายไปเปิดออฟิศในแอลเอ พร้อมขยายฝันให้ไกลกว่าแค่จัดจำหน่ายหนังอินดี

“เราได้ราคาดีจากทุกประเทศ ก็น่าพอใจ แต่เราไม่ได้ควบคุมสินค้า หนังส่วนใหญ่ห่วยมาก ปัญหาคือเมื่อคุณขายหนังของโปรดิวเซอร์อื่น คุณก็ต้องพยายามขายให้ได้ราคาดีทุกประเทศ แต่ถ้าหนังไม่เวิร์ก ในฐานะคนกลาง ผู้จัดจำหน่ายพวกนี้ก็จะมาด่าคุณ สุดท้ายเราก็เริ่มเหนื่อยกับการโดนด่า ถ้าผมขายหนังได้ราคา แต่จบลงด้วยการโดนด่าทุกเรื่อง ผมเลยคิดว่าเราน่าจะสร้างหนังและกำหนดทิศทางเองดีกว่า” คาสซาร์กล่าว

หนังเรื่องแรกที่คารอลโคลงทุนคือ ‘The Silent Partner’ (2521) หนังทุนต่ำที่อาศัยช่องว่างด้านภาษีในแคนาดาเป็นโลเกชันถ่ายทำเพื่อลดต้นทุน นำแสดงโดย ‘เอลเลียต กูลด์’ กับ ‘คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์’ กำกับโดยผู้กำกับหน้าใหม่ชื่อ ‘เคอร์ติส เฮนสัน’ ซึ่งต่อมาได้ออสการ์จาก ‘L.A. Confidential’ (2540) คารอลโคลงไปครึ่งหนึ่งจากงบ 1 ล้านเหรียญ แต่หนังไม่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งหนังเล็ก ๆ อีก 3-4 เรื่องที่พวกเขาลงทุนในช่วงนั้น

ในปี 2525 ไวจ์นาได้เป็นประธานสมาคมตลาดภาพยนตร์อเมริกันที่เขาก่อตั้ง และในปีเดียวกัน โลโก้คารอลโคก็เริ่มเป็นที่จดจำด้วย ‘Rambo’ ภาคแรก หรือ ‘First Blood’ หนังที่ ‘สหมงคลฟิล์ม’ ผู้จัดจำหน่ายขาประจำของคารอลโคในเวลาต่อมา นำเข้ามาฉายในชื่อ ‘นักรบเดนตาย’

‘Carolco’ บทเรียนของความบ้า กล้า และแพงที่สุดในฮอลลีวูด

“นี่คือหนังแนว Rocky” ไวจ์นากล่าวกับฮอลลีวูดรีพอร์ตเตอร์ โดยเปรียบกับหนังสร้างชื่อของ ‘ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน’ ผู้มารับบท ‘จอห์น แรมโบ’ ในเรื่องนี้

‘แรมโบ’ ไม้เด็ดของคารอลโค

“หลังจากมีการเจรจากัน และเคยร่อนไปทั่วฮอลลีวูดมานาน เราก็ตกลง แน่นอน เราจ่ายแพงเกินไป แต่คุณต้องเข้าใจ ตอนนั้นเราเป็นเด็กใหม่ในวงการ มันเป็นราคาที่เราต้องจ่ายอยู่แล้ว” คาสซาร์กล่าวถึงบทหนัง First Blood ที่ดัดแปลงจากนิยายเมื่อปี 2515 ของ ‘เดวิด มอร์เรล’ และเป็นลิขสิทธิ์ของวอร์เนอร์ที่พยายามผลักดันมาหลายปี แก้บทมาแล้ว 13 ร่าง เพื่อให้ดาราดังในยุคนั้นมาแสดง ทั้ง ดัสติน ฮอฟฟ์แมน, พอล นิวแมน, แฮร์ริสัน ฟอร์ด, อัล ปาชิโน, โรเบิร์ต เดอ นีโร, นิค โนลเต, ไมเคิล ดักลาส ฯลฯ 

แต่คาสซาร์อ่านแล้วก็รู้สึกคลิกทันที เขาตกลงให้วอร์เนอร์ไปถึง 385,000 เหรียญ โดยที่ยังไม่รู้จะหาเงินมาจากไหน แต่ภายหลังสตอลโลน ตอบตกลงจะมาเป็นแรมโบ พวกเขาก็อาศัยชื่อเสียงของสตอลโลนมาเป็นเครดิตใช้หาเงิน ในที่สุดคารอลโคก็ได้ทุนส่วนใหญ่มาจากธนาคารยุโรป 

เมื่อหนังเปิดกล้อง งบบานไปหลายล้านเหรียญ แต่ก็ถือว่าคุ้มยิ่ง มันกลายเป็นหนังระดับบล็อกบัสเตอร์ จากทุน 14 ล้านเหรียญ คารอลโคสามารถได้คืนจากทั่วโลกราว 125 ล้าน 

และการตัดสินใจเปลี่ยนตอนจบก็ถือว่าสำคัญมากสำหรับอนาคตของคารอลโค จากเดิมที่ให้แรมโบตาย แต่ในการฉายรอบเทสต์มีคนไม่ชอบกัน เช่นเดียวกับสตอลโลน ในตอนจบแรมโบเลยยังรอด และกลายเป็นสมบัติล้ำค่าของคารอลโคในเวลาต่อมา   

“ต้นแบบการเล่นใหญ่กับหนังแอ็กชัน ด้วยภาพสงครามของทั้งแรมโบและคารอลโค เป็นการปูทางให้ไม่เพียงแต่กับหนังของคารอลโค แต่ยังกลายเป็นวิถีปฏิบัติในอุตสาหกรรมที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว และทำให้สตูดิโออิสระอื่น ๆ เช่นคู่แข่งอย่าง ‘โอไรออน’ ต้องทำหนังอย่าง ‘Platoon’ (2529) หรือ ‘Robocop’ (2530) ออกมาบ้าง” คริสต์ โยเกิร์สต์ แห่งฮอลลีวูดรีพอร์ตเตอร์ พรรณนาถึงอิทธิพลของแรมโบ ผู้ที่ทำให้หนังแอ็กชันระเบิดตูมตามห้ำหั่นกันด้วยอาวุธนานัปการเป็นรูปแบบครองตลาดในเวลานั้นอยู่หลายปี โดยเฉพาะเมื่อภาค 2 ออกฉายในอีก 3 ปีต่อมา

คารอลโคจ้าง ‘เจมส์ คาเมรอน’ มาเขียนบท ‘Rambo: First Blood Part II’ (2528) ตั้งแต่ก่อนจะมีชื่อในฐานะผู้กำกับจาก ‘The Terminator’ (2527) ด้วยทุน 25 ล้านเหรียญ มากกว่าภาคก่อนเป็นเท่าตัว เพราะในบทของคาเมรอน คราวนี้แรมโบต้องกลับไปรบที่เวียดนาม อุดมไปด้วยซีนแอ็กชัน เพิ่มกระสุนหลายตับ อัดปืนทั้งหนักเบาหลากชนิด ระเบิดลูกใหญ่กว่าเก่า มีฮอมากกว่าเดิม จนแรมโบใกล้เป็นซูเปอร์ฮีโร่ ห่างความเป็นมนุษย์แบบภาคแรก

แต่เมื่อออกฉายกลับถูกใจผู้ชมยิ่งกว่า กวาดเฉพาะในอเมริกาไป 150 ล้านเหรียญ และจากตลาดโลกอีกกว่า 300 ล้าน ส่งให้สถานะของคารอลโคหลุดจากบริษัทหนังอิสระทั่วไป แต่ขยับชั้นขึ้นเป็นผู้สร้างมีศักยภาพไม่ต่างจากสตูดิโอเมเจอร์ของฮอลลีวูด 

ใหญ่แบบคารอลโค

ภายหลัง Rambo 2 ออกฉาย คารอลโคก็พบหนทางให้หนังของพวกเขาประสบความสำเร็จ นั่นคือต้องกล้าทุ่มทุน และมีดาราแม่เหล็กเป็นจุดขาย คารอลโคจึงทำการเซ็นสัญญากับสตอลโลนไว้ถึง 10 เรื่อง นอกจากนั้นยังเลือก ‘อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์’ มาเป็นดารานำและคนรัสเซียใน ‘Red Heat’ (2531) 

การทำแบบนั้น เพราะคารอลโคมักใช้ชื่อดาราดังไปใช้ในการขายแบบ ‘พรีเซล’ หรือการหาแหล่งทุนซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้จัดจำหน่ายหนังในต่างประเทศ เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการฉายหนังยักษ์แต่ละเรื่องพร้อมกับอเมริกา และนับตั้งแต่ปี 2527 ตลาดใหญ่ในอเมริกา คารอลโคก็ทำสัญญาให้ไทรสตาร์เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายหนังของคารอลโคทุกเรื่อง 

“หนังของเราแพงเพราะเราไม่เคยตุกติก เรามีดารา ผมกับแอนดีคือชาวต่างชาติที่จะจ่ายและทำในสิ่งที่สตูดิโอกลัวที่จะทำ เพราะสตูดิโอมักคิดแต่ตัวเลข ถ้าคุณมัวแต่ให้คอมพิวเตอร์คำนวณตัวเลข ทั้งชีวิตคุณก็ไม่ได้สร้างหนัง” คาสซาร์กล่าว ด้วยเหตุนี้คารอลโคจึงใส่ใจเฉพาะตลาดนอกอเมริกา และเคยระดมทุนบางเรื่องได้เกินงบก่อนจะเปิดกล้องด้วยซ้ำ  

ในช่วงนั้นคารอลโคจึงเริ่มขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว ทั้งกู้เงินจำนวนมากมาซื้อผู้จัดจำหน่ายวิดีโออย่าง ‘ไลฟ์ เอนเตอร์เทนเมนต์’ พยายามเป็นเจ้าของสิทธิ์ไอพีต่าง ๆ ของบริษัทผู้สร้างเช่น ‘อะไลฟ์ฟิล์ม’ ของ ‘จอห์น คาร์เพนเตอร์’ หรือ ‘อะลิแอนซ์ พิกเจอร์ส’ ไปจนถึงไอพีในทีวีของ ‘ออร์บิส คอมมิวนิเคชันส์’ รวมทั้งซื้อโรงถ่ายของ ‘เดอ ลอเรนตีส’ และยังพยายามซื้อ ‘โอไรออน’ ที่กำลังขาดสภาพคล่อง แต่ดีลก็ล่มไป เพราะสถานะของคารอลโคเองก็เริ่มสั่นคลอน      

หนังหลายเรื่อง แม้จะไม่ได้ลงทุนมากเท่ากับหนังแอ็กชันแบบ Rambo แต่ก็มากพอจะให้เกิดหนี้สะสม ไม่ว่าจะเป็น ‘Angel Heart’ (2530) ที่กำกับโดย ‘อลัน ปาร์กเกอร์’ มี ‘โรเบิร์ต เดอ นีโร’ เป็นซาตานในมาดนักธุรกิจ ‘Extreme Prejudice’ (2530) หนังคาวบอยยุคใหม่ของผู้กำกับ ‘วอลเตอร์ ฮิล’ หรือ ‘Prince of Darkness’ (2530) หนังสยองของ ‘จอห์น คาร์เพนเตอร์’ ล้วนเป็นหนังดีที่ไม่มีคนดู  

คารอลโคจึงต้องใช้ไม้เด็ด-ไม้เดิม คือเรียกใช้บริการของ Rambo อีกครั้ง ด้วยการทุ่มค่าตัวให้สตอลโลนถึง 16 ล้านเหรียญ ใช้ทุนสร้างมากกว่า 2 ภาครวมกัน คือร่วม 65 ล้านเหรียญ และขณะถ่ายทำก็เกิดปัญหามากมาย ถึงขนาดต้องเปลี่ยนทั้งผู้กำกับภาพและผู้กำกับกลางคัน เพราะเหมือนสตอลโลนจะใหญ่สุดในกองถ่าย  

แต่เมื่อออกฉายในปี 2531 ‘Rambo III’ กลับไม่เปรี้ยง ทำเงินจากทั่วโลกรวมกันห่างจากภาคก่อนเป็นร้อยล้าน

ทางแยก 

“เราทำงานนอกระบบสตูดิโอเสมอ และสำหรับเรา สตูดิโอเป็นเพียงช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์” ไวจ์นา กล่าวกับบีบีซีไม่กี่ปีหลังจากคารอลโคล่มสลาย “เราอยากสร้างสรรค์โปรเจ็กต์ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ทำโดยคณะกรรมการ การทำงานอย่างอิสระคือวิธีเดียวของเรา”

ไวจ์นาลาออกจากคารอลโคในปี 2532 ภายหลังเกิดความขัดแย้งในแนวทางของบริษัท จากการบริหารของคาสซาร์ และ ‘ปีเตอร์ ฮอฟฟ์แมน’ ทนายด้านภาษีที่คาสซาร์จ้างมาเป็นผู้บริหารในปี 2529 จุดประสงค์คือต้องการให้เขาช่วยหาเงิน กับอาศัยความสามารถในการเลี่ยงภาษี และระหว่างปี 2529-2533 รายได้ของคารอลโคก็เพิ่มเป็น 5 เท่า หรือ 269 ล้านเหรียญ 

แต่ไวจ์นาเริ่มมองเห็นไม่เหมือนกับหุ้นส่วน การเติบโตเร็วเกินไป ไม่ใช่สิ่งที่คาดหวัง เขาเริ่มรำคาญพนักงานใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นเต็มออฟิศ ปล่อยให้สตอลโลนละเลง Rambo III ตามใจ จนงบบานมหาศาล และทำให้ไวจ์นาออกปากไล่สตอลโลนกลางกองถ่ายในอิสราเอลมาแล้ว 

“หลังจาก Rambo เราพยายามจะเป็นสตูดิโอเมเจอร์ ผมรู้สึกว่ามันเป็นทิศทางที่ผิด” ไวจ์นาบอกกับเอนเตอร์เทนเมนต์วีคลี “ความรู้สึกผมไม่มีด้านบวกเลย แล้วก็มีเรื่องขัดแย้งกันบ่อย มาริโอกับผม กับปีเตอร์ ซึ่งเวลานั้นเล่นบทเป็นมือขวาของคาสซาร์ ผมไม่เห็นด้วยเลยกับที่พวกเขากำลังทำ และผมกับปีเตอร์ก็แสดงอัตตาต่อกัน เขาอยากจะเป็นหุ้นส่วนมากกว่า” ไวจ์นากล่าว 

ในปี 2532 ฮอฟฟ์แมนเลยแนะให้คาสซาร์กู้เงินมาซื้อหุ้นของไวจ์นาในราคา 108 ล้านเหรียญ ทำให้คาสซาร์มีหุ้นเพิ่มเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีหนี้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะจากที่ลงไป 900 ล้านเหรียญ ระหว่างปี 2530-2533 กับหนัง 16 เรื่อง แต่ได้เงินกลับมา 600 ล้าน ในเวลานั้นคารอลโคจึงน่าจะขาดทุนไปแล้วอย่างน้อย 75 ล้าน

เท่าไรเท่ากัน 

หลังจากไร้ไวจ์นา คารอลโคก็เริ่มกลายเป็นข่าวมากขึ้น ถึงความมือเติบ-ใจใหญ่ ทั้งจ่ายไม่อั้นให้กับค่าบทหนัง การดูแลดาราใหญ่อย่างราชา หรือตามใจผู้กำกับแบบลืมขาดทุน ถึงขนาดลือกันว่าจ่ายเป็นเช็คเปล่าเซ็นสลักหลังให้คาเมรอนก็มีมาแล้ว  

“มาริโอมาพร้อมกับบท นี่คือสคริปต์ นี่คือตัวละครหลัก นี่คือนักแสดง จากนั้นส่วนใหญ่ ไม่ว่าผมจะทำอะไรหลังจากนั้น เขาไม่แคร์เลย” เวอร์โฮเวนเล่าไว้ในหนังสารคดี ‘Total Excess: How Carolco Changed Hollywood’ (2563) ถึงประสบการณ์คราวคารอลโคจ้างเขามาทำ ‘Basic Instinct’ หนังฮิตไม่กี่เรื่องในช่วงสุดท้ายของคารอลโค

“ผมต้องการทุนสัก 32-33 ล้าน แต่มันเกินไปบ้างนิดหน่อย มันเป็นปัญหาแน่ เพราะมันเป็นหนังใหญ่ ผมไม่เคยได้ใช้เงินขนาดนั้นมาก่อน เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผมเลย” โอลิเวอร์ สโตน บอกไว้ในสารคดีเรื่องเดียวกัน

‘Carolco’ บทเรียนของความบ้า กล้า และแพงที่สุดในฮอลลีวูด

และ ‘The Doors’ (2534) ของสโตนที่ทำกับคารอลโค ก็น่าจะเป็นตัวอย่างชัดอีกเรื่อง ถึงการลงทุนอันสูญเปล่า เงินกว่า 34 ล้านเหรียญหายวับ เพราะหนังว่าด้วยชีวิตของ ‘จิม มอร์ริสัน’ นักร้องดังยุคสงครามเวียดนามเจ๊งสนิท

แต่สำหรับการจ่ายเพื่อซื้อเครื่องบินส่วนตัว เรือยอร์ช ตึกบนถนนซันเซ็ตบูเลอวาร์ด ขบวนรถตำรวจนำ ปาร์ตี้สุดเหวี่ยง และห้องสูทห้าดาวในเมืองคานส์สำหรับแขกเหรื่อ คือการทุ่มเงินหลายล้าน เพื่อเสกภาพลักษณ์ของผู้สร้างระดับบิ๊กให้ปรากฏขึ้นในสายตาโลก 

ทั้งที่ในความจริง คารอลโคมีหนังทำเงินน้อยกว่าจำนวนที่สร้างออกมา ปัญหาใหญ่ในการดำเนินธุรกิจตลอดมาของคารอลโค 

‘คนเหล็ก 2’ หนังใหญ่ที่สุดในโลก 

เมื่อเปิดศักราชสู่คริสต์ทศวรรษที่ 90s หรือตั้งแต่ปี 2533 ไม่ว่าจะเป็น ‘Air America’ (2533) ที่มี ‘เมล กิบสัน’ กับ ‘โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์’ เป็นดารานำ ‘Jocob’s Ladder’ (2533) หนังทริลเลอร์อาร์ตเฮาส์ของ ‘เอเดรียน ไลน์’, ‘The Punisher’ (2534) หนังที่ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนมาร์เวลมี ‘ดอล์ฟ ลันด์เกรน’ เป็นซูเปอร์ฮีโร่ ฯลฯ ล้วนขาดทุน มีเพียง ‘Total Recall’ (2533) หนังไซไฟของเวอร์โฮเวน ที่ชวาร์เซเนกเกอร์เป็นดารานำเรื่องเดียวที่กวาดไปกว่า 261 ล้านเหรียญ แต่ก็ลงทุนไปถึง 48-80 ล้าน

และด้วยลักษณะของผู้สร้างใจกว้าง-มือเติบจนเหมือนไม่ได้กำลังทำธุรกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างคาสซาร์กับฮอฟฟ์แมนก็เริ่มถดถอย ก่อนเปลี่ยนเป็นความไม่วางใจ ฮอฟฟ์แมนคิดว่าวิธีใช้เงินของคาสซาร์จะทำให้คารอลโคเจ๊ง ส่วนคาสซาร์ก็ระแวงฮอฟฟ์แมนกำลังพยายามกำจัดเขาเพื่อขึ้นมาแทน ในปี 2535 ฮอฟฟ์แมนก็ลาออก พร้อมกับกำเงินไป 1.8 ล้านเหรียญ แต่หลังจากนั้นเขาก็โดนฟ้องในข้อหาเลี่ยงภาษี และถูกตัดสินให้มีความผิด  

แต่ก่อนหน้านั้นในช่วงซัมเมอร์ปี 2534 คือเวลาเปิดตัว ‘คนเหล็ก 2’ หรือ ‘Terminator 2: Judgment Day’ หนังเรื่องยิ่งใหญ่ของคารอลโค ทุกอย่างล้วนแพงระยับ ตั้งแต่สิทธิ์เรื่องนี้ที่จ่ายให้แฮมเดล ผู้สร้างภาคแรกเจ้าของลิขสิทธิ์ไป 5 ล้านเหรียญ ตำนานแจกเครื่องบินมูลค่า 17 ล้านเหรียญกับเงินเดือนอีก 14 ล้านให้กับชวาร์เซเนกเกอร์ เนรมิตภาพพิเศษด้วยซีจีที่ยังมีหนังน้อยเรื่องใช้ สรุปรวมแล้วเรื่องนี้ถลุงไปทั้งสิ้นกว่า 100 ล้านเหรียญ มากสุดเท่าที่ใครเคยสร้างหนังสักเรื่องในเวลานั้น รวมทั้งยังเป็นการพรีเซลครั้งใหญ่ที่สุดของคารอลโคอีกด้วย มันจึงเป็นทั้งความฝันและความหวังครั้งสำคัญ   

‘Carolco’ บทเรียนของความบ้า กล้า และแพงที่สุดในฮอลลีวูด

‘T2’ ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์อย่างเอกฉันท์ เป็นหนังไซไฟ-แอ็กชันรสชาติแปลกใหม่สมราคา ทำรายได้จากทั่วโลกราว 520 ล้านเหรียญ อนาคตคารอลโคเหมือนจะสดใสขึ้น 

แต่ในเวลานั้นคารอลโคมีปัญหามากเกินไป ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนั้น นอกจากเรื่องนี้ก็ไม่มีหนังทำเงิน ต้องเผชิญกับการขาดทุนถึง 91 ล้านเหรียญ ทุบมูลค่าหุ้นจาก 13.87 เหรียญ หล่นลงมาเหลือแค่ 2 เหรียญเท่านั้น

ความสำเร็จที่เปราะบาง   

สิ่งที่เกิดขึ้นกับการได้เป็นเจ้าของสิทธิ์บทหนัง Basic Instinct ของ ‘โจ เอสซ์เตอร์ฮาส’ อาจพอบอกได้ถึงความจริงทางธุรกิจ และภาพยนตร์ก็ไม่ต่างจากธุรกิจซื้อขายอื่น ไม่มีใครยอมเป็นเหยื่อให้ใครเอาเปรียบ แต่ไม่ใช่ในกรณีของคารอลโค ด้วยไม่เชื่อในสถิติตัวเลข แต่เชื่อในบทหนัง ทุกเรื่องของคารอลโคจึงเริ่มจากบท ไม่ใช่ดาราหรือผู้กำกับมีชื่อ 

“ผมไม่ใช่ไอ้โง่ แต่ผมรู้สึกได้ว่าทำไมผมต้องจ่ายถึง 3 ล้าน ผมรู้และคิดว่ามันออกจะพิเศษด้วยซ้ำ ผมเป็นแค่ไม่กี่คนที่เชื่อแบบนั้น แม้แต่คนในออฟฟิศผมก็ยังไม่เชื่อ” คาสซาร์กล่าว  

บทเรื่องนี้ถูกส่งมาให้คาสซาร์โดยตัวแทนเอเจนซีแห่งหนึ่ง เขาตกลงใจซื้อทันที แต่พอเสนอไป 250,000 เหรียญ คาสซาร์บอกว่าเหมือนเขาโยนบอลหิมะลงมาจากภูเขา เอเจนซีแห่งนั้นไม่ตอบตกลงในทันที แต่ตระเวนนำบทไปเสนอสตูดิโออีกหลายแห่ง พร้อมกับตัวเลขของคาสซาร์ จากนั้นราคาก็ถูกปั่นขึ้นไป สุดท้ายคาสซาร์ได้รับคำตอบจากเอเจนซี โดยอ้างว่าไวจ์นาที่แยกไปตั้งบริษัทชื่อ ‘ซีเนอร์จี’ เสนอให้ถึง 2.75 ล้านเหรียญ 

คาสซาร์จึงจำใจจ่ายไปในราคาดังกล่าว ทำสถิติบทหนังที่แพงสุด ๆ เรื่องหนึ่ง เพื่อจะพิสูจน์ว่าเขาคิดถูก และเมื่อออกฉายในปี 2535 หนังอีโรติกทริลเลอร์ กำกับโดยเวอร์โฮเวน นำแสดงโดย ‘ไมเคิล ดักลาส’ และแจ้งเกิดให้กับ ‘แชรอน สโตน’ กวาดรายได้ทั่วโลกไปถึง 352 ล้านเหรียญ 

‘Carolco’ บทเรียนของความบ้า กล้า และแพงที่สุดในฮอลลีวูด ‘Carolco’ บทเรียนของความบ้า กล้า และแพงที่สุดในฮอลลีวูด

แต่ทุกอย่างก็วนลูปเหมือนที่ผ่านมา นอกจากเรื่องนี้ เรื่องอื่นของคารอลโคในปีนั้น ไม่ว่าจะเป็น ‘Aces: Iron Eagle III’ หรือ ‘Chaplin’ หนังคุณภาพราคา 31 ล้านเหรียญของผู้กำกับออสการ์ ‘เซอร์ริชาร์ด แอทเทนโบโรห์’ ทำเงินได้ไม่ถึงครึ่งของทุนสร้าง จะมีก็เพียง ‘Universal Soldier’ ของผู้กำกับ ‘โรเลนด์ เอมเมริช’ ที่ทำเงินพอประมาณ 

ในปี 2536 คารอลโคมีหนังฉายแค่ 2 เรื่อง 1 ในนั้นคือ ‘Cliffhanger’ ที่มีสตอลโลนแสดงนำ กำกับโดย ‘เรนนี ฮาร์ลิน’ เป็นอีกเรื่องที่งบบานปลาย ถ่ายทำในขณะหนี้กำลังท่วมคารอลโค แต่ต้องหาเงินกู้จากธนาคารมาเพิ่ม จำใจไม่รับส่วนแบ่งทั้งจากโรงและวิดีโอในอเมริกา เพื่อแลกกับเงินครึ่งหนึ่งของทุนสร้างราว 60 ล้านเหรียญ 

เมื่อออกฉาย เรื่องนี้กลายเป็นหนังฮิตตามที่หวัง กวาดไปทั่วโลกราว 255 ล้านเหรียญ แต่จากดีลต่าง ๆ ที่ทำไว้ คารอลโคได้เงินคืนมาน้อยเหลือเกิน   

โจรสลัด-ความหวังสุดท้าย 

สมกับเจตนาที่ต้องการแค่หนังฮิตปีละเรื่อง ‘Star Gate’ หนังไซไฟของเอมเมริชในปี 2537 จัดเป็นหนังฮิตของคารอลโคประจำปีนั้น แต่พอข้ามมาปี 2538 คือปีแห่งหายนะของคารอลโคโดยแท้ 

เริ่มจาก ‘Showgirls’ ของเวอร์โฮเวน หนังฉาวเรตหนักระดับ NC-17 ที่ว่าด้วยเรื่องราวของนางโชว์ ไร้เอฟเฟ็กต์ใด แต่ก็ลงทุนถึง 45 ล้านเหรียญ ห่างจากเครดิตของเวอร์โฮเวนครั้ง Total Recall หรือ Basic Instinct ลิบลับ โดนวิจารณ์ถึงความโป๊เปลือยเกินจำเป็น รายได้ต่ำเตี้ย แม้แต่ทุนยังเอาคืนมาไม่ได้  

‘Carolco’ บทเรียนของความบ้า กล้า และแพงที่สุดในฮอลลีวูด

ในช่วงนั้นสถานการณ์วิกฤตของคารอลโคไปไกลมากแล้ว ทั้งเบี้ยวนัดชำระหนี้ และถูกฟ้องล้มละลาย เสียเงินไปเปล่า ๆ หลายล้านให้กับการสะสมโปรเจ็กต์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น เช่น ‘Spider-man’ ของคาเมรอน ‘Gale Force’ หนังแอ็กชันของ ‘ฮาร์ลิน’ มีสตอลโลนแสดงนำ หรือ ‘Crusade’ หนังทุนร้อยล้านของเวอร์โฮเวนกับชวาร์เซเนกเกอร์ นอกจากนั้นรายได้ต่าง ๆ ของหนังในอนาคต ก็ต้องสูญไปจากการระดมทุนสร้างหนังใหม่ที่ต้องใหญ่พอจะทำให้ขายพรีเซลได้ และคารอลโคก็เลือกทุ่มให้กับหนังผจญภัยว่าด้วยโจรสลัดสาวชื่อ ‘Cutthroat Island’ 

นอกจากค่าตัว ว่ากันว่ามีการจ่ายให้ฮาร์ลิน สำหรับงานแต่งของเขากับ ‘จีนา เดวิส’ นักแสดงนำถึง 500,000 เหรียญ ท่ามกลางการถ่ายทำที่อุดมปัญหาสารพัด เรือขนาดยักษ์ที่สร้างขึ้นเกิดไฟไหม้ ทีมงานเจ็บป่วยกันระนาว แถมงบก็บานมโหฬาร แต่อดีตผู้บริหารคารอลโคคนหนึ่ง เคยบอกกับนสพ. ดิ อินดิเพนเดนต์เมื่อปี 2539 ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรื่องนี้ก็ต้องไปต่อ เพราะมันคือความหวังเดียวที่จะทำให้รอดจากการล้มละลาย 

“เหมือนทุกอย่างในชีวิต เมื่อคุณเติบโตขึ้นและมาถึงยอดเขา มันมีทางเดียวเท่านั้นให้ไปต่อ ถ้าคุณฉลาดพอ คุณต้องคิดว่าจะลงมา หรือพยายามจะอยู่บนนั้นต่อไป แต่ส่วนใหญ่ มักมีบางอย่างเกิดขึ้นเสมอ โชคไม่ดีที่มันมีเรื่องแย่ ๆ มากไป แล้วทุกอย่างก็เริ่มร่วงลงมา ค่อยพาคารอลโคไปถึงจุดจบ เลิก ไม่มีแล้ว อย่างที่รู้กัน” คาสซาร์กล่าว     

Cutthroat Island ผลาญไปราว 115 ล้านเหรียญ ออกฉายเป็นโปรแกรมคริสต์มาส แล้วก็เจ๊งสนิทระดับกินเนสส์เวิลด์เร็กคอร์ดส์ยกให้เป็นหนังที่ขาดทุนมากที่สุดในโลก 

แต่คารอลโคก็ล้มละลายไปแล้วก่อนหน้านั้นหลายเดือน ทรัพย์สินทั้งหมดถูกนำไปแยกขายเพื่อใช้หนี้ ก่อนปิดฉากลงอย่างเป็นทางการในปีถัดมา

ค่าความล้มเหลว 

ภายหลังแยกทางกัน ไวจ์นาก็เปิดบริษัททำหนังให้กับดิสนีย์ชื่อ ‘ซีเนอร์จี’ ส่วนคาสซาร์ไปทำหนังให้พาราเมาท์อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาร่วมกันเก็บเกี่ยวชื่อเสียงของคนเหล็ก ภายใต้โลโก้ซี 2 ทำ ‘Terminator 3: Rise of Machines’ (2546) และทีวีซีรีส์ ‘Terminator: The Sarah Connor Chronicles’ (2551) ออกมาโดยไม่มีคาเมรอน ก่อนจะแยกกันไปตลอดกาล   

ไวจ์นาเสียชีวิตในปี 2562 ฝาก ‘Son of Saul’ (2558) หนังออสการ์เรื่องที่ 2 และลูกโลกทองคำเรื่องแรกสาขาหนังต่างประเทศของฮังการี ภายใต้ทุนจากกองทุนภาพยนตร์ฮังการีที่ไวจ์นากลับไปก่อตั้งในบ้านเกิด เป็นผลงานเด่นเรื่องสุดท้าย

หลังจากคารอลโค ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา อาจมีบริษัทสร้างหนังอิสระเกิดขึ้นมากมาย เพราะตลาดนี้เติบโตขึ้นอย่างมาก แต่ก็ยังไม่พบใครกล้าทุ่มทำหนังระดับบล็อกบัสเตอร์แบบคารอลโคอีกเลย 

และในช่วงที่ผ่านมา หากคารอลโคไม่กล้าทุ่มให้คาเมรอนทำ T2 ฮอลลีวูดคงไม่มีสุดยอดหนังยักษ์แบบ ‘Titanic’ (2541) หรือล้ำหน้าแบบ ‘Avatar’ (2551) หรือหากคารอลโคไม่เปิดโอกาสเอมเมริชทำ Stargate เอเลียนอาจยังไม่ได้กลับมาบุกโลกอีกเลยแบบที่ ‘Independence Day’ (2539) ของเขาสร้างกระแสเอาไว้ หรือฮอลลีวูดอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ต่อให้เป็นหนังรสอีโรติกแบบ Basic Instinct ก็สามารถทำเงินได้มากขนาดไหน ฯลฯ 

คารอลโคจึงไม่ใช่บทเรียนการทำธุรกิจที่ผิดพลาด แต่เป็นบริษัทที่เกิดมาเพื่อจะเป็นตำนาน  

 

เรื่อง: สืบสกุล แสงสุวรรณ

ภาพ: Getty Images

 

อ้างอิง:

King Of Cannes Mario Kassar On The Glory Days Of Carolco, Why Buying Arnie A Plane Made Sense & Talking Vaginas- Ali Jaafar (2016) จาก Deadline.com 

The Rise and fall of Carolco-Ryan Lambie (2014) จาก denofgeek.com 

Blockbusters to Bust: A Cautionary Tale for Swaggering Hollywood Indie Studios - Chris Yogerst (2025) จาก hollywoodreporter.com

Mario Kassar Interview: Carolco, BOT, Hollywood-Ryan Lambie (2015) จาก denofgeek.com / andyvajna.com 

‘Rambo’ Producer Andy Vajna Remembers His First Mention in Variety-Steven Gaydos จาก variety.com 

Andrew Vajna Terminator 3: Rise of the Machines Interviewed-Nev Pierce (2014) จาก BBC.co.uk 

Total Free Fall-Joshua Hammer (1992) จาก newsweek.com 

สารคดี “Total Excess: How Carolco Changed Hollywood” (2020) 

Wikipedia.org 

Carolco Pictures