15 ม.ค. 2562 | 10:40 น.
วันที่ 4 มกราคม 2562 แม้จะผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ การเริ่มต้นใหม่ของปีมาหมาดๆ แต่กลับกลายเป็นวันสิ้นสุดของบางสิ่งบางอย่าง นี่คือวันสุดท้ายที่ปิดตัวของร้าน “เฟมวีดีโอ” ตำนานหนังแผ่นให้เช่าแห่งท่าพระจันทร์ ที่อยู่กับลูกค้ามาร่วม 33 ปี ก่อนจะปิดกิจการแล้วกลายเป็นร้าน “เฟมคอยน์” ร้านขายเหรียญและธนบัตรแทน ในวันที่เราเข้าถึงภาพยนตร์โดยช่องทางออนไลน์มันสะดวกกว่ามาก มันทำให้วงการเช่าหนังแผ่นถูก disrupt อย่างหนัก “เฟมวีดีโอ” หลายปีที่ผ่านมา ลูกค้ามาที่ร้านเริ่มบางลงเรื่อยๆ รายได้หลักจากร้านมาจากการขายเหรียญและธนบัตร แทนที่จะเป็นธุรกิจเช่าหนัง แต่ในช่วงเฟื่องฟูของกิจการเช่าหนังแผ่น ร้านเฟมวีดีโอ เคยทำก๊อปปี้หนังยอดฮิตให้ลูกค้ายืมถึงร้อยก๊อปปี้ กับยอดเช่าเฉลี่ยในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่คนเช่าหนังไปดูสูงถึงวันละ 500 แผ่น กลิ่นฉุนจางๆ ของร้าน, หมวดหนังที่เรียงอย่างเป็นระเบียบ มุมนั้นวางชุดงานของ Wong Kar Wai มุมนี้มีงาน Stanley Kubrick มีงานของ Wes Anderson, Akira Kurozawa หรือ Federico Fellini, มีพนักงานใจดีที่ดูหนังเยอะมาก เพียงแค่คุณเล่าพล็อตหนัง เขาก็จัดหาหนังที่คุณพึงใจให้ได้แล้ว หนังในร้านมีทั้งหมดหนึ่งหมื่นชื่อเรื่อง จนมีเสียงลือว่า "ไม่มีหนังเรื่องไหนที่ร้านเฟมฯ ไม่มี" ตั้งแต่หนังแมส ยันหนังอิสระ, สีหน้ารู้สึกผิดของลูกค้าที่ดองแผ่นหนังไว้แล้วมาคืนเกินกำหนดเวลา ไปจนถึงการเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีของนักเรียนหนัง หรือผู้สนใจ ที่หลายคนในเวลานี้กลายเป็นนักเขียน นักวิจารณ์ และผู้กำกับ ทั้งหมดทั้งมวล นี่คือบรรยากาศของ “ร้านเฟมวีดีโอ” ที่จากนี้ไปจะเหลือเพียงความทรงจำ ซึ่ง The People อยากบันทึกไว้ ผ่านบทสัมภาษณ์สุดท้ายในฐานะเจ้าของร้านเฟมวีดีโอ-ธานี จิริยะสิน คนเดือนตุลาฯ ผู้ผ่านเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ” ผู้เคยเข้าป่าก่อนกลับมาทำธุรกิจขายเทปคาสเซ็ทที่ท่าน้ำ ท่าเรือท่าพระจันทร์ และขยายมาเปิดร้าน “เฟม วีดีโอ” ในที่สุด The People: จุดเริ่มต้นของร้าน “เฟม วีดีโอ” (Fame Video) ธานี: 10 ธันวาคม 2529 เดิมผมเริ่มจากขายเทปคาสเซ็ทก่อน ซึ่งสมัยนี้คนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จัก ผมเริ่มจากขายเทปคาสเซ็ทที่ท่าน้ำ หลังร้านจั๊ว ทางลงเรือ ท่าเรือท่าพระจันทร์ เรามีความสนใจว่าเราจะขยายไลน์ธุรกิจจากการขายเทป ซึ่งมันอยู่ในไลน์เดียวกัน ก็เลยคิดว่าถ้าทำร้านให้เช่าวิดีโอ ช่วงนั้นน่าจะเป็นยุคต้นๆ ของวิดีโอ แต่ก็ไม่ใช่ยุคแรกซะทีเดียว เราเริ่มต้นจากเราวิดีโอที่แตกต่างจากทั่วๆ ไป คือว่าเราจะทำหนังซาวนด์แทร็กที่มีบรรยายไทยหรือบรรยายอังกฤษ แล้วก็หนังพวกมิวสิกวิดีโอ พวกคอนเสิร์ต ตอนนั้นยังหาดูได้ยากไม่เหมือนปัจจุบันนี้ ก็เลยเริ่มต้นที่มาของการทำร้าน The People: เริ่มต้นเป็นร้านเช่าวิดีโอใช่ไหม ธานี: ใช่ เริ่มต้นเป็นร้านเช่าวิดีโอเลย จริงๆ เราเป็นร้านเช่าวิดีโอมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้นเลยนะ แล้วพอเปลี่ยนจากยุควิดีโอ มันก็เป็นวีซีดี ก็เป็นดีวีดีไป แต่ว่าในช่วงแรกเราจะมีขายเทปคาสเซ็ทหรือว่าแผ่นซีดีประกอบด้วย แต่ว่าก็สักพักหนึ่ง เราก็เลิกไปแล้วก็ทำเป็นวิดีโอเต็มตัว The People: ผูกพันอะไรกับท่าพระจันทร์ ธานี: ก็เนื่องจากว่าผมเองจบธรรมศาสตร์(จบเศรษฐศาสตรบัณฑิต) แล้วก็มีความผูกพันกับท่าพระจันทร์นะ เพราะตอนปีที่ผมเรียน ที่ผมเข้าคือปี 2518 พอ 2519 ก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตัวผมเอง ถูกจับตอน 6 ตุลาฯ ผมหลบอยู่ในวัด แต่ก็มีพวกตำรวจ พวกนวพล ลูกเสือชาวบ้านเข้าไปกวาดต้อนมา จุดที่ผมถูกจับ...ก็คือในวัดตรงข้ามกับร้านปัจจุบัน แล้วผมก็ถูกจับให้ถอดเสื้อแล้วก็นอนอยู่บนถนน ปัจจุบันนี้ก็อยู่หน้าร้านเฟมนี่หละ นอนบนถนนก่อนที่จะถูกจับไปที่โรงเรียนตำรวจบางเขน พอกลับออกมา โดยอาชีพ โดยพื้นฐานที่บ้านทำธุรกิจเริ่มตั้งแต่แผ่นเสียง แล้วก็มาเทปคาสเซ็ท แนวๆ นี้ ผมก็รับเอาเทปคาสเซ็ทของที่ร้านของที่บ้านมาขาย นั่นคือจุดเริ่มต้นที่มาขาย แล้วถึงได้มาอยู่ที่ท่าพระจันทร์ ตอนนั้นก็มีร้านที่ท่าพระจันทร์ โรงหนังฮอลลีวูด แม็คเคนน่า อะไรนี่ หลายๆ แห่ง The People: ท่าพระจันทร์เลยเป็นพื้นที่ทางความทรงจำของเรา ธานี: ใช่ครับ The People: ที่มาของคำว่า “ร้านเฟมวีดีโอ” ธานี: เฟม(Fame) นี่จริงๆ มันเป็นตัวย่อของคำว่า Famous คือมีชื่อเสียง แล้วก็เราได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Fame (1980) ซึ่งมันเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับโรงเรียนสอนการแสดง เราเห็นโลโก้มันสวยดี เราก็เลยเอาชื่อนี้มาใช้ เฟมนี่โดยปกติคนทั่วๆ ไปจะเขียนเป็น F-R-A-M-E ที่แปลว่ากรอบรูป แต่ของเราไม่มี R เรา F-A-M-E มาจาก Famous The People: ตั้งแต่ ยุควิดีโอ จนถึงตอนนี้ คนดูหนังเปลี่ยนไปยังไงบ้าง ธานี: ตอนยุคแรกๆ การที่จะสมัคร Member ของร้านวิดีโอร้านหนึ่ง ต้องเสียค่า Member เป็นพัน อันนั้นเป็นยุคก่อนที่เราจะก่อตั้ง ก่อนที่เราจะเข้ามาเพราะว่าตอนนั้นเครื่องเล่นวิดีโอเครื่องหนึ่งประมาณหมื่นกว่าถึงสองหมื่น ในยุคแรกๆ ม้วนวิดีโอม้วนเปล่าม้วนหนึ่งก็ประมาณ 300-500 บาท แต่ราคาพวกนี้มันก็ถูกลงเรื่อยๆ เครื่องมันก็ลงมาเรื่อยๆ ตอนที่เราเปิดร้านก็เป็นยุคต่อมาแล้ว แล้วเราก็เก็บค่าสมาชิกแบบถูก มีโปรโมชั่น ค่าสมาชิก 200 ดูฟรี 100 หรือดูฟรี 200 อะไรยังงี้ ก็...ยุคแรกๆ นี้เครื่องเล่นวิดีโอ ถ้าเทียบกับสมัยนี้ เทียบไม่ถูกเหมือนกันนะ แต่ว่ามันเป็นความสุขในครอบครัว คือถ้าครอบครัวไหนพอมีตังค์ขึ้นมาหน่อย เขาก็จะซื้อเครื่องเล่นวิดีโอ แล้วเขาก็จะมาเช่าหนังตามร้านต่างๆ ตอนนั้นร้านเช่าวิดีโอ มีประมาณ 400-500 ร้านในกรุงเทพฯ แล้วเขาก็จะมาเช่าหนังแล้วไปดูกันในครอบครัว ถือเป็นความสุข ถือเป็นรางวัลของชีวิตเลย ตอนนั้น ใครสามารถที่จะซื้อเครื่องเล่นวิดีโอได้ ถือว่า...มีความสุข เพราะว่า...เมื่อก่อนนี้เคเบิ้ลอะไรพวกนี้มันก็ไม่มี อันนี้คือความรู้สึกของครั้งแรกๆ ของคนมีเครื่องเล่นวิดีโอก็ต้องหาร้านเช่า หาร้านที่มีหนังพอถูกใจเขาที่เขาจะเช่า The People: ต่อมามีหนังซีดี ดีวีดี คนดูหนังเปลี่ยนไปอย่างไร ธานี: หลังจากยุควิดีโอ ต่อมาก็มีฟอร์แมตใหม่เป็นวีซีดี ซึ่งจริงๆ มันเป็นฟอร์แมตที่ไม่มาตรฐาน มันมีเฉพาะในเอเชีย มีกรุงเทพฯ มีประเทศไทย มีไต้หวัน มีไม่กี่ประเทศ มีในจีนเอามาขัดตาทัพก่อนที่มันจะเปลี่ยนยุคเป็นดีวีดี แต่เนื่องจากว่าต้นทุนของมันถูกลงเยอะ ถูกลงกว่าสมัยวิดีโอเยอะ สมัยวิดีโอจากที่เคยบอกว่า 300-400 บาท ตอนหลังมันก็ลดลงมาเรื่อยเหลือถึงประมาณ 50 บาท หมายถึงก่อนที่มันจะหายไปนะ ถ้าลิขสิทธิ์หรือม้วนมาสเตอร์เคยขึ้นถึง 700 ลงมา 500 400 บาท มันก็ยังแพงมาก แต่ในขณะที่การเล่นก็ต้องซื้อเครื่องวิดีโอ ซึ่งถ้าเอาดีหน่อยก็ต้องมีราคาแพง แล้วเอาม้วนเอาแบบธรรมดาก็มี ในขณะที่ต้นทุนของแผ่นวีซีดี จริงๆ ตอนหลังปัจจุบันก็เหลือประมาณ 10-20 บาทเท่านั้นเอง ดังนั้นมันก็เลยสามารถที่จะมาทดแทนม้วนวิดีโอได้ ร้านเราเป็นร้านที่เรายืนหยัด เราเป็นร้านสุดท้ายที่ยังมีม้วนวิดีโอให้เช่านะก่อนที่เราจะเลิกไป เนื่องจากว่าเราเสียดาย เพราะว่าจริงๆ แล้วภาพยนตร์ในรูปแบบของวิดีโอที่เราเก็บไว้มีจำนวนมาก ทั้งภาพยนตร์ต่างประเทศ ภาพยนตร์หายาก ภาพยนตร์คลาสสิก ภาพยนตร์ยุโรป มีจำนวนมาก แต่ว่าวีซีดีที่มันออกมามีจำนวนน้อย หรือแม้กระทั่งดีวีดีเองก็ตาม มีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนภาพยนตร์วิดีโอที่เรามีทั้งหมด คือสมมติว่าคุณมา Search หาหนัง หาอะไร รายชื่อมันมี แต่มันไม่มีฟอร์แมตในรูปแบบดีวีดีหรือวีซีดี แต่มันมีฟอร์แมตวิดีโอ ดังนั้นเราก็พยายามเก็บม้วนวิดีโอไว้จนนาทีสุดท้ายถ้าไม่มีคนดูแล้ว อันนี้มันก็เลยกลายเป็นภาระ กลายเป็นความสูญเสียของเราในเรื่องช้าเกินไปในการปรับตัว เพราะว่าผลที่สุดแล้ววิดีโอพวกนี้ที่ไม่มีคนดู ที่เราพยายามจะเก็บเอาไว้ให้คนเช่า เมื่อไม่มีคนเช่าแล้ว สุดท้ายแล้วเราต้องเอาไปชั่งกิโลฯ ขาย อันนี้มันเป็นความเจ็บปวด เป็นความสูญเสีย เรามีจำนวนหลายหมื่นม้วน แล้วก็ชั่งกิโลฯ เขาไปรีไซเคิลเป็นพลาสติก กิโลฯ หนึ่ง 6-7 บาท ตกม้วนหนึ่งไม่ถึงบาท กิโลฯ หนึ่งก็ประมาณ 6-7 ม้วนนี่แหละ ผมขายไปทั้งหมดประมาณ 2 ตัน The People: 10 ปีที่แล้วเหรอ ธานี: ใช่ๆ น่าจะเกิน 10 กว่าปี ต้องเอารถเทรลเลอร์คันใหญ่ๆ มาบรรทุก 2 เที่ยว The People: ถือว่าเปลี่ยนผ่านไปรอบหนึ่งแล้ว ธานี: เปลี่ยนผ่านไปรอบหนึ่งแล้ว ซึ่งไอ้ต้นทุนตรงนั้นมันเป็นทรัพย์สินที่เราสะสมมา แต่ว่ามันด้อยค่าลงไปทันทีเลย จากเป็นล้าน จำนวนหลายล้านแล้วมันก็กลายเป็นเหลือไม่กี่หมื่น หายไปแล้วเหลือไม่กี่หมื่น ตรงนั้นเป็นความสูญเสีย ตอนหลังมันก็มาเป็นวีซีดี แล้วก็มาเป็นดีวีดี ช่วงการเปลี่ยนผ่านระหว่างวีซีดีมาเป็นดีวีดี เราเริ่มมีประสบการณ์แล้ว เราก็พยายามไม่สต๊อกวีซีดีเพิ่ม แล้วก็พยายามเน้นไปทางดีวีดีเลย The People: ยุคเช่าหนังดีวีดี ลูกค้ากลายเป็นกลุ่มไหน ธานี: ลูกค้าของเราสมัยก่อน ทำเลที่เราเลือกที่ท่าพระจันทร์เพราะว่ามันเป็นแหล่งรวมของ 3 มหาวิทยาลัยด้วยกัน ธรรมศาสตร์ซึ่งก็มีนักศึกษาที่ดูภาพยนตร์ ที่คณะวารสารฯ ที่เขาสอนภาพยนตร์ มีนักศึกษาที่สนใจ มีศิลปากร แล้วที่คิดไม่ถึงก็คือมันยังมีศิริราช (ม.มหิดล) อีกนะ อันนั้นคือลูกค้ากลุ่มหลักของเรา ซึ่งเราก็ Support หนังให้ลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งถือว่าเป็นเฉพาะกลุ่มได้ คือเราก็จะมีพวกซาวนด์แทร็ก คืออย่างศิลปากร เด็กบางคณะใช้รหัสเดียวกันทั้งคณะมายืมหนังเราก็มี (หัวเราะ) ก็ไม่ได้ว่าอะไร แล้วก็มีกลุ่มชาวบ้านก็จะไม่ดูซาวนด์แทร็ก ไม่ดูหนังดรามา ไม่ดูหนังรางวัล ชาวบ้านเขาจะเสพแต่หนังแอ็กชั่น หนังตลก หนังผี อันนั้นคือชาวบ้านทั่วๆ ไปที่เขาจะขายได้ แต่นักศึกษากลุ่มนี้เขาดูอีกอย่างหนึ่ง เสร็จแล้วเรามีอีกกลุ่มหนึ่งคือชาวบ้านๆ เราก็ต้องมีทั้ง 2 ขา เราถึงจะอยู่ได้ แต่ถ้าเราทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้ The People: ร้านเลยมีทั้งหนังที่อาร์ตสุดๆ กับแมสสุดๆ และมีตั้งแต่พากย์ไทยยันซาวนด์แทร็ก ธานี: ใช่ๆ The People: ช่วงนั้นลูกค้าเยอะไหม ธานี: ช่วงนั้นนะถ้าเป็นวันศุกร์ เสาร์ วันหยุดสุดสัปดาห์เนี่ยคนจะเยอะมาก เช่ากันวันละประมาณไม่ต่ำกว่า 500 แผ่น ก็ตอนนั้นถ้าเช่าเรื่องละ 20 บาท ร้านได้วันละ 10,000 บาท The People: ตรงไหนคือจุดเปลี่ยนที่คนเริ่มไม่เช่าแผ่นหนังแล้ว ธานี: มันร่วม 10 ปีแล้วนะ เพราะว่าช่วงปี 2540 มันก็จะ Drop ลงเรื่อยๆ มันทั้งภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังไม่เยอะนะ เพราะว่าผมถือว่ายังดีนะถ้าเทียบกับธุรกิจอื่นที่ล้มหายตายจากไป เพราะว่ายังไงก็ตามความบันเทิงอย่างนี้...ยังเป็นความบันเทิงราคาถูกที่ชาวบ้านๆ เขาเข้าถึงได้ ถ้าเขาไปดูหนังโรงเขาต้องเสียมากกว่านี้ หรือว่าถ้าเขาไปเที่ยวหรือไปอะไรต้องเสียเยอะ ดังนั้นช่วงปี 2540 ช่วงต้นๆ ก็ยังดีอยู่ แต่ว่ามัน Drop ลงเรื่อยๆ เลย แต่ว่ายังประคองตัวได้อยู่ แต่พอหลังจากนั้น เห็นได้ชัดเมื่ออินเทอร์เน็ตมันมีช่วงเปลี่ยน สมัยก่อนต้องซื้อบัตรอินเทอร์เน็ต แต่หลังจากนั้นพออินเทอร์เน็ตเริ่มเร็วขึ้น คนก็เริ่มไปโหลดหนังดูได้เร็วขึ้น สมัยก่อนเขาต้องโหลดหนังกันข้ามคืน ผมไปอยู่ที่ทำงานก็แอบโหลดๆ ไว้ แล้วพรุ่งนี้เช้ามาก็จบ แต่เดี๋ยวนี้มันแป๊บเดียวไม่กี่นาทีก็จบเรื่อง ก็ตั้งแต่อินเทอร์เน็ตมีความเร็วมากขึ้น เริ่มต้นจากกลุ่มลูกค้าที่สมัยใหม่หรือวัยรุ่นที่เขาทันกับพวกสมัยใหม่ พวกโหลดบิตอะไรพวกนี้ พวกนั้นก็เริ่มต้นหายไปก่อน ในขณะเดียวกันก็ยังเหลือกลุ่มธรรมดาๆ อยู่บ้าง แล้วยิ่งระยะหลังที่มันมี...ช่องทางดูหนังทาง YouTube หรือว่าทางดิจิทัลทีวี หรือว่า Netflix อะไรมากขึ้น มันก็หายไปเลย The People: ยืนระยะอย่างไรให้อยู่ได้นานขนาดนี้ ธานี: ก็คือว่าเราอาศัยธุรกิจอื่นมาช่วย ก็คือว่าที่หน้าร้านเราทำเลตรงนี้มันเป็นทำเลทองเหมือนกัน ที่หน้าร้านเราก็เริ่มขายเหรียญ ขายธนบัตรเป็นอีกอาชีพเสริมมาร่วม 10 ปีแล้วเหมือนกันจนปัจจุบันพัฒนาเป็นอาชีพหลักแล้ว (หัวเราะ) ไอ้อันนี้มันเป็นอาชีพรอง จริงๆ ผลประกอบการเขาพูดถึงเอาตัวเลขกำไรขาดทุนมา คือมันขาดทุนในปีหลังๆ นี้ มันไม่มีกำไร The People: แล้วทำไมยังอยู่กับมัน ธานี: เรายังอยู่กับมันเพราะว่าเรายังมีกลุ่มลูกค้าอยู่ แล้วลูกค้าก็เสียดายไม่อยากให้เราเลิก ทีนี้เราก็...คือเราก็ทำไปเพื่อให้ลูกค้ามีหนังดู ให้นักศึกษาได้มีแหล่งที่หาหนังที่อาจารย์เขาพูดถึงเรื่องนู้นเรื่องนี้บอกให้มาดู หรือว่าเขาพูดว่าอันนี้พูดถึงอะไรปรมาจารย์หนังอะไร ถ้าเขาฟังแล้วอ่าน ถ้าไม่ได้เสพ ไม่ได้ดูด้วยตัวเอง มันจะไม่เข้าใจหรอกว่าจริงๆ มันเป็นยังไง ก็ยัง Support พวกนี้อยู่ The People: ทั้งร้านมีหนังกี่เรื่อง ธานี: หนังจำนวนกี่เรื่อง เป็นหมื่นกว่าเรื่อง The People: แล้วจัดการระบบข้อมูลอย่างไร ธานี: ของเราเป็นร้านแรกๆ ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้ามา สมัยก่อนมีบาร์โค้ด เป็นร้านแรกๆ เลยมีโปรแกรม แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นโปรแกรมที่ล้าหลังที่สุดที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก สมัยก่อนเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เราจ้างคอมพิวเตอร์ธรรมศาสตร์เขาเขียนโปรแกรมให้ ค่าจ้างเขียนโปรแกรมเนี่ย 25,000 บาท เป็นโปรแกรม FoxPro ตอนนั้นถือว่าแพงมาก FoxPro ปัจจุบันไม่มีใครใช้แล้ว หลังๆ ก็มีโปรแกรมสำเร็จรูปออกมาเรื่อยๆ แต่ว่าเราก็ยังคงใช้อันนี้อยู่เพราะว่าเราใช้จนมันเสถียรแล้ว แล้วเราสามารถที่จะแก้ไขอะไรได้ตามที่เราต้องการ The People: หนังเรื่องที่คนยืมดูเยอะที่สุด ธานี: จริงๆ มันก็เป็นพวกนามของผู้กำกับ ผู้กำกับที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ถ้าอันดับต้นๆ ก็ Wong Kar Wai, Stanley Kubrick, Wes Anderson แล้วก็อย่าง Akira Kurozawa อะไรอย่างนี้ ก็เรื่อยๆ แล้วส่วนอื่นมันก็กระจายๆ กันไปไม่ว่าเป็น Alfred Hitchcock หรือว่าหนังของพวกฝรั่งเศส ของ Godard หรือ Federico Fellini อะไรพวกนี้ พวกนี้นี่ร้านวิดีโอทั่วไปเขาจะไม่รู้จัก ก็จะไม่มี กลายเป็นจุดแข็งของร้านเรา The People: ที่มาของการจัดหมวดของหนังในร้าน ธานี: อย่างลูกค้าบางคนเขาก็ตามๆ ดูหนังของผู้กำกับ เราก็เลยเอาหนังของผู้กำกับคนเดียวกันมารวมๆ แล้วก็เลือกเอาผู้กำกับคนดังๆ ที่ลูกค้าสนใจมา จริงๆ เราเคยมีเว็บไซต์ของเฟม วีดีโอ ซึ่งทำอย่างละเอียดมากเลยนะ คือแยกผู้กำกับ แยกประเภทของหนัง มีเรื่องย่อ มีรูป แยกดารา แยกประเทศ แต่ปรากฏว่าตอนนี้โดนแฮ็ก เหมือนล่มไป The People: ส่วนตัวดูหนังเยอะไหม ธานี: คือถ้าเป็นช่วงแรกๆ ถ้าหนังยุค 60s 70s จะดูบ่อยและจะดูหนังโรง บางทีวันหนึ่งดูหลายๆ เรื่อง เพราะเนื่องจากว่าเรามีร้านเทปอยู่หน้าโรงหนัง ดังนั้นเราก็ดูจักคนเดินตั๋ว รู้จักกันหมด ในระหว่างรอบเราสามารถเข้าไปนอน เข้าไปดูหนังได้เลย เราจะดูหนังเรื่องไหนกี่ครั้งกี่รอบ เราก็ดูได้ The People: หนังที่ชอบ ธานี: หนังที่เราชอบ...จริงๆ ชอบดูหนังที่ Feel good หรือว่าหนังที่มันให้อะไร หนังที่ไม่ดูคือหนังแอ็กชัน หนังผี หนังพวกนี้จะไม่ชอบดู ก็...ชอบดรามาอย่างเรื่อง Shawshank (The Shawshank Redemption) หนังที่มีเพลงประกอบอย่าง Stand by Me หรือ Crossroads อะไรอย่างนี้ก็ชอบ คือตอนนั้นดูเยอะ แต่ปัจจุบันตั้งแต่มาทำวิดีโอเองแล้วเนี่ย ดูหนังน้อยลง คือหนังโรงไม่ต้องพูดถึงเลยนะ หนังโรงนี่ไม่ได้ดูมาเป็น 10 ปีแล้วล่ะโดยเฉพาะโรงสมัยใหม่ รอบไหนโรงจะฉายเรื่องอะไร เรางงไปหมด The People: ตอนนี้ถ้าจะมาซื้อหนังยังมีครบอยู่ไหม ธานี: ถ้าเป็นหนังที่ดังๆ หรือว่าผู้กำกับดังๆ ชั้นครู มันก็ยังมีอยู่ แต่ว่าหนังใหม่จะไม่มีแล้ว หนังฮอลลีวูด หนังใหม่หรือว่าหนังที่ไม่ดังมาก ถ้าหมดแล้วก็หมดเลย เราก็ไม่มีทำเพิ่ม ที่เหลือในร้านนี่มันเป็นแผ่นวีซีดีมาสเตอร์ซึ่งยังคงเหลืออยู่ ซึ่งตรงนี้เรามาขายถูกๆ แผ่นละ 10 บาท 10 แผ่นแถม 2 แผ่น พวกนี้ถ้าเราไม่เอามาขาย...คือมันมีหนังดีๆ อยู่เยอะเลย ซึ่งถ้าเราไม่อย่างนั้น เราเสียดาย ไอ้นี่ก็คือชั่งกิโลฯ ขาย เหมือนกันถ้าอนาคต...ถ้าไม่มีคนซื้อก็ชั่งกิโลฯ The People: มีวิธีคัดหนังเข้าร้านยังไง ธานี: คือร้านเช่าวิดีโอมันจะมีระบบลิขสิทธิ์อยู่แล้ว หมายความว่าสมมติเราซื้อหนังกับบริษัทวีซีดี เดือนหนึ่งเขาก็จะป้อนหนังให้เราจำนวนหนึ่ง แล้วแต่โปรแกรมของเขานะ มีทั้งหนังดีหนังไม่ดี ปนๆ กัน อันนั้นคือถูกต้องเราไม่มีสิทธิเลือก คือถูกต้องตามลิขสิทธิ์ เรามีสิทธิสามารถเอามาให้เช่าได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ว่ามันก็ห้ามก็อปปี้ แต่ในสภาพความเป็นจริงถ้าไม่ก็อปปี้หนังก็ไม่พอให้ลูกค้าดู อย่างเช่นว่า ลูกค้าเช่าหนังไปยาวๆ แล้วไม่มาคืน เรื่องนั้นมันก็จะหายไปเลย ดังนั้นมันก็จำเป็นต้องมีแผ่นก็อปปี้ อันนี้มันเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ร้าน Chain วิดีโอที่เป็นรูปแบบ Chain ล้มหายตายจาก เพราะว่าอะไร เพราะว่าของเขามีแต่แผ่นมาสเตอร์ เขาก็อปปี้ไม่ได้ อันที่หนึ่ง อันที่สองระบบการปรับเขาไม่สามารถยืดหยุ่นได้ หมายความว่าสมมติว่าหนังใหม่ 1 คืน คุณยืมแล้วคืน 1 คืนก็คือปรับ 10 บาท ถ้าคุณเกินไป 7 วัน คุณโดนค่าปรับไป 70 หรือเป็นร้อยเลยใช่ไหม แต่ว่าของเราเนี่ยถ้าลูกค้าเดิมๆ เขาก็จะรู้ว่าเราอนุโลมตรงนี้ให้ลูกค้าค่อนข้างเยอะ อย่างที่อื่นยืม 1 วัน เราให้ 3-7 วันนะ ถ้าเกินก็เกินไป 1-2 วันก็ไม่ปรับ เกินไปอีกสักอาทิตย์หนึ่งก็ปรับ 10 บาทอะไรยังงี้ ดังนั้นลูกค้าก็จะยังคงอยู่กับเรา แต่ในขณะที่ร้าน Chain เนี่ยเขาทำแบบนี้ไม่ได้เนื่องจากเขาเป็นระบบแฟรนไชส์ใช่ไหม การลงบัญชีโปรแกรมเขาต้อง Fix ถ้าหายนี่คือพนักงานก็ต้องจ่าย ดังนั้นคุณก็ต้อง Fix อย่างนี้ ปรากฏว่าลูกค้าก็คือเอาหนังไป พอนานๆ เข้าก็ไม่คืน ก็ไม่มาเช่า แล้วก็หายไปเลย แล้วถามว่ามีปัญญาตามไหม มันไม่มีปัญญาตาม อย่างมากโทรศัพท์ตามสักที สองที เขาไม่เอามาคืนก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน The People: แล้วร้านเราโดนเบี้ยวไม่คืนแผ่นหนังเยอะไหม ธานี: เยอะๆ คือตรงนี้ก็ถือเหมือนกับเป็นหนี้สูญ (หัวเราะ) เป็นหนี้สูญไป ดังนั้นเราก็เลยต้องทำม้วนก็อปปี้ขึ้นมาเยอะๆ หนังบางเรื่องเราเคยทำถึง 100 ก็อปปี้ อย่างหนัง Rambo เราทำ 100 ก็อปปี้ หรือว่าที่เป็นแหล่งทำเงินมากๆ คือสมัยหนึ่งนี่หนังชุด หนังจีนชุด ไม่ว่าจะเป็นดาบมังกรหยก เทพบุตรมังกรฟ้า ศึกลำน้ำเลือด พวกนี้ศึกลำน้ำเลือดนี่มี 30 ม้วน แล้วเราก็อปปี้ 100 ก็อปปี้อะ คิดดูว่ามันเป็นจำนวนเท่าไหร่ 30 คูณ 100 มันเป็น 3,000 (หัวเราะ) เฉพาะลงจากไอ้หนังเรื่องนี้เรื่องเดียว 3,000 ม้วน The People: แล้วลูกค้าที่เบี้ยว เขากลับมาด้วยท่าทีแบบไหน รู้สึกผิดไหม ธานี: อ๋อ (หัวเราะ) ก็มีหลายรูปแบบ หายไปเลยก็มี กลับมาคืนแล้วก็ยอมให้ปรับโดยดุษณีก็มี แต่เราก็ไม่ได้ปรับเขาโหดมากมาย แต่มีประเภทหนึ่งที่เรียกว่า...ตั้งใจ ตั้งใจเช่าหนังที่ดีๆ หายากๆ แล้วหายไปเลยนี่ก็มี ซึ่งเรามีประวัติอยู่หมดแล้ว (หัวเราะ) อย่างหนังบางเรื่องดีๆ ปรากฏว่าคนเช่าแล้วไม่คืนยังงี้ก็มีอยู่ อันนั้นก็ถือว่าเป็นอะไรเป็นเรื่องธรรมดาอะนะ เราเข้าใจนิสัยคนไทย ก็จะอะลุ่มอล่วยอะไรกันมากกว่า เราถึงอยู่ได้นานกว่า นานกว่าร้านที่เขาเป็นแฟรนไชส์ The People: ความสัมพันธ์ของเรากับร้านขายแผ่นหนังในตำนานอย่าง “ร้านแว่นวิดีโอ” เป็นอย่างไร ธานี: เราก็เป็นลูกค้าเขา ก็จริงๆ ไอ้การหาหนัง เมื่อกี้มันยังไม่ได้พูดถึงการหาหนัง นอกจากการรับหนังที่ถูกต้องลิขสิทธิ์แล้ว เราก็ยังต้องไปแสวงหาหนังทางอื่น เพราะว่าหนังอย่างหนังซาวด์แทร็ก อย่างหนังเก่าๆ อะไรพวกนี้ มันก็มีหลายๆ แหล่งที่ให้หา แว่นวิดีโอ ก็เป็นแหล่งหนึ่ง The People: เชียร์หนังให้ลูกค้าประจำอย่างไร ธานี: ต้องให้เครดิตลูกน้องผมที่อยู่หน้าร้าน อันนั้นเขาจะอยู่กับผมมาตั้งแต่เขาเรียนจบจนปัจจุบัน คนนั้นเขาจะดูหนังเยอะ แล้วดูหนังเกือบทุกวัน แล้วเขาจะรู้หนัง คือแค่ลูกค้ามาเล่าว่าเป็นหนังเรื่องนี้ มีฉากนี้ๆ เขาก็สามารถบอกได้เลยว่ามันคือเรื่องอะไร แล้วก็เขาจะเป็นคนที่ต้อนรับลูกค้า แล้วรู้ว่าลูกค้าคนนี้ดูหนังแนวไหนๆ แล้วเขาก็เสนอหนังให้ลูกค้าดู จริงๆ แล้วตัวพี่เองพี่จะบริหารงานทั้งหมดทั่วๆ ไปมากกว่า ในแง่ความรู้เรื่องหนังหรือว่ารู้จักลูกค้าเนี่ยต้องเขาเป็นหลัก The People: ลูกค้าที่คุ้นหน้า ตอนนี้มีใครเป็นผู้กำกับดังๆ บ้างไหม ธานี: จริงๆ ที่ไปเป็นนักวิจารณ์ก็หลายคนนะอย่างนันทขว้าง (สิรสุนทร) นี่ก็ธรรมศาสตร์ ลูกค้าที่นี่เหมือนกัน แล้วก็ที่คู่กับเขา กนกรัตน์ฯ (กนก รัตน์วงศ์สกุล) นี่ก็ใช่ หรือว่าอย่างนักวิจารณ์หนังใน Bioscope หลายคนก็เป็นลูกค้าเก่าของที่นี่ The People: คิดอย่างไรกับเรื่องการเปลี่ยนแปลง ธานี: ก็คิดว่า...วันหนึ่งสภาพอย่างนี้มันต้องมาถึงไม่ช้าก็เร็วนะ จริงๆ แล้วเรา มีความตั้งใจว่าเราจะปิดมาหลายครั้งแล้ว แต่ว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่เราตัดสินใจเด็ดขาดว่า เออ...มันคงไปไม่ไหวแล้วที่จะต้องปิด ก็ยังคิดถึงลูกค้านะ แล้วก็รู้สึกเหมือนเป็น...ความผูกพันที่เรามีกับลูกค้าที่เคยเช่าหนังเราหลายๆ คน นอกจากว่าได้ดีเป็นผู้กำกับแล้ว หลายๆ คนก็กลับมาหาเรา สามารถไปเรียนต่อต่างประเทศ พอจบปริญญาโท จบด็อกเตอร์อะไรเนี่ย เขาก็อาศัยหนังร้านเราฝึกภาษาตอนสมัยที่เขาเรียนอยู่ที่นี่จนที่เขาสามารถไปเรียนต่อต่างประเทศอะไรได้ ซึ่งเราก็ยังรักและผูกพันกับลูกค้าพวกนี้อยู่ แล้วก็รู้สึกมีความผูกพัน มีความเป็นบุญคุณที่เราเกื้อหนุนกันมา คือสำหรับเรา ปัจจุบันเราอายุมากแล้ว 60 กว่าแล้ว จริงๆ ที่เราทำหลายๆ ปี เราก็ไม่ได้หวังกำไรอยู่แล้ว เราก็เอากำไรทางอื่นมาโปะ เพียงแต่ว่าเป็นห่วงนักดูหนังรุ่นใหม่ๆ ซึ่งแม้ว่าจะมีในโซเชียลมีเดียหรือใน YouTube หรือใน Netflix อะไรที่เขาสามารถหาหนังดูได้ แต่ว่าหนังเก่าๆ บางเรื่องที่หาดูยากๆ มันก็ไม่มี ซึ่งอนาคตต่อไปเนี่ย...เขาก็จะมีปัญหาสำหรับคนเรียนหนังว่าเขาจะไปหาหนังพวกนี้ดูได้ที่ไหน แล้วก็เมืองไทยเองเนี่ยไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนี้ จริงๆ ที่ผมทำมา ถ้าพูดถึงที่สุดแล้ว เพราะไหนๆ ก็เป็นวันสุดท้ายก็คือว่า จริงๆ แล้วมันเป็นธุรกิจที่ถูกมองว่ากึ่งผิดกฎหมายจากการที่ว่า แม้ว่าเราจะซื้อหนังมาถูกต้องตามลิขสิทธิ์ แต่มันไม่พอให้เช่าเราต้องมาก็อปปี้หนัง ไอ้ตัวที่เราก็อปปี้ออกมาตามกฎหมายคือมันผิด ดังนั้นเนี่ย ตำรวจมาจับได้ทุกวันทุกเมื่อ และมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราตัดสินใจว่าเราเลิกดีกว่า เพราะว่าในขณะที่เราเองเราก็ไม่ได้กำไรจากตรงนี้ แต่ที่เราทำเพื่อให้ลูกค้าได้ดู แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราเหมือนกับกลายเป็นอาชญากร อาชญากรรมอะไรอย่างนี้ อย่างหนังบางเรื่องที่เราเอาเข้ามาเนี่ย มันไม่มีตัวแทนลิขสิทธิ์ที่มันจะเอาเข้ามาหรอก ไม่มีใครเอาหนังที่มันดูยากๆ พวกนี้เข้ามา มันไม่คุ้มค่ากับธุรกิจ แต่ว่ามันมีประโยชน์สำหรับ...คนทำหนัง หรือคนที่จะทำหนัง คนเรียนหนังรุ่นใหม่ที่เขาจะดู อันนั้นที่เราทำอยู่ แต่ทั้งหมดนี้ในสายตาของเจ้าหน้าที่มันผิดหมดอะ มันไม่สามารถแยกแยะ ในความคิดของผมนะ ถ้าเป็นไปได้มันน่าจะมีสถาบันหรือเป็นห้องสมุดอะไรสักอันหนึ่งที่สามารถรวบรวมอย่างนี้ พวกนี้ขึ้นมาให้สำหรับคนที่สนใจค้นคว้าได้ มันก็อาจจะทำให้อนาคตของธุรกิจภาพยนตร์เมืองไทยได้เจริญก้าวหน้า เราอาจจะได้ผู้กำกับดีๆ คนเขียนบทดีๆ เพื่อจะสร้างสรรค์งานดีๆ ไม่ใช่เป็นหนังไทยแบบแมสๆ ตลาดทั่วๆ ไปขึ้นมา หรืออย่างมีผู้กำกับดีๆ บ้าง แต่ก็ไม่สามารถที่จะมีที่ยืนในเมืองไทยได้ อย่างเจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ก็ต้องไปฉายต่างประเทศ คนไทยเขาน้อยคนที่ได้ดูหรือดูรู้เรื่องอะไรอย่างนี้