logo-pwa

เพิ่ม Thepeople

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด

สัมภาษณ์ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี จากสนามหญ้าสู่สนามเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ

สัมภาษณ์ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี จากสนามหญ้าสู่สนามเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ

จังหวะชีวิตบนเส้นทางการเมืองของ "มาดามเดียร์" วทันยา วงษ์โอภาสี

หลายปีก่อน ชื่อของ เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี เป็นที่รู้จักของแฟนบอลชาวไทยอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับฉายา “มาดามเดียร์” ที่สื่อและสังคมเรียกขานจากการที่เธอเป็นผู้จัดการทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี (ยู-23) ที่พาทีมคว้าแชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 29 มาครองได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม ปี 2560 ก่อนที่วทันยาจะยุติบทบาทตัวเองในเดือนถัดมา แล้วไปทุ่มเทให้กับการเป็นผู้บริหารสื่อทีวีดิจิทัลและออนไลน์ ท่ามกลางความท้าทายที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้เสพสื่อให้ได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด มาวันนี้ วทันยาแสวงหาความท้าทายใหม่อีกครั้ง คราวนี้บนเส้นทางสายการเมืองสู้ศึกเลือกตั้งเมืองไทยปี 2562 ด้วยการเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคที่วทันยาบอกว่ามีอุดมการณ์ตรงกันกับเธอ จากบทบาทผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ผู้บริหารสื่อ กระทั่งขยับเข้าไปงานการเมือง ทำให้ The People อดสงสัยไม่ได้ว่าท้ายสุด วทันยาอยากให้คนจดจำเธอในภาพไหน บทสนทนาระหว่างวทันยากับเราต่อจากนี้ น่าจะพอบ่งบอกความคิด ตัวตน และคำตอบของเธอได้พอสมควรทีเดียว   สัมภาษณ์ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี จากสนามหญ้าสู่สนามเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ   The People: ปีกว่า ๆ แล้วที่คุณอยู่กับสื่อทั้งที่เป็นแพลตฟอร์มทีวีดิจิทัลและออนไลน์ มองการเติบโตของ 2 แพลตฟอร์มนี้อย่างไร วทันยา: ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า 3-4 ปีมานี้ ธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์เติบโตค่อนข้างเยอะ ส่วนทีวีดิจิทัล เดียร์มองว่าจริง ๆ อุตสาหกรรมทีวีเติบโตมาอยู่แล้วเพราะเป็นสื่อกระแสหลัก เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนมีทีวีระบบอะนาล็อกอยู่ 5-6 ช่อง แต่วันนี้ขยายไปถึง 24 ช่องจากการประมูล แต่ในแง่แพลตฟอร์ม จริง ๆ เดียร์ว่ายังไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปค่ะ   The People: ระยะหลัง ผู้ที่คลุกคลีกับวงการสื่อหลายคนมองว่าเกิดวิกฤตฟองสบู่ทีวีดิจิทัล? วทันยา: คงไม่ใช่วิกฤตทีวีดิจิทัล แต่อาจเป็นโดยรวม คือเม็ดเงินโฆษณายังไม่ได้เติบโตไปพร้อมกับจำนวนช่องที่มีมากขึ้นในสัดส่วนเดียวกัน ลูกค้าเอง เอเจนซีเอง กลุ่มคนโฆษณาในวงการทีวีก็เหมือนจินตนาการภาพไม่ออกเหมือนกันว่าเมื่อมีทีวี 24 ช่องแล้วจะเป็นอย่างไร การดำเนินธุรกิจเลยอาจชะงักไประยะหนึ่งในช่วงปีแรก เพราะแน่นอนว่าคนก็ต้องสังเกตตัวอุตสาหกรรมว่าจะ turn around ไปทางไหน แต่ต้องบอกด้วยว่าย้อนไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วที่ทีวีดิจิทัลกำลังเกิด เป็นช่วงที่ออนไลน์กำลังเข้ามาแล้วก็เติบโตค่อนข้างเยอะ ก็จะมีการพูดถึงคำว่า Digital Disruption เลยเป็นสภาพที่คนในวงการทีวีต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ   The People: ปรับตัวอย่างไร วทันยา: เมื่อก่อนจำนวนช่องไม่เยอะ จำนวนรายการก็ยังไม่เยอะมาก ผู้บริโภคยังจำได้ว่ารายการที่ฉันชื่นชอบอยู่ตรงไหน เวลาอะไร ออกวันไหน แต่พอมีขึ้นมาพร้อมกัน 24 ช่อง แน่นอนว่าการจดจำย่อมเปลี่ยนไป ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เพราะฉะนั้นทีวี 24 ช่องต้องมี positioning ของตัวเอง ต้องหาตัวเองให้เจอ เราจะเห็นว่ามีช่องหนังเกิดขึ้น ช่องข่าวแบบเพียว ๆ เกิดขึ้น ส่วนรายการที่คล้าย ๆ วาไรตีแบบเดิมที่มีทุกอย่างผสมกันก็จะน้อยลง ในมุมมองของผู้ประกอบการ ตอนนี้เราผ่านช่วงลองผิดลองถูกมาแล้ว เพียงแต่ว่าอย่างที่เดียร์บอกคือวันนี้สิ่งที่คนในวงการทีวีเหมือนเจอ disruption สองรอบซ้อน รอบแรกคือการปรับตัวในอุตสาหกรรม รอบสองคือกระแสออนไลน์ที่ถาโถมเข้ามา ทำให้นอกจากเราต้องปรับตัวรับมือกับทีวีดิจิทัลช่องอื่น ๆ ไม่พอ เราต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องแพลตฟอร์มที่วันนี้เทรนด์ผู้บริโภคย้ายตัวจากทีวีไปออนไลน์มากขึ้น แต่โดยรวมเดียร์ว่าทีวีก็ยังเป็นแพลตฟอร์มกระแสหลักอยู่   The People: อะไรคือโอกาสของทั้งทีวีดิจิทัลและแพลตฟอร์มออนไลน์ วทันยา: คนทำคอนเทนต์ต้องหาคาแร็กเตอร์ตัวเองให้เจอ เพราะวันนี้ผู้บริโภคมีสิ่งที่เรียกว่า “Niche is a new mass.” ผู้บริโภคเริ่มรู้แล้วว่าฉันต้องการอะไร เสพอะไร เมื่อก่อนทีวีเป็นคนกำหนดผู้บริโภคว่าจะให้เธอดูรายการนี้ในช่วงเวลาไหน ผู้บริโภคก็รอติดตามเอา แต่วันนี้เหมือนทุกอย่างอยู่แค่ปลายนิ้วมือ เพราะฉะนั้นคนทำคอนเทนต์ต้องวางคาแร็กเตอร์ตัวเองให้คนสามารถจดจำได้ นี่คืออย่างแรก อย่างที่สองคือพอมีคาแร็กเตอร์ชัดเจน ก็เป็นเรื่องการผลิตคอนเทนต์ให้มีคุณภาพ และสุดท้ายแล้วอย่างที่เดียร์ทำงานตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้เกิดการ synchronize (ประสาน) แพลตฟอร์มที่มีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค  

สัมภาษณ์ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี จากสนามหญ้าสู่สนามเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ

  The People: โอกาสและอุปสรรคในการ synchronize แพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน? วทันยา: ถ้าทำสำเร็จก็จะมี impact มากขึ้น powerful มากขึ้นในการสื่อความออกไป เพราะเรามีช่องทางมากขึ้นใช่ไหมคะ แต่จะเห็นว่าแต่ละแพลตฟอร์ม เนื้อหาเหมือนจะใกล้เคียงกัน แต่พฤติกรรมผู้บริโภคไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นคนที่ทำแต่ละคอนเทนท์ต้องเข้าใจ key ว่าต้องนำเสนอแบบไหนถึงจะถูกใจผู้บริโภคแต่ละแพลตฟอร์ม พูดง่าย ๆ อย่างคนในแพลตฟอร์มทีวี พอตอนที่เราจะ switch เขามาทำออนไลน์เลย ก็ switch ทันทีไม่ได้ ต้องมีกระบวนการเรียนรู้แล้วก็มีประสบการณ์ที่จะต้องเข้ามาผนวก เหมือนเวลาทำคอนเทนต์งานที่เป็นวิดีโอ คนทำคอนเทนต์จะรู้ว่าวิดีโอคอนเทนต์ที่ออกรายการทีวีกับที่ออกรายการออนไลน์จะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว กระบวนการทำหรือการเขียนสคริปต์ก็ต่างกัน เราไม่สามารถ copy & paste จากทีวีมาลงออนไลน์ได้ เดียร์ว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญที่คนในแพลตฟอร์มที่เป็น traditional ต้องรู้ก่อนว่าการทำออนไลน์ไม่ใช่แค่ copy & paste   The People: จากเป็นคนเสพสื่อ พอมาเป็นผู้บริหารทั้งทีวีดิจิทัลและแพลตฟอร์มออนไลน์ คุณต้องเปลี่ยน mindset มากน้อยแค่ไหน วทันยา: เปลี่ยนเยอะค่ะ จากเมื่อก่อนดูทีวีเพื่อรับอรรถรสเฉย ๆ ว่ารายการนี้สนุก เราก็ enjoy แต่พอมาทำงานตรงนี้บอกได้เลยว่าการดูทีวีเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นทุกครั้งที่ดูทีวีจะเป็นการดูเพื่อเก็บรายละเอียดว่าแต่ละรายการทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นอย่างไร ดูว่ามุมกล้องเขาเป็นอย่างไร วิธีการ move การ cut scene การใส่ sound คือเราพยายามสังเกตทุกอย่างในการนำเสนอ แต่ก็ไม่ได้ทำให้หมดสนุกในการดูทีวีนะคะ เหมือนเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่เรามีโอกาสเรียนรู้ตลอดเวลาและเป็นความท้าทายในอีกแง่มากกว่า   The People: ดูคอนเทนต์ streaming เยอะไหม วทันยา: ดูบ้าง อย่าง Netflix ก็มีการเปลี่ยนหน้าจอคนดูให้หลากหลาย เป็นการ personalize ให้เหมาะกับคนดูแต่ละคนว่ามีแนวโน้มชอบดูคอนเทนต์แนวไหน แล้วก็ต้องสังเกตว่าเนื้อหาแบบไหนที่ Netflix เพิ่มเข้ามาหรือใส่ปริมาณให้เยอะขึ้น เพราะพวกนี้มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งนั้น   The People: คุณทำงานกับเพจ “ขอบสนาม” มาปีกว่าแล้ว เห็นการเติบโตของเพจอย่างไรบ้าง วทันยา: คอนเทนท์ออนไลน์เปลี่ยนแปลงรวดเร็วแล้วก็เยอะมาก สิ่งที่เดียร์ชอบมากตอนทำงานกับเพจขอบสนามคือเราได้ energy จากน้อง ๆ เยอะมาก ก่อนหน้านี้เดียร์ทำงานในฐานะสื่อมวลชนก็จะเจอนักข่าว บก. ก็จะเป็นคนอีก gen หนึ่ง แต่พอเข้ามาทำกับน้อง ๆ ในขอบสนามก็จะเป็นอีก gen หนึ่ง เวลามีโอกาสประชุมกับน้อง ๆ ก็จะชอบมาก เพราะเป็นบรรยากาศที่มีความคิดสร้างสรรค์และ full of energy มาก น้อง ๆ เอง ก็เป็นคนวัย 20 กว่า ๆ มีความ dynamic ค่อนข้างสูง ก็จะสะท้อนแพลตฟอร์มที่ dynamic เหมือนรุ่นเขา ก่อนหน้านี้ ขอบสนามมีเฟซบุกอย่างเดียว สิ่งที่วันแรกเดียร์คุยกับน้อง ๆ คือบอกว่าเราไม่ได้เป็นแค่เพจ แต่เราคือ community เป็น “Sports Entertainment Community” ถ้าให้เทียบก็เหมือนเป็นที่ไร่ที่นาของเรา ก่อนหน้านั้นเหมือนเราไปทำไร่ทำนาทำสวนบนที่ดินของคนอื่น ซึ่งเดียร์บอกว่าไม่รู้ว่าเราจะถูกไล่ที่เมื่อไหร่ จะถูกยึดที่คืนวันไหน หรือแม้กระทั่งจะถูกแบ่งที่ไหม คือมีความเสี่ยงเกิดขึ้นเยอะมาก ดังนั้นเราต้องเปลี่ยน mindset บางอย่าง เพื่อนำพาน้อง ๆ ให้เห็นเป้าหมายบางอย่างในการทำงาน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งพอพูดถึงอะไรที่เป็นดิจิทัลหรือเรื่องการต่อยอด เหมือนน้อง ๆ จะเข้าใจแก่นของแพลตฟอร์มจริง ๆ แต่ความยากก็มีเพราะเหมือนเป็นการจับปูใส่กระด้ง จะทำอย่างไรให้เขาโอเคในการเข้ามาสู่บริบทการทำงานจริง รวมทั้งการ follow up งาน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องพยายามช่วย encourage น้องด้วย   The People: ปรัชญาในการบริหารงาน? วทันยา: ปรัชญาหรือคติอะไรเป๊ะ ๆ ไม่มีค่ะ แต่ส่วนตัวเป็นคนที่ทำอะไรแล้วค่อนข้างจะอินมาก ตอนที่ไปทำฟุตบอลเราก็อินมาก ถ้าตราบใดที่เราทำอะไรด้วย passion มันจะทำให้เรามี energy พูดง่าย ๆ คือเราจะคิดอยู่กับเรื่องนั้น ๆ เหมือนคิดไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าจะออกมาพักกินข้าว หรือก่อนจะอาบน้ำนอน เดียร์คิดว่าตราบใดที่เราเริ่มต้นการทำงานด้วย passion ด้วยความรัก เดียร์เชื่อว่า output ก็จะสะท้อนออกมาตามนั้น  

สัมภาษณ์ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี จากสนามหญ้าสู่สนามเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ

  The People: การบริหารทีมฟุตบอลกับการบริหารสื่อในฐานะที่เป็นนักธุรกิจเต็มตัวเหมือนหรือต่างกันอย่างไร วทันยา: บริบทไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็แล้วแต่ เดียร์ว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์และสำคัญมากคือเรื่อง management skill ไม่ว่าจะไปอยู่ในบริบทงานสื่อ งานกีฬา หรือตอนนี้ที่มีโอกาสไปแตะเรื่องงานการเมือง เดียร์ว่า skill นี้ สามารถหยิบไปใช้ได้กับทุกบริบท แต่แน่นอนว่าแต่ละบริบทก็เป็นเรื่องที่เราต้องรีบไปเรียนรู้แล้วปรับตัวให้เร็วที่สุด   The People: หนึ่งในการบริหารจัดการมีเรื่อง SWOT Analysis เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คุณช่วยวิเคราะห์ตัวเองให้เราฟังได้ไหม วทันยา: ให้วิเคราะห์ตอนนี้เลยเหรอ (ยิ้ม) ถ้าถามจุดแข็งก็อย่างที่บอกคือเดียร์อินกับการทำงาน ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จะไปสู่สเต็ปอื่น อีกอย่างเดียร์ว่าตัวเองเป็นคนเปิดรับ เปิดกว้างทางความคิด ที่สำคัญเวลาเดียร์ทำงาน เดียร์ลงไปจับกับงานจริง ๆ ไม่ได้ทำแค่อยู่บนหอคอยหรือนั่งแค่มองอยู่ข้างบนแล้วมองลงไปข้างล่างอย่างเดียว เรามองแล้วก็ลงไปทำด้วยตัวเอง เดียร์ว่านี่คือจุดแข็งของตัวเอง แต่ถ้าถามจุดอ่อน บางทีอาจเป็นเรื่องที่ก่อนหน้านี้จะรู้สึกว่าเป็นคนขี้เกรงใจ ซึ่งการทำงานเราต้องเอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน แต่ก็พยายามบอกกับตัวเองมากขึ้นว่า ถ้าตราบใดเป็นเรื่องผลสัมฤทธิ์การทำงาน ปราศจากอคติหรือ agenda อื่น ๆ เดียร์ก็ต้องพยายามผลักตัวเองว่าเราก็ต้องกล้าพูด และผลักงานไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้   The People: มีช่วงที่เครียดหรือกดดันบ้างไหม เพราะอย่างการทำทีมฟุตบอลทีมชาติก็ต้องแบกความคาดหวังของคนหลายกลุ่มไว้ วทันยา: มีค่ะ แต่ภายใต้ความเครียดก็โชคดีที่เคยมีโอกาสปฏิบัติธรรมตั้งแต่สมัยเรียน แล้วก็ทำมาเรื่อย ๆ สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งคือสติ เป็นเรื่องที่เดียร์เอามาปรับใช้กับชีวิตประจำวันและมีประโยชน์มาก พูดง่าย ๆ คือเวลาเจอสถานการณ์อะไรเข้ามาก็ตาม เราจะไม่ freak out เหมือนมีสติที่บอกกับตัวเองว่าถ้าเครียดก็ต้องหาทางจัดการให้ได้ ถ้าถามว่าทำไมสนใจปฏิบัติธรรม ต้องย้อนไปว่าตอนนั้นมีจุดเปลี่ยนเรื่องส่วนตัวบางอย่าง วันหนึ่งเลยตัดสินใจว่าถ้าอย่างนั้นลองปฏิบัติธรรมดูมั้ย ตอนแรกคิดว่าไปเพื่อภาวนา ทำบุญ แต่ตอนออกมากลายเป็นเราไม่ได้มองเรื่องบุญอะไรแบบนั้นเลย แต่เห็นประโยชน์ในการเอาหลักธรรมมาปรับใช้ในชีวิต เลยตั้งใจว่าจะพยายามทำตรงนี้อย่างต่อเนื่อง ธรรมะก็คือธรรมชาติ เราไม่จำเป็นต้องนุ่งขาวห่มขาวอย่างเดียว หรือต้องไปนั่งในวัดในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ การที่เรามีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลาก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรมแล้ว   The People: แสดงว่าต่อให้มีข่าวแง่ลบหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ การที่เราฝึกจิต ฝึกสติของเราให้แข็งแกร่ง ก็สามารถผ่านช่วงเวลานั้นมาได้? วทันยา: ใช่ค่ะ คนที่ปฏิบัติธรรมจะรู้ว่าเราต้องอยู่กับปัจจุบัน อย่างตอนซีเกมส์ เดียร์จะไม่มองไปอนาคตแล้ว panic ไปก่อน ดังนั้นทุกเกมที่ทีมลงแข่ง เดียร์ก็จะมองเฉพาะตรงนั้น ไม่ panic ว่าคู่ต่อสู้จะเป็นอย่างไร ไม่พะว้าพะวงห่วงหน้าห่วงหลัง เดียร์จะไม่เอาผลของเกมที่ไม่ดีมาเป็นตัวตัดสินเกมในอนาคต รู้แค่ว่าทุกนัดเราจะทำให้เต็มที่ที่สุด ถ้าออกมาไม่ดี เราก็เอาประสบการณ์ตรงนั้นมาต่อยอดแล้วก็พัฒนาเกมนัดหน้าต่อไป   The People: ทุกวันนี้อยากกลับไปบริหารวงการกีฬาอีกไหม วทันยา: หลาย ๆ คนถ้ามีโอกาสเข้ามาในวงการกีฬา แล้วยิ่งคุณมีความชื่นชอบอยู่แล้ว เดียร์ว่าก็ไม่แปลกหรอกถ้าจะตกหลุมรักวงการนี้ ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงฟุตบอลอย่างเดียว จริง ๆ เดียร์ยังไม่เคยคิดมองภาพตัวเองกับกีฬาประเภทอื่น ก็คงแล้วแต่โอกาสที่อาจเข้ามาในอนาคต   The People: ใคร ๆ ก็เรียกคุณว่า “มาดามเดียร์” วทันยา: แรก ๆ ไม่ชอบเลย ไปคุยกับพี่ ๆ นักข่าวกีฬาก็บอกเขาว่าไม่เรียกมาดามไม่ได้เหรอ เขาก็ถามเหมือนกันว่าถ้าไม่ให้เรียกมาดามแล้วจะให้เรียกอะไร เขาบอกว่าไม่ได้หรอก เพราะเวลาผู้หญิงเข้ามาในวงการฟุตบอลก็เป็นเหมือนสมญานามไปแล้วว่าต้องมีคำว่ามาดาม เหมือนผู้ชายก็มีคำว่าบิ๊ก เดียร์ก็เลยโอเค แต่จะบอกน้องนักฟุตบอลในทีมว่าห้ามเรียกมาดามเด็ดขาด ให้เรียกว่าพี่เดียร์ แต่คนข้างนอกก็คงไม่สามารถไปกำหนดหรือห้ามอะไรได้ ไป ๆ มา ๆ ก็กลายเป็นความคุ้นชินไปแล้ว  

สัมภาษณ์ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี จากสนามหญ้าสู่สนามเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ

  The People: ตอนนี้บทบาทใหม่ของคุณคือการเดินบนเส้นทางสายการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ? วทันยา: เดียร์มองว่าถ้าคุณจะไปพรรคไหน อย่างแรกต้องมีอุดมการณ์เดียวกัน ในฐานะที่เราทำงานข่าวมาตลอด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุของประสบการณ์การทำงานข่าวใกล้เคียงกับความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เหมือนประเทศมีความชะงักบางอย่างเกิดขึ้น จากเมื่อก่อนที่มีการปราศรัย มีฝ่ายค้าน มีฝ่ายรัฐบาล พอทุกอย่างจบก็เป็นบรรยากาศของความเป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้อง แล้วงานก็ขับเคลื่อนไปได้ แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นว่าเหมือนประเทศถูกแบ่งแยกออกเป็นข้างใดข้างหนึ่ง เดียร์พูดตรง ๆ ว่าเราเป็นหนึ่งคนที่ไม่ได้อยู่ข้างซ้ายหรือข้างขวา แต่กลายเป็นว่าบางทีคุยกับคนวงซ้าย พอบางเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยก็เหมือนเราถูกจับมาเป็นฝั่งขวา หรือบางทีคุยกับคนวงขวา พอบางเรื่องที่เราไม่เห็นด้วยก็กลายเป็นว่าเราคือซ้าย นี่เป็นความรู้สึกที่อึดอัดมาโดยตลอด แล้วพอหยุดกันที่สองฝั่งสองฝ่ายก็เห็นถึงการที่ประเทศไปต่อไม่ได้ ตอนที่เดียร์มีโอกาสไปคุยกับผู้บริหารพรรค อุดมการณ์แรกที่เราเห็นตรงกันคืออยากมีทางเลือกที่อย่างน้อยที่สุดเหมือนว่าสิ่งที่ชะงักมาโดยตลอดถูกสลัดออกไป ซึ่งเมื่อสลัดออกไปแล้วอนาคตทางการเมืองก็เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยเต็มตัว นี่คือสิ่งที่เดียร์กับพรรคเห็นตรงกัน เดียร์คิดว่าถ้าทุกคนมัวแต่กลัวและบอกว่าฉันไม่อยากเข้าไปยุ่ง ไม่อยากเปลืองตัว ก็จะไม่มีใครลุกขึ้นมาทำ แล้วการที่บอกว่าอยากสลัดตรงนี้ออกไปมันก็จะไม่เกิดขึ้น   The People: มองภาพของคำว่านักการเมืองรุ่นใหม่อย่างไร วทันยา: เอาจากคนในพรรคก่อนแล้วกัน เดียร์รู้สึกว่าทุกคนมาแบบมี positive energy มาก ทุกคนมาด้วยความรู้สึกอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานที่จะได้ contribute อะไรสักอย่างให้ประเทศ หลายคนที่ตอนนี้เข้ามาร่วมในพรรค เขาก็มีงานประจำอยู่แล้ว เป็นเจ้าของกิจการบ้าง เป็นผู้บริหารในองค์กรเอกชนบ้าง แล้ววันนี้บทบาทส่วนตัวของเขาก็ประสบความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง เลยเป็นจุดที่เขาเริ่มมองว่าจะเอาประสบการณ์การทำงานและความรู้ความสามารถที่มีมาช่วยประเทศได้อย่างไรบ้าง เดียร์เห็นความตั้งใจที่ดีและความมุ่งมั่นในการทำงาน พูดง่าย ๆ คือเป็นความตั้งใจที่ยังบริสุทธิ์ ต้องบอกว่าแต่ละคนวันนี้ตั้งหน้าตั้งตากลับไปเจอพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของตัวเองมาก บางทีจะนัดประชุมหรือทำอะไร เราก็พยายามดูให้ว่าทำอย่างไรที่จะไม่ไปรบกวนเวลาทำงานในพื้นที่ของเขา บริบทในการประชุมแต่ละครั้งก็จะว่าด้วยปัญหาปากท้องในพื้นที่ เดียร์เลยรู้สึกว่าเราอยากจะช่วยผลักดันคนเหล่านี้ในสังคมการเมืองใหม่ในเมืองไทย   The People: คิดว่าตัวเองสามารถ contribute อะไรให้สังคมไทยได้บ้าง วทันยา: ส่วนตัวเราอาจชำนาญเรื่องการสื่อสารมวลชน เรื่องงานคอนเทนต์ พอมีโอกาสเข้าไปทำงานแล้วผู้บริหารพรรคเคยเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็เพิ่งได้เห็นว่าเขามีผลงานเยอะมาก เราอยากมีโอกาส contribute ประสบการณ์ตรงนี้ หรือพูดง่าย ๆ คือเอาศักยภาพ ความรู้ความสามารถที่เราทำงานในสายงานนี้ไปช่วยส่งเสริม ไม่ได้หมายถึงว่าต้องเป็นรัฐบาลไหนนะคะ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม เดียร์ว่าการสื่อสารในโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการดี ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เราจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านได้รับรู้ เดียร์ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หลัก ๆ ที่เดียร์เข้าไปช่วยงานก็คงเป็นการโฟกัสเรื่องงานสื่อสาร เรื่องการจัดการหลังบ้านให้พรรค เพราะพลังประชารัฐก็ถือเป็นพรรคค่อนข้างใหม่ เราเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน ยังมีหลายเรื่องที่ยังต้องช่วยกันจัดการให้เข้าที่เข้าทางอีกค่อนข้างเยอะ   The People: หลายคนมองว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นชื่อที่มาจากโครงการของรัฐบาลชุดปัจจุบัน? วทันยา: หัวหน้าพรรค ผู้บริหารพรรค เลขาธิการ ก็มาจากคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน ในมุมเดียร์อย่างที่บอกคือเราเห็นคนรุ่นใหม่ในพรรคเยอะมาก ๆ เวลาเดินเข้าพรรคเดียร์เห็นบรรยากาศการทำงานจากประชาชนหลายฝ่าย มันไม่ได้มีการเอนเอียงหรือโน้มเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ผู้ใหญ่ก็เปิดโอกาสให้ระดมทีมคนรุ่นใหม่ทั้งหมดมาประชุมแล้วเอานโยบายมาพูดคุยกัน เป็นบรรยากาศของการ brainstorm เป็นการทำงานที่เปิดกว้างและให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ ๆ ด้วยซ้ำ   The People: คุณมีหลากหลายบทบาท ที่สุดแล้วอยากให้คนจดจำคุณในบทบาทไหน ผู้จัดการทีมชาติชุดยู-23 ผู้บริหารสื่อ หรือนักการเมืองรุ่นใหม่ วทันยา: อยากให้จำทุกอย่างเลยได้ไหม (ยิ้ม) จริงๆ ไม่อยากให้ไปยึดติดกับแค่บทบาทใดบทบาทหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นบริบทอะไรก็แล้วแต่ มี key หนึ่งที่เหมือนกันคือถ้าเรารู้ว่าต้องบริหารจัดการเรื่องงานอย่างไรและถ้าเรามีวิสัยทัศน์เพียงพอ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปด้วยบริบทอะไร เดียร์ว่าเราก็สามารถทำทุกอย่างให้สำเร็จได้   The People: มีบทบาทไหนที่ท้าทายและอยากลองดูอีกไหม วทันยา: แน่นอนวันนี้ได้มีโอกาสก้าวมาสู่เรื่องการเมือง อย่างที่บอกถ้าทำอะไรก็เป็นคนอินกับเรื่องนั้น เลือกตั้งรอบนี้เราอยากเห็นประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว เพราะฉะนั้นถ้าถามถึงความตั้งใจของเดียร์ตอนนี้ในการทำงานก็อยากเห็นประเทศไทยกลับสู่บริบทประชาธิปไตย ก้าวออกจากวังวนเดิม ๆ แล้วเข้าสู่โหมดเดินหน้าเต็มตัว เดียร์ว่าคนที่ทำงาน โดยเฉพาะทำงานด้านเอกชน จะมีความรู้สึกใกล้เคียงกันคืออะไรก็ได้แต่ขอให้อย่างน้อยประเทศสงบสุข ไม่ตีกัน แล้วเดี๋ยวที่เหลือฉันจัดการเองได้ เพราะฉะนั้นการทำงานในวันนี้อย่างที่บอกคือเดียร์ไม่อยากเห็นสภาพที่แบ่งสีแบ่งข้างแล้วก็ตีกัน มีเหตุการณ์รุนแรง ไม่อยากเห็นความเจ็บช้ำแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว