เท็นชินฮัง-เจาซือ: ความรักดุจพี่น้องของคนตรงใน ‘ดราก้อน บอล’ ที่โชคร้ายได้ครูไม่ดี

เท็นชินฮัง-เจาซือ: ความรักดุจพี่น้องของคนตรงใน ‘ดราก้อน บอล’ ที่โชคร้ายได้ครูไม่ดี

‘เท็นชินฮัง’ และ ‘เจาซือ’ ในเรื่อง ดราก้อน บอล มีลักษณะ ‘มามืดแต่ไปสว่าง’ แม้จะเริ่มต้นไม่ดี ในฐานะตัวร้ายที่ได้อาจารย์ไม่ดี แต่สุดท้ายก็กลับตัวเป็นตัวละครฝั่งคุณธรรมได้

ในเรื่อง Dragon Ball หลังจากภาคชาวไซย่าบุกโลก แฟน ๆ ก็จะไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นบทบาทของเท็นชินฮังและเจาซือกันสักเท่าไร เพราะโดนชาวผมทองแย่งบทไปเสียมาก แต่ที่จริงแล้วตัวละครเท็นชินฮัง ‘เคย’ ถูกวางบทบาทไว้ให้เป็นตัวละครคู่แค้นตลอดกาลของพระเอกอย่างซง โกคูเลยทีเดียว เท็นชินฮังกับเจาซือยังเป็นตัวละครตัวแรก ๆ ที่กลับใจจากฝ่ายผู้ร้ายมาเป็นฝ่ายดีอีกด้วย ก่อนที่จะมีตัวร้ายอีกหลายตัวกลับมาเข้าข้างพระเอกกัน แม้ในเรื่องจะไม่ได้ระบุความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างเท็นชินฮังและเจาซือ ว่าเป็นพี่น้องกันจริง ๆ หรือเป็นเพียงศิษย์ร่วมสำนัก ทราบแต่เพียงว่าทั้งคู่ฝึกวิชาอยู่กับผู้เฒ่านกกระเรียน อาจารย์ผู้ชั่วร้าย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความรักที่ทั้งคู่มีให้กันระดับตายแทนกันได้ มันคือความรักดุจพี่น้องที่งดงาม และโดยพื้นฐานนิสัยตรงนี้ อาจจะเป็นไปได้ว่า ตัวละครทั้งสองนี้มีลักษณะ ‘มามืดแต่ไปสว่าง’ เพราะแม้จะเริ่มต้นได้ไม่ดีในฐานะตัวร้ายที่ได้อาจารย์ไม่ดีคอยสอนสั่ง แต่สุดท้ายก็กลับตัวกลับใจกลายเป็นตัวละครฝั่งคุณธรรมได้ในที่สุด นี่คือเรื่องราวของเขาทั้งสอง... เท็นชินฮัง (天津飯) นั้นมาจากภาษาจีนแบบญี่ปุ่นที่แปลว่า ‘ข้าวราดไข่ข้นปูตามแบบฉบับเทียนจิน’ ส่วนเจาซือนั้นมาจากคำว่า ‘เกี๊ยวซ่า (餃子)’ ที่โทะริยะมะ อะกิระผู้แต่งเรื่องจงใจใช้สำเนียงแมนดารินคือ เจี่ยวซือ (jiǎozi) แต่อักษรคะตะกะนะ (คืออักษรที่ญี่ปุ่นใช้แสดงเสียงที่มาจากภาษาต่างประเทศ) ของญี่ปุ่นแสดงเสียงออกมาได้ไม่สมบูรณ์แบบจึงออกมาเป็น เจาซือ หรือเชาซือ ไปแทน (ภาษาญี่ปุ่นไม่มีสระเอียว) ซึ่งนี่ก็เป็นลูกเล่นการตั้งชื่อตัวละครสไตล์โทะริยะมะที่นิยมเอาอาหารในชีวิตประจำวันมาตั้งชื่อเป็นตัวละคร ตามที่ผู้เขียนเคยว่าไว้ในบทความ “ซง โกคู (Son Gokū) แห่ง Dragon Ball เจ้าตำรับ ‘ไซอิ๋วผสมซูเปอร์แมน’” (https://thepeople.co/son-goku-dragonball/) ว่าเรื่อง Dragon Ball นั้นแรกเริ่มเกิดจากโทะริยะมะอยากเขียนเรื่อง ‘ไซอิ๋ว’ (Journey to the West)  ในแบบฉบับพิสดารของตัวเอง จึงให้พระเอกชื่อเดียวกับซุนหงอคง เพียงแต่ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า ‘ซง โกคู’ (Son Gokū) แทน ดังนั้นเท็นชินฮังจึง ‘เคย’ ถูกวางบทบาทให้เป็นคู่แค้นของโกคู เพราะคาแรกเตอร์ของเท็นชินฮังที่มีสามตานั้นถอดแบบเป๊ะ ๆ มาจากตัวละครในไซอิ๋วต้นฉบับคือ ‘เทพเอ้อร์หลาง’ (二郎神) ซึ่งเป็นเทพที่มีสามตาและมีพลังพอ ๆ กับซุนหงอคง และมีความเป็นคู่รักคู่แค้นของซุนหงอคงในไซอิ๋วต้นฉบับด้วย เท็นชินฮังจึงต้องเก่งกว่าใครในเรื่องนี้ ณ ตอนนั้น เท็นชินฮัง (และเจาซือ) สามารถเหาะได้แล้ว ในขณะที่คนอื่นยังเหาะไม่เป็น เท็นชินฮังสามารถใช้พลังคลื่นเต่าได้เลยเพียงแค่มองเห็นครั้งเดียวเท่านั้น ในตอนจบศึกชิงเจ้ายุทธภพครั้งที่ 22 เท็นชินฮังจึงชนะเลิศได้เป็นแชมป์ในขณะที่โกคูเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป ส่วนเจาซือนั้นถอดคาแรกเตอร์มาจาก ‘ผีน้อยเปาเปา’ จากเกม Reigen-Doushi (霊幻道士) ซึ่งเป็นเกมที่สร้างโดยอิงจากหนังผีกระโดดจีนเรื่อง ‘ผีกัดอย่ากัดตอบ (Mr. Vampire 1985)’ หนังยอดฮิตของเด็กในยุคนั้น ชีวิตของทั้งเท็นชินฮังและเจาซือนั้นจริง ๆ คงจะไม่น่ารื่นรมย์มากนัก เพราะได้อาจารย์คือ ‘ผู้เฒ่านกกระเรียน’ ซึ่งเน้นสอนให้ลูกศิษย์ตัวเองเป็นนักฆ่าเท่านั้น ชีวิตของทั้งคู่ในเนื้อเรื่องแสดงให้เห็นคู่เทียบที่ชัดเจน ระหว่างความเป็นครูที่ดีของผู้เฒ่าเต่า vs ความเป็นครูที่เลวของผู้เฒ่านกกระเรียน และแสดงให้เห็นคู่เทียบเรื่องความรักของพี่น้องที่ห่วงใยกันระหว่างเท็นชินฮังและเจาซือ vs ความรักระหว่างพี่น้องที่หายนะของผู้เฒ่านกกระเรียนและเถาไปไปที่มีแต่การฆ่าการทำร้ายผู้อื่น ผู้เฒ่านกกระเรียนเอาแต่สอนวิชาฆ่าคน, วิธีขี้โกงสารพัดรูปแบบในการจับฉลากทัวร์นาเมนต์การประลอง, ให้เจาซือใช้พลังจิตหยุดโกคูให้เท็นชินฮังกระทืบอยู่ฝ่ายเดียว โดยที่ไม่เคยสอนความรู้อื่นใดให้ลูกศิษย์ (ในขณะที่ผู้เฒ่าเต่าสอนอ่านเขียน สอนวิชาการ รวมทั้งคณิตศาสตร์ให้ลูกศิษย์) มีการเฉลยในเรื่องอีกด้วยว่าผู้เฒ่านกกระเรียนนั้นคือพี่ชายแท้ ๆ ของ ‘เถาไปไป’ (นักฆ่าที่กองทัพโบแดงส่งมาฆ่าโกคู) ดังนั้นผู้เฒ่านกกระเรียนจึงแค้นมากเมื่อทราบว่าโกคูได้ ‘จัดการ’ น้องชายของตัวเองไป แต่เดิมนั้นทั้งผู้เฒ่าเต่าและผู้เฒ่านกกระเรียนเคยเป็นศิษย์ร่วมสำนักกันเมื่อสมัยที่อาจารย์มุไทโตะ (武泰斗) สะกดวิญญาณของจอมปีศาจพิคโกโล่ขังไว้ในหม้อหุงข้าวได้ แต่ไม่ทราบว่าหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น ทำให้ศิษย์ร่วมสำนักทั้งสองกลับกลายเป็นศัตรูกัน ผู้เฒ่าเต่าเลือกใช้วิทยายุทธในฐานะจอมยุทธ ในขณะที่ผู้เฒ่านกกระเรียนเลือกประกอบอาชีพเป็นนักฆ่า ซึ่งเป็นอาชีพเดียวกับเถาไปไปน้องชายของตัวเองที่เป็นนักฆ่าระดับโลก เท็นชินฮังและเจาซือจึงได้รับสืบทอดความเลว โกง อำมหิตทุกรูปแบบจากผู้เฒ่านกกระเรียน เห็นได้จากตอนที่เท็นชินฮังประลองกับหยำฉา เท็นชินฮังเตะหยำฉาจนสลบกลางอากาศไปแล้วก็ไม่ยอมหยุด ทั้งที่จริง ๆ น็อกคู่ต่อสู้ได้ก็คือชนะแล้วตามกฎการประลอง แต่เท็นชินฮังจงใจทิ้งเข่าซ้ำลงไปบนหัวเข่าซ้ายของหยำฉาจนขาของหยำฉาหักดังกร๊อบ (คุริลินเป็นคนทักออกมาว่าเสียงหักดัง ‘กร๊อบ’ เลย) ในขณะที่เจาซือก็ใช้วิชาลำแสงสังหารของเถาไปไปเพื่อหมายจะฆ่าคุริลินในเวทีประลอง แม้ว่าตามกติกาจะห้ามฆ่าก็ตาม แต่ในระหว่างนั้น ผู้เฒ่าเต่าได้มีโอกาสพูดให้สติกับเท็นชินฮัง ค่อย ๆ ชี้แนะแนวทางจนเท็นชินฮังเริ่มไขว้เขว เริ่มเบนเข็มจากเดิมที่ต้องการจะเป็นนักฆ่าตามรอยอาจารย์และตามรอยเถาไปไป มาตั้งเป้าสู่การเป็นนักสู้ที่มีเกียรติแทน ประกอบกับเท็นชินฮังไม่เคยเจอใครเก่งเท่าโกคู จึงอยากชนะโกคูด้วยความสามารถของตัวเองล้วน ๆ แต่ผู้เฒ่านกกระเรียนแค้นโกคูเป็นการส่วนตัวที่ฆ่าน้องชาย ผู้เฒ่านกกระเรียนจึงสั่งให้เจาซือใช้พลังจิตหยุดการเคลื่อนไหวของโกคูเพื่อให้เท็นชินฮังกระทืบอยู่ฝ่ายเดียวในระหว่างการประลอง แต่เมื่อเท็นชินฮังรู้ก็ดุด่าให้เจาซือเลิก เจาซือเองก็เห็นด้วยกับเท็นชินฮังและกล้าเถียงกับผู้เฒ่านกกระเรียนว่า “ผมเองก็อยากดูการประลองจนจบ เพราะคุณเท็นอยากสู้อย่างเต็มที่เป็นครั้งแรก (天さんはじめておもいきり戦っている。ボクも試合おわりまでみたい)” ผลแตกหักคือ ทำให้เท็นชินฮังมีปากเสียงกับผู้เฒ่านกกระเรียน และในที่สุดผู้เฒ่านกกระเรียนจึงตัดสินใจจะลงมือฆ่าให้หมดทั้งเจาซือ, เท็นชินฮัง, และโกคู จนผู้เฒ่าเต่าที่สงวนท่าทีมาตลอดจึงตัดสินใจใช้พลังคลื่นเต่าซัดผู้เฒ่านกกระเรียนไปพ้นจากบริเวณของเวทีประลอง เท็นชินฮังและโกคูจึงสามารถประลองต่อจนรู้แพ้รู้ชนะได้ แม้ว่าหลังจากนั้นเท็นชินฮังและเจาซือจะไม่ได้เข้าเป็นศิษย์ของสำนักเต่า แต่ก็ได้รับคำแนะนำและความปรารถนาดีจากผู้เฒ่าเต่าอย่างมาก ที่คอยดึงทั้งสองให้รอดพ้นจากวิถีแห่งการฆ่าที่ไม่รู้จบเหมือนคู่พี่น้องเถาไปไปและผู้เฒ่านกกระเรียน ที่ประทับใจที่สุดคือก่อนที่จะต้องไปสู้ชี้เป็นชี้ตายกับจอมปีศาจพิคโกโล่ ผู้เฒ่าเต่าเอาสเปรย์ยาสลบฉีดใส่เท็นชินฮัง และกำชับให้เจาซือซ่อนตัวให้ดี (แต่พิคโกโล่ก็ฆ่าเจาซือทิ้งอยู่ดีในภายหลัง) แล้วผู้เฒ่าเต่าก็สละชีวิตตัวเองเพื่อคนที่ไม่ได้เป็นแม้แต่ลูกศิษย์ ทำให้เท็นชินฮังประทับใจในตัวผู้เฒ่าคนนี้ และกลายเป็นนักสู้ฝ่ายคุณธรรมไปตลอดทั้งเรื่อง  ในภาคชาวไซย่าบุกโลกเราก็จะเห็นความผูกพันของเท็นชินฮังและเจาซือได้ชัดเจนเมื่อเจาซือตัดสินใจใช้พลังระเบิดตัวเองให้ตายไปพร้อมกับนัปปะ “ลาก่อนครับคุณเท็น คุณอย่าตายนะ (さようなら、天さん。どうか死なないで)” ในขณะที่เท็นชินฮังก็ตัดสินใจสละชีพตามเจอซือไป “ฉันจะล้างแค้นแทนแกเอง แล้วฉันจะตามไป ไม่ปล่อยให้แกเหงาหรอก (カタキは討ってやるぞ。そして、オレもいく。おまえだけにさびしいおもいはさせんぞ。)” ทุกคนคงจำฉากเศร้าตอนนั้นได้ที่ หยำฉาตายคนแรก จากนั้นเจาซือตาย แล้วก็เท็นชินฮังตาย แล้วตามด้วยพิคโกโล่ก็ตาย เป็นฉากที่ช็อกผู้อ่านมากที่ตัวละครหลักตายกันเป็นเบือแบบนี้ เนื่องจาก Dragon Ball เป็นการ์ตูนแนว Shōnen Manga ซึ่งมีการพูดถึงการเลือกทางเดินชีวิตของวัยรุ่นด้วย การมีเนื้อหาสอดแทรกเกี่ยวกับครูที่ดีหรือครูที่ไม่ดีว่ามีอิทธิพลใหญ่หลวงต่อลูกศิษย์ รวมทั้งการที่ลูกศิษย์ก็ต้องถามจิตสำนึกของตัวเองว่าเราควรจะเคารพและเชื่อฟังครูที่ไม่ดีต่อไปเรื่อย ๆ ได้หรือไม่ รวมทั้งพล็อตด้านสัมพันธภาพแบบพี่น้องไม่ว่าจะเป็นพี่น้องกันแท้ ๆ หรือไม่ก็ตาม (พิคโกโล่กับโกฮังก็เป็นสัมพันธภาพก้ำกึ่งระหว่างพ่อ-ลูกและพี่-น้อง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นญาติกันทางสายเลือด) จึงเป็นพล็อตที่น่าสนใจมากนอกเหนือไปจากเนื้อเรื่องในแง่ของการต่อสู้อย่างเดียว เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ก็ยังมีเยาวชนอีกมากที่ถูกครูบาอาจารย์ที่ไม่ดีชักนำไปในทางที่ผิด ศิษย์จึงควรมีวิจารณญาณและมีความกล้าจะปฏิเสธไม่ทำสิ่งที่ผิดต่อฟ้าดิน และมีเยาวชนอีกมากที่กำพร้าพ่อแม่และยังคงต้องต่อสู้ชีวิตอยู่คนเดียว คงจะดีมากถ้าในชีวิตจริงของเราทุกคนมีอาจารย์ที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาแบบผู้เฒ่าเต่า และมีคนที่รักใคร่และเป็นห่วงเราดุจพี่น้องอย่างเท็นชินฮังและเจาซือ เรื่อง: วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล