ธีระ ธัญญอนันต์ผล "นักข่าวมือเก๋า" ที่ย่อยข่าวการเมืองให้เข้าใจง่ายเหมือนไปดูหนัง

ธีระ ธัญญอนันต์ผล "นักข่าวมือเก๋า" ที่ย่อยข่าวการเมืองให้เข้าใจง่ายเหมือนไปดูหนัง

ธีระ ธัญญอนันต์ผล "นักข่าวมือเก๋า" ที่ย่อยข่าวการเมืองให้เข้าใจง่ายเหมือนไปดูหนัง

“เหมือนเราไปดูหนังนั่นแหละ” คือประโยคสั้น ๆ ของ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ หรือ ‘เฮียฮ้อ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่อธิบายถึงการย่อยข่าวการเมืองให้เข้าใจง่ายในแบบฉบับเฮียฮ้อ ให้ ธีระ ธัญญอนันต์ผล ได้ฟัง ในวันที่ธีระก้าวเข้ามานั่งเก้าอี้บรรณาธิการข่าวการเมือง ช่อง 8 ในเครืออาร์เอส เมื่อต้นปีนี้ ธีระ คือหนึ่งในนักข่าวมือเก๋าที่คลุกคลีในสนามข่าวการเมืองมากว่า 20 ปี ผ่านงานโหดหินมาแล้วทั้งที่ศูนย์ข่าวแปซิฟิค ไอทีวี ช่อง 3 โมเดิร์นไนน์ สปริงนิวส์ ฯลฯ เพราะฉะนั้นการย่อยข่าวการเมืองให้ง่าย ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องยากเย็นสำหรับเขาเท่าใดนัก แต่คำตอบที่ได้จากธีระคือ 'ยาก' เพราะในความ (เหมือนจะ) ง่าย เขาต้องประมวลข้อมูลข่าวสารมากมายที่ได้รับ และกลั่นกรองออกมาให้ตรงประเด็นให้ทุกคนเข้าใจมากที่สุดภายในไม่กี่ประโยคบอกประโยคนี้แล้วคนรู้เรื่องเลยว่าเรื่องนี้คืออะไร นี่คือหัวใจสำคัญของมัน” The People ชวน ธีระ หัวเรือใหญ่ของทีมข่าวการเมือง ช่อง 8 คุยถึงการทำงานของสื่อ ความท้าทายในการนำเสนอข่าวการเมืองให้โดนใจแบบไม่ต้องปีนบันไดดู มุมมองต่อปรากฏการณ์นักข่าวโซเชียล และสื่อที่ทำตัวเป็นศาลตัดสิน   ธีระ ธัญญอนันต์ผล "นักข่าวมือเก๋า" ที่ย่อยข่าวการเมืองให้เข้าใจง่ายเหมือนไปดูหนัง   The People: ย้อนไป 20 กว่าปีก่อน นิเทศศาสตร์เป็นสาขาที่คนนิยมเรียนกันมาก คุณก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย? ธีระ: จริง ๆ ตอนจะเอ็นทรานซ์ได้อ่านหนังสือเรื่อง ‘โทรทัศน์ของโต๊ะโตะจัง’ ซึ่งในเรื่องโต๊ะโตะจังไม่เคยอยู่วงการโทรทัศน์ แต่ผู้ใหญ่ที่ NHK ให้โอกาส ผมเลยมีความคิดเหมือนในหนังสือ เฮ้ย เราลองมาทำอะไรแปลก ๆ ดูบ้าง เลยไปสอบมัณฑนศิลป์ โบราณคดี ซึ่งผมวาดรูปไม่เป็น แต่อยากลองของ อยากลองอะไรแปลก ๆ ปรากฏว่าสอบไม่ติด (หัวเราะ) สุดท้ายเลยมาเข้าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งก็ไม่ได้ไกลจากชีวิตตัวเองมาก เพราะชอบอ่านหนังสือ ชอบถ่ายรูป ชอบเขียนหนังสืออยู่แล้ว พอเรียนไปเรื่อย ๆ เหมือนได้เจอตัวตน เราทำคะแนนได้ดีในวิชาที่เกี่ยวกับข่าวและการทำคอนเทนต์ แสดงว่าเป็นตัวเราแน่เลย ได้ทำหนังสือพิมพ์บ้านกล้วย (หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติของนักศึกษาภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ) แล้วชอบ มาจับจุดได้ตอนปี 3-4 เริ่มเห็นแววตัวเองว่ามาทางนี้ เลยคิดว่าจบไปจะไปทำแม็กกาซีน ไม่ได้คิดอยากเป็นนักข่าวเลย   The People: จากคนอยากทำแม็กกาซีน แล้วไปเป็นนักข่าวที่ศูนย์ข่าวแปซิฟิคได้อย่างไร ธีระ: ก็มันยุควิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง หางานยาก เพื่อน ๆ เด็กวารสารศาสตร์ไปทำอย่างอื่นกันหมด เพราะสื่อมวลชนตันแล้ว เขาไปทำเคเอฟซี แมคโดนัลด์ ได้เงินเป็นหมื่น แต่เราเรียนมาก็อยากทำสายนี้ ทั้งที่ก็ยังคิดเหมือนเดิมว่าไม่ได้อยากเป็นนักข่าว ไปสมัครที่โน่นที่นี่ อย่าง นิตยสารสารคดี ช่อง 7 ช่องต่าง ๆ คือไปสมัครไว้ก่อนให้ได้อยู่ในวงการ จนมาได้ที่ศูนย์ข่าวแปซิฟิค ซึ่งเปิดรับนักข่าววิทยุพอดี 2 ปีที่แปซิฟิคให้อะไรเยอะมาก เป็นเหมือนโรงเรียน เขาใช้หลักการว่าที่นี่ไม่มีโต๊ะข่าว ดังนั้นทุกคนต้องทำได้ทุกข่าว เขาจะไม่ขึ้นหมายข่าวให้ว่าวันนี้คุณต้องไปทำอะไร คุณต้องขึ้นหมายด้วยตัวเอง หมายความว่าคุณต้องขวนขวายว่าวันนี้จะเอาข่าวอะไรมาส่งให้ บ.ก. เพราะฉะนั้นเราต้องคิดว่า เฮ้ย เรื่องนี้น่าสนใจ ต้องไปตามเอง เว้นบางกรณีที่เขา assign มาว่าให้ไปทำอะไร ที่แปซิฟิคไม่มีโต๊ะข่าว แต่หลัก ๆ ผมไปประจำที่ กกต. (สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) เพราะตอนนั้นจะมีเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2543 เป็นการเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยความที่เราอาจไม่ได้หวือหวาอะไรมาก แล้วรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นของใหม่ มีกฎหมายเลือกตั้ง ส.ว. ส.ส. เขาคงเห็นแววว่าทำข่าวการเมืองได้ เลยส่งไปอยู่ กกต. ชุดแรก ที่มี คุณยุวรัตน์ กมลเวชช คุณโคทม อารียา ฯลฯ รับผิดชอบ   The People: ได้ยินจากนักข่าวรุ่นก่อน ๆ ว่า แปซิฟิค ‘เคี่ยว’ ทักษะคนทำงานมาก ๆ? ธีระ: แปซิฟิคมีสโลแกนว่า ‘ไม่ได้ ไม่ได้ ต้องได้’ !!! เพราะฉะนั้นมึงต้องได้อย่างเดียว (หัวเราะ) เวลาทำข่าวเลยต้องหาประเด็นมาให้ได้ ร้องห่มร้องไห้กันมาแบบ...หนัก ยุคนั้นการทำข่าวแข่งกันจริงจังมาก ถึงได้มีคำว่า ‘เจอกันบนแผง’ มันคืออารมณ์นี้เลย เดิน ๆ ทำข่าวด้วยกัน ปรากฏวันรุ่งขึ้นเพื่อนได้ข่าวสีฟ (เอ็กซ์คลูสีฟ) คนเดียว เราก็อ้าว...ไปหาประเด็นตอนไหน (หัวเราะ) หรือถ้าเขียนข่าวผิดจะโดนคัดไทย เคยเจอไหม เขียนข่าวผิดคัดไทยร้อยจบ ทุกคนเจออย่างนี้กันหมด แล้วกดดันมาก เพราะเหมือนเขาเคี่ยวเข็ญให้เราทำให้ได้ ลงเสียง รายงานวิทยุ ข่าวต้องเร็ว แล้วสมัยก่อนโทรศัพท์มือถือก็เบ้อเริ่มเทิ่ม เครื่องใหญ่ ไม่สะดวก แบตเตอรี่ก็เสื่อม ทำไง มีอยู่บาทเดียวต้องโทรตู้สาธารณะส่งข่าวให้ได้ภายในจบเดียว นั่นคือทุกอย่างต้องอยู่ในหัว ทำข่าวปุ๊บ เรียบเรียงในหัวแล้วโทรส่งข่าวเลย เป็นการฝึกเราให้พัฒนาตัวเองตลอด   ธีระ ธัญญอนันต์ผล "นักข่าวมือเก๋า" ที่ย่อยข่าวการเมืองให้เข้าใจง่ายเหมือนไปดูหนัง   The People: พูดถึงข่าวการเมือง การทำข่าวยุครัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ที่ระบบการเมืองเปลี่ยนแปลงใหม่หมด คุณต้องทำการบ้านขนาดไหน ธีระ: อ่านอย่างเดียว ต้องทำการบ้านเยอะมาก เกลียดการเมืองมากเลยขอบอก (หัวเราะ) เราต้องขยัน เพราะการทำงานสอนเราว่าต้องไม่ตกข่าว เรากลัวมากว่าจะถามโง่ ๆ นักข่าวเก่า ๆ ก็เยอะ ไปทำเนียบรัฐบาลเจอ เจ๊ยุ (ยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล ของ นสพ.บางกอกโพสต์ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ก็โดนเจ๊ยุด่าตั้งแต่วันแรก โกรธเจ๊ยุไปตั้งนาน สุดท้ายพอรู้จักกันเจ๊ยุก็น่ารัก และสอนหลายอย่างให้เรา ดังนั้นเลยตั้งปณิธานกับตัวเองว่า ต้องถามทุกครั้งที่ไปสัมภาษณ์ อย่างน้อยตั้งไว้ 1 คำถาม ไม่ว่าจะเจอระดับนายกรัฐมนตรีหรือเจอใคร ไม่อยากโง่ใช่ไหม ไม่อยากทำวงแตกใช่ไหม ทำการบ้านสิ รู้ใช่ไหมถ้าเจอคนนี้ต้องถามอะไร ถ้าเราทำการบ้านมากขึ้นก็จะกล้าถามมากขึ้น ทีนี้มันก็สั่งสมประสบการณ์ ถ้าไม่ถาม ไม่ไปชิงกับนักข่าวคนอื่น เราก็จะอยู่อย่างนั้น จะไม่ได้พัฒนาตัวเองขึ้นมา   The People: เกลียดการเมือง แต่ก็ทำข่าวการเมืองมาถึงทุกวันนี้? ธีระ: รู้สึกว่าทำได้ดีกว่าข่าวอื่น (หัวเราะ) ไปทำข่าวอาชญากรรมก็ทำได้ เพราะถูกฝึกให้ต้องทำทุกข่าว ไปตลาดหุ้นนี่แบบ...ตายแล้ว อะไรวะเนี่ย ไม่ได้ แต่ต้องทำให้ได้ ไม่รู้สิ แต่อยู่การเมืองแล้วรู้สึกว่าโอเคกับตัวเองที่สุด ที่บอกว่าเกลียดการเมือง เพราะฟังเพลงเพื่อชีวิตมาตั้งแต่เด็ก พี่แอ๊ด (คาราบาว) อะไรอย่างนี้ แล้วเมื่อก่อนเพลงเพื่อชีวิตสะท้อนภาพสังคม เราก็เห็นภาพลบของนักการเมือง กลายเป็นภาพที่ฝังในหัว แต่เมื่อมาทำข่าวก็เข้าใจธรรมชาติของการเมืองมากขึ้น เข้าใจความเป็นนักการเมืองว่าต้องเป็นอย่างไร ต้องมีบวก ลบ มีขาว มีดำ มีเทา นักการเมืองบางคนน้ำดี ทำไมถึงอยู่ไม่ได้ เพราะว่าเจอระบบกลืน จะฝืนก็ไม่ได้ เราก็เรียนรู้ที่จะรายงานข้อเท็จจริงออกไปให้รอบด้านมากที่สุด   The People: จากนักข่าววิทยุ อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ก้าวเข้าสู่วงการโทรทัศน์ ธีระ: ไปทำข่าวโกงเลือกตั้งที่ปากน้ำ ช่วงคุณชนม์สวัสดิ์ (อัศวเหม) ไอทีวีดังเรื่องนี้ เพราะเขาไปถ่ายภาพเอาบัตรไปหย่อนในกล่อง ก็เจอ พี่หนึ่ง-เชิงชาย หว่างอุ่น ในสนามข่าวทุกวัน เจอที่ศาลากลางจังหวัดบ้าง เทศบาลบ้าง จนสนิทสนมกัน พี่หนึ่งคงเห็นแววมั้งครับ ตอนหลังเลยชวนไปอยู่โต๊ะการเมืองที่ไอทีวี ราว ๆ ปี 2543-2544 ตอนนั้นต้องปรับตัวเยอะ เพราะไม่เป็นกับสื่อทีวีเลย ยืนรายงานข่าวมือสั่น ถือสคริปต์สั่นไปหมด กลัวไปหมด จริง ๆ ผมเป็นคนไม่ค่อยพูด เมื่อก่อนขี้อายด้วย (หัวเราะ) แต่ พี่หนิง-สายสวรรค์ (ขยันยิ่ง) พี่กิตติ (สิงหาปัด) จะให้คำแนะนำตลอด จากรายงานข่าวภาคสนาม ก็เริ่มเข้ามาเป็นผู้ประกาศข่าวในช่องควบคู่กัน เริ่มจากข่าวเบรก 4 ทุ่ม ข่าวดึกช่วงยาวขึ้น ข่าวเที่ยง แล้วตอนนั้นมีโปรเจกต์ข่าวเที่ยงวัยทีน ที่มีนิสิตนักศึกษามาหัดอ่านข่าว น้องไบรท์ (พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ) น้องกฤต (เจนพานิชการ) ก็เกิดจากข่าวเที่ยงวัยทีน จากข่าวเที่ยงวัยทีนผมก็ขยับมาข่าวภาคค่ำ แต่ยังต้องวิ่งข่าวภาคสนามด้วย ซึ่งหลัง ๆ ผมอยู่ที่รัฐสภาและองค์กรอิสระเป็นหลัก   The People: ยุคออนไลน์ที่ข่าวมาไว คนยังดูข่าวทีวีไหม ธีระ: เดี๋ยวนี้เทรนด์การเสพข่าวเปลี่ยนไป มีทั้งคนที่เสพข่าวเชิงสาระ เสพข่าวเป็นเพื่อน เสพข่าวเป็นเอนเตอร์เทน หรือถ้าเป็นทีวีก็เปิดทิ้งไว้เฉย ๆ การทำข่าวก็ต้องปรับตามบริบทนั้น ๆ อย่างการทำข่าวการเมืองในอดีตกับปัจจุบันมันไม่ต่างกัน เพียงแต่มันอยู่ที่ช่อง เรื่องการเมืองถ้าจะรายงานเหมือนสมัยก่อน เช่น มติ ครม. วันนี้มีเรื่องอะไรบ้าง ก็ดูน่าเบื่อ ต้องหาวิธีเข้าถึงคนดูให้ได้   ธีระ ธัญญอนันต์ผล "นักข่าวมือเก๋า" ที่ย่อยข่าวการเมืองให้เข้าใจง่ายเหมือนไปดูหนัง   The People: วิธีดึงดูดให้คนติดตามข่าวการเมืองของช่อง 8? ธีระ: นั่นสิ (หัวเราะ) ข่าวช่อง 8 มีสไตล์คือต้องย่อยข่าวยากให้เข้าใจง่าย หลักการนี้ เฮียฮ้อ สอนมาเลย เฮียฮ้อสอนว่าเหมือนเราไปดูหนังนั่นแหละ บอกประโยคนี้แล้วคนรู้เรื่องเลยว่าเรื่องนี้คืออะไร นี่คือหัวใจสำคัญของมัน ตอนมาใหม่ ๆ นี่กดดันมาก (หัวเราะ) คือถึงข่าวช่อง 8 จะมีโต๊ะการเมือง แต่ก็ไม่ใช่ช่องข่าวการเมืองขนาดนั้น พอจะมีการเลือกตั้งปี ’62 เขาอยากให้ข่าวมีความจริงจังขึ้น เราก็มาช่วงนั้นพอดี ถือเป็นความท้าทายมาก ๆ เพราะต้องทำการบ้านว่าคนดูของช่องคือใคร ข่าวที่นี่เป็นอย่างไร แต่เราคิดว่าถ้าสามารถปรับจูนทุกอย่างให้เข้ากับธรรมชาติของช่องได้ ไม่ว่าข่าวจะยากแค่ไหนก็ใช้วิธีการนำเสนอเข้าช่วยได้ ยิ่งเป็นทีวี ยิ่งมีช่องทางให้เล่นเยอะ มีภาพ มีเสียง มีกราฟิก ก็ต้องใช้ประโยชน์จากช่องทางเหล่านี้เพื่อสื่อสารกับคนดูให้ได้มากที่สุด ข่าวเช้าคือ ‘คุยข่าวเช้าช่อง 8’ ช่วงที่เรารับผิดชอบจะเป็นข่าวการเมืองล้วน ๆ แต่ในช่วง ‘ข่าวเข้มช่อง 8’ ตอนกลางคืนที่ก็ทำด้วย จะเป็น hot issue ในแต่ละวัน เป็นข่าวใหญ่ ข่าวดัง ข่าวดรามา เพราะฉะนั้นต้องปรับตัวเองเยอะเหมือนกัน ต้องเล่าข่าวให้ได้ทุกข่าว เพราะแต่ละข่าวก็มีแง่มุมของมัน มันเป็น human interest เป็นชีวิตของคน โจทย์คือแล้วจะทำอย่างไรกับข่าวแบบนี้ ก็ต้องมาดูแง่มุมที่เกี่ยวข้อง อย่างตอนนั้นเป็นข่าวแพรวา ที่เราเองหรือสื่ออื่นเค้นประเด็นออกมาสุด ๆ แล้ว ทีนี้เรานึกไปถึงว่ามีอีกหลายครอบครัวหรือเปล่าที่ตกอยู่ในสภาวะแบบนี้ นำไปสู่เคสของน้องการ์ตูนที่โดนรถชน แล้วต่อมามีคนไปสัมภาษณ์ครอบครัวน้องเพิ่ม เราก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราเปิดขึ้นก็มีประโยชน์ต่อสังคม ข่าวรุนแรงอย่างข่าวข่มขืนเด็ก จะไม่เล่นได้ไหม ก็ต้องกลับมาคิดกัน คุณยอมเป็นพระเอก สร้างสรรค์สังคม แต่ไม่มีใครดูช่องคุณเลย ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่ท้าทาย แต่ข่าวช่องเราค่อนข้างเป๊ะเรื่องกฎหมาย ยกตัวอย่างเรื่องสิทธิเด็ก เราเบลอ บัง ปิดเสียง ทำทุกอย่าง จนคนดูเขียนเข้ามาด่าว่าจะไปเบลอหน้าผู้ต้องหาทำไม คนเขียนในเฟซบุกทุกวัน บอกมันผิดแล้วเบลอทำไม ซึ่งในมุมของเราคือต้องเคารพสิทธิผู้ต้องหา และศาลก็ยังไม่ตัดสินเขาด้วย   The People: ย่อยข่าวการเมืองเพื่อนำเสนอคนดูอย่างไรให้ไม่น่าเบื่อ ธีระ: ยุคนี้นักการเมืองเล่นกับสื่อเป็น เขามีโซเชียลมีเดีย มีวิธีการและช่องทางนำเสนอตัวเอง ตรงนี้เป็นข้อดีที่ทำให้เรามีวัตถุดิบมานำเสนอ เราจะเห็นคนที่มีสีสันต่าง ๆ ออกมาเต็มไปหมด แต่ต้องดูประเด็นด้วยว่าแก่นคืออะไร ไม่ใช่นำเสนอเพราะเป็นสีสันอย่างเดียว สมมติจะนำเสนอเรื่องเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา ถ้าเป็นแง่มุมกฎหมาย โอ้โห...มันซับซ้อน ต้องผ่านชื่อกี่คนตามมาตรานี้ ๆ ถ้าอธิบายโต้ง ๆ แบบนั้นคนก็เบื่อ ต้องมีวิธีการดึงองคาพยพที่มีสีสันเข้ามาสอดแทรก มีคิดอะไรใหม่ ๆ แปลก ๆ เคียงข่าวออกมาให้คนดูได้ติดตาม เหมือนการปรุงอาหาร บางทีต้องหาอะไรที่เป็นกิมมิกใส่เข้าไปในจานของเราให้คนได้ทั้งอิ่ม ได้คุณค่าสารอาหาร และได้กินอะไรอร่อย ๆ มากขึ้น จริง ๆ ประเด็นหนัก ๆ คนชอบนะ อย่างเรื่องการตรวจสอบ เรื่องทุจริต แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์หรือเรื่องนโยบาย คนจะไม่ค่อยชอบ ซึ่งอันนี้นำเสนอยากยิ่งกว่า หรือบางคอนเทนต์เราได้ source ก้อนเดียวเหมือนกันหมด ทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ ทีนี้ก็อยู่ที่เราจะจับมาเล่นแบบไหน บางเรื่องอย่างแย่งตำแหน่ง ลาออก หรือประเด็นถวายสัตย์ปฏิญาณ คนอาจมองว่าไกลตัวไปหน่อย แต่ถ้าระหว่างทางมีสีสัน เราเปิดจากตรงนั้นได้ไหม ใช้การเรียงลำดับข่าวเข้าช่วย อย่างที่ผมบอกว่านักการเมืองเก่งขึ้นในการนำเสนอตัวเอง เราเอาเขาขึ้นเรื่องก่อนไหม ล่อเป้าเพื่อดึงดูดความสนใจ ส่วนข้างในค่อยมีรายละเอียด มีประเด็นที่ต้องการนำเสนอ เอาเสียง เอากราฟิกเข้ามาช่วย เพื่อให้คนดูเข้าใจทิศทางการเมืองไทยมากขึ้น   ธีระ ธัญญอนันต์ผล "นักข่าวมือเก๋า" ที่ย่อยข่าวการเมืองให้เข้าใจง่ายเหมือนไปดูหนัง   The People: ข่าวการเมืองที่บางประเด็นก็วนเวียนแทบไม่มีความคืบหน้า? ธีระ: ความที่เราฝึกเรื่องประเด็นมา คิดข่าวเอง ก็คิดประเด็นเองเลย อย่างเช่นไม่ต้องรอให้มีใครมาพูดว่าทางออกคืออะไร เราก็หาทางเสนอเลยว่าเรื่องนี้มีทางออกกี่ทาง หนึ่ง สอง สาม สี่ สัมภาษณ์มาเพิ่มเติม วางกราฟิกให้สวยงาม แล้วก็คิดไป แต่ถ้าข่าวนั้นยังไม่จบใช่ไหม เอ้า มีอีก งั้นไปค้นดูสิว่าในประวัติศาสตร์เคยมีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นไหม หามุมต่อยอดไปเรื่อย ๆ แต่ก็มีที่ชักจะเริ่มหมด ๆ มุกแล้วก็ยังไม่ยอมจบ (หัวเราะ)   The People: บางครั้งเราเห็นสื่อทำตัวเป็นศาลตัดสิน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง? ธีระ: ใจเรา take side หรือเปล่า ถ้าไม่ ผมว่างานก็ออกมาไม่ take side คุ้ยได้เราคุ้ย ตีได้เราตี แต่ท้ายสุดต้องคงหลักการว่าสุดท้ายเราไม่ใช่ศาล คนดูจะว่าเราเอนเอียง เข้าข้าง เล่นไม่แรงหรือเปล่า แต่ผมว่าถ้าเรามีข้อมูล เราถึงจะเล่น เราต้องยึด fact บางเรื่องทำไม ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ยังตรวจสอบไม่ได้ ทั้งที่น่าจะมีช่องทาง เราก็บอกคนดูว่ามีช่องทางแบบนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ ถ้า ป.ป.ช. ตรวจสอบไม่ได้ ก็ต้องบอกไปว่าตรวจสอบไม่ได้ บางเรื่องที่มีเส้นทางไปถึงนอกประเทศ ถ้าเราตรวจสอบถึงเมืองนอกได้ก็ตรวจสอบแล้ว แต่ก็มีหลายกรณีที่สื่อโป๊ะแตก ซึ่งน่าศึกษาเหมือนกันว่าสื่อทำหน้าที่แบบนี้มันล้ำเส้นไปหรือเปล่า   The People: คุณโตมากับการใช้ชีวิตในสนามข่าว แล้วในยุคนี้ที่หลายคนหาข่าวจากโลกโซเชียล คุณมองเรื่องนี้หรือปรับตัวเข้าหาปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างไร ธีระ: มันก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างถ้าน้อง ๆ ส่งมา เราก็จะดูว่าข่าวนี้เป็นไมค์รวม (สัมภาษณ์รวม) หรือไมค์เดี่ยว ซึ่งเราจะให้เกียรติคนที่ลงไปทำข่าวเอ็กซ์คลูสีฟเสมอ หรือถ้าเกิดเขาส่งลิงก์มาจากไหนก็ตาม ก็ต้องดูว่าเป็นลิงก์ข่าวที่ให้รวมหรือเปล่า บางทีแหล่งข่าวใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียของตัวเองในการแสดงความคิดเห็น เราก็นำเสนอได้ ไม่ใช่ไม่เอาเลย แต่ต้องคิดประเด็นต่อจากนั้นด้วย   The People: คุณเคยทำมาแล้วทั้งนักข่าวและผู้ประกาศข่าว เอาทักษะทั้งสองด้านมาใช้กับงานตอนนี้อย่างไร ธีระ: แต่ละด้านก็ถือว่ามีประสบการณ์และชั้นเชิงของมัน เราเคยเขียนข่าวมาก็รู้วิธีลำดับเรื่อง สะสมประสบการณ์ต่าง ๆ มาเรื่อย ๆ อย่างพูดถึงเรื่องนี้ แต่เราสามารถนอกสคริปต์ไปได้ เช่น ผู้สมัครเลือกตั้งคนนี้นามสกุลเหมือนอดีตนายกฯ หรือพูดเรื่องฮ่องกง ก็เล่าเพิ่มเติมถึงสถานการณ์คล้าย ๆ กันที่เคยไปทำข่าว เหมือนเราอ่านหนังสือแล้วก็จะเก็บอะไรไว้ในตัวเอง พอต้องใช้งานก็สามารถดึงขึ้นมาใช้ได้เลย   ธีระ ธัญญอนันต์ผล "นักข่าวมือเก๋า" ที่ย่อยข่าวการเมืองให้เข้าใจง่ายเหมือนไปดูหนัง   The People: วิธีสร้าง mindset การทำข่าว ให้ทุกคนในทีมมองไปในทิศทางเดียวกัน? ธีระ: โต๊ะการเมืองของเรามี 5 ทีม ก็จะพยายามคุยกับน้อง ๆ ให้บ่อย คำแรกเลยคือช่องเราไม่มีสี เราเล่นได้หมด แต่ขอให้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง เราอยู่ในวงการนี้ก็จะเห็นว่ามีบ้างที่นักข่าวจะไม่ชอบนักการเมืองพรรคนั้นพรรคนี้ แล้วเวลาไปตามใครก็อินกับคนนั้น ตามพรรรคนั้นมากเข้า ก็เกลียดพรรคโน้น ถูกไหม แต่เราต้องดึงเขากลับมา โอเคนั่นคือสิทธิส่วนบุคคลของคุณ แต่ความจริงคือความจริง คุณต้องรายงานตามจริง ไม่ใช่ไปเสี้ยมใส่กันหรือกล่าวหากัน น้อง ๆ ในทีมก็โอเค บางคนเป็นเด็กใหม่มาจากสายอื่น เขาก็พยายามเรียนรู้การเมืองมากขึ้น เราก็พยายามสอนว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ คนรอดูอยู่ว่านักการเมืองของเขา ผู้แทนของเขา หรือนายกฯ จะตอบเรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างไร เขาก็ทำข่าวสนุกมากขึ้น อีกอย่างเราพยายามกระตุ้นน้อง ๆ ให้ทำการบ้านแบบคิดประเด็นต่อยอดด้วย หลัง ๆ จะส่งกลับข่าวสายเดิมก็ไม่กลับแล้ว (หัวเราะ) การมีประเด็นเป็นเรื่องสำคัญของนักข่าว เคยเจอไหม ไปยื่นไมค์พร้อม ๆ กัน ไม่มีใครถามสักคน แหล่งข่าวถามว่าจะถามอะไรผมหรือ คนจ่อไมค์ก็มองหน้ากันเลิ่กลั่ก เพราะฉะนั้นก็เป็นอีกเรื่องที่พยายามให้น้อง ๆ ได้คิดประเด็นว่าวันนี้เราจะตามทิศทางไหน บ.ก. ก็สำคัญ เพราะเป็นคนที่ต้องแนะนำทิศทาง บางวันเรายุ่งเรื่องอื่น แต่น้อง ๆ ก็จะทำการบ้านของตัวเองเข้ามา ไม่ต้องจี้ ขณะเดียวกัน น้อง ๆ ก็สอนเราด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะถ่ายทอดฝ่ายเดียว เพราะจริง ๆ เขาคือคนอีกเจเนอเรชันแล้ว และเราเองก็ต้องทำความเข้าใจกับน้อง ๆ ที่อยู่ในสนามด้วย บางจังหวะเขาอยู่ตรงนั้น ข้างในก็จะไล่บี้ว่าทำไมไม่ถามแบบนี้ แต่ถ้าเกิดไปอยู่ตรงนั้นมันอาจมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ถามไม่ได้ บางทีเป็นเรื่องของแหล่งข่าว นักข่าว มารยาท ฯลฯ เจอกันครั้งหน้าอยากมองหน้ากันติดไหม หรือจ้องจะฟาดฟันกันอย่างเดียว ถ้าฟันก็ต้องฟัน วงแตกก็วงแตก นักข่าวก็ต้องมีลูกล่อลูกชน ซึ่งตรงนี้คนละเรื่องกับไม่ทำการบ้าน เป็นเรื่องทักษะและประสบการณ์ที่สะสมกันมา เพราะสุดท้ายสิ่งที่ต้องตระหนักคือ เราเป็นสื่อมวลชน เรามีหน้าที่อะไร มีหน้าที่แค่ส่งสารไหม หรือมีหน้าที่ยืนหยัดเพื่อสังคม   The People: ถ้าไม่ใช่ข่าวการเมือง คุณอยากทำข่าวอะไร ธีระ: เป็นคนชอบข่าวสังคม ไม่ใช่แนวสังคมหรือหวา ไม่ใช่โซเชียลมีเดีย แต่แนว ๆ ช่วยเหลือสังคม คือเป็นคนผลิตรายการมาก่อน พยายามทำรายการสร้างสรรค์สังคมแล้วขายไม่ได้ แต่ถ้าอยากทำก็คงเป็นข่าวสังคมนี่ล่ะ เอาเข้าจริง เรื่องสังคมก็เกี่ยวพันกับการเมือง ข้าวของขึ้นราคา ค่ารถไฟฟ้าพุ่ง และอีกหลายอย่าง มันมาจากนโยบายทางการเมืองที่ส่งผลต่อปากท้องของเราทั้งนั้น