Speak No Evil: ภาพยนตร์สยองที่เขย่าขวัญด้วยภัยร้ายของ ‘ความเกรงใจ’

Speak No Evil: ภาพยนตร์สยองที่เขย่าขวัญด้วยภัยร้ายของ ‘ความเกรงใจ’

เมื่อวันพักร้อนของครอบครัวไม่เป็นดังฝัน เมื่อความสุภาพเป็นมิตรของเจ้าบ้านเปลี่ยนเป็นความประหลาด ฝันร้ายที่หนีไม่พ้นจึงเกิดขึ้นใน ‘Speak No Evil’ (พักร้อนซ่อนตาย) ภาพยนตร์จากค่าย Night Edge Pictures ที่จะมาเขย่าขวัญพร้อมทั้งบอกผู้ชมว่า ‘บางครั้ง หยาบคายบ้างก็ได้’

ถือเป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่จะติดตรึงอยู่ในความทรงจำหลายคนไปอีกสักพักหนึ่งกับ ‘Speak No Evil พักร้อนซ่อนตาย’ โดยผู้กำกับชาวเดนมาร์กนามว่า ‘คริสเตียน ทาฟดรูป’ (Christian Tafdrup) อีกหนึ่งความสยองขวัญที่คัดสรรจาก Night Edge Pictures ที่เล่าเรื่องราวของครอบครัวพ่อ-แม่-ลูก จากประเทศเดนมาร์กที่ตัดสินใจเดินทางไปพักร้อนที่บ้านของครอบครัวชาวดัทช์ที่พบเจอกันระหว่างไปเที่ยว

แม้จะเคยเจอกันไม่นาน แต่ท้ายที่สุดแล้วครอบครัวชาวเดนมาร์กก็ตัดสินใจที่จะเดินทางไปพักร้อนที่บ้านของคนแปลกหน้าที่ดูท่าทางเป็นมิตรและสุภาพ ณ บ้านในชนบท มองไปรอบกายมีแต่ธรรมชาติและพื้นที่โล่ง ไร้ซึ่งผู้คน

และเมื่อได้ไปอยู่จริง ๆ ความประหลาดจากเจ้าบ้านก็เริ่มปรากฎขึ้นและมันจะนำไปสู่ความสยดสยองที่ใครก็คงคาดไม่ถึง… 

ถือเป็นหนังสยองขวัญแบบสโลว์เบิร์น (Slow-Burn) ที่มีความพิเศษไม่น้อย ทั้งเรื่องเราจะไม่ได้เห็นฉากจัมพ์สแกร์แม้แต่ครั้งเดียว มีเพียงความกดดันและบรรยากาศกระอักกระอ่วนที่ค่อย ๆ บีบคั้นผู้ชมและตัวละครไปเรื่อย ๆ อย่างน่าอึดอัดและทรมาน เปรียบดั่งไฟที่ค่อย ๆ เร่งความร้อนและแผดเผาผู้ชมไปเรื่อย ๆ และท้ายที่สุดมันก็จะนำเราไปสู่บทสรุปสุดช็อคที่คงไม่มีใครคาดถึง...

/ เนื้อหาต่อไปนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Speak No Evil /

 

เคยเป็นหรือไม่?

ไม่ชอบแต่ไม่กล้าบอกเพราะกลัวจะหยาบคาย

ไม่พอใจแต่ไม่กล้าพูดเพราะกลัวเสียบรรยากาศ

ไม่อยากทำแต่ไม่กล้าปฏิเสธเพราะกลัวจะไม่สุภาพ

ไม่เห็นด้วยแต่ไม่กล้าจะเอ่ยแย้งเพราะเกรงใจ

เชื่อว่าใครหลายคนต้องมีสักครั้ง (หรือหลายครั้ง) ในชีวิตก็ต้องเคยเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะในสังคมไทยที่ปลูกฝังค่านิยมเรื่อง ‘ความเกรงใจ’ จนแทบจะเป็นคุณลักษณะที่แทบจะถูกติดตั้งมาแบบ default แม้ภายในใจไม่เห็นด้วยที่จะต้องกระทำ ตอบตกลง หรือยอมรับ แต่ขนบของความสุภาพเกรงใจกลับกักขังไม่ให้เรายืนหยัดปกป้องตัวเองด้วยคำปฏิเสธ

ก่อนอื่น เราไม่ได้หมายความว่าความสุภาพและเกรงใจเป็นเรื่องไม่ดี หากปราศจากมัน สังคมที่มนุษย์อาศัยอยู่อาจจะเป็นสถานที่ที่เย็นชาและเลวร้ายกว่านี้หลายเท่า การมีอยู่ของความเกรงใจทำให้ความเห็นแก่ตัวที่มีต่อเพื่อนมนุษย์นั้นลดน้อยลง และทำให้แต่ละคนพยายามเข้าใจคนอื่นมากขึ้น

แต่ระดับความสุภาพเกรงใจก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นพิษได้หากปริมาณของมันนั้นมากเกินไป มันอาจจะเป็นสิ่งที่เปิดช่องโหว่ให้ผู้อื่นเอาเปรียบหรือกอบโกยประโยชน์ได้โดยง่าย บางครั้งเราไม่พอใจกับสิ่งที่อีกหนึ่งคนกระทำตรงหน้า แต่แทนที่จะส่งสารออกไปว่า ‘ไม่ชอบ’ เรากลับเก็บงำและเผยเพียงรอยยิ้มว่า ‘ทุกอย่างโอเค

เราจ่าย ‘ความพึงพอใจ’ ของตัวเองออกไป เพื่อทำให้อีกคนหนึ่ง ‘พอใจ

เพราะเราให้ค่ากับความเกรงใจมากกว่าขอบเขตเส้นแบ่งของการกระทำที่เราควรปกปักรักษาไม่ให้ใครล้ำเข้าไป

แม้จะเป็นภาพยนตร์สยองขวัญ แต่ประเด็นทางสังคมที่เราได้กล่าวไปถูกสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในภาพยนตร์เรื่อง Speak No Evil ซึ่งทำให้เราเห็นว่า ไม่ต้องมีผี ไม่ต้องมีปีศาจ มีเพียงคนหนึ่งที่ขี้เกรงใจกับอีกคนหนึ่งที่เลวพอที่จะเอาเปรียบช่องโหว่นั้น ก็ทำให้เรื่องราวนี้สยองได้

แทบจะตลอดเรื่อง เราจะเห็นว่าคู่สามี-ภรรยา โดยเฉพาะ บยอร์น (Bjørn) ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวจะยิ้มตอบกับทุก ๆ การกระทำที่ครอบครัวดัทช์กระทำ ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะประหลาด ไม่สุภาพ หรือแม้กระทั่งล้ำเส้นตัวเขาหรือครอบครัวเพียงไหนก็ตาม

ไม่ว่าจะเป็นตอนที่แพทริค (Patrick) ชาวดัทช์ผู้เป็นเจ้าบ้านให้บยอร์นเลี้ยงค่าอาหารทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเป็นคนชวนมา ตอนที่เขาเข้ามาทำธุระในห้องน้ำในขณะที่บยอร์นก็ยืนแปรงฟันอยู่ ตอนที่ลูกตัวเองไม่อยากจะเต้นแล้วแต่ก็ยังบอกให้ลูกไปเต้น ตอนที่เขาออกไปดินเนอร์กันแล้วปล่อยให้ลูกสาวอยู่กับพี่เลี้ยงที่ไม่น่าไว้ใจแต่ก็ไม่กล้าที่จะปฏิเสธ หรือแม้กระทั่งตอนที่ตัวเขาเองและภรรยากำลังทำกิจกรรมคู่รักอยู่และมีสายตาของแพทริคมองเข้ามาก็ตาม…

สิ่งที่ผู้ชมจะเห็นแทบเสียจะตลอดทั้งเรื่องคือการที่บยอร์นยิ้มรับเสียแทบจะทุก ‘การล้ำเส้น’ จากครอบครัวผู้เป็นเจ้าบ้าน เขามัวแต่เกรงใจอีกฝ่ายจนไม่กล้าตำหนิติเตียนหรือยืนหยัดปกป้องครอบครัวของตัวเขาจากการคุกคามหลากประเภท เพราะเขา ‘เกรงใจ’ และอยากจะ ‘สุภาพ’ จนท้ายที่สุดคำถามที่ตามมาว่า

มันคุ้มจริง ๆ หรอที่จะสุภาพขนาดนั้น?

ประเด็นทั้งหมดที่เราได้กล่าวมาก็ถูกขมวดปมอยู่ในบทสนทนาสุดท้ายระหว่างบยอร์นกับแพทริคที่หลายคนคงจำไม่ลืม

“ทำไมถึงทำแบบนี้กับฉัน?”

“ก็แกปล่อยให้ฉันทำเองนี่…”

หากมองในแง่ประเด็นทางสังคมที่ภาพยนตร์มุ่งเสียดสี Speak No Evil ก็เปรียบเสมือนตัวอย่างแบบสุดโต่งของการที่คน ๆ หนึ่งยอมทำโน่นทำนี่ทั้ง ๆ ทั้ง ๆ ที่ตัวเราหรือครอบครัวก็ไม่ได้สบายใจ เพื่อรักษาบรรยากาศหรือความสุภาพเอาไว้ ภาพยนตร์เรื่องนี้ชี้ให้เราเห็นถึงภัยร้ายของความเกรงใจว่ามันอาจนำพาความเลวร้ายมาสู่ชีวิตเราได้ 

หากมองจากเปลือกนอก ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงทริปสยองของดานี (Dani) สู่หมู่บ้านพิธีกรรมประหลาดใน Midsommar (2019) แต่หากมองลึกไปแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Compliance (2012) เกี่ยวกับสายโทรศัพท์นิรนามที่บอกว่าตนเองคือตำรวจที่สั่งให้ผู้รับโทรศัพท์ทำตามสิ่งที่ตัวเองบอก

บางที การที่เป็นคนสุภาพหรือรักษามารยาทมากเกินควรก็อาจจะนำพาภัยมาสู่ชีวิตเราได้ แม้ว่าในชีวิตจริงอาจจะไม่ได้ถึงขั้นร้ายแรงเหมือนในภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่ความเกรงใจเหล่านั้นอาจจะทำให้เราต้องซื้อของที่ไม่ได้อยากซื้อ กินของที่ไม่ได้อยากกิน ไปเที่ยวในที่ ๆ ไม่ได้อยากไป พบเจอคนที่ไม่ได้อยากจะคุย หรือทำอะไรที่เราไม่ได้อยากทำ ภาพยนตร์โยนคำถามกลับมาหาเราว่า

 

แล้วมันคุ้มค่าหรือเปล่ากับการเป็นคนสุภาพ?

ต้องให้คน ๆ หนึ่งล้ำเส้นคุณขนาดไหน คุณถึงจะยอมกล้าทำลายกรอบที่ถูกครอบโดยกฎของมารยาท แล้วยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง?

ต้องให้เขาตัดลิ้นลูกของคุณแล้วสั่งให้คุณไปแก้ผ้าแล้วปาหินใส่คุณจนตายก่อนหรือเปล่า ถึงจะยอมหยาบคายต่ออะไรที่ไม่ถูกต้อง?

 

ภาพ: ภาพยนตร์ Speak No Evil (2022)