The People Talk: สุนทรพจน์ ‘โมนิกา ลูวินสกี’ บอกเล่า ‘ราคา’ ของการเป็นเหยื่อ ‘บูลลี’ ในโลกไซเบอร์

The People Talk: สุนทรพจน์ ‘โมนิกา ลูวินสกี’ บอกเล่า ‘ราคา’ ของการเป็นเหยื่อ ‘บูลลี’ ในโลกไซเบอร์

The People Talk: สุนทรพจน์ ‘โมนิกา ลูวินสกี’ บอกเล่า ‘ราคา’ ของการเป็นเหยื่อ ‘บูลลี’ ในโลกไซเบอร์

“ฉันถูกตราหน้าว่าสำส่อน แพศยา ใจง่าย โสเภณี สวยแต่โง่ และแน่นอนถูกเรียกว่า ‘นางคนนั้น’ ” *The People Talk รวมสุนทรพจน์เปลี่ยนโลก **สุนทรพจน์บอกเล่าประสบการณ์และวิธีรับมือวัฒนธรรม ‘บูลลี’ บนโลกออนไลน์จากโมนิกา ลูวินสกี ในงาน TedTalk เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2015 โมนิกา ลูวินสกี (Monica Lewinsky) อดีตนักศึกษาฝึกงานประจำทำเนียบขาว เล่าประสบการณ์ตกเป็นเหยื่อถูกเสียบประจานและข่มขู่คุกคาม (bully) บนโลกไซเบอร์ หลังเธอทำผิดพลาด เคยมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับบิล คลินตัน เจ้านายของตัวเองซึ่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น “ฉันเป็นคนไข้หมายเลขศูนย์ที่เสื่อมเสียชื่อเสียงระดับโลก “ฉันสูญเสียทั้งชื่อเสียงและศักดิ์ศรี ฉันสูญเสียเกือบทุกอย่าง รวมถึงเกือบเสียชีวิต” เธอเล่าย้อนชะตาชีวิตของตนเองในฐานะผู้หญิงคนแรก ๆ ของโลกที่ตกเป็นเหยื่อ ‘cyberbullying’ ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่หลาย พร้อมเสนอทางแก้ไขในการเปลี่ยนวัฒนธรรมออนไลน์ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาเห็นอกเห็นใจกัน นี่คือสุนทรพจน์เต็มความยาวประมาณ 22 นาทีของโมนิกา ลูวินสกี สตรีผู้ตกเป็นเหยื่อความโหดร้ายของการถูก ‘บูลลี’ - ผู้หญิงที่เข้าใจหัวอกคนเคยพลาด และนำบทเรียนส่วนตัวมาบอกเล่าเป็นอุทาหรณ์ เพราะอยากเปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้น ไม่ว่าโลกออนไลน์ หรือออฟไลน์ก็ตาม “คุณกำลังมองมาที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งปิดปากเงียบในที่สาธารณะมานานนับสิบปี และแน่นอน สิ่งนั้นมันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่นานมานี้เมื่อหลายเดือนก่อน ฉันไปออกงานใหญ่ได้พูดต่อหน้าสาธารณะครั้งแรกในงาน '30 Under 30’ (รวมพลคนเก่งอายุไม่เกิน 30 ปี 30 คน) ของนิตยสารฟอร์บส ทั่วโลกมีประชากร 150,000 ล้านคนที่อายุยังไม่ถึง 30 ปี นั่นหมายความว่าในปี 1998 คนอายุมากที่สุดในกลุ่มนี้มีอายุเพียง 14 ปี ส่วนคนอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 4 ขวบเท่านั้น ฉันปล่อยมุกไปว่า บางคนอาจเคยได้ยินชื่อฉันจากในเพลงแร็ปเท่านั้น ใช่ค่ะ ชื่อฉันไปอยู่ในเพลงแร็ป รวม ๆ แล้วเกือบ 40 เพลง แต่ในคืนนั้นที่ฉันกล่าวสุนทรพจน์ มีเรื่องน่าประหลาดใจเกิดขึ้น ฉันในวัย 41 ปี ถูกเด็กหนุ่มอายุ 27 ปี แทะโลม เขาเป็นคนมีเสน่ห์ ส่วนฉันก็รู้สึกดีที่ถูกชม แต่ฉันตอบปฏิเสธไป คุณรู้ไหมว่าประโยคหากินที่เขาใช้จีบสาวแต่ไม่สำเร็จพูดว่าอะไร? เขาบอกเขาสามารถทำให้ฉันย้อนวัยกลับไปรู้สึกเหมือนตอนอายุ 22 ได้อีกครั้ง ฉันตระหนักในคืนนั้นว่า ฉันน่าจะเป็นผู้หญิงอายุเกิน 40 แค่คนเดียวที่ไม่อยากย้อนวัยกลับไปเป็นสาววัย 22 ตอนอายุ 22 ปี ฉันเคยตกหลุมรักเจ้านาย และพออายุ 24 ฉันก็ได้รับรู้ผลลัพธ์อันเลวร้ายนั้น ฉันขอดูมือใครในนี้ที่ไม่เคยทำผิดพลาดหรือทำเรื่องที่รู้สึกผิดในวัย 22 บ้าง? (ไม่มีใครยกมือ) ใช่ค่ะ นั่นคือสิ่งที่ฉันคิดไว้ มันเหมือนฉันตอนอายุ 22 พวกคุณบางคนก็อาจเคยเดินผิดทางและตกหลุมรักผู้ชายผิดคน บางทีอาจรวมถึงเจ้านายของตัวเอง แต่ที่ไม่เหมือนฉันคือเจ้านายของคุณอาจไม่ใช่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องน่าประหลาดใจ ไม่มีวันไหนเลยที่ฉันไม่เคยนึกถึงความผิดนี้ และฉันก็เสียใจอย่างสุดซึ้งถึงความผิดพลาดนั้น ปี 1998 หลังจากหลงเข้าไปในความรักต้องห้าม จากนั้นฉันก็ถูกดูดสู่กลางวังวนของการเมือง คดีความ และสื่อมวลชนในแบบที่เราไม่เคยเจอกันมาก่อน จำได้ไหมว่าไม่กี่ปีก่อนหน้านั้น การบริโภคข่าวสารมีแค่ 3 อย่างเท่านั้น ถ้าไม่อ่านจากหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ก็ฟังจากวิทยุ หรือดูจากโทรทัศน์ แต่นั่นไม่ใช่ชะตากรรมของฉัน เรื่องราวอื้อฉาวนี้ส่งไปถึงพวกคุณผ่านการปฏิวัติบนโลกดิจิทัล นั่นหมายความว่าเราสามารถเข้าถึงทุกข้อมูลที่ต้องการได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อเรื่องแดงออกมาในเดือนมกราคมปี 1998 มันแดงออกมาบนออนไลน์ มันเป็นครั้งแรกที่ข่าวสารดั่งเดิมถูกแทนที่ด้วยอินเทอร์เน็ตในการรายงานข่าวใหญ่ เสียงคลิกดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วโลก สิ่งที่มีความหมายกับฉันส่วนตัว คือ ภายในข้ามคืนฉันเปลี่ยนจากคนที่ไม่มีใครรู้จักกลายเป็นคนสาธารณะที่ถูกทำให้อับอายไปทั่วโลก ฉันเป็นคนไข้หมายเลขศูนย์ที่เสื่อมเสียชื่อเสียงในระดับโลก สิ่งนี้ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีทำให้คนพากันด่วนตัดสินและนำไปสู่การเกิดม็อบของคนรุมปาหินบนโลกเสมือน ใช่แล้วมันเกิดก่อนยุคโซเชียลมีเดีย แต่คนยังสามารถแสดงความเห็นออนไลน์ ส่งเรื่องราวผ่านอีเมล และแน่นอน ส่งอีเมลมุกตลกอันแสนเจ็บปวด แหล่งข่าวต่าง ๆ แปะรูปฉันไปทั่วเพื่อยอดขายไม่ว่าหนังสือพิมพ์ โฆษณาออนไลน์ และทำให้คนหันไปเปิดทีวี คุณนึกภาพฉันสักรูปออกไหม เอาเป็นว่ารูปสวมหมวกเบเร่ต์เป็นไง? ตอนนี้ฉันยอมรับแล้วว่าทำพลาด โดยเฉพาะการสวมหมวกเบเร่ต์ใบนั้น (หัวเราะ) ความสนใจและคำพิพากษาที่ฉันได้รับไม่ใช่เรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่มันคือสิ่งที่ได้รับส่วนตัว มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ฉันถูกตราหน้าว่าสำส่อน แพศยา ใจง่าย โสเภณี สวยแต่โง่ และแน่นอนถูกเรียกว่า ‘นางคนนั้น’ ฉันมีคนรู้จักมากมายแต่ความจริงแล้วมีไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้จักฉันจริง ฉันเข้าใจดีว่ามันง่ายที่จะลืมว่า ‘นางคนนั้น’ มีหลายมิติ มีหัวใจ และครั้งหนึ่งเคยทนทานไม่แตกสลาย ตอนสิ่งนี้เกิดกับฉันเมื่อ 17 ปีก่อนยังไม่มีใครตั้งชื่อให้มัน ตอนนี้เราเรียกมันว่า cyberbullying การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ และ online harassment การคุกคามออนไลน์ วันนี้ฉันอยากแบ่งปันประสบการณ์บางอย่างกับคุณ อยากพูดถึงประสบการณ์นั้นว่ามันช่วยเปลี่ยนมุมมองเรื่องวัฒนธรรมของฉันอย่างไร และหวังว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างไรและส่งผลให้คนอื่นทุกข์ใจน้อยลง ในปี 1998 ฉันสูญเสียทั้งชื่อเสียงและศักดิ์ศรี ฉันสูญเสียเกือบทุกอย่าง รวมถึงเกือบเสียชีวิตด้วย ฉันขอเล่าให้เห็นภาพชัด ๆ เดือนกันยายนปี 1998 ขณะนั่งอยู่ในห้องทำงานที่ไม่มีหน้าต่างในสำนักงานทนายความอิสระ (Office of the Independent Counsel) ใต้หลอดไฟนีออนที่ส่งเสียงหึ่ง ๆ ฉันกำลังฟังเสียงของตัวเอง เป็นเสียงจากโทรศัพท์ที่ถูกแอบอัดไว้ระหว่างพูดคุยกับคนที่ควรเรียกว่าเพื่อนเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านั้น ฉันมาอยู่ตรงนี้เพราะกฎหมายบังคับให้ฉันต้องมายืนยันรับรองด้วยตนเองว่า บทสนทนาที่ถูกอัดไว้ยาวกว่า 20 ชั่วโมงทั้งหมดนั้นล้วนเป็นของจริง ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา เนื้อหาลึกลับในเทปเหล่านี้แขวนอยู่บนหัวของฉันเหมือน ‘ดาบของดาโมคลีส’ ใครจำได้บ้างว่าเขาพูดอะไรไว้เมื่อปีที่แล้ว? ฉันยอมฟังด้วยความหวาดกลัวและอับอาย ฟังสิ่งที่ฉันพล่ามเกี่ยวกับเรื่องไร้สาระในแต่ละวัน ฟังสิ่งที่ฉันเคยสารภาพรักกับประธานาธิบดี และแน่นอน เรื่องราวของหัวใจฉันที่แตกสลาย ต้องฟังคำพูดของตัวเองที่บางครั้งก็ส่อเสียด บางครั้งหยาบคาย บางครั้งก็งี่เง่า ดุร้าย ไม่น่าให้อภัย ไร้อารยะ ฟังลึกลงไปเรื่อย ๆ ในสิ่งที่น่าละอายจนกระทั่งถึงเวอร์ชั่นที่เลวร้ายที่สุดของตัวเอง ตัวตนที่ฉันเองก็นึกไม่ถึง หลังจากนั้นไม่กี่วัน รายงานของ (เคนเนธ) สตาร์ก็ถูกเปิดเผยในสภาคองเกรส และเทปบันทึกเสียงกับเนื้อหาคำพูดที่ถอดออกมาทั้งหมด ถ้อยคำต่าง ๆ ที่ถูกขโมยไปเหล่านั้นล้วนเป็นส่วนหนึ่งในรายงาน การที่คนทั่วไปสามารถอ่านเนื้อหาคำพูดที่ถอดออกมาจากเทปว่าแย่แล้ว ไม่กี่สัปดาห์ต่อมาเทปเสียงเหล่านั้นยังถูกนำไปเปิดออกอากาศในทีวี และอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีนัยยะสำคัญสามารถหาฟังได้ออนไลน์ การทำให้อับอายในที่สาธารณะมันน่าเจ็บปวดเหลือเกิน ฉันเกือบไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อีกต่อไป นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำหากมองย้อนไปในปี 1998 และคำว่า ‘นี่’ ฉันหมายถึงการขโมยถ้อยคำ การกระทำ บทสนทนา หรือรูปภาพส่วนตัวของผู้อื่นนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะ นำไปเผยแพร่โดยปราศจากความยินยอม ไร้ซึ่งบริบท และขาดความเห็นอกเห็นใจ ข้ามมาอีก 12 ปี คือ ปี 2010 คราวนี้โซเชียลมีเดียถือกำเนิดแล้ว พื้นที่แห่งนี้ช่างน่าเศร้าที่มีกรณีคล้ายฉันเกิดขึ้นมากกว่าเดิมมาก ไม่ว่าคนผู้นั้นจะทำผิดจริงหรือไม่ คราวนี้มันเกิดกับทั้งบุคคลสาธารณะและคนทั่วไป ผลที่เกิดตามมาสำหรับบางคนมันรุนแรงเลวร้ายมาก ฉันโทรคุยกับแม่ในเดือนกันยายนปี 2010 เราคุยกันเรื่องข่าวนักศึกษาปี 1 ของมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส (Rutgers University) ที่ชื่อ ไทเลอร์ คลีเมนตี (Tyler Clementi) ไทเลอร์ผู้อ่อนหวาน บอบบาง และเปี่ยมความคิดสร้างสรรค์ ถูกเพื่อนร่วมหอพักแอบอัดวิดีโอด้วยกล้องเว็บแคม ระหว่างเขาร่วมรักกับชายอีกคน เมื่อโลกออนไลน์รับรู้เหตุการณ์นี้ มันเป็นเชื้อไฟให้เกิดการเยาะเย้ยกลั่นแกล้งกันทางไซเบอร์ หลังจากนั้นไม่กี่วัน ไทเลอร์ไปกระโดดสะพานจอร์จ วอชิงตัน ฆ่าตัวตาย เขามีอายุ 18 ปี แม่ของฉันโกรธมากเมื่อได้ฟังสิ่งที่เกิดกับไทเลอร์และครอบครัว เธอรู้สึกเจ็บปวดในแบบที่ฉันเองก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ในที่สุดฉันก็ตระหนักว่า เธอกำลังคลายความเศร้าจากเรื่องราวในปี 1998 กำลังคลายโศกเศร้าจากช่วงเวลาที่เธอต้องมานั่งเฝ้าข้างเตียงฉันทุกคืน กำลังคลายความเศร้าจากช่วงเวลาที่เธอสั่งให้ฉันอาบน้ำไม่ปิดประตู และกำลังคลายเศร้าจากช่วงเวลาที่ทั้งพ่อและแม่กลัวว่าฉันจะถูกทำให้อับอายจนไม่อยากมีชีวิต ทุกวันนี้มีพ่อแม่จำนวนมากที่ไม่มีโอกาสได้ยื่นมือเข้ามาช่วยชีวิตคนที่พวกเขารัก มีพ่อแม่จำนวนมากที่ได้รับรู้ความเจ็บปวดและอับอายของลูกเมื่อสายเกินไปแล้ว การตายอย่างไร้สำนึกและน่าเศร้าของไทเลอร์คือจุดเปลี่ยนในชีวิตของฉัน มันช่วยให้ฉันนำประสบการณ์มาปรับเปลี่ยนบริบทใหม่ ฉันเริ่มมองไปที่โลกของการกลั่นแกล้งและทำให้อับอายรอบตัว และมองเห็นบางอย่างต่างไปจากเดิม ในปี 1998 เราไม่มีทางรู้เลยว่าเทคโนโลยีใหม่ที่อาจหาญอย่างอินเทอร์เน็ตจะพาเราไปเจออะไร นับแต่นั้นมามันเชื่อมผู้คนเข้าหากันได้อย่างคาดไม่ถึง ช่วยให้ญาติพี่น้องที่ห่างหายได้มาเจอกัน ช่วยชีวิตคนมากมาย ทำให้เกิดการปฏิวัติเพื่อสิ่งใหม่ แต่ด้านมืดอย่างการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ และด่าประจานผู้หญิงแบบที่ฉันประสบมาก็เพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ด ทุก ๆ วันบนออนไลน์ ผู้คนโดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่ยังไม่มีพัฒนาการพอในการรับมือกับสิ่งนี้ พวกเขาถูกล่วงละเมิดและกลั่นแกล้งถึงขั้นที่นึกไม่ออกว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปในวันข้างหน้าอย่างไร และน่าเศร้าที่บางคนไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไชล์ดไลน์ (Childline) องค์กรไม่แสวงกำไรในอังกฤษ ที่เน้นช่วยเหลือเด็กวัยรุ่นในประเด็นต่าง ๆ เปิดเผยสถิติที่น่าตกใจเมื่อปลายปีก่อนว่า ตั้งแต่ปี 2012 - 2013 พวกเขาได้รับการร้องเรียนทางโทรศัพท์และอีเมลเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์เพิ่มขึ้น 87 เปอร์เซ็นต์ การวิเคราะห์อภิมาน (meta - analysis) ที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์สามารถนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตายได้มากกว่าการกลั่นแกล้งกัน ‘ออฟไลน์’ อย่างมีนัยยะสำคัญ รู้ไหมสิ่งที่ทำให้ฉันอึ้ง แม้มันไม่ควร คือ ผลการวิจัยอีกชิ้นเมื่อปีที่แล้วที่มองว่า... การถูกทำให้อับอายเป็นความรู้สึกที่คนรับรู้ได้ดีกว่าความสุข หรือแม้แต่ความโกรธ ความทารุณโหดร้ายกับผู้อื่นไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่ออนไลน์ช่วยยกระดับการล้อเลียนด้วยเทคโนโลยีให้ยิ่งแพร่หลาย ไร้การควบคุม และสามารถเข้าถึงได้ถาวร เสียงสะท้อนของการทำให้อับอายเคยขยายไปไกลแค่ในระดับครอบครัว หมู่บ้าน โรงเรียน หรือชุมชน แต่ปัจจุบันมันยังสะท้อนไปในชุมชนออนไลน์ ผู้คนหลายล้านคน บ่อยครั้งไม่เปิดเผยตัวตน สามารถทิ่มแทงคุณด้วยถ้อยคำและนั่นมันทำให้เจ็บปวดมาก มันไม่มีขอบเขตเกี่ยวกับจำนวนผู้คนที่สามารถเข้ามาเฝ้าดูคุณในที่สาธารณะ และนำคุณไปใส่ไว้ในรั้วสาธารณะที่ล้อมไว้ การถูกทำให้อับอายในที่สาธารณะมันมีราคาที่ต้องจ่ายเป็นการส่วนตัว และการเติบโตของอินเทอร์เน็ตทำให้ราคานั้นมันแพงขึ้น นับถึงตอนนี้เกือบ 20 ปีแล้ว เรากำลังค่อย ๆ เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการล้อเลียนและทำให้อับอายต่อสาธารณะบนผืนดินแห่งวัฒนธรรมของเรา ทั้งออนและออฟไลน์ เว็บไซต์ข่าวซุบซิบ ปาปาราซซี่ รายการเรียลิตี้ การเมือง สำนักข่าวและบางครั้งก็เหล่าแฮกเกอร์ ทั้งหมดนี้ล้วนค้าความน่าละอาย มันนำไปสู่การทำให้รู้สึกชินชาและเกิดเป็นพื้นที่แห่งการยอมรับออนไลน์ ซึ่งเปิดทางให้ใช้เป็นที่สร้างความปั่นป่วน รุกล้ำความเป็นส่วนตัว และกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดสิ่งที่ศาสตราจารย์นิโคลัส มิลส์ เรียกว่า ‘วัฒนธรรมชอบทำให้อับอาย’ (culture of humiliation) ลองพิจารณาตัวอย่างที่เด่นชัด 2 - 3 เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาแค่นั้น สแนปแชต (Snapchat) บริการที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่และอ้างว่าข้อความในนั้นมีอายุสั้นแค่ไม่กี่วินาที คุณจินตนาการได้ถึงแนวเนื้อหาที่อยู่ในนั้น แอป ฯ บุคคลที่สาม ซึ่งสแนปแชตใช้เพื่อรักษาอายุขัยของข้อความถูกเจาะและมีบทสนทนาส่วนตัว รูปภาพ รวมถึงวิดีโอรวมกันนับ 100,000 ชิ้น ถูกนำไปเผยแพร่ออนไลน์ ทำให้ตอนนี้อายุขัยของมันคืออยู่ไปตลอดกาล บัญชี iCloud ของเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ และนักแสดงคนอื่น ๆ อีกหลายคนถูกแฮ็ก และบรรดาภาพโป๊เปลือย ภาพลับ และภาพส่วนตัวถูกนำมาเผยแพร่ไปทั่วอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ เว็บไซต์ข่าวซุบซิบแห่งหนึ่งมียอดคลิกมากกว่า 5 ล้านครั้งเพื่อเข้าไปอ่านข่าวนี้ข่าวเดียว แล้วเรื่องโซนี่ พิคเจอร์ส ถูกแฮ็กล่ะ? ข้อมูลที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ อีเมลส่วนตัวที่มีคุณค่าในแง่สร้างความอับอายให้เกิดขึ้นในที่สาธารณะได้มากที่สุด แต่ในวัฒนธรรมชอบทำให้อับอายนี้มันมีป้ายราคาอีกชนิดที่ติดอยู่ ราคาของมันไม่ได้วัดจากความเสียหายที่เกิดกับเหยื่อ ซึ่งไทเลอร์ และคนอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย และสมาชิกชุมชน LGBTQ คือผู้จ่าย แต่ราคาของมันวัดจากกำไรของพวกเขาเหล่านั้นที่เป็นผู้กระทำ การระรานผู้อื่น คือ วัตถุดิบชั้นดีที่ขุดขึ้นมาอย่างมีประสิทธิภาพและไร้ความปราณี นำไปใส่หีบห่อวางขายเพื่อทำกำไร ตลาดซื้อขายเกิดขึ้นมาในที่ ๆ การสร้างความอับอายในที่สาธารณะกลายเป็นสินค้าและความน่าละอายกลายเป็นอุตสาหกรรม เม็ดเงินมาจากไหนเหรอ? ยอดคลิกไง ยิ่งน่าละอายยิ่งได้คลิก ยิ่งได้คลิกก็ยิ่งได้ค่าโฆษณา เราอยู่ในวงจรอันตราย ยิ่งคลิกดูข่าวซุบซิบประเภทนี้เท่าไหร่ เรายิ่งชินชาต่อชีวิตมนุษย์ผู้อยู่เบื้องหลัง และยิ่งเราชินชามากเท่าไหร่ เราจะยิ่งคลิกเข้าไปมากขึ้นเท่านั้น ตลอดช่วงเวลานั้น บางคนกำลังทำเงินอยู่เบื้องหลังความทุกข์ของผู้อื่น ในทุกคลิกเราต้องเลือก ยิ่งเราทำให้วัฒนธรรมการเสียบประจานเกิดการอิ่มตัว มันจะยิ่งได้รับการยอมรับมากขึ้น เราจะยิ่งเห็นพฤติกรรมอย่างการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ การป่วนกัน การแฮ็กข้อมูลบางประเภท ทำไมน่ะเหรอ? นั่นเป็นเพราะแก่นของพวกเขาทั้งหลายคือความอับอาย พฤติกรรมนี้ คือ ลักษณะอาการของวัฒนธรรมที่เราสร้างขึ้นมา ลองคิดกันดู การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเริ่มได้ที่การวิวัฒนาการความเชื่อใหม่ เราเห็นแล้วว่ามันเป็นเรื่องจริงที่เกิดกับลัทธิเหยียดเชื้อชาติ การเกลียดกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ และอคติอื่น ๆ มากมาย ขณะเราเปลี่ยนความเชื่อเกี่ยวกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน มีคนได้รับอิสรภาพที่เท่าเทียมกันเพิ่มขึ้น เมื่อเราเริ่มให้คุณค่ากับความยั่งยืน มีคนเริ่มรีไซเคิลกันมากขึ้น ยิ่งวัฒนธรรมชอบทำให้ขายหน้าเกิดขึ้นยาวนานเท่าใด สิ่งที่เราต้องการคือการปฏิวัติวัฒนธรรม การเสียบประจานที่เป็นเหมือนกีฬาเลือดตกยางออกต้องยุติ และมันถึงเวลาแล้วที่ต้องเข้าไปทำอะไรบางอย่างบนอินเทอร์เน็ตและในวัฒนธรรมของเรา การเปลี่ยนแปลงควรเริ่มจากอะไรที่เรียบง่ายแต่ไม่ใช่ง่าย ๆ เราต้องหันกลับไปสู่ค่านิยมของความเห็นอกเห็นใจที่ยึดถือกันมานาน ความเห็นอกเห็นใจและเข้าอกเข้าใจกัน ในโลกออนไลน์เราเห็นอกเห็นใจกันน้อยมากจนเข้าขั้นวิกฤต นักวิจัยชื่อ เบรเน่ บราวน์ เคยพูดไว้ ฉันขอยกคำนั้นมานั่นคือ ‘ความอับอายไม่สามารถอยู่รอดได้ถ้าเราเห็นอกเห็นใจกัน’ ความอับอายอยู่ไม่ได้ถ้าเราเห็นอกเห็นใจกัน ฉันเคยเผชิญกับวันอันแสนมืดมิดมาในชีวิต แต่มันคือความเห็นอกเห็นใจและความเข้าอกเข้าใจจากครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน และบางครั้งก็มาจากคนแปลกหน้าที่ช่วยชีวิตฉันไว้ ความเห็นอกเห็นใจแม้จะมาจากคนเพียงคนเดียวก็ช่วยสร้างความแตกต่างได้ ทฤษฎีอิทธิพลของคนส่วนน้อยที่นำเสนอโดยนักจิตวิทยาสังคมชื่อ เซิร์จ มอสโควีซี (Serge Moscovici) บอกว่า แม้ในจำนวนน้อยนิด แต่เมื่อเกิดขึ้นถี่ ๆ แบบต่อเนื่อง มันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ บนโลกออนไลน์เราสามารถส่งเสริมอิทธิพลของคนส่วนน้อยได้ด้วยการไม่นิ่งดูดาย การเป็นคนไม่นิ่งดูดายหมายความว่าแทนที่จะนั่งหรือยืนดูเฉย ๆ เราสามารถช่วยโพสต์ความเห็นเชิงบวกของใครบางคน หรือช่วยรายงานสถานการณ์ที่เข้าข่ายข่มขู่คุกคาม เชื่อฉันเถอะ ความเห็นที่เปี่ยมไปด้วยความเห็นอกเห็นใจจะช่วยสยบความเห็นเชิงลบได้ เรายังสามารถตอบโต้วัฒนธรรมนั้นด้วยการสนับสนุนองค์กรที่คอยจัดการกับปัญหาลักษณะเหล่านี้ เช่น มูลนิธิไทเลอร์ คลีเมนตี ในสหรัฐฯ ส่วนสหราชอาณาจักรมีกลุ่ม ‘แอนตี - บูลลีอิง โปร’ และในออสเตรเลียก็ ‘โปรเจกต์ ร็อคกิต’ #เราพูดกันมาเยอะแล้วเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก_แต่เรายังต้องคุยกันอีกมากเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อเสรีภาพในการแสดงออกนั้น เราทุกคนล้วนอยากมีคนรับฟัง แต่จงยอมรับความแตกต่างระหว่างการพูดความในใจออกมากับการพูดเพื่อเรียกร้องความสนใจ อินเทอร์เน็ต คือ ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ของจิตไร้สำนึก แต่โลกออนไลน์ก็แสดงให้เห็นว่าการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นประโยชน์กับทุกคน ช่วยสร้างโลกที่ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้น เราจำเป็นต้องสื่อสารกันออนไลน์ด้วยความเห็นอกเห็นใจ บริโภคข่าวสารด้วยความเข้าอกเข้าใจ และกดคลิกอย่างเข้าอกเข้าใจ ลองนึกภาพว่าถ้าคนในพาดหัวข่าวนั้นเป็นคุณ ฉันขอจบด้วยเรื่องราวส่วนตัว ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คำถามที่ฉันพบบ่อยที่สุดคือคำว่า ‘ทำไม?’ ทำไมต้องตอนนี้? ทำไมฉันต้องออกมาพูดอะไรที่ล่อเป้า? คุณสามารถตีความจากคำถามเหล่านั้นได้ และคำตอบคือไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมือง คำตอบแรกจากอดีตจนปัจจุบันมีประโยคเดียวคือ ‘เพราะมันถึงเวลาแล้ว’ ถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงอดีตที่ผ่านมา ถึงเวลาแล้วที่ต้องหยุดมีชีวิตอยู่กับความอัปยศอดสู และถึงเวลาแล้วที่ต้องเอาเรื่องราวคำบอกเล่าของฉันกลับคืนมา มันไม่ใช่แค่การเซฟตัวเอง แต่ใครก็ตามที่กำลังทุกข์ใจจากความอับอายและถูกทำให้ขายหน้าต่อสาธารณะ คุณต้องรู้ไว้สิ่งหนึ่งว่า คุณสามารถมีชีวิตรอดได้ ฉันรู้ว่ามันยาก ความเจ็บปวดมันอาจไม่หายไปโดยเร็วหรือง่ายดาย แต่คุณสามารถยืนหยัดเพื่อให้เรื่องราวจบในแบบที่แตกต่าง จงเห็นอกเห็นใจตัวเอง เราทุกคนล้วนสมควรได้รับความเห็นอกเห็นใจและควรมีชีวิตทั้งออนไลน์และออฟไลน์ในโลกที่มีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ขอบคุณที่รับฟังค่ะ” ข้อมูลอ้างอิง : https://www.ted.com/talks/monica_lewinsky_the_price_of_shame