logo-pwa

เพิ่ม Thepeople

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด

คุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เข้าใจประเด็น CPTPP และ “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” (UPOV1991) ปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทย?

คุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เข้าใจประเด็น CPTPP และ “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” (UPOV1991) ปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทย?

เข้าใจประเด็น CPTPP และ “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” (UPOV1991) ปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทย?

ช่วงนี้เราอาจเห็นอักษรย่อ CPTPP ผ่านตาอยู่บ่อย ๆ รวมถึงกระแสคัดค้านจากหลายภาคส่วนที่ไม่ต้องการให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกในภาคีหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกนี้ อธิบายง่าย ๆ เพราะแม้จะมองเห็นช่องทางขยายตลาดของสินค้าบางชนิดไปสู่ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นสมาชิกอยู่ใน CPTPP แต่เมื่อลองสังเกตข้อตกลงก่อนเข้าเป็นสมาชิกที่ทำให้ไทยจำเป็นต้องแก้กฎหมายบางฉบับ ก็ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจบริการ การเกษตร และระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นสิทธิเมล็ดพันธุ์พืช และการคุ้มครองสิทธิบัตรยา หลายฝ่ายมองว่า สำหรับประเทศไทยซึ่งมีภาคการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหนึ่งในธุรกิจหลัก การตัดสินใจครั้งนี้อาจได้ไม่คุ้มเสีย ด้วยกระแสในโลกออนไลน์ที่พูดถึงประเด็นนี้อย่างเผ็ดร้อน ทำให้ในที่สุด จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้องถอนเรื่องนี้ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี พร้อมบอกว่า จะไม่เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. อีก ตราบใดที่สังคมยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ The People พูดคุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย เพื่อทำความเข้าใจข้อกังวลดังกล่าว และพบว่า แม้ CPTPP จะเป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรี ที่หากไทยอยากจะเข้าร่วมก็ต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลายประเด็น แต่สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมของไทยมากที่สุด คือ อนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืช หรือ UPOV 1991 ที่มูลนิธิชีววิถีขนานนามไว้ว่า เป็น "อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ"   The People: ในมุมของคุณ UPOV 1991 เป็นโจรเพราะอะไร และกำลังจะปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทยบ้าง  วิฑูรย์: UPOV มีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการ คือ อนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ก่อนหน้านี้เกิดขึ้นจากการผลักดันของบริษัทเมล็ดพันธุ์ทั้งหลาย ที่ต้องการจะคุ้มครองสายพันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น การคุ้มครองในที่นี้ หมายถึงการผูกขาดการซื้อขาย และไม่อนุญาตให้มีการปรับปรุงพันธุกรรมพืชในหมู่เกษตรก อันที่จริง ก่อนหน้านี้เคยมี UPOV ที่ถูกร่างขึ้นในปี 1978 ซึ่งเนื้อหายังมีการให้สิทธิ์ในการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ หรือแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ระหว่างเกษตรกร แต่ภายหลังเมื่อมีการเรียกร้องให้ขยายการคุ้มครองมากขึ้น UPOV เวอร์ชันปี 1991 จึงตัดสิทธิ์ของเกษตรกรในส่วนนี้ทิ้งไป การเก็บรักษา 'ส่วนขยายพันธุ์' ที่นอกจากเมล็ดก็อาจจะเป็นเหง้า เป็นกิ่ง เป็นตา ไปปลูกต่อ จึงกลายเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เพื่อให้สิทธิ์การปรับปรุงและซื้อขายผูกขาดอยู่กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ จึงปล้นสิทธิ์ในการเก็บรักษา หรือแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นสิทธิ์พื้นฐานของเกษตรกรไปเป็นอันดับแรก   The People: แล้วสิทธิ์เหล่านี้สำคัญอย่างไร ถ้าถูกปล้นไปแล้วจะกระทบกับอะไรบ้าง  วิฑูรย์: คำตอบแรกสุดเลยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ ในวิถีเกษตรกรรมของไทย การเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อเป็นหัวใจสำคัญเลยที่จะส่งต่อหรือสร้างสิ่งที่เรียกว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายนี้เองที่ทำให้มีเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ มีสายพันธุ์ดี ๆ เกิดขึ้น เมื่อใดก็ตามที่คุณออกกฎขึ้นมาทำลายความหลากหลาย ทำลายการกำเนิดสายพันธุ์ดี ๆ ในที่สุดเราก็อาจไม่มีข้าวสายพันธุ์ใหม่ ๆ หรือทุเรียนพันธุ์ดี เราอาจไม่มีมะม่วง มะขาม ขนุน ลำไย ลิ้นจี่ ที่ถูกปรับปรุงพันธุ์จนหลากหลาย เพราะกว่าจะได้ทั้งหมดนี้ เกษตรกรเขาต้องเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ คัดเลือกเอาแต่เมล็ดพันธุ์ที่ดี แลกเปลี่ยนพันธุ์ระหว่างกัน แล้วค่อย ๆ ปรับปรุงพันธุ์ของตัวเองขึ้นมา ดังนั้น เมื่อฝั่งบริษัทบอกว่า อยากจะคุ้มครองเมล็ดพันธุ์ แล้วออกกฎกับชาวบ้านว่า นอกจากปลูกแล้วก็ห้ามเอาไปทำอย่างอื่นขาย ปลูกเสร็จได้ผลผลิตมาแล้ว ห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ พอถึงฤดูกาลใหม่ค่อยซื้อมาปลูกต่อ ก็เท่ากับว่าได้ทำลายหัวใจของการพัฒนา และการขยายสายพันธุ์แบบวิถีของชาวบ้านไปโดยสิ้นเชิง นอกจากจะระบุว่า ห้ามเก็บเมล็ดไว้ปลูกต่อแล้ว รายละเอียดของอนุสัญญา UPOV 1991 ยังครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากพืชทั้งหมด สมมติว่าเราไปซื้อเมล็ดข้าวมา ข้าวพันธุ์นี้เป็นพันธุ์พืชใหม่ที่บริษัทขึ้นทะเบียน นอกจากปลูกจนเก็บเกี่ยวขาย เราจะไม่มีสิทธิ์เอาข้าวไปแปรรูปทำอย่างอื่นได้ต่อ จะทำเป็นข้าวหมาก ข้าวเกรียบ สาโท ก็ไม่ได้ เพราะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทเจ้าของเมล็ดพันธุ์ข้าว หากถูกตรวจพบอาจโดนฟ้องเสียค่าปรับกันหน้าหงาย เพราะฉะนั้น กันเมล็ดไว้ปลูกต่อก็ไม่ได้ เอาไปแปรรูปทำอย่างอื่นต่อก็ไม่ได้ เกษตรกรจึงทำได้แค่รับข้าวเขามาปลูก แต่เหมือนไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรเลย คุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เข้าใจประเด็น CPTPP และ “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” (UPOV1991) ปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทย? UPOV 1991 ยังคลอบคลุมไปถึงพืชทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่พืชสมุนไพร เมื่อใดก็ตามที่เรานำพืชสมุนไพรที่ได้รับการจดทะเบียนขอรับการคุ้มครองเป็นพันธุ์พืชใหม่มาปลูกขาย เราก็จะต้องเข้าสู่เงื่อนไขเดียวกัน ยกตัวอย่างพวกกัญชา เราก็จะไม่สามารถเอาไปวิจัยทำยารักษามะเร็ง หรือยารักษาอาการทางประสาทได้ กระท่อมก็เอาไปทำยาแก้ปวดไม่ได้แบบที่ญี่ปุ่นเขาจดสิทธิบัตร หมายความเราผลิตยาจากตรงนี้ไม่ได้เลย อนุสัญญานี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของพืชอย่างเดียว ก่อนหน้านี้ ในอนุสัญญาเก่า ระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืชจะอยู่ที่ 12-17 ปี (แบ่งตามชนิดของพืช) แต่อนุสัญญา UPOV 1991 กลับยืดเวลาห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยน ห้ามเก็บไว้ปลูกต่อ ห้ามแปรรูปและขยายพันธุ์ไปถึง 20-25 ปี ซึ่งเวลาที่ยาวนานขนาดนี้ คงเพียงพอให้เหล่านายทุนฟันกำไรไปจากภาคเกษตรกรรมของเราไม่น้อย เผลอ ๆ ถึงเวลาหมดอายุการผูกขาด บริษัทก็คงปล่อยพันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่ได้รับการปรับปรุงแล้วออกมาขายแข่งในท้องตลาด ซึ่งประเด็นการผูกขาดเช่นนี้ อันที่จริงก็เป็นปัญหาในภาคเกษตรกรรมของไทยมานานมากแล้ว โครงสร้างของตลาดเมล็ดพันธุ์ของไทยปัจจุบัน ถ้าแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ก็จะมีพวกพืชไร่ อย่างข้าวโพด ที่ถ้าย้อนไปเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว พันธุ์ข้าวโพดที่เราปลูกในไทย กว่า 90% พัฒนาโดยสถาบันราชการหรือก็คือของรัฐ แต่ในปัจจุบันข้าวโพดที่เราปลูกเพื่อเลี้ยงสัตว์ กว่า 90% เป็นของบริษัทเมล็ดพันธุ์พืช เช่นเดียวกับกลุ่มที่สอง กลุ่มผัก อันนี้สักประมาณ 70% มาจากบริษัทใหญ่แค่ 2 บริษัทเอง เรายังโชคดีอยู่หน่อยตรงที่ข้าวไทยเราประมาณครึ่งหนึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านเก็บพันธุ์ไปปลูกต่อเอง มีมาจากพันธุ์พื้นเมืองบ้าง จากราชการบ้าง ประมาณ 20% เท่านั้นที่มาจากบริษัทใหญ่ ข้าวไทยก็เลยเป็นพืชที่มีความหลากหลาย นี่คือผลประโยชน์ที่ชาวบ้านได้มาจาก พ.ร.บ.เก่า ที่เขาปล่อยให้เราทำการเกษตรแบบวิถีเดิม สำหรับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่ไม่โชคดีเช่นนี้ ก็อาจจะต้องบริโภคแต่พืชที่มาจากบริษัทเดียว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องอันตราย เพราะความหลากหลายทางชีวภาพได้ถูกทำลายลงไป คุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เข้าใจประเด็น CPTPP และ “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” (UPOV1991) ปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทย? The People: แล้วความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญอย่างไร ทำไมเราจึงต้องปกป้องอย่างถึงที่สุด วิฑูรย์: เพราะความหลากหลายจะส่งผลต่อผู้บริโภคโดยตรง เมื่อลองสังเกตดูระบบอาหารที่เรากินอยู่ในปัจจุบัน เราอาจเห็นว่ามาจากพืชไม่กี่ชนิด เวลาเดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ ผลิตภัณฑ์หลายอย่างทำจากข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง และมันฝรั่ง หากวัตถุดิบเหล่านี้ไม่หลากหลาย จะส่งผลร้ายต่อระบบโภชนาการของผู้คน ทุกวันนี้คนที่ยังขาดอาหารก็เป็นปัญหาหนึ่ง แต่คนที่ได้รับสารอาหารกับประสบปัญหาโภชนาการเกินจนไม่สมดุล ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพ สาเหตุที่โภชนาการไม่สมดุลก็มาจากการปรับปรุงพันธุกรรมพืชนี่ล่ะ เมื่อมีเพียงไม่กี่บริษัทที่สามารถส่งออกพืชสายพันธุ์เดิม ๆ ไปปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ ก่อนจะส่งต่อสู่ปากท้องของผู้บริโภคได้ พวกเขาจึงถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านโภชนาการ เพราะบริษัทเหล่านี้ได้รับสิทธิ์ในการผูกขาด และมีอำนาจที่จะปรับปรุงพันธุ์พืชไปในทางใดก็ได้ พอพูดเรื่องผลกระทบจากการตัดต่อพันธุกรรมจะส่งผลอะไร เราก็พบว่าระบบอาหารมันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน กว่าเราจะรู้ตัวว่าเราได้รับอาหารที่ไม่หลากหลาย ที่อาจทำให้เกิดปัญหาต่อร่างกายและสุขภาพ บางทีเราก็อาจเสียเวลาไปหลายปี หรือไม่ก็เกือบทั้งชีวิตแล้ว กว่าจะมีงานวิจัยสักชิ้นโผล่มาบอก เราไม่มีทางรู้เลยว่าเขาต้องศึกษาเรื่องนี้จากตัวอย่างไปเท่าไหร่ เบื้องหลังวงการนี้มันโหดร้ายมากเหมือนกัน นอกจากเรื่องผูกขาด ผลกระทบที่มีต่อเกษตรกร หลัก ๆ แล้วก็ยังมีเรื่องราคาเมล็ดพันธุ์ที่สูงขึ้น กระบวนการเหล่านี้สามารถพาให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นไปถึง 3-5 เท่า แล้วแต่ชนิดพืช เมื่อความต้องการมีมากและมีการผูกขาดอยู่ไม่กี่ราย เขาจึงตั้งราคาที่เท่าไหร่ก็ได้ แน่นอนว่าข้อนี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเหล่าเกษตรกรโดยตรง ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ประมาณปีละ 2 หมื่นกว่าล้าน นี่เป็นการคิดทั้งระบบ ถ้าลองคิดว่าจะแพงขึ้นไปอีก 3-5 เท่า ชาวบ้านเกษตรกรจะเอาที่ไหนจ่าย แถมพอต้นทุนการผลิตแพงขึ้น เกษตรกรก็ยิ่งต้องขายแพงตาม ผลลัพธ์ที่ตามมาคือผู้บริโภคต้องซื้ออาหารในราคาที่แพงขึ้นไปอีก เรียกได้ว่ากระทบกันไปทั้งระบบ  คุยกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เข้าใจประเด็น CPTPP และ “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” (UPOV1991) ปล้นอะไรไปจากเกษตรกรไทย? The People: นี่ไม่ใช่การเสนอให้มีการพิจารณาเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าเป็นครั้งแรก? วิฑูรย์: ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามผลักดันมาก่อน ช่วงประมาณปี 2017 (พ.ศ. 2560) ตอนนั้นใช้เหตุผลเดียวกันเลยว่า เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ความตกลงการค้าระหว่างประเทศ โดยมีการร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อยกเลิกกฎหมายเดิม อันนั้นก็ร่างตาม UPOV 1991 นี่ล่ะ ตอนนั้นก็พยายามเสนอในช่วงที่ประเทศมีเรื่องใหญ่ต้องจัดการ อาศัยโอกาสช่วงชุลมุน แต่การฉวยเวลาในจังหวะของโควิด-19 อาจไม่ใช่เวลาที่ถูกต้องสักเท่าไหร่ ผมก็ไม่รู้เขาคิดอะไรอยู่ เพราะยิ่งภายใต้สภาวะโรคระบาด ปัญหาจากกลไกการค้าระหว่างประเทศ ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงเรื่องการพึ่งพาตนเองกันแล้ว หลายคนตระหนักว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกอย่างเดียวแล้วขาย อาจไม่ใช่ทางออกเรื่องปากท้องอีกต่อไป ช่วงเวลานี้ต้องเกษตรผสมผสาน ปลูกให้หลากหลาย การจะเสนอให้กลับไปเป็นแบบเดิม คือส่งเสริมบริษัทขนาดใหญ่ที่อยากให้ปลูกพืชไม่กี่ชนิด มันเหมือนขัดแย้งกับตัวสถานการณ์ปัจจุบัน การทำเกษตรกรรมเชิงหลากหลาย จะเป็นหนทางเอาตัวรอดในช่วงเวลาวิกฤตได้อย่างยั่งยืน แถมยังเสริมความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประเทศได้อีกด้วย   The People: ความมั่นคงทางอาหารในไทยมีแนวโน้มเป็นอย่างไร วิฑูรย์: ความมั่นคงทางอาหาร คือสภาวการณ์ที่คนทุกคนต้องได้รับอาหารอย่างเพียงพอ มีโภชนาการครบถ้วนและมีความปลอดภัย ทั้งในสถานการณ์ปกติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน อย่างตอนนี้ที่เรากำลังเจอ มันฉุกเฉินอยู่ แต่กลายเป็นว่า ประเทศไทยที่ผลิตอาหารได้มากมายเพื่อส่งออก กลับต้องมาเข้าคิวรอรับอาหาร เราพึ่งพาตัวเองไม่ได้เลย อันนี้ไม่ใช่ความมั่นคงแล้ว เราผลิตอาหารส่งออกได้มากมาย มีบริษัทส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกตั้งอยู่ในประเทศไทย แต่ชาวบ้านกลับยังยากจนมีหนี้สิน ไม่มีจะกินแบบนี้ มันจะเรียกว่ามั่นคงได้หรือ หลังโควิด-19 ผมมองว่า ภูมิทัศน์เศรษฐกิจบ้านเราจะเปลี่ยนไปอีกมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการตื่นตัวเรื่องความมั่นคงและความสนใจหันมาทำธุรกิจแบบพึ่งตัวเองมากขึ้น สินค้าส่งออกหลายอย่างขายไม่ได้ เพราะเครื่องบินขนไม่ได้ การค้าจึงนิ่งสนิท หนทางเอาตัวรอดเดียวของเกษตรกรไทย หรืออาจรวมถึงเกษตรกรในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก จึงเป็นการลองเปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสาน ปลูกอะไรที่ตลาดต้องการ ปลูกหลาย ๆ อย่างในที่เดียวกัน นอกจากจะทำให้มีพืชผักไว้กินเองแล้ว ผลผลิตดังกล่าวก็ยังสร้างรายได้ให้ด้วย พอหันมาเน้นตลาดภายในที่ไม่ต้องปลูกเยอะ เอาตามแต่ความเหมาะสมของแต่ละชุมชน ต้นทุนก็จะได้ไม่สูงมาก สถานการณ์ตอนนี้จึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของภาคเกษตรกรรมไทยไปได้โดยสิ้นเชิ