Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

บทสัมภาษณ์ ‘ดีธาร์ด อันเด’ (Diethard Ande) ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ White Lotus กับเรื่องราวของชาวเยอรมันที่เดินทางรอบโลกเพื่อเข้าใจมนุษย์ก่อนจะปักหลักอยู่ไทยมาเกินครึ่งศตวรรษ

 

“ธุรกิจหนังสือมันไม่ใช่ธุรกิจหรอก

แต่มันคือวิถีชีวิต”

 

นับเป็นเรื่องบังเอิญ ที่ผมเดินผ่านไปเห็นเข้ากับบูธของร้านหนังสือร้านหนึ่ง ในงานสัปดาห์หนังสือราวสองหรือสามปีที่แล้ว บูธดังกล่าวเรียงรายไปด้วยไปแผนที่และโปสการ์ดเก่า หนังสือที่วางขายอยู่นั้นมีหน้าปกที่ถูกจัดวางอย่างเรียบง่าย ภาพหนึ่งภาพประกอบกับภาษาอังกฤษโดยใช้ฟอนต์ Times New Roman ซึ่งผมเคยเห็นหนังสือหน้าปกคล้ายเดียวกันนี้มาก่อนตอนที่คุ้ยหาหนังสือในร้านขายหนังสือมือสอง

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

ภาพโดย White Lotus

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี
ภาพโดย White Lotus

 

ภายในบูธมีชายสูงอายุคนหนึ่ง นั่งรอผู้อ่านแวะเวียนเข้ามาสนใจกับงานตีพิมพ์ของเขา ตีความได้ไม่ยากว่าน่าจะเป็นบุคคลสำคัญของร้านหนังสือแห่งดังกล่าว อาจจะเป็นบรรณาธิการหรือผู้ก่อตั้ง ความสงสัยอุบัติขึ้นเต็มอก ผมเงยหน้ามองป้ายชื่อร้านอ่านได้ว่า ‘White Lotus’ พร้อมกับตัวเลขที่เขียนบอกว่าร้านนี้ครบรอบปีที่ 50 แล้ว

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

ภาพโดย White Lotus

 

ร้านหนังสือที่มีเนื้อหาเฉพาะทางแบบเชิงลึก โดยเฉพาะในแง่ของประวัติศาสตร์กับวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ — คงไม่ได้มีหลายสำนักพิมพ์นักที่เล่าถึงพัฒนาการของรถรางในกรุงเทพหรือเรื่องราวของทหารพรานที่ดูแลอาณาเขตบริเวณชายแดนที่ลึกและเจาะลึกเพียงนี้ — กลายเป็นประกายไฟที่จุดเชื้อเพลิงความสงสัยในใจผมให้ลุกโชน ชาวต่างชาติที่เปิดสำนักพิมพ์ตีแผ่วัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์มาเป็นเวลาเกินครึ่งศตวรรษ
 

เขาเป็นใครกัน?

 

ผมค้นคว้าหาข้อมูลหลายแหล่งเกี่ยวกับ White Lotus นอกเสียจากเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์แล้ว ก็แทบไม่พบบทสัมภาษณ์หรือเรื่องราวของชายผู้นั้นเลย กระทั่งได้สอดส่องไปถึงช่องทางการติดต่อ พบอีเมลที่ปรากฎชื่อว่า ‘ดีธาร์ด อันเด’ (Diethard Ande) เห็นเช่นนั้น ผมจึงตัดสินใจติดต่อไปที่อีเมลดังกล่าวเพื่อแจ้งเจตุจำนงและสาธยายความสนใจของผมให้กับชายผู้นั้นได้รับรู้

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

เราพูดคุยตอบโต้กันทางอีเมลอย่างยาวเหยียด ถึงความเป็นมาเบื้องต้นของ White Lotus ไปจนถึงตัวตนของมิสเตอร์อันเด ไม่กี่เดือนภายหลังจากนั้น ผมก็กำลังอยู่บนรถตู้ เดินทางออกจากกรุงเทพมหานคร มุ่งหน้าสู่ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ท่ามกลางพื้นที่เขียวขจีของป่ารก บ้านหลังหนึ่งตั้งตระหง่านอย่างโดดเดี่ยวห้อมล้อมด้วยธรรมชาติ

แล้วผมก็พบกับเขาอีกครั้ง ชายสูงอายุกับท่าเดินกระฉับกระเฉงเดินมาต้อนรับ เขาสวมเสื้อยืดสีขาวที่พิมพ์โลโก้สำนักพิมพ์ไว้บนอกซ้าย ส่วนตรงกลางของเสื้อเขียนเป็นภาษาอังกฤษที่แปลได้ความว่า “หากการเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ก็คงผิดกฎหมายแล้ว” 

มิสเตอร์อันเดพาเราตระเวนชมบ้านหลังใหญ่ เปรียบเสมือนกับอาณาจักรที่ตัวเขาออกแบบเองทั้งหมด ก่อนที่เราจะนั่งลงที่ห้องอันเป็นคลังหนังสือเก่า และดำดิ่งไปสู่เรื่องราวของสำนักพิมพ์ White Lotus จากคำกล่าวของผู้ที่สร้างมันขึ้นมากับมือ

ในบทสนทนาครั้งนี้เราได้คุยกันตั้งแต่ตัวตนของเขาว่าเป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงได้มาตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศไทยกับสำนักพิมพ์ White Lotus ไปจนถึงเรื่องราวของการคัดสรรเรื่องราวมาตีพิมพ์ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น เรื่องราวของ ดีธาร์ด อันเด สะท้อนให้เราเห็นความสำคัญของการเข้าใจรากเหง้าทางวัฒนธรรม การทำงานและเรียนรู้ไม่จบสิ้น ไปจนถึงคุณค่าของหนังสือในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

ก่อนจะเริ่มต้นที่บทสนทนา ผู้เขียนขอหยิบยกถ้อยคำสุดท้ายของบทสนทนาขึ้นมา เพื่อที่จะได้เห็นภาพรวมและพอจะเข้าใจว่า เขาคนนี้คือใคร

ชื่อของผมคือ ‘ดีธาร์ด อันเด’ (Diethard Ande) ผมเป็นชาวเยอรมัน บางประเภทของเยอรมันก็ว่าได้ ผมเริ่มก่อตั้งบริษัท White Lotus ในปี 1972 ผมอยู่ที่กรุงเทพฯ มาประมาณ 40 ปี และอยู่ที่นี่ (ชลบุรี) มา 20 ปีแล้ว ก่อนที่จะทำหนังสือ ผมทำธุรกิจหลายอย่าง แต่ธุรกิจอื่น ๆ ก็ค่อย ๆ หายไป ธุรกิจหนังสือเติบโตขึ้น จากการขายหนังสือ ก็ขยับมาทำหนังสือ และยังมีหนังสือเก่า หนังสือหายากด้วย

ส่วนใหญ่หนังสือของผมเป็นหนังสือวิชาการเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และรวมถึงยูนนานด้วย

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

 

The People : หากหวนรำลึกไปในอดีต จำได้ไหมว่าโลกในวันนั้นมีหน้าตาเป็นแบบไหน?

ประสบการณ์แรกของผมเท่าที่พอจำได้ในชีวิตคือ ‘สงคราม’ ผมอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเยอรมนี ในเมืองฟลึนส์บวร์ก (Flensburg) ซึ่งเป็นเมืองท่า พ่อแม่ของผมมีบ้านอยู่นอกเมืองไกลออกไป เมื่อนักบินทิ้งระเบิดมาโจมตีท่าเรือ พวกเขาเจอการยิงต่อต้านอย่างหนักจากปืนใหญ่ และเพื่อจะหลบหนีให้เร็ว พวกเขาทิ้งระเบิดลงในย่านที่อยู่อาศัยของเรา มันไม่ใช่การโจมตีพลเรือนโดยเจตนานะ แต่เป็นเพียงการทิ้งระเบิดเพื่อหนีเอาตัวรอด ผมยังจำภาพระเบิดที่บินอยู่ในอากาศได้อยู่เลย

เหตุการณ์นั้นน่าจะเกิดขึ้นราวปี 1944 แต่ผมจำวันเวลาแน่ชัดไม่ได้ บ้านของเพื่อนบ้านห่างจากเราแค่ 100 เมตร ถูกระเบิดเต็ม ๆ คนส่วนใหญ่ในบ้านนั้นเสียชีวิต ผมเห็นกับตาตัวเอง มีเครื่องบินขับไล่ลำหนึ่งถูกยิงตกและพุ่งชนป่า สัญญาณเตือนภัยยังไม่จบด้วยซ้ำ ทุกคนรีบวิ่งออกไปดู เราอาศัยอยู่ใกล้กับฟยอร์ด (Fjord คือลักษณะภูมิประเทศที่เป็นอ่าวแคบและยาวที่มีหน้าผาสูงชันอยู่สองข้าง เกิดจากการกัดเซาะของธารน้ำแข็ง — กองบรรณาธิการ) ทะเล และป่า เป็นพื้นที่พักอาศัยที่สวยงาม ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมเลย

นั่นเป็นประสบการณ์แรกของผม ซึ่งมันเกี่ยวกับสงคราม ผมไม่ชอบสงครามเลย ผมคิดว่าเราควรหลีกเลี่ยงสงครามให้ได้ในทุกกรณี

หลังสงคราม ข้าวของก็ขาดแคลนมาก แม้ว่าคุณมีเงิน แต่คุณก็ซื้ออะไรไม่ได้มากนัก ในตอนนั้นเรามีคูปองปันส่วนอาหาร ซึ่งต่างจากในอเมริกาที่คูปองนั้นให้สิทธิ์ได้รับอาหารฟรี แต่ในเยอรมนี คูปองนี้แค่อนุญาตให้คุณซื้ออาหารได้เพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นการจำกัดปริมาณการซื้อรายคน 

ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีตลาดมืดด้วย แต่ผมยังเด็กเกินไปที่จะมีส่วนร่วม พ่อของผมก็ไม่ได้สันทัดในเรื่องนั้นเสียเท่าไหร่

 

The People : หลังจากช่วงเวลาของสงครามแล้ว ชีวิตคุณเป็นอย่างไรต่อ?

ตอนเรียนมัธยม ผมเรียนซ้ำชั้นหนึ่งปี เพราะป่วยเป็นโรคโลหิตจาง (Anemia) ซึ่งไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำให้ผมเรียนไม่ไหว และต้องออกจากโรงเรียน ในเยอรมนีเรียกว่า ‘The Mittlere Reife’ เป็นวุฒิการศึกษาระดับกลาง ไม่ถือว่าเป็นการลาออกกลางคัน หรือเรียนไม่จบ จากนั้นผมไปเรียนที่โรงเรียนพาณิชย์หนึ่งปี และเริ่มฝึกงานซึ่งปกติใช้เวลา 3 ปี แต่ด้วยพื้นฐานของผม ผมจบใน 2 ปีครึ่ง

หลังจากนั้นผมกลับมาอยู่ในเส้นทางการเรียนปกติ และตัดสินใจเรียนต่อ ผมติดต่อโรงเรียนขอเข้าเรียนเพื่อสอบอาบีทัวร์ (Abitur) ซึ่งเป็นใบรับรองเข้ามหาวิทยาลัย พวกเขารับผมเข้าเรียน และผมสามารถจบหลักสูตร 3 ปี ได้ใน 2 ปีครึ่ง เพราะประสบการณ์ที่ผ่าน ๆ มา

 

The People : ภายหลังจากมัธยมแล้ว คุณอยากเรียนต่อด้านไหน?

พอเรียนจบมัธยมปลาย ที่ปรึกษาก็จะมาถามนักเรียนว่าอยากไปเรียนต่อด้านไหน ผมบอกว่าผมอยากเรียนชีววิทยา ที่ปรึกษาบอกว่า “ลืมไปเสียเถอะ หางานไม่ได้หรอก” คือในช่วงเวลานั้น ถ้าจบชีววิทยาไป คุณก็สามารถจะไปเป็นครู หรือทำงานในบริษัทใหญ่บางแห่งที่ต้องการนักวิจัยด้านชีววิทยา แต่ตำแหน่งเหล่านั้นก็มีน้อยมาก

ดังนั้น ผมจึงไปทำงานที่สวิตเซอร์แลนด์ ผมไม่ได้เลือกงานจากลักษณะของงาน แต่เลือกจากสถานที่ ผมเติบโตริมทะเล ผมอยากอยู่ใกล้น้ำ ผมได้รับข้อเสนอที่เมืองเบิร์น (Bern) แต่ที่นั่นมีเพียงลำธาร ผมจึงปฏิเสธ สุดท้ายผมได้งานที่เมืองบีล (Biel) ซึ่งเป็นเมืองที่ใช้สองภาษาและตั้งอยู่บริเวณพรมแดนฝรั่งเศส-เยอรมนี

แต่หลังจากทำงานไปหนึ่งปี ผมรู้สึกว่ายังไม่เพียงพอ ผมจึงสมัครเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อเรียน ‘Wirtschaftsingenieur’ หรือวิศวกรรมเศรษฐศาสตร์ 

 

The People : วิศวกรรมเศรษฐศาสตร์นี่เรียนเกี่ยวกับอะไร?

เป็นหลักสูตรควบที่เรียนวิศวกรรมครึ่งหนึ่ง และเศรษฐศาสตร์อีกครึ่งหนึ่ง แนวคิดของหลักสูตรนี้คือไม่ต้องการสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ต้องการสร้างบุคลากรที่เข้าใจหลายมิติ ทั้งวิศวกรรม พาณิชยกรรม และกฎหมาย

อีกทั้งเรายังต้องเรียนวิชามนุษยศาสตร์ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักสูตรหลักเลย ผมเลือกวิชาสังคมวิทยา ซึ่งมีอิทธิพลต่อผมมาก ด้วยสังคมวิทยา ผมมองเห็นแนวโน้มทางสังคมที่กว้างขึ้น ผมถึงกับทำนายการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ไม่ใช่จากข้อมูล แต่จากความเข้าใจว่าสังคมรัสเซียล้าหลังตะวันตกประมาณ 50 ปี เมื่อความเป็นอาณานิคมส่วนใหญ่สิ้นสุดหลังปี 1945 สหภาพโซเวียต (ที่มีการปกครองเป็นโครงข่ายคล้ายกับอาณานิคม) ก็ล่มสลายราวปี 1990 ตามหลังมา

รัสเซียบางคนอ้างว่าประเทศตนไม่ใช่อาณานิคม แต่ผมบอกพวกเขาว่า ฝรั่งเศสก็เคยคิดว่าแอลจีเรียเป็นส่วนหนึ่งของมาตุภูมิ ทั้งที่จริง ๆ มันเป็นอาณานิคม

ผมจึงมองนโยบายจากมุมมองของสังคมวิทยา ไม่ใช่จากรายละเอียดปลีกย่อย แต่มองแนวโน้มที่เป็นภาพใหญ่ของสังคม

 

The People : เราพอจะเห็นภาพด้านการศึกษาของคุณแล้ว แต่ถ้าถามเรื่องของ ‘ตัวตน’ คุณเป็นคนแบบไหน? 

ตอนเป็นวัยรุ่น ผมขี้อายมาก ตอนอายุ 16 ปี ผมปั่นจักรยานจากฟลึนส์บวร์กไปแฟรงก์เฟิร์ตและกลับ รวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อวัน นอนในโฮสเทล แถมในโรงเรียนผมมักได้เป็นผู้นำในงานต่าง ๆ ด้วย แต่ผมก็ดันขี้อายเกินกว่าจะพูดอะไรเอง ไม่ว่าจะถามทางหรือถามเวลาเปิดโรงอาหาร ผมจึงเป็นคนกระซิบบอกให้เพื่อนทำแทนตลอด

จนผมมาตระหนักได้ว่าถ้าเดินทางกับคนอื่น ผมจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เลย ผมจึงตัดสินใจเดินทางคนเดียว แบบนั้นผมไม่มีทางเลือก เพราะจะต้องถามเอง ต้องแก้ปัญหาเอง ต้องเข้าสังคม นั่นคือการพัฒนาตัวเอง เป็นเหมือนการทำงานด้านจิตใจ เป็นการบังคับตัวเองให้กล้าทำเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองพัฒนา

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

 

The People : ความเป็นเยอรมันส่งผลต่อแนวคิดในการทำงานของคุณอย่างไรบ้าง?

โดยปกติเรานิยามคำว่า ‘การทำงาน’  (Work) เป็นการทำสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอก แต่การทำงานกับตัวเอง — เพื่อพัฒนาตัวเอง — ก็สำคัญไม่แพ้กันนะ เพราะทุกครั้งที่ผมเอาชนะความกลัวในตัวเองได้ ผมรู้สึกถึงอิสรภาพที่เพิ่มขึ้น สิ่งนี้เกี่ยวโยงกับแนวคิดในวัฒนธรรมเยอรมันของเรา ซึ่งก็คือ การรู้จักตัวเองผ่านการทำงาน อย่างวลีที่ว่า “Arbeit macht frei” หรือ “งานทำให้เราเป็นอิสระ” แม้ว่าแนวคิดนี้จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยเหล่านาซีในค่ายกักกัน แต่แนวคิดนี้ก็ยังฝังรากลึกในวัฒนธรรมของเราอยู่ดี

 

เมื่อใครทำงานฝีมือหรือศิลปะสำเร็จ พวกเขาจะรู้สึกว่าได้ใส่หัวใจและจิตวิญญาณของตนลงไปในนั้น แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันแนวคิดนี้ในเยอรมนีถูกตีตรา เพราะประวัติศาสตร์อันโหดร้ายที่เกิดขึ้น

 

ชาวเยอรมันมีแนวโน้มจะทำทุกอย่างเกินขอบเขต เราเคยมีไคเซอร์ (Kaiser หรือ จักรพรรดิ — กองบรรณาธิการ) ทุกคนก็จงรักภักดีต่อไคเซอร์ จากนั้นเราเป็นสาธารณรัฐในยุคไวมาร์ เราก็พยายามเป็น ‘สาธารณรัฐ 110%’ จากนั้นเมื่อฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจ เราก็สุดโต่งอย่างถึงที่สุดเลย

ภายหลังสงคราม เยอรมันตะวันออกกลายเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาก็สุดโต่งในการเป็นคอมมิวนิสต์ 110% เช่นกัน แนวโน้มของพวกเราที่มักจะทำอะไรเกินขอบเขตนี้ นำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลายตัวเอง (Destructive Behavior) รวมถึงการทำลายระบบคุณค่าของเราเอง

 

The People : คุณเติบโตขึ้นมาพร้อมกับค่านิยมแบบเยอรมัน แต่ปัจจุบันนี้คุณอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยมาเกินครึ่งชีวิต คุณเห็นความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างความเป็น ‘ตะวันตก’ กับ ‘ตะวันออก’?

ความสำเร็จยิ่งใหญ่ของยุโรปอยู่ที่การคิดแบบจำแนกแยกแยะ (Selective Thinking) เราแบ่งแยกและเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Compartmentalization & Specialization) ถ้าคุณปวดท้อง คุณไปหาหมอคนหนึ่ง ถ้าคุณนอนไม่หลับ คุณไปหาหมออีกคนหนึ่ง พวกเรามีหมอเฉพาะทางมากมาย

ทว่าในทางตรงกันข้าม เอเชียมีวิธีคิดแบบองค์รวม (Holistic) ที่มองเห็นความเชื่อมโยงของร่างกายและจิตใจ ผมมองว่าสองสิ่งนี้เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน เอเชียคือสิ่งที่ยุโรปขาดหายไป ผมหลงใหลในเอเชีย เพราะอารยธรรมที่มีต่อเนื่องหลายพันปี โดยเฉพาะอินเดียและจีน ส่วนในอเมริกาใต้และแอฟริกาก็มีวัฒนธรรมที่โดดเด่น แต่ถูกอิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคมหล่อหลอมและเปลี่ยนแปลงไป ผมจึงมุ่งหน้าสู่ อินเดียและจีน เพราะความลึกซึ้งทางภูมิปัญญาของพวกเขา

เราจะเห็นได้ว่าแนวคิดศาสนาเอกเทวนิยม (Monotheism) ที่นับถือเทวะองค์เดียว เช่น คริสต์ ยูดาห์ อิสลาม หรือแม้แต่การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ล้วนมีแนวคิดที่ว่า ‘ความจริงของฉันคือความจริงเพียงหนึ่งเดียว’ (My truth is the only truth) ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ในอินเดียมีเทพเจ้าหลายองค์ หลายเส้นทาง ผู้คนเคารพแนวทางที่ต่างกัน ผมเติบโตมาแบบเปิดกว้าง และเอเชียก็สะท้อนสิ่งนี้ในตัวผม

 

The People : แนวคิดแบบเอเชียช่วยประกอบความเป็นตัวคุณในมิติไหนบ้าง?

ตอนสมัยเรียนที่โรงเรียน ผมไม่ได้เข้าพิธีรับศีลล้างบาป (Baptism) แต่ผมก็ยังเข้าร่วมชั้นเรียนศาสนานะ เพราะศาสนาคริสต์ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเรา ผมมีส่วนร่วมในชั้นเรียน และอาจจะรู้เรื่องศาสนาคริสต์มากกว่าคนอื่น ๆ ในห้องด้วยซ้ำ แต่ผมต้องการวิธีคิดอีกแบบที่ครอบคลุมและกว้างขึ้น ในเอเชีย ผมเห็นความแตกต่างที่คล้ายกับในเยอรมนีระหว่างคนเหนือกับคนใต้ เหมือนกับความแตกต่างระหว่างประเทศโซนตะวันตกกับโซนตะวันออก และผมก็ค้นพบว่าตัวเองเข้ากับวิธีคิดของคนตะวันออกได้ดีกว่า

ในช่วงเวลาที่ผมใช้ชีวิตอยู่ที่ไทย ผมมักโดนคนไทยถามว่าทำไมผมถึงชอบถามนักว่า “ทำไม?” ในเรื่องต่าง ๆ ผมเลยอธิบายไปว่า ถ้าผมไม่เข้าใจเหตุผลในการทำ ผมจะไม่สามารถทำสิ่งนั้นได้ มันเลยกลายเป็นสิ่งที่ผมบอกกับพนักงานของผมที่เมืองไทยอยู่เสมอว่า

 

ทุกอย่างที่เราทำในบริษัทต้องมีเหตุผล

ถ้าผมอธิบายเหตุผลไม่ได้ คุณไม่ต้องทำ

 

The People : จำครั้งแรกที่คุณเดินทางมาเยือนประเทศฝั่งตะวันออกได้ไหม?

ต้องเล่าย้อนกลับไปแบบนี้ ทริปแรกสุดของผมเลยน่าจะเป็นช่วงปิดเทอมของมหาวิทยาลัย จำได้ว่าตอนนั้นมีชายคนหนึ่งจะขายรถสี่คันให้ลูกค้าในเตหะราน (Tehran) แล้วพวกเขาก็กำลังหาคนขับรถเหล่านั้นไปส่งที่เตหะราน ผมที่อยากเดินทางก็เลยสมัครไป จึงเป็นทริปแรกที่ผมได้ไปเยือนตะวันออกกลาง ระหว่างทางเรายังได้ไปนอนอยู่เหนือห้องขังด้วยนะ คือเราก็คิดกันว่าจะจอดที่ไหนดี เลยสรุปว่าจอดรถค้างคืนที่สถานีตำรวจดูท่าจะปลอดภัยที่สุด เราเลยได้พักแรมกันที่นั่น เหนือห้องขังของสถานีตำรวจแห่งนั้น

แต่ถ้าเป็นครั้งแรกที่ผมเดินทางมาเอเชีย ตอนนั้นผมเพิ่งจะสอบปลายภาคเสร็จ และผมก็ตัดสินใจว่าจะพักการเรียนในเทอมต่อไป เพื่อที่จะเดินทางไปโบกรถผจญภัยในเอเชีย 

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

 

ถ้าถามว่าทำไม หนึ่งเลย—ผมอยากจะเห็นโลกด้วยตัวเอง สัมผัสมันด้วยประสบการณ์ตัวเอง ไม่ใช่ฟังจากที่คนอื่นเล่าอีกที ซึ่งการเดินทางแบบโบกรถ (Hitchhiker) ก็ทำให้ผมได้สัมผัสสิ่งนั้น ได้พูดคุยกับผู้คนระหว่างทาง 

ในช่วงก่อนที่จะเดินทาง ผมก็จะไปที่ร้านขายของอเมริกันมือสอง ซื้อถุงนอนของกองทัพสหรัฐฯ และกางเกงขากว้าง เพื่อที่เวลาจะเดินข้ามลำธารก็แค่พับขาขึ้นและก้าวไปได้เลย แล้วผมก็นอนพักที่ไหนก็ได้ ผมไม่หาโรงแรมหรืออะไรเลย อย่างในอัฟกานิสถาน ผมนอนบนภูเขา อุณหภูมิติดลบ แต่ผมรู้สึกอิสระเป็นที่สุด

 

ผมมาโดยไม่มีอคติ มีแต่ความอยากรู้อยากเห็น

ผมมาเยือนเอเชียด้วยความรู้สึกเต็มเปี่ยมที่จะเห็นทุกอย่าง 

 

The People : คุณก็ดูจะได้ไปเยือนหลายประเทศในภูมิภาคนี้ คิดยังไงถึงเลือกประเทศไทยล่ะ?

ตอนที่ผมมาประเทศไทย ผมมาถึงที่สนาบบินดอนเมือง แล้วก็โบกรถบรรทุกเพื่อเดินทางไปหนองคาย ผมได้ไปเชียงใหม่ด้วย จำได้ว่าสมัยก่อนถนนยังสร้างไม่เสร็จดีเลย ได้เดินทางผ่านภูเขาและพื้นที่ต่าง ๆ มากมาย บางทีก็พักแรมระหว่างทาง จริง ๆ ก็มีความคล้ายคลึงกับลาวหรือกัมพูชานะ

แต่ถ้าถามว่าทำไมผมถึงเลือกประเทศไทยเป็นหลักที่มั่น คือตอนนั้นน่าจะเป็นปี 1966 (พ.ศ. 2509) ระหว่างที่เดินทางผมก็คิดไปด้วยว่าประเทศไหนที่จะเหมาะสมกับการอยู่อาศัยของผมที่สุด ผมตัดใจตะวันออกกลางไปก่อนเลย อินเดียตอนนั้นก็ดูจะสังคมนิยมเกินไป พม่าผมเข้าไปไม่ได้ เวียดนามก็กำลังร้อนระอุด้วยสงคราม มาเลเซียนี่นับว่าก้าวหน้าเลยนะแต่ก็ดันมีปัญหาชาติพันธุ์และศาสนา สิงคโปร์ก็เล็กเกินไป ฮ่องกงก็อากาศหนาว ฟิลิปปินส์ก็เคร่งคริสต์คาทอลิกเข้มงวดเกินไป ญี่ปุ่นก็ฤดูหนาวหนาวเกินไป สุดท้ายเหลือแค่สามประเทศ ไทย ลาว และกัมพูชา ที่ผมไม่มีปัญหากับสภาพอากาศเลย ร้อนชื้น ผมไม่มีปัญหา 

แต่ถ้าถามว่าทำไมผมถึงเลือกประเทศไทย ก็ต้องย้อนกลับไปว่าหลังออกเดินทางเสร็จ ผมก็กลับไปเรียนให้จบ จากนั้นผมก็ตีตั๋วเที่ยวเดียวมาที่บริเวณสามประเทศนี้เพื่อหางานทำ แล้วไม่กี่เดือนผ่านไปเพื่อนผมก็เสนองานที่หอการค้าในประเทศไทยมาให้ ผมก็เลยยื่นสมัครไปและได้ทำงานที่นั่น ซึ่งก็ทำให้ผมอยู่ไทยไปโดยปริยาย

แต่ถ้าให้กล่าวถึงข้อดีของไทยในช่วงเวลานั้น ผมก็ต้องยกให้กับนโยบายที่มีความเสรีนิยม แถมในช่วงทศวรรษที่ 1970 เศรษฐกิจของประเทศไทยเองก็เติบโตเป็นอย่างมาก โตเรื่อยตลอดจนสิ้นทศวรรษเลย จนเศรษฐกิจก็มาพังในช่วงต้มยำกุ้งอย่างที่เราจำได้กัน ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยพัฒนาไม่ทันเพื่อนบ้าน 

แต่อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยเองก็ไม่ได้มีการเหยียดเชื้อชาติหรือแม้แต่จำกัดความเชื่อทางศาสนา คือไม่มีปัญหาเลย แถมดังที่บอกไปว่าผมก็ชอบอากาศของที่นี่ 

 

ฉะนั้นประเทศไทย สำหรับผม ก็ไม่ต่างจากสวรรค์บนดินนะ

 

The People : หลังจากที่คนเริ่มลงหลักปักฐานอยู่ที่ประเทศไทยแล้ว เพราะอะไรถึงได้ถือกำเนิดเป็น White Lotus ขึ้น?

หลังจากทำงานที่หอการค้า 2 ปี เจ้านายของผมลาออก ซึ่งเข้าเป็นคนเก่งและสามารถทำงานเข้ากับผมเป็นอย่างมาก นั่นทำให้ผมก็หมดความสนใจ ผมไม่สามารถทำงานภายใต้คนที่มีความสามารถน้อยกว่าผมได้ ผมจึงได้ก่อตั้ง White Lotus ในปี 1972 

คือตอนแรกอยากใช้ชื่อ ‘Lotus’ เฉย ๆ แต่มีคนจดทะเบียนไปแล้ว เพื่อนคนหนึ่งเลยแนะนำให้ใช้ชื่อว่า ‘White Lotus’ แทน

ชื่อ ‘White Lotus’ มีสองความหมายนะ หนึ่งคือ ความบริสุทธิ์ในพุทธศาสนา ดอกบัวขาวเติบโตจากโคลนแต่ยังคงความบริสุทธิ์ แถมพระพุทธเจ้าก็ยังนั่งขัดสมาธิบนดอกบัวอีกด้วย แต่ถ้าเป็นในประวัติศาสตร์จีนเนี่ย ดอกบัวขาวเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน เช่น ไตรแอด (Triads) ซึ่งเป็นองค์กรลับในช่วงราชวงศ์ ยุคแมนจู 

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

 

The People : White Lotus ในช่วงเริ่มต้นมีหน้าตาเป็นแบบไหน?

ในช่วงแรกที่ผมอยู่กรุงเทพฯ ผมขายอะไหล่รถยนต์ในเยาวราช เช่น ลูกปืนเข็ม เพลาข้อเหวี่ยง เพลา อะไหล่ต่าง ๆ ซึ่งมักจะราคาถูกกว่าตัวแทนจำหน่าย ผมยังขายน้ำมันหล่อลื่นพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วย ผมทำธุรกิจส่งออกสินค้าหัตถกรรมและสิ่งทอร่วมกับพ่อค้าชาวอินเดีย ซึ่งเปรียบเสมือนการฝึกงานอีกรอบหนึ่งของผมเลย ผมเรียนรู้จากนักธุรกิจจีนและอินเดีย สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ ทำให้ผมโดนคนหลอกยากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ผมเริ่มจากการขายหนังสือเยอรมันเล่มเล็กที่สนามบินดอนเมืองและตามร้านหนังสือ ต่อมาผมค้าของเก่าที่ซื้อมาจากเชียงใหม่ เช่น ของโบราณจากพม่า แล้วนำมาขายให้พ่อค้าของเก่าอีกทีหนึ่ง

ผมจำได้ว่าหนังสือเล่มแรกที่ผมขายคือ ‘Yao Ceremonial Paintings’ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพพิธีกรรมของชาวเย้า ต้นฉบับภาพเหล่านี้เริ่มเข้าตลาดหลังจากที่ชาวเย้าหนีจากพวกคอมมิวนิสต์ในลาว พวกเขาเลยเอาภาพวาดของตนเองมาขาย ที่จะสะท้อนความเชื่อและศาสนาของพวกเขา

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี หนังสือ Yao Ceremonial Paintings

 

คือคนที่รวบรวมภาพวาดและพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นมาคือชาวฝรั่งเศสนามว่า ‘ฌาค เลอมัวน์’ (Jacques Lemoine) ซึ่งเดิมทีเขาก็มีบริษัทพิมพ์ในลาว ผมก็บอกเขาว่าคุณพิมพ์หนังสือมา ผมจะเป็นคนขายให้ แต่เขาดูเหมือนจะไม่อยากลงทุน ผมเลยพิมพ์เองเสียเลย

ตอนนั้นเพื่อนก็เตือนผมว่าพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขาย ระหว่างตัวคุณจะไม่เหลือแต่เสื้อเอาไว้ใส่ เพราะผมขายแพง แต่ผมก็ขายหนังสือเหล่านี้ไปให้บรรดาร้านขายของเก่า แต่กลายเป็นว่าหนังสือนี้ขายดีมาก ผมขายได้กว่า 100 เล่มในปีแรก ลูกค้าชอบ เพราะลองมองอย่างนี้ ถ้าคุณต้องซื้อภาพต้นฉบับเลยเนี่ย หนึ่งชิ้นมีราคาหมื่นบาทแน่นอน แต่หนังสือเล่มนี้จะให้ข้อมูลพร้อมภาพอย่างครบถ้วนในราคาเพียง 1,500 บาท เท่านั้น ก็ถือว่าคุ้มค่าทั้งสองฝ่าย

 

The People : พอได้เริ่มขยับมาทำหนังสือจริงจังขึ้น คุณรู้สึกยังไง?

ผมมองว่างานที่ผมกำลังทำอยู่ มันคือกระบวนการเรียนรู้สำหรับผม ตอนผมมาไทยครั้งแรก ผมไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศไทยมากกว่าฝรั่งธรรมดาคนอื่น ๆ เลย สิ่งที่ผมทำคือผมได้ถามนู่น ถามนี่ จนทำให้ผมเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น รวมไปถึงการทำหนังสือด้วย พอมาทำหนังสือ ผมก็ได้ออกบูธตามงานสัมมนาวิชาการมากมาย ทั้งด้านไทยศึกษา พม่า ลาว กัมพูชา โบราณคดี ภาษา ผมฟังการนำเสนอ แล้วมักเข้าไปถามวิทยากรว่าสนใจตีพิมพ์หนังสือไหม นั่นคือวิธีที่ผมขยายแคตตาล็อกของผม

ครั้งไหนที่ผมไปฟังแล้วรู้สึกว่างานศึกษาของพวกเขามีความน่าสนใจ ผมก็จะเดินเข้าไปหาผู้เขียนคนนั้น ถามพวกเขาว่าอยากจะแปลงงานวิจัยเป็นหนังสือแล้วพิมพ์กับผมไหม การได้ฟังมัไปจนถึงการได้ถามในงานเสวนาต่าง ๆ มันคือการเรียนรู้ทั้งสิ้น 

ผมได้มีโอกาสพูดคุยว่าตอนนี้ประเด็นที่เป็นที่สนใจคืออะไร คุณคิดอย่างไรกับงานเขียนของคนนี้ การพูดคุยกับหลายคนทำให้ผมเห็นมุมมองในเรื่องต่าง ๆ ที่กว้าง และมีความเป็นกลางต่อทุก ๆ เรื่อง 

นอกจากนั้น ผมยังมองว่าผมเป็นตัวเชื่อมของเครือข่ายผู้ที่สนใจเนื้อหาจำพวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ต้องการของเก่ากับร้านขายของโบราณ ผมจะรู้ว่าร้านไหนมีรูปแกะสลักโบราณของพม่า หรือแม้แต่ระหว่างผู้วิจัย ผู้ศึกษา คนหนึ่งกับอีกคน เช่นบางคนที่กำลังศึกษาปริญญาเอกก็มาซื้อหนังสือกับผม ผมก็จะได้แลกเปลี่ยนกับเขาว่าทำไมถึงซื้อหนังสือเล่มนี้ ลองอ่านเล่มนี้ไปด้วยไหม ส่วนผู้ที่มาซื้อ เขาก็จะได้ถามผมเช่นกัน ว่ารู้จักกับใครที่กำลังศึกษาในด้านนี้ไหม

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ผมมองว่ามันคือเครือข่ายที่พาผู้คนมาพบเจอกัน มันไม่ใช่แค่ธุรกิจที่ทำให้ผมได้รับเพียงผลกำไรเป็นตัวเงินเท่านั้นน่ะ มันคือการพาผู้คนมาพบปะกันและเรียนรู้ไปพร้อมกัน

 

ตัวอย่างเช่น มีผู้หญิงคนหนึ่งมาหาหนังสือเป็นของขวัญให้สามี ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ศึกษาไม้หวาย ซึ่งมีอยู่พันธุ์หนึ่งที่ไม่มีใครรู้เลยว่าไม้พันธุ์นี้มันมีอยู่ที่ไหน ตอนนั้นผมมีหนังสือเกี่ยวกับพันธุ์ไม้หวายอยู่หนึ่งเล่มพอดี ผมเลยขายหนังสือเล่มนั้นให้เธอ และสามีของเธอก็ใช้ข้อมูลจากหนังสือเล่มนั้น ค้นพบสายพันธุ์ไม้หวายจากหนึ่งร้อยปีที่แล้วที่สูญหายในลาว เขาใช้ข้อมูลดินจากหนังสือ เทียบกับแผนที่ และค้นพบตัวอย่างใหม่ได้สำเร็จ 

เรื่องนี้ทำให้ผมมีความสุขมาก ผมได้ช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ มันคือการที่ผมได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับพวกเขา

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

 

The People : กลายเป็นว่า White Lotus ไม่ใช่เพียงแค่สำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือขาย แต่เป็นศูนย์กลางของความรู้ที่เชื่อมผู้คนเข้าหากัน

นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของผมล่ะ ผมรักในการตีแผ่เรื่องราวและประวัติศาสตร์เหล่านี้ บางคราวที่ผมตีพิมพ์งานบางงานไป ก็มีคนมาโต้แย้งผมนะว่าสิ่งที่ผมพิมพ์มันไม่ใช่เรื่องจริง ผมก็ตอบกลับไปเลยว่า แล้วคุณคิดอย่างไรล่ะ เดี๋ยวผมพิมพ์ให้เลย แต่เขาก็ไม่ได้ส่งต้นฉบับมานะ

คือคุณต้องเข้าใจว่าผมไม่สนใจหรอกนะ ถ้าจะมีคนมาบอกว่าสิ่งที่ผมนำเสนอมันผิดทั้งเพ แล้วบอกว่าสิ่งที่เขาคิดคือเรื่องถูก ผมจะบอกอย่างเดียวเลยคือเอางานศึกษาของคุณมา ผมตีพิมพ์ให้ หน้าที่ของผมคือการนำเสนอว่ามีคนหนึ่งศึกษาแล้วได้ผลลัพธ์มาแบบนี้ อีกคนได้มาแบบนี้ 

เพราะบางอย่างมันก็สามารถมองได้หลายมุม และอาจจะไม่มีใครผิดเลยก็ได้ แค่มองต่างมุม ซึ่งหน้าที่ของผมคือตีแผ่ทุกมุม ผมไม่ใช่มิชชันนารีนะโว้ย ที่จะมาบอกว่าข้าคือผู้กุมความจริงเพียงหนึ่งเดียว เพราะทุกคนก็สามารถมองเห็นสรรพสิ่งแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจุดที่ตัวเองกำลังยืนไง

ยกตัวอย่างเช่น กรณีปราสาทพระวิหาร (Preah Vihear) ระหว่างไทยกับกัมพูชา ในฐานะชาวต่างชาติ ผมเป็นกลาง หากย้อนไปดูดี ๆ ที่ไทยแพ้คดี ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาอ่านแผนที่ไม่ถูกต้อง สนธิสัญญาระบุว่าเส้นเขตแดนคือแนวสันปันน้ำ แต่แผนที่มีความคลาดเคลื่อน ถ้าไทยเข้าใจความไม่ตรงกันนี้ ไทยคงคัดค้านได้ในตอนนั้น

ตอนที่เกิดข้อพิพาท กระทรวงการต่างประเทศของไทยซื้อหนังสือของผม ‘The French Wolf and the Siamese Lamb’ ไป 30 เล่ม หนังสือเล่มนี้จะเล่าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสละเอียด 

 

นั่นอาจจะเป็นข้อดีของการเป็นฝรั่งก็ได้มั้ง คือผมต้องการแค่หาความจริง คือผมไม่ได้ต้องการอยู่ข้างใครทั้งนั้น ผมไม่มีผลประโยชน์ได้เสียกับใคร

 

The People : กระบวนการในการคัดเลือกเรื่องราวในการเผยแพร่มีรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้าง?

ผมทำหนังสือพิมพ์ซ้ำประวัติศาสตร์หลายเล่ม ซึ่งผมเป็นคนเลือกเองทั้งหมด ผมมีเพื่อนคนหนึ่งช่วยแปลหนังสือ ตัวอย่างเช่น หนังสือเกี่ยวกับภารกิจปาวี (Pavie Mission) ที่ นักสำรวจนาม ออกุสต์ ปาวี ได้ออกเดินทางเพื่อสำรวจแม่น้ำโขง ซึ่งดั้งเดิมเป็นภาษาฝรั่งเศส และหนังสือเล่มอื่นๆ เขาแปลจากภาษาฝรั่งเศส ดัตช์ หรือเยอรมัน แล้วผมก็นำมาตีพิมพ์

ผมมีหนังสือเกี่ยวกับลาวเล่มหนึ่งที่เดิมทีตีพิมพ์แค่ภาษาสวีเดน ผมเจอผู้หญิงชาวสวีเดนที่ทำงานในสถานทูตที่นี่ เธอแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ เพราะเป็นความชอบและความสนุกส่วนตัวของเธอ

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

 

คุณรู้ไหมว่าหนังสือที่เป็นภาษาดัตช์ เยอรมัน สวีเดน หรือเดนมาร์ก ไม่มีใครอ่านรู้เรื่อง ทุกคนอ่านแต่ภาษาอังกฤษ ผมเลยทำให้หนังสือเหล่านั้นเป็นภาษาอังกฤษ นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ผมทำ

อีกส่วนหนึ่งคือ ตอนที่ผมไปออกบูธในงานสัมมนา ผมชวนคนมาทำหนังสือ เช่น ผมทำหนังสือเกี่ยวกับอนุสรณ์สถานห้าเหลี่ยมแห่งพุกาม (The Pentagonal Monuments of Pagan) ที่เดิมเคยเป็นแค่บทความในวารสารฝรั่งเศสแห่งบูรพทิศ (Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient) ผมบอกเขาว่า หัวข้อนี้ดีมาก เรามาทำเป็นหนังสือเต็มเล่มกันเถอะ แล้วเขาก็ทำ

หลังจากนั้น คนอื่นก็มาหาผม พวกเขารู้จักหนังสือของผม บางคนมีวิทยานิพนธ์หรือผลงาน แล้วถามว่าผมจะตีพิมพ์ให้ไหม ผมก็ตอบตกลง แต่คุณรู้ไหม วิทยานิพนธ์ยังไม่ใช่หนังสือ มันต้องปรับรูปแบบ แก้ไข ให้เหมาะสม ผมก็ช่วยจัดการตรงนั้น 

อีกกรณีหนึ่งคือ หนังสือ The French Wolf and the Siamese Lamb ผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจจะหาเงินจากหนังสือเล่มนี้หรอก แต่การตีพิมพ์กับผมทำเขาได้รับเครดิตทางวิชาการจากมัน ดังนั้นเขาก็ได้รับการเลื่อนสถานะทางวิชาการ คุณก็รู้ นักเขียนต้อง ‘ตีพิมพ์หรือพินาศ’ หมายถึงต้องมีผลงานตีพิมพ์ ไม่อย่างนั้นจะอยู่ในสายวิชาการไม่ได้ ผมก็ช่วยพวกเขาในจุดนี้ด้วย

 

The People : เราจะเห็นได้ว่าเรากำลังนั่งอยู่ในห้องที่เก็บหนังสือไว้มากมาย คุณจัดสรรและแบ่งหมวดหมู่การจัดเก็บอย่างไรบ้าง?

หนังสือของผมจัดเรียงตามภูมิภาค เช่น ไทย จีน เวียดนาม และตามหัวข้อ เช่น สังคมศาสตร์ สัตว์ พืช เครื่องปั้นดินเผา ศิลปะการแสดง ยูนนานมีหมวดของตัวเอง เพราะผมมองว่าพวกเขาแตกต่างจากจีน และมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ลาว และไทย

 

The People : White Lotus นี่เหมือนคลังความรู้ของประเด็นที่มีความเฉพาะทางสูงมาก

ใช่ ผมพยายามจะเป็นแบบนั้นนะ ตอนที่ผมมาที่นี่แรก ๆ มันมีร้าน Asia Books มีเซ็นทรัล แล้วก็มีพวกบริษัทใหญ่ๆ ที่ทำธุรกิจในตลาดใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้นผมอยู่ห่างจากพวกนั้นเลย ผมไม่เคยคิดจะไปแข่งกับพวกเขาด้วยซ้ำ ไม่เคยลองแม้แต่นิดเดียว ผมเลือกทำตลาดเฉพาะทาง ผมเป็นสำนักพิมพ์ที่ทำตลาดแบบเฉพาะทาง หรือเฉพาะกลุ่ม (Niche Marketing)

ผมจะสังเกตดูว่าคนอื่นไม่มีอะไร แล้วผมมีความรู้ด้านไหนบ้าง ผมไปเดินดูของตามร้านขายของเก่า ดูว่าพวกเขามีอะไรบ้าง มีประติมากรรมแบบไหน ภาพวาดแบบไหน เซรามิกแบบไหน จากนั้นผมก็บอกพวกเขาว่า “ดูนี่สิ หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเซรามิกแบบนี้” หรือ “เล่มนี้เกี่ยวกับภาพวาด” หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผมเสนอขายหนังสือให้พวกเขา

ผมขายหนังสือโดยตรงให้กับพ่อค้าของเก่า แล้วบางครั้งพวกเขาก็นำหนังสือไปขายต่อให้ลูกค้าของตัวเองอีกที มันจึงกลายเป็นกระบวนการให้ความรู้แก่พวกเขาด้วย ดังนั้น ผมข้ามร้านค้าปลีกไปเลย ผมขายตรงถึงผู้ใช้ปลายทาง

 

The People : ครั้งหนึ่งคุณเคยกล่าวว่า “เราต้องเข้าใจอดีต เพื่อที่จะวางทางสู่อนาคต” คุณลองอธิบายหน่อยได้ไหม?

สมมติว่าคุณขับรถตกข้างทาง คุณจะพูดว่ายังไง? คุณจะไม่ถามตัวเองเหรอว่า ฉันมาตกอยู่ตรงนี้ได้ยังไง?  ใช่ไหม? ดังนั้น คุณก็จะย้อนคิดว่า ฉันมาจากไหน? ทำไมฉันถึงเลือกเส้นทางนี้? เส้นทางนี้ถูกต้องไหม? คือเราจำเป็นต้องมีนึกถึงสามคำถามสำคัญอยู่อย่างเสมอ หนึ่ง—ฉันมาจากไหน สอง—ตอนนี้ฉันอยู่ตรงไหน และสาม—ฉันอยากจะไปที่ไหนและจะไปอย่างไร หรืออะไรทำนองนั้น

เราจำเป็นต้องรู้ด้วยว่า จุดแข็งของเราคืออะไร สำหรับผม จุดแข็งคือรากเหง้าทางวัฒนธรรมของผม คืออดีตของผม คุณรู้ไหม มีฝรั่งจำนวนมากที่มาที่นี่ เพราะพวกเขาไม่มีความสุขในยุโรป พวกเขาอยากหนีออกจากยุโรป พวกเขาเป็นฮิปปี้ มึนเมายา และดูเหมือนมีความสุข แต่จริงๆ แล้วคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีรากเหง้าลึกซึ้งในวัฒนธรรมของตัวเองเลย

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี


The People : แล้วการไม่ได้สำนึกถึงรากเหง้ามันส่งผลอย่างไรต่อเราบ้าง?

แล้วคุณจะไปตัดสินวัฒนธรรมอื่นได้อย่างไร ถ้าคุณไม่แม้แต่จะมีรากฐานที่มั่นคงของตัวเอง? สำหรับผม รากเหง้าของผมก็คืออดีตของผม ผมรู้ดี อย่างที่ผมพูดไป ผมต้องรู้จักวัฒนธรรมของตัวเองก่อน แล้วจากนั้น เมื่อผมเดินทางไปประเทศอื่น ๆ ผมถึงจะเข้าใจสิ่งอื่นที่แตกต่างหลากหลายจากรากเหง้าของผม

คุณรู้ไหม ผมไม่เคยเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับความเชื่อของคาทอลิกเกี่ยวกับแม่พระมาเรียเลย แต่พอผมมาที่อินเดีย หรือที่นี่ ผมได้เห็นความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิม และเห็นลัทธิบูชาผู้หญิงในอินเดียกับเทพธิดาหญิงต่าง ๆ มันทำให้ผมบรรุลขึ้นมาทันที คือเหมือนกับว่า อยู่ดี ๆ ทุกอย่างก็เชื่อมโยงกันจนผมเข้าใจ

ทันใดนั้นผมก็เข้าใจรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตัวเองในเยอรมนี ว่าทำไมสิ่งเหล่านั้นถึงมีอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่เคยเข้าใจ แต่ตอนนี้ผมเห็นภาพรวมชัดเจนว่า ประเทศอื่นก็มีสิ่งเหล่านี้เช่นกัน พวกเขาก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้ ในอินเดียคุณมีลัทธิตันตระ ที่สอนเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของพลังชายและหญิง เป็นต้น

 

แต่ก่อนอื่นเลย เราต้องเข้าใจวัฒนธรรมของตัวเองก่อน ถ้าไม่อย่างนั้น เราก็จะไปแสดงความคิดเห็นโง่ ๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมของคนอื่น เพราะเราไม่เข้าใจรากเหง้าของตัวเอง

 

คุณรู้ไหม ตอนผมอยู่ในอินเดีย ส่วนใหญ่ผมพักในวัดซิกข์ มีชายคนหนึ่งในวัดซิกข์พูดกับผมว่า “เรามีขยะมากมายจากยุโรปหลั่งไหลเข้ามาที่นี่” เขาหมายถึงพวกที่ไม่เคารพกฎของพวกเรา พวกเขาคิดว่าตัวเองเหนือกว่า แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาไม่ได้เหนือกว่าเลย

อ้อ อีกอย่างหนึ่ง ผมลืมบอกไป ตอนนั้นผมป่วยอยู่ด้วย แล้วหมอก็บอกผมว่า ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามดื่มนม ห้ามกินของมัน ๆ อะไรประมาณนั้น ต้องควบคุมอาหาร นั่นแหละคือสาเหตุว่าทำไมคนบางคนถึงบอกผมว่า “คุณไม่ใช่ชาวเยอรมันตัวจริงหรอก คุณไม่ดื่มแอลกอฮอล์อีกแล้ว” ก่อนหน้านี้ผมก็ดื่มนะ แต่พอหมอบอกอย่างนั้น ผมก็ตัดสินใจทันทีว่า เลิกดื่ม เลิกสูบบุหรี่ เลิกทุกอย่าง

 

The People : แล้วคุณแตกต่างจากฮิปปี้ยังไง?

ผมเป็นนักเดินทางโบกรถ อาจจะดูเหมือนกันภายนอก แต่ผมไม่ใช่ฮิปปี้

ฮิปปี้คือพวกเขาไปอินเดีย แล้วก็หาความสุขจากยาเสพติดหรืออะไรทำนองนั้น แต่ผมมาที่นี่ด้วยเหตุผลที่ต่างออกไป เพราะผมรู้จักจุดแข็งของตัวเองและรู้จักจุดอ่อนของเราอย่างที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้

ผมขอเล่าเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับมิชชันนารีคนหนึ่งให้ฟัง เขาทำงานกับชาวมลาบรี หรือที่เรียกกันว่า ‘ผีตองเหลือง’ 

ผีตองเหลือง’ เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มชาวมลาบรี หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลม้ง-เมี่ยน (Mont-Mare linguistic group) พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในป่า มิชชันนารีคนนั้นทำงานอยู่กับชาวผีตองเหลือง เขาเคยพูดในงานสัมมนาเดียวกับผม

ผมถามเขาว่า “คุณคิดว่าคุณทำถูกแล้วหรือ ที่เปลี่ยนพวกเขาให้เป็นคริสเตียน? ไม่ใช่ว่าพวกเขาควรเป็นชาวพุทธเพื่อให้เข้ากับสังคมไทยโดยรวมหรือ?” เขาตอบว่า “คุณคิดว่าผมทำผิดเหรอ?” ผมกล่าวตอบว่า

 

ผมไม่ได้บอกว่าคุณผิด ผมเพียงแค่ถามว่า
คุณแน่ใจแล้วหรือว่าตัวเองถูก?

 

จากนั้นเราคุยกันยาวเลย ผมยังโชว์ศาลพระภูมิที่บ้านให้เขาดูด้วย คุณจะถามว่าผมเชื่อไหม? นั่นไม่ใช่ประเด็น สิ่งสำคัญคือ สำหรับคนของผม ศาลพระภูมิสำคัญ พวกเขาต้องการมัน ผมก็มีไว้ ไม่ใช่เรื่องที่ผมเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่มันเป็นเรื่องของการเคารพความรู้สึกของคนของผม

ผมคุยกับเขาอีกหลายครั้ง แล้วเขาก็บอกผมว่า “ดูเหมือนคุณจะเป็นคนเปิดกว้างมาก” ต่อมาผมได้ยินว่าเขาลาออกจากองค์กรของเขา เพราะเขาอยากช่วยเหลือผู้คนจริงๆ เขาไม่ได้สนใจเรื่องการเปลี่ยนศาสนาแล้ว ผมได้ยินมาว่าภายหลัง ผู้บังคับบัญชาของเขาบางคนถามเขาว่า “คุณเปลี่ยนศาสนาคนได้กี่คน?” แต่สำหรับเขา เรื่องนั้นไม่สำคัญเลย เขาแค่อยากช่วยเหลือพวกเขาให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ให้พวกเขาปรับตัวและพัฒนาตัวเอง แค่นั้นเอง

แต่ก็นั่นแหละ คุณเห็นไหม ถ้าเราไม่รู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง เราก็เหมือนท่อนไม้ที่ลอยตามแม่น้ำ ไม่มีราก ไม่มีอะไรเลย ดังนั้นวัฒนธรรมของเรา อะไรก็ตามที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรม มันสำคัญมากจริง ๆ เราต้องรู้จักรากเหง้าของตัวเอง ไม่ว่าเราจะเป็นใคร มันไม่สำคัญ แต่เราต้องรู้จักมัน แล้วเราต้องประเมินและถามตัวเองว่า “ตอนนี้เราอยู่ตรงไหน? เราอยากไปที่ไหน?

และคุณรู้ไหม ผมคิดว่าคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมจริง ๆ ควรจะอยู่ในจุดสูงสุดของการพัฒนา แล้วอนุรักษ์นิยมหมายความว่าอะไร? ไม่ได้หมายถึงว่าเราต้องไม่มีสิ่งใหม่เลย แต่มันเหมือนกับตอนที่คุณทำบัญชีสต๊อกประจำปี หรือทำความสะอาดบ้าน คุณจะดูว่า เก้าอี้ตัวนี้พังแล้ว ทิ้งไป หรือคุณอาจบอกว่า มันพังแล้ว งั้นเราก็ต้องซ่อมแซม 

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

 

ขอยกตัวอย่างหนึ่ง ผมเคยตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการทำไม้สักของอังกฤษในภาคเหนือของไทย ที่ลำพูน ตอนนี้ผมไม่มีเล่มนั้นที่นี่ คุณรู้ไหม หลังจากที่ชาวต่างชาติหมดสัมปทาน ชาวไทยก็เข้ามารับช่วงต่อ ราว ๆ ยุคทศวรรษที่ 1950-1960

ผมเขียนคำนำและข้อคิดเห็นของสำนักพิมพ์ ตอนที่ผมอยู่หอการค้า ผมได้รับมอบหมายให้ช่วยส่งเสริมการส่งออกของไทย ผมกับหอการค้าและกระทรวงร่วมกันจัดงานแสดงสินค้าหัตถกรรมครั้งแรกของไทยที่กรุงเทพฯ ภายหลังตอนที่ผมลาออกจากหอการค้า ผมทำงานกับคนอินเดีย ขายชามสลัด จานสเต็ก อะไรทำนองนั้น

มองย้อนกลับไป ผมต้องบอกว่า ผมเองก็มีส่วนในความเสียหายของป่าไม้ในไทยทางอ้อม เพราะบริษัททำไม้ของอังกฤษตอนนั้นตัดไม้แบบคัดเลือก ตัดเฉพาะต้นที่เหมาะสม แต่หลังจากสัมปทานสิ้นสุด คนไทยเข้ามาทำแทน พวกเขาตัดป่าโล่ง (Clear cut) ซึ่งถือเป็นสิ่งที่อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม คุณไม่ควรทำแบบนั้น

คุณตัดโล่งพื้นที่นี้ แต่คุณต้องปลูกใหม่ หรือรักษาพื้นที่อื่นไว้ แต่ที่เกิดขึ้นคือทุกคนคิดแค่ว่า จะหาเงินตอนนี้ แล้วดินก็ถูกกัดเซาะ ไหลลงไปทับถมในอ่างเก็บน้ำ ไม่มีใครคิดถึงผลที่ตามมา ทุกคนแค่คิดว่าจะทำเงินตอนนี้

แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องมีสติ รู้ว่าเรากำลังทำอะไร และเข้าใจผลที่จะตามมา ตอนที่ผมอยู่หอการค้า ผมแค่ได้รับคำสั่ง ผมไม่ได้หาเงินจากสิ่งเหล่านั้น มันเป็นแค่งาน แต่ผมพยายามสร้างความตระหนักผ่านการเขียน ผมอยากให้คนมีสติ เข้าใจความซับซ้อนของปัญหา

 

นักการเมืองแค่ต้องการอยู่ในอำนาจสี่ปี พวกเขาไม่สนใจ และมันเป็นปัญหาของประชาธิปไตยในทุกประเทศ

 

The People : ความสุขทุกวันนี้ของคุณคืออะไร?

ถ้าคุณถามผมวันนี้ว่า ความสุขคืออะไร สำหรับผม ข้อแรก—ชีวิตและการทำงานของผมสอดผสานเป็นสิ่งเดียวกัน สำหรับผม การทำงานและการใช้ชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน ผมไม่ได้มีเวลาทำงาน 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ผมทำงานตอนเย็น หรือเวลาไหนก็ได้

ข้อสอง—ผมมีพนักงานของผมที่นี่ เราเหมือนครอบครัว แม้บางทีก็มีปัญหาทะเลาะกันบ้าง แต่คุณรู้ไหม ผมจ้างพนักงานหญิงพิการสองคน เพราะในเมืองไทย คนพิการมักถูกปฏิบัติไม่ดี คุณรู้ใช่ไหมว่าทำไม? เพราะบางคนเชื่อว่า ถ้าคุณพิการ แปลว่าคุณมีบาป และเพราะคุณเป็นคนบาป ฉันก็ปฏิบัติกับคุณแย่ ๆ ได้ นั่นเป็นข้อสรุปที่ผิด นั่นไม่ใช่พุทธศาสนาที่แท้จริง

สำหรับผม การจ้างพวกเขาไม่ใช่การทำบุญหรือการกุศล แต่คือการให้โอกาส และเด็กผู้หญิงสองคนที่ผมจ้างใช้โอกาสนั้นได้ดี พวกเธอพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ ผมบอกพวกเธอเสมอว่า “ตราบใดที่ฉันยังมีชีวิตอยู่ เธอต้องเรียนรู้ให้มากที่สุด”เพราะเมื่อผมจากไป เธอจะมีสิ่งที่ติดตัวไปได้ เพราะไม่มีใครจะจ้างเธอง่าย ๆ อีกแล้วในสังคมนี้

 

คุณรู้ไหม ธุรกิจของผม ไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเลยในแง่กำไร เพื่อนผมยังพูดเลยว่าธุรกิจหนังสือมันไม่ใช่ธุรกิจด้วยซ้ำ มันคือวิถีชีวิต

 

ทำไมผมถึงยังทำอยู่ ผมสนุกกับการทำงาน ผมชอบทำงานกับผู้คน ช่วยพวกเขาให้มีหนังสือของตัวเอง และมันไม่ใช่แค่ฝ่ายเดียว ผมเองก็ได้เรียนรู้จากมันด้วย มันเป็นการเรียนรู้ทั้งสองฝ่าย

คุณมีเจ้านายใหญ่คอยควบคุม แล้วคุณมีความสุขกับสิ่งนั้นไหม? คุณรู้ไหม คนส่วนใหญ่ในโลกนี้เป็นเหมือนทาส เพราะบริษัทใหญ่ ๆ เขาไม่ต้องการคนแบบผม ผมไม่ได้แต่งงาน แม้ว่าผมจะเคยมีคู่หมั้นหรืออะไรทำนองนั้น แต่บริษัทใหญ่ ๆ ไม่อยากได้คนแบบผม คุณรู้ไหมว่าทำไม? 

 

เพราะคนจำพวกผมมันจะถวิลหาอิสรภาพ

 

ถ้าคุณแต่งงาน มีลูก เจ้านายของคุณสามารถปฏิบัติกับคุณแย่ ๆ ได้ เพราะเขารู้ดีว่าคุณหนีไปไหนไม่ได้ คุณมีครอบครัว คุณต้องรับผิดชอบ ถ้าคุณโดนไล่ออก ครอบครัวคุณจะเป็นยังไง? แต่สำหรับผม ถ้าผมโดนไล่ออก ผมก็ไป ผมมีอิสระ นั่นคือความอิสระที่แท้จริง 

และอย่าถามผมเกี่ยวกับอนาคตของ White Lotus เลยนะ เพราะผมไม่แน่ใจว่าจะมีอนาคตสำหรับ White Lotus หรือเปล่า

ผมต้องการใครสักคนที่จะมารับช่วงต่อ แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครเลย สมมติว่าผมตายวันพรุ่งนี้ สิ่งที่ผมหวังไว้คือ ลูกน้องของผมจะยังอยู่ที่นี่ นั่นคือความปรารถนาของผม ว่าพวกเขาจะสามารถอยู่ต่อไปได้ พวกเขาขายหนังสือของผมต่อในนามของตัวเอง ทำมาหากินได้บ้าง ถึงแม้ว่าสำนักพิมพ์จะจบไปแล้ว พวกเขาคงไม่สามารถทำงานพิมพ์ต่อเองได้ แต่พวกเขายังขายสต๊อกหนังสือที่มีอยู่ได้อีกสักระยะหนึ่ง

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

 

จนถึงตอนนี้ผมหาใครที่อยากรับช่วงต่อไม่ได้เลย คุณรู้จักใครบ้างไหม? แน่นอนว่าต้องใช้เวลาเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ที่นี่สักสองสามเดือน

ผมก็อยากถ่ายทอดความรู้ที่ผมมีให้กับใครบางคน เราต้องทำงานร่วมกันช่วงหนึ่ง เพื่อให้ผมถ่ายทอดสิ่งที่ผมรู้อยู่ในตัวให้เขา เพราะนั่นสำคัญ ผมหวังว่าจะมีคนที่สามารถสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมนี้ต่อไปได้ 

แต่คุณรู้ไหม ธุรกิจหนังสือกำลังตกต่ำ ผมเห็นคนแก่หลายคนตายไป แล้วคนรุ่นใหม่ก็ทิ้งห้องสมุดของพวกเขา ไม่มีความสนใจอะไรในหนังสือเลย ปัญหาตอนนี้คือคนไม่อ่านหนังสืออีกแล้ว พวกเขาอ่านกันแต่แคปชั่น

ขอให้ผมพูดอะไรสักอย่างนะ คนไทยหลายคน หรือจะบอกว่าชาวต่างชาติคนอื่นที่ไปยุโรป ไปเยอรมนี ส่วนใหญ่สิ่งที่พวกเขาเรียนรู้คือเรื่องเทคนิคอย่างเดียว แต่พวกเขาไม่ได้เรียนรู้หรือพยายามทำความเข้าใจรากเหง้าทางวัฒนธรรมเลย และนี่แหละที่เราคุยกันเรื่องรากเหง้า เรื่องที่มาของตัวเอง เพื่อจะเข้าใจวัฒนธรรมของเรา

ผมคิดว่าคนไทยควรเข้าใจวัฒนธรรมของตัวเอง เอาจริง ๆ แล้ว ใครก็ตามควรรู้ว่ารากเหง้าของตัวเองคืออะไร และทำความเข้าใจมันให้ได้ ผมจำได้ครั้งหนึ่งผมคุยกับผู้หญิงมีการศึกษา เธอพูดถึง ‘เวสสันดร’ เธอคิดว่านี่คือวรรณกรรมไทย แต่เธอไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วมันมาจาก ‘เวสสันดรชาดก’ ของอินเดีย

คุณรู้ไหม เราเรียนรู้สิ่งที่ได้รับมาจากโรม จากวัฒนธรรมละติน จากวัฒนธรรมกรีก เราเรียนรู้จากเมโสโปเตเมีย หรือแหล่งอื่น ๆ อย่างน้อย ผมเองก็ได้รับการศึกษาที่ดีและกว้างมาก นั่นคือสิ่งสำคัญ คุณต้องรู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง แต่ละคนควรทำความเข้าใจ จากนั้นก็มองดูว่า อะไรในวัฒนธรรมของเราที่ดี อะไรในวัฒนธรรมอื่นที่ดีกว่า หรือต่างออกไป

และสิ่งไหนที่เหมาะกับวัฒนธรรมหนึ่ง แต่ไม่เหมาะกับอีกวัฒนธรรมหนึ่ง นี่เป็นวิธีมองแบบซับซ้อนหน่อย

 

The People : คุณบอกว่าสังคมเราทุกวันนี้อ่านหนังสือน้อยลง คุณคิดว่าวัฒนธรรมที่คุณพยายามอนุรักษ์ไว้จะค่อย ๆ เลือนหายไปไหม ถ้าวันหนึ่งไม่มี White Lotus อยู่แล้ว?

คุณรู้ไหม ผมก็เหมือนเหตุการณ์ช่วงหนึ่งเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ตอนที่ผมเริ่มทำสำนักพิมพ์ ผมนำระบบ Chicago Manual of Style มาใช้ ผมมีช่างเรียงพิมพ์ ซึ่งอยู่ที่อื่น ไม่ได้อยู่ในบริษัท และมีบรรณาธิการอีกที่หนึ่ง ไม่ได้ทำงานที่เดียวกัน หนังสือของผมทั้งหมดใช้ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน ไม่ใช่อังกฤษแบบอังกฤษ

ผมนำคู่มือชิคาโกมาใช้ในการผลิตหนังสือ และช่างเรียงพิมพ์ของผมใช้แนวทางนี้กับหนังสือของผม จากนั้นเขาก็นำมาตรฐานเดียวกันไปใช้กับหนังสือเล่มอื่นด้วย ผมเป็นคนเริ่มต้นเรื่องนี้ ผมจะพูดว่ายังไงดี ผมยกระดับมาตรฐานขึ้นมา ดังนั้น ผมก็มีส่วนช่วยเล็กๆ หรือพยายามจะช่วยในสิ่งที่ผมเข้าใจ

แต่คุณรู้ไหม ถ้ามีใครสักคนรับช่วงต่อแล้วสืบสานต่อไป ผมก็ดีใจ

แต่ถ้าไม่มี ผมก็จะบอกว่า “แล้วไง?

คุณรู้ไหม ตอนนี้ร้านหนังสือหลายแห่งปิดตัว ไม่ใช่แค่ที่นี่ ผมมีเพื่อนอยู่ที่สิงคโปร์ ร้านหนังสือที่นั่นก็ลดจำนวนลง Asia Books เคยเป็นร้านหนังสือที่ดีมาก แต่ตอนนี้ร้านถูกบริหารโดยนักบัญชี ไม่ใช่คนรักหนังสืออีกต่อไป พวกเขาสนใจแต่ตัวเลข ดูแค่ว่าหนังสือเล่มไหนขายได้

 

คุณรู้ไหม ผมมีความสุขเวลามีคนมาที่นี่แล้วบอกว่า “ผมหาหนังสือเล่มนี้มานานมาก และในที่สุดผมก็เจอมันที่นี่” ผมมีความสุขที่ทำให้คนอื่นมีความสุข แต่ถ้ามองในมุมธุรกิจ นั่นเป็นวิธีคิดที่ผิด ผมรู้ดี

 

จะว่าไป… ผมมีสองคำถามจะถามคุณ คุณพอจะช่วยผมได้ไหม? ผมมีบ้านเพื่อนบ้าน ไม่ทราบว่าคุณเข้ามาบ้านผมจากทางไหน ซ้ายหรือขวา?

 

The People : ทางขวาครับ

ตอนคุณออกไปจากที่นี่ คุณจะเห็นเพื่อนบ้านคนหนึ่ง เขาอยู่ที่เดียวกันนี่แหละ เขาใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ฆ่าทุกอย่างบนที่ดินของเขา มันไม่ผิดกฎหมายหรอก แต่มันเป็นวิธีที่ป่าเถื่อน แบบอเมริกัน

สำหรับผม ผมไม่เคยใช้สารเคมีอะไรแบบนั้น ผมพยายามรักษาพื้นที่ไว้ให้เป็นที่พักพิงของสัตว์ต่างๆถ้าเขาจะไถดิน หรือปล่อยวัวมากินหญ้าในนั้นก่อนจะทำอะไรก็ตาม นั่นยังพอรับได้

คุณรู้จักใครที่ช่วยผมเผยแพร่เรื่องนี้ได้ไหม? เรื่องพฤติกรรมป่าเถื่อนแบบนี้ ผมถือว่ามันป่าเถื่อนจริง ๆ คุณเดินออกไปตอนนี้ก็จะเห็นว่าต้นหญ้ากำลังเริ่มขึ้นใหม่แล้ว

คำถามที่สอง—คุณรู้จักใครที่ทำกราฟฟิตี้แบบฉลาด ๆ ไหม? กราฟฟิตี้ที่มีเนื้อหาสาระนะ ไม่ใช่พ่นมั่ว ๆ ตอนคุณออกไปทางซ้าย คุณจะเห็นกำแพงของผม ผมเพิ่งตัดหญ้าและต้นไม้เตี้ย ๆ ออกไป ผมอยากทาสีขาวใหม่ แล้วอยากให้ใครสักคนมาวาดกราฟฟิตี้แบบมีศิลปะและความหมายจริง ๆ บนกำแพงนี้ 

คุณรู้จักใครไหมที่ทำแบบนั้น? ถ้าเจอใคร ช่วยบอกผมด้วยนะ ผนังบ้านผมยาวไปทางโน้น มีที่ให้วาดกราฟฟิตี้เยอะ คนที่ผ่านไปผ่านมาก็จะเห็น แน่นอนว่าต้องใช้สเปรย์วาด ผมหมายถึงงานศิลปะจริงๆ ไม่ใช่อะไรไร้สาระ

 

The People : ไม่มีปัญหา ผมจะนำเสนอเรื่องนี้ในบทสัมภาษณ์ให้ สุดท้ายที่ผมอยากให้คุณทำ ช่วยแนะนำตัวเองหน่อยครับ ว่าคุณเป็นใคร ทำอะไร และ White Lotus คืออะไร 

ชื่อของผมคือ ‘ดีธาร์ด อันเด’ (Diethard Ande) ผมเป็นชาวเยอรมัน บางประเภทของเยอรมันก็ว่าได้ ผมเริ่มก่อตั้งบริษัท White Lotus ในปี 1972 ผมอยู่ที่กรุงเทพฯ ประมาณ 40 ปี และอยู่ที่นี่ (ชลบุรี) มา 20 ปีแล้ว ก่อนที่ผมจะทำหนังสือ ผมทำธุรกิจหลายอย่าง แต่ธุรกิจอื่น ๆ ก็ค่อย ๆ หายไป ธุรกิจหนังสือเติบโตขึ้น จากการขายหนังสือ ก็ขยับมาทำหนังสือ และยังมีหนังสือเก่า หนังสือหายากด้วย

ส่วนใหญ่หนังสือของผมเป็นหนังสือวิชาการเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แผ่นดินใหญ่ เช่น ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และรวมถึงยูนนานด้วย

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี
 

นั่นคือเรื่องราวทั้งหมดของบทสนทนาในวันนั้น ไม่นานหลังจากนั้นเราทั้งสองก็ได้พบกันอีกครั้งที่งานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด มิสเตอร์อันเดหยิบเอาหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดมาอวดผม หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า ‘Four Cycles of White Lotus’ เขียนโดย ‘ดีธาร์ด อันเด’ ว่าด้วยเรื่องราวเจาะลึกทุกรายละเอียดของสำนักพิมพ์ White Lotus ตั้งแต่จุดเริ่มต้น การก่อสร้างบ้านหลังปัจจุบัน ไปจนถึงงูตัวใดบ้างที่เคยปรากฎตัวในอาณาบริเวณบ้าน

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

Four Cycles of White Lotus

by Diethard Ande

 

เรื่องราวของชายเยอรมันจากแดนตะวันตกผู้เดินทางรอบโลกเพื่อเติมช่องว่างที่เว้าแหว่งในรากเหง้าและความคิดของตน ก่อนจะพบคำตอบเหล่านั้นท่ามกลางป่าเขาและอากาศร้อนชื้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่เขาจะมุ่งมั่นบันทึกเรื่องราวทั้งหมด ตั้งแต่วัฒนธรรม ศิลปะ บ้านเมือง ไปจนถึงผู้คน เพื่อที่จะสะท้อนให้เห็นคุณค่าของการเหลียวหลังเพื่อแลหน้าไปได้ไกลขึ้น 

 

Diethard Ande : สำนักพิมพ์ White Lotus การเดินทางของชาวเยอรมันที่ปักหลักอยู่ไทยมาเกิน 50 ปี

 

เราพูดคุยกันอีกครั้งในวันนั้น ก่อนที่จะอุดหนุนหนังสือเล่มล่าสุดของ White Lotus กลับบ้าน ใครสนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์และเพจของ White Lotus ครับ

ใครจะคิดว่าความบังเอิญที่กวาดสายไปสะดุดกับใครสักคน อาจพาให้เราได้เห็นโลกอีกใบที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน