‘ลพบุรี’ แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เป็น ‘เมืองหลวง’ ของอาณาจักรอยุธยาจริงหรือ?

‘ลพบุรี’ แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เป็น ‘เมืองหลวง’ ของอาณาจักรอยุธยาจริงหรือ?

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ไม่โปรดประทับอยู่เมืองหลวง ‘ลพบุรี’ จึงกลายเป็น ‘แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ & ราชธานี’ ในจินตนาการประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย

  • ดือนกุมภาพันธ์นอกจากเป็น ‘เดือนแห่งความรัก’ ตามปีปฏิทินสากลแล้ว ในบริบทสังคมไทยยังเป็น ‘เดือนของสมเด็จพระนารายณ์’
  • การที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปประทับลพบุรีเป็นเวลานานขนาดนั้น ส่งผลต่อแนวคิดการมองประวัติศาสตร์ความสำคัญของเมืองลพบุรีทั้งต่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์และยุคสมัยเมื่อกลาง - ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17  ซึ่งเป็นศตวรรษสำคัญทั้งในประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล
  • ต่อมาในหมู่นักประวัติศาสตร์ได้พากันเสนอมุมมองว่า ลพบุรีในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นั้นมีสถานะเป็น ‘เมืองหลวง’ ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา 

ปีนี้ข่าวจากลพบุรีที่เรามักจะได้รับรู้กัน เห็นจะเป็นเรื่อง ‘ลิง’ แม้แต่การจัดงานประจำปีถวายพระเกียรติแด่ ‘สมเด็จพระนารายณ์’ ปีนี้ก็ถูกกลบด้วยเรื่องลิง  

ไม่ได้หมายความว่าปัญหาความเดือดร้อนจากลิงไม่ใช่เรื่องสำคัญอันใด แต่หมายความว่าลพบุรีช่วงนี้ยังมีเรื่องอื่นที่ไม่ควรถูกกลบไปด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่อย่างสำคัญ  

เดือนกุมภาพันธ์นอกจากเป็น ‘เดือนแห่งความรัก’ ตามปีปฏิทินสากลแล้ว ในบริบทสังคมไทยยังเป็น ‘เดือนของสมเด็จพระนารายณ์’ เพราะตามการคำนวณหาวันพระราชสมภพโดยผู้เชี่ยวชาญเมื่อหลายปีมาแล้ว ผลออกมาว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2175 การคำนวณนี้จะถูกผิดอย่างไร ไม่ใช่ประเด็นสำหรับในที่นี้  

ประเด็นในที่นี้เมื่อมีการเผยแพร่ว่าบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยอย่างสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์  ก็ทำให้ 2 วันหลังจากวันวาเลนไทน์ของทุกปีเป็น ‘วันสมเด็จพระนารายณ์มหาราช’ ไปด้วย  

และในสัปดาห์ที่มีวันที่ 16 กุมภาพันธ์ของทุกปี ก็จะเป็นปีที่จังหวัดลพบุรีมีการจัดงานใหญ่ประจำปี ที่พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ เนื่องจากเวลากว่า 32 ปีแห่งการครองราชย์ (พ.ศ.2199 - 2231) สมเด็จพระนารายณ์จะทรงเสด็จไปประทับอยู่ที่ลพบุรีเป็นเวลากว่า 8 - 9 เดือนต่อปี ประวัติศาสตร์ตรงนี้ก็เลยทำให้ลพบุรีเป็นจังหวัดของสมเด็จพระนารายณ์ และหน่วยงานจังหวัดลพบุรีก็กลายเป็นผู้มีบทบาทรับผิดชอบการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนารายณ์เป็นประจำทุกปี 

โดยเรียกธีมหลักของงานว่า ‘งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์’ จุดเด่นของงานอยู่ที่การแต่งกายย้อนยุคที่ภายหลังจะกลายไปเป็นกระแส ‘ออเจ้า’ (ก่อนออเจ้าจะแต่งกายย้อนยุคไปถ่ายรูปกับวัดไชยวัฒนารามที่อยุธยา ชาวลพบุรีเขาแต่งเขาทำกันที่วังพระนารายณ์มาช้านานอยู่ก่อนแล้วหนา!!!) ‘งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์’ นับว่าเป็นต้นแบบของการทำนุบำรุงโบราณสถานให้มีชีวิตชีวา ซึ่งที่อื่นนำเอาไปจัดทำทั่วประเทศ    

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ไม่โปรดประทับอยู่เมืองหลวง

เดิมจังหวัดลพบุรีจัดงานที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์เมื่อ พ.ศ.2501 ชาวลพบุรีเรียกว่า ‘งานในวัง’ เพราะจัดในวังนารายณ์ราชนิเวศน์ เพื่อจัดหารายได้ไปสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์ ต่อมาแม้ว่าจะได้เงินทุนมาสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์จนแล้วเสร็จไปแล้ว พ.ศ.2522 ได้เริ่มมีการจัดงานประจำปีของลพบุรี ซึ่งจัดกันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 44 ปีแล้ว  

บางปีงดจัด เช่น เมื่อปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้เขียนจดจำได้ดีเพราะเป็นปีที่ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีให้ไปเป็นวิทยากรในงานเสวนาที่จัดร่วมกับงานประจำปีนั้นด้วย แต่ก็มีอันให้ต้องยกเลิกไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 ยังรู้สึกเสียดายถึงทุกวันนี้    

 

ลพบุรี: ‘แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ & ราชธานี’ ในจินตนาการประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย 

การที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปประทับลพบุรีเป็นเวลานานขนาดนั้น ก็ส่งผลต่อแนวคิดการมองประวัติศาสตร์ความสำคัญของเมืองลพบุรีทั้งต่อรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์และยุคสมัยเมื่อกลาง - ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นศตวรรษสำคัญทั้งในประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล เพราะเป็นศตวรรษที่ชาวยุโรปได้ออกเดินทางแสวงหาความรุ่งโรจน์ออกไปทั่วโลก  

สยามเป็นหนึ่งในที่ที่พวกเขาเดินทางเข้ามามากเช่นกัน  และเมื่อพวกยุโรปที่เดินทางมานั้นมีปัญญาชนรวมอยู่ด้วย พวกเขาชื่นชอบการเขียนหนังสือเล่าเรื่องราวการผจญภัยค้นพบโลกใหม่ ก็ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเวลานี้หลงเหลือเอกสารบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นผลงานเขียนของปัญญาชนนักเดินทางครั้งนั้นมาก ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็อย่างเช่น บันทึกของนิโกลาส์ แชรแวส (Nicolas Gervaise), ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère), โคลด เซเบอแร ดูว์ บูแลย์ (Claude Céberet du Boullay), เชอร์วาริเอ เดอ ฟอร์บัง (Chevalier de Forbin), บาทหลวงกีย์ เดอ ตาร์ชาร์ด (Guy de Tachard), ฟร็องซัว-ตีมอเลอง เดอ ชัวซี หรือบาทหลวงเดอ ชัวซีย์ (François–Timoléon de Choisy) เป็นต้น   

แต่ทั้งนี้สังคมสยามที่พวกเขาได้มาประสบพบเห็นในครั้งนั้น องค์พระประมุขกลับโปรดประทับอยู่ที่ลพบุรี  ไม่ได้อยู่ที่เมืองหลวง  

ต่อมาได้เกิดแนวคิดในหมู่นักประวัติศาสตร์รุ่นศิษย์ของ ‘สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ’ ที่ทรงอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยแนวอนุรักษ์นิยมอย่างมาก ซึ่งนักประวัติศาสตร์รุ่นต่อมา อาทิ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ นิยามเรียกว่า ‘สกุลดำรงราชานุภาพ’ และต่อมา ‘ธงชัย วินิจจะกูล’ ก็เรียกว่า ประวัติศาสตร์ไทยแบบ ‘ราชาชาตินิยม’ (Royal-nationalism) ได้พากันเสนอมุมมองว่า ลพบุรีในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นั้นมีสถานะเป็น ‘เมืองหลวง’ ของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา   

ขณะที่นักประวัติศาสตร์ในรุ่นต่อมาบางส่วนได้ตั้งคำถามต่อมุมมองดังกล่าว ถึงแม้ว่าลพบุรีจะมีความสำคัญมากสำหรับในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ แต่มุมมองเรื่อง ‘เมืองหลวง’ นี้กลับก่อปัญหาในการอธิบายประวัติศาสตร์ในส่วนอื่น ๆ ตามมา ในช่วงหลังมานี้จะเห็นได้ว่า นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและสารานุกรมเสรี (Wikipedia) มักจะระบุถึงลพบุรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ว่า ‘ราชธานีแห่งที่ 2’ ทำนองว่าไม่ใช่ราชธานีแห่งเดียวเดี่ยวโดดแบบแทนที่อยุธยาเลยเหมือนอย่างที่นักประวัติศาสตร์รุ่นก่อนเสนอไว้   

‘ราชธานี’ ตามแนวคิดสังกัป (Concept) เปรียบเทียบจากอดีตกับปัจจุบัน

แนวคิดที่เคยทรงอิทธิพลอย่างมากในการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับชายขอบ ที่สามารถสรุปรวบย่อให้เข้าใจง่ายขึ้นก็โดยการเปรียบเทียบกับแสงจากดวงเทียน ที่พระมหากษัตริย์ส่วนกลางเปรียบเสมือนดวงเทียนที่ส่องสว่างท่ามกลางความมืด แสงจากเปลวเทียนจะสว่างเข้มข้นมากเมื่ออยู่ใกล้ดวงเทียน แต่พวกที่อยู่ห่างออกไปจะค่อยจางลง จนกว่าจะไปใกล้แสงจากเทียนอีกดวงที่อยู่ถัดไป  ฃ

แนวคิดนี้มีความสำคัญอย่างมากในการอธิบายปรากฏการณ์ความสำคัญของเมืองหลวงในฐานะศูนย์กลางอำนาจการเมืองการปกครอง การคุมกำลังและความสามารถในการปกครองของส่วนกลางที่จะเข้มข้นไปตามระยะห่างทางภูมิศาสตร์และเส้นทางคมนาคม หัวเมืองชั้นในและรอบนอกเป็นที่พูดถึงในแง่ที่สะท้อนความเข้มแข็งหรืออ่อนแอในบางรัชกาล  

แต่แนวคิดนี้ก็ค่อนข้างมีปัญหาเมื่อต้องอธิบายกรณี ‘ประเทศราช’ ที่อยู่ห่างถัดไปจากหัวเมืองรอบนอก เพราะประเทศราชมีลักษณะเป็นศูนย์กลางอยู่ด้วยในตัว แต่เป็นศูนย์กลางที่มีอำนาจน้อยกว่าเมืองหลวง ความเป็นเจ้าประเทศราชเป็นที่ใฝ่ฝันและหมายปองของชนชั้นนำท้องถิ่นทั่วภูมิภาค อย่าง ‘เจ้านครศรีธรรมราช’ ก็พยายามอยู่หลายปีก่อนที่ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ’ จะทรงอนุมัติให้กลับไปเป็น ‘เจ้าประเทศราช’ อยู่ที่นครศรีธรรมราชดังเดิม หรืออย่างการที่ ‘เจ้ากาวิละ’ ไม่พอใจต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จนเป็นเหตุให้บุตรีอย่าง ‘เจ้าศรีอโนชา’ หันไปสนับสนุนกลุ่ม ‘เจ้าพระยาจักรี’ ก็สืบเนื่องจากสถานะที่ไม่แน่นอนว่าตกลงเชียงใหม่เวลานั้นเป็นอะไรแน่  ประเทศราชหรือหัวเมืองในปกครอง 

ทั้งนี้เพราะการเป็น ‘ประเทศราช’ นั้นหมายถึงมีศักดิ์และสิทธิในทางการเมืองการปกครองภายในของตนเอง  ส่วนกลางเพียงแต่คอยกำกับอยู่ห่างๆ เท่านั้น ‘เจ้าประเทศราช’ จึงมีสถานะเป็นกษัตริย์อีกองค์หนึ่งในแคว้น จึงไม่แปลกที่ตำแหน่งนี้จะเป็นที่หมายปอง และกษัตริย์ที่ส่วนกลางในอดีตก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 เกือบทุกพระองค์ ถ้าไม่มีเหตุผลเฉพาะในบางรัชกาลแล้ว ก็โปรดการมีกษัตริย์เจ้าประเทศราชอยู่ที่ปลายพระราชอาณาเขต เพื่อที่สถานะของพระองค์ที่ส่วนกลางจะได้สูงส่งขึ้นไปอีกจนถึงที่ ‘พญาจักรพรรดิราช’ (Chakravartin) คือราชาเหนือราชาทั้งหลายตามคติพุทธศาสนาเถรวาทนั่นเอง  

นอกจากนี้แนวคิดจักรพรรดิราชยังเข้ากันได้กับสภาพภูมิศาสตร์การเมืองที่อำนาจของกษัตริย์อยุธยายังต้องพึ่งพาหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาครอบทิศ เช่น พิษณุโลกและเชียงใหม่ ทางเหนือ, นครราชสีมาทางอีสาน, ปราจีนบุรีและจันทบุรีทางตะวันออก, กาญจนบุรีทางตะวันตก, นครศรีธรรมราชทางใต้ เป็นต้น เดิมหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค เจ้าเมืองเป็นกษัตริย์ แต่ในช่วงหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พ.ศ.2112 ราชวงศ์สุโขทัยได้ปฏิรูปการปกครองใหม่ โดยการแต่งตั้งขุนนางสามัญชนเป็นเจ้าเมือง  ลดสถานะของเจ้าเมืองเดิมลง แต่ก็ยังคงมีธรรมเนียมการตั้งเจ้าประเทศราชสำหรับในบางเมืองอยู่จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  

แต่ทั้ง ๆ ที่หัวเมืองมีความสำคัญมากถึงเพียงนี้ก็ตาม  ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยแนวอนุรักษ์นิยมก็ยังคงมุ่งเน้นความสำคัญแต่เฉพาะเมืองหลวง นำมาสู่การมองประวัติศาสตร์แบบเป็นเส้นตรงเน้นความสำคัญแต่เฉพาะศูนย์กลางหรือราชธานี ตามลำดับ สุโขทัย - อยุธยา - ธนบุรี - รัตนโกสินทร์ ไม่เห็นบทบาทของหัวเมืองและบ้านเล็กเมืองน้อย หรือเห็นก็เพียงพวกที่ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายกษัตริย์ส่วนกลางเท่านั้น   

เมื่อมีแนวคิดการมองภาพใหญ่เป็นเช่นนี้ ลพบุรีสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็เกิดเป็นปัญหาหนักอกหนักใจเข้าให้ นักประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพส่วนหนึ่งเลยพากันยกลพบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวงแทนที่อยุธยาเอาดื้อ ๆ ไปซะเลย แต่แทนที่ปัญหาจะจบ กลับก่อให้เกิดคำถามปลีกย่อยต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ทำไมลพบุรีจะสำคัญโดยที่ไม่ต้องเป็นเมืองหลวงบ้างไม่ได้เลยกระนั่นหรือ? หรือหากแม้นว่าลพบุรีเป็นเมืองหลวงจริง แล้วทำไมพระเพทราชาถึงย้ายกลับมาอยุธยาได้ง่ายดายนัก? และพระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระเพทราชาไยต้องทำที่อยุธยาไม่ทำที่ลพบุรี?      

ย้อนทวนพินิจ: สถานะของกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์

เกี่ยวกับเรื่องนี้จะเข้าใจอะไรได้มากขึ้น ก็ต้องมองในเชิงเปรียบเทียบมาที่อยุธยาด้วย ก่อนที่จะพิจารณายกให้ลพบุรีเป็นเมืองหลวงนั้น นักประวัติศาสตร์รุ่นก่อนยังไม่ได้มีการพิจารณาหลักฐานที่เกี่ยวข้องมากพอ ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงเป็น ‘ศูนย์กลางของจักรวาล’ แต่ไม่ใช่ว่าทรงเสด็จไปประทับที่ไหนแล้วที่นั่นจะเป็นเมืองหลวงไปด้วยได้ทั้งหมด มีประเด็นเงื่อนไขบางอย่างที่ต้องพิจารณาต่อมาอีก

สำหรับในกรณีนี้ก็คือประเด็นว่า อยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์นั้นมีสถานะและบทบาทอย่างไร ด้อยกว่าลพบุรีจริงหรือ?  

ก่อนหน้านี้ใครไปเที่ยวพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ จะต้องเคยเห็นภาพวาดแสดงการต้อนรับคณะราชทูตฝรั่งเศสที่นำโดย ‘เชอร์วาริเอ เดอ โชมองต์’ (Chevalier de Chaumont) เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น มี ‘ออกญาวิไชยเยนทร์’ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ก้มอยู่และชี้มือให้โชมองต์ยื่นพระราชสาส์นให้สูงขึ้นไป แต่สมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงประทับอยู่บนสีหบัญชร แสดงท่าทีเป็นกันเอง แย้มพระสรวล (ยิ้ม) ขณะโน้มพระองค์ลงมาหยิบเอาพระราชสาส์น  

‘ลพบุรี’ แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เป็น ‘เมืองหลวง’ ของอาณาจักรอยุธยาจริงหรือ?

ภาพนี้เคยติดประดับอยู่ที่พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญมหาปราสาท มีความเชื่อกันว่าเหตุการณ์ในภาพดังกล่าวนั้นคือที่พระราชวังลพบุรี แต่นักประวัติศาสตร์ตรวจสอบแล้วพบว่าสถานที่ดังกล่าวนั้นตามบันทึกฝรั่งเศสคือที่พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท ในพระราชวังหลวงที่อยุธยา 

นั่นคืออยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ยังคงเป็นที่สำหรับทำพิธีการต้อนรับราชทูตแขกบ้านแขกเมือง เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการแล้ว ถึงค่อยตามเสด็จขึ้นมายังลพบุรีเที่ยวชมบ้านเมือง และนอกจากบันทึกฝรั่งเศส บันทึกของชาวต่างชาติอื่น ๆ อาทิ เปอร์เชีย ญี่ปุ่น จีน ฮอลันดา กัมพูชา ก็กล่าวสอดคล้องตรงกันในแง่ว่า ลองถ้าเป็นเรื่องทางการทูตแล้ว พิธีการจะต้องกระทำที่อยุธยา ก่อนจะไปว่ากันในรายละเอียดเนื้อหาสาระต่อที่ลพบุรี  

นอกจากนี้หลักฐานจาก ‘โคลงทวาทศมาส’ อันเนื่องจากพระราชพิธีสิบสองเดือน ยังแสดงให้เห็นว่าตลอดรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ยังต้องเสด็จลงมาที่อยุธยาเพื่อประกอบพระราชพิธีตามเทศกาลสำคัญ ๆ ถึงแม้ว่าภาคส่วนต่าง ๆ จะอพยพย้ายถิ่นฐานตามองค์พระประมุขขึ้นไปลพบุรีกันมากก็ตาม นั่นรวมความแล้วก็เป็นฝ่ายการปกครองทางโลกย์ แต่คณะสงฆ์ไม่ได้ย้ายตามขึ้นไปด้วย  การที่สมเด็จพระเพทราชาเมื่อคิดการก่อรัฐประหารจะต้องมาบวชอยู่อยุธยาเพื่อขอความสนับสนุนจากคณะสงฆ์และก็ได้ดังหวังจนสำเร็จนั้นเป็นหลักฐานที่ชัดแจ้งที่สุดสำหรับในกรณีนี้

สำหรับสมัยอยุธยาแล้ว คณะสงฆ์นับว่ามีบทบาทอำนาจมากกว่าฝ่ายอาณาจักร อำนาจของฝ่ายอาณาจักรขึ้นเหนืออาจจะไกลสุดถึงอุตรดิตถ์ ตะวันออกเฉียงเหนือสุดอาจจะถึงแค่นครราชสีมา ตะวันออกสุดอยู่ที่ปราจีนบุรีกับจันทบุรี ใต้สุดถึงแค่นครศรีธรรมราชกับพัทลุง 

แต่พระสังฆราชาตลอดจนพระอาจารย์องค์สำคัญ ๆ ที่อยุธยา จะพบว่าอยู่ในฐานะ ‘พระอาจารย์’ หรือ ‘พระอุปัชฌาย์’ ของหัวเมืองต่าง ๆ เหนือสุดไปถึงเชียงใหม่ ตะวันออกเฉียงเหนือไปถึงริมฝั่งแม่น้ำโขงที่นครพนม ตะวันออกสุดไปถึงพระตะบองในกัมพูชา ส่วนภาคใต้นั้นอำนาจฝ่ายอาณาจักรกับพุทธจักรแผ่ขยายลงมาตรงกัน  ทั้งนี้เพราะการ ‘กัลปนา’ ที่ฝ่ายอาณาจักรใช้พระราชอำนาจไปค้ำจุนรักษาพื้นที่เอาไว้ให้ฝ่ายพุทธจักรท่ามกลางคู่แข่งขันจากโลกมุสลิมในคาบสมุทร  

แน่นอนว่าอยุธยาเคลมว่าตนมีอำนาจเหนือลุ่มทะเลสาบสงขลาและปัตตานีด้วย บางช่วงว่ามีอำนาจไปจนตลอดแหลมมลายูถึงมะละกาและสิงหปุระ (สิงคโปร์) ด้วยซ้ำ  แต่อำนาจของอยุธยาใต้ลงไปกว่าพัทลุงแล้ว ก็เป็นที่รู้กันว่าไม่มีเสถียรภาพมั่นคงแม้แต่น้อย พื้นที่ที่ชนชั้นนำอยุธยารู้สึกหวงแหนและรักษาไว้ให้มั่นนั้นก็คือพื้นที่เดียวกับที่มีการ ‘กัลปนา’ ในหลายสมัยของอยุธยานั่นแหล่ะ  ซึ่งคือนครศรีธรรมราชกับพัทลุง      

จะเห็นได้ว่าอาณาเขตอำนาจของฝ่ายพุทธจักรอยุธยาแม้ไม่เท่าแต่ก็ใกล้เคียงกันมากกับเขตแดนรัฐชาติไทยในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั่นก็เพราะวัฒนธรรมอยุธยามีความเชื่อถือกันว่าอำนาจของคณะสงฆ์หรือพุทธจักรเป็นอำนาจหลักแท้จริงในสังคม และอำนาจทางโลกย์ที่มีกษัตริย์เป็นผู้นำนั้นเป็นรองและต้องสนับสนุนส่งเสริม 

เมื่ออำนาจหลักที่แท้จริงไม่ได้เคลื่อนย้ายไปที่ลพบุรีด้วย  ก็อธิบายได้ต่อมาถึงสภาพการณ์ที่เมื่อคณะสงฆ์ไม่พอใจที่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ทรงยกย่องความสำคัญของคนต่างศาสนามาก คณะสงฆ์ก็ไม่รีรอที่จะสนับสนุนฝ่ายเห็นต่างแต่มีผลประโยชน์ร่วมกับตนอย่างกลุ่มพระเพทราชา-หลวงสรศักดิ์ ให้ทำการรัฐประหารล้มสมเด็จพระนารายณ์ไปเสีย   

กล่าวโดยสรุป พิจารณาจาก 3 ประเด็นข้างต้นนี้ อาทิ พิธีการต้อนรับราชทูต ซึ่งถือเป็นพิธีการระดับประเทศหรืออาณาจักร ยังอยู่ที่อยุธยา การจัดทำพระราชพิธีที่ถือว่า ‘กาละ’ (เวลา) และ ‘เทศะ’ (พื้นที่) ที่จะแสดงนาฏกรรมระดับรัฐนั้นยังอยู่ที่อยุธยา คณะสงฆ์หรือฝ่ายพุทธจักรซึ่งถือเป็นอำนาจหลักแท้จริงของยุคสมัยก็ยังคงอยู่ที่อยุธยาเช่นกัน สถานะของอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์จึงอยู่ในฐานะนำของสังคม เพราะเป็นยุคที่อำนาจทางโลกย์ยังไม่แยกกันเบ็ดเสร็จเหมือนอย่างในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา  

แม้ว่าหน่วยงานราชการบริหารต้องมี ‘ออฟฟิศ’ อีกแห่งหนึ่งสำหรับติดต่อประสานงานกับราชสำนักหรือรับนโยบายที่ลพบุรี แต่ไม่อาจกล่าวได้ว่าลพบุรีมีฐานะนำสูงสุดในอาณาจักร เพราะยังมีอีกองคาพยพของอำนาจที่มากกว่าฝ่ายพุทธจักรอยู่ที่อยุธยา  

อย่างไรก็ตาม ก็แน่นอนว่าลพบุรีเป็นเมืองสำคัญในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์และหากสมเด็จพระเพทราชาไม่ย้ายกลับอยุธยา ลพบุรีอาจจะเขยิบไปเป็น ‘เมืองหลวง’ ของอาณาจักรแทนที่อยุธยาได้เหมือนอย่างธนบุรีและรัตนโกสินทร์ก็เป็นได้ หากคณะสงฆ์และฝ่ายพิธีการต่าง ๆ ย้ายจากอยุธยาไปลพบุรี เหมือนอย่างที่เกิดในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์    

ย้ำ!!! ว่าถึงแม้ไม่ใช่เมืองหลวงก็ไม่ได้หมายความว่าลพบุรีจะด้อยความสำคัญลง ตรงข้ามลพบุรีกลับแสดงให้เห็นบทบาทโดดเด่นของหัวเมืองอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เมืองหลวง  แต่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ จนเป็นถิ่นที่หลงเหลือร่องรอยหลักฐานเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสื่อถึงความรุ่งเรืองในอดีตมากมายดังที่จะพบเห็นได้เมื่อไปเยือนเมืองลพบุรีในปัจจุบัน และเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวว่าจะจัดงานประจำปีที่ลพบุรีไม่ได้แต่อย่างใด เพราะถึงจะไม่ใช่เมืองหลวง  ก็เป็นเมืองสำคัญสำหรับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ อันนี้เป็นความจริงที่เห็นได้ทั้งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และมุมมองประวัติศาสตร์นิพนธ์ 

เมืองหลวงคือ ‘ศูนย์กลางจักรวาล’ ที่ใคร ๆ ก็ไม่รัก

นอกเหนือไปจากเหตุผลและหลักฐานของยุคสมเด็จพระนารายณ์เองแล้ว ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมไปอีกเมื่อนำเอาลพบุรีในรัชกาลดังกล่าวนี้ไปเทียบเคียงความสำคัญในช่วงเวลาอื่น ๆ ก็จะพบว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะลพบุรีที่เคยมีความสำคัญเช่นดังที่กล่าวมานี้

ย้อนกลับไปถึงรัชกาล ‘สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ’ ก็มีเรื่องว่าทรงโปรดเสด็จไปประทับอยู่ที่พิษณุโลกเป็นเวลานานเช่นกัน  

เช่นเดียวกับ ‘สมเด็จพระนเรศวร’ ก่อนหน้าที่จะใช้นโยบายเทครัวหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทรงประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกมาช้านาน แม้ลงมาครองอยุธยาแล้ว พิษณุโลกและหัวเมืองฝ่ายเหนือก็ยังคงใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในรัชกาลของพระองค์สืบมา  

‘พระเจ้าเสือ’ ก็ทรงโปรดเสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี ดังปรากฏร่องรอยและเรื่องราวที่วัดใหญ่สุวรรณารามและวัดเขาบันไดอิฐ   

‘สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ’ ก็เป็นอีกพระองค์ที่โปรดเสด็จประพาสลพบุรี แต่มีอยู่ปีหนึ่งที่ประทับอยู่ได้ไม่นาน ต้องรีบเสด็จกลับอยุธยา เนื่องจากแรงงานชาวจีนที่จ้างมาขุดคลองนั้นก่อกบฏนำกำลังบุกปล้นพระราชวังหลวง  

‘สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร’ (ขุนหลวงหาวัด) ก็โปรดเสด็จแขวงวิเศษไชยชาญ จนมีเรื่องราวพัวพันเกี่ยวข้องกับพระตำหนักคำหยาดที่บ้านโพธิ์ทองในเขตแขวงดังกล่าว

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ แรกเริ่มเดิมทีหลังจากเสร็จศึกปราบสุกี้พระนายกองที่ค่ายโพธิ์สามต้น สำรวจความเสียหายของอยุธยาแล้ว ก็มีแผนจะเสด็จกลับจันทบุรี แต่เหล่าขุนนางเก่าได้กราบทูลทัดทานและเสนอกรุงธนบุรีแทน  จันทบุรีก็เกือบได้เป็นเมืองหลวง      

สมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อตั้งกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงแล้ว  อยุธยาก็กลับมีความสำคัญในฐานะดินแดนบ้านเดิมของชนชั้นนำ เกิดคอนเซปต์ว่าด้วย ‘กรุงเก่า’ หรือ ‘ยุคบ้านเมืองดี’ ที่เป็นเครื่องยืนยันถึงมุมมองของชนชั้นนำต่ออยุธยาในฐานะที่เป็นมาตรฐานของการสร้างบ้านแปงเมืองใหม่  

อยุธยาในเวลาดังกล่าวนี้ก็เป็นที่โปรดเสด็จประพาส ทำบุญ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม และคล้องช้าง เป็นอยุธยาในแง่มุมที่อาจจะเทียบเคียงความสำคัญได้กับลพบุรีในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ คือไม่ใช่เมืองหลวง  แต่เป็นเมืองที่โปรดปรานแก่ชนชั้นนำ เป็นต้น      

นอกจากนี้สมัยรัตนโกสินทร์ ยังพบการให้ความสำคัญแก่หัวเมืองในหลายช่วงด้วยกัน อาทิ:  

รัชกาลที่ 2 ก็โปรดอัมพวาและแขวงราชบุรี อันเป็นถิ่นพระราชสมภพของพระองค์ (อัมพวา ย่านที่รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชสมภพนั้นเดิมขึ้นกับแขวงราชบุรี ยังไม่ขึ้นกับแม่กลองและสมุทรสงคราม เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 รับราชการเป็นปลัดยกระบัตรแขวงราชบุรี จึงมาประทับอยู่ที่นี่ และรัชกาลที่ 2 ก็จึงพระราชสมภพที่นี่)   

รัชกาลที่ 4 โปรดเสด็จประทับลพบุรีกับเพชรบุรี  ในช่วงเดียวกันพระปิ่นเกล้าฯ กษัตริย์วังหน้าก็โปรดเสด็จประทับที่บ้านสีทา แขวงสระบุรี เดิมมีแผนจะไปสร้างพระราชวังที่ประทับอยู่ที่นครราชสีมา แต่เมื่อเสด็จไปสำรวจด้วยพระองค์เองแล้วพบว่า นครราชสีมากันดารน้ำและใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ นานวันเกินไป จึงเปลี่ยนมาที่เชิงเขาคอก นำมาสู่การสร้าง ‘พระบวรราชวังสีทา’ ขึ้นที่สระบุรี (ปัจจุบันเป็นโบราณสถานอยู่ที่บ้านสีทา ต.สองคอน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี)  

ถึงพระมหากษัตริย์บางพระองค์จะยังโปรดอยุธยา แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ไม่ใช่อยุธยาที่เกาะเมืองอยุธยา (ตัวเมืองอยุธยาในปัจจุบัน) เช่น สมเด็จพระเจ้าปราสาททองและพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ต่างก็โปรดปรานย่านบางปะอินเป็นพิเศษ ประจักษ์พยานเรื่องนี้ก็คือ พระราชวังบางปะอิน, วัดชุมพลนิกายาราม และวัดนิเวศธรรมประวัติ

ถัดมา รัชกาลที่ 6 ก็โปรดนครปฐม, รัชกาลที่ 7 โปรดสงขลา, รัชกาลที่ 9 โปรดหัวหิน เป็นต้น  

แม้แต่หลังอภิวัฒน์เปลี่ยนระบอบการปกครอง พ.ศ.2475  ผู้นำสามัญชนอย่าง ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ก็เคยมีแผนการใหญ่โตอย่างการจะย้ายเมืองหลวงไปเป็นเพชรบูรณ์ จนเป็นเหตุพลิกผันนำไปสู่การสิ้นสุดของรัฐบาลจอมพล ป. สมัยแรก (พ.ศ.2481-2487) ดังที่ทราบกัน  

เอาจริงก็ต้องกล่าวสรุปอย่างนี้เลยว่า บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ไม่มีใครชอบเมืองหลวงหรอก  ยิ่งกรุงเทพฯ นี่น้ำท่วม โรคระบาดเยอะ บ้านเรือนผู้คนอยู่แออัด การจราจรไม่คล่องตัว เป็นอีกด้านของเมืองหลวงมาแต่ไหนแต่ไร คนรวยคนมีอำนาจต่างก็อยากหลีกหนีความวุ่นวายไปอยู่หัวเมืองกันทั้งนั้น  

ในส่วนของไพร่บ้านพลเมือง บางครั้งการอยู่ใกล้ชิดกับวงอำนาจหลักไม่ใช่จะดี โชคร้ายทำผิดนิด ๆ หน่อย ๆ ก็อาจหัวขาดได้ง่าย ๆ เมืองหลวงไม่ใช่ที่ปลอดภัย เซฟโซนจึงอยู่ในหัวเมืองเสมอ  

อำนาจของ ‘ความเป็นเมืองหลวง’ ที่รัฐสยามมักมีลักษณะรวมศูนย์เอง ก็เป็นสิ่งที่ก่อปัญหาบ่อนเซาะตัวเองมาตลอด ยิ่งรวมศูนย์มาก ปัญหาก็ยิ่งมากตามมา 

รวมความแล้วก็จะแปลกอะไรล่ะ? ที่อดีตพระมหากษัตริย์อย่างสมเด็จพระนารายณ์จะทรงไม่โปรดเมืองหลวงด้วยอีกพระองค์หนึ่ง โปรดประทับหัวเมืองซึ่งในสมัยของพระองค์ ลพบุรีมีความเหมาะสมมากกว่า เช่นเดียวกับที่เมืองอื่น ๆ ยุคอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ไทย!!!          

 

เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์ 
ภาพ : หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี และเว็บไซต์ส่งเสริมการท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ จังหวัดลพบุรี 

อ้างอิง : 
     กำพล จำปาพันธ์. “ลพบุรีสมัยพระนารายณ์: ร่องรอยการพัฒนาในอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม” https://www.silpa-mag.com/history/article_45648 (เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565). 
     กำพล จำปาพันธ์. “สมเด็จพระนารายณ์ทรงยกวังลพบุรีให้เป็นวิสุงคามสีมาจริงหรือ? หลักฐานที่เกี่ยวข้องว่าไว้อย่างไร?” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 45 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2567). 
     กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา: จากสังคมเมืองท่านานาชาติสู่มรดกโลก. นนทบุรี: มิวเซียมเพรส, 2559.
     โคลงทวาทศมาส : สำนวนพระเยาวราช ขุนพรหมมนตรี ขุนศรีกวีราช ขุนสารประเสริฐ. พระนคร : ศิวพร, 2504. 
     แชรแวส, นิโกลาส์. ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช). แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2550. 
     นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2527. 
     ปรีดี พิศภูมิวิถี. สังคมอยุธยาในสายตาฝรั่งเศสในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช. ลพบุรี: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี, 2558. 
พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่นๆ. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2551. 
      พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่นๆ. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2553.
      ภูธร ภูมะธน. (บก.). ภาพเก่าเล่าอดีตลพบุรี. ลพบุรี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเทพสตรี, 2540.
     ลาลูแบร์, มงซิเออร์ เดอ. จดหมายเหตุลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2552.
      วรรณี จันทรศิริ. ลพบุรี : ราชธานีแห่งอารยธรรม. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ, 2542. 
      วัลลภา รุ่งศิริแสงรัตน์. ลพบุรี : อดีต-ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2537. 
      หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองลพบุรี. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2559. 
อิบรอฮีม, อิบนิ มูหัมมัด. สำเภากษัตริย์สุลัยมาน. แปลโดย ดิเรก กุลศิริสวัสดิ์, กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.