เมื่อ ‘ความฝัน’ เปรียบเสมือนการบำบัดยามค่ำคืน การนอนหลับจึงสำคัญ

เมื่อ ‘ความฝัน’ เปรียบเสมือนการบำบัดยามค่ำคืน การนอนหลับจึงสำคัญ

การฝันขณะหลับแบบ REM ถือเป็นการบำบัดยามค่ำคืนรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ฝันถึงประสบการณ์อันเจ็บปวดในช่วงที่เกิดเหตุ

  • งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การฝันขณะหลับแบบ REM ถือเป็นการบำบัดยามค่ำคืนรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากการฝันขณะหลับแบบ REM จะช่วยดึงความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าว หรือสะเทือนอารมณ์ ที่เราประสบในวันนั้นออกมา แล้วแทนที่ด้วยความมั่นคงทางอารมณ์เมื่อเราตื่นนอนในเช้าวันรุ่งขึ้น
  • มีเพียงผู้ป่วยที่เห็นได้ชัดว่าฝันถึงประสบการณ์อันเจ็บปวดในช่วงที่เกิดเหตุเท่านั้น ที่ได้รับการเยียวยาแก้ไขทางคลินิกให้รอดพ้นจากความสิ้นหวัง

“เวลาจะช่วยเยียวยาทุกสิ่ง” 

ประโยคคลาสสิกที่คนมักจะพูดกับผู้ที่กำลังเผชิญความเจ็บปวด ไม่ว่าจะอกหัก สูญเสียพ่อแม่ ประสบอุบัติเหตุ ตกงาน ถูกโกง หรือถูกหักหลัง ฯลฯ 

แต่รู้หรือไม่ว่า? มีงานวิจัยที่ล้วงลึกลงไปอีกว่า เวลาที่จะเยียวยาทุกสิ่งได้ดีที่สุดคือ เวลาที่เรา ‘ฝัน’ 

ขณะที่คนจำนวนมากรู้สึกว่าความฝันของตัวเองอาจเป็นลางบอกเหตุสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หรืออาจมีตัวเลขใดซุกซ่อนอยู่เพื่อรอการถอดรหัสเป็นเลขหวยงวดต่อไป ทว่าวิทยาศาสตร์ไม่เชื่อในแนวคิดทำนองนี้ แถมนักวิทยาศาสตร์บางคนยังเชื่อด้วยว่า ความฝันอาจไม่มีหน้าที่ใด ๆ ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับความร้อนจากหลอดไฟ และความฝันอาจเป็นเพียง ‘อนุปรากฏการณ์’ ที่ไร้ซึ่งประโยชน์หรือผลกระทบใด ๆ เป็นเพียงผลพลอยได้ที่ไม่ได้ตั้งใจของการหลับแบบ ‘REM Sleep’ (Rapid Eye Movement Sleep) ซึ่งหมายถึงช่วงการนอนที่มีการเคลื่อนไหวไปมาของดวงตาอย่างรวดเร็ว และสมองยังทำงานคล้ายกับตอนที่เราตื่นนอน 

แต่ถึงแม้จะเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ งานวิจัยในห้องทดลองด้านประสาทวิทยาของ ‘แมทธิว วอล์คเกอร์’ (Matthew Walker) ผู้เขียนหนังสือ ‘Why We Sleep : นอนเปลี่ยนชีวิต’ และนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ได้แสดงให้เห็นว่า ความฝันอาจทำหน้าที่สำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเราก็ได้

 

ความฝันเปรียบเสมือนการบำบัดยามค่ำคืน 

งานวิจัยของวอล์คเกอร์แสดงให้เห็นว่า การฝันขณะหลับแบบ REM ถือเป็นการบำบัดยามค่ำคืนรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากการฝันขณะหลับในระยะนี้ จะช่วยดึงความรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวหรือสะเทือนอารมณ์ที่เราประสบในวันนั้นออกมา แล้วแทนที่ด้วยความมั่นคงทางอารมณ์เมื่อเราตื่นนอนในเช้าวันรุ่งขึ้น 

สาเหตุเพราะว่าการนอนหลับแบบ REM เป็นช่วงเวลาเดียวในรอบ 24 ชั่วโมง ที่สมองปราศจากสารเคมีหลักที่เกี่ยวกับความเครียด ซึ่งก็คือ ‘นอร์อะดรีนาลีน’ (noradrenaline) อย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกันโครงสร้างหลัก ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความทรงจำก็ได้รับการกระตุ้นขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เราฝัน

หมายความว่า สมองขณะหลับแบบ REM กำลังประมวลผลประสบการณ์และสาระสำคัญจากความจำที่ชวนให้หงุดหงิดใจขึ้นมาใหม่ในขณะฝัน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ ‘ปลอดภัย’ และ ‘สงบ’ ในทางประสาทเคมี (นอร์อะดรีนาลีนระดับต่ำ) 

ข้อสรุปนี้ไม่ได้มาจากการทึกทักขึ้นเอง แต่มาจากการทดลองที่วอล์คเกอร์ ได้รวบรวมคนหนุ่มสาวสุขภาพดีมาจำนวนหนึ่ง แล้วสุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม จากนั้นให้ทั้ง 2 กลุ่มดูภาพที่สะเทือนอารมณ์ชุดหนึ่งระหว่างอยู่ในเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ พร้อมกับตรวจวัดปฏิกิริยาของสมองส่วนควบคุมอารมณ์ของผู้เข้าร่วมการทดลอง

12 ชั่วโมงต่อมา จึงพาผู้เข้าร่วมการทดลองกลับเข้าเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอแล้วให้ดูภาพที่สะเทือนอารมณ์ชุดเดิมอีกครั้ง

จุดสำคัญคือผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งจะได้ดูภาพในตอนเช้า และดูอีกครั้งในตอนค่ำ หมายความว่ากลุ่มนี้จะต้องตื่นตลอดเวลาระหว่างการดูภาพทั้ง 2 ครั้ง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะได้ดูภาพตอนค่ำ แล้วให้กลับไปนอน ก่อนจะมาดูภาพอีกครั้งในเช้าวันต่อมา 

ปรากฏว่ากลุ่มที่ได้นอนหลับคั่นเวลาก่อนเข้าเครื่องสแกนครั้งที่ 2 ให้ข้อมูลว่า อารมณ์รุนแรงนั้นลดลงอย่างมากเมื่อได้ดูภาพเดิมซ้ำอีกครั้ง นอกจากนี้ ระดับปฏิกิริยาในอะมิกดาลาซึ่งเป็นศูนย์อารมณ์ของสมองที่สร้างความรู้สึกเจ็บปวดนั้น ‘ลดลง’ อย่างมากและมีนัยสำคัญ ทั้งยังพบว่าหลังจากนอนหลับ สมองส่วนที่ควบคุมการใช้เหตุผลได้กลับเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ จึงช่วยรักษาระดับการระงับยับยั้งปฏิกิริยาทางอารมณ์ไว้ 

ในทางกลับกัน กลุ่มที่ตื่นอยู่ตลอดวันโดยไม่มีโอกาสนอนหลับและย่อยประสบการณ์เหล่านั้น ไม่แสดงให้เห็นการสลายปฏิกิริยาทางอารมณ์ลักษณะนี้เมื่อเวลาผ่านไป และเมื่อพวกเขาได้ดูภาพครั้งที่ 2 ปฏิกิริยาของสมองส่วนควบคุมอารมณ์ระดับลึกยังคงรุนแรง และแสดงอารมณ์ทางลบดังเดิม หรืออาจมากขึ้นด้วยซ้ำหากเทียบกับครั้งแรก พวกเขายังให้ข้อมูลว่า รู้สึกเจ็บปวดรุนแรงพอ ๆ กับครั้งแรกด้วย

การทดลองนี้สะท้อนให้เห็นว่า สารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจะลดน้อยลงระหว่างฝัน จึงอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เยียวยาทุกบาดแผลไม่ใช่กาลเวลาอย่างที่เราเคยเข้าใจ แต่เป็นช่วงเวลาที่หลับฝันต่างหากที่ทำให้เราได้ฟื้นตัวทางอารมณ์ และบางทีการนอนหลับก็อาจถือเป็นการเยียวยารูปแบบหนึ่ง

อ่านถึงตรงนี้ อย่าหลงดีใจว่าการนอนหลับฝันจะสามารถบรรเทาความเจ็บปวดให้ได้ ‘ทุกคน’ 

แค่หลับฝันยังไม่พอสำหรับบางคน

ดร.โรสลินด์ คาร์ตไรต์ (Rosalind Cartwright) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้ศึกษาเนื้อหาความฝันของผู้ที่แสดงสัญญาณของภาวะซึมเศร้าอันเนื่องมาจากประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ยากลำบากเกินบรรยาย พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า... 

“มีเพียงผู้ป่วยที่เห็นได้ชัดว่าฝันถึงประสบการณ์อันเจ็บปวดในช่วงที่เกิดเหตุเท่านั้น ที่ได้รับการเยียวยาแก้ไขทางคลินิกให้รอดพ้นจากความสิ้นหวัง โดยหายจากอาการทางจิตในอีก 1 ปีให้หลัง เมื่อผลทางคลินิกระบุชัดว่าไม่มีภาวะซึมเศร้าที่บ่งชี้ได้ 

“ส่วนผู้ที่ฝันแต่ไม่ได้ฝันถึงประสบการณ์อันเจ็บปวดที่พบเจอมา จะไม่สามารถก้าวผ่านเหตุการณ์นั้น และยังคงถูกกระแสคลื่นใต้น้ำอันทรงพลังของภาวะซึมเศร้าโหมซัดให้จมทุกข์ต่อไป” 

ดร.คาร์ตไรต์ชี้ว่า หากต้องการแก้ไขอดีตที่สะเทือนอารมณ์ การหลับแบบ REM หรือแม้กระทั่งการฝันเรื่องทั่ว ๆ ไปนั้น ‘ไม่เพียงพอ’ ผู้ป่วยของเธอต้องการนอนหลับแบบ REM และเข้าสู่ห้วงความฝัน แต่เป็นฝันที่เฉพาะเจาะจงอย่างยิ่ง นั่นคือความฝันที่แสดงออกชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับแก่นอารมณ์ความรู้สึกของประสบการณ์สะเทือนใจที่พบเจอเมื่อยามตื่น 

เพราะมีเพียงรูปแบบการฝันที่มีเนื้อหาเฉพาะเจาะจงเช่นนี้เท่านั้นที่จะช่วยบรรเทาอาการทางคลินิกและยุติความเจ็บปวดทางอารมณ์ในผู้ป่วยเหล่านี้ได้ พร้อมกับเปิดโอกาสให้พวกเขาก้าวต่อไปสู่อนาคตใหม่ทางอารมณ์และไม่ตกเป็นทาสของอดีตอันปวดร้าว 

โดยสรุปคือ แม้ ‘ฝัน’ จะไม่สามารถเยียวยาความเจ็บปวดทางอารมณ์ได้ในทุกคน แต่อย่างน้อยถ้าต้องเลือกระหว่างการปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเศร้าเพราะเชื่อว่าเวลาจะช่วยเยียวยาทุกสิ่งเอง กับการปิดไฟล้มตัวลงนอนใต้ผ้าห่มอุ่น ๆ เพื่อลองให้โอกาสความฝันช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ยังไงก็ขอให้พยายามทำข้อหลังก่อน แต่หากเกินเยียวยาจริง ๆ อาจถึงเวลาที่คุณต้องขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเสียที

 

อ้างอิง :
แมทธิว วอล์คเกอร์, Why We Sleep : นอนเปลี่ยนชีวิต, แปลโดย ลลิตา ผลผลา, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ bookscape, 2563, หน้า 297