31 ม.ค. 2564 | 11:58 น.
“แม่ครับ ทำไมผมไม่ได้อยู่ในยูทูบแบบเด็ก ๆ ในคลิปบ้าง” เด็กชายวัยสามขวบเอ่ยถามแม่เมื่อเห็นภาพเด็ก ๆ รีวิวของเล่นในยูทูบ หลังจากตอบคำถามนี้เธอและสามีได้ตัดสินใจเปิดช่องยูทูบให้ลูกรีวิวของเล่นตามคำขอในเดือนมีนาคม ปี 2015 ไม่กี่ปีต่อมา Forbes ได้จัดอันดับให้เด็กชายคนดังกล่าวเป็น ‘ยูทูบเบอร์ผู้ทำรายได้สูงสุดอันดับหนึ่งของโลก’ และครองแชมป์ต่อเนื่องกัน 3 ปีซ้อนตั้งแต่ 2018 - 2020 ยูทูบเบอร์ตัวน้อยวัย 9 ขวบนี้มีชื่อว่า 'ไรอัน คาจิ (Ryan Kaji)' จากรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของช่อง Ryan Wold’s (ชื่อเดิมคือ Ryan ToysReview) ปัจจุบันเขาทำรายได้สูงถึง 883 ล้านบาท (ประเมินจากวันที่ 1 มิถุนายน 2019 ถึง 1 มิถุนายน 2020) และหากรวมช่องที่แปลเป็นภาษาต่าง ๆ แล้ว ไรอันมีผู้ติดตามช่องยูทูบทั้งหมด 41.7 ล้านผู้ติดตามเลยทีเดียว “ตอนแรกพวกเราทั้งสับสนและเซอร์ไพรซ์เมื่อเห็นวิดีโอที่ครอบครัวเราทำกันเองถูกรับชมโดยเด็ก ๆ จำนวนมากทั่วโลก” ชิออน (Shion Kaji) พ่อของไรอันให้สัมภาษณ์กับ Business Insider ถึงความรู้สึกช่วงแรก ๆ หลังปล่อยคลิปตั้งแต่ยังเป็นช่อง Ryan ToysReview ก่อนจะขยายและเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจจริงจังในนาม Ryan’s World Welcome to Ryan ToysReview เมื่อคลิกเข้าไปดูวิดีโอของเด็กชายไรอัน เราจะได้ยินน้ำเสียงตื่นเต้น รอยยิ้มสดใส และแววตาเป็นประกายเมื่อได้แกะของเล่นใหม่ แถมยังพูดจาฉะฉานร่าเริงตลอดคลิปวิดีโอ อาจเพราะ ‘ความตื่นเต้นหลังเปิดของเล่นใหม่’ เป็นสิ่งที่เด็กหลายคนรู้สึกร่วมไปด้วย ไรอันจึงกลายเป็นขวัญใจเด็ก ๆ ในวัยไล่เลี่ยกันที่อยากจะมีโมเมนต์เปิดกล่องของเล่นมารีวิวบ้าง “ผมรู้สึกว่าความสัมพันธ์ของไรอันกับแฟนคลับเป็นอะไรที่ไม่เหมือนใครและแตกต่างไปจากการแสดงความสามารถในทีวี ความสัมพันธ์ของไรอันกับแฟนคลับเป็นมากกว่ามิตรภาพ ทุกครั้งที่เราพบแฟน ๆ ของไรอันและครอบครัวของพวกเขา พวกเขามักจะบอกว่า โอ้ ลูกชาย/ลูกสาวของฉันคิดว่าไรอันเป็นเพื่อนสนิทของเขาเลยล่ะ” ชิออนกล่าว เมื่อการทำช่องยูทูบ Ryan ToysReview เริ่มไปได้สวย ชิออน (Shion Kaji) พ่อของไรอันผู้ทำอาชีพวิศวกร และโลแอนน์ (Loann Kaji) แม่ของไรอันผู้เป็นครูสอนเคมีในโรงเรียนมัธยม ได้ลาออกจากงานมาทำช่องยูทูบของลูกอย่างเต็มตัว Ryan’s World จากช่องยูทูบกลายเป็นธุรกิจ หลังจากไรอันกลายเป็นดาวเด่นแห่งอาณาจักรของเล่นบนยูทูบ ช่องของเขาเริ่มมีสปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนตามประสายูทูบเบอร์ทั่วไป แต่แล้วในปี 2019 Truth in Advertising (TINA) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลผู้บริโภค ได้ทักท้วงถึงความโปร่งใสในการทำคอนเทนต์ว่าครอบครัวของเขาฝ่าฝืนกฎคณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission: FTC) เพราะนำเสนอวิดีโอที่มีสปอนเซอร์แต่ทำเนียนเหมือนรีวิวแบบไม่มีสปอนเซอร์ ซึ่งผู้ชมกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าคลิปไหนเป็นคอนเทนต์เพื่อโฆษณา คลิปไหนคอนเทนต์เพื่อรีวิวจริง ๆ (Organic Content) ลอร่า สมิธ (Laura Smith) ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายขององค์กร Truth in Advertising (TINA) กล่าวว่าผู้ปกครองจะซื้อของเล่นที่ลูกขอหรืออยากได้ ซึ่งบริษัทนี้พ่อแม่ใช้ลูกของตัวเองทำการตลาดให้เด็กคนอื่น ๆ อยากได้ของเล่นแบบที่มีในวิดีโอ ไม่แน่ว่านี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ 'Ryan ToysReview' ปรับรูปแบบคอนเทนต์และเปลี่ยนชื่อไปเป็น 'Ryan’s World' แทนพร้อมจัดตั้งบริษัท Sunlight Entertainment มาดูแลเรื่องโปรดักชันโดยมีพนักงานกว่า 30 ชีวิตคอยดูแลช่องยูทูบย่อย ๆ อีก 8 ช่อง ที่พัฒนามาจากการรีวิวของเล่นในช่วงแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็นคลิปการ์ตูน การทดลองวิทยาศาสตร์แบบ D.I.Y. วิดีโอให้ความรู้สำหรับเด็ก กิจกรรมในชีวิตประจำวันของไรอันกับครอบครัว แถมยังจับมือกับบริษัทของเล่นทำแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ในนาม Ryan’s World โดยมีบริษัท Walmart เป็นตัวแทนจำหน่าย นอกจากมองเห็นช่องทางการเติบโตทางธุรกิจแล้ว พ่อแม่ของไรอันได้ให้สัมภาษณ์กับ Business Insider ว่าวิธีนี้จะช่วยให้ขั้นตอนการทำงานสะดวกขึ้นและไรอันจะมีส่วนร่วมในคลิปวิดีโอน้อยลง เพื่อให้เขาได้ไปใช้ชีวิตแบบเด็กทั่วไปและค้นหาความสนใจด้านอื่น ๆ บ้าง จึงไม่น่าแปลกใจที่ระยะหลังจะเริ่มมีคลิปที่พ่อและแม่ของไรอันเข้ามาร่วมเฟรมด้วยเช่นกัน “สิ่งสำคัญหลัก ๆ คือความเป็นส่วนตัวและชีวิตวัยเด็กของไรอัน และเรายังให้ความสำคัญกับการศึกษาของไรอันมาก่อนเรื่องอื่น” ชิออนกล่าว ของเล่นเด็ก ไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก หลังจากปรับมาทำธุรกิจควบคู่กับช่องยูทูบ รายได้ของไรอันจึงไม่ได้มาจากโฆษณาและสปอนเซอร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากค่าลิขสิทธิ์ของแบรนด์ Ryan’s World ที่เซ็นสัญญากับบริษัทต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม แม้จะเปลี่ยนชื่อช่อง และเปิดบริษัทเป็นกิจจะลักษณะ แต่คำถามถึงความโปร่งใสและผลกระทบจากคลิปในช่องนี้ยังไม่หายไป เพราะล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 เว็บไซต์ Fathery ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับมุมมองหลากหลายถึงประเด็นดังกล่าว อย่างเบนจามิน เบอร์โรห์ (Benjamin Burroughs) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์และสื่อศึกษาที่มหาวิทยาลัยเนวาดา ลาสเวกัส ได้ออกมาเตือนว่า วิดีโอเหล่านี้อาจเป็นอันตรายและมีอิทธิพลต่อเด็กคนอื่น ๆ ในรูปแบบที่พ่อแม่ไม่ทันได้รู้หรือตระหนักถึง เบอร์โรห์ ยังบอกอีกว่าเขาเริ่มสนใจปรากฏการณ์ของอินฟลูเอนเซอร์น้อยคนนี้ หลังจากที่ลูกสาวขอให้เขาทำแบบในคลิปของไรอัน เพราะคาดหวังว่าครอบครัวเขาจะสามารถมีของเล่นใหม่ได้ทุกวันเหมือนในวิดีโอ ขณะที่ทางฝั่งนักจิตวิทยาสื่อ (Media Psychologist) แพม รัตเรดจ์ (Pam Rutledge) อำนวยการศูนย์วิจัยจิตวิทยาสื่อ กล่าวว่ากรณีนี้คงเหมือนกับทุกสื่อที่พ่อแม่จะต้องอธิบายให้เด็ก ๆ เข้าใจบริบท แทนที่จะบอกว่า "สิ่งนี้ไม่ดี ไม่ควรดูนะ" แต่ให้ชวนลูกมาดูไปพร้อม ๆ กัน แล้วเล่าให้ฟังว่าวิดีโอของไรอันบางคลิปมีสปอนเซอร์สนับสนุน ก่อนจะชวนมองมุมเดียวกันนี้ในวิดีโออื่น ๆ บ้างและหากเด็ก ๆ ขอของเล่น ผู้ปกครองก็ต้องอธิบายไปว่าของเล่นแต่ละชิ้นต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อมา ต่างจากในของเล่นบางชิ้นที่ไรอันได้มาเพราะมีสปอนเซอร์สนับสนุน เพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจเงื่อนไขที่แตกต่าง ความสำเร็จของยูทูบเบอร์วัย 9 ขวบนี้ นับเป็นกรณีศึกษามากกว่าด้านธุรกิจ เพราะเรื่องราวของไรอันชวนให้เรากลับมาย้อนคิดว่า ในยุคที่ยูทูบเบอร์กลายเป็นอาชีพใหม่และสร้างรายได้มหาศาล นอกจากความสำเร็จในเชิงตัวเลขแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างถี่ถ้วนคือผลกระทบทั้งต่อ ‘คนทำ’ และ ‘คนดู’ ซึ่งเป็นเด็ก ๆ ทั้งคู่ เพราะไม่แน่ว่าผลกระทบเหล่านี้อาจมากจนประเมินค่าไม่ได้เมื่อเทียบกับความสำเร็จในเชิงตัวเลข ที่มา