09 ก.ค. 2568 | 17:30 น.
“คุณจะไม่มีวันผิดหวังกับสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน”
ภายหลังจากที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่สอง ทั้งโลกก็ปั่นป่วน โดยเฉพาะในมิติของการค้าระหว่างประเทศที่สหรัฐอเมริกาได้ออกนโยบายกำแพงภาษี (Tariff) — ที่เราน่าจะคุ้นชินกันในปัจจุบันนี้ในนามกำแพงภาษีทรัมป์ (Trump's Tariffs) — เพื่อทวงคืนความยุติธรรมทางการค้าของสหรัฐอเมริกาที่มีการขาดดุลกับประเทศอื่น ๆ มาเป็นระยะเวลายาวนั้น
จากแนวคิดแบบ ‘อเมริกันเฟิสต์’ (American First) ทรัมป์เชื่อว่าการที่สหรัฐอเมริกานำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นมากกว่าส่งออก ถือเป็นการที่ประเทศเสียผลประโยชน์จากการที่สินค้าต่างชาติเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ของสินค้าสัญชาติอเมริกัน รวมไปถึงโอกาสทางการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศด้วย
เดิมทีการค้ามักถูกมองว่าเป็นการแลกเปลี่ยนในแบบที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แม้จะมีการไม่สมดุลกันบ้าง ตั้งแต่จากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกที่สุดจาก ‘เดวิด ริคาร์โด’ (David Ricardo) ผู้เสนอ ‘ทฤษฎีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ’ (Theory of Comparative Advantage) ที่จะทำให้เราเห็นถึงผลประโยชน์ที่ทุกคนจะได้รับจากการผลิตสิ่งที่ตนเองถนัดและหยิบยื่นค้าขายให้กัน ไปจนถึงกฎการค้าจาก ‘องค์การการค้าโลก’ (World Trade Organization) ที่สนับสนุนการค้าเสรีที่ทุกคนที่เข้าร่วมจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นการมองการค้าระหว่างประเทศแบบ ‘Positive-Sum Game’
ทว่าสำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ มองว่าโลกใบนี้คือ ‘Zero-Sum Game’ ซึ่งหมายความว่าหากเกมนี้มีผู้ได้ประโยชน์ ก็ต้องมีผู้เสียประโยชน์ และการที่การค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกากำลังขาดดุล นั่นคือการที่ประเทศของเขากำลังเสียประโยชน์ให้กับการค้าเสรีนี้
เหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ได้ประกอบกันจนกลายเป็นความเชื่อในแบบของทรัมป์ที่จะทวงคืนชัยชนะและความยิ่งใหญ่กลับคืนสู่ดินแดนแห่งโอกาสอีกครั้ง และอาจเป็นการสำแดงความแข็งแกร่งของทำเนียบขาวเมื่อบุคคลที่นั่งอยู่บนเก้าอี้มีนามว่า โดนัลด์ เจ. ทรัมป์
สำหรับประเทศไทยเอง ก็ต้องเผชิญหน้ากับกำแพงภาษีส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกากว่า 36 เปอร์เซ็นต์ แม้จะผ่านการเจรจาต่อรองในกรอบเวลา 90 วันมาแล้วก็ตาม ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ก็ทยอยกันปรับตัวหรือบ้างก็โต้ตอบกับนโยบายกำแพงภาษีครั้งนี้จนกลายเป็นอัตราภาษีที่แตกต่างกันไป
ในขณะที่สหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังตอกย้ำกับโลกใบนี้ถึงความยิ่งใหญ่และอิทธิพลในตลาดของพวกเขา ผ่านการไล่เช็คบิลบรรดาสัมพันธ์การค้าที่สหรัฐกำลัง ‘ขาดดุล’ (Deficit) ด้วย แต่การต่อกรกับความอยุติธรรมผ่านกรอบ Zero-Sum Game แบบทรัมป์ ที่ทั้งมุ่งหวังที่จะเห็นการโค้งคำนับทางการค้าจากประเทศต่าง ๆ หรือแม้แต่สัมปทานที่สหรัฐอเมริกาจะได้รับ — ที่บ้างก็อาจนิยามได้ว่าเหมือนกับ ‘ระบบบรรณาการ’ (Tributary System) ในสมัยอาณาจักรจีนโบราณ — อาจมาพร้อมกับผลกระทบภายในประเทศของพวกเขาเองอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
คอลัมน์ The Hidden Dilemma สัปดาห์นี้จะชวนไปสำรวจผลกระทบของกำแพงภาษีทรัมป์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ ไปจนถึงบริบทและระเบียบการค้าโลกที่อาจเปลี่ยนแปรไปจากความผันผวนในครั้งนี้ ตั้งแต่ราคาสินค้าในสหรัฐอเมริกาที่อาจขยับตัวขึ้น ไปจนถึงบริบทการค้าโลกกับ ‘ภาวะโลกาภิวัฒน์ถดถอย’ (Deglobalization) ในสหรัฐอเมริกาที่อาจทำให้ประเทศอื่น ๆ มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นขึ้นกว่าก่อน และต่างพากันถอยห่างจากสหรัฐเสียเอง
หรือนี่อาจเป็นต้นทุนของการเป็น ‘คนแกร่ง’ ในแบบฉบับของสหรัฐอเมริกาในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์?
“งานและโรงงานจะหวนคืนสู่แผ่นดินอเมริกาอย่างคึกคัก และเมื่อเราผลิตเองได้มากขึ้น จะเกิดการแข่งขันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และผู้บริโภคก็จะได้ประโยชน์จากราคาที่ลดลง”
— โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวในวันที่ 2 เมษายน 2568
เมื่อสหรัฐตั้งกำแพงภาษีนำเข้า สินค้าที่เดินทางเข้ามาย่อมมีราคาที่สูงขึ้น และแข็งขันได้ยากขึ้นกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ สิ่งนี้จะจูงใจให้บรรดาโรงงานที่ตั้งอยู่ ณ ต่างแดนกลับมาที่สหรัฐอเมริกา ไม่เพียงเท่านั้น ก็จะทำให้ตำแหน่งอาชีพและการจ้างงานงอกเงยขึ้นภายในประเทศ ทำให้อเมริกาสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ช่วยให้ประชากรอเมริกันกลับมามีความเป็นอยู่ที่ดีอีกครั้ง
ทว่าผลพวงอย่างแรกอย่างปฏิเสธไม่ได้คือการที่ราคาบรรดาข้าวของในสหรัฐอเมริกาจะขยับตัวขึ้นอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตเกษตรกรรมจำพวกกล้วยหรือกาแฟที่นำเข้ามาจากประเทศลาตินอเมริกา ไวน์จากยุโรปหรือไอโฟนจากเวียดนามและจีนที่มีแนวโน้มจะแพงขึ้นกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เสื้อผ้าอเมริกันกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ก็ผลิตจากเวียดนามและบังกลาเทศก็ต้องแพงขึ้นตามกันไป
แม้แต่บริษัทผลิตเครื่องเล่นเกม (Video Game Consoles) ในญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่จะขึ้นราคาสินค้าเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับกำแพงภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจากเดิมที่ราคาเครื่องละ 400 เหรียญสหรัฐ ก็อาจขยับขึ้นเป็น 500 เหรียญ จากกำแพงภาษี 24 เปอร์เซ็นต์ที่สหรัฐฯ ตั้งกับญี่ปุ่น ซึ่งในปัจจุบันก็ได้ขยับเป็น 25 เปอร์เซ็นต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แม้ว่าจะมีมาตรการผ่อนปรนต่าง ๆ ตั้งแต่งดเว้นภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศในสัญญา USMCA (สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และแคนาดา) หรือ แม้แต่นโยบายค่าชดเชยภาษีมูลค่า 3.75 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายปลีก อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ โดนัลด์ ทรัมป์ คาดหวังในการเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวอเมริกัน ก็อาจได้รับผลกระทบในแง่ของต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้จะมีมาตรการลดทอนแรงกระแทกและผลรายงานว่าผู้ประชากรอเมริกันเกินครึ่งบริโภครถยนต์ที่ประกอบภายในประเทศ แต่เมื่อผสานเข้ากับภาษีนำเข้าโลหะและอะลูมิเนียม ก็อาจทำให้รถยนต์มีแนวโน้มขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ หรืออ้างอิงจากการคาดการณ์ของ ธนาคาร Bank of America เมื่อเดือนเมษายนที่ประเมินว่า รถยนต์ที่ประกอบในสหรัฐฯ จะมีราคาสูงขึ้นราว 3,285 เหรียญต่อคัน ส่วน โกลด์แมน แซคส์ ก็ประเมินว่า รถยนต์ที่ประกอบจากต่างประเทศ อาจมีราคาขยับสูงขึ้นถึง 5,000 ถึง 15,000 เหรียญ
หากว่านโยบายกำแพงภาษียังดำเนินไปด้วยทิศทางทำนองนี้ ก็อาจเป็นไปตามการคาดการณ์ของ Yale Budget Lab ว่าต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของแต่ละครัวเรือนในสหรัฐอเมริกาจะขยับขึ้นราว 2,300 เหรียญสหรัฐ ซึ่งหากตีเป็นเงินไทยก็เป็นมูลค่ากว่า 75,000 บาท โดยในปัจจุบันนี้ New York Post ก็ได้รายงานความรู้สึก
นอกจากผู้บริโภคแล้ว ผู้ผลิตเองก็คือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นราคาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบต่าง ๆ ที่มีต้นทุนที่สูงขึ้น รวมไปถึงการตกลงทางธุรกิจกับห่วงโซ่อุปทานทั้งจากความไม่แน่นอนของนโยบายหรือแม้แต่ข้อจำกัดที่เปลี่ยนไป และความผันผวนไม่แน่นอนนี้ก็ส่งผลต่อการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ เพราะปรากฎการณ์นี้ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะชะลอการตัดสินใจเพื่อคอยดูสถานการณ์ไปก่อน นอกจากนั้น เมื่อต้นทุนของการดำเนินธุรกิจขยับสูงขึ้น ก็อาจนำไปสู่การชะลอแผนการขยายตัวของธุรกิจ หรือแม้แต่แผนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งท้ายที่สุดก็อาจมีผลกระทบเหล่านี้เล็ดลอดไปถึงแรงงานชาวอเมริกันอยู่ดี ทั้งในด้านของค่าแรงหรือสวัสดิการ
นอกจากผลกระทบภายในประเทศแล้ว สหรัฐฯ ยังได้รับผลกระทบจากปฏิกิริยาจากนานาชาติอีกด้วย โดยเฉพาะนโยบายตอบโต้ (Retaliation Policy) จากภาคเอกชน หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ‘การบอยคอต’ (Boycott) อาทิเช่น ร้านค้าปลีกในแคนาดาที่โละสินค้าอเมริกันออกจากเชลฟ์เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนการต่อต้านนโยบายภาษีของรัฐบาลทรัมป์ รวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ที่มีการตอบโต้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป
ทรัมป์มองว่าสภาวะขาดดุลทางการค้าคือความเสียเปรียบของสหรัฐฯ จากกำแพงภาษีคู่ค้าจากบรรดาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ไม่เป็นธรรม แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การขาดดุลทางการค้าก็อาจเกิดจากการที่ประชากรของสหรัฐอเมริกามีทั้งอุปสงค์และรายได้ต่อหัวที่มากกว่า จึงทำให้พวกเขาต้องการและสามารถจับจ่ายซื้อของจากต่างชาติมากกว่าที่ชาตินั้น ๆ ซื้อของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ถึงสหรัฐอเมริกาในฐานะตลาดที่เป็นศูนย์รวมสำคัญของผู้บริโภคที่ใคร ๆ ก็วิ่งเข้าหา
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ก็ดูจะตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ดี ว่าสหรัฐอเมริกาคือตลาดสำคัญของโลก ทว่าตัวเขาเองก็ดูพยายามจะพิสูจน์ ‘ความแข็งแกร่ง’ ที่ว่า ให้ทั้งโลกและโดยเฉพาะประชากรชาวอเมริกันได้รับรู้ ด้วยมาตรการที่เปรียบเสมือนการกระชากคอเสื้อทุกประเทศมาเจรจาพูดคุยเพื่อรีดเค้นผลประโยชน์จากความเป็นผู้นำและแกร่งกล้าของตัวเองเสียอย่างนั้น
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเศรษฐกิจที่ต้องสร้างผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุดจากสถานะทางการค้าโลก หรือเหตุผลทางการเมืองที่พยายามจะสำแดงความแกร่งกล้าของรัฐบาลตนเองที่สามารถทวงคืนความรุ่งโรจน์ให้สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง อาจต้องแลกมาด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ถดถอยจากการรีดเค้นจนแห้งขอด หรือแม้แต่บริบททางการค้าที่อาจกลายเป็นปฐมบทของการเปลี่ยนแปลง
ในอีกนัยหนึ่ง ที่สะท้อนผ่านการดำเนินมาตรการกำแพงภาษี คือมุมมองของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่เห็นว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้ต้องการใคร แต่เป็นนานาประเทศเสียมากกว่าที่ต้องการพวกเขา ซึ่งเป็นแนวคิดที่สวนทางกับบทบาทของสหรัฐในการสนับสนุนกระแส ‘โลกาภิวัฒน์’ (Globalization) ให้แผ่กระจายและแข็งแรง โดยเฉพาะบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง IMF, World Bank หรือแม้แต่ WHO
ทว่าความพยายามจะเป็นลัทธิโดดเดี่ยว (Isolationist) และลัทธิคุ้มครองทางการค้า (Protectionist) อาจเป็นลดทอนสถานะความเป็นพี่ใหญ่ของโลกนี้ก็เป็นได้ เพราะการรีดนาทาเร้นประเทศคู่ค้าอาจนำไปสู่ภาวะโลกาภิวัฒน์ถดถอย (Deglobalization) ภายในสหรัฐอเมริกา และเสริมสร้างโลกาภิวัฒน์เฉพาะกลุ่ม (Intensive Globalisation) หรือความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีแทน
จะเห็นได้ว่ากำแพงภาษีทำให้นานาประเทศต่างก็พากันบอยคอตและชะลอการลงทุนในสหรัฐอเมริกา สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงสั่นสะเทือนการค้าโลกทั้งใบ แต่รวมไปถึงบทบาทของสหรัฐในฐานะสมอกลางที่ถ่วงความสมดุลของเศรษฐกิจโลก ฉะนั้นเมื่อสหรัฐฯ สูญเสียสถานะดังกล่าว ก็เป็นไปได้ว่าทั้งประเทศแลนักลงทุนอาจจะหันไปหาทางเลือกที่เสถียรกว่าหรือมีผลตอบแทนที่ดีกว่า
กรณีศึกษาอย่าง ‘ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก’ (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือ ‘CPTPP’ ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกที่เป็นเวอร์ชั่นต่อมาของ ‘TPP’ (Trans-Pacific Partnership) หลังจากที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไปจากข้อตกลงในช่วงของรัฐบาลทรัมป์ในปี 2017
ผนวกเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ อาจทำให้บรรดาที่ได้รับผลกระทบจับมือกันแน่นขึ้นกว่าเดิม ดังที่สะท้อนผ่าน ‘อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน’ (Ursula von der Leyen) ประธานคณะกรรมาธิการ EU ที่ได้กล่าวถึงความพยายามในการเสริมสร้างโครงสร้างของ CPTPP หรือความพยายามในการสานสัมพันธ์ทางการค้ากับภูมิภาคเอเชีย เพื่อเป็นการปกป้องระบบการค้าพหุภาคี รวมไปถึงสร้างทางเลือกใหม่จากพี่ใหญ่คนเดิมอีกด้วย
หนึ่งในคู่ปรับตัวฉกาลของสหรัฐฯ เองอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนก็พยายามสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งโดยไม่พึงพิงตลาดของสหรัฐอเมริกาอยู่เช่นเดียวกัน กับการผลักดัน ‘RCEP’ หรือ ‘ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค’ (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งก็มีจุดมุ่งหมายคล้ายกับ CPTPP แต่เป็นการผสานกำลังการค้ากันในภูมิภาคเอเชีย
กลายเป็นว่านโยบายการกำแพงภาษีของทรัมป์ ที่โดยพื้นผิวอาจจะทำให้ประเทศต่าง ๆ ตื่นตัวและพยายามตอบรับกับข้อตกลง หรือแม้แต่โต้กลับกับมาตรการดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกัน มันก็จูงใจให้บรรดาประเทศต่าง ๆ สร้างรากฐานและสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแรงระหว่างกันและกัน นอกจากนั้นยังบริบทที่ว่านี้อาจเป็นปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้เกิด ‘พี่ใหญ่คนใหม่’ ที่อาจก้าวขึ้นมายืนเทียบเคียงกับสหรัฐอเมริกาในสังเวียนการค้าโลก
การสร้างกำแพงจากมาตรการของ โดนัลด์ ทรัมป์ สั่นสะเทือนตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ สหรัฐอเมริกาอาจกำลังตามเช็คบิลผลประโยชน์ที่รัฐบาลของพวกเขามองว่าสมควรจะได้รับ แต่ในขณะเดียวกัน ต้นทุนแฝงเร้นของการสำแดงว่าตนเป็น ‘คนแกร่ง’ ที่อยู่ได้ด้วยตนเอง อาจมาพร้อมต้นทุนที่ต้องจ่ายในระยะยาว ไม่ว่าสถานะของสหรัฐอเมริกาในบริบทการค้าโลก หรือแม้แต่ระเบียบโลกที่อาจเปลี่ยนไป
ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังสร้างกำแพงเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา บรรดาประเทศอื่น ๆ ก็อาจกำลังพยายามสร้างสะพานเพื่อสานสัมพันธ์ที่แข็งแรงระหว่างกัน
อ้างอิง
The New York Times. Trump’s zero-sum worldview takes center stage.
Business Insider. Tariffs won’t bring manufacturing jobs back, Wells Fargo analysts say.
Center for American Progress. Trump’s trade war is a major economic and strategic blunder.
The New York Times. Here Are Trump’s New Tariff Threats
Axios. The paradox of Trump's tariff policy
BBC News. Trump eases car tariffs after firms raised concerns
Financial Times. Are we rallying, or overcorrecting?
Global News. U.S. companies say Canadian retailers are turning away products
Council on Foreign Relations. What is the Trans-Pacific Partnership (TPP)?
Reuters. EU's Pacific alliance would not replace WTO, EU officials say.