ลพบุรีจะกลายเป็น ‘พิภพวานร’ หรือไม่?

ลพบุรีจะกลายเป็น ‘พิภพวานร’ หรือไม่?

เมื่อปัญหาลิงลพบุรี ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ พาย้อนไปศึกษาถึงประเด็นลิงลพบุรี จากมุมมองประวัติศาสตร์นิเวศ (History of Ecosystem) เพื่อทำความเข้าใจและหาทางออกของปัญหานี้

  • ‘ลิงลพบุรี’ กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมให้ความสนใจ 
  • แม้เรื่องนี้เพิ่งจะมาเป็นปัญหา แต่ต้องยอมรับว่า เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากอดีต ซึ่งต้องทำความเข้าใจและหาทางออกโดยคำนึงถึงมิติทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม    

Planet of the Apes & ลพบุรีเวอร์ชันใหม่ล่าสุด

ปัญหาเรื่องลิงลพบุรีมีทีท่าว่าจะถูกยกระดับเป็น ‘ปัญหาระดับชาติ’ ในอีกไม่ช้านานนี้ เพราะเป็นข่าวแพร่ไปไกลยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา นับตั้งแต่มีเหตุการณ์ลิงยกพวกตีกันเมื่อปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา จนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ มีภาพไวรัลที่แชร์กันมากคือภาพเด็กผู้หญิงตัวน้อยถือปืนขู่ลิง ต่อมามีอีกภาพแชร์คู่ขนานกันคือภาพลิงหน้าพระปรางค์สามยอดถือปืนชนิดเดียวกับที่เด็กผู้หญิงคนดังกล่าวถือในวันก่อน พร้อมกับแคปชันว่า “ซีซาร์ นั่นนายใช่ไหม?”

‘ซีซาร์’ เป็นชื่อตัวละครลิงในเรื่อง ‘Planet of the Apes’ (ชื่อแปลในภาษาไทยว่า ‘พิภพวานร’) การณ์นี้เลยพลอยทำให้ลพบุรีมีภาพลักษณ์เป็น ‘พิภพวานร’ ไปกับเขาด้วย 

‘Planet of the Apes’ เนื้อเรื่องบอกเล่าถึงจินตนาการแฟนตาซี เมื่อลิงทนการกดขี่ของมนุษย์ไม่ไหว ในขณะที่พวกลิงมีวิวัฒนาการ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีภาษาสามารถสื่อสารกันได้ แต่มนุษย์กลับโง่เขลาและพูดสื่อสารกันไม่ได้ และแล้วพวกลิงก็มีผู้นำ (แบบเผด็จการ) ตั้งตัวเป็นใหญ่แล้วนำพวกลิงจับอาวุธปืนต่อสู้โค่นล้มมนุษย์และแก้แค้นมนุษย์โดยการจับไปเป็นทาสรับใช้บ้าง

เรื่องมันฟังดูสนุก เพราะเป็นจินตนาการแฟนตาซี เป็นเรื่องนอกประสบการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่คนลพบุรีที่ถูกลิงแย่งซีนแย่งพื้นที่อาจจะไม่รู้สึกสนุกไปกับเรื่องนี้ เพราะการถูกลิงรุกรานนั้นดูจะไม่ใช่เรื่องห่างไกลจากประสบการณ์ที่เป็นจริงของพวกเขาแต่อย่างใด และเสียงร้องบ่นขอความช่วยเหลือจากคนนอกเข้ามาแก้ไขปัญหาก็ดังมากขึ้นเรื่อยๆ   

ยิ่งเมื่อมีสื่อบางสำนักไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แล้วได้ความว่าการทำร้ายลิงมีความผิด เพราะลิงเป็นสัตว์สงวน ยิ่งทำให้ผู้คนวิตกกังวลและแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องชาวลพบุรี กลายเป็นว่าแทนที่จะสงสารลิงก็กลับเป็นมาสงสารชะตากรรมของคนที่ต้องอยู่กับลิงแทน ซึ่งที่จริงไม่เป็นผลดี เพราะจุดชนวนให้เกิดการมองปัญหาลิงลพบุรีแบบลิงเป็นผู้ร้ายจนเกินไป  ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจอะไร โดยเฉพาะที่เป็นรากฐานที่มาของปัญหา 

‘ลิงลพบุรี’ ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์

ที่บอกว่ามีทีท่าว่าจะถูกยกระดับเป็นปัญหาระดับชาตินั้น ก็เพราะว่าทั้งภาพไวรัลที่แชร์กันในโลกออนไลน์และทั้งภาพลักษณ์พิภพวานร มันเข้ากันได้กับสิ่งที่อยู่ในสื่อบันเทิงระดับโลกสากลมาก่อน มีผลต่อชื่อเสียงของประเทศไทยยิ่งกว่าซอฟต์พาวเวอร์หมูกระทะของรัฐบาลอย่างแน่นอน  เพราะเป็นของแปลกประหลาด แต่ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดความสนใจแบบ exotic ได้ 

คนไทยเองก็แชร์มาล้อขำขันกัน แต่คนลพบุรีโดยเฉพาะในละแวกย่านบริเวณพระปรางค์สามยอดและศาลพระกาฬ คงไม่ขำด้วย เป็นความจริงที่พวกลิงก่อปัญหาให้กับพวกเขามาตลอด อย่างน้อยก็ในรอบสิบปีมานี้ 

ในความทรงจำของผู้เขียน ซึ่งแต่ละปีได้แวะเวียนไปมาระหว่างอยุธยากับลพบุรีหลายครั้ง ยังจำได้ดีว่าเมื่อปี 2556 - 2557 ยังเคยไปจอดรถแวะกินก๋วยเตี๋ยวกับพักค้างแรมที่โรงแรมซึ่งตั้งอยู่ฝั่งถนนตรงข้ามกับพระปรางค์สามยอด  เพราะได้เห็นวิวพระปรางค์สวยงามทั้งยามเช้าและยามเย็น แต่ปัจจุบันนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะบริเวณดังกล่าวกลายเป็นเมืองร้างถูกลิงยึดครองไปหมดแล้ว 

ในบริบทของคนชายฝั่งทะเลภาคใต้ ลิงเป็นสัตว์เลี้ยงทำคุณประโยชน์ช่วยเก็บมะพร้าว จนเคยเป็นกระแสข่าวเรียกร้องให้เลิกกินน้ำมะพร้าว เพื่อช่วยลดละเลิกการใช้แรงงานลิงในภาคการผลิต ลิงยังเคยเป็นสัตว์เลี้ยงแทนบุตรในอุทรมาก่อนหมาแมว เห็นได้จากประติมากรรมคนจูงลิงที่พบได้ทั่วไปตามแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดี ซึ่งลพบุรีก็เคยเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของวัฒนธรรมทวารวดี  จนเกิดมีทฤษฎีว่าลิงลพบุรีสืบมาจากลิงทวารวดี แต่ก็ไม่ขนาดนั้นหรอกนะขอรับ!    

จริงอยู่ว่าลิงลพบุรีเพิ่งจะมาเป็นปัญหา แต่ทว่าก็ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่าเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากอดีต  กรณีลิงลพบุรีเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่มีลักษณะเรียกได้ว่า ‘ปัญหาทางประวัติศาสตร์’ (Historical problem) เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและหาทางออกโดยคำนึงถึงมิติทางประวัติศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม    

‘ลพบุรีมีลิง’ มาช้านานตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว!

ประเด็นก็คือลิงในลพบุรีมีมาช้านานแล้ว แต่เพิ่งจะเป็นปัญหาก็ในรอบสิบปีมานี้ ลพบุรีมีลิงมานานแค่ไหนนั้น  บทความชิ้นหนึ่งของผู้เขียนคือเรื่อง “จาก ‘ลูกหลานหนุมาน’ ถึง ‘ลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬ’ : ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของ ‘ลิง’ ในชุมชนเมืองลพบุรี” ตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ได้ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่สมเด็จพระนารายณ์ได้เสด็จฯ มาประทับที่ลพบุรีนั้น จากบันทึกของบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเล่าเรื่องการเดินทางล่องเรือจากอยุธยาขึ้นมาลพบุรีโดยใช้เวลา 2 วันนั้น สิ่งแรกที่พวกเขาได้ประสบพบเห็นเมื่อแรกเดินทางมาถึงย่านลพบุรีก็คือ ‘ลิง’  

บริเวณที่ชาวฝรั่งเศสพบลิงในลพบุรีนั้นอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำลพบุรี ซึ่งปัจจุบันก็ตรงกับย่านโพธิ์เก้าต้นที่เคยมีโครงการจะย้ายลิงจากในเมืองไปไว้ที่นั่น แต่จนแล้วจนรอดโครงการดังกล่าวนี้ก็ไม่คืบหน้าเท่าที่ควร จนมาถึงการสร้างบ้านลิงเป็นที่รองรับโดยใช้พื้นที่วัดพระบาทน้ำพุในปัจจุบัน      

จากบันทึกของฝรั่งเศสก็เห็นได้ชัดว่า พื้นที่สองฝั่งริมแม่น้ำลพบุรีจากสายตาที่พวกเขาได้พบเห็นนั้นยังอุดมสมบูรณ์มาก และที่ที่พวกมันอยู่ก็ไม่ได้รบกวนมนุษย์ ไม่อย่างนั้นสมเด็จพระนารายณ์ก็คงไม่เสด็จฯ มาประทับลพบุรีเพื่ออยู่กับลิงเป็นแน่      

นอกจากบันทึกฝรั่งเศสแล้ว หลักฐานลายลักษณ์อักษรของไทยไม่พบเรื่องลิงในประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับไปจนถึงสมัยอยุธยาก็จริง แต่หลักฐานจากจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา เช่น ที่วัดค้างคาว อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ก็จะเห็นว่ามีภาพลิงอยู่ในนั้น ซึ่งก็รับกันกับหลักฐานที่เป็นบันทึกของชาวต่างชาติที่เคยเดินทางมาประสบพบเห็นเมืองลพบุรีอย่างชาวฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ได้เป็นอย่างดี    

พระราชจริยวัตรหนึ่งที่ทรงโปรดปรานระหว่างประทับอยู่ที่พระราชวังลพบุรีก็คือการจัดสวน มีบันทึกว่าทรงจัดสวนด้วยพระองค์เอง ที่เหลือนอกไปกว่าราชกิจก็คือการเสด็จประพาสคล้องช้างป่า ซึ่งลพบุรีทำได้สะดวกกว่าที่อยุธยา 

ช้างป่ามีมากในเขตแขวงลพบุรี ถึงขนาดที่ว่าจากบันทึกของชาติตะวันตก รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มีการส่งออกช้างที่ถูกฝึกจนเชื่องแล้วไปขายต่างประเทศกว่า 300 เชือกต่อปี การที่ลพบุรีเป็นแหล่งช้างป่าที่สามารถจับฝึกส่งออกได้มากถึงขนาดนั้น ก็เป็นอีกเรื่องที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าในย่านลุ่มแม่น้ำลพบุรี - แม่น้ำป่าสัก 

ที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งก็สืบเนื่องมาตั้งแต่เมื่อมีการค้นพบรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ทรงประกาศกำหนดให้พื้นที่บริเวณโดยรอบเขาพระพุทธบาทในระยะ 1 โยชน์ (16 กม.) เป็นเขตกัลปนาแก่คณะสงฆ์ 

‘ป่าตะวันออก’ และ ‘ศาลพระกาฬ’ & ลพบุรีเวอร์ชันเดิม และจุดกำเนิดของ ‘ลิงลพบุรี’ (ของแทร่)  

พื้นที่ ‘1 โยชน์’ หรือ 16 กม. จากเขาพระพุทธบาทนั้นจะยาวมาจรดเขตลพบุรี ปัจจุบันหากใครขับรถก็จะเห็นได้ว่าระยะทางจากวัดพระพุทธบาทสระบุรีมายังลพบุรีที่วงเวียนอนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์ก็แค่ 15 กม. เอง 

การกัลปนาที่ดินในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนี้ถึงแม้จะเปลี่ยนราชวงศ์กษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีจากราชวงศ์สุโขทัยมาเป็นราชวงศ์ปราสาททอง และต่อมาก็คือการเปลี่ยนจากราชวงศ์ปราสาททองมาเป็นราชวงศ์บ้านพลูหลวง แต่ทุกพระองค์หลังจากรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็นต้นมาต่างก็ให้ยอมรับการกัลปนาที่ดินพระราชอุทิศดังกล่าวนี้ร่วมกันสืบมาจนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310    

แม้ว่าที่ดินโดยรอบรัศมี 1 โยชน์ จะเป็นของคณะสงฆ์ตามกฎหมายที่ประกาศโดยพระมหากษัตริย์อยุธยา แต่ทว่าคณะสงฆ์ก็ไม่ได้มีการจัดการนำเอาที่ดินดังกล่าวนี้ไปทำประโยชน์อย่างใด ที่ดินที่คณะสงฆ์ดูแลจัดการได้จริง ๆ นั้นคือพื้นที่เขาพระพุทธบาท ซึ่งสร้างเป็นวัดพระพุทธบาท ที่เหลือนอกนั้นเป็นที่ดินที่ถูกปล่อยว่าง มีชาวบ้านเข้าไปจับจองทำมาหากินในบางส่วน แต่ไม่มาก ส่วนใหญ่จะอยู่ปลายเขตกัลปนาแล้ว เช่น ชุมชนบ้านหมอที่คลองเริงราง หรืออย่างชุมชนตามแนวเส้นทางถนนฝรั่งส่องกล้อง เป็นต้น 

ที่เหลือนอกนั้นเป็นป่าเขาเรื่อยมาจนถึงสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และบริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะเมืองลพบุรีไปจนจรดเขาพระพุทธบาทนั้นเคยถูกเรียกว่า ‘ป่าตะวันออก’ (หมายถึงตะวันออกของเกาะเมืองลพบุรี)

‘ป่าตะวันออก’ ได้ชื่อเป็นถิ่นทุรกันดาร ชุกชุมด้วยสัตว์ป่า ไข้มาลาเรีย และโจรผู้ร้ายของบ้านเมือง ศาลพระกาฬเดิมก็คือ ‘ศาลเบิกไพร’ เป็นที่ที่พวกนายพรานหรือคนที่จะเดินทางเข้าสู่เขตป่าตะวันออกนี้ได้มาเซ่นไหว้ขอพร ก่อนจะเดินทางเข้าสู่เขตถิ่นที่ยากลำบาก 

เป็นธรรมดาสำหรับยุคก่อนหน้าที่ยังไม่มีความรู้เรื่องรูปแบบศิลปกรรม หรือมีแต่ไม่แพร่หลายจนเป็นที่เชื่อถือ ‘เจ้าพ่อพระกาฬ’ นั้นโดยรูปแบบศิลปกรรมก็คือเทวรูปพระนารายณ์ เป็นเทวรูปคู่ปราสาทศาลพระกาฬที่มีอายุย้อนหลังไปกว่าพุทธทศวรรษ 16 แต่ความเชื่อที่ทรงพลังในท้องถิ่นอย่างมากนั้นคือความเชื่อเรื่องผีบรรพชน (Ancestor warship) เมื่อเทวรูปหัวขาด ก็ถูกเข้าใจว่าเป็นผีผู้ควบคุมความตายหรือพระกาฬ    

การเป็นรูปเคารพหัวขาดส่งผลต่อความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ แรง เฮี้ยน (สมัยโน้นยังไม่มีคำว่า ‘มู’) เมื่อขอพรกับผีเทพซึ่งเป็นเจ้าแห่งความตาย ก่อนที่จะเดินทางผ่านจากหลังศาลไปสู่เขตทุรกันดาร ย่อมสร้างความยึดเหนี่ยวจิตใจแก่เหล่าผองชนคนเดินทางที่มีความเชื่อถือได้เป็นอย่างดี 

นั่นคือ ‘ศาลพระกาฬ’ อันเป็นถิ่นที่อยู่แรก ๆ ของลิงลพบุรี เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันออกในทางสังคมวัฒนธรรม  ก็เลยพาให้เกิดความเชื่อว่าบรรดาลิงที่อาศัยอยู่ในบริเวณศาลนี้เป็น ‘ลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬ’ ชาวลพบุรีตลอดจนคนเดินทางผ่านไปมาย่อมจะไม่ทำร้ายลิงเหล่านี้    

ประกอบกับลพบุรีเป็นเมืองที่มีตำนานอธิบายถิ่นโดยยึดโยงกับท้องเรื่องในวรรณคดีรามเกียรติ์ นอกจากเป็นเมืองของพระลพ โอรสของพระรามอวตารแล้ว ยังมีความเชื่อว่าเป็นเมืองที่พระรามสร้างให้หนุมานมาครองอีกด้วย ความเชื่อนี้ก็ส่งเสริมให้เกิดการมองลิงลพบุรีว่าเป็น ‘ลูกหลานของหนุมาน’ ไปด้วย 

สองกระแสความเชื่อนี้ต่างเอื้อหนุนให้เกิดการมองลิงลพบุรีในแง่บวก เป็นเครื่องสะท้อนอัตลักษณ์ของเมืองลพบุรี และลพบุรีก็เลยได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองลิง’ สืบมา     

จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายพัฒนานิคม บริเวณดังกล่าวถึงได้มีการบุกร้างถางพงจนเกิดความเจริญอย่างในปัจจุบัน นโยบายบุกเบิกที่ดินลพบุรี - สระบุรีที่เริ่มในสมัยจอมพล ป. นี้ ก็ยังดำเนินต่อเนื่องสืบมา โดยเฉพาะในช่วงหลัง 2500 ยุครัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงรัฐบาลจอมพลถนอม กิติขจร  

อย่างน้อยที่สุดในช่วงไล่เลี่ยกันนั้นที่มีคลิปจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปเป็นประธานในพิธีเปิดศาลพระกาฬ ก็เห็นภาพมีลิงอยู่บริเวณศาลพระกาฬแล้ว 

ไม่ใช่แต่เฉพาะลิงที่อพยพย้ายถิ่นที่อยู่จากป่ามาสู่เมือง  เพราะในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ป่าตะวันออกของเมืองลพบุรีไม่ใช่ที่ที่พวกสัตว์จะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยอีกต่อไป เพราะเป็นช่วงที่เกิดมีวาทกรรม ‘ลูกผู้ชายนิยมไพร’ ในหมู่ชนชั้นกลางชาวเมืองกรุง พวกเขาเป็นพวกชอบเข้าป่าล่าสัตว์กันในวันหยุด ป่ากลายเป็นพื้นที่แสดงออกถึงความกล้าหาญในแบบลูกผู้ชายชาตรีหรือ ‘ชายแท้’

พวกลิงยังโชคดีที่ผู้คนที่หลั่งไหลกันมาสักการะเจ้าพ่อพระกาฬนั้นมีความใจดีมีเมตตาต่อพวกมัน ในสภาพเช่นนี้  ศาลพระกาฬที่มีอาหารการกินและผู้คนใจดีมีเมตตา จึงกลายเป็นบ้านใหม่ของพวกลิงมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่พวกสัตว์อื่น เช่น เสือ กวาง หมี ฯลฯ ไม่ได้โชคดีเหมือนอย่างพวกลิง     

ลิงนั้นเป็นสายพันธุ์ไพรเมตที่อยู่คู่โลกมายาวนานกว่า 34 ล้านปี ความสามารถในการปรับตัวไม่ธรรมดาแน่นอน จะเป็นป่าหรือเมือง ลองถ้ามีแหล่งอาหารและมีที่อยู่อาศัย  พวกมันก็อยู่ได้ทั้งนั้น Charles Darwin ก็เคยบอกว่าสายพันธุ์ที่จะอยู่รอดในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนั้นน่ะไม่ใช่สายพันธุ์ที่ฉลาดและเข้มแข็งที่สุด หากแต่เป็นสายพันธุ์ที่สามารถปรับตัวได้เร็วที่สุด 

จริงอยู่ว่าลิงเป็นสัตว์ป่า แต่สำหรับลิงลพบุรีที่อยู่กับเมืองมานาน การเอาพวกมันกลับไปป่าก็ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมกับพวกมัน อีกอย่างป่าในย่านลพบุรีก็เช่นเดียวกับถิ่นอื่น ๆ ป่าเหลือแต่เฉพาะภูเขา ไม่มีป่าไม้เชื่อมต่อแดนเพราะที่ราบรอบภูเขากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม การเอาลิงไปปล่อยในป่าเขา พวกมันก็จะไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวไร่ชาวนารอบ ๆ ภูเขา พืชผลการเกษตรจะเสียหายดังที่เคยเป็นข่าวเมื่อลิงถูกจับไปปล่อยป่าเขาแล้วพวกมันลงมาเก็บทำลายพืชผลเสียหาย กลายเป็นว่าย้ายลิงจากที่หนึ่งไปเป็นปัญหาอีกที่ไปซะอย่างนั้น

กล่าวโดยสรุป สองเรื่องนี้มีประเด็นสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างเห็นได้ชัด คือการหายไปของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศอย่าง ‘ป่าตะวันออก’ (ของเมืองลพบุรี - พระพุทธบาทสระบุรี) จากการพัฒนา กับการที่มีลิงจากป่าเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ย่านเมืองลพบุรี โดยเฉพาะย่านที่คนไม่เพียงไม่ทำร้ายพวกมัน แต่ยังมีอาหารการกินแก่พวกมันอย่างอิ่มหนำสำราญตลอด อย่างศาลพระกาฬอีกด้วย 

ดังนั้น ประเด็นแรกที่เราควรต้องเข้าใจเป็นพื้นฐานกัน จับให้มั่นกันเสียก่อน ก็คือเพราะมนุษย์ไปทำลายบ้านของพวกมันก่อน พวกมันถึงได้มาออกลูกแผ่หลานกันในเมืองดังที่เห็น!!!     

และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะเป็นแค่เรื่องของชุมชนเมืองใดเมืองหนึ่ง การทำลายผืนป่าทำให้ลิงและพวกสัตว์เข้ามาหากินในถิ่นคน เป็นปัญหาที่พบเห็นได้ทุกเมืองในประเทศนี้และที่อื่นทั่วโลกใบนี้ 

นอกจากลพบุรี ที่เพชรบุรีก็มีลิงเข้ามาเพ่นพ่านอยู่หลายจุด  มีตั้งแต่แก๊งลิงเขาหลวง เขาวัง และเขาบันไดอิฐ ที่ราชบุรี ลิงจากเขางูก็นับวันทวีจำนวนจนพวกมันเริ่มเข้ารุกล้ำพื้นที่คน ที่ชลบุรี ลิงเขาสามมุขก็ไม่ใช่จำนวนน้อย ๆ เลย ไม่นับกับการที่มีลิงและช้างรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมและเส้นทางคมนาคมสายต่าง ๆ  

ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาเดียวกัน คือการที่ป่าถูกทำลายจนพวกสัตว์มันปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากป่ามาสู่ชุมชนของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องมองปัญหานี้ในลักษณะที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบและทั้งสังคม ปัญหาทางประวัติศาสตร์ในทุกที่และทุกเรื่องล้วนยากแก่การแก้ไขในทันท่วงที ล้วนแต่ต้องอาศัยระยะเวลาและความอุตสาหะ หากไม่เรียนรู้ก็อาจเป็นปัญหาที่ทำให้โตไวเกินไป เพราะจดจำเวอร์ชันเดิมของตนเองไม่ได้ 

‘โตไวเกินไป’ ในที่นี้หมายถึงการพัฒนาที่มุ่งสู่ความศิวิไลซ์ทันสมัย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนขาดความสมดุลระหว่างธรรมชาติกับชีวิต แล้วในท้ายที่สุดความเสื่อมโทรมความเสียสมดุลดังกล่าวก็ย้อนกลับมามีผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เอง 

สัตว์ป่าบุกเมือง, วิกฤตโลกร้อน, น้ำทะเลหนุนสูง, แม่น้ำลำคลองเหือดแห้ง, มลพิษจากท่อไอเสีย, PM2.5, โรคอุบัติใหม่ (โควิด-19) ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่มีที่มาสืบเนื่องมาจากสาเหตุใหญ่เดียวกันและไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป                       

ปัจฉิมบท: สู่ ‘มนุษยธรรมใหม่’ และคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ 

ถ้าหากย้อนคิดตามพล็อตเรื่องของ Planet of the Apes จะเห็นได้ว่าสงครามระหว่างคนกับลิงไม่ได้จบลงได้เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาชนะอีกฝ่ายได้โดยเด็ดขาด ที่เรื่องมันมีหลายภาคให้ติดตามได้ตลอด ส่วนหนึ่งก็เพื่อจะคลี่คลายให้เห็นว่า แนวทางของทั้งมนุษย์และลิงที่มุ่งกำจัดอีกฝ่ายทำให้เรื่องมันยืดเยื้อยาวนานไปเพียงใด 

ความสงบและสันติที่แท้จริงมาจากการที่ต่างฝ่ายต่างตระหนักว่าสงครามไม่ก่อให้เกิดผลดีในระยะยาวต่อทั้งสองฝ่าย และทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ร่วมกัน อันที่จริงผู้นำลิงอย่าง ‘ซีซาร์’ ก็เป็นลิงที่มีบทเรียนจากการถูกกระทำที่โหดร้ายจากมนุษย์ จนซึมซับรับเอาวิธีคิดที่เลวร้ายบางอย่างจากมนุษย์มาใช้ในโลกของลิง ต้องรอจนกว่าลิงที่เคยได้รับการปฏิบัติที่ดีจากมนุษย์ขึ้นเป็นผู้นำ เรื่องจึงสงบ จบแบบ Happy Ending  

อย่างไรก็ตาม ลิงลพบุรีก็ไม่ได้มีพัฒนาการจนถึงขั้นนั้น  ภาพลิงถือปืนนั่นก็เพียงแต่เป็นภาพล้อ แต่คิดตาม Planet of the Apes ก็ไม่เสียหลาย ลิงไม่ผิด บรรพชนของเราต่างหากที่ไปทำลายบ้านของพวกมันก่อน ปัญหาทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายบนโลกนี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่บรรพชนสร้างและสั่งสมจนตกทอดมาให้เราในชั้นหลัง เอาอะไรมาคิดว่าคนสมัยก่อนทำอะไรดีหรือถูกไปหมด มนุษย์ทุกยุคล้วนอยู่กับความเขลา ไม่รู้ หรือรู้แต่ยังกระทำกันทั้งนั้นแหละ อย่างเรื่องลิงลพบุรีที่มันเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ก็เพราะคนรุ่นก่อนไม่ยอมทำหมันพวกมัน ปล่อยปละละเลยกันมาจนเมื่อลิงเยอะแล้วก็จะมาใช้วิธีการที่รุนแรง ก็ไม่ถูก ไม่ควร

‘The History of Animals: A Philosophy’ งานบุกเบิกชิ้นสำคัญของ Oxana Timofeeva เขียนคำนำให้โดย Slavoj Žižek เป็นงานทางปรัชญาประวัติศาสตร์สัตว์ (Animal historical philosophy) ที่สำรวจและขุดค้นแนวคิดเกี่ยวกับสัตว์ในหมู่นักคิดคนสำคัญ ๆ อย่าง Karl Marx, Giambattista Vico, Michel Foucault แล้วได้ข้อสรุปว่า นักคิดเหล่านี้ต่างมีจุดร่วมเหมือนกันอยู่อย่าง ตรงที่มองความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสัตว์เป็นกระจกสะท้อนความเป็นมนุษย์ 

นั่นหมายความโดยย่อได้ว่าจะเป็นมนุษย์สมบูรณ์หรือบกพร่องก็ต่อเมื่อนำเอาไปพิจารณาว่าพวกเขาปฏิบัติต่อสัตว์อย่างไร เพราะโดยปกติ มนุษย์มีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างขัดแย้งในตัวเอง พวกเขาอาจรักหมา เลี้ยงแมว เหมือนลูก มีรูปสัตว์เลี้ยงในหน้าจอมือถือ ชอบถ่ายรูปหมาแมวอวดเพื่อนในเฟซบุ๊ก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจกินหมู กินวัว ใช้กระเป๋าและเครื่องนุ่งห่มทำจากหนังสัตว์   

งานวิชาการอีกเล่มที่ชื่อ ‘Why We Love Dogs, Eat Pigs, ad Wear Cows?’ เขียนโดยนักจิตวิทยาสังคมอเมริกันคนสำคัญอย่าง Melanie Joy ซึ่งวิพากษ์และตั้งคำถามต่อพฤติกรรมที่ขัดแย้งกันแบบสองมาตรฐานในวิถีบริโภคนิยมของคนสมัยใหม่ 

Joy อ้างอิงงานวิจัยทางสัตววิทยาและชีววิทยาหลายชิ้นที่ยืนยันว่า พวกสัตว์มีความรู้สึกและใช้ภาษาในแบบของมัน (ซึ่งมนุษย์ยังไม่ล้ำหน้าพอจะเข้าใจ) หนึ่งในความรู้สึกและภาษาที่ว่านั้นก็คือความเจ็บปวดทุกข์ทรมานและหรือการร้องโหยหวนก่อนถูกปลิดชีวิตเพื่อไปเป็นอาหารแก่มนุษย์ 

จะบอกว่าวิธีคิดพวกนี้เป็นของตะวันตก จะใช้ได้กับสังคมไทยหรือเฉพาะกว่านั้นคือสำหรับลพบุรีได้อย่างไรก็ไม่ใช่ที่ เพราะประเด็นเหล่านี้มีลักษณะร่วมของมนุษยชาติ และ “เราอาจพิจารณาความยิ่งใหญ่ ความก้าวหน้าทางศีลธรรมของชนชาติหนึ่ง ๆ ได้จากวิธีการที่พวกเขาปฏิบัติต่อสัตว์” (คำของมหาตมะ คานธี) 

ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า ลิงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเมืองลพบุรีไปแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ลิงไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ชุมชนมนุษย์ในละแวกย่าน ทำอย่างไรลิงถึงจะมีปริมาณน้อยลงหรือให้มีปริมาณเท่ากับเมื่อก่อน 

การแก้ไขปัญหาเรื่องลิงลพบุรีที่กำลังดำเนินอยู่นี้จะเป็นไปในลักษณะวิธีการอย่างใดก็ตาม ควรคำนึงถึงมิติของ ‘มนุษยธรรมใหม่’ คือมีหลักคิดเรื่องการปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อสัตว์ด้วย มนุษย์ทำเรื่องที่โหดร้ายต่อพวกมันมาเกินพอแล้ว คนลพบุรีก็น่าเห็นใจ ลิงก็มีชะตากรรมที่น่าสงสารไม่แพ้กัน ทำอย่างไรถึงจะไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง 

นั่นแหละครับท่านผู้ชม มันยากก็ตรงจุดนี้…   

สุดท้ายคำถามที่ตั้งไว้ (ลพบุรีจะกลายเป็น ‘พิภพวานร’ หรือไม่?) บทความนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ เพราะผู้ที่จะตอบได้ไม่ใช่ผู้เขียน เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องดำเนินการ  หวังว่าคงจะไม่ถึงขั้นที่ทำให้ต้องมี ‘ซีซาร์’ กันเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในหมู่ฝ่ายลิงหรือมนุษย์ ปัญหาสัตว์ป่าบุกเมืองเป็นเรื่องที่ไม่ควรแยกออกจากปัญหาการทำลายธรรมชาติจากการพัฒนาตลอดช่วงที่ผ่านมา

.   

อ้างอิง :

กำพล จำปาพันธ์. “‘ลพบุรี’ แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เป็น ‘เมืองหลวง’ ของอาณาจักรอยุธยาจริงหรือ?” The People.co เผยแพร่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567  https://www.thepeople.co/history/the-legend/53037

กำพล จำปาพันธ์. “จาก ‘ลูกหลานหนุมาน’ ถึง ‘ลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬ’ : ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของ ‘ลิง’ ในชุมชนเมืองลพบุรี” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 41 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2563): น. 112-137.

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น ๆ. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553.

พีรณัฐ เปี่ยมศักดิ์สันติ และณัฏพงษ์ สุกลเลี่ยว. “ล่องไพรกับการสร้างมโนทัศน์ ลูกผู้ชายนักผจญภัยในทศวรรษ 2490” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 40 ฉบับที่ 1 (พฤศจิกายน 2561): น.146-169.

ภูธร ภูมะธน. (บก.). ภาพเก่าเล่าอดีตลพบุรี. ลพบุรี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเทพสตรี, 2540.

เวธัส โพธารามิก. “ลิงกับคน : ไพรเมทวิทยาเชิงชาติพันธุ์ของลิงแสม ณ ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556.

สุวภา แก้วสุข. ‘คนเลี้ยงลิง ลิงเลี้ยงคน’ สารคดี. ปีที่ 10 ฉบับที่ 111 (พฤษภาคม 2537): น.145-154.

Fariña, José M. and Camaño,  Andrés. (ed.).  The Ecology and Natural History of Chilean Saltmarshes. Springer, 2017.

Golley, Frank B. A History of the Ecosystem Concept in Ecology: More than the Sum of the Parts. Yale University Press, 1996.

Joy, Melanie. Why We Love Dogs, Eat Pigs, ad Wear Cows?  Red Wheel, 2020.

Timofeeva, Oxana. The History of Animals: A Philosophy. Bloomsbury Academic, 2018.

Yee, Donald. (ed.). Ecology, Systematics, and the Natural History of Predaceous Diving Beetles. Springer, 2014.