21 พ.ค. 2562 | 18:22 น.
หลายคนคุ้นเคยกับชื่อของภราดล พรอำนวยหรือ ‘ปอ นอร์ทเกต’ ในฐานะนักแซกโซโฟนฝีมือดี, ผู้ร่วมก่อตั้ง The North Gate Jazz Co-Op บาร์แจ๊ซชื่อดังในเชียงใหม่, นักเดินทางที่เคยโบกรถและนั่งรถไฟจากเชียงใหม่ไปฝรั่งเศสเป็นเวลา 3 เดือนโดยหอบหิ้วแซกโซโฟนไปด้วย (โดยเขาเคยเขียนหนังสือ ‘ลมใต้ปอด’ เป็นบันทึกการเดินทางในครั้งนั้น) แต่ยังมีอีกบทบาทของเขาที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ การเป็นนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาเขามีส่วนร่วมกับหลายโปรเจกต์ เช่น รณรงค์เรื่องการปลูกต้นไม้ในเมือง, คืนความสะอาดให้แม่น้ำลำคลอง, ลดการใช้หลอดและพลาสติก ฯลฯ นอกจากนั้นเขายังมีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์บ้านปันเสียง – โรงเรียนดนตรีสำหรับเด็กด้อยโอกาสอีกด้วย ในช่วงเวลานี้ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่กำลังได้รับการพูดถึงอย่างมาก The People ได้ชักชวนภราดลมาพูดคุยถึงเมืองเชียงใหม่ในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมดนตรีในเชียงใหม่ และร้านนอร์ทเกตที่ตอนนี้ได้กลายเป็นแลนด์มาร์คด้านดนตรีแจ๊ซในเมืองแห่งนี้ Chapter 1 – Jazz ภราดลเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง The North Gate Jazz Co-Op บาร์แจ๊ซที่ตั้งอยู่บริเวณคูเมืองด้านในตรงข้ามประตูช้างเผือก ร้านขนาดตึกสองคูหาดูเล็กไปถนัดตาเมื่อเทียบกับผู้ชมที่ล้นออกมานอกร้านแทบทุกวัน (โดยลูกค้าเกินกว่าครึ่งเป็นชาวต่างชาติ) จุดเด่นของร้านอยู่ที่วงดนตรีแจ๊ซซึ่งบรรเลงได้อย่างยอดเยี่ยมและมีการเปิดโอกาสให้ผู้ฟังเข้ามาแจมดนตรีได้บ่อย ๆ ข้อมูลจากนิตยสาร Hip (ฉบับเดือนพฤษภาคม 2019) แจ้งว่าปัจจัยสำคัญที่นักดนตรีแจ๊ซหลายคนเลือกที่จะอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ถาวรก็เพราะร้านนี้ The People: ปีนี้นอร์ทเกตมีอายุเท่าไรแล้วครับ ภราดล: ครบรอบ 11 ปีแล้วครับ The People: ตอนที่เริ่มเปิดร้าน คุณคิดไหมว่าร้านจะมาไกลถึง 11 ปี ภราดล: เราอยากคิดนะ แต่มันคิดไม่ได้ เพราะตอนที่เริ่มเปิดใหม่ ๆ เราไม่มีทั้งอำนาจและทรัพยากร เราเลยวางแผนอะไรไม่ได้ เราเปิดร้านโดยที่มีต้นทุนทางทรัพยากรน้อยมาก น้อยในระดับที่ว่าพอเราจ่ายเงินค่าเช่าตึกแล้ว พอร้านเปิดเราก็ไม่มีเงินทุนสำรองเหลืออยู่ เราต้องคิดหาเงินเพื่อมาจ่ายเป็นค่าเช่าเดือนต่อไปเลย The People: แล้วตอนนี้ถือได้ว่าร้านมั่นคงหรือยัง ภราดล: ผมก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าความมั่นคงวัดจากอะไรนะ แต่ถ้าวัดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนที่นี่ ตอบได้เลยว่ามั่นคง เพราะเราอยู่ด้วยกันมานาน รู้ใจกัน เรามีดนตรีเป็นตัวตั้ง เอาความรักในเรื่องดนตรีมาก่อนเสมอ ส่วนเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจมันก็ขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วแต่ Season ซึ่งก็ต้องปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อย ๆ The People: คุณคิดว่าเสน่ห์ของนอร์ทเกตอยู่ที่ไหน ถึงมีลูกค้าเข้ามาเรื่อย ๆ และมีแฟนคลับติดตามมากมาย ภราดล: นอร์ทเกตมันเป็นพื้นที่กลาง ๆ สำหรับคนหลากหลายความเชื่อ ความชอบ วัฒนธรรม ฐานความคิด มันถูกออกแบบโดยคิดเผื่อคนหลายกลุ่มไว้ตั้งแต่แรก โดยเฉพาะเรื่องดนตรีที่มันเปิดโอกาสให้คนมาแจมได้อย่างไม่มีลิมิต ที่จริงก็มีลิมิตบางอย่างนะแต่ก็ถือว่าเปิดกว้างอยู่ ซึ่งที่ผ่านมามีนักดนตรีดัง ๆ ระดับโลกมาแจมที่ร้านหลายคน โดยดนตรีในร้านเราไม่ได้พูดถึงแจ๊ซอย่างเดียวแล้ว แต่เราพูดถึง world music หรือแม้แต่อยากจะใช้ไมโครโฟนพูดอะไรเราก็ยินดี เราไม่ได้โอเพนไมค์แค่ด้านดนตรีอย่างเดียวแต่มันเป็นการโอเพนในหลาย ๆ ด้าน ถึงขั้นมีคนมาแสดงมายากลให้ดูน่ะ มันก็แปลกขึ้นไปอีก The People: ทำไมถึงตั้งชื่อร้านว่านอร์ทเกต ภราดล: ตอนแรกเราไม่รู้จะตั้งชื่อว่าอะไร ความคิดแรกคือจะตั้งว่า The Shrine (ศาลเจ้า) เพราะความทรงจำแรกตอนที่เปิดประตูตึกนี้เพื่อที่จะเข้าไปทาสีทำความสะอาด สิ่งแรกที่เห็นก็คือศาลเจ้าจีนอยู่ข้างหน้า แล้วเราก็ทำความสะอาดศาลเจ้าก่อน แต่คิดไปคิดมาเราตั้งชื่อตามตำแหน่งของมันดีกว่า เพราะเวลาเรียกว่านอร์ทเกตมันก็บ่งบอกถึงตำแหน่งของมันด้วย ก็คือตั้งอยู่ตรงประตูทางเหนือ เวลาเรียกชื่อคนก็จะได้เข้าใจง่ายและก็รู้ตำแหน่งที่ตั้ง เป็นการบอก mapping ไปในตัว นอกจากนั้นผมก็คิดว่าชื่อนี้มันฟังดูมีความหมายพิเศษนะ The People: คุณมีความทรงจำหรือประสบการณ์เกี่ยวกับนอร์ทเกตที่ไม่มีวันลืมไหม ภราดล: ผมว่าวันเปิดก็น่าประทับใจนะ คือเราไม่มีเก้าอี้เลย แล้วทางเราก็ขอให้เพื่อน ๆ ของเราไม่ต้องซื้อดอกไม้มา แต่ให้เอาเก้าอี้นั่งมาคนละตัว ซึ่งสมัยแรก ๆ เก้าอี้ที่ร้านรูปร่างจะไม่เหมือนกันเลย และกลองของร้านก็จะมีสามสีเลยนะเพราะว่านักดนตรีชวนกันมาบริจาค นักดนตรีกับพวกน้อง ๆ ที่มาช่วยที่บาร์ก็ไม่รับเงินเพราะอยากผลักดันพื้นที่นี้ให้มันเกิดขึ้นให้ได้ ถ้าถามถึงความประทับใจก็คงเป็นตอนที่เริ่มทำนั่นแหละมันพิเศษ แล้วมันก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่เราไม่ลืมเลยก็คือ ช่วงที่ ตม. มาจับนักดนตรีทั้งเชียงใหม่ แม้ว่าจะเป็นการแจมก็โดนเพราะเขาถือว่าเป็นการทำให้ร้านได้ประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งตอนนั้นเป็นข่าวทั่วประเทศเลย มีนักดนตรีเชียงใหม่ลุกขึ้นมาประท้วงมากมาย ตอนนั้นมี ตม. มาจับนักดนตรีฝรั่งที่เขามาแจมที่นอร์ทเกตสามคน แล้วเราก็ไปต่อสู้เพื่อประกันตัว ไปคุยกับอัยการ คุยกับหน่วยงานต่าง ๆ ใช้เวลาหกเดือนเลยนะ แล้วร้านเราก็เล็ก ๆ ค่าประกันตัวแสนห้า เราก็ไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหน ตอนนั้นก็ลำบากมากแต่ทุกคนก็ช่วยกันสู้จนผ่านมาได้ ตอนหลังอัยการก็สั่งไม่ฟ้อง คดีก็จบไป ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมที่คนใช้กฎหมายหรือว่าคนในพื้นที่ก็ต้องเรียนรู้ The People: แล้วทางร้านเคยมีปัญหากับทางการเรื่องอื่น ๆ อีกไหม ภราดล: ไม่มีเลยครับ ร้านเราปิดเที่ยงคืนตรงเวลาตลอด ช่วงเปิดแรก ๆ นี่มีปัญหาเรื่องเสียง เราก็แก้ไขกันสุดความสามารถ มีการติดที่ซับเสียงไว้ทุกด้าน ติดเครื่องวัดเสียง เอาลำโพงสปีกเกอร์ออกสามตัวเลย พยายามทำให้เสียงมันเบาลง แต่ก็มีปัญหาเรื่องคนล้นลงไปตรงฟุตปาธ ซึ่งคนมันเยอะมากจนไม่รู้จะจัดการอย่างไร แล้วก็มีบางคนไปนั่งตรงกำแพงเมือง เราก็จัดพนักงานไปเฝ้าตรงนั้นเพื่อเตือนไม่ให้เขาไปนั่งและบอกให้เขากลับเข้ามา The People: ลูกค้าแน่นร้านแบบนี้ มีความคิดที่จะขยายร้าน เปลี่ยนทำเล หรือเพิ่มสาขาไหม ภราดล: เราเพิ่งขยายร้านแต่เป็นการขยายไปข้างบน เราเปิดพื้นที่เพิ่มบนชั้นสี่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เรียกว่า The North Gate Arkive เป็นพื้นที่เก็บประวัติศาสตร์ของร้าน ตั้งแต่ภาพในอดีต, โปสเตอร์ของนอร์ทเกตตั้งแต่ยุคแรก ๆ หรือกระทั่งการออกแบบตกแต่งภายใน ชื่อของผู้คนและนักดนตรี นอกจากนั้นเรายังทำพื้นที่นี้ให้เป็น Bar & Gallery ปกตินอร์ทเกตคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะมันเสียงดัง แต่ข้างบนชั้นสี่มันจะเป็นบรรยากาศของคอมมูนิตีอีกแบบหนึ่งเลย ส่วนเรื่องการขยายร้านให้กว้างขึ้นหรือเพิ่มสาขา ก็เคยมีการคุยกันเรื่องนี้อยู่ แต่ผมว่าเล็ก ๆ แบบนี้ล่ะดีแล้ว ก็บริหารจัดการตามสภาพ เพราะว่าสุดท้ายแล้วถ้าเรามีดนตรีเป็นตัวตั้ง การขยายร้านหมายความว่าเราจะต้องการนักดนตรีจำนวนมหาศาลซึ่งเราทำไม่ได้ ถ้าตอนนี้เราอยู่แล้วเรามีความสุข มีความคุ้นเคย ร้านก็อยู่กันมาตั้ง 11 ปีแล้ว มันก็ผูกพันกันในหลาย ๆ มิติ ผมคิดว่าพื้นที่ในการเล่นดนตรีประมาณหนึ่งห้องครึ่งน่ะเพียงพอแล้ว ถ้าพื้นที่ตรงนี้มันต้องใหญ่ ต้องคิดว่ามันตอบโจทย์อะไรล่ะ อย่างตอนนี้เราทำนอร์ทเกต แล้วเราก็ยังมี ‘ท่าแพอีสต์ (Thapae East)’ พื้นที่ทางดนตรีและศิลปะซึ่งเป็นธุรกิจของกลุ่มเดียวกับนอร์ทเกต แต่ถ้าอยากจะทำอีกก็อยากจะทำให้มันเป็นคอนเสิร์ตฮอลล์เล็ก ๆ สำหรับดนตรีคลาสสิก หรือว่าแตกออกไปเลย เช่น ดนตรีล้านนาคลาสสิก คือถ้าเมืองเชียงใหม่พร้อมแล้วมีการทำพื้นที่ทางดนตรีอย่างอื่นที่นอกเหนือจากบาร์แจ๊ซ ผมพร้อมเชียร์และสนับสนุนมาก ผมอยากเห็นคนกลุ่มใหม่ ๆ ช่วยกันซัพพอร์ตดนตรีในอีกหลาย ๆ มุม จับมือกันผลักดันเรื่องดนตรี แบบนี้ผมว่ามันโอเคกว่า เพราะสุดท้ายแล้วศิลปะดนตรีก็เป็นของเมือง คนที่เสพมันก็คือคนที่อยู่ในเมือง อย่างตอนนี้มีบาร์แจ๊ซเปิดใหม่ในเชียงใหม่ที่ผมเชียร์มากเลย ชื่อว่า Moment’s Notice เป็นของรุ่นน้องผมที่เป็นอาจารย์พิเศษด้านดนตรีที่ศิลปากรมาทำ อันนี้เราอินนะ นักดนตรีของเราก็เล่นอยู่ที่นั่น บางทีนักดนตรีเขาก็มาเล่นอยู่ที่นี่ มันเป็นพื้นที่ที่จะเพิ่มความหลากหลายเข้าไปอีก The People: เชียงใหม่มีพื้นที่ที่เป็นไลฟ์เฮาส์หรือคอนเสิร์ตฮอลล์สำหรับดนตรีอะไรแบบนั้นหรือยัง ภราดล: ผมยังนึกไม่ออกนะ ไม่ว่าเป็นไลฟ์เฮาส์ที่เล่นดนตรีคลาสสิกหรือดนตรีพื้นเมือง ซึ่งผมก็คิดว่ามันสำคัญและจำเป็นอยู่นะ เคยไปบาร์ที่กรุงเทพไหม ชื่อ ‘เทพบาร์’ ที่เขาเล่นดนตรีไทยน่ะ โห ผมว่าอันนั้นพีคนะ การจะทำไลฟ์เฮ้าส์แล้วจัดแสดงดนตรีบางอย่าง เช่น ดนตรีของพม่า ไทใหญ่ ลัวะ หรือดนตรีของชนชาติอื่น ๆ มันมีความซับซ้อนอยู่ เพราะดนตรีชนเผ่าพื้นที่มันยังถูกจำกัดอยู่ในบริบทบางอย่าง มันผูกพันกับความเชื่อ วัฒนธรรม และเซตติงพิธีกรรม มันผูกพันเชื่อมโยงกับคนกลุ่มหนึ่งแบบเฉพาะเจาะจง มันมีวิธีคิดในการวางโครงสร้างอำนาจของชุมชน ซึ่งถ้านำดนตรีดังกล่าวมาเล่นอย่างผิดรูปผิดรอย บางคนมองว่ามันจะสูญเสียคุณค่าทางพิธีกรรมหรือความศักดิ์สิทธิ์ไป คือเรื่องนี้เป็นเรื่องเซนซิทีฟและต้องใช้เวลาในการปรับ The People: สถานการณ์ของวงการดนตรีแจ๊ซในเชียงใหม่ในตอนนี้เป็นอย่างไร ดีแล้วหรือควรจะคึกคักกว่านี้ ภราดล: ผมว่าคึกคักมาก ๆ คือมันเทียบไม่ได้กับกรุงเทพฯ ที่เขามีบุคลากรและสถาบันทางด้านดนตรีแจ๊ซใหญ่ ๆ เต็มไปหมดนะ เชียงใหม่เป็นเมืองที่เล็กกว่า แต่ผู้คนก็มีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์ผูกพันและแลกเปลี่ยนพูดคุยกันมากกว่า ซึ่งความเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องที่มันใกล้ชิดกันตรงนี้มันก็เป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้เกิดพลวัตและลดขั้นตอนบางอย่างออกไป กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่รายได้นักดนตรีมันสูงกว่า แต่กว่าจะออกไปเจอหรือออกไปเล่นดนตรีด้วยกันได้มันใช้เวลา กว่าจะเดินทางก็หมดวัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็สูง นักดนตรีที่เชียงใหม่อาจมีความสามารถไม่เท่านักดนตรีที่นั่น แต่เชียงใหม่มันเป็นเมืองที่อบอุ่นน่ารัก การนัดเจอกันก็มีอุปสรรคน้อยกว่า เชียงใหม่มีเทศกาลดนตรีแจ๊ซทุกปี แต่ละปีมี 2 – 3 งานด้วย ซึ่งก็ถือว่าเยอะนะสำหรับเมืองเล็ก ๆ และตอนนี้ที่เชียงใหม่มีบาร์แจ๊ซหลัก ๆ อยู่ 4 แห่ง นั่นคือ นอร์ทเกต, ท่าแพอีสต์, Moment’s Notice, The Mellowship ซึ่งก็คิดว่าในอนาคตทั้งสี่แห่งนี้ก็ควรจะได้มานั่งคุยกันเดือนละครั้งว่าจะทำเฟสติวัลประจำปีอย่างไร และจะผลักดันการพูดถึงดนตรีในมิติที่หลากหลายขึ้นได้อย่างไร The People: นอกจากเชียงใหม่แล้ว เมืองไหนอีกบ้างในต่างประเทศที่คุณมองว่าโดดเด่นในเรื่องวัฒนธรรมดนตรีแจ๊ซ ภราดล: จริง ๆ แล้วในหลาย ๆ หัวเมืองน่ะมีวัฒนธรรมแจ๊ซหมดเลย แจ๊ซมันมีรากฐานของการอิมโพรไวเซชั่น แล้วฐานความคิดของการอิมโพรไวเซชัน (การด้น) มันก็กระจายอยู่ทั่วโลก มันมีแบ็กกราวด์ของมันอยู่แล้ว แต่ว่าทางอเมริกาอาจจะเคลมว่ามันเป็นดนตรีแจ๊ซหรือว่าเป็นดนตรีที่มาจากเขา แต่จริง ๆ แล้วดนตรีอีสานหรือดนตรีพื้นเมืองในที่อื่น ๆ ก็มีฐานของการอิมโพรไวเซชันเหมือนกัน ถ้าจะพูดถึงคำว่าดนตรีแจ๊ซในแบบฝรั่ง เมืองอย่างฮานอย, โฮจิมินห์, เซี่ยงไฮ้, ปักกิ่ง, พนมเปญ, สิงคโปร์ ก็เข้มแข็งนะ อินโดนีเซียนี่ก็เข้มแข็งมาก ๆ มีหลายพื้นที่และก็ดีด้วย ติดอันดับเมเจอร์ของโลก The People: คุณมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์บ้านปันเสียงด้วย ทำไมถึงเห็นความสำคัญของโครงการนี้ที่ผลักดันให้เด็กด้อยโอกาสได้เรียนดนตรี ภราดล: เราได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนและครูบาอาจารย์ มีเพื่อนของเราคนหนึ่งชื่อแอ๋ม (ศิริพร พรมวงศ์) เขาทำกลุ่มจิตอาสา Music Sharing แล้วก็ทำโรงเรียนสอนดนตรีให้เด็กในคลองเตย ซึ่งพวกเขาเป็นเด็ก drop out เป็นเด็กที่ออกจากระบบ ไม่ได้เรียนหนังสือ มีปัญหา อยู่ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหว อีกคนก็คือครูเบลล่า (นลี อินทรนันท์) ที่เข้าไปทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงดนตรีในคุกหญิงหรือศูนย์บ้านเด็กชายซึ่งเป็นเยาวชนที่ก้าวพลาด ด้วยความที่กลุ่มเราเป็นนักดนตรี ก็มองว่าถ้าเราสามารถใช้ดนตรีที่เราถนัดไปสื่อสารให้กับกลุ่มเยาวชนที่เขามีความสนใจก็คงดี ทำไมถึงต้องเป็นดนตรี? เพราะมันเป็นเครื่องมือที่ได้รับการพิสูจน์จากตัวเราเอง ดนตรีเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการรวมกลุ่มคน คุณต้องรวมกันเป็นวงแล้วทำการหาข้อตกลงและรับฟังกัน ทั้งรับฟังในเชิงการเล่นดนตรีและรับฟังกันในเชิงเหตุและผลว่าเราจะใช้ดนตรีไปสื่อสารกับอีกกลุ่มหนึ่งอย่างไร เราต้องการจะบอกอะไร ทำไมใช้เพลงนี้ เราจะสื่อสารเพลงนี้ออกมาอย่างไร ขณะเดียวกันมันก็มีประโยชน์ในเชิงปัจเจก เพราะการเล่นดนตรีมันต้องมีการรวบรวมจิตใจสมาธิ ต้องมีการฝึกซ้อม มันมีการใช้ทักษะที่หลากหลายทั้งเรื่องการอ่านการมอง และการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กในการควบคุมเครื่องดนตรี ทำให้การเล่นดนตรีถือเป็นเครื่องมือที่ใช้พัฒนาเด็กได้ดี มันอาจดูเป็นเครื่องมือธรรมดาและไม่ได้มีต้นทุนมาก แต่ผลลัพธ์ที่ออกมามันพิเศษมาก มันทั้งช่วยเยียวยาตัวเองและสื่อสารกับผู้อื่น ใช้เพิ่มทักษะการรวมกลุ่ม อันนี้คือสิ่งที่เราเห็น The People: ตอนนี้โครงการอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว ภราดล: ช่วงตั้งไข่เลย มันเป็นช่วงที่เรากำลังเรียนรู้ คือด้วยความเป็นนักดนตรีของเราซึ่งต้องเล่นดนตรีในบาร์, เล่นคอนเสิร์ต, ออกทัวร์ มันถือเป็นคนละฟังก์ชันกันกับการไปสอนเด็กซึ่งเหมือนเป็นอีกโลกหนึ่งเลย เพราะเราต้องเข้าใจเด็ก เราต้องทำงานกับคุณครูและผู้ปกครอง เราต้องโน้มน้าวให้พวกเขาเชื่อว่าดนตรีสามารถพัฒนาศักยภาพของเด็กและทำการสนับสนุน เนื่องจากการเล่นดนตรีก็มี cost บางอย่างที่ต้องจ่าย ยังมีเรื่องเทคนิคการสอนเด็กซึ่งมันเป็นโลกของการศึกษา ทั้งเรื่องการให้เด็กเป็นศูนย์กลางและเทคนิคต่าง ๆ ในการปรับคลื่นความถี่ของเด็กให้ต่ำเพื่อทำให้เด็กพร้อมจะเรียนรู้ ซึ่งมันเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับพวกเราทุกคนและทำให้ผมตื่นเต้นมากเลยนะ ผมไม่เคยใกล้ชิดกับเด็กและการศึกษาได้มากขนาดนี้ เราได้ไปดูงาน ได้ไปเห็นสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง เราได้ไปดูงานที่บ้านกาญจนาภิเษกของป้ามนต์ (ทิชา ณ นคร) คนเขียนหนังสือ ‘เด็กน้อยโตเข้าหาแสง’ ซึ่งผมว่ามันสุดยอดมาก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทางความคิด การเพิ่มคลังความคิดคลังคำศัพท์ การที่จะ empower เด็ก การที่จะทำให้เขาเห็นความสามารถของตัวเอง เห็นถึงคุณค่าของชีวิต รู้สึกว่าชีวิตนี้ฝึกฝนพัฒนาได้ ไม่รู้สึกท้อแท้หรือคิดว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น ผมไปดูงานโรงเรียนสุขภาวะที่อีสาน ไปดูว่ากระบวนการของเด็กรู้เองเป็นอย่างไร ไปดูว่าการศึกษาในศตวรรษที่ 21 มันคืออะไร และการศึกษาที่จะทำให้เยาวชนเห็นความหลากหลาย มันหมดยุคสมัยของคำว่าแพ้แล้วคัดออก แล้วในยุคนี้คำว่า ‘สอน’ มันอาจจะเชยไปแล้ว แต่เราจะใช้คำว่า ‘เรียนรู้’ มันต้องเป็นห้องเรียนที่ครูก็เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ไม่ใช่ให้เด็กเป็นเพียงเครื่องรับข้อมูล The People: คุณทำกิจกรรมเยอะอย่างนี้ ยังมีเวลาเล่นดนตรีตามร้านอยู่ไหม ภราดล: ผมมีร้านเป็นของตัวเอง ทำให้ผมอยากเล่นตอนไหนผมก็เล่น ผมเล่นที่นอร์ทเกตวันอังคารหรือเสาร์ แต่ถ้ามีวันไหนที่อยากเล่นเพิ่มอีก ผมก็หิ้วแซกโซโฟนไปแจมกับเพื่อนซึ่งก็ไม่มีปัญหาเลย ผมรู้สึกมีความสุขที่สุดแล้วตอนที่ได้เล่นดนตรี The People: เสน่ห์ของแซกโซโฟนอยู่ที่ไหนที่ทำให้คุณชอบ ภราดล: มันเป็นเครื่องดนตรีที่เมื่อคุณเป่าแล้วคุณจะดูเซ็กซี่ขึ้นมาทันที (หัวเราะ) แต่เรื่องเสน่ห์มันก็แล้วแต่คนชอบนะ มันพูดยาก แต่โดยส่วนตัวผมที่ชอบก็คงเป็นเรื่องเสียงของมัน แล้วมันก็เป็นเครื่องเมโลดีด้วย เวลาที่เป่าผมรู้สึกว่าผมเป็นเครื่องดนตรีไปด้วย เหมือนกลายเป็นหนึ่งเดียวกับมัน ลมที่เป่าเข้าไปมันเป็นแรงสะเทือนแรงอัดที่ bouncing กับร่างกายของเรา The People: ถ้ามีเด็กสักคนมาถามคุณว่าอยากเป็นนักแซกโซโฟนที่เก่งต้องทำอย่างไร คุณจะตอบว่าอย่างไร ภราดล: คำเดียวเลยครับ ก็คือต้องมีวินัย ต้องซ้อมต้องศึกษา คือคุณไม่ต้องเก่ง คุณไม่ต้องเป็นอัจฉริยะ ไม่ต้องอะไรเลย แต่คุณต้องมีวินัย แค่นั้นเอง วินัยคืออิสรภาพที่แท้จริง The People: ฟังดูเหมือนง่ายแต่ที่จริงทำยากนะครับ เพราะเด็กยุคนี้ดูมีอะไรให้ทำเยอะขึ้น มีสิ่งที่ดึงดูดความสนใจมากขึ้น ภราดล: เด็ก ๆ น่ะ เวลาคุณภาพของเขาน้อยลง เราก็ต้องปูพื้นฐานให้ดี ๆ ต้องให้เวลาเขา ต้องทำให้เขาอยู่ในช่วงเวลาชีวิตที่มีคุณภาพ ถ้าเขาจะต้องเล่นเกมก็ต้องเล่นเกมที่ดี ถ้าจะเล่นบอร์ดเกมก็ต้องเป็นบอร์ดเกมที่ดี ดูหนังก็ต้องดูหนังที่ดี หรือเวลาที่ออกไปเล่นหรือออกกำลังกายก็ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันอธิบายยากนะว่าสิ่งที่ดีคืออะไร แต่ว่าเวลาคุณภาพก็คือเวลาที่เขาได้ใช้ศักยภาพของเขาได้เต็มที่ The People: คุณมีนักดนตรีในดวงใจไหม ภราดล: ถ้าเป็นนักดนตรีระดับโลกก็เยอะแยะไปหมด แต่ถ้าเป็นนักดนตรีใกล้ตัว ผมชอบ ‘บอย อิมเมจิ้น’ ซึ่งก็คือเพื่อนผมเอง เรียนโรงเรียนเดียวกัน เขาเป็นคนนิ่ง ๆ สบาย ๆ ผมชอบทั้งเพลงที่เขาเขียน ชอบวิถีชีวิต ความสมถะ และจิตใจของเขา เขาเป็นบุคคลที่พิเศษนะ ... Chapter 2 – The City นอกเหนือจากการเป็นนักดนตรีแล้ว บทบาทของเขาที่มักจะพบเห็นได้ตามสื่อต่าง ๆ (หรือในหน้าเฟสบุคของเขา) ก็คือนักรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์ ‘มือเย็นเมืองเย็น’ ซึ่งชักชวนคนมาปลูกต้นไม้ในตัวเมืองเชียงใหม่, ‘The Last Straw’ รณรงค์ให้เลิกใช้หลอดพลาสติก หรืออย่างการประท้วง ‘หมู่บ้านป่าแหว่ง’ ที่กลายเป็นข่าวโด่งดัง เขาก็ได้ไปร่วมประท้วงด้วย The People: คุณรณรงค์เรื่องต้นไม้ในเมืองเชียงใหม่มานานกี่ปีแล้ว ทำไมถึงสนใจทำเรื่องนี้ ภราดล: ประมาณสามปีกว่าครับ เหตุผลที่ลงมาทำเรื่องนี้ก็ไม่ซับซ้อนเลยนะ ก็คือผมขี่มอเตอร์ไซค์แล้วผมร้อน มันไม่เหมือนตอนเราเป็นเด็กที่เมืองเชียงใหม่มันร่มรื่นมาก ต้นไม้เยอะและมันก็เย็นมาก แต่พอช่วงหลัง ๆ มันร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ต้นไม้ก็ไม่มี เราก็เลยคิดว่าชวนคนมาปลูกต้นไม้ดีไหม จากนั้นก็ได้ไปนั่งกินเหล้ากับเพื่อน ๆ กลุ่ม Minimal Bar มีพี่คนหนึ่งเขาแนะนำว่าถ้าเรามาชวนกันสัญญาว่าจะปลูกต้นไม้คนละห้าต้น มันก็น่าจะเป็นไปได้อยู่นะ ทางเราก็จะเตรียมต้นไม้ไว้ให้ กระจายกันปลูกบ้านใครบ้านมัน ต้นไม้ก็คงจะเยอะขึ้น ก็เป็นความคิดแบบขายตรงอยู่ (หัวเราะ) เหมือนหนัง Pay it forward มันเป็นไอเดียที่น่าทดลอง เราก็เลยทำแคมเปญรณรงค์ให้คนมาปลูกต้นไม้ ก็กลายเป็นโปรเจกต์ ‘มือเย็นเมืองเย็น’ กลายเป็น ‘ท้าปลูกต้นไม้’ กลายเป็นโปรเจ็กต์ ‘โดดคูเมือง’ กลายเป็นทุบซีเมนต์ที่ทับรากต้นไม้ออก และอีกหลายอย่าง ซึ่งการปลูกต้นไม้มันไม่ใช่แค่ปลูกบนดิน รอให้มันโตขึ้นแล้วจะจบ เพราะตอนที่เราทำกิจกรรมมันก็ค่อย ๆ ขยายความรู้เราไป เราก็ต้องมาศึกษาว่าต้นไม้ที่ปลูกมันควรจะเป็นไม้พื้นถิ่นไหม เมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูกมันใช้ได้ไหม มีวิธีการปลูกอย่างไร ดูแลรักษาอย่างไร ถ้ามันโตขึ้นมาแล้วจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับเมืองใช่ไหม นอกจากกลุ่มของเราแล้ว ที่เชียงใหม่ยังมีกลุ่ม ‘เขียว สวย หอม’ มีกลุ่มพี่ ๆ หมอต้นไม้มาช่วยกันทำงานและรณรงค์ในเรื่องต่าง ๆ เช่น รณรงค์ให้ปลูกหมากปลูกลานในตัวเมืองเพราะใช้พื้นที่น้อย และลำต้นมันก็จะสูงขึ้นไปให้ร่มเงา ไม่หักล้มง่าย ใบไม้ไม่ร่วง ดูแลรักษาง่าย The People: ทำไมเชียงใหม่ทุกวันนี้ถึงต้นไม้น้อยลงกว่าเมื่อก่อน ภราดล: เหตุผลที่ผมมองเห็นนะก็คือ คนมากขึ้น เมืองขยายตัว มีความต้องการใช้ที่ดินในทางเศรษฐกิจหรือสร้างที่พักอาศัยมากขึ้น ซึ่งมันก็เป็นเหตุผลเบสิก พอมันมีอาคารก็เกิดความกังวลใจเรื่องต้นไม้ มันต้องมีการกวาด ตัดแต่ง เกิดความระแวงว่ากิ่งไม้จะตกลงมาใส่หลังคาไหม จะมีแมลงมดปลวกขึ้นบ้านไหม แล้วพอตึกแถวในเมืองเริ่มนิยมสร้างแบบสี่คูหาสูงสี่ชั้นยาวสิบห้าเมตรอะไรแบบนี้ มันก็ไม่เหลือพื้นที่สำหรับต้นไม้ พื้นที่สีเขียวก็ลดลง นอกจากนั้นยังมีเรื่องต้นไม้ริมถนนหรือว่าฟุตปาธที่เหลือน้อยลง เหมือนเราให้สัดส่วนความสำคัญกับรถมากกว่าคน เราคิดถึงทางรถวิ่งเป็นสำคัญจนไม่เหลือพื้นที่สำหรับการเดิน, พื้นที่ไว้สำหรับสันทนาการ, พื้นที่สำหรับการปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา นอกจากนั้นรัฐยังอาจมองว่าถ้าต้นไม้มันล้มหรือหัก แล้วไปทับคนทับรถ มันก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐที่จะมาจ่ายค่าเสียหาย ผมว่ามันคือกลไกที่คนกับเมืองมันถูกแยกเป็นส่วน ๆ มันเลยทำให้ความสัมพันธ์บางอย่างมันหายไป พอมันหายไปเราก็ปัดความรับผิดชอบคือตัดปัญหาไม่ต้องมีมันไปเลย จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรแบบนี้หรือเปล่า The People: แล้วการรณรงค์เรื่อง ‘หมู่บ้านป่าแหว่ง’ ที่ดอยสุเทพ ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ภราดล: ผมเข้าใจว่าตอนนี้สถานะของหมู่บ้านนั้นคือ No Man’s Land ที่ไม่ให้คนเข้าอยู่ แต่ก็ยังไม่เห็นมาตรการที่ชัดเจนนะว่าเขาจะทำอย่างไรต่อไป จะรื้อเมื่อไหร่ แผนการฟื้นฟูเป็นอย่างไร ใครเป็นเจ้าภาพจัดการเรื่องนี้ การหาทางออกให้เรื่องนี้ปัญหามันอยู่ที่พื้นที่ในการพูดคุยระหว่างประชาชนกับรัฐมันน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นกับตุลาการ, ทหาร, เจ้าหน้าที่ธนารักษ์, ผู้บริหารโครงการ ช่องว่างระหว่างกันมันเยอะและขั้นตอนก็เยอะ มันเลยไม่เป็นธรรมชาติ คือไม่เหมือนคนเชียงใหม่คุยกัน อย่างเวลาเราคุยกันเราก็คุยตรง ๆ มองหน้ากันแบบนี้ถูกไหม แต่นี่คือมันไม่มีการคุยกันแบบเปิดใจตรง ๆ นอกจากนั้นปัญหายังที่หลักการของแต่ละคนไม่สัมพันธ์กันก็เลยหาทางออกไม่ได้ ถ้าสัมพันธ์กันมันหาทางออกได้ไปนานแล้ว ถ้าหลักการเราตรงกันว่าจะต้องรักษาทรัพยากรป่าไม้ที่เหลือน้อยนี้ให้ได้มากที่สุด เพราะคุณค่าของมันยิ่งกว่าเงิน แล้วเราต้องเอาหลักการนี้เป็นตัวตั้ง ถ้าตรงนี้มันชัดอย่างอื่นมันก็ชัด อย่างอื่นมันจะกลายเป็นเรื่องรอง นึกภาพออกไหม ผมมองว่าการรณรงค์เรื่องนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าศึกษา The People: ยังไง? ภราดล: มีเหตุการณ์ไม่มากนะที่จะรวมผู้คนจำนวนมากเพื่อสื่อสารบอกต่อจนกลายเป็นกระแสสังคมในระดับประเทศไปจนถึงระดับโลกแบบที่การรณรงค์หมู่บ้านป่าแหว่งทำได้ มันแสดงให้เห็นถึงความเป็นพื้นที่สาธารณะและความเป็นส่วนกลางของดอยสุเทพที่ทุกคนเห็นพ้องกันว่าสำคัญและจะต้องลุกขึ้นมาปกป้อง แต่ในขณะเดียวกันมันก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า ทำไมเวลาคนทิ้งน้ำเสียลงคลองแม่ข่า คนในเมืองถึงไม่ลุกออกมาประท้วงเหมือนกรณีดอยสุเทพ ถ้าตอบว่าเป็นเพราะดอยสุเทพเป็นสัญลักษณ์ของเชียงใหม่ แล้วทำไมคลองแม่ข่าไม่ถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ล่ะ หรือถนนต้นยางเชียงใหม่-ลำพูนที่มีหลายคนพยายามจะขยายถนนแล้วล้มต้นยางเพราะว่ามันไปล้มทับคนทับบ้านทับรถจนเกิดอุบัติเหตุ หรือถนนเส้นสันกำแพงซึ่งนั่นก็เป็นถนนประวัติศาสตร์แต่ว่าไม่มีใครดูแล ต้นจามจุรีสองข้างทางกำลังจะตายหมดแล้วเพราะมีคอนกรีตไปทับ ฟุตปาธก็เดินไม่ได้แล้ว ทางจักรยานก็แทบจะใช้ไม่ได้ คำถามคือ เป็นธรรมชาติเหมือนกัน มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน แต่ทำไมเขาไม่ได้มองตรงนั้นเป็นพื้นที่ส่วนกลางเหมือนดอยสุเทพ ผมเข้าใจว่าเกิดมาจากดอยสุเทพมีมาก่อนถนนต้นยางหรือมีมาก่อนที่เมืองเชียงใหม่จะตั้งขึ้น ดอยสุเทพมันเลยเป็นความทรงจำ เป็นพื้นที่สัญลักษณ์ที่ทุกคนเห็นพ้องว่ามีความเป็นสาธารณะอย่างแท้จริง ซึ่งเคสนี้มันทำให้น่าคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่อื่น ๆ ของเมืองมีความเป็นสาธารณะเหมือนดอยสุเทพที่ทุกคนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ว่าคลองแม่ข่าก็ต้องหน่วยงานนี้ดูแลเท่านั้น หรือถนนเส้นนี้ก็ต้องแขวงทางหลวงดูแลเท่านั้น ประชาชนไม่ได้มีบทบาทหรือส่วนร่วม ไม่ได้คิดว่าต้องทำอะไรกับมัน เมื่อประชาชนไม่ได้รู้สึกว่าเขามีความทรงจำกับมันก็จะปล่อยปละละเลย ความแรงในการผลักดันพัฒนาปกป้องเมืองมันก็อ่อนลงไป เพราะเราไม่ได้รู้สึกว่าเมืองนี้มีเราเป็นส่วนหนึ่ง The People: มันขึ้นอยู่กับแนวคิดของประเทศนั้น ๆ หรือเปล่า อย่างที่เกาหลีหรืออเมริกาเขามีการวางผังเมืองโดยจัดสรรพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ให้ประชาชน มีสวนหรือพื้นที่ริมแม่น้ำที่ทุกคนมีส่วนร่วม แต่ในประเทศไทยเหมือนแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะมันไม่ได้ถูกผลักดันเท่าที่อื่น ภราดล: ก็น่าคิดนะ แต่คำถามคือทำไมแนวคิดพวกนี้ถึงเกิดได้ที่เมืองอื่น ถ้าแบบนั้นทำไมเราไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการผังเมืองล่ะ ในอดีตเรามีวิธีการจัดการเมืองแบบไทย ๆ ซึ่งผมคิดว่ามันมีข้อดีนะ เราสร้างวัดเป็นจุดศูนย์กลาง ชุมชนมาเจอกันที่วัด ทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ผูกพัน ปลูกต้นไม้ทำบุญตักบาตรร่วมกัน มีลูกก็ส่งลูกเรียนวัด คนที่อดข้าวอดน้ำเป็นโฮมเลสวัดก็ดูแลได้หมด มีวิธีการจัดสรรทรัพยากร มีพื้นที่ส่วนกลาง มีเรื่องศาสนาวัฒนธรรม มีการทำงานบุญ กลุ่มภาคเกษตร ดนตรี ศิลปะ การศึกษา มันมีจุดรวมอยู่ แต่มันมีจังหวะหนึ่งที่ทุกอย่างดูจะถูกแยกออกเป็นชิ้น ๆ แล้วสังคมก็คิดว่าควรจะจัดการสิ่งต่าง ๆ ด้วยแนวคิดแบบตะวันตก ซึ่งไม่ใช่ว่ามันไม่ดีนะ แต่ความสับสนบางอย่างมันเกิดขึ้น เพราะพอเราออกจากชุมชนนี้ไปแล้วเรารู้สึกว่าชุมชนอื่นมันไม่ใช่ของเรา เราคิดไปว่าชุมชนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่น อย่างคนที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ก็ไม่ได้มองว่าแม่ข่าจะต้องใสทุกคน ซึ่งชุมชนที่เชื่อมแม่ข่าก็ประกอบด้วยหลายชุมชน มันก็แบ่งหน้าความรับผิดชอบเป็นกอง เป็นส่วน เป็นลิ้นชัก เป็นชิ้น ๆ เป็นระบบที่ไม่ได้เชื่อมกัน พอสังคมตอนนี้มันถูกแยกเป็นชิ้น ๆ มันก็เลยเคลื่อนไปได้ค่อนข้างช้า ผมมองแบบนั้นนะ The People: คุณได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ภราดล: ไม่ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะสำเร็จหรือล้มเหลว แต่มันก็มีมุมมองในประเด็นเรื่องของการเรียนรู้และแก้ไข เราเชื่อว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่ยอมแพ้แล้วก็จะหากลไก, วิธีคิด, วิธีต่อสู้, เครื่องมือ, ทรัพยากร และความร่วมมือเพื่อที่จะผลักดันให้สังคมและคุณภาพชีวิตมันดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีป่าแหว่ง, กรณีขยายถนนสายต้นโพธิ์, กรณีเรื่องจัดการคลองแม่ข่า ทุกเรื่องที่มีปัญหามีคนออกมาและพยายามแก้ไข ซึ่งผมเข้าใจว่าทั้งหมดทั้งมวลจะต้องใช้เวลา และผมก็เชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผมเชื่อว่าเมืองเชียงใหม่จะดีขึ้นถึงแม้บางช่วงจะเสียเวลาพายเรือวนอยู่ในอ่างไม่ไปไหน ทะเลาะกัน หรือหาข้อตกลงไม่ได้ แต่ด้วยเครื่องมือบางอย่างของมนุษย์ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะในเชียงใหม่แต่รวมถึงทั้งโลกที่พยายามหาวิธีเรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร หาวิธีเชื่อมโลกไว้ด้วยกัน และพยายามทำให้มันเป็นโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิม แม้ว่ามันจะยากก็ตาม อย่างเวลามีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือหมอกควัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนปัญหามันก็ลอยไปทั่วโลกรับผลกระทบเหมือนกันหมด มันไม่สามารถแยกโลกออกเป็นส่วน ๆ ได้อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้วิธีคิดเรื่องการจัดการปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมือง เรื่องคน ปัญหายาเสพติด ปัญหาด้านสุขภาพ โรคติดต่อ โรคระบาด ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาสิทธิมนุษยชน เราจึงรู้สึกว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ที่คนทั้งโลกจะต้องสนับสนุนช่วยเหลือหาวิธีเพื่อที่จะเกิดการร่วมมือแก้ปัญหาให้ได้ ซึ่งมันมีความพยายามในการต่อสู้และหาเครื่องมือกลไกเหล่านั้นอยู่เสมอ และผมเชื่อว่ามันจะดีขึ้น The People: ยังมีโปรเจกต์ไหนที่มีแผนอยากทำหรืออยากสานต่อในอนาคตไหม ภราดล: มีงานของปีก่อนที่อยากจะผลักดันต่อก็คือ The Last Straw รณรงค์ลดการใช้หลอดและพลาสติก ซึ่งเราอยากจะร่วมมือกับหลาย ๆ ภาคีและอยากจะวางแผนในระยะยาว ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ และตอนนี้ทิศทางของโลกก็มาทางนี้อยู่แล้ว The People: การรณรงค์ให้ประสบความสำเร็จและเห็นผลในระยะยาว ต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง ภราดล: เราต้องคิดว่าจะหาวิธีเพิ่ม ‘ตัวคูณ’ ได้อย่างไร เราจะเร่งปฏิกิริยาให้มันเร็วขึ้นที่สุดได้อย่างไรโดยใช้กลไกทางสังคมในการเคลื่อน และเรื่องของทรัสต์หรือกองทุนเมืองในการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม เพราะว่าเมืองมันเติบโตเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว บางครั้งเวลาเจอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เราจัดการมันไม่ทัน รวมถึงไม่มีกลไกในการเรียกร้องหรือจัดการ คือเวทีในการพูดคุยกับผู้ที่จะจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริง ๆ จัง ๆ มันมีหลายกลุ่มหลายช่องทาง แต่ว่าเราจะมีวิธีการอย่างไรให้มันเกิดขึ้นและเข้มแข็งในเจเนอเรชันของเรา นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการศึกษา ผมมองว่าทุกกิจกรรมที่เราทำจะต้องพูดถึงเรื่องการศึกษาควบคู่ไปด้วย ต้องให้เด็ก ๆ ได้รับรู้และมีส่วนร่วม ผมว่าเรื่องนี้สำคัญและเป็นกระบวนการที่ต้องเดินคู่ขนานไปกับการแก้ปัญหา แล้วก็เรื่องการสื่อสารและขอความร่วมมือ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการทุบซีเมนต์ที่ทับต้นไม้ เราทุบซีเมนต์ไปสี่ต้นนะ จากนั้นก็มีเพื่อน ๆ จากหลายที่ก็ส่งข่าวมาว่าตรงนั้นก็มีปัญหาเหมือนกัน เขาอยากจะแชร์ให้ออกไปในวงกว้างและอยากจะทุบบ้าง คือเมสเสจมันเดินทางไปของมันเอง ผมว่าเครื่องมือบางอย่างมันเชื่อมคนเอาไว้ด้วยกันแล้วมันทำงานได้แบบมีประสิทธิภาพถ้าเมสเสจมันโอเค เหมือนที่ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เคยเขียนบอกไว้ว่า ‘หนึ่งก็คือล้าน ล้านก็คือหนึ่ง’ ถ้าเราทำงานแบบแยกส่วนมันจะกลับมาอีหรอบเดิม ถ้ามีการร่วมงานกันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ มาคุยกัน แล้วค่อย ๆ เคลื่อนไป เช่น เราจะรณรงค์เรื่องพลาสติก อาจจะขอให้กลุ่มนั้นทำ exhibition, อีกกลุ่มจัดฉายหนังเกี่ยวกับพลาสติกตามสถานที่ต่าง ๆ, แต่ละกลุ่มช่วยผลักดันให้ร้านอาหารต่าง ๆ ไม่ใช้ขวดน้ำพลาสติก, ทำโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์เป็นน้ำขวดแก้วที่ราคาไม่แพงขึ้นมา, ช่วยกันสื่อสารและผลักดันเรื่องการลดขยะให้มากที่สุด เป็นต้น คือผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่โลกมันเรียกร้องอยู่แล้ว เราแค่เพิ่มข้อมูลเข้าไปแล้วก็ผลักดันเนื้อหาให้เกิดการบอกต่อในวงกว้างให้มากขึ้น ช่วยกันผลักดันเข้าไป ดันเข้าไปอีก ดันเข้าไปเรื่อย ๆ โดยมีกลุ่มเราช่วยเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ผมว่ามนุษย์จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มันต้องร่วมมือกัน และการจะร่วมมือกันก็ต้องเชื่อใจกัน มีความเชื่อบางอย่างร่วมกัน กลไกตรงนี้มันก็จะค่อย ๆ ขยายความสัมพันธ์และสร้างกลไกดังกล่าวได้ The People: ถ้ามีใครอยากจะรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมบ้างแต่กลัวล้มเหลว คุณจะบอกเขาว่าอย่างไร ภราดล: ผมก็ไม่มีคำตอบเหมือนกันครับ (หัวเราะ) รู้แค่เพียงว่าถ้าหากเรามั่นคงต่อเป้าหมายที่ชัดเจน สักวันหนึ่งเราต้องไปถึง และการจะทำให้บางสิ่งบางอย่างเคลื่อนไหวไปข้างหน้า อาจเกิดจากสิ่งง่าย ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ สิ่งใกล้ตัวที่เป็นความถนัดของเราเอง เหมือนผมถนัดดนตรีก็ใช้ดนตรี บางคนถนัดกีฬา ถ่ายภาพ ทำอาหาร ฯลฯ ก็ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเริ่มต้นในการขับเคลื่อน บางครั้งเราทำในจุดเล็ก ๆ แต่มีประสิทธิภาพก็ได้ ก็เหมือนกับคลื่นที่นาน ๆ ไปก็กัดเซาะแผ่นดินให้ขยับไปได้ ถ้าเรามั่นคงต่อเป้าหมาย มีความชัดเจน ซื่อสัตย์ แน่นอนว่าสักวันต้องไปถึงครับ