26 ก.ค. 2568 | 18:00 น.
KEY
POINTS
“ถ้าผมใช้ชีวิตหรูหราในขณะที่พนักงานต้องถูกปลด พวกเขาจะเชื่อใจผมได้อย่างไร”
‘ฮารุกะ นิชิมัตสึ’ (Haruka Nishimatsu) อดีตประธานและซีอีโอสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ (Japan Airlines - JAL) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CBS เมื่อปี 2009 แม้เรื่องราวของเขาจะเนิ่นน่านมาแล้ว แต่ชื่อของชายคนนี้ยังคงถูกนำมาพูดถึงอยู่ตลอดเวลา เพราะคงมีผู้บริหารน้อยคนนักที่ใกล้ชิดพนักงานของตนเองขนาดนี้ ทั้งนั่งรถเมล์มาทำงาน ต่อแถวเข้าคิวทานข้าวในโรงอาหารพนักงาน ไปจนถึงเลือกซื้อชุดทำงานจากราวที่แขวนลดราคา ทั้งหมดนี้เขาทำเพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าเขาไม่ใช่คนอื่นไกล หากแต่เป็นเพื่อนพนักงานคนหนึ่งไม่ต่างกัน
แม้จะเป็นเรื่องราวชวนอบอุ่นใจ แต่นั่นไม่ได้หลีกหนีความจริงที่ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว สายการบินเจแปนแอร์ไลน์กำลังเผชิญวิกฤติทางการเงินครั้งใหญ่ หลังจากสายการบินขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2006 ถึงจะเป็นสายการบินชั้นนำของเอเชียก็ตาม และนั่นทำให้นิชิมัตสึต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อลดต้นทุนบริษัท
อย่างแรกที่เขาเลือกทำ ไม่ใช่การปลดพนักงาน หรือให้ใครคนใดคนหนึ่งลาออกด้วยความสมัครใจ หากแต่เป็นการตัดสวัสดิการของตัวเองในฐานะผู้บริหารออกทั้งหมด เพื่อไม่ให้รายจ่ายที่ไม่จำเป็นเหล่านี้กระทบบริษัทมากนัก แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งวิกฤติได้อยู่ดี เขาเห็นเพื่อนร่วมงานถูกเลิกจ้าง บ้างก็เกษียณอายุก่อนกำหนด และนั่นทำให้นิชิมัตสึเจ็บปวดไม่น้อย
นิชิมัตสึจึงตัดสินใจ ‘ลดเงินเดือนตัวเอง’ อย่างน้อยก็ทำให้บริษัทพอจะมีเวลาหารายได้เข้ามาอีกหน่อย การลดเงินเดือนครั้งนี้ ส่งผลให้เขามีรายได้น้อยกว่านักบินของบริษัทเสียอีก ซึ่งขณะนั้นเขาอยู่ในตำแหน่งซีอีโอของสายการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก แต่กลับมีรายได้เพียง 90,000 ดอลลาร์ต่อปี หรือราว 2.5–3 ล้านบาท ซึ่งยังน้อยกว่านักบินในบริษัทเดียวกันเสียอีก
“ตอนที่ภรรยารู้ว่าผมลดเงินเดือนตัวเองเพื่อบริษัท เธอได้แต่ถามด้วยความสงสัยว่าผมทำแบบนั้นจริง ๆ เหรอ ผมได้แต่ยิ้มตอบเธอไป”
เหตุผลส่วนหนึ่งที่เขาเลือกลดเงินเดือนตัวเองลง เพราะไม่อยากให้พนักงานต้องเผชิญความเจ็บปวดเพียงลำพัง เขาอยากให้ทุกคนเห็นว่า ไม่ใช่พนักงานชั้นผู้น้อยเท่านั้น ที่กำลังเจอกับเรื่องแบบนี้ เขาในฐานะผู้บริหารก็เจอกับเหตุการณ์อันน่าเจ็บปวดนี้ไม่แพ้กัน
“คุณไม่สามารถขอให้พนักงานเสียสละ ถ้าคุณยังรักษาสิทธิพิเศษของตัวเองเอาไว้ทั้งหมด
“หากฝ่ายบริหารอยู่ห่างไกล อยู่บนฟ้าไกล คนก็ทำได้แค่รอคอยคำสั่ง ผมอยากให้คนของผมเห็นผม รู้สึกว่าพวกเขาสามารถพูดคุยกับผมได้ เพราะเราอยู่เรือลำเดียวกันแล้ว”
แต่ดูเหมือนว่าเรื่องราวของเขายังคงถูกกล่าวถึงเสมอ ในฐานะตัวอย่างของ ‘ภาวะผู้นำที่มีจริยธรรม’ และ ‘การเสียสละที่ไม่ใช่แค่คำพูดลอย ๆ’
ฮารุกะ นิชิมัตสึ ไม่ได้รอดจากวิกฤตในเชิงธุรกิจ แต่เขากลับเป็นผู้นำที่ได้รับเสียงชื่นชมมากที่สุด ทั้งความอ่อนน้อม ความเสียสละ และกล้าเผชิญหน้าไปพร้อมกับเพื่อนพนักงานโดยไม่หวั่นเกรง และในสายตาของพนักงานจำนวนมาก เขาคือซีอีโอที่อยู่กับเพื่อนพนักงานจนวินาทีสุดท้าย
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
อ้างอิง
Former Japan Airlines CEO Reminds Us Of What a Great Boss Should Really Be Like
Haruka Nishimatsu Leadership Style: A Deep Dive
JAL president becomes famous as modest executive on YouTube
Japan Airline Boss Sets Exec Example
The Inspiring Leadership of Haruka Nishimatsu, Former CEO of Japan Airlines