ปีปอินน์...ในวันที่หลายคนยังจำว่าคือม่านรูด และรหัสลับที่หนุ่มสาวยุค 80s ใช้เวลาจะไปโรงแรมยุคนั้น

ปีปอินน์...ในวันที่หลายคนยังจำว่าคือม่านรูด และรหัสลับที่หนุ่มสาวยุค 80s ใช้เวลาจะไปโรงแรมยุคนั้น

ปีปอินน์ ในวันที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นม่านรูด ไม่ใช่โรงแรม ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์แรกของผู้ก่อตั้ง ยุคสมัยที่ทำให้ภาพจำนี้เกิดขึ้น จนถึงวันที่โรงแรมม่านรูดต้องประคองตัวเอง เพื่อให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่การแข่งขันดุเดือด

“ไปดูนกกันมั้ย?” หรือ

ไปกินราดหน้าปีปอินน์กันมั้ย?”

ประโยคติดปากของผู้ชายยุค 80s – 90s ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน ซึ่งประโยคเหล่านี้ชายหญิงหลายคู่ มักส่งรหัสลับระหว่างกันยามที่อยากจะไปต่อกัน 2 คน ซึ่ง ‘โรงแรมปีปอินน์’ (PEEP INN) กลายมาเป็นภาพจำของสถานที่ที่ชายหนุ่มและหญิงสาวมาใช้บริการบ่อย ๆ หลังเที่ยวกลางคืนเสร็จสรรพ แต่อารมณ์ยังไม่จบ

อย่างไรก็ตาม ‘สรัญ​ ลิ้มสวัสดิ์วงศ์’ ทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามาบริหารธุรกิจต่อจากคุณพ่อ ก็คือ ‘วิชัย ลิ้มสวัสดิ์วงศ์’ ได้เปิดใจกับ The People ว่าจุดประสงค์แรก ๆ ที่ก่อสร้างโรงแรมปีปอินน์ขึ้นมา เพื่อต้องการเป็น ‘โรงแรมทางเลือกใหม่’ ให้กับนักเดินทาง หรือกลุ่มเซลล์ที่ต้องนอนค้างคืนบ่อย ๆ

ปีปอินน์...ในวันที่หลายคนยังจำว่าคือม่านรูด และรหัสลับที่หนุ่มสาวยุค 80s ใช้เวลาจะไปโรงแรมยุคนั้น

จากธุรกิจก่อสร้าง กลายเป็นโรงแรม

ช่วงเวลาสาย ๆ ของวันที่ 11 มกราคม 2526 ‘วิชัย’ ผู้ก่อตั้งโรงแรมปีปอินน์ ซึ่งตอนนั้นเขาทำควบคู่กับธุรกิจก่อสร้างที่ทำมาตั้งแต่เริ่มแรก แต่เมื่อเห็นโอกาสของโรงแรมที่เป็นเหมือนโมเทลเมืองนอก ก็จุดประกายให้เขาเริ่มต้นธุรกิจโรงแรมขึ้นมาตั้งแต่นั้น

สรัญ ลิ้มสวัสดิ์วงศ์ : คุณพ่อเห็นช่องว่างตรงนี้ ก็บอกเฮ้ย ทำโรงแรมประเภทนี้นะ แล้วก็อัปเกรดจากเดิม คือจากเดิมมันก็จะมีโรงแรมคล้าย ๆ กันก็คือม่านรูด ม่านรูดนี่ก็คือโมเทลของเมืองนอก แต่เราอยากเป็นโมเทลจริง ๆ เราไม่ได้อยากเป็นม่านรูดที่คนคิดว่า เฮ้ย มันต้องเป็นม่านรูด ก็เลยอัปเกรดว่าเราต้องทำห้องให้ดี

ถึงขนาดว่าตอนนั้นต้องพาสถาปนิกไปญี่ปุ่น เพื่อไปดูโรงแรมโมเทลของเขาว่า โมเทลจริง ๆ มันเป็นยังไง การจอดรถ สิ่งอำนวยความสะดวก แต่ละอย่างเป็นยังไง ซึ่งพัฒนาเยอะมาก โมเทลสมัยก่อน ม่านรูดสมัยก่อนเมืองไทยก็คือ ห้องอย่างเดียว ไม่มีอะไรเลย

ปีปอินน์...ในวันที่หลายคนยังจำว่าคือม่านรูด และรหัสลับที่หนุ่มสาวยุค 80s ใช้เวลาจะไปโรงแรมยุคนั้น

เราก็เลยทำครัวอย่างดี ทำห้องอาหาร ทำสวนนก ทำสวนปลาอะไรอย่างนี้ เพื่อให้ตอบคนรุ่นสมัยนั้นก็สัก 40 ปีมาแล้ว ก็เลยเกิดมีชื่อเสียงขึ้นมาในระดับหนึ่งว่าเฮ้ย มันเป็นโรงแรมปีปอินน์นะ คนก็เริ่มรู้จักเราจากสาขาแรกที่หัวหมาก แล้วก็ไปเปิดสาขา 2 ที่รัชดาฯ นะครับ ส่วนสาขา 3 คือที่สุขุมวิท 33 แล้วก็สาขา 4 ที่นนทบุรี

ส่วนชื่อ เราจำได้ว่าโรงแรมสมัยก่อนมักจะชื่อเป็นเบอร์ตอง เช่น 999, 222 เพราะเขาให้จำง่าย แต่เราอยากเป็นเอกลักษณ์ของเรา แล้วก็มีมาตรฐานของเรา คือตั้งใจทำโมเทลจริง ๆ เพราะเรามีครัวที่ใหญ่แบบระดับโรงแรม 4 ดาวเลย แล้วก็เรามีห้องจัดเลี้ยงเป็นแบบมีห้อง suite มีห้องจัดเลี้ยงที่จุคนได้ 400 คนอะไรอย่างนี้เลย ก็พัฒนามาจากโมเทลเมืองนอก

ปีปอินน์...ในวันที่หลายคนยังจำว่าคือม่านรูด และรหัสลับที่หนุ่มสาวยุค 80s ใช้เวลาจะไปโรงแรมยุคนั้น

คุ้นเคยกับโรงแรม ฝันอยากทำโรงแรม

สรัญ ลิ้มสวัสดิ์วงศ์ : จริง ๆ ตั้งแต่เด็กแล้ว ความที่เราเป็นธุรกิจครอบครัว คุณพ่อก็เป็นครอบครัวคนจีน ก็สอนลูกคือให้อยู่กับโรงแรมเลย เราทานข้าวเย็นที่โรงแรมทุกวัน อย่างที่บอกว่าเรามีพ่อครัวดี ๆ มาจากหลาย ๆ ที่ คือ แขกทุกคนของปีปอินน์ตอนนั้นก็จะรู้ว่าเราต้องมาทานอาหารที่นี่

เรามีราดหน้าในตำนานที่แบบว่าเฮ้ย ทุกคนก็พูดถึงว่าราดหน้าต้องราดหน้าปีปอินน์ เราก็เลยรู้สึกว่าเราคลุกคลีนะ เราก็ไปดูพ่อทำงาน เราก็อยู่ในโรงแรมตั้งแต่เด็ก ๆ จนกระทั่งถึงสาขา 3 สาขา 4 ก็เริ่ม involve ว่าเราต้องเข้ามาดูการก่อสร้าง เริ่มดูกันตกแต่งอะไรอย่างนี้ครับ

ปีปอินน์...ในวันที่หลายคนยังจำว่าคือม่านรูด และรหัสลับที่หนุ่มสาวยุค 80s ใช้เวลาจะไปโรงแรมยุคนั้น

 

ปีปอินน์ กลายเป็นภาพจำของ ‘ม่านรูด’

สรัญ ลิ้มสวัสดิ์วงศ์ : ถึงแม้ว่าจุดประสงค์แรก ๆ เราไม่ได้อยากเป็นม่านรูด และพยายามหนีความเป็นม่านรูด แต่มันเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ยุคที่ cocktail lounge บูมขึ้นมา ต่อจาก cocktail lounge ก็จะเป็น ยุคคาเฟ่ ที่กลุ่มลูกค้าของเราเริ่มขยายไปกลุ่มคนเที่ยวกลางคืนมากขึ้น

คือว่า หลังจากที่ร้านปิด ก็ไม่มีที่ให้ไปต่อ คนที่เที่ยวพวกนั้นเขาก็เลยมาต่อที่โรงแรมของเรา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปีปอินน์กลายเป็นมี target นี้เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ครับ

แต่จากยุคของ cocktail lounge หรือยุคของคาเฟ่ ฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มเที่ยวที่มีทั้งพักค้างคืน พักชั่วคราว หรือมากินข้าวที่นี่ มันก็เปลี่ยนไป หลังจากที่คาเฟ่เริ่มไป และ cocktail lounge ก็เริ่มอยู่ไม่ได้ กระแสก็เริ่มดาวน์ไปด้วย รวมถึงปีปอินน์

ประกอบกันก็คือว่า ไลฟ์สไตล์ของคนเปลี่ยนไปด้วย คือเขาไม่ได้รู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องเข้าโรงแรมแบบนี้แล้วนะ และช่วงนั้นก็มีคอนโดฯ มีห้องให้เช่า มีโรงแรมที่เป็น 4 ดาว 3 ดาว ไม่จำเป็นต้อง 5 ดาวแล้ว คนก็ใช้บริการแบบนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้น คนก็ไม่ได้ติดที่ปีปอินน์ หรือโรงแรมม่านรูดแล้ว แต่ว่าคนจะติดที่โลเคชั่นที่สะดวก แล้วก็รู้สึก comfortable จากสถานที่นั้น ๆ ครับ

ปีปอินน์...ในวันที่หลายคนยังจำว่าคือม่านรูด และรหัสลับที่หนุ่มสาวยุค 80s ใช้เวลาจะไปโรงแรมยุคนั้น

 

ยุคที่ปีปอินน์เฟื่องฟู กับรหัสลับของหนุ่มสาว

สรัญ ลิ้มสวัสดิ์วงศ์ : พูดถึงสมัยก่อนนี่ โอ้โห! คนเขินครับ อย่างคุณผู้หญิงก็จะอาย ไม่กล้าเข้าโรงแรม เข้าใจเนอะ ผู้ชายอย่างเรา ๆ จะไปแบบชวนตรง ๆ ก็ไม่ได้ สมมติเราบอกว่า เราไปโรงแรมกันมั้ย? มันก็ดูไม่ดีอะ เข้าใจได้

มันก็จะเป็นโจ๊กติดปากคุณผู้ชายว่า เฮ้ย! ไปทานราดหน้ากัน ไปดูนกกัน กลายเป็นการเชิญชวนผู้หญิงด้วยการดูสวนนก ชวนเขาไปชิมราดหน้าปีปอินน์ ก็เป็นทริคที่คนสมัยนั้นเขาใช้กัน ก็จะรู้เลยว่า อ๋อ...ไปปีปอินน์

ก็เป็นความน่ารักของยุคสมัยนั้น ซึ่ง สรัญ ได้บอกกับเราว่า ถ้าถามว่าธุรกิจของปีปอินน์ในปัจจุบัน ทุลักทุเลหรือไม่ เขาบอกว่า “ผมว่ามันทุลักทุเล แต่ผมก็เตรียมตัว แล้วเราก็เติบโตมาจากครอบครัวธุรกิจที่ล้มลุกคลุกคลาน เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นอุปสรรค เพราะเราก็จะเดินหน้า”

โดยปัจจุบัน ส่วนหนึ่งของโรงแรมปีปอินน์ ได้ปรับแผนมาเป็น S Hotel ซึ่งปลุกปั้นมาด้วยมือของทายาทรุ่นที่ 2 โดยจะแบ่งพื้นที่จากธุรกิจเก่ามาทำเป็นโรงแรม 5 ดาว (ขึ้นอยู่กับทโลเคชั่น) หรือเป็น 4 ดาว ในชื่อของ S Hotel ตามโลเคชั่นนั้น ๆ

 

S Hotel เกิดเพราะห้องปีปอินน์เยอะเกินไป

การปรับตัวของปีปอินน์ ทำให้เราสนใจ เพราะทุกวันนี้สามารถขยายพอร์ตธุรกิจไปสู่โรงแรมระดับ 5 ดาว อย่าง S31 โรงแรมใจกลางเมืองย่านสุขุมวิท

ปัจจุบันกลุ่ม S Hotel มีอยู่ 6 สาขาด้วยกัน โดยมี 3 แห่งที่แบ่งพื้นที่มาจากม่านรูดปีปอินน์ แล้วก็ทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

เขาได้ไอเดียสร้างโรงแรมแบบใหม่เพื่อกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ จากผลกระทบช่วงขาลงของธุรกิจม่านรูดปีปอินน์ จากเดิมที่มีลูกค้าแวะเวียนกันมาจองห้องพัก 400 ห้องเต็มทั้งหมด มาตอนนี้ใช้งานจริงเพียง 1 ใน 4 ของห้องพักโรงแรม เขาจึงคุยกับคุณแม่ว่า อยากลองเอาบางพื้นที่ของปีปอินน์มาปรับเป็นโรงแรมอีกแบรนด์ ที่ใช้ชื่อว่า ‘S’ นำทั้งหมด

“ช่วงที่ลองทำ ผมเปิดเป็น S15 แถวสุขุมวิทก็ success แล้วก็ลองทำ S30 ก็ success แล้วถึงมาเป็น S31 ก็ success อีก ผมเลยรู้สึกว่า ย่านสุขุมวิทมันดี ซึ่งเราก็มีปีปอินน์ 33 คือ ตรงสุขุมวิท ซอย 33 เลยคิดว่าถ้าเอามาทำเป็น S Hotel รายได้น่าจะดีกว่าปีปอินน์”

ตอนนั้นเขาเริ่มจากสิ่งที่มีอยู่ก่อน โดยบอกคุณแม่ตรง ๆ ว่าขอปีปอินน์หนึ่งโลเคชั่น แล้วนำมาสร้างเป็น compact hotel โรงแรมเล็ก ๆ ใช้พื้นที่แบบประหยัดแต่มีคุณภาพ สะดวกสบาย ซึ่งตอนนั้นก็ประสบความสำเร็จ

“พอมันประสบความสำเร็จ ผมก็ไปเห็นที่ปีปอินน์ที่รัชดาฯ คือตอนนั้นปีปอินน์สร้างไว้ใหญ่มาก ๆ 400 ห้อง เทียบกับโรงแรม S ที่เราสร้าง เช่น S31 ก็คือ 100 ห้อง เราก็บอกคุณแม่ว่า 400 ห้อง ปัจจุบันคุณแม่ใช้แค่ 50 ห้องเอง ผมขอ 300 ห้องได้ไหม เราก็ค่อย ๆ ขอ ซึ่งคุณแม่ก็เห็นว่าเราทำงานมาแล้วมันสำเร็จ”

“ผมทำ S รัชดาฯ มาได้ 200 ห้อง โดยที่ปีปอินน์ ก็ย่อส่วนเล็กลง ปัจจุบันเหลือ 30 ห้อง”

 

ทำโรงแรมต้องรู้จักลูกค้าตัวเอง

สรัญ บอกว่า ในแต่ละครั้งที่เขาเลือกขยายโรงแรม เขาศึกษาตลาด เลือก segment ของตลาดเสมอ อย่าง S Hotel ตรงรัชดาฯ ที่แปลงโฉม 200 ห้องมาจากปีปอินน์ ด้วยโลเคชั่นม่านรูดสมัยก่อน จึงไม่ได้ติดถนน ลูกค้าต้องเข้ามาลึกพอสมควร

“เราเห็นอยู่แล้วว่ารัชดาเป็นโซนของคนจีน ผมอยู่ตรงนี้มา 10 ปี บวกกับคุยกับ agent ด้วย S รัชดา เราจับกรุ๊ปทัวร์ทั้งหมด เพราะเรารู้ว่าลูกค้าที่ควรจับคือใคร”

“เรารู้ว่าตรงไหนที่ลูกค้าต้องการ แล้วเราก็รู้ว่ากลุ่มไหนที่ยังขาด”

อินน์ มาเป็น S Ram Leisure Hotel ทั้ง 400 ห้อง ซึ่งปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลักก็คือ กรุ๊ปทัวร์

“ผมเติบโตมากับการทำโรงแรม วันนี้ก็ยังสนใจที่จะเดินไปทางนี้ แต่ว่าอาจจะเป็นโรงแรมหลายแบบสำหรับลูกค้าหลายประเภท เพื่อกระจายความเสี่ยง การขยายธุรกิจโรงแรมขึ้นอยู่กับตลาดแต่ละโลเคชั่นด้วย อย่างในเมือง กลุ่มลูกค้าส่วนมากก็จะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น”

 

ซื่อสัตย์ไว้ก่อน...พ่อสอนไว้

‘วิชัย ลิ้มสวัสดิ์วงศ์’ ผู้ก่อตั้งโรงแรมปีปอินน์ นักธุรกิจที่มองการณ์ไกลอยากจะสร้างโรงแรมสำหรับนักเดินทาง วันหนึ่งที่เขาพยายามปลูกฝังเมล็ดพันธุ์การเป็นนักธุรกิจ นักการโรงแรม ด้วยการแวะเวียนไปทานมื้อเย็นกับครอบครัวที่ปีปอินน์บ่อย ๆ

“คุณพ่อไม่ได้สอนแค่ผม แต่สอนทุกคนในครอบครัวว่า เราต้องซื่อสัตย์ แค่เราทำธุรกิจแบบนี้ คนเขามองเป็นธุรกิจสีเทาแล้วนะ”

“เราทำด้วยความซื่อสัตย์ เราก็ขาวสะอาด”

“อีกเรื่องที่สำคัญก็คงเป็นชื่อเสียงของโรงแรมว่า เราไม่มีสิ่งมั่วสุม ไม่มียาเสพติด ไม่มีอะไรที่มันเสื่อมเสีย เพราะเท่านี้ภาพลักษณ์ของเราก็ไม่ดีแล้ว ถ้าเราจะไปดาร์กอีกนี่มันไม่ได้”

ไม่ว่าจะ S Hotel หรือ ปีปอินน์ ต่างก็ต้องปรับตัวอยู่ตลอด เพราะสมรภูมิการแข่งขันมันดุเดือดกว่ายุคก่อนขึ้นเรื่อย ๆ เราหวังว่าบทสัมภาษณ์จาก สรัญ ลิ้มสวัสดิ์วงศ์ จะจุดไอเดียใหม่ ๆ ได้ ทั้งในเรื่องการปรับตัว และการต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ก่อนแล้ว ให้ดีขึ้น ตอบโจทย์ขึ้น และแข่งขันได้มากขึ้น