All Quiet on the Western Front หนังสงครามกับคำถามว่าเกียรติมีค่ากว่าชีวิตหรือไม่?

All Quiet on the Western Front หนังสงครามกับคำถามว่าเกียรติมีค่ากว่าชีวิตหรือไม่?

‘แนวรบตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง’ หรือ All Quiet on the Western Front ภาพยนตร์ต้านสงครามที่เล่าเรื่องการรบที่แนวรบตะวันตกที่ห้ำหั่นกันนานหลายปี สังเวยชีวิตทหารหลายล้านนาย จุดประกายคำถามถึงความโหดร้ายของสงคราม และเกียรติยศของการสู้เพื่อชาติ

ถือเป็นการนำเอานวนิยายสงครามคลาสสิก ‘All Quiet on the Western Front’ ที่ประพันธ์โดย เอริช มาเรีย เรอมาร์ค (Erich Maria Remarque) กลับมาตีแผ่บนจอภาพยนตร์อีกครั้ง หลังจากที่เคยถูกนำมาสร้างครั้งหนึ่งในปี 1930 ในชื่อเดียวกันจนกลายเป็นภาพยนตร์สงครามคลาสสิกอีกหนึ่งเรื่องที่ขึ้นหิ้งมาจนถึงทุกวันนี้

จนกระทั่งในปี 2022 เกือบหนึ่งศตวรรษจากการสร้างภาคแรก Netflix ก็ได้ทุ่มทุนเพื่อเนรมิตผลงานอมตะของเรอมาร์คกลับมาสู่สายตาผู้ชมในยุคนี้อีกครั้ง แต่ในคราวนี้ ด้วยทุนสร้างและเทคโนโลยีการถ่ายทำที่ก้าวหน้าผสานกับวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ ‘เอ็ดเวิร์ด เบอร์เกอร์’ (Edward Berger) All Quiet on the Western Front (2022) ฉบับล่าสุดนี้จึงมอบประสบการณ์และบรรยากาศสมรภูมิแนวรบตะวันตกได้อย่างสมจริง เปรียบดั่งเราเป็นทหารเกณฑ์อายุ 17 ปีที่ต้องจากบ้าน ถือปืน ด้วยความหวังและกำลังใจในการสละชีพเพื่อชาติ ไปสู่ทุ่งกว้างที่รายล้อมด้วยห่ากระสุน ความตาย ความสับสน และความไม่สมเหตุสมผล…

ถึงกระนั้น แม้จะเป็นภาพยนตร์สงครามที่สรรสร้างออกมาได้สมจริงจนอดไม่ได้ที่จะหวนนึกถึงฉากสงคราม ณ หาดนอร์มังดี จากภาพยนตร์ Saving Private Ryan (1998) แต่ All Quiet on the Western Front ในภาคนี้ก็ไม่ลืมที่จะใส่ประเด็นการตั้งคำถามและการเสียดสีความเลวร้ายของสงครามและความปากว่าตาขยิบของเหล่าผู้นำที่ล้างสมองเหล่าทหารและคนรุ่นใหม่ด้วย ‘เกียรติ’ และ ‘ศักดิ์ศรี’ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง 

All Quiet on the Western Front (2022) มีเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘พอล’ (Paul) ชายเยอรมันอายุ 17 ปีผู้เปี่ยมด้วยพลังในการเสียสละเพื่อชาติในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาก้าวเดินไปสู่สมรภูมิแนวรบตะวันตกที่ประชันหน้ากับทางฝั่งฝรั่งเศส และมันจะเปลี่ยนแปลงชีวิตและมุมมองต่อโลกของเขาไปตลอดกาล…

/ เนื้อหาต่อไปนี้จะมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่อง All Quiet on the Western Front (2022) / 

 

 

คำพูดปลุกใจในเครื่องแบบเปื้อนเลือด

นี่ไม่ใช่เวลาสำหรับคนจิตใจอ่อนแอ ความไม่มั่นใจ ความลังเลใจ คือการทรยศต่อบ้านเกิดเมืองนอน สงครามสมัยใหม่ก็เหมือนการเล่นหมากรุก มันไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของทุกคน!

อนาคตของพวกเรา อนาคตของเยอรมนี อยู่ในกำมือของชนรุ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุด… สหายทั้งหลาย นั่นก็คือพวกคุณ!

หลังจากผู้นำกล่าวสุนทรพจน์ปลุกใจอันยาวเหยียดจบ บรรดาเด็กหนุ่มอายุราว 15 - 17 ปี ก็พากันร้องเฮไชโยโห่ร้องด้วยพลังและความภาคภูมิที่ได้ยืนเหยียบบนแผ่นดินพ่อ (Fatherland) ของเยอรมนี ณ เวลานั้น แม้แต่ชีวิตของตัวเอง เด็กหนุ่มทั้งหลายก็ยินยอมพร้อมใจที่จะสละ สมรภูมิสงครามในมุมมองของพวกเขาคือบทพิสูจน์ความกล้าหาญท้าทายของชีวิตลูกผู้ชาย แทบจะทุกคนแทบจะอดใจรอไม่ได้กับการที่จะได้รับเครื่องแบบที่มีเกียรติเพื่อปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติ

เหล่าคนรุ่นใหม่ของเยอรมนีต่อคิวเรียงรายยาวเหยียดเพื่อรอที่จะวัดตัวและมอบเครื่องแบบ ครั้นเครื่องแบบรั้วของชาติมาอยู่ในมือของตน พวกเขาก็ไม่รีรอที่จะลองสวมชุดเหล่านั้น และภูมิใจกับการเกณฑ์ทหารเพื่อชาติของตน แต่หารู้ไม่ว่าเครื่องแบบเหล่านั้นหาได้เป็นมือหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้นใหม่ ซ้ำร้ายมันกลับเป็นชุดที่เขรอะไปด้วยโคลน เคล้าไปด้วยเขม่าปืน และเปื้อนไปด้วยเลือดของผู้ใส่ก่อนหน้า

เหล่าเยาวชนมุ่งหน้าแบกปืนสู่แนวรบตะวันตก (Western Front) ที่ประชันหน้ากับฝรั่งเศสมานานนับปี แต่หาได้มีการเคลื่อนที่เคลื่อนไหว ในทางกลับกันกลับมีตัวเลขการสูญเสียเกิดขึ้นตลอด พวกเขาหาได้รู้เลยว่าเครื่องแบบที่เขาสวมใส่ด้วยความภาคภูมิอยู่นั้นเป็นของทหารคนก่อนที่สังเวยชีวิตตัวเองในสงครามนี้และถูกหลงลืมกลบหายไป แม้แต่ชื่อที่ติดอยู่กับเสื้อยังถูกดึงทิ้งอย่างไร้ความหมาย

จนกระทั่งพวกเขาได้เดินทางไปถึงสมรภูมิสงครามสนามเพลาะ (Trench Warfare) ความจริงนานาประการที่แอบซ่อนก็พุ่งเข้าโจมตีเด็กหนุ่มด้วยไฟมุ่งมั่นทั้งหลายอย่างหนักหน่วง สภาพอากาศที่ย่ำแย่ อาหารการกินและการเป็นอยู่ที่ลำบากลากดิน แถมภัยร้ายที่คืบคลานอยู่ไม่เว้นพัก

ไม่เพียงแต่พวกเขาต้องมุดหัวหลบห่ากระสุนและระเบิดที่ถาโถมเข้ามา แต่ยังต้องอดทนและประสบกับการสูญเสียอย่างต่อเนื่อง เพื่อนสนิทที่รู้จักกันมานานและเดินเข้ามาสมัครปกป้องชาติพร้อม ๆ กัน กลับจากไปชั่วพริบตา เหลือเพียงด็อกแท็กสลักชื่อใส่ถุงผ้าเล็ก ๆ ไปรายงานการเสียชีวิตเท่านั้น

ดูเหมือนว่าภาพสงครามและเกียรติในการรบเพื่อชาติอาจจะไม่ได้เป็นดังที่พวกเขาคาดหวังในคราแรกเสียเท่าไรนัก…

 

สงครามของเขา หาใช่ของเรา

ทหารทุกนาย โดยเฉพาะทหารแนวหน้า ล้วนถูกฝังด้วยแนวคิดชาตินิยมให้รักพวกพ้องตนและชังศัตรู ทุกคนพร้อมจะเล็งปืนหากันและกันแม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ตาม แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกเสียเท่าไรนัก เพราะเมื่ออยู่ในสนามรบ ผู้ใดที่ละทิ้งความเป็นมนุษย์และแปลงกายตัวเองเป็นเครื่องจักรสังหารไร้หัวใจได้มากที่สุด ก็มักมีแนวโน้มที่จะได้รับชัยชนะไป

แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะกำจัดความเป็นคนได้หมดสิ้น? แน่นอนว่าย่อมได้ หากใจของใครเหล่านั้นได้รับการฝึกฝนมา แต่ความเศร้าสลดกลับบังเกิดเมื่อเขาเหล่านั้นไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรสังหารได้โดยสมบูรณ์ แต่ยังคงความเป็นมนุษย์อยู่

ฉากหนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างมากในภาพยนตร์เรื่องนี้คือการที่ตัวละครเอกอย่างพอล ยืนอยู่ท่ามกลางระหว่างการเป็นมนุษย์และเครื่องจักรสังหาร โศกนาฏกรรมที่จะฝังใจเขาไปตลอดชีวิตจึงเกิดขึ้น…

หลังจากที่เขาวิ่งหนีกองทัพฝรั่งเศสและล้มหน้าจุ่มโคลนอยู่นั้น เบื้องหลังเขาก็มีทหารฝรั่งเศสนายหนึ่งเล็งปืนมาที่เขาพร้อมยิง แต่โชคชะตายังเข้าข้างที่ระเบิดทำให้ทหารนายนั้นหล่นลงมาในบ่อเช่นเขา พอลไม่รีรอ รีบคว้ามีดและเดินเข้าไปแทงทหารฝรั่งเศสนายนั้นอย่างไม่คิดชีวิต จิตวิญญาณความเป็นเครื่องจักรสังหารได้ครอบงำเขา

แต่หลังจากกระหน่ำแทงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทหารรายนั้นก็หาได้สิ้นลมไม่ เขานอนรวยรินด้วยลมหายใจปนเลือดยังไม่ตายและไกลเกินเป็น พอลถอยหลังไปนั่งอีกฝั่ง และทันใดนั้นเอง ความเป็นปีศาจแห่งเครื่องจักรสังหารกลับมลายหายไป ตัวตนความเป็นมนุษย์ก็คืนกลับมา

.พอลได้ค้นพบว่าเขาไม่ได้อยากฆ่าทหารนายนั้น เขาไม่รู้จัก ไม่แม้แต่เคยคุยกัน แต่เขากลับก่อการกระทำอันโหดเหี้ยมต่อเพื่อนมนุษย์ได้ขนาดนั้น ด้วยความรู้สึกผิด แม้จะสายไป เขาพยายามช่วยชีวิตของทหารรายนั้นด้วยการให้น้ำและหยุดเลือด แต่มันก็สายไปเสียแล้ว

ขอโทษนะ ขอโทษจริง ๆ ฉันขอโทษ

ครั้นทหารรายนั้นหยุดหายใจลง พอลได้หยิบกระเป๋าของชายคนนั้นขึ้นมาดู พอลพบสมุดไดอารี่ พบข้อมูลว่าเขาทำงานอะไร และก็พบรูปถ่ายของภรรยาและลูกน้อยที่เฝ้ารอสวมกอดผู้เป็นสามีและพ่ออยู่ที่บ้าน แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าว่าคงไม่มีวันนั้นอีกต่อไปแล้ว

พอลได้ตระหนักว่าศัตรูที่เล็งปืนหากันในสมรภูมิ ท้ายที่สุดแล้วก็แค่คนธรรมดาที่มีชีวิตเป็นมนุษย์เหมือนกันทุกคน เขาได้ฆ่าเพื่อน ฆ่าสามี ฆ่าพ่อ ของใครสักคนไป ด้วยเหตุผลที่ตัวเขาเองก็หาเข้าใจไม่ รู้เพียงแค่ว่าเราอยู่ในสงคราม และเราต้องเล็งและยิงไปในทิศทางนั้น 

เขาถูกปลูกฝังว่าการได้ฆ่าศัตรูแล้วจะได้รับเกียรติยศและความภาคภูมิใจ แต่สิ่งที่พอลได้รับกลับเป็นความโศกเศร้ารู้สึกผิดและความไม่เข้าใจกับสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่…

 

คุณค่าของเกียรติและชีวิตของคน

การเสียดสีที่เจ็บแสบและเห็นภาพชัดเจนในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือความแตกต่างระหว่างการกระทำและคำพูดของคนจากสองบทบาท ระหว่างที่นายทหารแนวหน้าบากบั่นสู้รบท่ามกลางดินโคลน กระสุนปืน และซากศพ ประทังชีวิตด้วยน้ำเปื้อนโคลนและขนมปังแข็ง ๆ นายของพวกเขาที่เป็นคนพร่ำบอกให้สละชีวิตเพื่อผืนแผ่นดินของเยอรมนีกลับนั่งดินเนอร์จิบไวน์ท่ามกลางความหรูหรา แล้วยืนยันที่จะไม่สงบศึกและยืนยันจะต่อสู้เพื่อ ‘เกียรติ’ ของเยอรมนี

บทสนทนาหนึ่งที่น่าสนใจและสะท้อนประเด็นดังกล่าวได้อย่างดีเยี่ยมอยู่ในฉากที่ ‘แมตเธียส แอร์ซเบอร์เกอร์’ (Matthias Erzberger) ผู้สนับสนุนให้สงบศึก กับนายพลคนอื่น ๆ ที่สนับสนุนจะยืนกรานสู้ พวกเขาคือเหล่าบุคคลที่ถูกเยอรมนีส่งไปเพื่อเจรจากับฝรั่งเศสเรื่องการสงบศึก ในแง่หนึ่งข้อเสนอของทางฝรั่งเศสนั้นทำให้เยอรมนีเสียเปรียบอย่างราบคาบจนเหล่านายพลรู้สึกเสียเกียรติในการตกลง แต่แอร์ซเบอร์เกอร์เห็นว่าการยืนหยัดสู้อยู่จะมีแต่การเอาชีวิตของเยาวชนไปละลายน้ำโดยเสียเปล่า

แม้ว่าสุดท้ายแล้วเราจะแพ้สงคราม มันก็ไม่ได้แย่ไปกว่าถ้าเรายอมจำนน… หลายสิ่งหลายอย่างของเราจะถูกยึด นี่คือการยอมแพ้แบบราบคาบ!” นายพลนายหนึ่งกล่าว

ไม่ว่าจะกี่ศึก ๆ เราแพ้หมด… สิ่งเดียวที่ขวางเราไว้จากการหยุดยิงก็คือความภาคภูมิใจปลอม ๆ” แอร์ซเบอร์เกอร์กล่าวตอบ

แต่ ณ ตอนนี้เป็นหน้าหนาว แถมเรายังไม่มีรถไฟและเสบียงมากพอ ทหารของเราจะหิวโหยตอนเดินทางกลับบ้าน แทนที่จะตายอย่างมีเกียรติในสนามรบนะ” ผู้ร่วมวงสนทนาอีกหนึ่งคนเอ่ยขึ้นเพื่อเสนอว่าการยืนหยัดสู้รบอย่างมีเกียรติก็ยังดีเสียกว่า

“อย่างมีเกียรติเหรอ? ลูกชายผมตายในสงคราม เกียรติของเขาอยู่ไหนเหรอ?”

แอร์ซเบอร์เกอร์ตอกคำถามกลับ ทั้งห้องเงียบสงัดไร้ซึ่งคนหาคำตอบได้ว่าเกียรติที่ว่านั้นอยู่ไหน

แอร์ซเบอร์เกอร์เล็งเห็นว่าตัวเลือกดังกล่าวก็ยังดีกว่าการเอาชีวิตของเยาวชนในประเทศไป ‘ทิ้ง’ เพื่อเกียรติปลอม ๆ ที่ชนชั้นนำได้ล้างสมองคนเหล่านั้นให้เชื่อตาม แม้จะต้องเสียเปรียบอย่างหนัก และต้องพ่ายแพ้อย่างราบคาบจนแทบจะไม่ต่างอะไรกับสู้จนพ่ายสงครามทางกายภาพ 

ในเลนส์ของแอร์ซเบอร์เกอร์ ชีวิตของทหารทุกนายก็คือ ‘ต้นทุน’ ที่มีค่ามหาศาล ซึ่งแทบจะเทียบกับเกียรติที่เหล่านายพลมักอ้างไม่ได้เลย แต่ในเลนส์ของนายพลเหล่านั้น เขาอาจจะให้ค่าเกียรติและชีวิตของพลทหารหลายแสนนายแตกต่างออกไป…

ท้ายที่สุดแม้จะได้ตกลงสัญญาสงบศึกไปแล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าการสงบศึกดังกล่าวจะเป็นผลอย่างเป็นทางการ ในท้ายเรื่องเราจะเห็นว่านายพลใหญ่คนหนึ่งที่เราได้กล่าวไปว่าเขานั่งดื่มไวน์ในขณะที่ชี้นิ้วสั่งให้คนอื่นไปรบ ก็ออกมาบอกทหารว่าให้ออกไปยึดพื้นที่ก่อน 11 โมงมาให้จงได้ ด้วยถ้อยคำล้างสมองรูปแบบเดิม… 

ซึ่งผลก็ออกมามีแต่เสียกับเสีย และนี่เองก็ทำให้พอลต้องจบชีวิตลงก่อนที่เสียงแตรสงบศึกจะดังขึ้นไม่กี่วินาที

 

แนวรบตะวันตกเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้จบลง ก่อนที่รายชื่อเครดิตจะปรากฏขึ้น ผู้ชมจะได้เห็นผลลัพธ์ของสงคราม ณ แนวหน้าฝั่งตะวันตกว่าพื้นที่ดังกล่าวที่ทั้งสองฝ่ายห้ำหั่นกันมากว่า 4 ปี แทบไม่รุกคืบไปไหนเลยแม้แต่น้อย แต่หารู้ไม่ว่าต้องแลกมากับชีวิตของนายทหารหรือประชาชนคนธรรมดากว่า 4 ล้านชีวิต

คำถามคือว่าแล้วมันคุ้มหรือไม่กับการเสียสละลงทุนในครั้งนี้? มันคุ้มหรือไม่ที่เราต้องจ่ายชีวิตของคนหลายล้านเพื่อหล่อเลี้ยงอีโก้และความยโสของคนไม่กี่คน? มันคุ้มหรือไม่ที่ต้องสังเวยชีวิตไปกับถ้อยคำที่พร่ำบอกให้เสียสละตัวเองเพื่อชาติและแผ่นดิน? มันคุ้มหรือไม่ที่ต้องแลก ‘ชีวิต’ กับ ‘เกียรติ’ ที่ไม่ว่าจะคนเป็นหรือคนตายก็มองไม่เห็น?

แนวรบตะวันตก… แม้จะต้องสังเวยนายทหารไปหลายล้านคน… เหตุการณ์ก็ไม่เปลี่ยนแปลง

 

ภาพ: ตัวอย่างภาพยนตร์ All Quiet on the Western Front (2022)