ถ้าล่องหนได้ คุณยังจะเป็นคนดีอยู่ไหม? ว่าด้วย ‘ความดี’ ในกติกาทางสังคม

ถ้าล่องหนได้ คุณยังจะเป็นคนดีอยู่ไหม? ว่าด้วย ‘ความดี’ ในกติกาทางสังคม

ว่าด้วยเรื่องราวของความดีระหว่าง ‘ความดีจากภายใน’ (Intrinsic Moral) และ ‘ความดีจากภายนอก’ (Extrinsic Moral)

หากสามารถเลือกมีพลังวิเศษได้หนึ่งอย่าง คุณจะเลือกอะไร? น่าจะเป็นคำถามชวนจินตนาการยอดฮิตที่ผู้อ่านหลายท่านคงประสบมาตั้งแต่ยังเด็ก บ้างอาจตอบว่าอยากโบยบินเช่นนก บ้างอาจต้องการเป็นอมตะ บ้างหวังจะเคลื่อนผ่านมิติที่สี่ของเวลา หรือบ้างก็คิดฝันว่าตนเองสามารถล่องหนได้

แล้วถ้าหากว่าล่องหนได้ คุณจะทำอะไรเป็นอย่างแรก? 

นับเป็นคำถามที่เปิดพื้นที่ให้จินตนาการถึงความเป็นไปได้นับไม่ถ้วน ว่าใครสักคน หรือแม้แต่ตัวเราเองจะสามารถกระทำสิ่งใดได้บ้าง หากว่าไร้สายตาจากสังคมหรือผู้ปกครองมาสอดส่อง อีกทั้งยังปราศจากผลลัพธ์ที่พ่วงมากับการกระทำเหล่านั้น ทว่าในขณะเดียวกัน คำถามที่ว่านี้ก็ชวนขบคิดถึงต้นธารของ ‘ความดี’ อันเป็นทั้งค่านิยมสำคัญในสังคมและครรลองประพฤติปฏิบัติที่ช่วยดูแลความเรียบร้อยของการอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสถาบันสังคม

เมื่อเป็นเช่นนั้น ‘การเป็นคนดี’ จึงกลายเป็นรากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมในสังคม เพราะความดีคือสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น แต่มากไปกว่านั้น ‘ความเป็นคนดี’ เอง ก็ได้กลายเป็นมาตรวัดและต้นทุนทางสังคมให้แก่ปัจเจกคนนั้น ๆ อีกด้วย เพราะเมื่อเขาเหล่านั้นเป็นคนดี สิ่งที่ตามมาคือการยอมรับ ชื่นชม เชิดชู หรือสถานะทางสังคม ที่เปรียบเสมือนกับ ‘รางวัล’ ในการทำความดีเหล่านั้น

แน่นอนว่าเมื่อความดีกลายเป็นอุดมคติของสังคมนั้น ๆ มันจึงกลายเป็น ‘แรงจูงใจ’ (Incentive) ให้ผู้คนต่างก็อยากเป็นคนดี จึงตามมาด้วยคำถามที่ว่า หากการกระทำความดีเหล่านั้นกลายเป็นการกระทำที่ ‘สมเหตุสมผล’ (Rational) ในเชิงของการได้ประโยชน์สูงสุดภายใต้กลไกของสังคม เราจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่าเขาเหล่านั้น ‘ดีจริง ๆ’?

อธิบายให้เห็นภาพกว่านั้น ระหว่างการทำดีเพราะกลัวที่จะตกนรก กับการทำดีเพราะเห็นใจความเป็นอยู่กับเพื่อนมนุษย์อีกคน แบบไหนที่เรียกว่าดี? หากมองกันในเชิงผลลัพธ์ ทั้งสองสิ่งที่ว่ามาก็ล้วนดีทั้งคู่ แต่หากสำรวจไปถึงแรงจูงใจแล้วจะสามารถเห็นได้ว่ากรณีแรกทำดีเพราะกลไกของสังคม ส่วนกรณีหลังทำดีเพราะคุณค่าและแรงขับเคลื่อนภายใน 

ถึงกระนั้น ในบางกรณีก็สามารถเห็นได้ว่าคนที่ถูกมองว่าคือ ‘คนดี’ เมื่ออยู่หลังม่านกลับกลายเป็นอีกคนเสียอย่างนั้น…

ใน The Hidden Dilemma สัปดาห์นี้ จึงอยากจะชวนคุยถึงประเภทของความดีจากภายนอกและความดีจากภายใน ไปจนถึงบทบาทของ ‘ความดี’ ในฐานะกฎเกณฑ์ทางสังคมที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนทำดี แต่กลับตามมาด้วยทางแพร่งที่ชวนเราสำรวจและมองย้อนเข้าไปในตัวของเราเอง ว่าถ้าหากเราล่องหนได้ ยังจะเป็นคนดีคนเดิมเหมือนที่เคยเป็นอยู่ไหม?

 

ความดีคืออะไร?

 

คงเป็นคำถามที่ยากจะหาคำตอบสัมบูรณ์ที่สามารถใช้ได้กับทุกคน เปรียบเสมือนกับถามว่า ‘เกิดมาเพื่ออะไร?’ หรือ ‘อะไรคือความจริง?’ เพราะแต่ละคนก็ล้วนมีนิยามของความดีที่แตกต่างกันไป ดีสำหรับใครบางคน ก็อาจเลวร้ายสำหรับใครอีกคน ด้วยเหตุนั้น ก่อนจะว่ากันด้วยความดี จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันเสียก่อนว่าความดีที่เรากล่าวถึงในที่นี้มีหน้าตาเป็นแบบไหน?

ความดี’ ในมิติของการอยู่ร่วมกันภายในสังคมอาจจะเป็นการไม่เบียดเบียนผู้อื่นและช่วยเหลือเกื้อกูลพอที่ศักยภาพของตนเองจะรับไหว เพราะในสัญชาติญานของสิ่งมีชีวิต ที่ถูกเรียงร้อยด้วยการแข่งขันเพื่อเอาชีวิตรอดและเฟ้นหาประโยชน์สูงสุด การกระทำของผู้คนที่อยู่ร่วมกันอาจมาพร้อมกับความวุ่นวายและผลกระทบเชิงลบภายในสังคม

เพราะเหตุนั้น ความดีจึงต้องทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการลดทอน ‘ผลกระทบภายนอก’ (Externality)  จากการกระทำของปัจเจกต่อสาธารณะ ผ่านบทลงโทษหรือหลักการที่ช่วย ‘ป้องปราม’ (Deterrence) ผลกระทบเชิงลบ อีกทั้งยังเป็นการ ‘จูงใจ’ (Incentivize) ให้ผู้คนในสังคมมีแนวโน้มที่จะสร้างประโยชน์ต่อภาพรวม มากกว่าขูดรีดผลประโยชน์เพื่อตัวเอง 

จากนิยามที่ว่านี้ ‘ความดี’ จึงทำหน้าที่เป็น ‘กติกาของเกมในสังคม’ (Rules of the Game) หรือเป็นเงื่อนไขที่สร้างขึ้นเพื่อกำกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันภายในสังคมหากมองจากมุมของเศรษฐศาสตร์สถาบัน (Institutional Economics)

ซึ่งคอนเซปต์ความเป็นกติกานี้ก็สามารถเห็นได้จากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย หลักคำสอนทางศาสนา หรือค่านิยมต่าง ๆ ภายในสังคม จนสถาปนาเป็นคำคุณศัพท์ในสำนึกของผู้คนอย่าง ‘มนุษยธรรม’ (Humane) ที่เป็นการผสมผสานระหว่าง ‘มนุษย์’ กับ ‘ธรรมะ’ เข้าด้วยกัน ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นมนุษย์กับค่านิยมที่ยึดโยงกับความดีบางอย่าง

อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าความดีเป็นสิ่งที่ถูกสถาปนาขึ้นในสำนึกของมนุษย์เสมอไป เพราะนอกจากกฎเกณฑ์ทางสังคมที่จูงใจให้ทุกคนเป็นคนดีแล้ว ความดีเองก็สามารถอุบัตขึ้นมาจาก ‘คุณค่า’ (Value) หรือ ‘ความเชื่อ’ (Belief) ที่เขาเหล่านั้นยึดถืออย่างเคร่งครัดเป็นหลักการ ที่อาจสะท้อนออกมาในรูปแบบของคุณธรรมอย่าง ความเห็นอกเห็นใจ ความกตัญญูรู้คุณ หรือเกียรติและศักดิ์ศรี

จากจุดนี้จะสามารถเห็นได้ว่าความดีสามารถจำแนกออกได้เป็นสองประเภท — ‘ความดีจากภายใน’ (Intrinsic Moral) และ ‘ความดีจากภายนอก’ (Extrinsic Moral) กล่าวคือ ความดีที่ขับเคลื่อนจากความเชื่อภายในตัวเอง และความดีที่ถูกจูงใจโดยกฎเกณฑ์และกลไกของสังคม ซึ่งจะแตกต่างกันที่ต้นธารของความดีเหล่านั้น

ไม่ใช่ว่าอย่างไหนดีกว่าหรือด้อยกว่ากัน เพราะภายในสังคมก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะขาดความดีทั้งสองอย่างนี้ไปไม่ได้ หากจะคิดฝันถึงสังคมที่มีคุณค่าและความเชื่อในแบบเดียวกันจนสะท้อนออกเป็นความดีจากภายในจากทุก ๆ คนในสังคมคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะทุก ๆ คนก็ย่อมมีส่วนได้ส่วนเสีย หรือแม้แต่ความคิดที่แตกต่างกันไป 

ส่วนจะให้สังคมมีเพียงความดีจากภายนอก ก็อาจจูงใจให้ผู้คนทำความดีเพื่อสำแดงมากกว่าด้วยเจตนาดีที่แท้จริง ก็คงไม่ต่างอะไรจากการที่ทุกคนใส่หน้ากากเข้าหากัน จนกลายเป็นโลกดิสโทเปียที่เคล้าไปด้วยรอยยิ้มแบบตอนหนึ่งของ Black Mirror ที่ชื่อว่า Nosedive

ความดีจากภายนอก ในมุมหนึ่งอาจจะดูเป็นการประกอบสร้างของแรงจูงใจและผลประโยชน์ภายใต้กติกาของเกมในสังคมนั้น ๆ เสียด้วยซ้ำ เพราะเมื่อการเป็นคนดีนำมาซึ่งประโยชน์ มันก็ถือเป็นการกระทำที่สมเหตุเป็นผลที่จะทำดีภายใต้กฎกติกานั้น ๆ และแรงจูงใจนับว่าเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ในบางคราวจึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกบุคคลที่อยู่ในสถานะที่ ‘ต้องเป็นคนดี’ หลังฉากอาจจะเป็นอีกคน เหตุเพราะ ‘ความดีภายนอก’ กับ ‘ความดีภายใน’ ไม่สัมพันธ์กัน

ที่เลวร้ายไปกว่านั้น ในบางคราวความดีจากภายนอกก็ถูกสถาปนาและยึดโยงคู่กับบทบาทในสังคมจนยากจะ ‘ตรวจสอบ’ เพราะถูกบันทึกไว้อย่างแข็งแรงแล้วว่าหากเขาผู้นั้นดำรงชีพเป็นสิ่งนั้น เขาผู้นั้นก็ย่อมเป็นคนดีไปโดยปริยาย ความดีที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่ต้นจึงสามารถครอบหรือบดบังความดี (หรือไม่ดี) ที่แท้จริงของบุคคลนั้น ๆ ได้

ภาพยนตร์ The Purge (2013) ที่เล่าถึงเรื่องราวในสหรัฐอเมริกาที่ทุก ๆ ปีจะมีเหตุการณ์ที่เรียกว่า The Purge ซึ่งเป็นช่วงเวลา 12 ชั่วโมงที่การกระทำผิดกฎหมายทุกชนิด หรือเป็นช่วงเวลาที่จะไม่มีกรอบกติกาใด ๆ มาควบคุมใครก็ตามอีกต่อไป 
หากในโลกของ The Purge เราได้เห็นว่าความดีบางครั้งตั้งอยู่บนฐานของแรงจูงใจภายนอกและการควบคุมโดยระบบกฎหมาย และเมื่อกรอบเหล่านั้นถูกปลดออก ผู้คนจำนวนไม่น้อยกลับเผย ‘ตัวตนอีกด้าน’ ออกมาอย่างไม่ลังเล ทำให้เราเห็นความไม่สมดุลกันของดีภายนอกและภายใน

ไม่ใช่ว่าความดีภายนอกเป็นสิ่งที่เลวร้าย ดังที่เราได้เห็นว่าเป็นกลไกสำคัญในการดูแลความเรียบร้อยของสังคมและผลกระทบภายนอกที่อาจจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือความดีที่เกิดขึ้นจากความเชื่อและคุณค่าภายในของแต่ละบุคคล ที่จะทำให้ความดีเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะยั่งยืนมากกว่าความดีอีกแบบหนึ่ง

ในโลกแห่งความเป็นจริง บทบาทบางอย่างในสังคมไม่เพียงแต่ต้อง ‘ทำความดี’ แต่ยังถูก ‘คาดหวังให้เป็นคนดี’ ตั้งแต่ต้นไม่ว่าจะเป็น พระ นักการเมือง ครู แพทย์ หรือแม้แต่อินฟลูเอนเซอร์ ผู้สร้างแรงบันดาลใจ ล้วนดำรงอยู่ภายใต้กติกาที่ระบุไว้ชัดว่า ‘ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี’

แต่เมื่อความดีถูกผูกติดกับบทบาทแทนที่จะต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำก็อาจเปิดช่องให้เกิด การลอยตัวพ้นจากการตั้งคำถามหรือการตรวจสอบ โดยเฉพาะเมื่อภาพลักษณ์ดีภายนอกแข็งแรงจนบดบังเนื้อแท้ภายในไปจนหมด

ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากย้อนกลับไปยังคำอธิบายของ อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) ที่ว่า

 

ไม่มีสิ่งใดในโลก หรือแม้แต่สิ่งที่อยู่นอกโลก ที่จะสามารถถือว่า ‘ดีโดยไม่ต้องมีเงื่อนไข’ ได้ นอกจาก ‘เจตจำนงที่ดี’ (good will) เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

นั่นหมายความว่า การทำดีไม่อาจวัดจากภาพที่เห็นหรือผลประโยชน์ที่ตามมา หากแต่ต้องมองให้ลึกลงไปถึงแรงขับภายในของผู้กระทำ ซึ่งในชีวิตจริงนั้น แรงขับนี้ยากจะตรวจสอบ และบางครั้งก็ถูกบดบังด้วยหน้ากากของความดี

คำถามจึงย้อนกลับมาสู่สังคมและตัวเราเองอีกครั้ง

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่ดู ‘ดี’ คือ ‘คนดี’ จริง ๆ?

เราควรใช้เกณฑ์ใดในการวัดความดีภายใน?

บางที ทางออกของปัญหานี้อาจไม่ใช่การแยกขาว-ดำระหว่างดีภายในกับดีภายนอก
แต่คือการ สร้างพื้นที่ให้ตรวจสอบได้แม้กับ ‘คนดี’ และ กล้าตั้งคำถามแม้กับบทบาทที่เราเคยศรัทธา
เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความดีที่แท้จริงอาจไม่ได้อยู่ในตำรา หรือยศถาบรรดาศักดิ์ใด หากแต่อยู่ใน ‘เจตนา’ และ ‘ความเชื่อมั่น’ ที่ยังคงอยู่แม้ในยามที่ไม่มีใครเห็น

กลับมาที่คำถามเดิม…

ถ้าเกิดว่าคุณสามารถล่องหนได้ คุณจะทำอะไรเป็นอย่างแรก?