‘กิเลน ประลองเชิง’ ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุคจอมพลจนถึงยุคโซเชียลมีเดีย

‘กิเลน ประลองเชิง’ ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุคจอมพลจนถึงยุคโซเชียลมีเดีย

เรื่องราวของ ‘กิเลน ประลองเชิง’ คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ ‘ชักธงรบ’ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สื่อมวลชนอาวุโสที่เป็นนักข่าวตั้งแต่ยุคจอมพลจนถึงยุคโซเชียลมีเดีย

  • วันที่เกิดโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค คอลัมน์กิเลนก็เหมือนคนไทยทุกคน เทหัวใจให้ทักษิณไปเลย เพราะเขาเคยเป็นคนไข้อนาถา จึงเข้าอกเข้าใจคนที่ต้องดิ้นรนไปหาหมอ 
  • เขาแสดงความเห็นว่า อุ๊งอิ๊งค์ไม่ควรเข้ามาเล่นการเมืองหรอก เพราะไม่มีอะไรจะทำลายมนุษย์ได้เท่ากับการเมือง 
  • ‘กิเลน ประลองเชิง’ เป็นนักข่าวมือรางวัล คว้ามาแล้วทั้งรางวัลอิศรา อมันตกุล ปี 2518, รางวัล ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล ปี 2534 และรางวัลศรีบูรพา ปี 2565

The People สัมภาษณ์ ‘ประกิต หลิมสกุล’ หรือ ‘กิเลน ประลองเชิง’ คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ ‘ชักธงรบ’ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สื่อมวลชนอาวุโสที่นับได้ว่าช่วงชีวิตอยู่ใน 3 รัชกาล คือเกิดในสมัยรัชกาลที่ 8, เติบโตเล่าเรียนทำงานในสมัยรัชกาลที่ 9 และยังคงทำหน้าที่สื่อมวลชนจนถึงปัจจุบันในสมัยรัชกาลที่ 10 

ทำข่าวอยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ยุคจอมพล, ยุคเดือนตุลา จนมาถึงยุค ‘ทักษิณ ชินวัตร - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ สองนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญสำหรับการเมืองยุคปัจจุบัน พร้อมให้ความเห็นต่อ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หรือ อุ๊งอิ๊งค์ ผู้เริ่มเข้ามาในการเมือง

‘กิเลน ประลองเชิง’ ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุคจอมพลจนถึงยุคโซเชียลมีเดีย

ประกิตเล่าว่า เขาเป็นผู้เปิดคอลัมน์ห้องร้องทุกข์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเอง เพราะอยากช่วยคนจน และเป็นผู้เขียนข่าววัลลี จากจดหมายร้องทุกข์ กระทั่งต่อมาเรื่องราวของวัลลีถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ตั้งแต่ก่อนมีโซเชียลมีเดีย ขณะที่ยุคปัจจุบันทุกคนใช้โซเชียลมีเดียของตัวเองร้องทุกข์เองได้แล้ว ดีใจที่ทุกข์ร้อนของประชาชนพ้นอกนักหนังสือพิมพ์ไปแล้ว

ประกิต หลิมสกุล กับชีวิตสื่อมวลชนที่เขาบอกว่า ไม่ได้ร่ำรวย แต่อยู่ได้ด้วยความภาคภูมิใจ

คน 3 รัชกาล เกิดปี 2488 ในสมัยรัชกาลที่ 8 

พี่เกิดวันที่ 5 ธันวาคม 2488 สมัยรัชกาลที่ 8 เป็นคนในสมัยรัชกาลที่ 8 อยู่ 6 เดือน พอถึง 9 มิถุนายน 2489 ก็เกิดกรณีรัชกาลที่ 8 สวรรคต พี่เป็นคน 2 แผ่นดินมาตลอด พอรัชกาลที่ 9 สวรรคต ก็ฟูมฟายมาก เราซาบซึ้งกับรัชกาลที่ 9 ตลอดชีวิตนักข่าวผ่านไปผ่านมาถึงไม่เคยเข้าเฝ้า แต่เคยไปทำข่าวพระราชสำนัก 

ที่ขึ้นต้นไว้ว่า 5 ธันวาของพี่ ไม่ใช่วันเฉลิมพระชนมพรรษา เพราะตอนนั้นคือก่อนมีการกำหนดเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา 6 เดือน มีคนมาถามพี่ว่า หนูจำได้ว่าพี่เขียนเรื่องนี้

กูเกิดวันนั้น กูฝังใจ กูจึงเขียนแล้วเขียนอีก ไอ้ความฝังใจของมนุษย์ มันเกิดมาอย่างไร ก็จะผูกพันกับเรื่องตรงหน้า มันใช้ได้ตลอดชีวิต เกิดเป็นนักเขียนเนี่ย ต้องเขียนหนังสือทุกวัน มันเหมือนมีกรรมนะ ทุกเรื่องที่เล่าให้เธอฟังก็เขียนไปแล้วทั้งนั้น แต่เขียนในเหลี่ยมไหน มุมไหน วาระไหน เท่านั้น 

พี่ทำข่าวมา ข่าวแรกตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2513 นี่กี่วันมาแล้ววะเนี่ย

‘กิเลน ประลองเชิง’ ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุคจอมพลจนถึงยุคโซเชียลมีเดีย

เกิดที่จังหวัดสมุทรสงคราม 

ตอนเรียนมัธยม 1 - 2 อยู่โรงเรียนศรัทธาสมุทร ที่สมุทรสงคราม มีภาพติดตาเลย แสดงว่าตอนที่เราเรียนอยู่ยังไม่มีการปฏิวัติ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ผมสีขาว ลงจากเฮลิคอปเตอร์ เดินลงมาหา สส. ตอนนั้นเป็นสนามหน้าโรงเรียน ตอนนี้เป็นตลาดไปหมดแล้ว ตลาดแม่กลอง แสดงว่าตอนนั้นก่อนปฏิวัติกันยายน ปี 2500 พอปฏิวัติแล้ว พล.ต.อ.เผ่าก็ไป 

ถามว่าชีวิตเกี่ยวกับการเมืองไหม เตี่ยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ‘ผู้ใหญ่กวง หลิมสกุล’ ที่แน่ ๆ เตี่ยเป็นผู้ใหญ่บ้านก็คงถูกมาร์คตัวเป็นหัวคะแนนด้วย ตำบลท้ายหาด หมู่ที่ 7 เงินเดือน 62 บาท เตี่ยเล่าให้ฟัง 

ที่ว่าฝังใจ ในลิ้นชักของตู้ที่บ้านมีวารสารกำนันผู้ใหญ่บ้าน แล้วเล่ม 5 ธันวาคม รัชกาลที่ 8 กับพระอนุชาธิราช ฉายภาพทรงนั่งอยู่คู่กัน ในช่องหน้าต่างรถไฟ แล้วเป็นวันที่จำตัวเองได้ว่าวันนี้เราเกิด หนังสือหายไปแล้วนะ เสียดาย 

กลับมาเรื่องที่เกิด เกิดจากท้องแม่ คำว่าตกฟาก ชัดเจน ฟากไม้ไผ่ไง คำว่าตกฟากที่ภาษาหมอดูเขาพูด แม่มีลูก 6 คน ไม่มีใครตายเลย เราโชคดีมาก แสดงว่าหมอตำแยเราเก่ง

คนไข้อนาถา 

แม่เราอาชีพทำน้ำตาล ตอนอายุ 9 ขวบ พี่สาวโกรธที่เราไปยุ่งหน้าเตา เขากำลังจะยกกระทะจากเตามาตีน้ำตาล โกรธเรา แกตวาดไล่เรา พี่สาวเอาเหล็กเจาะกระบอกตาลเผาไฟ เจาะกระบอกตาลเพื่อร้อยหู หยิบเหล็กขว้างตามหลังมา ขว้างด้วยเมตตา ขว้างไปอีกทาง แต่เหล็กแหลมเผาไฟแดง ๆ ไปกระทบกับกระเบื้อง แล้วหักมุมมาปักน่อง 

พี่สลบ นอนอยู่ 9 วัน เลือดทะลักนองทั้งบ้าน เล่าเรื่องนี้ จะตอบเรื่องสาธารณสุข ปี พ.ศ. นั้นน่ะนะ เจ็บอยู่ 9 วัน ยังไม่ไปโรงพยาบาลเลยตอนอายุ 9 ขวบ

นั่นปี 2496 - 2497 เรือยนต์สมัยนั้นต้องเผาหัวติดเครื่อง เขาไม่เอาเราลงเรือสำปั้น กลัวเราตายมั้ง นี่เล่าเรื่องสาธารณสุขนะ เรือติดเครื่องเพื่อไปส่งเราที่โรงพยาบาล ระหว่างอยู่โรงพยาบาล แม่ก็ทุรนทุรายว่า ค่าหมอจะเท่าไร เราประทับใจคำว่าคนไข้อนาถา และตึกอนาถามาก เวทนาตัวเองด้วย

เดี๋ยววกเข้าการเมือง ทำไมถึงต้องรัก ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในบางมุมที่ต้องรัก จะบอกว่าปลื้มเขาเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคก็ได้ เราเป็นสื่อ จิตเราสามัญ เรายากจนมา ที่พี่พูดซะยาว กลับมาสู่เรื่องคำว่าตึกอนาถา คนไข้อนาถา มันเจ็บปวดนะ ความจนเนี่ยมันอาย ก็จนไง ไอ้ความจน มีคนมาเติม รักเขาเลยนะ จะบอกว่ารักเขาเลย แค่ไหนก็ไม่ต้องพูดนะ

หมอกิติ ตยัคคานนท์ รักษาเรา บอกว่าผ่าตัดไม่ได้เพราะตัวเล็ก เขาใช้วิธีเอาผ้าก๊อซขาว ๆ ชุบน้ำยา แล้วยัดใส่รูแผล มาถามหมอว่าทำไมรักษาอย่างนั้น เขาบอกว่าสมัยนั้นทำได้แค่นั้นว่ะ เขาเรียกตอกหมุด

ตอนเกิด แม่ฝันว่า มีคนเอาดอกบัวมาให้ 9 ดอก เป็นคนมีบุญมั้ง ที่เล่าเรื่องนี้ จะคุยถึงเรื่องหมอ เพราะว่า คำว่าโรงพยาบาลอนาถา มันเจ็บปวด ปวดร้าวหัวใจเรามาก โรงพยาบาลห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตรกว่า ไปทางน้ำ 

พอวันที่ทักษิณมาถึง 30 บาทรักษาทุกโรค คอลัมน์กิเลนก็เหมือนคนไทยทุกคน เทหัวใจให้มึงไปเลย มึงช่วยกูให้รอด เพราะเป็นพันธนาการที่ใหญ่มากสำหรับคนจน เราเคยทุรนทุรายไปหาหมอ หาเงินให้หมอ หมอยะโสโอหังอะไรยังไง หมอดีเรียกว่าหมอพ่อพระ แม่กลองมีหมอพ่อพระหลายคน ไม่แปลกใจที่จะผูกพันกับคุณทักษิณ คนเก่งมันดีอย่างนี้เองนะ

เธอเห็นไหม เรื่องที่พี่เล่า พี่เกิดมากับความยากลำบาก เกิดมากับระบบที่มันไม่พร้อมสำหรับชีวิตมนุษย์เลย

บ้านพี่ตอนเด็ก ๆ ริมคลองบางเรือหัก บรรยากาศสมัยเด็ก มันขาดแคลนอะไรมากมาย ก็จริง แต่ว่าแหม มันสงบเย็นเป็นสุข ถนนยังไม่ตัด ที่เราเกิดมานะ

เณรน้อยในการเมืองยุคจอมพล กับเหตุการณ์สำคัญ

เราเป็นคนบ้านนอก เราไม่รู้ว่าการเมืองเกี่ยวอะไรกับเราหรอก ทำงาน เอาเงินเดือน เอาตัวรอดไป ไม่รู้ว่าระบบไม่สมบูรณ์มันทำร้ายให้เราอยู่ลำบากกันยังไงหรอก แต่พอมาเป็นนักข่าว นี่พี่จะตอบ เธอถามเรื่องหนักมาก

ตอนบวชเณร เป็นช่วงที่เขายิง ‘นายศุภชัย ศรีสติ’ ตาย ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ พี่ยังเดินไปดูเลย อย่าลืมว่าเส้นทางพี่ จากโรงเหล้าบางยี่ขัน วัดดาวดึงษาราม ข้ามฟากท่าพระอาทิตย์ เดินเลี้ยวมาธรรมศาสตร์ เลี้ยวผ่านวังหน้า อ้อมหอประชุมใหญ่ กำลังมุงหลังคาครึ่งหนึ่ง มารู้ทีหลัง ‘จอมพล ป.พิบูลสงคราม’ เป็นอธิการบดี ชิงจาก ‘ปรีดี พนมยงค์’

ตอนเผากระบอกฝิ่นที่สนามหลวงพี่ก็เดินไปดู เป็นเณรซน ตอนนั้นมีการเลิกฝิ่น อยู่ในช่วง 2501 - 2502 และเรื่องสำคัญที่ฝังใจมาก เรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีสมภารใหญ่ชื่อเจ้าคุณพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) ก็ถูกจับสึกในช่วงที่พี่เรียนอยู่ เรื่องคลับคล้ายแต่ไม่เหมือนกับวัดปากน้ำ 

เห็นว่าในการประชุม มีเสียงลือมาถึงฝั่งเณรน้อย ๆ อย่างเราว่าท่านทะเลาะกัน พอทันทีที่ ‘จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ปฏิวัติ ข้อกล่าวหา ‘เจ้าคุณพิมลธรรม’ ทำปาราชิกกับเณร ไปเมืองนอก เป็นคอมมิวนิสต์ แต่งตัวเป็นฆราวาส จับเขาสึก พี่เป็นเณรช่วงนี้พอดี แล้วพระเณรมาประชุมกันทั้งวัดเพื่อประท้วงต่อต้านรัฐบาล ตอนนั้นไม่รู้ แล้ว ‘ท่านปัญญานันทภิกขุ’ ถูกนิมนต์มาห้ามปรามม็อบพระ ยังฟังติดหูอยู่เลย ประสาเณร 

แรงนะ เป็นประสบการณ์เด็ก ๆ ก็ได้เรียนรู้ว่า คณะสงฆ์กับการเมืองก็เปลี่ยนแปลง แล้วแย่งชิง หักกัน มันมีนัยว่า มหานิกายกำลังโดดเด่นมีรัศมีจะขึ้นมาเป็นสังฆราช

เป็นเณรอยู่ในบรรยากาศการเมืองที่สึกเจ้าคุณพิมลธรรมนี่แรงมาก จับท่านเอาเข้าคุก จับท่านนุ่งผ้าขาว ท่านก็อยู่ในคุกจนท่านออก ตอนหลังพอรัฐบาลเปลี่ยนไป ท่านก็กลับคืนเป็นพระเหมือนเดิม รู้สึกว่าจะได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าคุณพิมลธรรม อาจ อาสโภ

คุ้นตาและประทับใจเจ้าคุณพิมลธรรม แล้วตอนมีเรื่องจับเจ้าคุณพิมลธรรมสึก เป็นการเมืองของการเมือง แล้วมากระแทกการเมืองพระ เรียนรู้มาเป็นพื้นก่อน พอมาเรื่องที่คลับคล้ายก็ช่วงหลัง

เข้านัยเดิมคล้อยไปทางสมัยพระพิมลธรรม พี่ประกิตจะอ่านเรื่องการเมืองคณะสงฆ์ การเมืองโลก เกี่ยวกับพระได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าคนอื่นพอสมควร ชอบพระเครื่อง การชอบพระเครื่อง หมุดของพระเครื่องมันปัก ทำให้หาความรู้กระจายไปเรื่องประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ ประวัติศาสตร์สร้างพระ ประวัติศาสตร์โบราณคดี

‘กิเลน ประลองเชิง’ ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุคจอมพลจนถึงยุคโซเชียลมีเดีย

ข่าวใหญ่ยุคจอมพล 

สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียรนั้น มีเรื่องใหญ่มาก คอร์รัปชัน กินป่าเบตง 3 ล้านไร่ มีตระกูลไฮโซเจอข้อหาจัง ๆ เอาตัวเป้งตัวเดียว ‘พล.อ.สุรจิต จารุเศรนี’ รัฐมนตรีเกษตร เป็นเพื่อนจอมพลประภาส อนุมัติให้ ‘เสี่ยสมเลิศ’ ได้ป่าไปถึงเบตง 3 ล้านไร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ชื่อ ‘ศิริ คชหิรัญ’ ไม่ยอม พล.อ.สุรจิตติดคุกตายในคุก ประวัติศาสตร์ประเทศไทย รัฐมนตรีตายในคุกชื่อ สุรจิต จารุเศรนี เพราะผู้ว่าฯ เข้มแข็ง และมีมุมน่าศึกษา

ทำข่าว ‘ชาติชาย’ ถูกยึดอำนาจ ก่อน ‘พฤษภา 35’ 

พี่นั่งโต๊ะกินข้าวกับ ‘คุณชาติชาย ชุณหะวัณ’ โหโก้เว้ย เป็นนายกฯ แกคุยด้วยความเพลิดเพลินว่า ตอนที่ผมเป็นเด็ก พ่อผม (จอมพลผิน ชุณหะวัณ) นั่งกินข้าว ยังไม่ได้เสิร์ฟของหวานบนโต๊ะ เหมือนชาติชายอยู่ในเหตุการณ์กับพ่อคือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ปรารภถึงใครกันเมื่อตอนเสิร์ฟอาหาร ผลไม้ยังไม่ทันเสิร์ฟ ตายหมดแล้ว เขาสั่งยิงตอนนั้นก็ไปจัดการ ไปเบิกตัว 4 รัฐมนตรีมาจากคุก แล้วก็มายิง กม. 11 เป็นนัยให้รู้ว่า รุ่นนั้นหมั่นไส้เขาก็ยิงกันทิ้ง แล้วก็ออกข่าวดื้อ ๆ เลยว่า โจรมลายูบุกมาปล้น หนังสือพิมพ์ก็ไม่กล้าขุด

อยู่ในคุกอยู่แท้ ๆ เลย 4 คน รัฐมนตรีของคุณปรีดี พนมยงค์ หลังปฏิวัติ 2490 แล้วปรีดี พนมยงค์หมดอำนาจ จอมพลผินปฏิวัติ แล้วก็อุ้ม จอมพล ป. มาเป็นนายกฯ จนปี 2500

ที่พี่คุยเรื่องนี้ คือจะคุยเป็นประเด็นย้อนไป ความเก่าของพี่นะ พี่ฟังคุณชาติชายคุยแล้ว บังเอิญได้ร่วมโต๊ะด้วย นักเลงฉิบหายรุ่นนั้น แล้วเหลี่ยมนักเลง มาพลาดตรงไหนรู้ไหม แกบอก รุ่นพ่อแกพอหมั่นไส้ก็ตายแล้ว 

จบมาเรื่องใหม่ ตอนที่คุณชาติชายจะไปขึ้นเครื่องบิน จะไปเชียงใหม่ เตรียมพิมพ์ดีดไปด้วย รู้นัยไหมไปทำไม ก็จะไปกราบทูลปลด ‘สุจินดา คราประยูร’ เขาก็เลยจับชาติชายในเครื่องบิน เครื่องบินจะออกแล้วหยุดปั๊บ แล้วออกมาโผล่ตัวแล้วก็จับชาติชาย สนุกมากทำข่าว บิ๊กเต้ (พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล) ด้วย สุจินดา คราประยูรด้วย

พี่เพียงแต่ยิ้มว่า ชาติชายคุยว่ารุ่นพ่อขลังนัก พูดทำนองว่าเด็กรุ่นนี้มันทำอะไรกัน หมายความว่า ทหารรุ่นนี้มันเด็ก ๆ พี่ขำว่า ชาติชายคุณกร่างคุณดูถูกเด็กมัน เด็กมันเลยน็อกซะเลย เด็กมันก็เฮี้ยวเป็น มันก็จับมึงไง ไม่มีใครโยงนะเนี่ย ประกิตคุยกับชาติชาย ถึงได้ยินประเด็นนี้ คือ หมิ่นเด็ก เด็กรุ่นนี้มันเล่นอะไรของมัน ก่อนถูกรัฐประหาร เมื่อชาติชายถูกปฏิวัติ บนเครื่องบิน มันสนุกกับพวกเรามากที่ไปทำข่าว พี่เขียนข่าวอยู่มันมาก 

ประมาณ 1 ปี เราได้ข่าวจากบิ๊กเต้ มาขึ้นโต๊ะหน้า 1 ชาติชายโทรฯ มาถามเต้ (พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล) “ไอ้เต้ มึงให้กูกลับบ้านได้หรือยัง” ทวนความจำเด็ก ๆ เมื่อทหารแก่กร่างคิดว่าเด็กใจไม่ถึง เด็กมันเลยปฏิวัติ ตาแก่ก็รู้เกมว่ามึงล้มกระดานกูแล้ว ตาแก่ก็เลยไม่ออกฤทธิ์ ไปนอนกับอิหนูเพลิน ๆ หมดฤทธิ์หมดเดช พอโทรฯ กลับมา รู้ไหมเต้ตอบว่าไง “น้ากลับก็กลับสิ” ต่างกับใครบางคนไหม เปรียบเทียบได้ไหม คือถ้าคิดจะกลับบ้านต้องเปลี่ยนมุกใหม่ ไม่มีฤทธิ์ 

พี่ต่อจิ๊กซอว์ให้เธอฟัง คือ ชาติชายเก๋า เป็นทำนองว่า รุ่นพ่อผม มีจอมพลผิน มีใครต่อใครนั่งอยู่ ปรารภว่า ไอ้พวกนี้มันกร่างนัก พอพูดเสร็จก็สั่ง ยังไม่ทันเสิร์ฟผลไม้ มาถูกยิงอยู่ กม.11 แล้ว พอถึงคราวชาติชายเลยถูกสุจินดาจับบนเครื่องบิน ไปดูถูกเด็กมัน เด็กมันก็เป็น ชาติชายรู้เกม เกมจบแล้ว อยากกลับก็กลับมานอนเพลิน ๆ แต่คุณทักษิณพยายามกลับ วันนี้ยังนอนชั้น 14 อยู่เลย

ทักษิณ ได้กลับบ้านแล้ว แต่ยังมีฤทธิ์ 

คุณทักษิณพยายามกลับบ้าน 17 ปี คือถ้าคิดจะกลับบ้าน มันต้องเปลี่ยนมุกใหม่ ไม่มีฤทธิ์ พี่กำลังแนะนำว่าถ้าคุณทักษิณอยากจะเล่นกับหลาน 7 คนจริง ๆ ต้องไม่มีฤทธิ์ แต่มันไม่จริง 

คุณทักษิณแกกลับมาแล้ว แกออกฤทธิ์ออกเดชอยู่ตลอดเวลา แม้วันนี้ฤทธิ์เดชก็มากกว่าใคร คอลัมน์กิเลนเขียนเตือนบ่อยนะ เฮ้ย ถ้าจบมันต้องจบ แต่มันไม่จบ คุณทักษิณใหญ่มาก ไม่ใช่ใช้ชีวิตเพื่อความสงบสุข ลึกลงไปพี่รักเขาหรือเปล่าไม่รู้ สมมติว่าอิ๊งค์เป็นลูกพี่ ฆ่ากันยังไงพี่ก็ไม่ให้ลูกพี่ไปเป็นนักการเมือง 

อุ๊งอิ๊งค์กับการเมือง

วันนี้คุณทักษิณ ล้ำเส้นคุณหญิงอ้อ (พจมาน ดามาพงศ์) ที่ปล่อยอิ๊งค์มาเล่นการเมือง เพราะมันเหนื่อย เขาก็เป็นหลานคนหนึ่งของเรามั้ง เขาจะนับหรือเปล่าก็ช่างเขาเถอะ แต่ประเด็นจะเล่าเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่า การเมืองไม่ยุติธรรมกับทักษิณเขา 

ไอ้วันที่เล่นเกมการเมืองไล่ทักษิณออกไปรอบที่ 2 นั้น เป็นเกมการเมืองของฝ่ายนี้ซึ่งเป็นฝ่ายใครเธอรู้อยู่ การเมืองตามจี้ยึดทรัพย์ทักษิณ ว่าโกงแผ่นดินมา ด้วยนโยบายอย่างนี้ เอาเขาอีก 6 หมื่นกว่าล้าน แล้วเอาได้จริง 4 หมื่นล้าน พี่ใช้รัฐศาสตร์อีกแล้ว กิเลนไม่เคยอ่านการเมืองพลาด เชื่อกู บ้านเมืองสงบ โหยแรงโว้ย โม้ด้วย

ไล่ยักษ์ออกไปแล้วอย่าเสือกยึดกระบองยักษ์มันก็คือเงิน มันสู้ ทักษิณออกรอบ 2 แล้วที่นับ 17 ปีเนี่ย มันไม่ยอมหรอก ทักษิณรู้ว่าเงินมีค่าเมื่อใช้ 

พี่ต่อจิ๊กซอว์เอง ก่อกิจกรรมการเมืองใต้ดินบนดิน เพราะยึดเงินเขาไง ปี 2553 - 2554 รบกัน กลิ่นมาถึงนี่เลย พี่อยู่บนหลังตึก (ไทยรัฐ) กลิ่นเผานั่นน่ะ คิดตามพี่หน่อย ถ้าไม่ยึดเงินทักษิณ ทักษิณมีภาพเมียร้องไห้ขอให้เลิกการเมือง ทักษิณอ่อนแล้ว แต่ทักษิณถูกบังคับให้สู้

ถ้าไม่ยึดเงินทักษิณ จะมีเรื่องไหม เฮ้ยไอ้ตัวนี้ฆ่าไม่ตาย เพราะฉะนั้น ปล่อยมันไปดีกว่า อย่าไปยุ่งกับมัน เพื่อให้บ้านเมืองสงบ อย่าไปยุ่งกับมัน ไอ้ตัวนี้ฆ่าไม่ตาย เพราะฉะนั้น ต้องปล่อยมันไป นัยของสำนวนคือ ไล่ยักษ์มันไปแล้วก็คืนกระบองยักษ์ให้มันไป คือเงิน เพราะฉะนั้น ปี 2553 - 2554 ที่รบกันฉิบหาย เพราะยักษ์มันจะเอากระบองมันคืน แล้วกระบองวันนั้น ก็คือการสู้มาจนถึงวันนี้ 

อุ๊งอิ๊งค์เขาไม่ควรเข้ามาหรอก เดี๋ยวเขาจะเจ็บ เมื่อกี้พี่พูด พี่ต้องการจะสอนเขา ถ้าเป็นลูกพี่ ใครมาเอาลูกพี่ไปทำการเมือง พี่จะฆ่ามัน มึงจะเอาลูกกูไปทำร้ายเหรอ ไม่มีอะไรจะทำลายมนุษย์ได้เท่ากับการเมือง 

พี่ต้องอินทักษิณ เฮ้ยมึงเก่ง แต่เขาลำบากนะ วันนี้ยังไม่รู้จักเกมของตัวเองเลยว่าความสุขของมนุษย์มันอยู่ตรงไหน ความสุขมันอยู่ที่ความสงบนะ เอ้า คุณทักษิณสงบสุขไหมเนี่ย นี่สอนธรรมะกันนะเนี่ย

อย่าลืม พี่ประกาศว่ากูไม่รับเงินมึง พี่ศักดามาก ไม่ได้บอกว่ามีเรื่องอะไร เล่าแค่นี้

‘กิเลน ประลองเชิง’ ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุคจอมพลจนถึงยุคโซเชียลมีเดีย

จากยุคทักษิณมาถึงปัจจุบัน 

นี่คุยแบบคนไม่เข้าข้างนะ ขอยืนยันเรื่องไม่มีสีนะ พี่ประกิตความรู้น้อย ไม่ได้จบปริญญาตรี ไม่ได้จบจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ มาเรียน มสธ. ตอนแก่นี่เอง 

พี่ไม่ใช่นักข่าวการเมือง เป็นนักข่าวเฉพาะกิจ ทำข่าวทุกเรื่อง อย่าง 6 ตุลานี่ พี่อยู่จ๋าเลย พี่เป็นคนถามแรง ทั้งที่ไม่ใช่มือการเมือง 

ก่อนเลือกตั้งปี 2544 ไม่กี่วัน มันมีเสียงปี่เสียงกลองของใคร ให้ฝ่ายกฎหมายเริ่มคดีซุกหุ้นกับทักษิณ ชินวัตร พี่ก็มองว่าคดีนี้มันอยู่ได้ตลอด แต่วันที่ทักษิณจะเข้ามาชิงธง ทำไมจะต้องมา เวรกรรม เจอข้อหาฉกรรจ์ พี่กำลังระแวงแบบสื่อธรรมดาว่า กระบวนการกฎหมายในประเทศนี้ มันมีวาทยกรคอนดักเตอร์คอยให้สัญญาณว่าฟันมัน 

เธอเพิ่งเกิด จะทวนให้ฟัง กิเลนสมัยนั้นนะ เขียนตั้งแต่ปี 2541 ก่อนปี 2544 พี่ได้เขียนหน้า 4 เป็นกิเลนแล้ว กำลังฮอต เป็นสมิงหนุ่มจอมคะนอง คนมาอ่านเยอะ เจอหน้าใครก็ไม่ยิ้ม ไม่เหมือนสมัยนี้ ต้องไปถามว่ามึงอ่านกูหรือยัง อาจจะต้องส่งหนังสือไปให้อ่านด้วย

กิเลนก็เริ่มรณรงค์ด้วยการให้เรียนรู้ธรรมะข้อกาลามสูตร ก็มีหลักง่าย ๆ จะเอารัฐศาสตร์กฎหมาย หรือจะเอานิติศาสตร์ตามกฎหมาย 

กิเลนก็เขียนว่าคน 11 ล้านคน เขาเลือกมา นี่มันประชามติ ตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นใคร รณรงค์เขียนคงจะยาวนาน แล้วต่อด้วย อคติ 4 เขียนบ่อยมาก ที่พูดเรื่องนี้เพราะมันมีตัวชี้วัด เธอเกิดไม่ทัน พี่เขียนไปเรื่อย ๆ เขียนจนเป็นกระแส มารู้เอาทีหลังว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต่างยิ้ม และเห็นคล้อยตามคอลัมน์กิเลน กำลังจะโม้ว่า เราเป็นตัวนำ เพราะตอนนั้นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยังเป็น 1 ใครก็ต้องอ่านอยู่

วันที่มีการตัดสิน นักข่าวก็ไปรุมฮือถาม ท่านประธานตุลาการฯ ท่านเขิน แทนที่จะตอบนักข่าว ท่านอธิบายถึงกาลามสูตร อธิบายถึงอคติ 4 ท่านใช้หลักเรา ย้ำอยู่ สมมติท่านให้สัมภาษณ์ 10 นาที 8 นาทีไปกับธรรมะ 2 ข้อ พี่ยิ้มอยู่คนเดียว 

นักข่าวก็เลยถามท่านคะ ท่านมัวแต่พูดถึงกาลามสูตร ผลเป็นอย่างไรคะ ผลออก 8 : 7 ท่านประธานอยู่ในฝ่ายไม่เอาทักษิณนะ มารู้ทีหลังนะ

นี่กูเขียนมาตั้งหลายเดือน พี่รณรงค์เลย คนเดียวนะจ๊ะ หนังสือพิมพ์ยังใหญ่อยู่นะจ๊ะตอนนั้น ไทยรัฐหน้า 3 นะจ๊ะ ไม่ใช่ตอนนี้ รู้ตัวด้วยนะตอนนี้

ทักษิณรอด โม้นะ มันจะเกิดผลอย่างไร การตอบแทนทางการเมือง คนอื่นเขาทำอย่างไร พี่ไม่รู้ เพราะประกิตคือประกิต จะบอกทะนง 

เขาตอบสนองกับพี่อย่างไร วันนั้นมีงานศพ กิเลนเป็นคนการศึกษาน้อยเจียมตัว คุณทักษิณไปงาน เป็นนายกฯ กำลังฟีเวอร์ ทุกคนไปต้อนรับ เราก็ส่งสายตาแห้ง ๆ กูไม่รู้จักมึง แรงนะ 

คุณหยี (สราวุธ วัชรพล) จับพี่มาเขียนหน้า 4 นี่ พี่เด๋อด๋า ไร้เดียงสากับการเมืองกับสังคมไฮโซมาก พี่ไม่สนใจหรอก แล้วก็ไม่สนใจกระทั่งนายกฯ ชื่อทักษิณด้วย ปรากฏว่านายกฯ มา คนก็พล่านกันไปทั้งงาน ฟีเวอร์ช่วงแรก เธอรู้ไหมระหว่างพี่เดินเพลิน ๆ มีคนเดินตามหลังพี่ มาดึงแขนพี่ แล้วบีบ 2 ครั้ง พี่หันไปดู ใครรู้ไหม เขาชื่อทักษิณ ชินวัตร เรารู้กันว่า ขอบคุณกูแค่นี้เองหรือ สนุกแบบนักเลงไหม เห็นภาพทะนงไหม เขาขอบใจ เขาบีบแขน 2 ครั้งไง ขี้คลอกธรรมดาคนหนึ่งนายกฯ หมายตา ตามคว้าแขน บีบแขน 2 ครั้ง เราอ่านกันออก ขอบใจ แล้วก็ยิ้ม ๆ 

เวลาต่อมา เราดูแลเขา จนกระทั่งวันที่เขาขายหุ้นเทมาเส็ก กิเลนก็ซัดตูม ๆ ๆ ๆ ก็รักเขา แต่มึงทำไม่ดีนี่หว่า หลายอย่างก็บอกว่าเขาขาดธรรมะมากมายหลายข้อ พูดให้สุภาพ ความรู้สึกรักชื่นชมมันก็เปลี่ยนได้นะ เห็นไหม 30 บาทจางไปเยอะแยะเลย

แล้วในการคุยทุกครั้ง ไทยรัฐได้เปรียบอีก ไทยรัฐมีพาวเวอร์สูงมาก บอกความลับนะ กินข้าวกันทุกเดือน กับทักษิณ ชินวัตร หลายครั้งก็นั่งอยู่ตรงหน้า หลายครั้งก็อยู่มุมซ้ายมุมขวา 

พี่ยังขำอยู่เลย เขาจะตอบแทนใครดูแลใคร แต่เขาตอบแทนกู เขาบีบแขนขอบใจเรา 2 ครั้ง พี่รู้เขาขอบใจพี่ พี่เดินเด๋อ ๆ อยู่ คนมันเบียดไง พอทักษิณมาก็กรูกันตามแห่บ้านายกฯ กัน ฟีเวอร์ ๆ แต่ประกิตถูกตาม เป็นเกียรติมาก 

คุณหญิงอ้อ - พจมาน ดามาพงศ์ บอกผ่านคุณอรพรรณ พานทอง (คุณนิด) บอกว่า คุณหญิงอ้อเป็นแฟนพันธุ์แท้คอลัมน์กิเลนมาก เขียนด่าสามีเขายังไม่โกรธเลย คุณนิดพูดนะ ภรรยาคุณสราวุธ พี่ก็ยิ้ม ๆ ฝังใจ เอามาโม้ร้อยครั้งแล้ว ตลอดเวลาที่เป็นรัฐบาล 4 - 6 ปีเนี่ย คุณหญิงอ้อเคยฝากของฝากเป็นผักหญ้ากับหนังสือธรรมะมาให้ 2 ครั้ง เพียงแต่คิดในใจภาษานกรู้ว่า ก็ไหนว่าให้ตังค์คนโน้นคนนี้เป็นสิบล้านหลายสิบล้านต่อคน ทำไมกับกูได้กินผักอยู่ 2 ครั้งเอง พูดเล่น ฝากไปถึง

คุณนิดพูด พี่ประกิต คุณหญิงอ้อบอกว่า ชอบกิเลนที่สุดเลย หูยกูปลื้ม เราก็มีสัมพันธ์กันอยู่แค่นั้น ระหว่างคนอ่าน วันนี้ยังอ่านเหมือนเดิมหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เขายังมีสัมพันธ์เชื่อมโยง พี่ได้ยินคำนี้ ถ้าพี่ใช้เป็นตั๋ว เธอคิดว่าพี่ประกิตหาตังค์ได้กี่มากน้อย ถ้าไปเจ๊าะแจ๊ะรับใช้ ไม่ต้องถามว่าทำไมไม่รับตังค์ เขาคุ้นเคยกับบ้านเรา

เกมล้มทักษิณ 

เป็นที่รู้กันว่า เกมที่ล้มทักษิณ คือเกมภาคใต้ ทักษิณบอก ทุกฝ่ายรวมหัวกันเล่นงานผม มันคือการเมือง เกมเจาะไอร้อง คุณทักษิณบอกเลย ผมถูกทุกฝ่ายรวมหัวกันเล่นงานผม สนามภาคใต้เป็นสนามล้มทักษิณ อย่าลืมว่าเริ่มต้นจากทักษิณเริ่มจาก ‘โจรกระจอก’ ยาวแล้ว นี่ไงทักษิณพลาดมากนะ เรียกแขกยังไงไม่ต้องเล่าเดี๋ยวยาว

ทำไมพี่ถึงแม่นรู้ไหม นี่นักข่าวยะลา 5 ปี ไปอยู่ริมชายแดนนับไม่ถ้วน ระเบิดครั้งหนึ่งถ้าเธอวิเคราะห์ได้ 2 ชั้น พี่วิเคราะห์ได้ 5 ชั้น อาจจะไม่ลึกเท่า 8 ชั้น 

กำลังจะบอก อยู่มานาน แล้วรู้ดี อยากรู้ทางออกเรื่องนี้ไหม ความรู้สึกชิงชังมันเกิดขึ้น เธอเอาตำรวจทหารที่มีความคิดแบบสายเหยี่ยวไปอยู่ในบรรยากาศอย่างนั้นได้อย่างไร มันต้องเอาสายพิราบ สายที่มองสันติ คือสายที่มองเขาเป็นน้องเป็นพี่ 

กรณีตากใบ เลวทรามต่ำช้ามาก ทำเขาอย่างนั้นได้อย่างไร ขอโทษทั้งชาติก็ไม่จบ นัยของพี่อีก ความเป็นกิเลน มีเพื่อนเป็นแหล่งข่าวอยู่ที่รือเสาะ อยู่ที่ยะหา สถานการณ์ภาคใต้กลายเป็นสถานการณ์หาเงินให้กับคนมีอาวุธ พอหลังกรือเซะ คนที่เป็นแหล่งข่าวของพี่ หายไปเกลี้ยงไม่มีแม้แต่คนเดียว เขาโกรธไปหมด 

พี่ไปอยู่ยะลารอบแรกปี 2507 พี่เป็นเด็กบ้านนอกค่อย ๆ เรียนรู้การเมือง มาจากนักข่าวบ้านนอก เรียนรู้น้อยมาจนวันนี้เป็นพี่ประกิต พี่คุยกับนายกฯ ใหม่ ๆ บางคนจากการปฏิวัติ กลับมาผิดหวัง แม่งโคตรไม่มีกิ๋นเลย อย่าเอ่ยชื่อได้ไหม ถ้าไม่ใช่เสือ มังกร อย่ามาเป็นนายกฯ 

ทหารเลวได้มากกว่านักการเมือง แรงเว้ยกู ชอบไหมเนี่ย ที่พูดอย่างนี้ เธอว่าพี่อคติหรือเปล่า ใน 8 - 9 ปีนี้ มันมีซีก ซีกไหนทำให้เลว บ้านเมืองที่แหลกเหลวเละเทะ ตำรวจ ทหาร ป่นปี้ ที่เกิดขึ้นในช่วง 8 - 9 ปีนี้ เลวทรามต่ำช้ามาก ๆ ในชีวิตนักข่าวพี่ พี่เป็นนักข่าวมา 50 ปีแล้วนะเนี่ย ไม่มีใครเลวเท่านี้ 

เมื่อม็อบเสื้อเหลืองเริ่มตั้งม็อบที่ลุมพินี อย่าลืมว่า ทักษิณไปด้วยเรื่องเทมาเส็กนะ มีการเอาขึ้นไปพูดบนเวทีลุมพินี คือเขากล่าวหาทำนองว่า ไทยรัฐเป็นกลุ่มผลประโยชน์เดียวกับทักษิณ พี่บอกเฮ้ย เอ็งต้องรู้ธรรมชาติหน่อยนะ สื่อใหญ่กับรัฐบาล เขาจะมีการผูกพันกันในระดับหนึ่งเสมอ กินข้าวกันเดือนละครั้ง

การเมืองสีเหลืองก็ไม่ยุติธรรมกับทักษิณเขา พี่เขียนในคอลัมน์ไปแล้ว มองพี่ออกหรือยังว่าพี่เป็นใคร พี่รักบ้านเมืองแบบของพี่นะ เห็นพูดมากพี่ฉลาดและนกรู้ 

พรรคก้าวไกลในมุมประกิต 

พี่เจอ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ในลิฟต์ วันนั้นเขาไปออกทีวีของไทยรัฐ เลขาฯ พิธาเขามานัดพี่ ทำท่าเลื่อมใสเล็ก ๆ แต่คงไม่ได้เลื่อมใสกันมาก เจียมตัวนะ เลขาฯ พิธา

พี่บอก ไม่ต้อง พี่ประกิตไม่มีน้ำยาให้เธอแล้ว เจอเขาก็ทัก คุณพิธาพูด 1 ประโยค ผมชอบคุณแต่ผมไม่เลือกคุณ พูดให้เลือกสิ เขายิ้ม ๆ เขาพูดไม่ทัน เจอหน้าลิฟต์

เพราะอะไรพี่ถึงไม่เลือก ถ้าพรรคก้าวไกลมี 300 เสียงวันนี้ เขาปฏิวัติมึงไปแล้ว เชื่อเรื่องนี้ไหม พี่ประกิตจะสอนทางอ้อม จะบอกว่า ‘ซ้ายจัด’ กรณีแก๊ง 4 คน ปฏิวัติวัฒนธรรม

นัยที่ฝรั่งเขียน เมาเซตุงบ่นเสียใจกับโจว เอินไหล ฉิบหาย ปั้นมือซ้ายขึ้นมาเป็นเรดการ์ด ปั้นมือขวาเป็นกองทัพประชาชน สิบปีมันรบกันตายเป็นล้าน นัยพลาดไปแล้ว เด็กมันไม่ยั้งคิด 

ชุดปฏิวัติวัฒนธรรม แก๊ง 4 คน เป็นชุดที่อับเฉาในประวัติศาสตร์จีนที่สุดใช่หรือไม่ ก้าวไกลจะเดินทางนี้ไหม อย่านะ พี่เป็นเด็กมาก่อน พี่รู้นะ เอ็งเผลอไปแล้ว เอ็งเรียนรู้มาน้อยไป 

พี่ไม่ได้รักใครสักเท่าไรหรอกที่พูดเนี่ย มันไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง ในโลกนี้ไม่มีอะไรดีที่สุด ได้อย่างหนึ่งต้องเสียอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น จะพูดว่า กูไม่อยากเลือกมึงหรอก กูเลือกมึงไป เขาก็ฆ่ามึง แรง

ทำไมเลือกชีวิตสื่อมวลชน

ชีวิตพี่เกิดมาอยู่กับข่าวนะเธอ ชีวิตนักข่าวที่ลอยมาอยู่ในเหตุการณ์วันนี้ไม่ง่ายเลย 5 ปีที่ยะลาสอนพี่ให้แกร่ง ทำเรื่องพวกนี้ 

ในสมัยที่ไทยรัฐยังเป็นยอดรวมของสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งประเทศ ทุกศึกเหมือนไหลมาหาเรา ‘ไว ตาทิพย์’ ตาย พี่เขียนแทนไว ตาทิพย์ เป็น ‘ทแกล้ว ภูกล้า’ จดหมายเข้า 20 ฉบับ ทุกข์ร้อนห้องร้องทุกข์อยู่ข้างหน้า 

มีความสุขไหมได้ช่วยคน มูลนิธิกระจกเงายังไม่เกิด ตอนนั้นไทยรัฐทำหน้าที่เกือบทุกอย่าง พี่กำลังจะพูดว่า ทุกข์ร้อนในแผ่นดินวันนี้ ตั้งแต่มีโซเชียลฯ เนี่ย เขียนกิเลนไม่มีคนอ่าน ต้องไปเที่ยวบอกว่า กูเขียนให้แล้ว ไม่เสียใจเลยนะ พูดจริงนะ ไม่ได้ดัดจริตพูดให้ดูดี 

กูดีใจจังเลย ทุกข์ร้อนจากประชาชน มันพ้นอกกูไปแล้ว เพราะมึงมีเรื่องกับใคร มึงก็ใช้มือถือมึงฟ้องคนได้ มึงเป็นนักข่าวมึงเองหมดทั้งโลกแล้ว สมัยก่อนจดหมายร้องทุกข์ พี่ประกิตเดินมารับอยู่คนเดียว คอลัมน์ห้องร้องทุกข์ในไทยรัฐ ประกิตเป็นคนเปิด เป็นที่มาของเด็กขายไต ข่าวเข้ามา เด็กโทรฯ มาอ้อนวอน อยากขายตัว หาเงินเรียนหนังสือ เศร้าฉิบหาย เธอฟังแล้วพี่คือใครวะเนี่ย 

ดีใจโลกวันนี้มันเปลี่ยนไป แล้วตัวเองจ๋อยลง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐขายได้น้อยลง กิเลนก็ดูกร่อย ไม่มีใครมาหา เอ็งมาหาพี่ทำไมวะเนี่ย ว่าแล้วมาหลอกพูดเรื่องการเมือง

มาหาเพราะเป็นบุคคลในตำนาน มันเป็นจริงเหรอ เฮ้ยเลยหลุดเลยนะเนี่ยที่คุยวันนี้ ความจริงตั้งเกณฑ์ไว้เยอะจะไม่พูด เอาประวัติไปทำอะไร ไม่ได้ประโยชน์ เฮ้ยไปสกรีนเรื่องกระทบกระทั่งคนอื่นให้ดีนะ เพราะพี่ปากไวใจตรง

ที่มา ‘วัลลี’

เอ้า คุยโม้ ไม่รู้ก็รู้ไว้ซะด้วย วัลลีนี่พี่ประกิตต้องเขียน 3 copy กว่าจะมีวัลลีเป็นหนัง พี่เขียนเรื่องวัลลี ต้องเขียน 3 ครั้งถึงเป็นเรื่องวัลลี เธออึ้งไหม มันเป็นจดหมายร้องทุกข์ จากแม่กลองบ้านเรา เด็กมันไม่มองโต๊ะแผงอาหารเลย เพราะมันไม่มีตังค์ซื้ออาหารกินหรอก แม่หลังเน่ามีกลิ่นเลย ยายตาบอด จะเขียนขึ้นหน้า 1 หัวหน้าแกบอก ไม่เป็นข่าว

คือการมองมุมข่าวคนละมุมมันเกิดขึ้นได้เสมอไง แกมองว่าไม่เป็นข่าว แต่เราซึ้งมากเพราะเราอิน แล้วแปลกใจไหม ทำไมพี่เลือกข้างคนจน ก็กูเลือกอย่างนี้ไง เพราะชอบอย่างนี้ไง อยากช่วยคนจน 

เรื่องวัลลีกลายเป็นกระแสใหญ่มาก เรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่เอา กิเลนต้องเขียน 3 ครั้ง คุยเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่า ไม่ต้องมาถาม ทำไมกูไม่รวย ก็กูเป็นกูอย่างนี้ มันมีความสุขกับเรื่องที่จะได้คุยอย่างนี้ เรื่องนี้ซึ้งนะ มันน่าจะมาหาเรานะ

‘กิเลน ประลองเชิง’ ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุคจอมพลจนถึงยุคโซเชียลมีเดีย

นักข่าวมือรางวัล (รางวัลอิศรา อมันตกุล ปี 2518, รางวัล ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล ปี 2534, รางวัลศรีบูรพา ปี 2565)

รางวัลไม่ได้คิด เอ่อ คำว่าไม่ได้คิดนี่ตอแหล เพราะมาใหม่ ๆ ทุกคนกระหาย อย่างวันนี้เธอคุยกับพี่ พี่คุยด้วยความจำใจและกำลังจะบ้าแล้ว กูหลุดแล้วนึกว่าจะคุยประวัติกูง่าย ๆ จะได้จบ เห็นไหมเธอต้องมาหลอกแน่นอน เพราะฉะนั้นเธอต้องสกรีนให้ดีนะ สกรีนไม่ดีเดี๋ยวพี่ฉิบหาย เพราะมันแรง ความจริงนี่บางทีมันปวดร้าว คือพี่เป็นคนพูดแต่เรื่องจริงไง เรื่องจริงบางทีไม่ควรพูดไง มาสู่ประเด็นที่เธอพูด รางวัลได้มาแล้วเป็นไง อ้อ มันมีตัวตน นักข่าวมาจากยะลา แนะนำตัวตำรวจไม่สนใจ เขาเมินไม่มองหน้าเรา มันมีมุมที่คุยเรื่องนี้ ต่อมาเขามีเรื่องถูกนายพลไล่เตะ แล้วโทรฯ มาขอพี่อย่าเขียนได้ไหม ตอบไม่ได้ กูก็เขียนพาดหัวมึง มนุษย์เนี่ยเวลาคบค้ากันต้องเคารพผูกพันน้ำใจกันในระดับหนึ่ง จะขอไหว้วานกันต้องมีน้ำหนักควรให้ไม่ควรให้ แนะนำให้รู้จัก เขาเมินหน้าไม่มีราคา กูมีราคามาก คนมันถึงคิด มีประเด็นอย่างนี้ 

นักข่าวบ้านนอก ไม่มีใครรู้จัก เดินขึ้นไปโรงพัก ต้องลอกประจำวันคัด ตำรวจแอบให้บันทึกประจำวัน เนี่ยมือบินทั้งประเทศ แต่เวลาอยู่กรุงเทพฯ ก็ตระเวน ถึงแกร่ง

พอพี่ได้รางวัลที่เชียงใหม่ (ปี 2518) ภาพมันเปลี่ยนว่ะ คนมอง ‘ไอ้กิตมันเก่ง’ คือสมัยแรกไม่มีใครมองหน้าเลย ดูถูก ดังแล้วทำข่าวง่ายขึ้น แหล่งข่าวไหลเข้ามาหา เพื่อนพ้องก็เจือจานให้ พี่ก็ไม่เคยปิดเพื่อน 

ยกเว้นข่าวเดี่ยวจริง ๆ ถึงใช้คนเดียว บางทีมันฝีมือล้วน ๆ ได้มาเดี่ยว ๆ ทำไมกูต้องแจกมึงก็มี สมัยพี่ เช่น วันที่มีการระเบิดที่ปัตตานี สัมภาษณ์เดี่ยวแม่ทัพอยู่คนเดียว เขาบอกไม่ให้สัมภาษณ์ แต่เรียก ‘น้อง ๆ มากินข้าวด้วยกัน’ เสร็จกูสิ ไม่ให้สัมภาษณ์ แต่กินข้าวด้วยกันก็เสร็จกูสิ พี่เขียนเต็มหน้า พี่ส่งข่าวเต็มหน้า

นั่งรถเมล์ต๊อกแต๊กไปปัตตานีที่มีเรื่องกลางคืน กูเป็นคนบ้านนอก กูไม่รู้ กูอยากจะไปกูก็ไป แล้วนั่งรถเมล์ด้วย ก็สัมภาษณ์เดี่ยวมาลงเต็มหน้า

พวกเพื่อน ๆ หลายฉบับมีไทยรัฐด้วย เขาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไอ้กิตมันคนไม่มีเพื่อน อนาคตมันไม่ไกลหรอก นักข่าวบ้านนอก ทำข่าวไม่ได้ถามใคร นักข่าวกรุงเทพฯ เขาจะชวนกันไปสัมภาษณ์ นักข่าวทำเนียบ กรมประชาสัมพันธ์ ไปสัมภาษณ์รัฐมนตรี เขาไปกัน 8 คน

เขาบอกเราไม่มีเพื่อน ไม่ใช่เราไม่มีเพื่อนแล้วเราไปได้ไกลด้วย พี่ไม่เคยสมัครงานเลย แล้วทุกคนก็คิดว่าพี่เก่งว่างั้นเถอะ โม้เลย 

รางวัลอิศรา อมันตกุล ปี 2518

ปี 2518 พี่ประกิตได้รางวัลภาพจากเชียงใหม่ รับรางวัลจากมือหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช รับรางวัลจากมือนายกฯ แกถามว่าถ่ายอะไรมา รางวัลอิศรา อมันตกุล เราเรียกว่ารางวัลพูลิตเซอร์ สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย 2518 รางวัลภาพจลาจลของพี่ที่สนามกีฬาเชียงใหม่

ทีนี้มีประเด็นรางวัล เธออย่าแปลกใจ รางวัลนี่ไม่ใช่ของฟลุคสำหรับใครเลย ล้วนแต่เริ่มจากการฝึกปรือเคี่ยวกรำและจริงใจจริงจังต่อมันทั้งสิ้น ภาพจลาจลสนามกีฬาเชียงใหม่

จะเล่าเรื่องนี้ว่ามีความพยายามนะ ต่อจาก 14 ตุลา 2516 แล้วเนี่ย พวกอำนาจรัฐ นวพล เขาตั้งหลัก เขาก็ต้อนเด็กอาชีวะ ไปเป็นเครื่องมือฝ่ายขวา เด็กโรงเรียนอาชีวะก็เลยมากวนตีน เด็กคณะใหญ่คณะพละของเชียงใหม่ อยู่ในสนามกีฬาเชียงใหม่ พี่เห็นเด็กมันไล่ตีกันแล้ววิ่งหนีกัน ปรากฏว่า เด็กอ่อนอาชีวะ กล้าเอาไม้บรรทัดอันใหญ่ ๆ ไล่ตีเด็กพละ เขาเป็นรุ่นพี่ พี่ก็สงสัย

พี่เลี้ยวเข้าไปตรงนี้ เห็นไหมไหวพริบ พอเลี้ยวเข้าไป ต่อเนื่องด้วยผู้ใหญ่เชิญ 2 ฝ่ายมาเจรจากัน ประธานนักศึกษาพละ มีคำว่า ละอ่อน คือกำลังเจรจาเกี้ยเซี้ยกันอยู่บนตึกชั้น 2 เด็กอาชีวะเด็ก ๆ ไปตามพวกมอเตอร์ไซค์กันมา 30 - 50 คัน มีระเบิดขวดร้อยคน เด็กพละเขารุ่นใหญ่เขาปิดเทอม เขามี 40 - 50 คน เขาไปเปิดคลัง เอาแหลนออกมา พี่กำลังนั่งฟัง ‘ละอ่อน ๆ’ เนี่ย 

เล่ายาว เพื่อจะบอกว่า ไม่ใช่เรื่องฟลุค ไม่ใช่เรื่องมันเข้าตีน กูรอจังหวะ กูเฝ้ามาตั้งชั่วโมงหนึ่ง เสียงละอ่อนอยู่ในหูพี่ เพราะเขารอเพื่อฆ่ามึง 

พี่ได้ยินเสียงโห่ พละออกมาถือแหลนกันมาสิบ ๆ แหลน ในสิบ ๆ แหลน มีปืน 3 กระบอก ยิง มีการขว้างระเบิดขวด ระเบิดอยู่ 3 ลูก ไอ้พวกที่ถือแหลนก็กระโดดหนี ปึ้ง ๆ ๆ ฟิล์มเหลืออยู่ครึ่งม้วน พี่วิ่งมาตึกชั้น 2 ถ่ายจากห้องจนหมด ภาพยอดเยี่ยมปีนี้ 

กว่าจะเอาฟิล์มออกมาได้ สนามบินเชียงใหม่ มีวันละเที่ยวเดียว มา 11 โมง กลับ 5 โมงเย็น กว่าจะออกจากสนามได้ กว่าจะกะล่อนหนี เอาฟิล์มมา เท้าพี่เนี่ยโป่ง เอาฟิล์มซุกอยู่ใต้รองเท้า เอากล้องโยนทิ้งเลย มันเก่าแล้วของเดลินิวส์ ทิ้งกล้องเลย กลัวฟิล์มไม่รอด ในฟิล์มนั้นมีเสียงปืน เสียงระเบิด มีเสียงแหลน มันมีเสียงอยู่ในภาพไง ในใจพี่ไง ก็กูได้ยินเสียง บึ้ม ๆ ๆ พี่รู้ พี่โทรฯ มาเสียงสั่นเลย ออกไม่ได้ เด็ก ๆ พวกนั้น พอถูกไล่ยิง ถูกแหลน หนี ทิ้งรถไว้ 30 - 40 คัน พละมันเอาไฟราดเผารถโชน พี่หมดฟิล์ม พี่ออกมาข้างหน้าก็ออกไม่ได้ มันล้อม 5 โมงเย็นเครื่องบินจะออกแล้ว 

ไปไหว้กัปตัน กัปตันครับ ผมชื่อประกิต อยู่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ภาพนี้สำคัญที่สุด ใส่กระเป๋าไว้ก่อน ไปถึงจะมีคนไปรับ แล้วก็รีบโทรศัพท์บอกโรงพิมพ์ว่า ไปเอารูปที่กัปตันให้ได้นะ 

รางวัลพูลิตเซอร์ ที่เล่ายาว ๆ ว่า งานแต่ละชิ้นมันไม่ใช่งานฟลุค ดวงเข้าเขาเปิดคางให้ต่อย กูพยายาม กูรอ กูจับทาง

พอพี่ถ่ายรูป รูปมันดังมาก ไทยนิวส์ของเชียงใหม่ ขอไปขึ้นหน้า 1 เต็มหน้า ใส่ชื่อด้วย บายไลน์ ประกิต ปวรากุล ‘ประกิต ปวรากุล’ เป็นนามปากกา เขียนมาตั้งแต่เป็นเณร นามสกุลจริงคือหลิมสกุล 

หนังสือพิมพ์ นักข่าวถูกส่งเติมไปอีก สิบกว่าคน นักการเมืองไปกันหมด สรุปที่โม้เพราะมันดัง เงิน 5 พันจากรางวัลภาพ เป็นค่าดาวน์บ้านหลังแรก ที่อยู่กับเมีย

รางวัล ม.ร.ว.อายุมงคล โสณกุล ประจำปี 2534

ปี 2534 คอลัมน์ ทแกล้ว ภูกล้า ได้รางวัลหม่อมราชวงศ์อายุมงคล โสณกุล รางวัลนี้เพิ่งเลิกไป 2 - 3 ปีนี้ ตอนนั้นรับรางวัลจากพระหัตถ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน เรียนรู้เรื่องราชวงศ์ องค์นี้เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้องเปิดราชาศัพท์ พี่ได้ปี 2534 อันนี้พี่ได้ก่อน ส่วน ‘ชัย ราชวัตร’ กับ ‘เปลว สีเงิน’ ได้อีกหลายปีต่อมานะ 

รางวัลก็ดีนะ มันรู้สึกอุ่น ๆ ดี มันเท่ดี มนุษย์เราบางครั้งรางวัลก็ชื่นชูใจนะ ในช่วงเวลานั้น รู้สึกยังต้องการ ที่ต้องการเพราะมีความกดดัน 

จบเร็ว ๆ ว่า รางวัลเหล่านี้ มันมีค่าไหม ก็ชูใจ ทำให้เรารู้สึกเรามีความสำคัญ หลงตัวเองไปบ้างว่าเป็นคนสำคัญ 

รางวัลศรีบูรพาประจำปี 2565

รางวัลศรีบูรพา 2565 เขาคงไม่รู้จะให้ใครแล้ว มันชืดชาไปหมดแล้ว พี่เขียนหนังสือมาถ้านับเป็นชิ้น จะหมื่นชิ้นอยู่แล้วนะ ฟังแล้วอย่าขำนะ ‘ไว ตาทิพย์’ ตาย ประกิตอยู่มา 8 ปี เขาเลยให้เป็น ‘ทแกล้ว ภูกล้า’ อยู่ไปอีก เขาบังคับให้เขียน พอ ‘มังกรห้าเล็บ’ ตาย ‘กิเลน’ ก็เลยได้เกิด ต้องรอให้เขาตายนะ 

กิเลน, ทแกล้ว ภูกล้า พี่ประกิตของเธอ แต่ไหนแต่ไรมา เงินเดือนหมื่นก็ใช้หมื่น ไม่เคยมีใต้โต๊ะจากใคร แถมชอบพระ ต้องซื้อพระเสียตังค์กับพระอีก ไม่มีจะแดกเป็นประจำ ก็จึงจนอยู่โดยปกติ ส่วนทาวน์เฮาส์ 27 วาหลังนี้ นายกำพล วัชรพลซื้อให้ 

ถ้าใครทำอะไรอยู่แล้วพี่จะไม่ทำ เอ็งเป็นพระเอก พี่จะเป็นพระรอง เป็นนิสัยปกติในทุกเรื่อง เขียนคอลัมน์วันนี้ ถ้ารู้ว่าคนอื่นจะเขียนเรื่องนี้ อ่านกิเลนวันนี้ เธอจะรู้ไม่ได้อยู่ในกระแสเลย กูหยิ่ง ประเด็นนี้จะเล่าอะไร จะเล่าว่าโดยนิสัยความที่เก่งเนี่ย แปลก เพราะในกระแส มึงพูดกันหมดแล้ว ในทีวี ในออนไลน์ ในโซเชียลฯ กูไม่มีพื้นที่แล้ว มึงอ่านของกูสิแปลกดี แล้วมึงจะไปโยงกระทบทักษิณ จะกระทบใครต่อใคร ไปถึงอิ๊งค์หรือเปล่าก็เรื่องของคุณ ตีความกันเอง จบ นิสัยอย่างนี้ ตลอดชีวิต ทำงานที่ไหนก็ตาม

‘กิเลน ประลองเชิง’ ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุคจอมพลจนถึงยุคโซเชียลมีเดีย

นักข่าวกับผลประโยชน์

มึงเป็นมหาเศรษฐีมีเงินสิบล้าน ร้อยล้าน กูยังเงินเดือนหมื่นอยู่เลย ก็กูเลือกเดินอย่างนี้ กินข้าวกับผู้ดีแล้วกูหนาวหลังหนาวหน้า สั่งอาหารเมนูแพง ๆ กูก็กินไม่เป็น นี่คุยให้ตัวเองไหมเนี่ย กินเล็ก ๆ ก็พอแล้ว อาหารจานเดียวมันก็อิ่มตายห่าแล้ว 

ค่อย ๆ ฟัง แล้วก็จะพูดให้นิ่มและสุภาพ ทุกอย่างมันมีเหตุผลประกอบกันและกันหมดนะ พี่มองโลกอย่างเข้าใจหมด คนนี้เป็นคนที่ไทยรัฐวางตัวเป็นหัวหน้าข่าวภูมิภาคมาตั้งแต่ก่อนคนที่ถูกยิงตายอีก ถ้าพี่ประกิตไม่เป็นอย่างที่พี่ประกิตเป็น พี่ตายไปหลายรอบและหลายเรื่อง

นี่เข้าเรื่องอุดมการณ์แล้ว คืออย่างนี้ คอลัมน์ที่กราดเกรี้ยวในทัศนะพี่เนี่ย ไอ้พวกที่เขียนหนังสือกราดเกรี้ยวโจมตีมันแบล็คเมล์ตำรวจเอาตังค์ ไม่ต้องบอกว่าใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร 

พี่รังเกียจฝังใจ จะติจะชม ก็เอากันซื่อ ๆ อ่อนหวาน กระแนะกระแหน ประชดประชันใช้ พี่ไม่มีมุกในการดุดันเหี้ยมหาญ แล้วรู้ด้วยว่าพวกก้าวร้าว พวกแบล็คเมล์หากิน อันนี้ความคิดเฉพาะเรื่องนั้นนะ 

เธอก็มองพี่ลึก ๆ แล้วพี่อยู่อย่างไรเงินเดือนน้อย คุณกำพล วัชรพล เขาให้บ้าน คุณสราวุธ วัชรพล เขาให้รถ พ่อให้บ้าน ลูกให้รถ มันเป็นเทคนิคหนึ่งในการเลี้ยงคน แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว พ่อ (กำพล วัชรพล) ให้บ้าน หยี (สราวุธ วัชรพล) ให้รถมาคันหนึ่ง เปอโยต์นี่ 20 ปี แล้ว มันน่าจะให้คันใหม่กูแล้ว ไม่เห็นให้กูเลย กูจะไปขอใครก็ไม่ได้ ทีนี้ เธอแปลกใจเหรอ เรื่องคนไม่รับเงินเนี่ย เขารู้กันทั้งนั้น เสียงดังกล้าโม้ กล้าด่า กูอายมึงอย่าเอาเงินมาให้กู มันทุเรศ ดูถูกกู เคยมีเอามาใส่ในรถ พี่บอกไปทำนองว่า กูอายมึงเอาไปเหอะ อย่าเอามา 

นอกเรื่องแต่เธอต้องฟังแล้ว นายกำพล วัชรพล เรียกไปให้บ้าน พี่ถูกซื้อด้วยบ้านหลังนี้ที่อยู่จนถึงวันนี้ ซื้อโดยไทยรัฐ ก็นายกำพลให้บ้าน 

แล้วรู้ไหมทำไมไม่รับตังค์ ด้วยเหตุผลพี่ประกิต ถ้าคนมันให้ก็รู้อยู่แก่ใจว่านายเขาสนิทกัน เดี๋ยวมันกระซิบกัน มีลูกจ้างมากมายที่ถูกปลดไป เผลอๆ ไปรับเงินบริษัทที่เจ้านายตัวเองเป็นเจ้าของ ไม่ต้องเล่า มีตัวจริงเยอะมาก นายกูเขาสนิทกับมึงจะตาย มึงไม่ต้องมาให้กูหรอก 

พี่ยังไม่ตอบเธอ เมื่อกี้อ้อมไป ไอ้ตัวที่มีชื่อเป็นตัวแจกเงิน มันมองพี่มันกลัวพี่ พี่โชคร้ายอยู่ในเงาของแสงพระอาทิตย์พอดี ทุกคนกลัวว่ารู้ถึงหูคุณหยี (สราวุธ วัชรพล) กูก็จนทั้งชาติ พวกมึงไม่กล้าให้กูเลย ดีไปอย่าง

หยี (สราวุธ วัชรพล) ไทยรัฐ เลี้ยงพี่ด้วยวิธีไหน อ๋อให้หน้า รู้ว่ามันอยากเขียนอยากดัง อยากเขียนกิเลน กูให้กิเลน อยากเขียนหน้า 4 กูให้หน้า 4 ไปที่ไหนมึงกร่าง หลายประเทศ อาชีพสื่อมวลชนนั้นเงินเดือนต่ำมาก แต่อยู่ได้ด้วยความภาคภูมิใจ

คำตอบก็คือว่า เธอสามารถจะทำตัวเป็นอิสระได้หรือไม่ วันนี้หนังสือพิมพ์เล็กลง ต้องง้อโฆษณา จบ สมัยก่อนเราไม่มี เราแอ็คมาก ผมไม่รับเลย เพราะผมอดสู ผมเป็นนักข่าว ยิ่งสมัยก่อนไทยรัฐกร่าง ดัง ใครจะมาเลี้ยงกูวะ 

พูดตรงๆ หนังสือพิมพ์ เขาให้หากินเอง เป็นข้อมูลเล็ก ๆ ที่เราได้มา เขาได้มาอย่างไร เราไม่รู้ แต่นิสัยอย่างพี่ หากินเองไม่เป็นไง

ทุกเรื่องมีเหตุปัจจัยหมด อาชีพสื่อ พี่เปรียบเทียบ ชีวิตกูนี่บ้านหลังคารั่ว กูยังหาช่าง หมดเงิน 8 หมื่น กูยังหาตังค์เลย ทำไมกูจนวะ กูดังโคตร ๆ พี่ถอยหลังไปนึกถึงนักข่าวที่ ไปที่ไหนไปแบมือขอเลขาฯ จังหวัด ขอพ่อค้า ขอนักการเมือง ทำข่าวเสร็จเอาตังค์เสร็จรับตังค์ บางคนไม่ใช่แค่รับตังค์ แต่ไปเดินขอ บางคนตั้งเป็นค่าตัวก่อนไป เข้าใจอย่างถี่ถ้วน เมื่อองค์กรเริ่มต้นด้วยการกดขี่กัน ไม่ให้มาตรฐานอย่างยุติธรรมกับเขาเช่นนี้ 

พี่ยังเชื่อว่าหนังสือพิมพ์ประเทศไทย สื่อประเทศไทย มันไม่พอดีกับผู้ใช้แรงงานหรอก 

ปัญหาแรงงานสื่อมวลชน

พี่อยู่กับพวกเขามาจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็เขาไม่มีจะกินกัน การจ้างของเจ๊กแป๊ะที่เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ มันไม่เคยยุติธรรมกับแรงงานและสภาพชีวิตที่นักข่าวได้ เมื่อกี้เล่าว่านักข่าวมันจนโซ ขอทาน น่าละอายใจมาก ที่พี่พูดเสียงดังเพราะกูเป็นคนที่ยืนอยู่ได้โดยไม่ขอมึง

ตอนที่มีข่าวเขาจะย้ายตำรวจทั้งกระบิ พี่ถูกส่งไปทำงาน พี่มารู้ทีหลังว่าเขาเลี้ยงนักข่าว มีผู้หญิงปรนเปรอ พี่จ่ายค่าโรงแรมเอง ทำข่าวเอง พี่ก็สงสัย อ๋อเกมนี้ การเมืองเขาจะย้ายตำรวจทั้งโขลง ไม่ว่าสถานการณ์ไหน พี่ก็ไม่เคยรับตังค์จากใคร แม้ว่าจะจนแค่ไหน เป็นคาแรกเตอร์ส่วนตัวที่ทะนงนะ เป็นคาแรกเตอร์ส่วนตัวที่ทะนงมาก ๆ

ก่อนมาอยู่เดลินิวส์ ไทยรัฐ เพื่อนที่เราทำข่าวส่งให้ เขาไม่ให้ตังค์เราเลย เล่าไม่ได้ร้องทุกข์ พูดเรื่องนี้มานับครั้งไม่ถ้วน เพื่อจะบอกว่า ความเป็นจริงที่เธอมาอยู่ในกลไกบริษัทมาตรฐานวันนี้ เธอไม่เคยเจออย่างนี้ แล้ววันนี้ยังมีซอกมุมแบบนี้อยู่ทั้งประเทศ เธออย่าแปลกใจว่า ทำไมจึงมีการขอเงินนักการเมือง ขอเงินตำรวจ 

ตำรวจเป็นตัวที่ถูกไถที่สุดของนักข่าว แล้วตำรวจพร้อมจะให้ เพราะตังค์มันเยอะ สมัยพี่เป็นนักข่าวตระเวนปี 2518 - 2519 มันกลายเป็นว่า มีสื่อเป็นอาชีพ เงินเดือนก็รับไปน้อย ๆ พี่ก็สงสัย ทำไม พี่ปาดน้ำตาร้องไห้ มีช่างภาพคนหนึ่งเป็นเด็กห้องมืด อ๋อ เงินเดือนกูเท่าเด็กห้องมืด นี่กูนักรบระดับขุนพลนะเนี่ย

เงินเดือน 2,100 นี่คือประกิตที่ไม่รับตังค์ แต่ยังมี 2,100 บาท ตอนนั้นทองบาทละ 400 ถ้าไม่เข้มแข็งอย่างพี่ ก็ไปขอตังค์เขา นี่พวกผีที่มาเกาะสื่อ มีตัวจริงอยู่แรงไปที่จะบอกว่ากี่ฉบับ พี่เสริมไทยรัฐไม่รับตังค์ ประกิตเดลินิวส์ไม่รับตังค์ เดลิไทม์ไม่รับตังค์ นอกนั้นเดินขอตังค์ตำรวจ

กูนอนของกู กูกินของกู กูจ่ายของกู แล้วใครไถต่อหน้าก็โกรธด้วย อายแทน แล้วคนที่อยู่กับหนังสือพิมพ์อย่างเดียว มันมีไหม ถ้าจ้างดีอยู่ดีอย่างพวกเธอ เธอนี่ใส ไม่รู้ว่าโลกมันสกปรกโสมมไปทุกขุมขน บังเอิญพี่เป็นคนบรรลุ เห็นประโยชน์ในคนเลว 

แล้วอยู่ได้ไง จน ๆ อย่างนี้ บ้านเล็กโทรม ๆ หลังคารั่วอยู่ เล่าให้รู้ว่าเหลี่ยมของความชั่วมันมี และเหตุของความชั่วมันก็มี 

ประกิต ใน 6 ตุลา 2519

เธอสังเกตหรือเปล่าว่า ฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาพี่ไม่เกี่ยว มนุษย์คือมนุษย์ เรารักกันใช่ไหม

รู้จัก ‘ดาวสยาม’ ไหม คนรักเจ้าเขาไม่ทำกันอย่างนี้หรอก คนรักเจ้าเขาไม่เอาเจ้าเป็นอาวุธไปเที่ยวทิ่มคนอื่นหรอก

ก่อนวันที่ 6 ตุลา 2519 สามวันสามคืนนั้นนัวเนียอยู่ วันแรกอยู่ข้างหอประชุมจุฬาฯ เห็น ‘อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’ นั่งอยู่ รักแกเพราะเป็นนักกลอน 

ก่อนมาธรรมศาสตร์ ไปทำข่าวที่จุฬาฯ ‘สุธรรม แสงประทุม’ เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยอยู่ พี่สัมภาษณ์สุธรรมวันที่ 3 ตุลา 2519 “คุณจะชุมนุมไหม คือถ้าชุมนุมก็ตาย เพราะว่ากระทิงแดงนี่ป่วนสุดขีดอยู่แล้ว” เวลาพี่ถามพี่จะถามแรงถามตรง ถามแบบคนไม่ซ้าย มันจะบาดใจเลยจ้องหน้า พี่อย่างนี้แหละ ไปที่ไหนก็ผ่าโลกผ่าเหล่าเขาอย่างนี้แหละ

สุธรรมบอกว่า เดี๋ยวต้องรอผลประชุมที่ศาลาพระเกี้ยวก่อน นั่นประมาณสักเที่ยงกว่า ๆ 

พี่ประกิตดูถึงเวลาพี่ก็ตีรถเข้าไปเขียนข่าวที่เดลินิวส์สี่พระยาใกล้ ๆ เขียนด้วยมือ ไม่มีใครกล้าแก้ รีไรต์มือดีนั่งโต๊ะปั๊บ บอกรีไรต์ว่าจดข่าวไหม เขาบอก มึงเขียนเอง โม้นะ นี่กร่างมาก ที่เขียนเองถ้าสมัยนี้คุณส่งไปร้อย มันได้ลง 30 คำ สมัยพี่ พี่เขียนจะต้องมีประเด็น

พี่เขียนว่าคุณสุธรรมบอกว่า รอผลการประชุมที่ศาลาพระเกี้ยวข้างบนนั้นก่อน

หนังสือพิมพ์ออกสองโมงสี่สิบห้า เปียก ๆ พี่ก็ตีรถมานั่งเฝ้าม็อบต่อ ธรรมศาสตร์จะเป็นอย่างไรไม่รู้ มาเริ่มต้นที่จุฬาฯ สุธรรมอยู่จุฬาฯ 

ต่อมา อุทิศ นาคสวัสดิ์, อุทาน สนิทวงศ์ ยานเกราะก็ออกอากาศ บอก เดลินิวส์ออกมาแล้วยังเปียก ๆ มือ ตอบข้อถามที่ว่า คุณจะชุมนุมหรือไม่ สุธรรม แสงประทุม บอกว่า “ต้องรอคำสั่งจากเบื้องบนก่อน” 

พี่ประกิตก็อึ้ง นี่กูเขียนกับมือ พี่ถึงนำร่องว่าพี่เขียน กูเขียนเองทุกบรรทัดสด ๆ เปียก ๆ เขียนเมื่อสองโมงเมื่อกี้นี้เอง นี่สามโมงหนังสือพิมพ์ออก แล้วก็ลูกคู่ก็จะบอกว่า นี่การเรียนรู้ใหม่นะ “อ้อ ไอ้เบื้องบนของมันก็คือไอ้คอมมิวนิสต์ญวน พวกคอมมิวนิสต์แกว” กูไม่ได้เขียน มึงไปไกลแล้วนะ เขาปลุกเร้ากันอยู่ที่ยานเกราะ พี่ก็มองภาพเป็นการเรียนรู้ อ๋อการบิดเบือนมันเป็นเช่นนี้เอง อย่าลืมว่านักข่าวบ้านนอกใส ๆ นะ แค่ปี 1 ปี 2 ในกรุงเทพฯ ส่วน 5 ปีในยะลา เรียนรู้เฉพาะปัญหาภาคใต้ 

ทำข่าว 6 ตุลา 2519 พี่โทรฯ บอกโรงพิมพ์ว่า ท่าพระจันทร์ไม่มีคน ท่าพระอาทิตย์ไม่มีคน ให้เอา ‘วิชิต แก้วเกื้อ’ ไปอยู่ท่าพระอาทิตย์นะ ผมอยู่ท่าพระจันทร์เอง มารู้ทีหลัง เชลยในธรรมศาสตร์ทั้งหมด ถูกต้อนไปนอนราบกับพื้นถนน (บริเวณท่าพระจันทร์) จากหน้าประตูธรรมศาสตร์ จนไปถึงท่าช้าง นอนราบกับพื้น

เรื่องของพี่อันนี้ เพิ่งมาตีความแล้วเขียนในคอลัมน์ เพิ่งมาตีความ อ๋อ เชลยที่อึงคะนึงกันเมื่อคืน ‘ศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล’ กับ ‘หมอมิ้ง’ (นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) นอนด้วยกัน เพิ่งมารู้จากคอลัมน์ว่า แว่นธงชัยแตก หมอมิ้งเอาแว่นใส่ให้ธงชัย คนพวกนี้อยู่กับพี่ เพราะว่าบนฟุตปาธ มีทหารถือปืนเดิน บนพื้นนั้นนอน 

ประเด็นที่เล่า แล้วขอเล่าซ้ำ เธอฟังไปหรือยัง มีเสียงเจ้าหน้าที่บอก “ไอ้สัตว์กูสั่งให้มึงเลื้อย ไม่ใช่ให้มึงคลาน” สามร้อยเมตร คนทั้งธรรมศาสตร์นอนอยู่บนพื้นหมด แล้วพี่เลยกลายเป็นคนเดียวตรงนั้น สุธรรม แสงประทุม ออกมาขึ้นรถ ประมวล นีละคุปต์ เป็น ตำรวจ สน. ชนะสงคราม จำแม่นอีก มันไม่ให้ใครออก เด็กต้องว่ายน้ำกันมา 

ในพื้นที่คนนอน ก็มีเด็กกลุ่มหนึ่งคงเล็ดลอดกันหลุดมาจากธรรมศาสตร์ มาเติมประมาณ 30 คน วิ่งกรูกันขึ้นมา คนหน้าเป็นผู้ชาย บอก “ผมยอมแล้วครับ ยอมแล้วครับ” กล้องพี่พร้อม หลังปี 2518 เพิ่งได้รางวัลภาพจากเชียงใหม่ พอมีการยกปืน พี่ก็ยกกล้องตาม 

เราเป็นนักข่าวคนเดียวตรงนั้น ท่าพระจันทร์ 6 ตุลา 2519 รูปที่ได้มาที่ไปอัดที่เดลินิวส์เนี่ย เป็นรูปเขาล้มลงกับพื้นแล้ว ตำรวจจับพลิกหลัง แล้วลาก รูปนี้ถูกขโมยมาขาย อัดขายอัดพิมพ์ ลากหลัง ลากเอามากองที่ตีนพี่ คนที่บอกว่ายอมแล้ว พี่เขียนถึงแบบโหยหาว่า พี่ก็โวยวายใส่ตำรวจทหารว่า ปล่อยให้เขาเจ็บอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร เอาเขาส่งโรงพยาบาลสิ 

พี่ฝันว่าเด็กคนนี้คงหายแล้ว เขียนคอลัมน์ถึงซ้ำสามครั้ง คิดว่าดังอยู่ในคอลัมน์กิเลน ส่งข่าวมาบ้างสิเพื่อน เธอรู้ไหม พี่รู้จากงาน 6 ตุลา 2565 (นิทรรศการ 6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ โดย ‘โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา - October 6 Museum Project’) เขาเป็นเด็กรามคำแหงปี 2 มีชื่อมีนามสกุลเรียบร้อย มาชุมนุมอยู่ในนั้น แล้วเป็นคนถูกยิงที่สะโพก กางเกงยีนส์ขาด ญาติพี่น้องมาขอกางเกงยีนส์ตัวนั้นตัวเดียว จากไหนเมื่อไหร่ไม่รู้ เอาไปเป็นอนุสรณ์ที่บ้าน แล้วกลุ่มรวบรวมข้อมูลเรื่อง 6 ตุลา ไปตามขอยีนส์ตัวนั้นมาเป็นหลักฐาน 6 ตุลา เก็บเช่นเดียวกับเก็บบานประตู 2 บานที่นครปฐม ช่างไฟฟ้าถูกแขวนคอ เหตุการณ์นั้นพี่ก็ไปทำข่าว 

ส่วนเด็กคนที่พี่ฝันว่ามึงมาหากูหน่อย เขาถูกยิง แล้วพี่ถ่ายรูปเขา แล้วรูปเขามีมากมายลงในหนังสือ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ของพี่ลง 4 รูปหน้า 1 พี่มองโลกในแง่สวย พี่ไม่ได้เชื่อมกับด้านสนามหลวงกับไอ้แกลบ (ปรีชา การสมพจน์) ไอ้แกลบมันเล่าว่า ที่สนามหลวง เดี๋ยว ๆ ก็มีการไปอุ้มศพมา ที่มาเรียงเป็น 5 ศพ ไอ้แกลบมันถ่ายแวบแล้วมันไปเลย มันไหวดี แกลบ ปรีชา การสมพจน์ เจ้าของภาพตอกอก (ภาพรางวัลอิศรา อมันตกุล ปี 2519) 

เดาว่า เด็กคนนี้ถูกโยน เอาไปฆ่าทิ้งที่สนามหลวงกับศพที่ถูกแขวนคอ มีชื่อแล้วนะ เพราะว่ากลุ่มรวบรวมข้อมูล 6 ตุลา ตามมาว่า ชื่อนี้อยู่อีสาน พี่เขียนไปแล้ว คือพี่เพ้อฝันถามว่า ส่งข่าวมาให้พี่บ้างสิ กูช่วยมึงให้ไปโรงพยาบาล พี่มองโลกสวยไป เลือดมันทะลัก ร้องโอย ๆ อยู่ตรงตีนพี่ พี่ยืนสะพายกล้องอยู่

พี่ไม่รู้ และฝันว่าเขาคงไปโรงพยาบาลและหายแล้ว แต่เพิ่งมารู้ว่า เขาตายไปแล้ว ญาติมาขอกางเกงยีนส์ ไปเป็นหลักฐาน แสดงว่ามีศพ สรุป พี่ต่อจิ๊กซอว์ว่า เขาไม่ได้เอาไปรักษา เขาเอาไปฆ่า ฆ่ายังไง พี่ไม่รู้ เพราะมันมีช่วงเวลาที่พี่ต้องเข้าโรงพิมพ์ไปเขียนข่าวก็ราว ๆ สัก พี่คิดว่ามี 07.30 น. เพราะช่วงเวลานั้น ราว ๆ 05.00 - 06.00 น. พี่อยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน เจอใครบ้างเล่าได้หมด ในธรรมศาสตร์ก็มีการเคลียร์พื้นที่ เสียงปืนโป้งเป้งยังมีอยู่

ตั้งแต่ตีสี่ตีห้า พี่อยู่หมดที่ยิงปั้ง ๆ เสียงธงชัยกำลังพูด ก้องอยู่ในหู กับเสียงพี่ชายอีกคนหนึ่ง สลับกันพูดพี่น้อง ส่วนหมอมิ้งก็ยังเด็ก ๆ หมอมิ้งกับธงชัยก็อยู่ในแถวที่พี่เดินไป นี่เรื่องเล่าทีหลัง เธอเห็นไหมว่า 300 เมตร จากท่าพระจันทร์ไปศิลปากร ในบรรยากาศยิงกันปึงปังอย่างนั้น ไม่มีกล้องไม่ได้ มึงตาย เขายิงคนเมื่อกี้ที่พี่เล่า ยกมือว่ายอมแล้ว

ตั้งแต่ท่าพระจันทร์ไปถึงศิลปากร คนมันเต็มไปหมด หมอมิ้งด้วย ไอ้ป้อม (นิธินันท์) ด้วยก็ว่าไป เด็กพวกนี้ที่ว่ายอมแล้วเนี่ย เขาก็มาเติมที่ตรงนั้น สมมติมี 3 พันคน มาเติมอีก 30 เขาสั่งให้ขยับตัว เขาสั่งอะไรไม่รู้ พี่หันไปอีกที ได้ยินเสียงตำรวจหรือทหารที่ถือปืน กระทืบหลังเด็ก “ไอ้สัตว์กูสั่งให้มึงเลื้อย” หมายถึงว่าให้ไถตัวไป ไม่ให้ยกเข่าคลาน หูพี่ตาพี่ หมอมิ้งก็อยู่แถวนั้นแหละ แต่เยอะเหลือเกิน คนมากเหลือเกิน ก็หมายความว่ามันโหดร้ายกันมาก 

สถานการณ์เปลี่ยน ข่าวเปลี่ยนช่วงเย็น 6 ตุลา 2519

ตอนพี่มาเขียนข่าวที่เดลินิวส์เสร็จ ข่าวถูกเปลี่ยนหมด ได้ยินเสียงหัวหน้าข่าวประกาศบอกโรจ (โรจ งามแม้น - เปลว สีเงิน) ลมการเมืองมันเปลี่ยนทิศแล้วลงตามประกิตไม่ได้แล้ว หนังสือพิมพ์ถูกสั่งปิดอีก 3 วัน เขาสั่งปิด ลูกเสือชาวบ้านชุมนุมอยู่ เราไม่เห็นอีกแล้ว เราก็ถูกสั่งปิด เราก็ไปอยู่โรงพิมพ์ ไม่ได้ออกไปข้างนอก เขาสั่งปิดหนังสือพิมพ์ แต่รูปหน้า 1 หลุดขึ้นมาแล้ว รูปของพี่รูปนี้ก็ลง รูปที่ลากเด็กคนที่ตาย 

เมื่อเขาสั่งปิดหนังสือพิมพ์แล้ว พี่ได้ยินว่าข่าวพี่ถูกเปลี่ยน พี่ก็ไม่ได้ดู ก็เปิดหนังสืออ่านบ้าง แต่ว่าไม่ได้เข้มข้นกับงานของตัวเองว่างานของตัวเองเป็นอมตะอะไร แต่รูปที่ตัวเองถ่ายได้ลง 3 - 4 รูป มีรูปหนึ่งที่ถูกยิงแล้วคลั่ง นี่รูปพี่ แล้วพี่อยู่ เด็กถูกยิงจากกลางสนามแล้วก็หลบเข้ามุมตึก จากนั้นมีการต้อนไปข้างนอก แล้วพี่ไปอยู่ข้างหลัง

ฃพี่เขียนบอกประชาชนไป พี่ก็เขียนทุกเรื่อง ธงชัยพูดอะไรอย่างไร ยาว 2 แผ่น ส่วนภาพนี้รูปหน้า 1 หลุดขึ้นมาแล้ว รูปที่พี่ถ่ายก็ลง รูปเด็กคนที่ตายถูกลาก

ตอนแรกพี่คิดว่าเขารอด เพราะมองโลกในแง่ดีว่า ตำรวจทหารคงเอาไปส่งศิริราช ก็มาต่อจิ๊กซอว์เอา 40 ปีผ่านไป รูปที่ถูกลากขาลากด้านหลัง 2 คน เดิมทีแรกดึงคนเดียว แล้วอีกคนมาจับอีกมือหนึ่งแบบลากแบบลากหมู 

‘กิเลน ประลองเชิง’ ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยุคจอมพลจนถึงยุคโซเชียลมีเดีย

พี่เล่าต่อได้ไหม สิบกว่าปีที่แล้วพี่ไปงานของลูกน้องที่เมืองนนทบุรี มันเปิดเผยได้ไหมเนี่ย ระดับหัวหน้าศาล ผู้พิพากษามาเล่าว่าตอนนั้นเป็นตำรวจหรือทหารหรือเป็น ตชด. เป็นคนในเครื่องแบบ เล่าด้วยความเสียใจเล็ก ๆ ว่าทำหน้าที่อยู่ตรงนั้น คุยกับพี่ แต่พี่หวังว่าจะไม่ใช่คนที่พูด “ไอ้สัตว์กูสั่งให้มึงเลื้อยไม่ใช่คลาน” 

สะเทือนใจจังเลย ไม่พูดว่าร้องไห้หรือไม่นะ เราก็เป็นผู้ชาย ไม่รู้ใครหรอก เพราะพี่มาจากยะลา เป็นนักข่าวใหม่ เพียงแต่ฮอต แรง เร็ว