‘โรคนอนไม่หลับ’ จากกรรมพันธุ์ครอบครัว คนอยากนอนไม่ได้นอน ราคาที่ต้องจ่ายคือ ‘ชีวิต’

‘โรคนอนไม่หลับ’ จากกรรมพันธุ์ครอบครัว คนอยากนอนไม่ได้นอน ราคาที่ต้องจ่ายคือ ‘ชีวิต’

รู้จัก ‘โรคนอนไม่หลับจนถึงแก่กรรมที่เป็นกรรมพันธุ์ในครอบครัว’ ที่ทำให้คนอยากนอนไม่ได้นอน และราคาที่ต้องจ่ายคือ ‘ชีวิต’

  • โรคนอนไม่หลับจนถึงแก่กรรมที่เป็นกรรมพันธุ์ในครอบครัว ยังไม่มียานอนหลับตัวไหนสามารถช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นยานอนหลับชนิดอ่อน หรือยาระงับประสาทฤทธิ์แรง ๆ 
  • ปัจจุบันเริ่มมีการทำความเข้าใจสาเหตุเบื้องหลังโรค FFI มากขึ้น โดยพบว่าตัวการคือความผิดปกติของยีนที่ชื่อว่า ‘PrNP’ ซึ่งย่อมาจากโปรตีนพรีออน (prion protein) ที่เราทุกคนต่างก็มีอยู่ในสมอง 

เมื่อเกิดอาการ ‘นอนไม่หลับ’ บางคนปล่อยเลยตามเลย คิดแค่ว่าถ้าป่วยก็ค่อยไปแก้ปัญหาเอาปลายทาง แล้วปล่อยให้ตัวเอง ‘ตาค้าง’ ไปทั้งคืน ก่อนจะลุกไปทำงานด้วยสภาพเบลอ ๆ ลอย ๆ 

หรือบางคนอาจมีความเข้าใจผิด ๆ คิด (ไปเอง) ว่าตัวเอง ‘มีความสามารถ’ ในการอดหลับอดนอน เลยนั่งทำอะไรต่อมิอะไรทั้งคืนโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพในระยะยาว 

แต่สำหรับชายที่ชื่อว่า ‘ไมเคิล คอร์ก’ เขาแตกต่างจากคน 2 ประเภทที่กล่าวมา เพราะตัวเขานั้นอยากจะนอนหลับให้ได้ใจจะขาด แต่ร่างกายไม่สามารถนอนหลับได้!

ก่อนหน้านั้นเขาเป็นผู้ชายที่ใช้ชีวิตปกติ ทำงานเป็นครูสอนดนตรีที่โรงเรียนมัธยมปลายในนิวเลน็อกซ์ ซึ่งอยู่ถัดไปทางใต้ของชิคาโก แต่งงานสร้างครอบครัวกับหญิงสาวที่ชื่อ ‘เพนนี คอร์ก’ 

แต่พอเข้าวัย 40 ปี โรคนอนไม่หลับก็เริ่มเข้ามาครอบงำชีวิตของเขา ตอนแรกเขาคิดว่าที่ตัวเองนอนไม่หลับเพราะ ‘เสียงกรน’ ของเพนนีที่นอนเคียงข้างกันบนเตียง ฝ่ายภรรยาเลยอัปเปหิตัวเองไปนอนที่โซฟาแทน เพื่อให้สามีได้นอนหลับพักผ่อนเต็มที่

แต่ปรากฏว่าผ่านไป 10 คืน ไมเคิลก็ยังนอนไม่หลับอยู่ดี มีแต่จะแย่ลงเรื่อย ๆ ทีนี้ก็น่าจะพอสรุปได้คร่าว ๆ แล้วว่า อาการนอนไม่หลับของเขานั้น ไม่เกี่ยวกับสิ่งรบกวนอย่างเสียงกรนของภรรยาแต่อย่างใด

ผ่านไปเป็นเดือน ไมเคิลไม่สามารถอยู่เฉยได้ เขาตัดสินใจเข้ารับความช่วยเหลือจากหมอ ซึ่งในตอนแรกไม่มีหมอคนไหนเลยที่สามารถระบุสาเหตุการนอนไม่หลับของไมเคิลได้ แถมหมอบางคนยังวินิจฉัยว่าเขาเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 

นานวันเข้า โรคนอนไม่หลับของไมเคิลรุนแรงถึงขั้นเขา ‘นอนไม่หลับอย่างสิ้นเชิง’ ไม่แม้แต่พริบตาเดียว และไม่มียานอนหลับตัวไหนสามารถช่วยเหลือเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นยานอนหลับชนิดอ่อน หรือยาระงับประสาทฤทธิ์แรง ๆ 

ตอนนั้นใครที่ได้เห็นหน้าเขาต่างก็พากันตกใจ เพราะดวงตาของเขานั้นอ่อนล้าเหลือเกิน เขากะพริบตาช้าจนคนต้องลุ้นแล้วลุ้นอีก ผ่านไป 8 สัปดาห์ ความสามารถด้านความคิดของเขาก็เลือนหายไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับร่างกายที่เสื่อมสภาพ ทักษะการเคลื่อนไหวของเขาบกพร่องจนแม้แต่การก้าวเดินยังเป็นเรื่องที่ยากลำบาก

ค่ำวันหนึ่งที่เขารับหน้าที่วาทยกรควบคุมการแสดงวงออร์เคสตราของโรงเรียน เขาต้องใช้เวลาหลายนาทีกว่าจะเดินขึ้นไปบนแท่นยกพื้นของวาทยกร โดยมีไม้เท้าช่วยพยุงไปตลอดทาง 

ครบ 6 เดือน จากครูดนตรีที่มีความสุขจากเสียงเพลง เขากลายเป็นคนป่วยติดเตียง หายใจรวยรินใกล้สิ้นลม แม้จะอายุไม่มาก แต่สภาพทางประสาทวิทยาของเขากลับคล้ายคนชราที่เป็นโรคสมองเสื่อมระยะสุดท้าย อาบน้ำหรือสวมเสื้อเองยังไม่ได้ หนำซ้ำยังเกิดอาการประสาทหลอนและหลงผิดบ่อยครั้ง ความสามารถในการสื่อสารภาษาแทบสูญสิ้น ทำได้เพียงขยับศีรษะเบา ๆ นาน ๆ ครั้งถึงจะพูดออกมาเป็นคำที่ไม่ค่อยชัด

แล้วในที่สุดความสามารถทางร่างกายและความคิดจิตใจของไมเคิลก็ยุติลงอย่างสิ้นเชิง หลังอายุครบ 42 ปีได้ไม่นาน เขาจากไปด้วยความผิดปกที่สืบทอดทางพันธุกรรมชนิดหายาก ซึ่งมีชื่อว่า ‘โรคนอนไม่หลับจนถึงแก่กรรมที่เป็นกรรมพันธุ์ในครอบครัว’ หรือ ‘FFI’ (Fatal Familial Insomnia) 

ข่าวร้ายคือยังไม่มีวิธีรักษาความผิดปกตินี้ และมันไม่มีทางหายขาด ผู้ป่วยทุกคนจะเสียชีวิตภายใน 10 เดือน หรือไม่ก็เร็วกว่านั้น มันจึงกลายเป็นหนึ่งในภาวะที่ลึกลับที่สุดในบันทึกประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ ที่ทำให้เรารู้ว่า การอดนอนคร่าชีวิตมนุษย์ได้

ปัจจุบันเริ่มมีการทำความเข้าใจสาเหตุเบื้องหลังโรค FFI มากขึ้น โดยพบว่าตัวการคือความผิดปกติของยีนที่ชื่อว่า ‘PrNP’ ซึ่งย่อมาจากโปรตีนพรีออน (prion protein) ที่เราทุกคนต่างก็มีอยู่ในสมอง 

โดยความบกพร่องทางพันธุกรรม จะไปกระตุ้นให้ยีน PrNP กลายพันธุ์ แล้วแพร่กระจายออกไปคล้ายไวรัสโปรตีน พุ่งเป้าทำลายสมองบางส่วน และเร่งให้สมองเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว 

บริเวณที่เจ้าโปรตีนตัวนี้โจมตีคือ ‘ธาลามัส’ ซึ่งเป็นประตูความรู้สึกภายในสมองที่ต้องปิดสนิทเพื่อให้การตื่นสิ้นสุดลง และการนอนหลับเริ่มต้นขึ้น 

มีการชันสูตรพบว่าสมองของผู้ป่วย FFI ระยะแรก บริเวณธาลามัสมีรูพรุนแทบจะคล้ายก้อนชีสสวิส เพราะโปรตีนพรีออนจะไปเจาะรูทั่วธาลามัส และทำลายโครงสร้างเสียย่อยยับ โดยเฉพาะตรงชั้นนอกของธาลามัส ที่ก่อตัวเป็นประตูความรู้สึกที่ควรปิดสนิททุกคืน ผลก็คือประตูความรู้สึกนั้นต้องอยู่ในจุดที่ ‘เปิดถาวร’ หมายความว่าผู้ป่วยจะไม่มีวันปิดสวิตช์สติรับรู้โลกภายนอกได้เลย 

พวกเขาจึงไม่มีทางเข้าสู่สภาวะหลับทั้งที่ตัวเองอยากจะหลับใจจะขาด 

ระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์พยายามคิดค้นวิธีรักษาโรคนี้ พวกเขาก็ได้แกะรอยมรดกตกทอดของ FFI ย้อนกลับไปได้หลายชั่วอายุคน โดยสายพันธุกรรมนี้สืบย้อนกลับไปยังยุโรป โดยเฉพาะ ‘อิตาลี’ ซึ่งมีครอบครัวผู้ป่วยโรคนี้อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามที่แหลมคมในแง่ ‘สุพันธุศาสตร์’ (การปรับปรุงลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์ให้ดีขึ้น) ว่า ถ้ายีนของครอบครัวบ่งชี้ว่าวันหนึ่งคุณอาจมีอาการนอนไม่หลับอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต คุณจะยังอยากสร้างครอบครัว มีลูกมีหลาน อยู่อีกหรือไม่?

ถ้าคุณยังกินอิ่มนอนหลับได้ ขอให้คุณนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่นะคะ 

 

อ้างอิง : แมทธิว วอล์กเกอร์, Why We Sleep : นอนเปลี่ยนชีวิต, แปลโดย ลลิตา ผลผลา, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ bookscape, 2563, หน้า 362

 

ถ้าสนใจเรื่องการนอนหลับอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น The People กำลังจะจัดงาน Shall We SLEEP? ถอดรหัสลับการนอน...เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในวันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ห้องคริสตัล บ็อกซ์ ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท กรุงเทพมหานคร ผู้สนใจเข้าร่วมงานลงทะเบียนได้ที่ https://www.eventpop.me/e/16043
.
ครั้งแรกของการเปิดประสบการณ์การนอนหลับที่จะช่วยเปลี่ยนให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นในทุกมิติแบบ 360 องศา ไม่ว่าจะเป็น
.
📌 Experience
การเปิดประสบการณ์โลกการนอนหลับอย่างมีคุณภาพในทุกมิติใน ‘Sleep Journey สำรวจเส้นทางนอนจาก DNA สู่ที่นอน เพื่อเช้าที่สดชื่นขึ้นทุกวัน’ ที่มีเวลาให้คุณได้ลองเข้าไปสัมผัสประสบการณ์การนอนหลับที่ดีขึ้นได้ถึง 1 ชั่วโมงเต็ม
.
📌 Expert
หลับตาแล้วรับฟังประสบการณ์การนอนผ่านเสียงไปพร้อมกับ ‘เสียงบำบัดประตูสู่การหลับลึกผ่านศาสตร์แห่งดนตรี’ โดย อาจารย์เมธี จันทรา นักดนตรีภาวนา ผู้สนใจและทำงานเรื่องเสียงมากว่า 20 ปี 
.
พิเศษกับเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘ถอดรหัสลับการนอน จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้นทุกเช้า’ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ และผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการนอน 
.
ปิดท้ายกับเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘อยากชวนเธอมานอน เปิดประสบการณ์การนอนหลับที่จะเปลี่ยนให้พวกเรามีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น’ โดยวิทยากรผู้ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับปัญหาการนอนที่จะมาถ่ายทอดวิธีการผ่านคืนวันอันเป็นนิรันดร์ไปด้วยกัน ดำเนินการเสวนาโดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้ประกาศและผู้ดำเนินรายการช่องออนไลน์ชื่อดัง ผู้ที่ประสบปัญหาการนอนไม่หลับมานานกว่า 12 ปี
.
📌 Exclusive
งาน on ground จำกัดจำนวนที่นั่ง พร้อมลุ้นรับรางวัลสุดพิเศษที่จะมาเป็นตัวช่วยให้คุณมีการนอนที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
.
📍 วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 14.00 - 17.00 น. ห้องคริสตัล บ็อกซ์ ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท กรุงเทพมหานคร ผู้สนใจเข้าร่วมงานลงทะเบียนได้ที่ https://www.eventpop.me/e/16043
.
💤 แล้วมานอนกันนะ