เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์: ปฏิบัติการปิดเมืองเพื่อสร้างระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง

เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์: ปฏิบัติการปิดเมืองเพื่อสร้างระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง
ย้อนกลับไปในขณะที่สงครามโลกครั้งที่สองยังคุกรุ่น นานาประเทศต่างเผชิญความขัดแย้งจากทุกสารทิศ ท้องฟ้าอันสดใสก็พลันเปลี่ยนเป็นฝุ่นควันอันมืดมิด ยิ่งสงครามแผ่วงกว้างไปมากเท่าไร ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกชื่อผู้คนมากขึ้นเท่านั้น และ ‘เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์’ (J. Robert Oppenheimer) คือชายผู้ลาออกจากการเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อเริ่มการเดิมพันทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เด็กชายอัจฉริยะ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1904 พ่อกับแม่ของเขาเป็นชาวเยอรมันที่อพยพมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยความที่ออพเพนไฮเมอร์เป็นเด็กที่ไม่ค่อยชอบเข้าสังคมมากนัก เขาจึงมักถูกแกล้งจากกลุ่มเพื่อนอยู่เสมอ ดังนั้นแล้วสิ่งที่เขาชอบที่สุดกลับกลายเป็นการขลุกตัวอยู่กับโลกของตำราและการเรียนรู้ ซึ่งหนังสือที่เขาชื่นชอบที่สุดคือหนังสือวิทยาศาสตร์ ยิ่งเรียนมากขึ้นเท่าไร ออพเพนไฮเมอร์ก็ยิ่งฉายแววความเป็นอัจฉริยะ เมื่ออายุได้ 10 ขวบ เขาสามารถเรียนเกี่ยวกับแร่ธาตุ ฟิสิกส์และเคมีได้อย่างเข้าใจ ถึงขนาดที่ว่า ครั้งหนึ่งสมาคม ‘New York Mineralogical Club’ ซึ่งเป็นสมาคมเก่าแก่ที่ศึกษาเกี่ยวกับแร่วิทยา ได้เชิญเขาไปบรรยายโดยที่ไม่รู้เลยว่าออพเพนไฮเมอร์ เป็นเพียงเด็กอายุ 12 กระทั่งอายุ 19 ปี เขาได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสาขาวิทยาศาสตร์เคมี นอกจากนี้เขายังลงเรียนวิชาอื่น ๆ อีกกว่า 6 ตัว จากความสนใจด้านการศึกษา ทำให้ออพเพนไฮเมอร์สามารถข้ามไปลงเรียนวิชาขั้นสูงได้ ซึ่งผลการเรียนวิชาอื่น ๆ ก็ยังโดดเด่นอยู่เช่นเคย ทำให้เขาคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาด้วยระยะเวลาเพียง 3 ปี [caption id="attachment_38181" align="aligncenter" width="587"] เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์: ปฏิบัติการปิดเมืองเพื่อสร้างระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง J. Robert Oppenheimer[/caption] แวดวงวิทยาศาสตร์ หลังเรียนจบจากฮาร์วาร์ด ออพเพนไฮเมอร์ถือว่าโชคดีอย่างมากที่ได้อยู่ในช่วงเวลาสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ เพราะช่วงนี้นักฟิสิกส์ต่างขวนขวายกันเพื่อพัฒนาทฤษฎีการก้าวล้ำของกลศาสตร์ควอนตัม ต่อจากนั้นเขาก็ได้ศึกษาต่อเรื่อย ๆ จนจบปริญญาเอกในปี 1927 และเข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์ฟิสิกส์สังกัดมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ และสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ด้วยเหตุนี้เองทำให้เขาได้รู้จักเพื่อนในแวดวงนักวิทยาศาสตร์มากมายที่เขามีอันต้องรบกวนในอนาคต เมื่อโลกต้องการความช่วยเหลือ ขณะนั้น สงครามโลกครั้งที่สองยังคงแผ่วงความเสียหายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ทางฝ่ายสหรัฐฯ ได้พบว่าเยอรมนีกำลังคิดค้นอาวุธเคมีชนิดหนึ่งอยู่ ซึ่งถ้าทำสำเร็จฝ่ายสัมพันธมิตรอาจจะต้องแพ้อย่างย่อยยับเลยทีเดียว ด้วยการนี้ออพเพนไฮเมอร์จึงมีเหตุให้ต้องมาเกี่ยวข้องกับสงครามโลก เขาได้ลาออกจากการเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการของโปรเจกต์ลับสุดยอดนี้ รวมถึงเกณฑ์นักวิทยาศาสตร์มาช่วยให้มากที่สุด โดยโปรเจกต์ดังกล่าวได้รับการดูแลโดยนายพล ‘เลสลี่ ริชาร์ด โกรฟส์ จูเนียร์’ (Leslie Richard Groves, Jr.) อีกที  โปรเจกต์นี้ถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของการกักเก็บความลับอย่างถึงที่สุด ทั้งต้องห่างไกลจากมนุษย์และครัวเรือน รวมถึงมีระบบคุ้มกันอย่างแน่นหนา เพราะหากความลับนี้หลุดรั่วออกไป นั่นหมายถึงชีวิตของผู้คนอีกกว่าล้านคนจะต้องตกอยู่ในอันตราย โดยโปรเจกต์นี้ถูกขนานนามว่า ‘โปรเจกต์แมนฮัตตัน’ หลังจากเลือกสถานที่อยู่หลายแห่ง ออพเพนไฮเมอร์ก็ได้เลือกให้โปรเจกต์แมนฮัตตันไปสร้างอยู่บนที่ราบสูง ‘เมซา’ ซึ่งมีลักษณะคล้ายภูเขาสูงชันแต่เป็นที่ราบป้าน โดยตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเม็กซิโก ใกล้ ๆ กันนั้นเป็นพื้นที่เขียวชอุ่มของป่า และสุดปลายทางของพื้นที่ก็เป็นทะเลทรายยาวเหยียด แถมที่ตั้งแห่งนี้ยังห่างจากเมืองกว่า 40 ไมล์ ซึ่งอาคารแถวนั้นมีเพียง ‘โรงเรียนลอสอาลาโมส’ ที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว และสถานที่นี้ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการลับสุดยอดเพื่อสร้างอาวุธสงครามที่อันตรายที่สุด ปฏิบัติการเมืองลับแล โปรเจกต์แมนฮัตตันรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว จากโรงเรียนก็ขยายพื้นที่เป็นเมืองเล็ก ๆ มีตึกรามบ้านช่องโผล่ขึ้นมากมาย แถมตึกทุกหลังยังทาด้วยสีเขียวเพื่อให้กลมกลืนไปกับผืนป่าแถบนั้น ส่วนในเวลากลางคืน บนท้องถนนจะไม่มีแม้แต่แสงไฟ ดังนั้นแล้วไม่ว่าใครก็ตามทั้งประชาชนหรือศัตรูก็ไม่อาจรับรู้ถึงการมีอยู่ของเมืองแห่งนี้ได้ ที่นี่ถูกตั้งชื่อเล่นว่า ‘ลอสอาลาโมส’ ซึ่งออพเพนไฮเมอร์เองก็เป็นผู้อำนวยการการวิจัยที่เมืองแห่งนี้ด้วย โดยลอสอาลาโมสถือเป็นหนึ่งในสถานที่ลับซึ่งรวบรวมนักวิทยาศาสตร์ไว้เป็นจำนวนมาก ถึงขนาดมีการบันทึกไว้ว่า ณ ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยดาวเด่นแห่งวงการวิทยาศาสตร์เลยทีเดียว แม้ว่าออพเพนไฮเมอร์จะดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ แต่ตัวเขามักชอบเข้าไปพูดคุยกับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้วิธีการทำงานของบุคลากรในแต่ละทีม เพื่อให้ตนเข้าใจรูปแบบการทำงานของแต่ละฝ่ายมากที่สุด ถึงขนาดที่เพื่อน ๆ ต่างเรียกเขาอย่างสนิทสนมว่า ‘ออพพี’ จากการเข้าไปคลุกคลีกับทุกฝ่ายด้วยตนเอง ทำให้ออพเพนไฮเมอร์สามารถประเมินได้ว่าบุคลากรแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร มีวิธีการทำงานรูปแบบไหน เขารู้จุดและวิธีการเข้าหาบุคคลในตำแหน่งต่าง ๆ ถึงขนาดที่ทุกคนให้การยอมรับว่า ออพเพนไฮเมอร์คือบุคคลเดียวที่สามารถประคับประคองทีมให้ไปถึงฝั่ง เป็นดั่งกาวที่ประสานทั้งไอเดียและรอยร้าวให้บุคลากรจากทุกภาคส่วนได้ จนในที่สุดสิ่งประดิษฐ์ที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันสร้างก็พร้อมออกทดสอบ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์: ปฏิบัติการปิดเมืองเพื่อสร้างระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง กำเนิดอาวุธที่พลิกประวัติศาสตร์โลก “ในตอนนี้ ผมได้กลายเป็นความตาย เป็นผู้ที่ทำลายล้างโลก” ณ ทะเลทรายที่ห่างจากลอสอาลาโมสไปกว่า 200 ไมล์ ออพเพนไฮเมอร์และนักวิทยาศาสตร์ทุกคนต่างจับจ้องไปที่ผลการทดสอบของอาวุธที่พวกตนปลุกปั้นขึ้นมา ทันทีที่ควันรูปดอกเห็ดที่สูงขนาด 11 กิโลเมตรได้ปรากฏขึ้น ฉับพลันก็เกิดแสงสว่างจ้า ขนาดที่ว่าแม้แต่คนตาบอดยังรับรู้ถึงแสงสว่างนี้ และอีกเพียง 30 วินาทีก็เกิดแรงสั่นสะเทือนขนาดมหึมา อุณหภูมิที่สูงกว่า 2 พันองศาเซลเซียสได้หลอมละลายทุกอย่างที่อยู่เบื้องหน้า โดยผลลัพธ์ของอาวุธชิ้นนี้ก่อให้เกิดหลุมระเบิดขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางกว่าครึ่งไมล์  อานุภาพของเจ้าสิ่งนี้มันเกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคนได้จินตนาการเอาไว้ ออพเพนไฮเมอร์ตระหนักทันทีว่า เขาได้สร้างอาวุธที่จะยุติสงครามโลกครั้งที่สองไว้ในกำมือเรียบร้อย และสิ่งนี้ก็ได้ถูกเรียกว่า ‘ระเบิดปรมาณู’ แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมการวิจัยหลายคน จะยื่นเรื่องไม่ให้มีการใช้อาวุธชนิดนี้ในสงคราม ซึ่งมีการเสนอให้ออพเพนไฮเมอร์จัดงานแสดงแสนยานุภาพของระเบิดปรมาณูให้โลกดู เพื่อเป็นการขู่ญี่ปุ่นให้ยอมแพ้สงคราม แต่ในท้ายที่สุดเขาก็ตัดสินใจส่งระเบิดปรมาณูไปที่ญี่ปุ่นอยู่ดี และแล้วก็เป็นอย่างที่เราทราบกันดีว่าเกิดอะไรขึ้นที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบความเสียหายจากระเบิดปรมาณูอย่างรุนแรง โดยภายหลังจากการระเบิดที่นางาซากิ ญี่ปุ่นก็ได้ประกาศยอมแพ้สงคราม อันนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์: ปฏิบัติการปิดเมืองเพื่อสร้างระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง จวบจนลมหายใจสุดท้าย หลังการทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ ออพเพนไฮเมอร์ได้ขึ้นเป็นโฆษกทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทางเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ แม้ว่าระเบิดปรมาณูจะถูกต่อยอดเป็นพลังงานฟิสิกส์นิวเคลียร์อันเป็นนวัตกรรมผลิตไฟฟ้า แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่าอนุภาคของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย และผู้มีอำนาจจากหลายประเทศในโลกต่างครอบครองระเบิดปรมาณูไว้เพื่อสะสมเป็นอาวุธ “ผมรู้สึกว่าฝ่ามือของผมนั้นเปื้อนไปด้วยเลือด” แรกเริ่มเอง แม้ว่าออพเพนไฮเมอร์จะรู้สึกยินดีที่ตนได้สร้างระเบิดปรมาณูขึ้นมา แต่ท้ายที่สุดเขาก็ยังรู้สึกผิดต่อเรื่องนี้อยู่ดี เฉกเช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ในโปรเจกต์แมนฮัตตัน พวกเขาเพียงแค่คิดว่าต้องเร่งสร้างมันก่อนที่นักวิทยาศาสตร์ของฮิตเลอร์จะทำสำเร็จ  เหล่านักวิทยาศาสตร์ต่างเจ็บปวดใจเมื่อระเบิดลูกแรกไปลงที่ฮิโรชิม่า เพราะสิ่งที่เปรียบเสมือนลูกของตนได้ทำร้ายคนบริสุทธิ์ไปมากมาย และความรู้สึกเจ็บปวดนี้ยิ่งทวีคูณมากขึ้น เมื่อพวกเขาต้องเดินหน้าทำระเบิดลูกที่สอง เพียงเพราะคำสั่งว่า ‘ปฏิบัติการควรเดินหน้าต่อ’ “ถ้าฉันรู้ว่าการพัฒนาระเบิดของเยอรมันไม่ก้าวหน้าอย่างที่คิด ฉันจะไม่เข้าร่วมโปรเจกต์นี้แน่นอน” นักวิทยาศาสตร์ที่เคยอยู่ในโปรเจกต์แมนฮัตตันได้กล่าวออกมาอย่างรู้สึกผิด ท้ายที่สุดการสร้างระเบิดปรมาณูขึ้นมาก็ได้กลายเป็นตราบาปในใจของตัวออพเพนไฮเมอร์และนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในโปรเจกต์แมนฮัตตันจวบจนลมหายใจสุดท้าย  เปรียบเปรยกับเหรียญที่มีสองด้าน ด้านหนึ่ง ระเบิดปรมาณูเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สังหารผู้คนไปมากมาย แต่เหรียญอีกด้านก็คือการใช้ในเชิงสันติเพื่อเป็นพลังงานในด้านต่าง ๆ ที่แม้ว่าจะมีปัญหาจากการจัดการอย่างในกรณีที่เชอร์โนบิลในปี 1986 หรือที่เซนไดในปี 2011 แต่ก็ยังถือว่าระเบิดปรมาณูเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำมาเป็นแหล่งพลังงานในอนาคตในวันที่โลกเริ่มมีทรัพยากรร่อยหรอ เราจะเลือกเหรียญด้านไหน? นั่นคือคำถามที่มนุษยชาติควรจะต้องตอบร่วมกัน เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์: ปฏิบัติการปิดเมืองเพื่อสร้างระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่อง: พีรพล  สดทรัพย์ ภาพ:  Courtesy of the National Archives/Newsmakers Photo by © CORBIS/Corbis via Getty Images Photo by Hiromichi Matsuda/Handout from Nagasaki Atomic Bomb Museum/Getty Images ที่มา: https://www.atomicheritage.org/profile/j-robert-oppenheimer https://www.atomicarchive.com/resources/biographies/oppenheimer.html https://royalsocietypublishing.org/doi/10.1098/rsbm.1968.0016 https://ethw.org/Robert_Oppenheimer?gclid=CjwKCAjwwsmLBhACEiwANq-tXFjNSgO9vS0ruuF3x9F0KPyOISaI72ftOxX_Gw4JrtXVQOpOdpzLhBoCzmIQAvD_BwE https://www.softschools.com/facts/scientists/j_robert_oppenheimer_facts/1606/ https://www.coventrytelegraph.net/whats-on/arts-culture-news/11-fascinating-facts-atomic-bomb-8454214 https://www.history.com/topics/world-war-ii/the-manhattan-project https://www.dartmouth.edu/library/digital/collections/lectures/oppenheimer/index.html https://www.upi.com/Archives/1985/04/18/Forty-years-after-the-A-bomb-The-guilt-remains/3267482648400/