ซินเธีย หม่อง: แพทย์หญิงชายแดนแห่ง ‘แม่ตาวคลินิก’ กับการถูกกดขี่โดยรัฐทหารในเมียนมา

ซินเธีย หม่อง: แพทย์หญิงชายแดนแห่ง ‘แม่ตาวคลินิก’ กับการถูกกดขี่โดยรัฐทหารในเมียนมา

สัมภาษณ์ ‘ดร. ซินเธีย หม่อง’ (Dr. Cynthia Maung) แพทย์หญิง ผู้ก่อตั้ง ‘แม่ตาวคลินิก’ ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เจ้าของรางวัล The People Awards 2023 ผู้ต่อสู้ให้สิทธิ์ในการเข้าถึงสาธารณสุขเข้าถึงประชาชนทุกคน กับการเติบโตผ่านยุคเผด็จการทหารของเมียนมา

สำหรับคุณ นิยามของ ‘อิสรภาพ’คืออะไร?

 

คือคำถามสุดท้ายที่ The People เอ่ยถาม ‘ดร. ซินเธีย หม่อง’ (Dr. Cynthia Maung) แพทย์หญิงไร้สัญชาติ ผู้ก่อตั้ง ‘แม่ตาวคลินิก’ ประจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เจ้าของ รางวัลแมกไซไซ (รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ) ประจำปี 2546 และ The People Awards 2023 จากการช่วยเหลือผู้คนที่ประสบภัยสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของเมียนมาในบริเวณชายแดนไทย-พม่า และผู้ไม่ได้รับโอกาสทางด้านสาธารณสุขอย่างเพียงพอในบริเวณดังกล่าว และเธอได้ตอบกับเราว่า

 

ซินเธีย หม่อง: แพทย์หญิงชายแดนแห่ง ‘แม่ตาวคลินิก’ กับการถูกกดขี่โดยรัฐทหารในเมียนมา

 

อิสรภาพคือการที่เราได้เห็นคนเป็นอิสระ เราได้เห็นผู้คนมีตัวตน ดังนั้นการปกป้องตัวตนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นเยาวชนและอนาคตของชาติก็ควรจะได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากการกดขี่กดทับ ห่างไกลจากการเลือกปฏิบัติ ระบบการศึกษาก็ต้องมีพื้นที่ให้เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพทางการแสดงออก และเสรีภาพรวมกลุ่มเป็นหนึ่งเดียวกัน

 

สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการก่อร่างสร้างนับปี

เพื่อที่ผู้คนจะอยู่ยงอย่างมั่นใจและอิสระจากตรวนแห่งการถูกกดขี่

 

การทำงานอุทิศตนเองเพื่อสังคมของ ซินเธีย หม่อง เสมือนแสงสว่างที่สาดส่องไปยังพื้นที่ที่เคล้าไปด้วยควาหมองหม่นแห่งความแร้นแค้นและไกลห่างจากความต้องการขั้นพื้นฐาน — ในที่นี้คือด้านสาธารณสุข — แต่เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอแล้วก็ได้ทำให้เราเห็นว่า ‘แม่ตาวคลินิก’ คือผลผลิตที่เติบโตขึ้นมาจากดินเก่าที่เต็มไปด้วยพิษภัยและความแห้งแล้ง เมื่อได้ถูกโยกย้ายไปที่ดินใหม่ในบริเวณที่ใกล้กัน เป้าหมายเดียวของเธอจึงเป็นการคว้าแขนผู้คนไม่ให้ใครต้องหล่นร่วงหายไปในพิษร้ายของดินเก่าอีก

ยุครัฐบาลทหาร สังคมเมียนมา และการเติบโตของซินเธีย

ซินเธีย หม่อง เกิดในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในละแวกเมืองของประเทศเมียนมา พร้อมกับพี่น้องอีกทั้ง 7 คน ที่ว่าโชคดีก็คือการที่เธอและครอบครัวทั้งหมดของเธอ ได้รับโอกาสในการเติบโตและใช้ชีวิตร่วมกันจนก้าวเข้าสู่รั่วมหาวิทยาลัยในช่วงวัย 18 ปี

เรื่องนี้หากมองจากมุมบางมุมอาจดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ว่าโชคดีคือความโชคดีในบริบทของเมียนมาในยุคทศวรรษที่ 1960 ไม่บ่อยครั้งนักที่ครอบครัวจะได้ใช้ชีวิตกันอย่างพร้อมหน้า บ้างก็ต้องเดินทางจากไปเพื่อเรียนต่อ บ้างก็จำต้องแยกทางเพื่อหางานเลี้ยงชีพ บ้างก็ต้องหายจากเพราะการอพยพไปประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศไทย เป็นต้น) นี่จึงเป็นบริบทที่ทำให้สถานการณ์ของซินเธียสามารถูกนิยามว่า ‘โชคดี’ ได้

 

ซินเธีย หม่อง: แพทย์หญิงชายแดนแห่ง ‘แม่ตาวคลินิก’ กับการถูกกดขี่โดยรัฐทหารในเมียนมา

 

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เมียนมาก็ถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหารที่มาพร้อมการปกครองแบบกดขี่ขมเหง และจุดชนวนให้เกิดแรงต้านจากนักเรียน-นักศึกษาจนเกิดเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ไปกว่าเดิม 

 

ภายใต้รัฐบาลทหาร ระบบการศึกษาถูกกดขี่อย่างหนักหนา เยาวชนมากมายจำต้องออกจากโรงเรียนเพราะเขาได้มีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลง บ้างก็ถูกโยนเข้าตาราง บ้างก็ถูกบีบบังคบให้หนีจากไป นี่คือสิ่งที่ฉันเห็นในตอนนั้น

 

นอกจากความขัดแย้งทางการเมือง อีกสิ่งหนึ่งที่ซินเธียเห็น คือการที่ประชาชนภายในประเทศไม่สามารถเข้าถึงการดูแลด้านสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ที่แพทย์และพยาบาลนั้นหากยากยิ่ง การได้เห็นอะไรเช่นนั้นดลบันดาลให้เธอตระหนักว่า การมีสิทธิ์เข้าถึงสาธารณสุขคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรจะได้รับ

ซินเธียมองว่าการที่จะพัฒนาประเทศได้ รากฐานสำคัญคือการมอบการดูแลในด้านสาธารณสุขให้กับผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท เพราะไม่เช่นนั้น อัตราการเสียชีวิตจะสูงเป็นอย่างมาก ผู้หญิงก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตขณะคลอดบุตรที่สูงกว่าเดิม เฉกเช่นเดียวกับเยาวชนที่ไม่ได้รับการคุ้มกันจากโรคต่าง ๆ ผ่านวัคซีน 

 

นั่นคือเหตุผลที่ฉันตัดสินใจเรียนด้านการแพทย์ เพื่อที่ฉันจะสามารถสนับสนุนเรื่องนี้ในพื้นที่ชนบทได้อย่างเต็มที่

 

ฟันฝ่าข้ามแดนจนเกิดเป็น ‘แม่ตาวคลินิก’

 

ภายหลังจากเหตุการณ์ ‘88 ฉันก็ได้เดินทางไปที่หมู่บ้านบริเวณชายแดนไทย-พม่า

 

ซินเธีย หม่อง ลี้ภัยจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในการลุกฮือ 8888 (8888 Uprising) มาช่วยเหลือหมู่บ้านบริเวณตะเข็บชายแดนให้เข้าถึงการดูแลรักษาด้านสาธารณสุขมากกว่าเดิม โดยการร่วมมือกับผู้คนในหมู่บ้านมอบการเรียนรู้ด้านการแพทย์เบื้องต้นให้กับหนุ่มสาวที่ไร้โอกาสในการเดินทางเข้าไปเรียนในเมือง ซินเธียเล่าว่า การเข้าถึงการศึกษาในพื้นที่บริเวณนั้น นับว่าริบหรี่เป็นอย่างมาก ฉะนั้นทางที่เธอพอจะช่วยได้คือการเผยแพร่ความรู้และให้คำปรึกษาเพื่อหวังสร้างบุคลากรทางสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

 

ซินเธีย หม่อง: แพทย์หญิงชายแดนแห่ง ‘แม่ตาวคลินิก’ กับการถูกกดขี่โดยรัฐทหารในเมียนมา

 

แต่ก่อนจะกลายมาเป็นศูนย์กลางด้านสาธารณสุขในบริเวณชายแดนที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ แม่ตาวคลินิกริเริ่มในฐานะศูนย์พักพิงสำหรับผู้ที่จะเดินทางข้ามชายแดนไปรักษาที่โรงพยาบาลฝั่งไทย เพราะไม่ว่าจะขาเข้าและขาออก พวกเขาเหล่านั้นต้องมีจุดพัดพิงเสมือนเช็คพอยนท์ระหว่างทาง นอกจากนั้นก็ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์รับบริจาคทรัพยากรด้านการแพทย์โดยเฉพาะยารักษาโรคต่าง ๆ แม่ตาวคลินิกในจุดเริ่มต้นจึงเปรียบเสมือนศูนย์ประสานงานสำหรับประชาชนข้ามชายแดน

 

แต่เราก็ค่อย ๆ เห็นความต้องการในด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน การคลอดบุตร การรักษาจากโรคต่าง ๆ เช่นมาลาเรียที่ระบาดอย่างมาก ณ ขณะนั้น จากชุมชนผู้พลัดถื่นในบริเวณตะเข็บชายแดน และด้วยความช่วยเหลือจากองค์กรการกุศลท้องถิ่นของประเทศไทย เราจึงสามารถกลายจากศูนย์ประสานงานเป็นศูนย์กลางด้านสาธารณสุขในพื้นที่ได้ในที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม เส้นทางของแม่ตาวคลินิกไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ว่าจะในอดีตหรือแม้แต่ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าแม่ตาวคลินิกจะได้รับการมองเห็น ความสนใจ และการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือจากภาคส่วนต่าง ๆ มากกว่าในอดีต แต่การก้าวเดินของซินเธีย ในฐานะหัวขบวนที่มุ่งขับเคลื่อนสาธารณะสุขให้แก่ประชาชนในบริเวณไทย-เมียนมาที่ต้องการ ก็ยังรายล้อมไปด้วยขวากหนามที่เธอและแม่ตาวคลินิกต้องฝ่าไปให้ได้

ด้วยความที่คลินิกตั้งอยู่ ณ บริเวณชายแดน ผู้ป่วยที่ก้าวเข้ามารับการรักษามากมายหลายคนมักจะเป็นประชาชนที่พลัดถิ่นไปมาอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งประชาชนกลุ่มนี้ก็มีหลายคนที่ไม่ได้มีเอกสารระบุตัวตนตามกฎหมายที่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้การดำเนินการส่งเรื่องต่อให้โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่ภาครัฐดูแลจึงเป็นเรื่องยาก 

มากไปกว่านั้น พวกเขาก็ไม่มีเงินมากพอที่สามารถจ่ายการรักษาต่าง ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งในหลาย ๆ กรณี ผู้ที่เดินทางมาที่แม่ตาวคลินิกที่ข้ามแดนมาจากฝั่งของเมียนมาก็มาพร้อมอาการที่ค่อนข้างสาหัส พอผสานรวมกันทั้งหมด เราจะเห็นได้ว่ากระบวนการช่วยเหลือนั้นดำเนินไปด้วยอุปสรรคตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ให้ศูนย์การแพทย์อย่างแม่ตาวคลินิกกังวลอยู่ไม่น้อย

นอกจากอุปสรรคในด้านการมอบการรักษาแล้ว ในด้านของการกระจายสิทธิ์ในการได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขอย่างมีคุณภาพก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะมีเยาวชนมากมายหลายคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือมีอาหารมากพอในการประทังชีวิตอย่างมีคุณภาพ แม่ตาวคลินิกจึงต้องลงไปพยายามแก้ไขเรื่องนี้ร่วมด้วย

อุปสรรคประการนี้จึงชี้ให้เราเห็นรากของปัญหาที่ควบรวมไปมากกว่าการบริหารงานของรัฐบาล แต่ยังรวมถึงปัญหาเชิงสังคมที่สะท้อนออกมาผ่านปัญหาด้านสาธารณสุขนั่นเอง 

 

ซินเธีย หม่อง: แพทย์หญิงชายแดนแห่ง ‘แม่ตาวคลินิก’ กับการถูกกดขี่โดยรัฐทหารในเมียนมา

 

เมียนมา... ในวันที่ความหวังยังคงอยู่

 

ในเมียนมา ระบบสาธารณสุขมันถูกรวมศูนย์อย่างมาก

ทุก ๆ อย่างถูกควบคุมจากผู้มีอำนาจและกฎหมายที่มาจากส่วนกลางทั้งหมด ผู้ดูแลด้านสาธารณสุขเองแทบจะไม่มีสิทธิ์ที่จะทำอะไรเองได้เลย… จึงเป็นเหตุให้การบริการด้านสาธารณสุขถูกกระจายไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ในพื้นที่ชนบทก็จะมีแต่โรงพยาบาลทุติยภูมิ (Secondary Hospital) แถมบุคลากรอย่างแพทย์และพยาบาลก็กระจุกอยู่แต่ในเมือง

 

ซินเธียอธิบายต่อถึงผลพวงที่ตามมาของการที่อำนาจการจัดการต่าง ๆ ถูกรวมศูนย์ไว้มากจนเกินไป ไม่เพียงแค่รูปแบบระบบแบบนี้สะท้อนภาพให้เราเห็นถึงวัฒนธรรมที่รัฐบาลเผด็จการทหารส่งทอดมาถึงการบริหารบ้านเมือง แต่ยังชี้ให้เห็นถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ถูกเติมเต็มและถูกละเลยจนก่อให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำอันเด่นชัดจนยากจะเบือนหน้าหนี

หากไม่มีความต้องการ เธอคงไม่ยืนอยู่ตรงนี้ ซินเธียเล่าต่อถึงความต้องการทางด้านสาธารณสุขจากประชาชนมากมายหลายคนที่ไม่มีทุนทรัพย์มากพอที่จะสามารถ ‘ซื้อ’ สุขภาพที่ดีให้กับตัวเองได้ แม่ตาวคลินิกจึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่ออ้าแขนรับพวกเขาเหล่านั้น ‘อย่างเท่าเทียม’ โดยไม่เกี่ยงว่าคนที่ก้าวขาเข้ามานั้นเป็นใคร ชาติอะไร หรือมาจากไหน 

นับตั้งแต่เริ่มต้น ดำเนินเรื่อยมาจนครบ 15 ปี การกระทำของเธอจึงได้สร้างแรงกระเพื่อมที่สะท้อนไปให้สากลโลกได้เห็นจนได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย จนทำให้เธอได้รับ ‘รางวัลแมกไซไซ’ หรือรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปีพุทธศักราช 2546

 

ซินเธีย หม่อง: แพทย์หญิงชายแดนแห่ง ‘แม่ตาวคลินิก’ กับการถูกกดขี่โดยรัฐทหารในเมียนมา

 

รัฐบาลของเราลงทุนในด้านสาธารณสุขน้อยมาก เมื่อเทียบกับการลงทุนให้กับกองทัพ จึงเป็นเหตุให้เรามีทั้งบุคลากรทางการแพทย์และทรัพยากรต่าง ๆ ไม่เพียงพอต่อสิ่งที่ประชาชนในประเทศต้องการ… รัฐบาลเมียนมากลับให้ความสำคัญแต่กับด้านแสนยานุภาพ ไม่ใช่บริการที่ประชาชนต้องการ

 

สถานการณ์ความขัดแย้งของเมียนมาดูจะเป็นปัญหาที่แก้ไม่หายเสียที เพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ความขัดแย้งจากต้นตอเดิมก็ยังคงเกิดขึ้นไม่เว้นพัก เราอยากจะทราบว่า ในวันนี้เธอยังคาดหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่หรือไม่

 

ทุกวันนี้ เยาวชนทั่วประเทศจำนวนมากออกมามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองอย่างขันแข็ง พวกเขาเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น พวกเขาสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่น นอกจากนั้น เหล่าข้าราชการ เช่น หมอ พยาบาล และครูบาอาจารย์ ก็มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือการต่อสู้กับความอยุติธรรม และการกดขี่ เราเชื่อว่า เมื่อได้การสนัยสนุนจากนานาชาติและประเทศเพื่อนบ้าน และแรงสนับสนุนจากคนของเราเอง เราจะสามารถสร้างสังคมประชาธิปไตยที่มอบความยุติธรรมกับทุกคนได้

 

หลังจากนั้น ดร. ซินเธีย หม่อง แพทย์หญิงชายแดนแห่งแม่ตาวคลินิก ก็ทิ้งท้ายโดยการส่งสาสน์ไปสู่ผู้คนทั่วโลกว่า

 

เราต้องเชื่อว่าเราทุกคนเกิดมาเท่ากัน ดังนั้นเราจึงต้องมีสังคมที่สามารถมอบความยุติธรรมให้กับทุกคนได้ และมันจะสามารถค้ำจุนสันติภาพทั้งในสังคมเอง และทั่วโลกได้อีกด้วย

 

ซินเธีย หม่อง: แพทย์หญิงชายแดนแห่ง ‘แม่ตาวคลินิก’ กับการถูกกดขี่โดยรัฐทหารในเมียนมา