‘Social Loafing’ จิตวิทยาว่าด้วยการอู้งาน เมื่อทำงานร่วมกันเป็นทีม แต่มีคนเนียนกินแรง

‘Social Loafing’ จิตวิทยาว่าด้วยการอู้งาน เมื่อทำงานร่วมกันเป็นทีม แต่มีคนเนียนกินแรง

รู้จัก ‘Social Loafing’ จิตวิทยาว่าด้วยการอู้งาน และการป้องกันมนุษย์อู้งานที่แฝงตัวอยู่ทุกหนแห่ง

KEY

POINTS

  • Social Loafing กับการทดลองของ ‘แมกซ์ ริงเกิลแมน’ 
  • เหตุผลของคนอู้งาน มีอะไรบ้าง?
  • การป้องกันมนุษย์อู้งานที่แฝงตัวอยู่ทุกหนแห่ง ตั้งแต่ชีวิตการศึกษาไปจนถึงโลกของการทำงาน
     

แม้จะมีสำนวน “สองหัวดีกว่าหัวเดียว” แต่ทำไมยังมี ‘งานกลุ่ม’ ที่ทำ ‘คนเดียว’ หรือเจอบุคคลที่เป็น ‘เดอะแบก’ ปะปนไปกับ ‘มนุษย์อู้งาน’ อยู่บ่อย ๆ?

แน่นอนว่าข้อดีของการทำงานเป็นทีม คือประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนคน การระดมไอเดียใหม่ ๆ หลากหลายมุมมอง และผลดีอีกมากมายจากการร่วมแรงร่วมใจกัน แต่ใช่ว่าการทำงานเป็นกลุ่ม จะส่งผลดีทุกครั้ง เพราะอีกด้านหนึ่งก็เปิดโอกาสให้บางคน ‘อู้งาน’ ได้อย่างแนบเนียน ซึ่งในทางจิตวิทยาการกินแรงเพื่อนเวลาทำงานกลุ่มแบบนี้ เรียกว่า ‘Social Loafing’ 

บทความนี้ จะพาไปทำความเข้าใจ Social Loafing และการป้องกันมนุษย์อู้งานที่แฝงตัวอยู่ทุกหนแห่ง ตั้งแต่ชีวิตการศึกษาไปจนถึงโลกของการทำงาน

Social Loafing กับการทดลองของ ‘แมกซ์ ริงเกิลแมน’ 

Social Loafing คือการลดความพยายาม หรือความทุ่มเทลงไป เมื่อทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะงานที่ไม่ได้แบ่งความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน โดยหนึ่งในการศึกษาทางจิตวิทยาชิ้นแรก ๆ ที่อธิบายเรื่องนี้ คือการทดลองของ ‘แมกซ์ ริงเกิลแมน’ (Max Ringelmann) วิศวกรการเกษตรชาวฝรั่งเศส

ย้อนไปในปี 1913  ริงเกิลแมนเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ระหว่างการออกแรงเพียงคนเดียว กับการทำงานเป็นกลุ่ม แบบไหนจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ก็ตาม ริงเกิลแมนจึงเริ่มศึกษาเรื่องนี้ โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองดึงเชือกประมาณ 5 วินาที โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ ดึงเชือกคนเดียว ดึงเชือกเป็นกลุ่ม 7 คน และดึงเชือกเป็นกลุ่ม 14 คน พร้อมกับใช้เครื่องวัดแรงสูงสุดที่ได้  

หากมองเผิน ๆ ‘ผลรวม’ ของแรงที่ได้เมื่อคนเพิ่มขึ้น ย่อมมากกว่าแรงของคน ๆ เดียว แต่เมื่อวัดจาก ‘แรงดึงเฉลี่ยต่อคน’ กลับพบว่ายิ่งคนเยอะขึ้นเท่าไร ค่าเฉลี่ยการออกแรงยิ่ง ‘ลดลง’ เท่านั้น เรียกง่าย ๆ ว่ายิ่งคนเยอะ ยิ่งมีโอกาสที่ผู้คนจะออมแรงสูงขึ้นนั่นเอง 

และเมื่อริงเกิลแมนทำการทดลองลักษณะคล้ายคลึงกันอีก แต่เปลี่ยนมาเป็นการใช้แรงผลัก ก็ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน คือผู้เข้าร่วมการทดลองออกแรงตอนผลักคนเดียวมากกว่าตอนผลักกันเป็นกลุ่ม 

แต่อะไรทำให้เป็นเช่นนั้น ?

เหตุผลของคนอู้งาน

หากสังเกตรูปแบบการทดลองทั้งสองครั้งจะพบจุดร่วมคือ การวัดผลไม่ได้ด้วยตาเปล่า เพราะมองไม่เห็นว่าใครออกแรงมากกว่ากัน ดังนั้น รูปแบบงานที่เปิดช่องว่างให้คนอู้งานได้ คือ งานที่ไม่ได้แบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน ระบุไม่ได้ว่าผลลัพธ์ส่วนนี้มาจากใคร และมากน้อยแค่ไหน เพราะ ‘ความกำกวม’ ทำให้ผู้คนรู้สึกถึงความรับผิดชอบต่องานนั้น ๆ น้อยลง และมองว่าความพยายามของพวกเขาส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อผลลัพธ์ภาพรวม หากจะออมแรงสักนิด ก็คงไม่มีคนสังเกต และคงมีแรงจากคนอื่น ๆ มา ‘ชดเชย’ ตัวเองอยู่ดี หรือต่อให้ออกแรงอย่างเต็มที่ คงไม่มีใครรู้อยู่ดีว่าเราทุ่มเทแค่ไหน ยิ่งกลุ่มใหญ่เท่าไร ความรู้สึกเหล่านี้ยิ่งมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

ส่วนอีกปัจจัยสำคัญของ Social Loafing คือ ‘การขาดแรงจูงใจ’ เพราะบางคนรู้สึกว่าต่อให้ไปถึงเป้าหมายหรือออกแรงได้มากเท่าไร ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อชีวิต เช่น คนที่จะเก็บงานกลุ่มชิ้นนี้เป็นพอร์ตโฟลิโออาจจะทุ่มแรงให้งานกลุ่มมากกว่าคนที่มองงาน ๆ นี้เป็นเพียงโปรเจกต์หนึ่งที่อยากให้ผ่านไปไว ๆ  

นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการอู้งาน หนึ่งในนั้นปัจจัยทางสังคม เช่น สังคมที่ให้ความสำคัญกับส่วนรวมมาก ๆ และมาก่อนความเป็นปัจเจก (collectivism) มีแนวโน้มเกิดการอู้งานในกลุ่ม ‘น้อยกว่า’ สังคมที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกมาก่อนสังคมส่วนรวม (individualism) 

หรือสังคมที่กล้าตักเตือน ปกป้องสิทธินั้น มีแนวโน้มจะเกิดการอู้งานน้อยกว่าสังคมแบบหยวน ๆ กันไป เพราะสังคมแบบ ‘หยวน ๆ’ ส่งเสริมให้คนอู้งานได้ใจว่าทำแบบนี้ก็ไม่มีใครว่าอะไร แถมยังได้ผลลัพธ์เชิงบวกอีกต่างหาก สุดท้ายจึงกลายเป็นความเคยตัวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎี Social Loafing และการทดลองของแมกซ์ ริงเกิลแมน ไม่ได้บอกว่าการทำงานกลุ่มเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่ชี้ให้เห็น ‘ช่องโหว่’ ที่เราควรป้องกัน เมื่อต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม เริ่มมาตั้งแต่การเลือก ‘รูปแบบการทำงาน’ ที่เหมาะสม เช่น งานที่ไม่สามารถแยกย่อยจนแบ่งหน้าที่กันได้อย่างชัดเจน อาจเหมาะกับการทำงานเดี่ยวมากกว่างานกลุ่ม หรือหากทำงานเป็นกลุ่ม ควรมีการประเมินที่แน่ชัดว่าผลลัพธ์นี้มีที่มาจากใคร 

รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้คนในทีมด้วยการสื่อสารให้ชัดเจนว่า การทำสิ่งนี้ดีต่อแต่ละคนอย่างไรบ้าง หรือมอบหมายงานที่ตอบโจทย์เป้าหมายหรือความต้องการส่วนบุคคล เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นให้แต่ละคนในทีมรู้สึกมีแรงจูงใจในการทำหน้าที่ของตัวเอง ไปจนถึงการพิจารณาบริบทสังคมร่วมด้วย 

ทั้งหมดนี้เพื่อให้การทำงานเป็นทีม ไม่ใช่แค่การทำงานด้วยกันเท่านั้น แต่กลายเป็นทีมเวิร์คที่ทำงานออกมาดี และทำให้สำนวน ‘สองหัวดีกว่าหัวเดียว’ เกิดขึ้นได้ในโลกการทำงานอย่างแท้จริง


เรื่อง: ธัญญารัตน์ โคตรวันทา
ภาพ: Pexels

อ้างอิง:

How Social Loafing Is Studied in Psychology

Social Loafing In Psychology: Definition, Examples & Theory

Ringelmann Effect

การอู้งาน Social Loafing

การอู้งานในการทำงานเป็นทีม