สัมภาษณ์ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ กับชีวิตรักเดียว “เพื่อชีวิต” ดนตรี การเมือง สตรีมมิ่ง เด็กตีกัน และ ฟุตบอลไทยไปบอลโลก

สัมภาษณ์ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ กับชีวิตรักเดียว “เพื่อชีวิต” ดนตรี การเมือง สตรีมมิ่ง เด็กตีกัน และ ฟุตบอลไทยไปบอลโลก

สัมภาษณ์ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ กับชีวิตรักเดียว “เพื่อชีวิต” ดนตรี การเมือง สตรีมมิ่ง เด็กตีกัน และ ฟุตบอลไทยไปบอลโลก

ดนตรีเพื่อชีวิตถือเป็นแนวเพลงที่อยู่คู่กับคนไทยมาหลายทศวรรษ แน่นอนมนต์เสน่ห์ของมันคือ ความตรงไปตรงมา การเสียดสีสังคมการเมือง หรือแม้กระทั่งการปลอบประโลมและให้กำลังใจผู้คนเสมอ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราจะหาได้ในเพลงเพื่อชีวิตดี ๆ สักเพลง ย้อนกลับไปในช่วงปี 2530 ชายหนุ่มจากอำเภอเมืองหนองคายผู้มีนามว่า ปูพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ตัดสินใจทิ้งชีวิตทุกอย่างไว้ข้างหลัง แล้วมุ่งหน้าท้าทายกับความฝันในเมืองหลวง พร้อมกับความคิดในหัวที่ว่าวันหนึ่งเราจะเป็นศิลปินให้ได้

แต่ใครจะไปเชื่อว่าเวลาผ่านไป 30 ปี ชายผู้เคยมีเงินติดตัวแค่ 34 บาทในตอนนั้น ปัจจุบันจะโด่งดังมีชื่อเสียงมีผลงานสตูดิโออัลบั้มร่วม 20 ชุด และถูกยกย่องว่าเป็นเจ้าพ่อเพลงรักเพื่อชีวิตแม้นี่จะเป็นฉายาที่เขาดูเคอะเขินกับมันไม่น้อย แต่เจ้าตัวก็ยอมรับว่าลึก ๆ ตนก็รู้สึกภูมิใจกับมันไม่น้อยเหมือนกัน

พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ ถือเป็นศิลปินที่ฝากผลงานประดับวงการเพลงเพื่อชีวิตไว้มากมาย เช่นคิดถึง’, ‘สุดใจ’, ‘ตลอดเวลา’, ‘ไถ่เธอคืนมาหรือมือปืน The People มีโอกาสคุยกับชายคนนี้เกี่ยวกับหลายเรื่องราว ทั้งดนตรี การเมือง สตรีมมิ่ง เด็กตีกัน และ ฟุตบอลไทย

The People: ย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น ชีวิตในวัยเด็กเป็นอย่างไร

พงษ์สิทธิ์: ตอนเด็ก ๆ จริงก็เล่นกีฬาเป็นหลัก ผมชอบเล่นฟุตบอล แต่ว่ามีรุ่นพี่ที่อยู่บ้านติดกันเขาเล่นกีตาร์ ผมก็ไปชอบตามเขา ชอบฟังเขาเล่นแล้วก็เริ่มหัดเล่น ฟังเพลงแบบเด็ก ๆ อยู่ต่างจังหวัดก็จะชอบเพลงลูกทุ่ง มาเริ่มฟังเพลงเพื่อชีวิตก็เมื่อตอนมีรุ่นพี่มาเรียน ม.รามคำแหง พอกลับไปตอนปิดเทอมเขาก็เอาเทปคาสเซ็ทเพื่อชีวิต ซึ่งสมัยก่อนมันหาฟังยาก เขาก็เอาไปให้ฟัง ฟังครั้งแรกผมติดใจเลย ชอบเพลงแบบนี้ เจอตัวเองว่าเราชอบเพลงแบบนี้ ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มเล่นกีตาร์มาเรื่อย ๆ เริ่มฝึกกีฬา เล่นกีตาร์มาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

The People: ตอนนั้นได้ข่าวว่าเป็นนักกีฬาฟุตบอลมาก่อน แต่ทำไมตัดสินใจมาเล่นดนตรีแทน

พงษ์สิทธิ์: ตอนผมเรียนขอนแก่น เข้าไปเรียนก็ไปเป็นนักบอลนี่แหละ ซึ่งในเวลาเดียวกันเขาก็เปิดรับสมัครนักกีตาร์ในวงของมหาวิทยาลัย ผมก็ไปสมัคร ไปออดิชั่น แล้วเราก็ได้เล่น ทีนี้มันซ้อมไม่ไหว คือเลิกเรียนประมาณบ่าย 3-4 โมง แล้วก็ต้องไปซ้อมบอล เสร็จแล้วก็มาซ้อมดนตรีอีก มันไม่ไหว คือสิ่งเย้ายวนที่สุดคือเล่นดนตรีแล้วได้ตังค์ มันได้ตังค์เพิ่มจากที่เราได้จากทางบ้าน มันก็ทำให้ตัดสินใจเลิกเล่นฟุตบอล

The People: เรียกได้ว่าตอนแรกจุดเริ่มต้นในการเล่นดนตรีก็เริ่มมาจากได้เงินก่อน

พงษ์สิทธิ์: ใช่ เล่นเป็นอาชีพ คือเล่นดนตรีในมหาวิทยาลัยก็เสาร์ - อาทิตย์มีงาน ก็ได้สตางค์เพิ่มขึ้น 

สัมภาษณ์ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ กับชีวิตรักเดียว “เพื่อชีวิต” ดนตรี การเมือง สตรีมมิ่ง เด็กตีกัน และ ฟุตบอลไทยไปบอลโลก

The People: ตอนนั้นเคยคิดไหมว่าการที่เราตัดสินใจมาเล่นดนตรี มันจะทำให้เรามีชีวิตที่กลายมาเป็นนักดนตรีเต็มตัว

พงษ์สิทธิ์: ไม่คิดว่าจะเป็นนักดนตรีอาชีพ เคยคิดว่าคงเล่นถึงเรียนจบ แล้วคงเรียนต่อหรือว่าทำงานตามที่จะเรียน ผมเรียนช่างกลโรงงาน ก็คงทำงานตามอาชีพตัวเอง มันมาเปลี่ยนช่วงสัก ปวช. ปี 2 เจอวงดนตรีชื่อวงคาราวาน พี่ ๆ เขามาทัวร์ภาคอีสาน ก็ไปดู ทำให้มีความคิดว่าอยากเป็นนักดนตรีอาชีพ แต่เรื่องแต่งเพลง ผมเริ่มตั้งแต่เด็กกว่านั้นแล้ว ตั้งแต่อยู่หนองคาย ซึ่งก็ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่งแบบเด็ก ๆ แต่งเพลงอยู่เรื่อยพอเรียนจบผมก็ตัดสินใจมาหาพี่ ๆ วงคาราวาน ก็ขออนุญาตตาม ตอนนั้นก็ตัดสินใจไม่เรียนจบ ปวชแล้วก็เข้ามากรุงเทพฯ มายกของ เป็น stage boy

พอตอนหลังพี่เขารู้ว่าเราแต่งเพลงได้ เขาก็บอกว่าขึ้นไปเล่นสิ เขาให้โอกาสผมขึ้นไปเล่นก่อน ตอนนั้นไม่ค่อยมีใครฟังหรอก เพราะว่าไม่มีใครรู้จัก เพลงอะไรก็ไม่รู้ ตอนนั้นเรียนรู้ที่จะทำเดโม่เพลง แล้วก็ไปเสนอบริษัทเทปนู่นนี่นั่น ก็ไปเสนอไปทั่ว จนกระทั่งได้ทำอัลบั้มแรก อัลบั้มแรกชื่อถึงเพื่อนปี 2530 ได้รับโอกาสโดยพี่เล็กคาราบาวเป็นโปรดิวเซอร์แล้วก็ช่วยดูแลเรื่องเข้าบริษัท แต่ก็ล้มเหลว อัลบั้มแรกล้มเหลว เพราะฉะนั้นผมต้องย้ายไปเล่นในบาร์ เล่นกลางคืน กลางวันก็ทำเพลงไปเสนอไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะทำอัลบั้มที่สอง ประมาณ 3 ปีหลังจากนั้นคือปี 2523 อัลบั้มที่สองได้ออก ชื่อเสือตัวที่11” อัลบั้มนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ

The People: ตอนที่อัลบั้มแรกไม่ประสบความสำเร็จจนต้องไปเล่นกลางคืน รู้สึกท้อไหม

พงษ์สิทธิ์: มันมีบ้างเป็นพัก ๆ มันท้ออยู่แล้ว บางวันผมก็ไปขายซาลาเปา กลางวันขายซาลาเปา กลางคืนเล่นดนตรี แล้วมันตั้ง 3 ปีกว่าจะมีบริษัทรับ มันก็ท้อเป็นช่วง ๆ เพราะเรายังอายุไม่เยอะก็คิดว่าไปเรียนต่อก็คงจะไหวอยู่ เรียนต่อแล้วก็ไปตามอาชีพที่เราเรียนมา เคยคิดเหมือนกัน แต่ว่าโชคดีที่มันถึงจุด มันก็ อืม เอาซะหน่อย ไปต่อซะหน่อย

The People: มองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกว่าโอกาสมันเป็นเรื่องของความโชคดีหรือโชคชะตาไหม

พงษ์สิทธิ์มันคงประกอบกัน จังหวะชีวิต ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องโชค แต่ความพยายามของเราแล้วก็จังหวะชีวิตเรา เจอพี่ ๆ ดี ๆ คอยเกื้อหนุน มีส่วนเหมือนกัน พี่ ๆ ก็คอยให้โอกาสผมเยอะ คนวัยผมขวนขวายอยากเป็นนักร้อง อยากทำเทปมันคงเยอะเหมือนกัน ผมคงไม่ใช่คนเก่งที่สุดในวัยนั้น แต่ว่าจังหวะชีวิตผมมันอาจจะพอดี ๆ เข้าล็อคของมัน 

The People: คุณเคยบอกว่าตอนนั้นมีเงินเข้ากรุงเทพฯ ติดตัวมา 34 บาท แถมขายซาลาเปามาก่อน ตอนนั้นทำไมถึงตัดสินใจทิ้งชีวิตไว้ข้างหลังแล้วก็มุ่งหน้ากับความฝัน 

พงษ์สิทธิ์: วัยของเรา พ่อแม่เขาผิดหวัง พ่อแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกเรียนต่อ ตอนผมมาผมก็โกหกว่าผมจะมาสมัครเรียน แต่ก็ไม่ทำ มาเริ่มอาชีพยกของอย่างที่บอก วัยมันทะเยอทะยาน มันอยาก มันทะเยอทะยาน ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจแบบนั้น 

สัมภาษณ์ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ กับชีวิตรักเดียว “เพื่อชีวิต” ดนตรี การเมือง สตรีมมิ่ง เด็กตีกัน และ ฟุตบอลไทยไปบอลโลก

The People: ในยุคนั้นหลายคนอาจมองว่าอาชีพนักร้อง เป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ไส้แห้ง ไม่มีอนาคต ปัจจุบันมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

พงษ์สิทธิ์: มันไม่จริงหรอก ต่อให้ไม่ใช่ผมนะ อย่างเพื่อน ๆ นักดนตรีกลางคืนก็เลี้ยงครอบครัวได้ทุกคน ผมก็เห็นเขาสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวได้ ก็เห็นเยอะนะ  ผมมีเพื่อน ๆ เล่นกลางคืนเยอะ ก็ส่งเสียลูก ๆ จนเรียนจบได้ นอกจากจะเกเร นักดนตรีกลางคืนสิ่งเย้ายวนมันก็เยอะ ถ้าเกเรเลอะเทอะมันก็เลี้ยงตัวไม่ได้ 

The People: ในยุคสมัยนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก เด็กสมัยนี้ก็อาจหลงลืมเพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิตไป หลายคนมองว่าดนตรีแบบนี้เชยไปแล้ว คุณมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร

พงษ์สิทธิ์: จริง ๆ แล้วเพลงสไตล์แบบไทยมันยากที่สุดแล้ว เขายังวัยรุ่นเขาคงชอบฝรั่ง อยากจะเล่นแบบฝรั่ง มันเท่กว่า ในขณะเดียวกันผมคิดว่าถ้าเขาแก่ขึ้นก็คงจะเข้าใจ เขาเริ่มมีประสบการณ์เขาก็จะรู้ว่าเพลงสไตล์ไทย ๆ จริง ๆ แล้วยากกว่าฝรั่ง ผมคิดว่าเพลงลูกทุ่งเขาก็เปลี่ยนไปเยอะตามสภาพ แต่ถ้าบอกว่าไม่ได้รับความนิยมมันก็ไม่ใช่ เพราะว่าเพลงฮิต ๆ เดี๋ยวนี้ก็เพลงลูกทุ่งเยอะ แต่อาจจะปรับเปลี่ยนเป็นเพลงที่มันสนุกขึ้น ดนตรีใหม่ขึ้น แต่เพลงลูกทุ่งสไตล์เดิม ๆ เพลงลูกทุ่งแบบเศร้า ๆ อย่างคุณสายัณห์ สัญญา คุณยอดรัก สลักใจ อะไรแบบนั้นมันก็ค่อย ๆ หายไป มันค่อย ๆ เปลี่ยน แต่มันไม่ได้ตาย 

The People: ศิลปินรุ่นใหม่หลายคนมีการสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองที่เติมแต่งขึ้นมา ในฐานะที่คุณเป็นเหมือนตัวแทนของศิลปินที่มีความเป็นตัวเองสูงมาก คุณมองว่าคนเหล่านี้กำลังหลงทางหรือเปล่า 

พงษ์สิทธิ์: ผมก็เคยเห็นนะ เขาคงพยายามสร้างคาแรคเตอร์ของตัวเอง คิดว่าอย่างวงดนตรีที่โตมาจากบริษัทเทป คงมีคนแนะนำเขา ค่ายคงไม่ปล่อย แต่อย่างบางคนโตขึ้นมาเอง เขาก็คงจะสร้างคาแรคเตอร์ตัวเอง สิ่งหนึ่งที่โดยส่วนตัวผมก็ไม่ชอบพวกถ่อย ๆ ผมไม่ชอบนักร้องตลกถ่อย ๆ แต่คนอื่นชอบ คือเคยนั่งดูก็เห็นเขาชอบกัน แต่เราไม่ชอบ แต่หลาย ๆ วงเขาก็สร้างคาแรคเตอร์ของเขาแล้วน่าสนใจ

The People: คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าดนตรีแบบบ๊อบ ดีแลน หรือ นีล ยัง อาจจะฟังดูน่าเบื่อสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคุณเพลงเหล่านี้มีค่าอย่างไร

พงษ์สิทธิ์: ผมไม่รู้ภาษาอังกฤษนะ แต่ก็ขอให้หลายคนช่วยแปลให้ฟังว่าเขาพูดอะไร ผมคิดว่าเพลงของคนเหล่านี้ เสน่ห์ของเขาคือเรื่องที่เขาเขียน เรื่องที่เขาบันทึก แล้วศิลปินเหล่านี้เปิดดนตรีใหม่ ๆ เปิดไว้ให้คนอื่นตาม แบบ นีล ยัง เขาก็สร้างดนตรีหลาย ๆ แบบ บ๊อบ ดีแลน ก็เหมือนกัน คนพวกนี้เขาอยู่ได้เพราะเขาเป็นคนเริ่มทุก ๆ อย่าง ให้คนอื่นตาม

The People: เมื่อปี 2537 คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่อยากพูดว่าตัวเองเป็นนักร้องเพื่อชีวิต ในตอนนี้ความคิดนี้เปลี่ยนไปบ้างหรือยัง

พงษ์สิทธิ์: มันหนุ่มนะ มันอาจจะประชด แต่ว่าเราจะเป็นนักดนตรีประเภทไหน เป็นเรื่องที่คนอื่นเขาเรียกเรา ผมประกาศตัวว่าเป็นศิลปินเพื่อชีวิตก็คงจะไม่ถูก ผมว่านี่คือสิ่งที่ควรให้คนอื่นเขาเรียก 

สัมภาษณ์ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ กับชีวิตรักเดียว “เพื่อชีวิต” ดนตรี การเมือง สตรีมมิ่ง เด็กตีกัน และ ฟุตบอลไทยไปบอลโลก

The People: การแต่งเพลงของคุณในหลาย เพลงอาจมาจากตัวเราเองร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะทำอย่างไรถ้าต้องแต่งเพลงที่ฝืนความรู้สึก อย่างเรื่องของธุรกิจหรือกระแสสังคม  

พงษ์สิทธิ์: ผมกล้าพูดนะว่าผมไม่เคยแต่งเพลงตามใบสั่ง ผมแต่งเพลงตามความคิดผมในเวลานั้น ยกตัวอย่างว่าเราพูดถึงสังคม ณ ปีนั้น ๆ มันก็เป็นเรื่องที่กระทบเรา บางเรื่องมันกระทบเรา เราก็แต่งออกมา แต่ถ้าเป็นเพลงที่เกี่ยวกับความรู้สึกมันก็อีกแบบหนึ่ง ความรู้สึกในแต่ละเรื่องที่เราแต่ง ถ้านอกเหนือจากนั้นก็เช่นหนังสือบางเรื่องที่เราอ่าน มันโดนใจ เราก็แต่งตามนั้น ผมแต่งเพลงจากหนังสือหรือหนัง 

The People: หากนิยามเพลงเพื่อชีวิต เสน่ห์ของมันคืออะไร ความตรงไปตรงมา หรือการเสียดสีสังคม

พงษ์สิทธิ์: ผมว่าโดยรวม ๆ มันปลอบประโลมจิตใจคน แล้วคนส่วนใหญ่ในสังคมฟังเพลงเพื่อชีวิต ผมคิดว่ายังเป็นจำนวนมากที่ฟังอยู่ ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ นะ เพลงเพื่อชีวิตมันกระทบเขา เพลงบางเพลงโดนบางคน เรื่องบางเรื่องมันเป็นเรื่องของเขา มันโดนใจเขา มันปลอบประโลมจิตใจเขา แต่ผมไม่เชื่อว่าเพลงเพื่อชีวิตเปลี่ยนสังคมได้ 

The People: แม้มันไม่ได้เปลี่ยนสังคม แต่บางครั้งเพลงเพื่อชีวิตก็เหมือนกระแสหนึ่งที่ทำให้เกิดคลื่นขึ้นมาได้ 

พงษ์สิทธิ์: ผมคิดว่าไม่เคยมีเพลงอะไรที่เปลี่ยนได้ นอกจากหนึ่ง ปลอบประโลม สอง ให้กำลังใจ สมมติว่าเรากำลังต่อสู้กับเรื่องเรื่องหนึ่ง เพลง เพลงหนึ่งอาจมีไว้เพื่อให้เราฟังแล้วมันฮึกเหิม มันอยากจะเปลี่ยน มันอยากสร้างแรงให้ฮึกเหิม มีจุดร่วม เพลงนี้เป็นจุดร่วมของผู้คนมากกว่า

The People:  จากเพลงแรกจนถึงอัลบั้มใหม่ และผลงานในอนาคต ตัวตนของเราเปลี่ยนไปไหม 

พงษ์สิทธิ์: มันแก่ตัวลง ความคิดบางอย่างมันก็เปลี่ยนไป อย่างตอนหนุ่มเราก็ไม่มีลูก พอเรามีลูก มองลูกค่อย ๆ โต ความคิดเราก็เปลี่ยน ลูกเราเหมือนเราตอนนั้น เหมือนเราตอนเราเป็นหนุ่ม เรามองเขาแล้วมันมีความขัดแย้ง เวลาลูกเถียง เราไม่เห็นด้วย นั่นแสดงว่าเรากำลังเปลี่ยน เพราะเมื่อก่อนเราก็คิดแบบนั้น แต่เราไม่รู้ตัวเราเปลี่ยนอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้เราไม่เห็นด้วยกับความคิดของเราในวัยนั้น หลาย ๆ เรื่อง เราเปลี่ยนแน่นอน 

The People: คุณมักจะชอบแต่งเพลงให้คนอื่น แต่ไม่สนใจเรื่องเงินเลย  

พงษ์สิทธิ์: ถ้าผมร่วมกับคนอื่นส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพื่อน เป็นน้อง แต่จริง ๆ หลัง ๆ น้องที่มาก็ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพียงแต่ว่าการได้ร่วมงานกับคนใหม่ ๆ มันก็ดีนะ เราก็ได้อะไรเยอะจากเขา โดยที่ไม่ต้องเก็บตังค์กัน ผมไม่เคยเอาตังค์ ไปร้องเพลงกับวงนู้น วงนี้ ผมไม่เคยคิดตังค์เขา แต่งนู่นแต่งนี่ให้คนอื่นก็ไม่เคยคิดตังค์ แต่คิดว่าสิ่งสำคัญที่จะได้กลับคืนมาคือมีเพื่อนใหม่ ๆ เพื่อนรุ่นเดียวกัน เพื่อนรุ่นน้อง มันก็เปิดหูเปิดตาเรามากขึ้น 

สัมภาษณ์ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ กับชีวิตรักเดียว “เพื่อชีวิต” ดนตรี การเมือง สตรีมมิ่ง เด็กตีกัน และ ฟุตบอลไทยไปบอลโลก

The People: เนื้อเพลงของคุณ ได้แรงบันดาลใจในการแต่งเพลงมาจากอะไร 

พงษ์สิทธิ์: ผมคิดว่า หนังสือมีอิทธิพลกับผมในการแต่งเพลง หนังสือกับหนัง การสนทนามันก็สำคัญ แต่งเพลง สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมคือเรื่อง เรื่องที่มันต้องตกผลึก สมมติแต่งเพลง ‘มือปืน’ ผมก็คิดเรื่องมือปืนเป็นเดือน ๆ ว่าจะเอายังไง 

ผมเจอคนทุกวัน เพื่อนเป็นนักเลง มือปืนก็เยอะแยะ มันมีเรื่องให้สนทนา แต่ว่าพอเราจะแต่งเป็นเพลงมันก็จะต้องมีความเหมาะสม แต่ในชีวิตจริงมือปืนหันปืนไปยิงหัวนายตัวเองมันก็แทบไม่มีหรอก แต่ว่ามันเป็นเพลงมันก็ต้องมีเรื่องราว นั่นแหละยาก 

The People: โลกกำลังเปลี่ยนไป จะปรับตัวอย่างไรในยุคที่เทปคาสเซ็ทเองก็หายไปแล้ว  

พงษ์สิทธิ์: มันเร็วขึ้นแต่คุณภาพต่ำลง ผมเห็นคนฟังเพลงจากโทรศัพท์แล้วผมก็บ้า เสียงมันก็ไม่ดี มันไม่ใช่เพลง ถ้าเราฟังเพลงแล้วเสียงไม่ดีมันก็ไม่ควรฟังหรอก ไม่มีใครสนใจเรื่องเครื่องเสียงดี ๆ แล้ว เดี๋ยวนี้ฟังเพลงจากโทรศัพท์แล้ว ถ้าเราฟังเพลงจากเสียงที่ไม่ดี เราฟังทำไม นั่นเป็นประเด็นที่บอกว่ามันเร็วขึ้นแต่มันคุณภาพต่ำลง 

The People: ตอนนี้เสน่ห์ของวงการดนตรีถูกทำให้หายไปหรือไม่ 

พงษ์สิทธิ์: ถ้าว่าไปมันก็เหมือนคนแก่มาบ่น แต่ผมก็ชอบแบบเก่า ส่วนตัวผมนะครับ มันมีเสน่ห์มากกว่า มีคนเข้าคิว สมัยก่อนเพลงฮิต ๆ คนต้องเข้าคิวซื้อคาสเซ็ท ตามแผงเทป เดี๋ยวนี้แผงเทปก็ไม่มี มันง่ายไป 

The People: เมื่อพูดถึงเรื่องการเมืองไทย ตอนนี้คุณคิดว่ามันสงบสุขหรือยัง เบื่อหน่ายกับสิ่งที่เป็นอยู่หรือไม่ 

พงษ์สิทธิ์: มันเห็นได้ชัดว่าไม่สงบ มันเห็นชัดเลย มันไม่สงบ ผมเชื่อว่าในช่วงชีวิตผมมันเป็นอย่างนี้แหละ เพราะว่าทุกอย่างมันถูกกำหนดโดยพรรคการเมือง โดยนักการเมือง มีคนสองพวกที่กำหนดประเทศไทยคือนักการเมืองกับกองทัพ มันก็คิดแบบเดิม ๆ เดี๋ยวคนนี้ก็เสี่ยง คนใหม่มามันก็คิดแบบเดิม นักการเมืองรุ่นใหม่ผมไม่เห็นมันใหม่ตรงไหน พอเข้าไปในสภามันพูดแบบคนเดิม ประพฤติเหมือนกัน เราก็คิดว่าในช่วงชีวิตเรามันก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยน

The People: ยังมีความเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนไหม 

พงษ์สิทธิ์: ไม่ ไม่เลย 

The People: คิดว่าเราควรทำอย่างไรกับสถานการณ์เหล่านี้ 

พงษ์สิทธิ์: อาจจะเป็นนิสัยของคนบ้านเรา ชอบความขัดแย้ง เราขี้อิจฉา ไม่อยากให้ใครดีกว่า ไม่รู้มันมีที่ไหนที่เลือกตั้งหรือการต่อสู้ ความเชื่อทางการเมืองเราแสดงออกไม่ได้ ถ้าเราแสดงออกว่าเห็นต่างจากอีกฝ่าย เราก็คือศัตรูกันแล้ว เลือกตั้งมันก็ไม่จบ ผมอยากเห็นเราเหมือนฝรั่งคือ อันนี้ชอบเดโมแครต ไม่ชอบริพลับลิกันชัดเจน ทุกคนออกไปช่วยหาเสียงเลย แต่เลือกตั้งแล้วก็จบไง อันนี้เลือกตั้งแล้วยังเสือกเกลียดกันอีก มันเป็นสันดานเผ่าพันธ์ุเราขี้อิจฉา 

สัมภาษณ์ พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ กับชีวิตรักเดียว “เพื่อชีวิต” ดนตรี การเมือง สตรีมมิ่ง เด็กตีกัน และ ฟุตบอลไทยไปบอลโลก

The People: ในบางครั้งที่ไปแสดงเพลงเพื่อชีวิต สิ่งที่หลีกหนีไม่ได้คือเรื่องของความรุนแรง ทำไมเพลงเพื่อชีวิตถึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ให้คนมาตีกัน 

พงษ์สิทธิ์: ผมว่ามันเป็นนิสัยมากกว่านะ เพลงหมอลำก็ตีกัน หมอลำลูกทุ่งเขาก็ตีกัน เป็นนิสัยเขา คนไทยเราแค่ต่างหมู่บ้านต่างตำบลก็เป็นศัตรูกันแล้ว นี่ไงที่ถามเมื่อกี้ว่ามันจะเปลี่ยนไหม ตีกันมาตั้งกี่สิบปีแล้ว จนไอ้คนตีกันรุ่นนั้นแก่แล้ว ไอ้เด็กม.ต้น แค่ม.ต้นนะ มันเรียนรู้ที่จะตีกันแล้ว โดยไม่รู้เรื่องอะไร ตีเฉย ๆ เพราะมันคนละหมู่บ้าน มันก็ทำให้เราท้อถอย เล่นดนตรีอยู่มองไปมันก็กังวล ความสามารถมันก็ลดลงเพราะแบ่งสมาธิไปเพ่งว่ากลัวมันตีกัน

The People: รู้สึกแย่ไหม

พงษ์สิทธิ์: เคยอยากหยุดเล่น เพราะเรื่องนี้ มันตีกันถี่จนเราท้อถอย แต่แน่นอนมันก็หยุดไม่ได้ ผมน่าจะเป็นวงที่ตีเยอะสุด มันไม่ได้ภูมิใจอะไร มันท้อถอย ย้ำเลยว่ามันทำให้เราความสามารถลดลง 

The People: เคยอยากถามคนเหล่านี้ไหมว่าตีกันเพราะอะไร 

พงษ์สิทธิ์: เคยถามเขาแล้วเขาก็ตอบไม่ได้หรอก เขาก็บอกว่าต้องซัดก่อน เพราะกลัวเขาซัดก่อนเลยซัดเขาก่อน ต่างคนต่างคิดแบบนั้น ไม่รู้จักแค่มาจากคนละถิ่นแล้วก็ถ้าคนในเมืองก็ต่างสถาบันก็คิดแบบนั้นแบบพวกกลัวเขาซัดตัวเองก่อนเลยเอาก่อนนี่แสดงถึงความเสมอภาคของคนในชาติ

The People: เด็กเหล่านี้อาจมองว่าเพลงเพื่อชีวิตฟังแล้วฮึกเหิม เหมาะกับการมีเรื่องกัน คุณมองเรื่องนี้ยังไง 

พงษ์สิทธิ์: มันไม่เกี่ยว เพลงผมทุกข์จะตาย เพลงผมนี่เป็นเพลงที่ไม่มีความสุขนะ ไม่ค่อยจะมีเพลงมีความสุข มันจะเพลงทุกข์ ๆ ไม่น่าจะทำให้เกิดภาวะฮึกเหิมอะไร ผมว่ามันเป็นสันดาน 

The People: เวลาเราเล่นคอนเสิร์ต มีความกลัวกับอะไรมากที่สุด 

พงษ์สิทธิ์: อันแรกที่ต้องกลัวคือ อย่าเรียกว่ากลัวเลย ความพยายามที่จะทำให้เขามีความสุขนั่นเป็นอย่างแรก อย่างที่สองถ้าความเคยชินผมก็คือกลัวมีเหตุรุนแรง 

The People: ในฐานะที่เคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลมาก่อน มองว่าประเทศไทยจะมีโอกาสไปบอลโลกหรือไม่ 

พงษ์สิทธิ์: เราต้องอยู่ในโลกของความเป็นจริง ผมว่าเราไม่ได้ไปบอลโลกหรอก แต่มันก็ไม่ได้เป็นอะไรนี่ เราก็แข่งกับเพื่อนบ้านเรา แต่ว่าหลายปีมานี้บอลระดับสโมสรเราก็เจ๋งนะ ดีกว่าเก่าเยอะ นักกีฬาก็มีความมั่นคงมากขึ้น เดี๋ยวนี้เงินเดือนอะไรก็สร้างความมั่นคงได้ เมื่อก่อนอย่างมากก็ได้รับข้าราชการ ได้ทำงานในตรงนู้นตรงนี้เท่านั้นเอง คือแยกเป็นสองอย่าง ถ้าบอลระดับสโมสรผมว่าเจ๋งมากเลย ดีมาก แต่บอลทีมชาติเราก็เห็น 

The People: คุณมองว่าความสำเร็จเป็นเรื่องของความสามัคคีของคนในชาติ หรือความสามัคคีของคนในทีม

พงษ์สิทธิ์: มันไม่มีอะไร ผมคิดว่านักกีฬามันก็คงสามัคคีกันดี แต่ว่าเราแพ้เขาแปลว่าเขาเก่งกว่าเรา เราแพ้เวียดนามก็แสดงว่าเวียดนามเก่งกว่าเรา เราก็ต้องตั้งคำถามว่าทำไม แต่ถ้าบอลระดับอาชีพในบ้านเราดีกว่าเขาตั้งเยอะ แต่พอเป็นทีมชาติแล้วแพ้เขา เดี๋ยวนี้เราแพ้แทบทุกประเทศข้าง ๆ เรา เราก็ต้องนั่งประชุมหารือกันสิ สมาคมฟุตบอลเขาก็ต้องหารือกัน ทำไมบอลสโมสรเจ๋ง ทีมชาติเท่าเดิม 

The People: คิดว่าเราขาดอะไรไป

พงษ์สิทธิ์: ขาดทุกอย่าง ถึงแพ้เขาแหละ นักบอลรวมกันแล้วก็แพ้เขา มันก็ขาดทุกอย่าง

The People: คิดว่าดนตรีเพื่อชีวิตมันสำคัญกับชีวิตเรายังไง

พงษ์สิทธิ์: เหมือนเราเป็นสามีภรรยากันแล้ว เพราะเราโตมากับเขาใช้เรื่องเหล่านี้เป็นอาชีพ จนมันเหมือนเป็นครอบครัว มันขาดกันไม่ได้ 

The People: ถ้าเรามีโอกาสได้พูดกับตัวเองในอดีต อยากจะบอกอะไรกับตัวเราเองในอดีตไหม

พงษ์สิทธิ์: ก็จะบอกว่าโชคดีนะที่ตัดสินใจแบบนั้น ถ้าเวลานั้นตัดสินใจอีกแบบก็คงไม่มีวันนี้ ผมคิดว่าวันนั้นตอนอายุยี่สิบ สามสิบ ผมทำถูกแล้ว