ก่อนเป็นมหาเศรษฐี พวกเขาเคย ‘ล้มเหลว’ มาก่อน! ถอดบทเรียนความล้มเหลวของ 5 เศรษฐีแถวหน้าของโลก

ก่อนเป็นมหาเศรษฐี พวกเขาเคย ‘ล้มเหลว’ มาก่อน! ถอดบทเรียนความล้มเหลวของ 5 เศรษฐีแถวหน้าของโลก

บางทีการเป็นมหาเศรษฐีก็อาจจะเคยล้มเหลวมาบ้าง แต่ใครอาจจะไม่รู้ บทความนี้เป็นตัวอย่างจากบุคคลในวงการต่าง ๆ ที่เคยมีประสบการณ์ทั้งผิดพลาดและล้มเหลวมาก่อน พวกเขาเรียนรู้ และพยายามจนวันหนึ่งประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้

  • เรียนรู้ข้อผิดพลาดจากบุคคลระดับโลกทั้ง 5 ก่อนประสบความสำเร็จ
  • ตัวอย่างจากมหาเศรษฐีในวงการต่าง ๆ ที่เคยล้มเหลวมาก่อน

The People อยากชวนมาถอดบทเรียนบุคคลทั้ง 5 ที่เคย ‘ผิดพลาดและล้มเหลว’ ก่อนที่พวกเขาจะเรียนรู้และใช้ความพยายามจนประสบความสำเร็จอย่างมาก พวกเขากลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกยกตัวอย่างอยู่บ่อยครั้งในโลกธุรกิจ รวมไปถึงการช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นได้ด้วย

 

วอร์เรน บัฟเฟตต์

เรียกว่าน้อยคนที่ไม่รู้จักพ่อมดแห่งวงการการเงินอย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ (Warren Buffett) นักลงทุนระดับตำนานที่อยู่ใน Top 5 ของมหาเศรษฐีโลกมาตลอด (และเคยอยู่อันดับ 1 ในปี 2010)

แต่ก่อนที่ บัฟเฟตต์ จะประสบความสำเร็จมากขนาดนี้ เขาเคยผ่านความผิดพลาดจากการตัดสินใจแบบผิด ๆ ของตัวเองมาแล้ว และไม่ใช่แค่ครั้งเดียวที่เป็นการตัดสินใจผิดเรื่องการลงทุน เพราะที่ผ่านมาเขาตัดสินใจพลาดถึง 15 ครั้ง

อย่างเคสตัวอย่างที่คนในวงการการเงินมักพูดถึงบ่อยมาก เช่น การตัดสินใจซื้อหุ้นของ Berkshire Hathaway ธุรกิจสิ่งทอใน New England เมื่อปี 1962 ซึ่งเป็นยุคที่ธุรกิจอยู่ในช่วงขาลง แต่เขากลับคิดว่าหากผ่านวิกฤตการเงิน อาจจะพอฟื้นธุรกิจให้กลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิมได้

เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ CBNC ว่า “เป็นหุ้นที่โง่ที่สุดเท่าที่ฉันเคยซื้อมา” นอกจากนี้ Berkshire Hathaway ยังเป็นเจ้าของหุ้น 415 ล้านหุ้นในธุรกิจ Tesco ร้านขายของชำรายใหญ่ในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2012 ซึ่งพบว่ามีการกล่าวถึงผลกำไรที่เกินจริงไปมาก จึงทำให้ราคาหุ้นร่วงลง และเกิดเป็นกระแสดราม่าอยู่ช่วงหนึ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจของบัฟเฟตต์

บัฟเฟตต์ยอมรับว่า การซื้อหุ้น Berkshire Hathaway ทำให้บริษัทขาดทุนหลังหักภาษีถึง 444 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นบทเรียนราคาแพงทีเดียวสำหรับบัฟเฟตต์ จนทุกวันนี้เขาเรียนรู้ที่จะศึกษาหุ้นอย่างใจเย็น และคำแนะนำหนึ่งที่เขามักจะพูดเมื่อให้สัมภาษณ์ก็คือ “อย่าเลือกหุ้น แต่ให้เลือกธุรกิจ ดูความน่าสนใจของธุรกิจอย่างระมัดระวัง”

ก่อนเป็นมหาเศรษฐี พวกเขาเคย ‘ล้มเหลว’ มาก่อน! ถอดบทเรียนความล้มเหลวของ 5 เศรษฐีแถวหน้าของโลก

 

เจฟฟ์ เบซอส

เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้ง Amazon แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก (แต่เขาได้ลาออกจากตำแหน่ง CEO เมื่อ 3 ปีก่อน) สำหรับเบซอส สิ่งที่ทำให้หลายคนพูดถึงความล้มเหลวของเขาก็คือ ช่วงที่เปิดตัวธุรกิจ Amazon ซึ่งครั้งแรกเขาเริ่มขายแค่ของเล่นและหนังสือเป็นหลัก ทั้งยังยืนกรานความคิดนี้ว่าจะขายเพียง 2 อย่างเท่านั้น

แต่ที่มีปัญหาและทำให้เขาสูญเงินไปหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐนั่นก็คือ ช่วงที่เบซอสต้องการเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจด้วยการสต็อกของช่วงที่ใกล้เทศกาลสำคัญ โดยครั้งหนึ่งเขาต้องการสต็อกของเล่นกว่า 100 ล้านชิ้นเพื่อเตรียมต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส แต่ปรากฏว่าพอถึงวันเทศกาลที่ผู้คนจะมาหาซื้อของขวัญ เขาเหลือสินค้าในคลังเพียง 50 ล้านชิ้น เหตุผลเพราะว่าพื้นที่จัดเก็บในคลังไม่พอจึงนำของเล่นเหล่านั้นไปมอบให้กับผู้คนฟรี ๆ เพื่อรับกระแส

ทำให้เบซอสขาดทุนตั้งแต่เทศกาลแรกหลังจากที่เปิดตัวธุรกิจ เพียงเพราะว่าคำนวณพื้นที่จัดเก็บในคลังไม่ดีพอ และทำให้ไม่สอดคล้องกับออร์เดอร์ที่สั่งไปแล้ว ทั้งยังเลือกที่จะทำการตลาดด้วยการแจกของเล่นฟรีอีกด้วย

นับตั้งแต่นั้นมา เบซอสพยายามให้ทีมที่เชี่ยวชาญเรื่องการคำนวณและการสต็อกสินค้าเข้ามาช่วยเพื่อให้แม่นยำขึ้น (จากเดิมที่ทำกันเอง) ทำให้ทุกวันนี้ Amazon กลายเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ชอปปิงออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และเป็นบริษัทที่มีกำไรมาตลอด

เบซอสมักจะพูดแนะนำและให้ข้อคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจว่า “ผมมักจะเปิดโอกาสให้ตัวเองได้หวังที่จะสำเร็จ และก็หวังที่จะล้มเหลวด้วย ผมเชื่อว่าบริษัทไหนที่ไม่ยอมรับความล้มเหลวได้ พวกเขามักจะเดินหน้าไปสู่ ‘ความสิ้นหวัง’ เสมอ

“หากคุณเดิมพันอย่างกล้าหาญ มันจะเป็นการทดลองที่ดีมาก ซึ่งการทดลองเราไม่มีทางรู้หรอกว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร”

ก่อนเป็นมหาเศรษฐี พวกเขาเคย ‘ล้มเหลว’ มาก่อน! ถอดบทเรียนความล้มเหลวของ 5 เศรษฐีแถวหน้าของโลก

 

มิลตัน เฮอร์ชีย์

Hershey’s (เฮอร์ชีย์) เป็นหนึ่งในช็อกโกแลตของคนทั่วโลกที่นิยมรับประทาน แต่รู้หรือไม่ว่า ผู้ก่อตั้งธุรกิจก็คือ ‘มิลตัน เฮอร์ชีย์’ (Milton Hershey) เคยล้มเหลวเพราะตัดสินใจผิด เลือกเปิดธุรกิจลูกอมแทนที่จะเป็นช็อกโกแลตตั้งแต่แรก

มิลตัน เฮอร์ชีย์ เลือกเปิดบริษัทผู้ผลิต ‘ลูกกวาด’ เพราะตอนนั้นเห็นว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับลูกอม ลูกกวาด ยังมีน้อย และไม่มีแบรนด์ที่ครองตลาดเป็นเบอร์ใหญ่ขนาดนั้น

เขาก่อตั้งบริษัทแรกเป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่ผลิตลูกกวาด มิลตัน เฮอร์ชีย์ เป็น nobody ที่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จัก และเขาก็พบกับความล้มเหลวหลังจากเปิดได้เพียงไม่กี่ปี และก็เป็นช่วงที่เมืองเดนเวอร์เกิดวิกฤตเศรษฐกิจด้วย ทำให้ธุรกิจของเขาต้องปิดตัวลง

หลังจากนั้น มิลตัน เฮอร์ชีย์ ปรับปรุง และเริ่มเปิดบริษัทอีกครั้งแต่ยังเป็นธุรกิจคล้ายเดิม ก็คือ ลูกอมลูกกวาด ซึ่งในยุคนั้นเรียกว่าการแข่งขันเริ่มสูงขึ้น มีผู้เล่นในตลาดมากขึ้น คนซื้อก็มีตัวเลือกเยอะขึ้น จึงทำให้ธุรกิจเขาประสบกับความล้มเหลวอีกครั้ง เพราะขาดทุนอย่างหนัก ทำการตลาดทำให้คนรู้จักไม่ได้

จนครั้งที่ 3 มิลตัน เฮอร์ชีย์ เห็นหลาย ๆ บริษัทที่ทำเกี่ยวกับลูกอมประสบความสำเร็จ แต่แทนที่เขาจะเลือกทำธุรกิจที่ต่างออกไป เขากลับลองทำมันอีกครั้ง เปิดบริษัทผลิตลูกอมซึ่งเป็นลูกอมแต่งกลิ่นนมเพราะคิดว่าจะแตกต่าง แต่สุดท้ายก็ต้องปิดตัวลงในที่สุด

และแล้วก็ถึงยุคของ ‘Lancaster Caramel’ บริษัทที่ 4 ของ มิลตัน เฮอร์ชีย์ แต่ครั้งนี้เป็นลูกอมรสนมที่ละลายในปาก รสสัมผัสเป็นนมก้อนไม่ใช่ลูกอม ปรากฏว่าคนเริ่มรู้จักและพูดถึงลูกอมของเขามากขึ้น จนในที่สุดปี 1894 มิลตัน เฮอร์ชีย์ ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท Hershey Chocolate ด้วยคอนเซ็ปต์เป็นช็อกโกแลตเพื่อมวลชน และนั่นทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก

จนปัจจุบัน Hershey เป็นแบรนด์ช็อกโกแลตที่มีรายได้หลักหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2023 รายได้อยู่ที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.96% เมื่อเทียบแบบรายปี

สำหรับ ฮิลตัน เฮอร์ชีย์ เขามักจะพูดเสมอว่า มีหลายคนที่ยอมแพ้ตั้งแต่ครั้งแรกหลังจากที่ล้มเหลวก็ไม่กลับไปสู้อีกเลย เขาเป็นคนที่พยายามเรียนรู้ทุกข้อผิดพลาดและพยายามเข้าใจ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่เขายังเปิดบริษัทลูกอมถึง 3 ครั้งก่อนเปลี่ยนมาสู่ธุรกิจอื่น เพราะต้องการแน่ใจว่าเราไม่ถนัดทางนั้นจริง ๆ ไม่ใช่ถอยเพราะยอมแพ้

ก่อนเป็นมหาเศรษฐี พวกเขาเคย ‘ล้มเหลว’ มาก่อน! ถอดบทเรียนความล้มเหลวของ 5 เศรษฐีแถวหน้าของโลก

 

บิล เกตส์

สำหรับ ‘บิล เกตส์’ (Bill Gates) มหาเศรษฐีอันดับ 6 ของโลก นักธุรกิจที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft แต่มีหลายคนที่ไม่รู้ว่าก่อนมาเป็น Microsoft เขาเคยพยายามก่อตั้งบริษัทหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ

เมื่อยังเป็นวัยรุ่น บิล เกตส์ ตอนที่อายุได้เพียง 17 ปี เขาและเพื่อนรุ่นพี่ได้ร่วมกันก่อตั้งแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า Traf-O-Data เป็นแพลตฟอร์มที่จัดเก็บข้อมูลการจราจร ประมวลผล และข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งให้กับวิศวกรจราจร ในยุคนั้นถือว่าไอเดียนี้ค่อนข้างล้ำสมัยเพราะยังไม่มีผู้ใดเคยทำมาก่อน

แต่สุดท้ายเขาทั้ง 2 คนก็ต้องปิดตัวแพลตฟอร์มดังกล่าวลง เพราะว่าโมเดลธุรกิจไม่มีความชัดเจน บิล เกตส์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า “พวกเราขาดความชัดเจนและไม่มีการวางแผนมาก่อน เพราะคิดว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยตรงนี้ได้ แต่ว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์มากขนาดนั้น อีกทั้งพวกเราไม่ได้สำรวจตลาดมาก่อนที่จะทำธุรกิจด้วย”

จุดประสงค์แรกที่ก่อตั้ง Traf-O-Data เพื่อขายอุปกรณ์ประมวลผลไม่ใช่ข้อมูลการจราจร แต่ดูเหมือนว่ารายได้จากข้อมูลจะเข้ามามากกว่าอุปกรณ์ด้วยซ้ำ เพราะหลายครั้งที่ บิล เกตส์ ไปเสนอขายอุปกรณ์กับลูกค้า อุปกรณ์กลับไม่ทำงาน อีกทั้งหลังจากนั้น รัฐของวอชิงตัน ให้บริการการประมวลผลข้อมูลจราจรฟรีแก่ทุกเมืองทั่วรัฐ ทำให้เมืองต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้บริการของ Traf-O-Data ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เขาต้องปิดตัวธุรกิจลงโดยปริยาย

ยิ่งเรื่องที่ บิล เกตส์ เคยตัดสินใจช่วย Apple ด้วยการเข้าลงทุนมากถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1997 ช่วงที่ธุรกิจ Apple แทบจะล้มละลาย ทำให้หลายคนมองว่า บิล เกตส์ พลาดเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันมูลค่าธุรกิจของ Apple มีขนาดใหญ่กว่า Microsoft

แต่สำหรับ บิล เกตส์ สิ่งหนึ่งที่เขามักจะเตือนตัวเองเสมอก็คือ “พัฒนาและยอมรับความผิดพลาด เพราะหากไม่ผิดพลาดเลยเราจะไม่มีทางเติบโต” ซึ่งดูจากพัฒนาการของ Microsoft หลักการและความเชื่อนี้ก็น่าจะใช้ได้ผลทีเดียว

ก่อนเป็นมหาเศรษฐี พวกเขาเคย ‘ล้มเหลว’ มาก่อน! ถอดบทเรียนความล้มเหลวของ 5 เศรษฐีแถวหน้าของโลก

 

เจ. เค. โรว์ลิง

สำหรับ ‘เจ. เค. โรว์ลิง’ (J.K. Rowling) นักเขียนนวนิยายชื่อดังจากอังกฤษ ผู้เขียนเรื่องราว Harry Potter หนังสือนวนิยายแฟนตาซีที่โด่งดังไปทั่วโลก ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ใช่นักธุรกิจ แต่เธอคือนักเขียนคนแรกที่มีรายได้แตะ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เรื่องราวของโรว์ลิง เป็นที่พูดถึงหลายครั้งในกลุ่มคนที่อยากได้รับแรงบันดาลใจดี ๆ จากผู้อื่น เพราะชีวิตของเธอค่อนข้างยากจนและลำบาก แต่บทประพันธ์เรื่อง Harry Potter กลับเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล นอกจากเธอจะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอยังต้องต่อสู้กับโรคซึมเศร้าที่เป็นมานาน อีกทั้งโรว์ลิงยังเคยคิดฆ่าตัวตายอีกด้วย

ชีวิตก่อนหน้าที่เธอจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เขียนนวนิยายชื่อดัง เธอเคยส่งต้นฉบับเรื่อง Harry Potter ให้กับสำนักพิมพ์ถึง 12 แห่งเพื่อพิจารณา แต่ถูกปฏิเสธทั้งหมด แต่แทนที่เธอจะถอดใจและเปลี่ยนอาชีพ โรว์ลิงมองว่า นวนิยายของเธออาจจะยังดีพอ และเธอก็อาจจะยังไม่เจอที่ที่ใช่สำหรับผลงาน เธอใช้เวลาช่วงที่ว่าง ๆ ไปเรียนรู้ภาษาอื่น เช่น โปรตุเกส เพื่อให้เข้าใจความเชื่อ ธรรมเนียมที่แตกต่างออกไป และนั่นอาจจะช่วยให้เธอเขียนนวนิยายได้ดีขึ้น

จนสุดท้ายเธอได้รับโอกาสจากสำนักพิมพ์ Bloomsbury ซึ่งเธอเคยบอกว่า “จดหมายจาก Bloomsbury คือเรื่องที่ดีที่สุดที่เธอเคยได้รับในช่วงนั้น” โดย Harry Potter and the Philosopher’s Stone เป็นนวนิยายเล่มแรกในซีรีส์ Harry Potter ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1997

หลังจากที่เธอเขียนนวนิยายเรื่องแรกให้กับ Bloomsbury ประมาณ 23 ปี โรว์ลิงก็กลายเป็นมหาเศรษฐีในวัย 53 ปี ซึ่งเธอไม่เคยลืมรากฐานอันต่ำต้อยของเธอเลย โรว์ลิงได้บริจาคเงินจำนวนมากให้กับองค์กรการกุศล รวมถึงช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนด้วย

แรงบันดาลใจทั้ง 5 คนที่เราได้นำเสนอเรื่องราวและหยิบมาเล่า เป็นเพียงบุคคลที่ถูกพูดถึงบ่อยในวงการต่าง ๆ และคนส่วนใหญ่น่าจะรู้จัก แต่ยังมีบุคคลตัวอย่างอีกมากบนโลกใบนี้ที่เราไม่ได้เอ่ยถึง ซึ่งการเรียนรู้จากความผิดพลาดของบุคคลเหล่านี้ เชื่อว่าน่าจะช่วยให้เราเก็บเกี่ยวข้อคิดได้หลายอย่างจากประสบการณ์ของผู้อื่น และอาจไม่ต้องผิดพลาดหรือล้มเหลวในสิ่งที่พวกเขาเคยทำมาก่อน

ก่อนเป็นมหาเศรษฐี พวกเขาเคย ‘ล้มเหลว’ มาก่อน! ถอดบทเรียนความล้มเหลวของ 5 เศรษฐีแถวหน้าของโลก

 

 

 

ภาพ : Getty Images

อ้างอิง :

Thehersheycompany

Theguardian

CNBC

Hersheyarchives

Entrepreneur [1]

Entrepreneur [2]

Headspacegroup

Business