สงคราม ความขัดแย้ง กับหนทางสู่ทางตันจาก ‘ความเกลียดชัง’

สงคราม ความขัดแย้ง กับหนทางสู่ทางตันจาก ‘ความเกลียดชัง’

ในวันที่ ‘ความขัดแย้ง’ พัฒนาไปสู่ ‘สงคราม’ และ ‘ความเกลียดชัง’ สิ่งนี้จะนำพาสังคมไปสู่ทางออกที่แก้ไขปัญหาในระยะยาวหรือทางตันที่จะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น?

KEY

POINTS

 

War… War never changes.

 

สงคราม… สงครามไม่เคยเปลี่ยนอะไรเลย” คือถ้อยคำสำคัญที่ทำหน้าที่เป็นแกนหลักของเกมชุด ‘Fallout’ ที่มีบริบทเป็นโลกยุคหลังสงครามนิวเคลียร์ที่ได้กวาดล้างอารยธรรมมนุษย์และเปลี่ยนโลกทั้งใบเป็น ‘โลกหลังหายนะ’ (Post-Apocalypse) ว่ามันได้มีหน้าตาเป็นแบบไหน ในวันที่มนุษย์ไม่เหลือพื้นที่ในการประนีประนอมที่จะอยู่ร่วมกัน 

ชุดคำถามใน ‘Blowin’ in the Wind’ ของ ‘บ็อบ ดีแลน’ (Bob Dylan) ที่ชวนผู้ฟังคิดถึงจำนวนครั้งของซากปรักหักพังของสงครามที่ฝากร่องรอยเอาไว้บนหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติกับความสามารถในการเรียนรู้บทเรียนจากอดีต หรือ ‘Gimme Shelter’ คือผลงานที่ ‘The Rolling Stones’ บรรยากาศของยุคสมัยที่คละคลุ้งไปด้วยสงครามและความรุนแรง รวมไปถึง ‘ที่พักพิง’ (Shelter) ของบรรดาประชาชนที่ต้องได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือแม้แต่ที่พักพิงในนิยามของจิตใจเยาวชนที่ต้องเติบโตขึ้นมากับบรรยากาศความขัดแย้งของมวลมนุษย์

ภาพยนตร์สัญชาติโซเวียต ‘Come and See’ (1985) โดย ‘เอเล็ม คลีมอฟ’ (Elem Klimov) ถูกจดจำในฐานะหนึ่งในภาพยนตร์ที่สยองขวัญที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ว่ามันเต็มด้วยจังหวะที่ตกใจหรือปีศาจร้ายรูปลักษณ์สยองขวัญ แต่เป็น ‘ความดิบ’ ของสภาวะสงครามที่เยอรมนีได้รุกรานพื้นที่ของสหภาพโซเวียตจนกลายเป็นความโหดร้ายที่มนุษย์สามารถจะกระทำต่อกัน แม้แต่อนิเมชั่นเลือดอาทิตย์อุทัย ‘Grave of the Fireflies’ (1988) ก็ยังถูกจดจำในฐานะภาพยนตร์จากสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ที่ชวนหดหู่ที่สุด เพราะมันได้สะท้อนว่าผลกระทบสามารถแผ่ผลกระทบไปหาประชาชนธรรมดาอย่างไรได้บ้าง อีกทั้งมันยังช่วยตอกย้ำว่าแทบไม่มีปฏิหารย์ใด ๆ ในสถานการณ์แบบนั้น

ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นภาพสะท้อนของประสบการณ์และสำนึกของมนุษย์ ที่มองย้อนกลับไปในบทเรียนของสงครามครั้งแล้วครั้งเล่า และเลือกที่จะถ่ายทอดออกมาผ่านรูปแบบต่าง ๆ จะเรียกว่าสงครามเป็นหนึ่งในสิ่งที่คุ้นเคยกับอารยธรรมมนุษย์ที่สุดก็ว่าได้ เพราะมันเกิดขึ้นมาโดยตลอด ทว่าในขณะเดียวกัน ก็สามารถถูกมองได้ว่าสงครามแทบจะไม่เคยนำไปสู่ทางออกที่จะกลายเป็นข้อสรุประยะยาวของสังคมได้เลย เพราะไม่ว่าจะเป็นต้นทุนหรือการสูญเสีย ก็ล้วนกลายร่างเป็นบาดแผลในประวัติศาสตร์ที่ยากจะลบออกไป โดยเฉพาะซากปรักหักพังของทั้งสองฝ่ายที่อาจทิ้งร่องรอยเอาไว้ในฐานะ ‘ความเกลียดชัง

สงครามนับว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายแล้ว แต่แผลเป็นของมันในคราบของความเกลียดชังอาจเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสองประเทศ (หรือมากกว่า) โดยเฉพาะกับประเทศที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนผืนแผ่นดินใกล้เคียงกัน ในระยะยาวที่เลวร้ายกว่าหลายเท่าตัว 

มีประชาชนผู้บริสุทธิ์มากมาย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณที่เกิดการปะทะ กลายเป็นเหยื่อของสงคราม นอกจากนั้นก็มีประชาชนอีกมากมาย ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ ณ บริเวณใกล้เคียงกับการปะทะหรือไม่ ตกเป็นเหยื่อของความเกลียดชัง ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเก่า แต่ยังลดทอนความเห็นอกเห็นใจระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือแม้แต่ทำให้ความขัดแย้งฝังรากลึกและถูกส่งต่อไปถึงอนาคตข้างหน้า

เรื่องเล่า’ (Narrative) นับไปสิ่งที่ทรงพลังต่อความคิดของผู้คนในสังคม ดังที่เราเคยกล่าวถึงในบทความก่อนหน้า (The Hidden Dilemma - ดาบสองคมของ ‘ชาตินิยม’ ความเชื่อที่รวมมนุษย์เป็นหนึ่งและกับดักเพื่อผลประโยชน์ในอำนาจ) ความเกลียดชังเองก็สามารถมีต้นตอมาจากเรื่องเล่าเหล่านี้ ที่ไม่เพียงทำหน้าที่เป็นบ่อกำเนิด แต่ยังสามารถทำให้ความเกลียดชังเหล่านี้เข้มข้นขึ้นได้

ความขัดแย้งย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในสังคมของมนุษย์ แต่ในโลกปัจจุบัน สื่อสารมวลชน ผู้มีอิทธพลทางความคิด หรือแม้แต่รัฐ ต้องทำอย่างไรบ้างในการดูแล ‘เรื่องเล่า’ จากความขัดแย้งนี้ทำงานในแบบที่เกิดผลกระทบเชิงลบกับประเทศน้อยที่สุด กล่าวคือ พวกเขาสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ไม่ให้ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ยกระดับกลายเป็นความเกลียดชังที่อาจฝังรากลึกและสร้างผลกระทบระยะยาว

เพราะหากไม่สามารถดูแลเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งได้ ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งที่มีต่อฝั่งตรงข้ามอาจนำไปสู่การที่ความเกลียดชังจะถูกฝังรากลึกจนกลายเป็นสำนึกหรือสถาบันทางความคิดของประชาชนภายในประเทศ ซึ่งคำถามที่น่าสนใจที่ตามมาคือ เมื่อความเกลียดชังได้ฝังรากลึกลงไปในสำนึกของผู้คนแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น?

อาจจำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปที่คำถามว่าเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคืออะไร? อาจจะเป็นทวงคืนความยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือการจัดสรรผลประโยชน์ให้มีการลงตัวและมีข้อตกลงร่วมให้มากที่สุด — นั่นคือวิธีการมองปลายทางความขัดแย้งผ่านกรอบที่เป็นกลางที่สุด

ทว่าหากสังคมมองความขัดแย้งผ่านความเกลียดชังเป็นสำคัญ อาจเป็นไปได้ว่าเป้าหมายของสังคมในการคลี่คลายปัญหานั้น ๆ อาจไม่ได้เป็นการกลับคืนสู่สถานะ ‘เป็นกลาง’ หรือ ‘ยุติธรรม’ ระหว่างสองฝ่าย อีกต่อไป แต่อาจเป็นการ เอาคืน สั่งสอน กำราบ ยึดครอง หรือแม้แต่กำจัด ฝั่งตรงข้ามออกไปจากสมการของความขัดแย้ง — คำถามที่สำคัญคือ นั่นคือ ‘ทางออก’ หรือ ‘ทางตัน’ กันแน่?

เหตุเพราะการมองการแก้ไขปัญหาผ่านกรอบความเกลียดชังอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม เพราะเมื่อเป้าหมายไม่ใช่การจัดสรรผลประโยชน์ที่ยุติธรรมที่สุด แต่เป็นการเอาคืน ต่างฝ่ายอาจใช้กรอบดังกล่าวในการแก้ไขปัญหา จนกลายวัฏจักรการต่อกรกันไปมา มากกว่าการหาทางออกที่แท้จริงของสถานการณ์ความขัดแย้ง

และไม่ว่าจะเป็นสงครามหรือความขัดแย้งรูปแบบใดย่อมไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองสังคม เพราะจะทำให้การดำเนินการต่าง ๆ ขยับไปแบบไม่มีประสิทธิภาพ เพราะต้องเจียดทรัพยากรมาลงกับการเอาคืนกันไปมา การจัดสรรทรัพยากรภายในประเทศจึงไม่ใช่เพื่อความก้าวหน้าหรือความอยู่ดีเป็นสำคัญ แต่เป็นการเตรียมการที่จะชกหมัดต่อไปกับฝั่งตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งจากความเกลียดชังจากกรณีของ ปาเลนสไตน์-อิสราเอล อินเดีย-ปากีสถาน หรือแม้แต่ความขัดแย้งในอดีตระหว่างสหราชอาณาจักรกับไอร์แลนด์ ก็ล้วนเป็นภาพแทนของวังวนความขัดแย้งที่อาจไม่ให้ประโยชน์กับฝั่งใดเลย

นอกจากระดับมหภาคแล้ว เมื่อความขัดแย้งฝังรากลึกจนกลายเป็นสำนึกของสังคม โศกนาฏกรรม ‘การล่าแม่มด’ (Witch Hunt) อาจหวนกลับมาทักทายสังคมสมัยใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของความเกลียดชังที่ปักธงอยู่เหนือ ‘สติ’ หรือ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ (Empathy) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากสงครามแล้ว การล่าแม่มดคือความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับผู้บริสุทธิ์เพียงเพราะพวกเขาเป็นภาพแทนของศัตรูในอุดมคติของผู้คน

สังคมที่ความโหดร้ายสามารถประดังประเดเข้ามาใส่ผู้บริสุทธิ์เพียงเพราะตัวของเขาบรรจุภาพแทนของความเกลียดชังยังเป็นสภาพแวดล้อมที่น่าปราถนาอยู่หรือเปล่า เมื่อการตัดสินไม่ได้ตั้งอยู่บนการกระทำของปัจเจกชน แต่เป็นภาพจำร่วมของสังคมบางกลุ่มที่จะเหมารวมใครสักคนโดยที่เขาอาจจะไม่รู้ตัว — หรือแม้แต่รู้ตัวก็ไม่อาจปฏิเสธอัตลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับภาพจำร่วมที่ว่าได้

นอกจากนั้นแล้ว ความเกลียดชังที่ฝังรากลึกก็เปรียบเหมือนเหล็กร้อนที่พร้อมถูกตีให้บิดรูปร่างไปตามเจตจำนงของผู้มีอิทธิพลทางความคิดหรือแม้แต่เป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในภาวะห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber) ที่ต่างฝ่ายต่างสุมไฟความเกลียดชังให้กันและกัน สิ่งนี้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อยู่เสมอ และมีชีวิตนับล้านที่ต้องถูกสังเวยไปจากความเกลียดชังจากเรื่องเล่าที่ไม่ถูกควบคุม และความเกลียดชังที่ถูกบงการและแปรเปลี่ยนเป็นอาวุธ

ทางออกของการขัดแย้งหาใช่การยืนนิ่งด้วยความอดทนแบบหินผา แต่เป็นการเลือกสรรวิธีคลี่คลายความขัดแย้งหรือแก้ไขกับปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวที่สุด ไม่ใช่ว่าการลุกล้ำอาณาเขตหรือการถูกเอารัดเอาเปรียบเป็นสิ่งที่ยอมได้ แต่การทวงคืนความยุติธรรมด้วยวิธีไหน ที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าทางความคิดและการอยู่เหนือกว่าของสังคมนั้น ๆ ให้มากที่สุด? 

คงไม่สามารถบังคับสังคมใดให้มีสำนึกที่ก้าวหน้าและคำนึงถึง ‘หลักมนุษยธรรม’ ได้ เพียงแต่เมื่อสังคมของเราได้รับผลกระทบจากแนวคิดที่ล้าหลัง เราจะมีวิธีการตอบกลับและทวงคืนความยุติธรรมแบบใดโดยที่ไม่ต้องลดตัวลงไปชกในระดับเดียวกันกับต้นตอของความขัดแย้งเหล่านั้น เพื่อพิสูจน์ความแข็งแกร่งทางความคิดและยึดมั่นสำนึกที่มีมนุษยธรรมของผู้คนในสังคม 

และเพื่อพาประเทศไปสู่ทางออกของความขัดแย้ง ไม่ใช่ทางตันที่จะกัดกินพัฒนาการของสังคมในห้วงเวลาต่อไปในอนาคต…