สัมภาษณ์ปราปต์ บุนปาน: ความทรงจำแฟนบอลสเปอร์ส จากยุคลินิเกอร์ถึงชิง UCL

สัมภาษณ์ปราปต์ บุนปาน: ความทรงจำแฟนบอลสเปอร์ส จากยุคลินิเกอร์ถึงชิง UCL

ความทรงจำแฟนบอลสเปอร์ส จากยุคลินิเกอร์ถึงชิง UCL

แม้ว่าแฟนบอลชาวไทยส่วนใหญ่จะเชียร์ทีมจากอังกฤษ อย่างทีมลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เชลซี หรือ อาร์เซนอล แต่ก็มีแฟนบอลจำนวนไม่น้อยที่ติดตามเชียร์ ทอตแนม ฮอตสเปอร์ หรือ "สเปอร์ส" ในบ้านเรา หนึ่งในนั้นคือ ปราปต์ บุนปาน - นักเขียน คอลัมนิสต์ และผู้จัดการแผนกสื่ออิเล็กทรอนิกส์ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มต้นเชียร์สเปอร์สมาตั้งแต่ฟุตบอลโลกปี 1990 ที่อิตาลี เพราะความสนใจในทีมชาติอังกฤษและตัวผู้เล่นหลักของทีมอย่าง แกรี ลินิเกอร์ และ พอล แกสคอยน์ ซึ่งต้นสังกัดของเขาทั้งสองคนก็คือสเปอร์สนั่นเอง จากวันนั้นถึงวันนี้ ที่สเปอร์สไปไกลระดับกลายเป็นทีมแนวหน้าในพรีเมียร์ลีก และไปไกลถึงเข้าชิงฟุตบอลชิงแชมป์จ้าวยุโรปอย่างถ้วยยูฟ่า แชมเปียส์ลีก ในฤดูกาล 2018/2019 ความทรงจำและมุมมองเชิงสังคมของเขาถูกกลั่นออกมาเป็นเรื่องเล่าในแบบไหน...นี่คือเสียงหนึ่งของ "เด็กไก่" ที่อาจจะไม่ได้จิกเด็กตายบนปากโอ่ง แต่พร้อมจิกทุกทีมฟุตบอลที่ลงสนามร่วมแข่งขัน สัมภาษณ์ปราปต์ บุนปาน: ความทรงจำแฟนบอลสเปอร์ส จากยุคลินิเกอร์ถึงชิง UCL
The People: เริ่มดูบอลครั้งแรกตอนไหน

ปราปต์: ดูบอลครั้งแรกปี ค.ศ. 1990 ก็ พ.ศ. 2533 จากจุดเริ่มต้นคือบอลโลกที่อิตาลี ซึ่งเยอรมันตะวันตกได้แชมป์ อาร์เจนตินาได้รองแชมป์ ทีมนี้มี มาราโดนา (Diego Maradona) ตอนนั้นอังกฤษได้ที่ 4 จากนั้นก็เหมือนกับวัฒนธรรมการดูบอลของคนไทยทั่วไป ก็เริ่มติดตาม มีรายการเจาะสนาม ของ ย.โย่ง (เอกชัย นพจินดา) กับตอนนั้นผมจำไม่ได้ว่าเป็นคุณจักรพันธุ์ (ยมจินดา) หรือเปล่า แต่หลัก ๆ คือ ย.โย่ง แล้วก็มีสตาร์ ซอคเก้อร์ ทีนี้ก็ต้องเลือกทีมเชียร์ สำหรับอังกฤษก็เลยเลือกสเปอร์ส เพราะว่าอังกฤษชุดนั้นนักเตะที่เขาเรียกมี แกรี ลินิเกอร์ (Gary Lineker) อยู่สเปอร์ส แล้วก็เป็นกองหน้า รู้สึกคราวนั้นยิงได้ประมาณ 3 ประตูมั้ง ขณะที่บอลโลกปี 1986 เขาคือดาวซัลโว เราก็เริ่มย้อนประวัติ โอเค ชอบ เพราะแกรี ลินิเกอร์หนึ่งแล้ว แล้วก็มี พอล แกสคอยน์ (Paul Gascoigne) ซึ่งบอลโลกคราวนั้นเขาก็แจ้งเกิดได้ แล้วก็มีสีสัน มีอารมณ์ดรามา มีร้องไห้ มีอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเลยเป็นจุดที่สอดคล้องกันพอดี

The People: แล้วทำไมถึงเลือกลีกอังกฤษ

ปราปต์: มันคือสื่อล่ะ เพราะเอาจริง ๆ ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิด สยามสปอร์ตเขาก็แบ่งเป็น 2 เล่มนะ คือสตาร์ ซอคเก้อร์ กับ...ชื่อเวิร์ลด ซอคเก้อร์ สตาร์ ซอคเก้อร์ นี่คือลีกบอลอังกฤษ ขณะที่เวิร์ลด ซอคเก้อร์ คือพวกบอลลีกอื่น ๆ ของยุโรป แต่ด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง ถ้าสื่อเด็ดตอนนั้นก็คือย.โย่ง คือก็เคลมมาทางอังกฤษ เอาง่าย ๆ ผมก็แบ่งทีมเชียร์เหมือนกันนะ อย่างเช่นถ้าอิตาลี ตอนนั้นก็เชียร์ "ยูเว่" ยูเวนตุส เพราะว่าทางนั้นคนแจ้งเกิดหรือคนที่ได้รับความสนใจในวงกว้างในบอลโลก 1990 ก็คือ "บักโจ้" โรแบร์โต บักโจ้ (Roberto Baggio) ซึ่งจะไปเก่งสุด ๆ จริง ๆ ตอนปี 1994 แต่ตอนปี 1990 หนึ่งคือถูกจับตามองในฐานะนักเตะหล่อ กับสองคือเข้าใจว่าตอนนั้นเขาเป็นนักเตะที่มีค่าตัวแพงที่สุดในโลก คือย้ายจากฟีออเรนตินามั้ง ไปยูเวนตุส ถ้าอย่างนั้นก็จะเป็นอิตาลี ผมก็จะเชียร์ยูเวนตุส เป็นต้น ส่วนถ้าเยอรมัน ผมก็เข้าใจว่าน่าจะเชียร์บาเยิร์น มิวนิค แต่ในบริบทนั้น บาเยิร์นฯ น่าจะยังไม่ได้แชมป์ในฤดูกาลถัดจากบอลโลก ยูเว่ก็ไม่ได้แชมป์ เนื่องด้วยวัฒนธรรมการดูบอลของคนไทย บอลอังกฤษจะใหญ่ที่สุด เพราะฉะนั้นก็เลยดูว่า โอเค ถ้าทีมที่เชียร์อย่างหนักแน่นที่สุด หรือมีโอกาสตามผลการแข่งขัน ตามเรื่องราวได้เยอะสุด ก็เลยกลายเป็นสเปอร์ส

The People: ยังจำสตาร์ ซอคเก้อร์ เล่มแรกที่อ่านได้ไหม

ปราปต์: ถ้าจำไม่ผิด หน้าปกเล่มแรกที่อ่านคือ เอียน รัช (Ian Rush) ทีมลิเวอร์พูล จริง ๆ ก็แปลกดีเหมือนกัน เราเริ่มดูบอลปี 1990 เท่ากับว่า บอลลีกอังกฤษคือฤดูกาล 1990-1991 ซึ่งฤดูกาลนั้นลิเวอร์พูลนำอยู่ดี ๆ แล้ว เคนนี ดัลกลิช (Kenny Dalglish) ก็ลาออก แล้วเป็นยุคตกของลิเวอร์พูลพอดี ขณะที่ก็เป็นฤดูกาลสุดท้ายที่สเปอร์สได้แชมป์ใหญ่ด้วยคือเอฟเอคัพ แล้วหลังจากนั้นมาถึงตอนนี้ก็ประมาณ 28 ปี กลายเป็นว่าจบยุคตกของลิเวอร์พูล เป็นยุคที่...โอ้โห ลิเวอร์พูลกลับมาเกือบจะได้แชมป์ลีกสูงสุดอีกครั้ง แล้วขณะเดียวกันสเปอร์สเองก็กลายเป็นว่าครั้งแรกในรอบนั้นที่ได้เข้าชิงบอลถ้วยใหญ่ แล้วกลายเป็นว่าเป็นบอลถ้วยใหญ่ยุโรปเลย

The People: ภาพจำของนักเตะสเปอร์สในยุคนั้นที่คุณพอจะจำได้? 

ปราปต์: พอจุดพีคได้แชมป์เอฟเอคัพ ผมก็เข้าใจว่าลินิเกอร์ก็เล่นอยู่ไม่กี่ปี แล้วแกสคอยน์เองก็อยู่สเปอร์สอีกไม่นาน หลังจากนั้นน่าจะไปอิตาลี ไปลาซิโอ แล้วมา กลาสโกว์เรนเจอร์ส จนกระทั่งปี 1996 ผมเข้าใจว่าน่าจะอยู่ทีมอื่น ไม่แน่ใจว่าทีมอะไร จำไม่ได้เหมือนกัน แต่ถามว่าจดจำใครได้ชัดขนาดนั้นไหม ก็ไม่ชัดนะ  แล้วสเปอร์สเองก็จะมีนักเตะคาแรกเตอร์แบบ แกรี แมบบัตต์ (Gary Mabbutt) เป็นกองหลังที่อายุเยอะหน่อย ดูท้วม ๆ ตัวไม่โต แต่เป็นกองหลังที่มีคาแรคเตอร์ กลายเป็นว่าพอมาดูแล้วเราก็ไม่ได้ไปติดกับลินิเกอร์ กับแกสคอยน์ ขนาดนั้น แต่ดูผลงานรวม ๆ ซึ่งพอได้แชมป์เอฟเอคัพ หลังจากนั้นกราฟก็ไม่ค่อยขึ้นมาอีกเลย เราก็เลย...เหมือนชอบเพราะคาแรคเตอร์ทีม แล้วก็รู้สึกสบายใจกับมันอยู่เหมือนกัน กลายเป็นว่าผมอยากเชียร์ทีมที่ไม่ต้องลุ้นแชมป์อะไรมาก ก็สบาย ๆ ดี ถ้าได้แชมป์ ได้ถ้วย ก็ดีใจ ส่วนบอลลีกก็อยู่อย่างนี้ อยู่แบบกลาง ๆ ชนะบ้างแพ้บ้าง ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เปลี่ยนผู้จัดการทีม อ้อ...ถ้านักเตะจะมีคาแรกเตอร์จริง ๆ คือ เจอร์เกน คลินส์มานน์ (Jürgen Klinsmann) มากกว่า ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งมีบุคลิกลักษณะ มีคาริสมา ในฐานะนักเตะของสเปอร์ส แต่คลินส์มานน์ก็อยู่ฤดูกาลเดียว ถ้ามาจำติดตาจริง ๆ จะเป็นพวกรุ่นถัดมาอย่าง เท็ดดี เชอริงแฮม (Teddy Sheringham) หรือพวกรุ่น ร็อบบี คีน (Robbie Keane), เบอร์บาตอฟ (Dimitar Berbatov) ซึ่งอีกด้านหนึ่งอาจหมายถึงว่าเราโตขึ้นด้วยนะ เหมือนเราเริ่มสนใจเกมการแข่งขัน คือต้องยอมรับว่าช่วงแรกที่ดูคือประมาณ 9 ขวบ ก็ดูแบบเด็กสนใจความบันเทิงอะไรบางอย่าง ตอนนั้นเราจะจำอะไรได้ไม่เยอะ แต่ถ้าในแง่จดจำเกม จดจำนักเตะได้จริง ๆ จำได้แต่ยุค คลินส์มานน์ เป็นต้นไป พวกรุ่นร็อบบี คีน มีเบอร์บาตอฟนี่ก็คือปี 2000 มาแล้ว

The People: นักเตะที่เป็นที่สุดของสเปอร์สคือใคร

ปราปต์: ผมว่าต้องแบ่งเป็นยุค แล้วก็ขึ้นอยู่กับความสำเร็จ ยุคหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าอย่างพวกยุครุ่น ลูกา โมดริช (Luka Modrić) กาเร็ธ เบล (Gareth Bale) ก็เป็นยุคหนึ่งที่...เออเว้ย ไอ้พวกนี้ก็เก่งจริง แล้วก็เปลี่ยนทีมได้เยอะพอสมควร หรือกระทั่งยุคเบอร์บาตอฟ ตอนเจ็บ ผมก็รู้สึกว่าเออ ก็เก่งนะ หรือกระทั่งยุคปัจจุบันอย่างพวก คริสเตียน อีริคเซน (Christian Eriksen) หรือ แฮร์รี เคน (Harry Kane) คืออาจจะบอกได้ไม่ชัดว่าใครเก่งสุด แต่ผมรู้สึกว่าบุคลิกลักษณะ หรือความสามารถแต่ละคนมันเหมาะสมกับยุคนั้นแค่ไหน อย่าง เคนกับลินิเกอร์ ก็รู้สึกว่าเกิดมาถูกจุด หรือจุดคล้าย ๆ กัน คือได้เป็นดาวซัลโวบอลโลก อยู่ในทีมอังกฤษ ซึ่งมีผลงานระดับนานาชาติที่ดี และพอมาอยู่สเปอร์สก็มีผลงานที่จับต้องได้ ลินิเกอร์ยังได้ชูถ้วยเอฟเอคัพ ขณะที่เคนเองก็อยู่ในทีมที่...โอเค สุดท้ายแล้ว ถ้าสมมติว่าได้แชมป์ การได้แชมป์ยุโรปอาจไม่ได้เกี่ยวกับเคน แต่เคนก็มีส่วนกับการก่อร่างสร้างทีมชุดนี้ขึ้นมา เป็นกำลังสำคัญ เพราะงั้น ผมรู้สึกว่ามันก็ประเมินได้ว่า เคนกับลินิเกอร์ ก็น่าจะระดับใกล้เคียงกัน หรือขณะเดียวกันถ้าตีว่าสเปอร์สมาอยู่ในยุคที่ปรับตัวเข้ากับบอลยุโรปได้ มีที่มีทางในบอลยุโรป หรือมีที่มีทางในลีกสูงสุด ถ้าจะพูดถึงนักเตะเด็ด ๆ ซึ่งนำมาถึงจุดนี้ก็หนีไม่พ้นพวกโมดริชหรือเบล แล้วพอสุดท้ายพวกนี้ก็ไปโตหรือไม่โตที่อื่นต่อ แล้วก็มาถึงยุคปัจจุบัน ก็อาจจะมีเคน มีอีริคเซน มีเดเล อัลลี มี ซน ฮึงมิน (Son Heung-min) ซึ่งก็มีบุคลิกลักษณะซึ่งน่าสนใจต่างกัน อย่างซน ฮึงมิน ผมรู้สึกว่าถ้าเราตีว่าเป็นนักเตะเอเชียซึ่งไปได้ไกลมาก ๆ ก็มีความน่าจดจำแบบหนึ่ง เป็นนักเตะเอเชียที่ไปไกล เป็นนักเตะเอเชียซึ่งเป็นกำลังหลักของทีมจริง ๆ และเป็นคนที่มีผลกับการแข่งขันด้วย ผมว่าถ้าตีความก็จะตีแบบนี้ เพราะฉะนั้น ก็จะอยู่ระดับนี้ 4-5 คนนี้ สัมภาษณ์ปราปต์ บุนปาน: ความทรงจำแฟนบอลสเปอร์ส จากยุคลินิเกอร์ถึงชิง UCL ถ้าตีในเชิงคุณค่า ก็ยังมีอย่างเช่น เลดลีย์ คิง ผมว่าโอเคนะ แต่เนื่องจากเขาเจ็บ สุดท้ายต้องเลิกไป ก็อาจจะแทบไม่ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นกองหลังทีมชาติอังกฤษตัวหลักด้วยซ้ำ แต่จริง ๆ โดยศักยภาพแล้ว ในแง่ความจงรักภักดี ความผูกพันสโมสร ก็เป็นนักเตะที่อาจจะน่าจดจำคนหนึ่ง แล้วก็น่าจดจำด้วยว่าชะตาชีวิต ชะตากรรม มันทำให้เขาไม่ได้ไปไกลเท่าที่ควร เพราะฉะนั้น ผมว่าก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจดจำแต่ละคนในแง่ไหน แล้วก็จะประเมินเขายังไง เพราะก็ต้องยอมรับว่าสเปอร์สไม่ใช่ทีมที่ได้แชมป์เยอะ คือผมก็รู้สึกว่าถ้าสมมติแมนยูฯ อย่างนี้ คนอาจจะจำพวกคลาส '92 เพราะมันมาพร้อมความสำเร็จ แล้วก็จะประเมินว่าใครคือเบอร์หนึ่ง ใครคือเบอร์ต้น ประเมินง่าย หรือลิเวอร์พูลอาจจะประเมินง่าย คือยุคไหนที่ได้แชมป์ UCL หรือยุครุ่งเรือง ช่วง 80-90 ประเมินได้ แต่อย่างสเปอร์สมันขึ้นอยู่กับคาแรคเตอร์ส่วนบุคคล แล้วก็ยุคสมัย หรือความสำเร็จ ซึ่งมันจับต้องไม่ได้ 

The People: สเปอร์สชุดไหนคือชุดในดวงใจ

ปราปต์: ผมว่าชุดปัจจุบันนี้ก็ค่อนข้างโอเคนะ ค่อนข้างชอบ เนื่องจากว่าไปไกลทั่วยุโรป แล้วก็ไปไกลในลีกสูงสุดด้วยเท่าที่ตามดูมาตลอดเกือบ 30 ปี ต้องถือว่าโอเคในแง่ผลงาน ชุดนี้คือจับต้องได้เยอะสุดแล้ว คือเป็นระดับนำของลีก ระดับได้รองแชมป์ลีกสูงสุด แล้วก็ระดับได้เข้าชิงถ้วยใหญ่ยุโรป ถ้ายุคก่อนหน้านี้ ถ้าจะใกล้เคียงกับยุคนี้คือชุด แฮร์รี เรดแนปป์ (Harry Redknapp) ก็ยังทำทีมได้ไปถึงระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึง เมาริซิโอ โปเช็ตติโน (Mauricio Pochettino) ผมก็ยังรู้สึกว่าโอเค ถ้าวัดจากความสำเร็จ ยังไงก็ต้องให้ชุดนี้ ถ้าโดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าถ้าในแง่ความทรงจำ ชุดนี้เป็นชุดที่อยู่ในความทรงจำถัดจากชุดยุค '90 ซึ่งเป็นจุดพีคสุดท้าย แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้สึกว่าผูกพันกับสเปอร์ส แต่ขณะเดียวกันพอชุดอื่น ๆ มันอาจจะเป็นลักษณะผูกพันกับนักเตะแล้ว เราชอบ ร็อบบี คีน เราจดจำคีนได้ เราจดจำเบอร์บาตอฟได้ หรือถ้าอันดับ 3 ที่นั่นก็คืออาจจะเป็นยุคแฮร์รี เรดแนปป์ แต่ก็อย่างที่บอกสุดท้ายแฮร์รี เรดแนปป์ เองก็...ไม่ได้มีความสำเร็จถึงจุดพีคเท่าที่เกิดกับชุดปัจจุบัน

The People: อยากให้ลองจัดทีมสเปอร์สในดวงใจ

ปราปต์: แผนผังทีมยอดเยี่ยมตลอดกาล

Hugo Lloris (ผู้รักษาประตู) Klye Walker (แบ๊กขวา) Ledley King (เซ็นเตอร์) Jan Vertonghen (เซ็นเตอร์) Dany Rose (แบ๊กซ้าย) Michael Carrick (มิดฟิลด์) Luka Modric (มิดฟิลด์) Christian Eriksen (มิดฟิลด์) Son Heung-Min (ปีกขวา) Gareth Bale (ปีกซ้าย) Gary Lineker (ศูนย์หน้า)

ผู้เล่นสำรอง Erik Thorsvedt, Brad Friedel Lee Young-Pyo, Vedran Corluka, Gary Mabbutt, Michael Dawson Paul Gascoigne, Dele Alli, Moussa Sissoko, David Ginola, Rafael van der Vaart Teddy Sheringham, Robbie Keane, Harry Kane

The People: คิดอย่างไรกับวิธีการบริหารทีมของโปเช็ตติโน

ปราปต์: คือมันก็เป็นจุดเปลี่ยน เอาจริง ๆ อาจจะเป็นเรื่องของการบริหารทีมของพอช (โปเช็ตติโน) และนโยบายของ เดเนียล เลวี (Daniel Levy) ประธานสโมสร ผสมกันไป ผมก็รู้สึกว่าต้องประเมินคู่กัน อย่างฤดูกาลนี้ก็เห็นชัดแล้วว่าสเปอร์สมีปัญหาเรื่องทรัพยากรนักเตะแน่ ๆ เนื่องจากต้องไปทำกับเรื่องสนามใหม่ของสโมสร เพราะฉะนั้น ผมรู้สึกว่าพอชก็เป็นกุนซือที่เก่ง เรียกว่าทำงานกับข้อจำกัดได้ ซึ่งเอาง่าย ๆ นะ ถ้าสำหรับอีกหลาย ๆ ทีม แค่การประคองให้อยู่ 4 อันดับแรกด้วยทรัพยากรนักเตะอย่างนี้ ผมก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จขั้นต่ำแล้วแหละ แต่ผมว่าพอชไปไกลกว่านั้นด้วยการทำทีมแบบให้ไปไกลทั่วยุโรปได้ เหมือนเขาเลือกนักเตะที่เขาค่อย ๆ สร้างมาแล้วรักษาความต่อเนื่องนี้ จนเริ่มเก๋าพอจะเล่นเกมยุโรปได้ เพราะฉะนั้น ผมก็รู้สึกว่าน่าสนใจ แล้วอีกจุดหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นจุดเด่นของสเปอร์สมานานพอสมควรก็คือ ความสามารถในการสร้างนักเตะใหม่ขึ้นมาได้ เอาง่าย ๆ ผมว่านักเตะอังกฤษก็มาจากสเปอร์สค่อนข้างเยอะ แล้วก็เป็นจุดหนึ่งซึ่งทำไมสเปอร์สถึงเป็นสโมสรสำคัญของพรีเมียร์ลีก แปลว่า โอเค มันอาจจะไม่ได้มีความสำเร็จเชิงถ้วยรางวัล แต่อันนี้ผมว่ามันเป็นจุดหนึ่งซึ่งน่าสนใจ ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าพอชเองทำให้สเปอร์สปรับตัว เขาทำให้สเปอร์สเป็นทีมระดับยุโรป ผมเข้าใจว่าสเปอร์สมีความปรารถนาจุดนี้มาสักพักแล้วล่ะ เช่น การดึง ฆวนเด รามอส (Juande Ramos) มาอยู่พักหนึ่ง หรือเอาจริง ๆ อาจตั้งแต่ยุคนู้นเลยที่ดึงโค้ชสวิส คริสเตียน กรอสส์ (Christian Gross) มา ผมรู้สึกว่ามันเป็นความฝันของผู้บริหารเหมือนกัน

The People: 60 ปีแล้วที่สเปอร์สไม่ได้ได้แชมป์ลีกสูงสุด คิดว่าเร็ว ๆ นี้จะมีหวังไปถึงจุดนั้นไหม

ปราปต์: ต้องยอมรับว่าฤดูกาลที่ผ่านมาสเปอร์สก็เล่นในลีกไม่ดี คือถ้าตามมุมผม หลายคนก็อาจจะบอกว่าโอเค มันมีปัญหาเรื่องสนามเหย้า มีปัญหาเรื่องนักเตะ แต่ผมก็รู้สึกว่าอย่างฤดูกาลที่แล้วมันก็ยังทำได้ดีกว่านี้แน่ ๆ เพราะฉะนั้น มันก็เป็นจุดคำถามเหมือนกันว่า สเปอร์สกับลีกอังกฤษผ่านจุดที่ใกล้จะได้แชมป์สูงสุดมาแล้วหรือเปล่า พอฤดูกาล 2018/2019 เจอทีมกลาง ๆ ตาราง เจอทีมวูล์ฟฯ เวสต์แฮมฯ อ้าว สเปอร์สเสร็จแล้ว อย่างสเปอร์สเจอวูล์ฟ แทบไม่ได้เลย เหมือนแพ้ทางกันตลอด เราก็เลยไม่แน่ใจว่าจริง ๆ ทีมมันเริ่มถูกจับทางได้หรือเปล่า แต่ขณะเดียวกันผมก็รู้สึกว่า ช่วงเวลา 60 ปี คือเจเนอเรชันหนึ่งเลย เพราะฉะนั้น ในแง่หนึ่ง กับการเชียร์ในยุคที่เกือบจะได้แชมป์ หรือสนุกแล้วที่สเปอร์สได้ที่ 3 หรือสนุกแล้วกับการที่แบบ เออเว้ย มันก็เป็นฤดูกาลที่สเปอร์สได้อันดับดีกว่าลิเวอร์พูล ได้อันดับดีกว่าแมนยูฯ คือจริง ๆ เอาง่าย ๆ อย่างฤดูกาลที่แพ้เลสเตอร์ฯ แล้วถูกอาร์เซนอลแซงด้วยนะ ตกไปที่ 3 มันดูจะน่าเจ็บใจด้วยซ้ำ โอ้โห ขนาดเหลือแค่เลสเตอร์ฯ ก็ยังไม่ได้ แล้วพอมาแผ่วปลาย ก็ถูกอาร์เซนอลซึ่งเป็นคู่ปรับกันแซงอีก แต่แง่หนึ่ง ด้วยความที่เราไม่ได้รู้สึกว่าสุดท้ายสเปอร์สมันจะยิ่งใหญ่แบบสุด ๆ คือพอมันมีหวัง เฮ้ย ก็ทำผลงานได้ดีกว่าแมนยูฯ และลิเวอร์พูล ผมก็รู้สึกว่ามันก็โอเคแล้ว หรือกระทั่งฤดูกาล 2018/2019 ผมก็รู้สึกว่าขณะที่สเปอร์สกับลิเวอร์พูลเข้าชิง UCL (Uefa Champions League) ด้วยกัน ผมก็ยังรู้สึกว่าโอเค เอาง่าย ๆ ที่เขาพูดว่า 60 ปีที่ไม่ได้แชมป์ลีกสูง มันเป็นเจเนอเรชัน หรือเอาง่าย ๆ หรือถ้าตีตามผมคือ 28 ปี ที่ไม่ได้เข้าชิงบอลถ้วยใหญ่ ๆ เลย ผมคือแฟนบอลรุ่นหนึ่งเลย เพราะฉะนั้น ผมรู้สึกว่าโอเค แฟนสเปอร์สอาจจะไม่ได้กดดันตัวเองหรือว่ากดดันทีมขนาดนั้น แต่โอเคถ้าไปถึงจุดนั้นได้ ไม่ว่าต่อไปจะได้แชมป์ลีกหรือจะได้แชมป์ UCL มันก็โอเค ผมว่าพอหลังจากได้แล้ว มันจะกลับไปสู่ความคาดหวังอีกจุดหนึ่ง แต่ ณ จุดนี้ผมยังรู้สึกว่าความคาดหวังมันยังไม่ได้มีความกดดันทีม หรือแฟนบอลก็ไม่ได้หวังสูงขนาดนั้น มันยังมีความเชียร์บอลอย่างสนุกอยู่ สัมภาษณ์ปราปต์ บุนปาน: ความทรงจำแฟนบอลสเปอร์ส จากยุคลินิเกอร์ถึงชิง UCL The People: คาแรคเตอร์แฟนบอลของสเปอร์สเป็นอย่างไร และมีจุดร่วมกันอย่างไร

ปราปต์: ถ้าอย่างเมืองนอก มีการล้อกันด้วยซ้ำว่าสเปอร์สเป็นทีมของคนยิว แต่ขณะเดียวกันพอดูสถิติจริง ๆ ก็ไม่ได้มีนัยยะสำคัญขนาดนั้น แล้วขณะที่ยิ่งเมืองไทยผมก็ยิ่งไม่แน่ใจใหญ่ว่า เออ ทำไม เหตุผลที่คนมาเชียร์สเปอร์สมันคืออะไร แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงสำหรับแฟนบอลไทย คือการที่กว่าคุณจะมาเชียร์สเปอร์สได้ท่ามกลางแมนยูฯ ลิเวอร์พูล ซึ่งเป็น 2 ทีมหลักอยู่แล้ว เอาง่าย ๆ ถ้าสมมติคุณอายุประมาณแค่ 40-50 ก็ได้ ลงมาถึง 30 ไอ้ทีมนี้มันแทบไม่ปรากฏเลย แต่คุณเชียร์มัน ก็แสดงว่าคาแรคเตอร์ของคุณอาจจะต้องเป็นพวกกระแสรองหน่อย ๆ ทวนกระแสหน่อย ๆ ผมจับอย่างนี้นะ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายแล้วเหตุผลแต่ละคนเป็นยังไง เพราะอย่างเหตุผลผม อย่างที่บอกไปคือจุดสตาร์ทคือปี 1990 อย่างเพื่อนบางคนก็เข้าใจว่าจุดสตาร์ทคือหลังจากบอลโลกปี 1994 ชอบเพราะคลินส์มานน์ เพราะฉะนั้นผมว่าอาจจะเป็นคาแรคเตอร์แบบชอบนักเตะเยอรมัน น่าจะมีเหตุผลอีกชุดหนึ่ง อันนี้คือเรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องแฟนบอลกระทั่งแฟนบอลท้องถิ่นในเกาะอังกฤษ อันนี้ผมก็ยิ่งไม่แน่ใจ แต่ถ้าเปรียบเทียบอย่างเชลซี ย่านคนรวยง่าย ๆ อยู่แล้ว ขณะที่พวกสเปอร์ส อาร์เซนอลก็ดี มันเป็นทีมโซนสอง คนก็จะหลากหลายคละเคล้า เพราะฉะนั้น ผมไม่แน่ใจว่าไอ้การผูกติดกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น หรืออัตลักษณ์ของกลุ่มชนชั้นบุคคล มันยังเข้มข้นอยู่แค่ไหน หรืออย่างที่บอกไป สเปอร์สจะถูกผูกกับฐานแฟนบอลที่เป็นคนยิวหรือเปล่า แต่สุดท้ายแล้วก็มีสถิติออกมาว่า ที่จริงคนยิวที่เป็นแฟนบอลสเปอร์สมีจำนวนใกล้กับทีมในลอนดอนอื่น เพราะคนยิวก็กระจายตัว ประกอบกับลอนดอนเองก็เป็นมหานคร มันก็โอบรับความหลากหลาย ทั้งกุนซือ ทั้งนักเตะก็มีหลากหลายมาก ผมเลยไม่แน่ใจว่าโดยตัวแฟนบอลเอง ก็อาจมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าตอนลอนดอนมีจลาจล ย่านสเปอร์ส ก็เป็นย่านหนึ่งซึ่งมีอะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้น ผมว่ามันก็ปะทะกัน คืออาจจะมีทั้งคนเล็กคนน้อย สเปอร์สอาจจะถูกตีความเป็นสโมสรคนเล็กคนน้อยก็ได้ แต่ขณะเดียวกันพอนำเข้ามาเมืองไทย สเปอร์สก็จะไม่ได้เป็นตัวแทนอย่างนั้นเสียทีเดียว สเปอร์สอาจเป็นตัวแทนของคนที่อยากเสพอะไรที่เป็นทางเลือกด้วยซ้ำไป

The People: เคยไปดูที่สนามของสโมสรหรือยัง

ปราปต์: เคย ถ้าในช่วงโตผมไปดูมา 2 ครั้ง ระหว่างปี 2012-2013 ยุค อังเดร วิลลาส์-โบอาส (André Villas-Boas) ได้กุนซือหนุ่มหน่อย อันหนึ่งคือไปดูบอลยูโรปาลีก ทีมจากไซปรัสหรืออะไรสักอย่างจำไม่ได้ ซึ่งตอนนั้นคนดูไม่เยอะนัก แล้วเกมก็ขาดไม่มีอะไร กับอีกอันหนึ่งก็สเปอร์สเจอสวอนซี ก็ส่งบอลดีอยู่ แล้วสเปอร์สชนะ 1-0 มั้ง เนื่องจากว่าเราซื้อตั๋วไปค่อนข้างแพงนิดหนึ่ง สภาพแวดล้อมก็จะเป็นคนแก่ ซึ่งดูเหมือนเป็นแฟนบอลพันธุ์แท้อยู่ มีทั้งป้าแก่ ๆ ลุงแก่ ๆ บรรยากาศก็จะเป็นแบบนั้น  มีครั้งหนึ่งจำได้ว่าตอนนั้นผมอยู่ในผับ ดูสเปอร์ชนะแมนยูฯ แล้วก็มีคนเมามาถามเราว่าเชียร์อะไร เราก็เชียร์สเปอร์ส ก็ไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไร ส่วนหนึ่งคงเพราะอยู่ลอนดอน แต่ผมจำได้ว่าเคยขึ้นรถไฟมั้งแล้วมีกองเชียร์เชลซีกลุ่มใหญ่เดินมา เมามาเลย แล้วก็เจอผู้หญิงฝรั่งคนหนึ่ง อยู่ดี ๆ พวกนั้นก็ถามว่าเชียร์อะไร เธอก็บอกว่าเป็น supporter ของมิลล์วอลล์ เชลซีก็โว้ว มันจะมีปฏิกิริยาที่ฟู่ฟ่าขึ้นมา ตอนนั้นผมรู้สึก โอ้ ในแง่คาแรคเตอร์มิลล์วอลล์มันจะแรงกว่าแล้ว ซึ่งก็มีคนเชื่อว่ามิลล์วอลล์มันจะราว ๆ ท่าเรือ ถ้าเทียบกับทีมบอลไทย ภูมิศาสตร์อะไรอย่างนี้ อารมณ์ของกองเชียร์ แต่ของสเปอร์สเนี่ยผมก็รู้สึกว่ามันไม่ได้มีอะไรที่ฟู่ฟ่าฉูดฉาดขนาดนั้น สัมภาษณ์ปราปต์ บุนปาน: ความทรงจำแฟนบอลสเปอร์ส จากยุคลินิเกอร์ถึงชิง UCL The People: มีของสะสมเกี่ยวกับฟุตบอลไหม

ปราปต์: หลัก ๆ ก็เสื้อ แต่ก็ไม่ได้สะสมในระดับที่ว่า โอ้โห ต้องมีทุกตัว ก็เลือก ๆ เอา หรือว่าแล้วแต่โอกาส เช่น ตอนนั้นไปเรียนก็ซื้อบ้าง ตอนนั้นซื้อทีมเยือน ชุดเยือนด้วยนะ สีขาว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไม  ที่ะสมอีกก็เป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างหมวก แต่ก็ยอมรับว่าถ้าเทียบดีกรีถึงขั้นแฟนพันธุ์แท้หรือเปล่า ผมก็ยอมรับว่าไม่ถึง คือซื้อบ้างตามโอกาสมากกว่า

The People: การดูบอลให้สนุกจำเป็นต้องรู้ประวัติศาสตร์ไหม

ปราปต์: ไม่น่าจะจำเป็น แต่ก็แล้วแต่กรณีด้วย เอาง่าย ๆ ถ้าเราดูบอลสเปน ส่วนใหญ่บอลสเปนก็ทีมบาร์ซ่า, เรอัล มาดริด อันนั้นประวัติศาสตร์และการเมืองเป็นเรื่องจำเป็นแล้ว หรือถ้าเราเห็นว่าเล่นดีเว้ยฤดูกาลนี้ ผมก็รู้สึกว่า เออ มันมีองค์ความรู้ ภูมิหลัง ประวัติศาสตร์ของสโมสร ซึ่งเราควรจะทำความเข้าใจ แต่บางแง่ผมก็รู้สึกว่าอาจจะดูบอลให้สนุก ดูบอลจากผลการแข่งขัน ดูบอลจากคาแรคเตอร์นักเตะไปเลยก็ได้ เอาจริง ๆ มันก็อาจยุ่งยากอยู่เหมือนกันนะ คือเราพยายามไปลงลึกกับมันทุกอย่าง สมมติแฟนบอลไทยจำนวนหนึ่งที่เชียร์สเปอร์สอาจเป็นพวกทวนกระแสหน่อย ๆ หรือเข้าใจว่าก่อนเลือกตั้ง มันจะมีตารางที่เห็นแชร์กันในเฟซบุ๊กที่เปรียบเทียบทีมบอลกับพรรคการเมือง แล้วผมเข้าใจว่าเปรียบสเปอร์สกับอนาคตใหม่ใช่ไหม แต่ขณะเดียวกันถ้าเราลงลึกจริง ๆ มันก็จะมีจุดต่างอยู่ สำหรับคนที่ตามข่าวอยู่ก็จะเห็นว่า ลูคัส มูรา (Lucas Moura) ซึ่งทำประตูพาสเปอร์สเข้าชิง UCL จริง ๆ คือสนับสนุนประธานาธิบดีฝ่ายขวาของบราซิลนะ ประธานาธิบดีคนล่าสุดที่เพิ่งขึ้นมาแล้วก็มีจุดยืนทางการเมืองขวาจัด เพราะ ลูคัส มูรา ให้เหตุผลว่าโตมาจากชุมชนแออัด แล้วก็อยู่ท่ามกลางการค้ายา อารมณ์ว่านอกกฎหมายต่าง ๆ มากมาย แต่ที่อยู่มาได้และเป็นนักบอลที่เอาดีได้เพราะครอบครัวและศาสนา เพราะฉะนั้น ก็เลยสนับสนุนประธานาธิบดีที่ขวาจัด มีนโยบายสายเหยี่ยวมาชำระล้างไอ้สิ่งผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายต่าง ๆ พอเราลงลึกจริง ๆ อุดมคติของทีมก็จะไม่ค่อยแน่นแล้ว ถ้าเราบอกว่า สมมติเราตีว่าเราอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยแล้วเชื่อสเปอร์สแบบนี้ มันจะติดแล้ว ผมรู้สึกว่าบางอย่างมันก็...นี่แหละ ก็คือเชียร์เพราะเชียร์บอลอะไรอย่างนี้ ดูบอลเพราะดูผลการแข่งขัน ดูบอลเพราะนักเตะ มันก็เป็น entertainer เป็นคาแรคเตอร์ ผมว่ามันก็ดูอย่างนั้นได้ หรือจะมาเทียบอย่างแมนยูฯ ลิเวอร์พูล จะเห็นกันว่าจะมีเปรียบเทียบลิเวอร์พูลกับประชาธิปไตย ลิเวอร์พูลได้แชมป์กับประชาธิปไตยไทย ผมว่าอย่างนั้นมันเปรียบเทียบได้อยู่ ผมว่ามันมีความเป็นตำนานอยู่ ลิเวอร์พูล แมนยูฯ  มันยกระดับเป็นตำนานที่มาพร้อมด้วยเกียรติประวัติ มีดรามา ปมปัญหาอะไรต่าง ๆ แต่พอเป็นทีมแบบสเปอร์สขึ้นมาหรือกระทั่งเชลซี แมนซิตีก็เถอะ ผมรู้สึกว่าลักษณะเป็นตำนานซึ่งจะ adapt ได้ทุกบริบทมันไม่ได้เข้มข้น หรือไม่ได้มีความเป็นเรื่องเล่าที่ใหญ่ขนาดนั้น 

The People: คุณมองความหมาย identity ของกองเชียร์บอลไทยอย่าง เด็กผี เด็กหงส์ เด็กไก่ อย่างไร

ปราปต์: อย่างที่เคยบอกในคำถามก่อน ๆ ผมวิเคราะห์ไม่ได้หรือไม่เคยวิเคราะห์เหมือนกันว่าอะไรคืออัตลักษณ์ร่วมของเด็กผี เด็กหงส์ หรือกระทั่งเด็กไก่ หรือนอกจากเชียร์ทีมเดียวกันแล้ว อะไรคือวิธีคิดคุณค่าที่แฟน ๆ สเปอร์ส รวมถึงสโมสรอื่น ๆ ยึดถือร่วมกัน จนกลายเป็นเด็กไก่ เด็กผี เด็กหงส์ แต่เอาเข้าจริง ผมกลับสนใจเรื่องอื่น เช่น กระบวนการที่คนคนหนึ่งจะค่อย ๆ กลายเป็นแฟนบอลของสโมสรฟุตบอลทีมหนึ่งนั้น มันต้องประกอบด้วยสาเหตุ ปัจจัย อะไรบ้าง อย่างผมเชียร์สเปอร์ส เพราะตัวเองเริ่มรู้จักกีฬาฟุตบอลจากบอลโลกปี '90 ซึ่งอังกฤษโชว์ฟอร์มดี และนักเตะสำคัญของอังกฤษสองคนมาจากสเปอร์ส แต่ผมจะไม่แน่ใจเหมือนกันว่า คนรุ่นใกล้ ๆ กันที่เริ่มดูบอลในเวลาไล่เลี่ยกับผมเชียร์ลิเวอร์พูลด้วยเหตุผลอะไรบ้าง เพราะนับตั้งแต่ฤดูกาล 1990/1991 หลังบอลโลกคราวนั้น ก็ถึงยุคตกต่ำของลิเวอร์พูลพอดี หรือผมจะสนใจมากว่าพวกเด็ก ๆ ที่เริ่มดูบอลในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้พวกเขาเลือกเชียร์แมนยูฯ ในยุคที่ปีศาจแดงโชว์ฟอร์มได้ไม่น่าประทับใจนัก ถ้าคนรุ่นผมเชียร์หงส์แดง หรือเด็ก ๆ รุ่นปัจจุบัน เชียร์ปีศาจแดงเพราะตำนานเกียรติประวัติของทั้งสองทีม ซึ่งพวกเขาไม่เคยสัมผัสมันจริง ๆ เหมือนกัน ก็น่าสนใจว่าตำนานหรือเกียรติประวัติภูมิหลังมันทำงานยังไงในความคิดของแต่ละคน

The People: คิดอย่างไรกับเนื้อหาฟุตบอลที่มีลีลาการเล่าเรื่องในเชิงวรรณกรรมแบบเพจต่าง ๆ ในปัจจุบันนี้

ปราปต์: มันเหมือนจะเป็นยุคของมันอยู่เหมือนกันนะ คือเอาง่าย ๆ เห็นสตาร์ ซอคเก้อร์ เขาทำหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่เป็นเรโทรออกมา รู้สึกจะทำออกมา 2 เล่ม คือเป็นหนังสือบอลกึ่ง ๆ นิตยสารบอล ตั้งแต่ยุคของ ย.โย่ง ยอดทอง ซึ่งเอาจริง ๆ ผมก็เห็นลักษณะอะไรบางอย่างซึ่งคล้ายกับเพจบอลกลุ่มปัจจุบันที่เพิ่งยกไป คือมี ย.โย่ง แปลเรื่องสั้นเกี่ยวกับฟุตบอล ผมก็เลยรู้สึกว่าสื่อฟุตบอลของเมืองไทยก็มี 2 กระแส หรือ 2 ฝ่ายคู่กันอยู่ เพียงแต่ยุคหนึ่งที่ฟุตบอลมันป๊อปปูลาร์มาก ๆ ซึ่งมาถึงยุคปัจจุบันด้วยนะ ก็ต้องยอมรับว่าสังคมไทยกับฟุตบอลมันเป็นเรื่องการพนัน เป็นเรื่องผลการแข่งขัน อำนาจต่อรอง เป็นอะไรอย่างนี้เสียเยอะ สัมภาษณ์ปราปต์ บุนปาน: ความทรงจำแฟนบอลสเปอร์ส จากยุคลินิเกอร์ถึงชิง UCL แต่อีกด้านก็ต้องยอมรับว่าฟุตบอลก็โตมากับการพัฒนาองค์ความรู้ หรือการผลิตงานวรรณกรรมประเภทหนึ่งเหมือนกัน ถ้าเราย้อนไป ย.โย่ง ยอดทอง อะไรก็ดี หรือกระทั่งดูคนพากย์กีฬาอย่าง พิศณุ นิลกลัด คือคนที่มีทักษะภาษาและการเล่าเรื่องจริง ๆ หรือยุคต่อมาก็จะเห็นว่าบุคลากรของสื่อกีฬาอย่างสยามสปอร์ต คนทำบอลฝรั่งเศสคือคนที่จบมหาวิทยาลัยหลักของเมืองไทย แล้วก็เรียนภาษาฝรั่งเศส คนทำบอลอิตาลีต้องรู้ภาษาอิตาลี อย่างคุณนพนันท์ (ศรีศร) จบนิติฯ ธรรมศาสตร์ บอลเยอรมันกลายเป็นว่าเป็นนายพลทหารอากาศ 2 คน ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกงานสื่อบอลประเภทนี้ เพราะฉะนั้น อย่างอานิกร (ชำนาญกุล - ก.ป้อหล่วน) เราก็ต้องยอมรับว่าอานิกรกับเพจวิเคราะห์บอลจริงจัง ก็มีลีลาชวนให้นึกถึง เป็นต้น จริง ๆ ลักษณะการบรรยายหรือการทำข้อมูลมาแนวทางเดียวกันนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ผมรู้สึกว่าเพจบอลยุคหลังมันเป็นการรื้อฟื้น หรือฟื้นฟูลักษณะความเป็นวรรณกรรมของสื่อฟุตบอล ผมในฐานะคนที่ตามอ่านมาตั้งแต่ยุค '90 มีนิตยสารยุคเก่าที่เครือสยามสปอร์ตนำมา reprint มีชื่อว่า “ชู้ต! โกล” จะมีพวกเรื่องสั้นแปลของ ย.โย่ง มีงานเขียนของยอดทอง เป็นต้น ก็ต้องยอมรับว่าพอหมด ย.โย่ง นิตยสารสตาร์ ซอคเก้อร์ จากที่เป็นสื่อหลัก กลายเป็นหนังสือพิมพ์สตาร์ ซอคเก้อร์ อะไรอย่างนี้ ก็ต้องยอมรับว่าความเป็นสื่อฟุตบอลมันเริ่มผูกกับเรื่องอย่างอื่นแล้ว ผลการแข่งขัน การพนัน หรืองานเขียนที่อ่านสนุก เอามัน แต่จริง ๆ มันมีงานอีกด้านหนึ่งซึ่งฝังอยู่กับสื่อฟุตบอลมาตั้งแต่ต้น แล้วยิ่งสยามสปอร์ตเอง ผมเข้าใจว่าพยายามทำนิตยสารอะไรอยู่เล่มหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ ป็นนิตยสารรายเดือนช่วงปลาย ๆ 2540 ถึงต้น 2550 ถ้าจำไม่ผิด มีลิตเติลโจ สุรศักดิ์ มากทวี เป็นบรรณาธิการ ตัวบทความในเล่มจะมีงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมฟุตบอล วัฒนธรรมการเชียร์ฟุตบอล ค่อนข้างเยอะ หรือมีบทความบางชิ้นที่อ้างอิงงานวิชาการด้านสังคมวิทยาเกี่ยวกับฟุตบอล ซึ่งแตกต่างจากสื่อฟุตบอลในยุคนั้น ออกมาไม่กี่เล่ม แต่อันนั้นผมก็รู้สึกว่าเนื้อหามันถ้ามาเทียบกับปัจจุบัน ก็คือเป็นเพจฟุตบอลทั้งหลายนี่แหละ   สถานที่: ร้าน Brainwake Cafe ที่ Matichon Academy