ถอดรหัสวัฒนธรรมใน "เซเลอร์มูน" ระเบิดพลังเฟมินิสต์ไปกับตัวแทนแห่งดวงจันทร์

ถอดรหัสวัฒนธรรมใน "เซเลอร์มูน" ระเบิดพลังเฟมินิสต์ไปกับตัวแทนแห่งดวงจันทร์

ถอดรหัสวัฒนธรรมใน Sailor Moon หรือ "เซเลอร์มูน" ระเบิดพลังเฟมินิสต์ ไปกับตัวแทนแห่งดวงจันทร์

Sailor Moon (美少女戦士セーラームーン) คือ “ตำนานแห่งการ์ตูนผู้หญิง” โดยแท้จริง โด่งดังในระดับเป็นอมตะมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ตีพิมพ์รายสัปดาห์ในนิตยสารการ์ตูนผู้หญิงรายสัปดาห์ Nakayoshi (ในเครือสำนักพิมพ์ Kodansha) ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค. ศ. 1992-1997 และมีการพิมพ์รวมเล่มเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด 18 เล่มด้วยกัน นอกจากนี้ก็มี Anime มี Side Story อีกมากมายหลายเวอร์ชัน (ส่วนเรื่องเกี่ยวกับนิตยสารการ์ตูนผู้ชายรายสัปดาห์ อ่านที่บทความ “อายูคาวะ มาโดกะ” ทำไมนักอ่านการ์ตูนถึงหลงรักนางเอก “ถนนสายนี้เปรี้ยว”) Sailor Moon มีเนื้อเรื่องผสมผสานหลายแนว ระหว่างแนวแปลงร่าง, ตาหวาน, รักๆ ใคร่ๆ, ต่อสู้ปราบปีศาจ, แฟนตาซี, รวมพลังแบบหนังขบวนการห้าสี จนออกมากลมกล่อมมาก Sailor Moon นั้นปลุกพลังเฟมินิสต์ทั้งในญี่ปุ่น ในเอเชีย และในอเมริกา เรียกว่าสร้างปรากฏการณ์แห่งเฟมินิสต์อย่างที่สุดเลยทีเดียว และกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงเก่งหรือผู้หญิงสมัยใหม่ไปโดยปริยาย และสินค้าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ Sailor Moon ก็จะขายได้เสมอ อยู่ในกระแสอย่างยาวนานนับทศวรรษ (ตัวอย่างเช่น บทความ Miss Universe Japan 2018 แต่งตัวเป็น Sailor Moon จนเรียกเสียงฮือฮาได้ จากคอลัมน์ของ “ฐิติพงษ์ ด้วงคง” ) ก่อนอื่น มาพูดถึงประวัติการเกิดการ์ตูนญี่ปุ่นยุคใหม่กัน คือหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สองใน ค. ศ. 1945 ญี่ปุ่นก็เปิดรับอารยธรรมตะวันตกผ่านทางอเมริกามาโดยตลอด ทำให้ความคิดความเชื่อเดิม ๆ แบบญี่ปุ่นถูกความคิดแนวตะวันตกสายอเมริกันเข้ามาท้าทายหรือถึงขั้นทำลายความเชื่อไปหลายเรื่อง การ์ตูนญี่ปุ่นก็จะเริ่มมีแนวคิดตะวันตกและคริสต์ศาสนามากขึ้น มีการพัฒนาโครงเรื่องและเทคนิคการวาดให้ซับซ้อนแบบตะวันตกมากขึ้น (ได้รับอิทธิพลจากหนัง Hollywood และการ์ตูน Disney) การเกิดแนวการวาด “ตาโต ตาหวาน” ก็เกิดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี่ล่ะ โดย เทะสึกะ โอะซะมุ (Tezuka Osamu) เสด็จพ่อแห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่นนั่นเองที่ให้เหตุผลว่า ทำให้ตาโตแล้วจะได้แสดงความรู้สึกของตัวละครออกมาได้ชัดเจน และแนวการวาดตาโตตาหวานเลยกลายเป็นแนวทางหลักของการ์ตูนผู้หญิงจำนวนมากหลังจากนั้น Sailor Moon สามารถท้าทายและทำลายความเชื่อแบบญี่ปุ่นโบราณในประการดังต่อไปนี้ 1. สังคมญี่ปุ่นแบบเดิมแบ่งหน้าที่ผู้ชายผู้หญิงไว้ชัดเจน อักษรคันจิของญี่ปุ่น คำว่า ผู้ชาย (男) จะประกอบด้วยอักษรตัว พลกำลัง (力) และ นาข้าว (田) เพื่อแสดงให้เห็นว่าสมัยโบราณผู้ชายต้องใช้แรงงานทำการเกษตรหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนอักษรคำว่า ผู้หญิง (女) จะเป็นอักษรภาพแสดงให้เห็นเพศหญิงหันข้างขวาให้คนดูและตั้งครรภ์อ่อนๆ จึงหลังค่อมเล็กน้อย นอกจากนี้เวลาผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว สามีก็จะเรียกภรรยาตัวเองว่า คะไน (家内) ซึ่งแปลว่า “ในบ้าน” แสดงให้เห็นว่าหน้าที่ของผู้หญิงคือ เป็นเมีย และ เป็นแม่ เท่านั้น แต่ Sailor Moon ทำลายความเชื่อแบบเดิมนี้ทิ้งทั้งหมด ในเรื่องจะมีตัวละครผู้ชายอยู่น้อยมาก บ้านของนางเอกก็มีแต่แม่ โดยที่บทบาทของพ่อหายไปเสียดื้อๆ และนางเอกก็ไม่ได้มีคุณสมบัติใดๆ ที่สมกับเป็นเพศหญิงตามคติโบราณของญี่ปุ่นเลย เพราะนางเอกทำกับข้าวไม่เก่ง โก๊ะ ติงต๊อง ซุ่มซ่าม ไม่อ่อนหวาน เป็นม้าดีดกะโหลกนั่นเอง 2. ชาวญี่ปุ่นมักมีผมและตาสีดำหรือน้ำตาลเข้ม แต่ Sailor Moon ซึ่งเป็นผู้หญิงญี่ปุ่นแท้ กลับมีผมสีบลอนด์ทอง ตาสีฟ้า (และตาโตมากด้วย ตามสไตล์ เทะสึกะ โอะซะมุ) นอกจากนี้ยังตัวสูงและขายาวมากกกกกก เป็นแฟนตาซีของชาวญี่ปุ่นที่ต้องการจะทัดเทียมกับตะวันตกโดยการแสดงภาพนางเอกของญี่ปุ่นออกมาเป็นสาวผมทองสูงโปร่งหุ่นดีแบบตะวันตกนั่นเอง 3. นอกจากนี้ ตามคติโบราณของญี่ปุ่น ผู้หญิงควรรักนวลสงวนตัว เรียบร้อย แต่ Sailor Moon แต่งตัววาบหวามสุดจิต ใส่ชุด Uniform กระโปรงสั้นโชว์เรียวขาอ่อนเต็มที่ ถ้าตีความอีกหน่อย ก็จะเข้าใจเพิ่มเติมอีกว่านางเอกชื่อ Usagi ที่แปลว่ากระต่าย และ กระต่าย ก็คือ Bunny ซึ่งมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับเรื่อง 18+ เรื่องนี้จึงท้าทายขนบโบราณของญี่ปุ่นในประเด็นนี้อีกด้วย 4. ญี่ปุ่นยุคเก่า ผู้หญิงจะไม่มีสิทธิ์แต่งงานโดยความรักได้ เนื่องจากเป็นวัฒนธรรมคลุมถุงชน แต่ Sailor Moon ก็ท้าทายความเชื่อนี้ เพราะ Sailor Moon แสดงออกอย่างชัดเจนว่าผู้หญิงควรได้ใช้ชีวิตกับคนที่ตัวเองรัก 5. ยังไม่หมด แม้ว่าเหล่าอัศวิน Sailor จะสวยเซ็กซี่โชว์ขาอ่อน แต่พวกเธอก็ไม่ได้เป็นเครื่องบำบัดทางเพศของผู้ชายหรอกนะ! พวกเธอมีความเข้มแข็งกว่าบุรุษเพศ แปลงร่าง ต่อสู้ได้อย่างยอดเยี่ยม การใช้อัญมณีแปลงร่าง และหลังแปลงร่างเสร็จก็จะ “สวยขึ้น เท่ขึ้น” ก่อนจะต่อสู้ฟาดฟันกับศัตรู มันคือการบอกทางอ้อมว่า “สาวๆ เอ๋ย จงแต่งหน้าแต่งตัวให้สวย แล้วลุกออกไปทำงานแข่งขันกับผู้ชายกันเถอะ หมดยุคของการทำกับข้าวเลี้ยงลูกอยู่บ้านแล้วนะจ๊ะ” นั่นเอง สิ่งที่น่าสนใจมากของ Sailor Moon คือ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปลุกกระแสเฟมินิสต์ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ลามไปถึงตลาดในอเมริกาด้วย คือในอเมริกาจะมีหนังสือการ์ตูนประเภท comics หนักไปทางการ์ตูนผู้ชายเป็นหลัก พวก Marvel กับ DC ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันนั่นล่ะ และเนื้อเรื่องจะเน้นไปแต่แนวซูเปอร์ฮีโรกล้ามบึ้ก บ้าพลัง เข้มแข็ง เป็นสังคมแห่งเพศชาย ตัวละครหญิงในการ์ตูนพวกนี้จะไม่ค่อยมีโอกาสมีบทเด่นเท่าผู้ชาย ตลาดหลักของ comics ในอเมริกาเลยเป็นตลาดของเด็กผู้ชายเท่านั้น ไม่เคยมี comics สำหรับเด็กผู้หญิงอยู่ในกระแสมาก่อน พอ Sailor Moon เข้าไปฉายที่อเมริกา ทางเคเบิลทีวีช่อง USA Network เมื่อปี 1998 ก็เกิดฐานแฟนคลับจำนวนมหาศาลทั้งแฟนหนังสือการ์ตูนและแฟนอนิเมะของเรื่อง Sailor Moon เรียกว่าเด็กสาว ๆ ในอเมริกาที่ไม่ค่อยมีการ์ตูนผู้หญิงให้อ่าน พอจู่ ๆ มีการ์ตูนผู้หญิงเฟมินิสต์สุดขั้วเข้าไป ก็ดังเป็นพลุแตกเลย เรียกว่า Sailor Moon นี่ตระเวนปลุกพลังเฟมินิสต์ไปทั่วเอเชีย ไปยันทั่วโลกเลยทีเดียว Sailor Moon จึงเป็นภาพของผู้หญิงสมัยใหม่ที่ “ผมบลอนด์ทอง ตาฟ้า สวย เซ็กซี่ แต่งตัววาบหวิว แต่เก่ง เข้มแข็ง เป็นผู้นำ มีคุณธรรม และมีความรักที่บริสุทธิ์” ฟังดูดีงามมากเลย ตัวแทนแห่งดวงจันทร์ จะลงทัณฑ์แกเอง!