‘ปีเตอร์ วิธ’ กุนซือทีมชาติไทยที่ฟื้นบอลไทยถึงจุดพีก แข้งฮีโร่ช่วยวิลล่าชูแชมป์ยุโรป

‘ปีเตอร์ วิธ’ กุนซือทีมชาติไทยที่ฟื้นบอลไทยถึงจุดพีก แข้งฮีโร่ช่วยวิลล่าชูแชมป์ยุโรป

‘ปีเตอร์ วิธ’ อดีตนักเตะแอสตัน วิลล่า ฮีโร่ชุดแชมป์ยุโรปบนเส้นทางลูกหนัง สู่กุนซือทีมชาติไทยที่ปลุกกระแสยุคทองลูกหนังไทย พาทีมฟุตบอลทีมชาติไทยสร้างประวัติศาสตร์มากมาย

  • ยุคที่ฟุตบอลทีมชาติไทยเฟื่องฟู ครั้งหนึ่งมีกุนซือชื่อปีเตอร์ วิธ อดีตนักเตะฮีโร่ชุดแชมป์ยุโรปของแอสตัน วิลล่า คุมทีม
  • ปีเตอร์ วิธ พาทีมชาติทำผลงานประทับใจแฟนบอลทั้งในระดับภูมิภาค ทวีป และพาทีมชาติไทยเข้ารอบฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก 10 ทีมสุดท้ายของเอเชียเป็นครั้งแรก

หากจะเอ่ยถึงกุนซือทีมฟุตบอลทีมชาติไทยที่สามารถสร้างผลงานความสำเร็จให้กับวงการฟุตบอลไทยจนได้รับการยอมรับจากแฟนฟุตบอลและคนในวงการ ผมเชื่อหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของกุนซือชาวอังกฤษอย่าง ‘ปีเตอร์ วิธ’ รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน โดยเจ้าตัวนั้นสมัยเป็นนักฟุตบอลก็มีดีกรีไม่ธรรมดา เป็นถึงอดีตศูนย์หน้าทีมชาติอังกฤษ และเคยลงสนามให้กับสโมสรชื่อดังมาแล้วมากมายทั้งวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส, เบอร์มิงแฮม ซิตี้, น็อตติงแฮม ฟอเรสต์, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, แอสตัน วิลลา, เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์

ปีเตอร์ วิธ เข้ามาคุมทีมชาติไทยในการแข่งขันฟุตบอลในกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นวงการฟุตบอลไทยกำลังพบกับความบอบช้ำมาจากผลงานที่ล้มเหลวในศึกการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน หรือที่มีชื่อว่าไทเกอร์ คัพ ครั้งที่ 2 ปี 1998 ที่ประเทศเวียดนาม นอกจากจะไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้แล้ว ทีมชาติไทยยังลงเล่นแมตช์อัปยศกับทีมชาติอินโดนีเซีย จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และวิกฤตศรัทธาในยุคสมัยนั้น

ปีเตอร์ วิธ ก้าวเข้ามารับงานที่แสนท้าทาย และหลายคนมองว่ายากที่จะประสบความสำเร็จเพราะการแข่งขันฟุตบอลเอเชียนเกมส์ในยุคนั้นเป็นการแข่งขันแบบ FIFA International A Match ซึ่งทุกชาติต่างมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จ ดังนั้น จึงใช้ผู้เล่นระดับคุณภาพมาลงทำการแข่งขัน อีกทั้งผลงานในอดีต ทีมชาติไทยก็ทำได้ไม่ดีนักในรายการนี้ มีเพียงการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 11 ปี 1990 เท่านั้น ที่ทีมชาติไทยสามารถคว้าอันดับที่ 4 มาครองได้ ประกอบกับปีเตอร์ วิธ ก็แทบไม่มีประสบการณ์ในการคุมทีมเลย หลายฝ่ายจึงมีคำถามว่า เขาคนนี้มีอะไรดีถึงจะมาพาทีมชาติไทยให้ประสบความสำเร็จได้

ปีเตอร์ วิธ นำทีมชาติไทยก้าวเข้าสู่ทัวร์นาเมนต์สำคัญและขุนพลช้างศึกก็ค่อย ๆ สร้างผลงานไปทีละนัดจนมาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย หรือรอบควอเตอร์ไฟนอล ที่ทีมชาติไทยต้องโคจรมาพบกับทีมชาติเกาหลีใต้ ทีมที่เพิ่งผ่านการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ฝรั่งเศสมาหมาด ๆ ซึ่งมองในมุมไหนทีมชาติไทยก็เป็นรองอย่างเห็นได้ชัดแต่แล้วปาฏิหาริย์ภายใต้การคุมทีมของเจ้าตัว และยังเป็นแมตช์ที่ตรึงอยู่ในความทรงจำมาจนทุกวันนี้ แม้ในภายหลังทีมชาติไทยจะชวดได้เหรียญทองแดงไปอย่างน่าเจ็บใจก็ตาม

การเข้ามาคุมทีมชาติไทยของปีเตอร์ วิธ กลายเป็นสิ่งที่เหมาะเจาะ ถูกที่ถูกเวลาอย่างที่สุด หลังจากเอเชียนเกมส์ในครั้งนั้น เจ้าตัวก็พาทีมชาติไทยสร้างเรื่องราวประวัติศาสตร์มากมาย การคว้าเหรียญทองซีเกมส์เป็นการส่งท้ายการใช้ทีมชาติชุดใหญ่ การคว้าแชมป์ไทเกอร์ คัพ ได้ 2 สมัย การคว้าคะแนนจากการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟซี เอเชียน คัพ (AFC Asian Cup) และการผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกและมีคะแนนติดไม้ติดมือกลับมาถือเป็นอีกผลงานที่ยากจะลืมเลือน

บทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ ‘ปีเตอร์ วิธ’ กุนซือผู้เข้ามาเปลี่ยนแปลงฟุตบอลไทย กุนซือต่างชาติที่ประสบความสำเร็จสูงสุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไปพบกับเรื่องราวของเขากันครับ

 

จากนักเตะพเนจร สู่แชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษ

ปีเตอร์ วิธ กองหน้าในวัย 19 ปีเริ่มต้นค้าแข้งกับสโมสรฟุตบอลเซาท์พอร์ต เอฟซี ในฤดูกาล 1970-1971 โดยมีโอกาสลงสนามให้กับสโมสรเพียง 3 นัดเท่านั้น จากนั้นเจ้าตัวก็ตระเวนไปค้าแข้งให้กับสโมสรขนาดเล็ก 2-3 ทีมในช่วงฤดูกาล 1971-1973 เพื่อเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์เชิงลูกหนัง

จากนั้นปีเตอร์ วิธ ก็มีโอกาสมาสังกัดกับสโมสรที่ใหญ่ขึ้นอย่างวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส 2 ฤดูกาลระหว่างปี 1973-1975 และเจ้าตัวมีโอกาสลงสนามในฟุตบอลดิวิชั่น 1 ซึ่งเป็นฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษในขณะนั้นไปทั้งสิ้น 17 นัด และทำประตูได้ทั้งหมด 3 ประตู

ในช่วงปี 1975 หลังจากปีเตอร์ วิธ สิ้นสุดการค้าแข้งกับสโมสรวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส และอยู่ระหว่างหาสโมสรที่จะค้าแข้งในฤดูกาลถัดไปอยู่นั้น เจ้าตัวตัดสินใจไปหาประสบการณ์ที่แปลกใหม่โดยการข้ามน้ำข้ามทะเลไปค้าแข้งยังศึกนอร์ท อเมริกัน ซอคเกอร์ ลีก (North American Soccer League) หรือที่นิยมเรียกกันว่า เอ็นเอเอสแอล (NASL) กับสโมสรพอร์ตแลนด์ ทิมเบอร์ และปีเตอร์ วิธ ก็สามารถโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม โดยยิงประตูได้ถึง 16 ประตูจากการลงสนามไปทั้งสิ้น 22 นัด ผลงานดังกล่าวสร้างความมั่นใจให้กับแข้งหนุ่มวัย 24 ปีอีกครั้ง

หลังจากปีเตอร์ วิธ ไปสร้างผลงานบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกาแล้ว เจ้าตัวก็กลับมาค้าแข้งที่ประเทศอังกฤษกับสโมสรเบอร์มิงแฮม ซิตี้ ในฤดูกาล 1975-1976 และปีเตอร์ วิธ ก็สามารถยึดตำแหน่งเป็นกองหน้าตัวหลักของทีมได้ เจ้าตัวลงสนามในฟุตบอลดิวิชั่น 1 ไปทั้งสิ้น 32 นัด ทำประตูได้ทั้งสิ้น 9 ประตู ลงสนามในฟุตบอลถ้วยเอฟเอ คัพ และลีก คัพ อีกรายการละ 2 นัดแต่ไม่สามารถทำประตูได้ โดยในฤดูกาลดังกล่าวสโมสรเบอร์มิงแฮม ซิตี้ จบในอันดับที่ 19 ของฟุตบอลดิวิชั่น 1

ปีเตอร์ วิธ ย้ายสโมสรอีกครั้งโดยหลังจากทำผลงานได้ค่อนข้างดีกับสโมสรเบอร์มิงแฮม ซิตี้ เจ้าตัวก็ตกลงเซ็นสัญญากับสโมสรน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นทีมระดับดิวิชั่น 2 ของอังกฤษ จำนวนทั้งสิ้น 2 ฤดูกาล ในช่วงปี 1976-1978 โดยเพียงแค่ฤดูกาลแรกของปีเตอร์ วิธ กับสโมสรน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ เจ้าตัวสามารถพาทีมเลื่อนชั้นขึ้นสู่ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ โดยลงสนามไปทั้งสิ้น 42 นัด และยิงประตูได้ทั้งสิ้น 19 ประตูเป็นดาวยิงสูงสุดของสโมสรในฤดูกาล 1976-1977 และพาทีมเจ้าป่าจบอันดับที่ 3 ในฟุตบอลดิวิชั่น 2 ของอังกฤษ

ฤดูกาล 1977-1978 ปีเตอร์ วิธ และสโมสรน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ มาโลดแล่นอยู่ในฟุตบอลดิวิชั่น 1 ของอังกฤษอีกครั้ง และทั้งคู่ก็ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์อันแสนน่าเหลือเชื่อเมื่อปีเตอร์ วิธ ลงสนามในฟุตบอลดิวิชั่น 1 อังกฤษฤดูกาลนั้นไปทั้งสิ้น 40 นัดและทำประตูได้ 12 ประตู ส่งให้สโมสรน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ คว้าแชมป์ฟุตบอลดิวิชั่น 1 มาครองได้อย่างยิ่งใหญ่ โดยมีคะแนนเหนือยอดทีมอย่างสโมสรลิเวอร์พูลกว่า 7 คะแนน

นอกจากนั้น สโมสรน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ยังสามารถเอาชนะสโมสรลิเวอร์พูลในรอบชิงชนะเลิศของฟุตบอลลีก คัพได้อีกด้วย โดยในฟุตบอลลีก คัพ นั้น ปีเตอร์ วิธ ลงสนามไปทั้งสิ้น 8 นัดทำประตูได้ 5 ประตู โดยเฉพาะในเกมรอบรองชนะเลิศกับสโมสรลีดส์ ยูไนเต็ด เจ้าตัวซัดประตูใส่ทีมยูงทองได้ทั้งเกมเหย้าและเกมเยือน

ส่วนการแข่งขันฟุตบอลเอฟเอ คัพ ในฤดูกาลดังกล่าวเป็นที่น่าเสียดายเมื่อสโมสรน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ต้องตกรอบ 6 ด้วยน้ำมือของสโมสรเวสต์บรอมวิช อัลเบียน โดยปีเตอร์ วิธ ลงสนามในฟุตบอลถ้วยที่เก่าแก่ที่สุดของอังกฤษไปทั้งสิ้น 6 นัด ทำประตูไปได้ 2 ประตู ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะไปไม่ถึงฝั่งฝันในถ้วยใบนี้แต่การคว้าแชมป์ฟุตบอลดิวิชั่น 1 และฟุตบอลลีก คัพ ร่วมกับสโมสรน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ได้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความทรงจำของปีเตอร์ วิธ 

 

การเดินทางอีกครั้งสู่แชมป์ยูโรเปียน คัพ

ปีเตอร์ วิธ ออกเดินทางอีกครั้งในฤดูกาล 1978-1979 แต่ครั้งนี้เจ้าตัวย้ายไปอยู่กับสโมสรนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด โดยเจ้าตัวเป็นกำลังสำคัญของขุนพลสาลิกาดง โดยตลอด 2 ฤดูกาลที่อยู่กับสโมสรแห่งนี้ ปีเตอร์ วิธ ลงสนามทุกรายการไปทั้งสิ้น 83 นัด ทำประตูได้ทั้งหมด 27 ประตู และได้รางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมหรือ Player of the Year ของสโมสรประจำฤดูกาล 1978-1979

จากนั้นปีเตอร์ วิธ ก็เริ่มต้นพเนจรอีกครั้ง หลังจากจบฤดูกาล 1979-1980 เจ้าตัวตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการย้ายไปสโมสรแอสตัน วิลลา โดยฤดูกาล 1980-1981 ซึ่งเป็นฤดูกาลแรกที่ปีเตอร์ วิธ ย้ายมาอยู่แอสตัน วิลลา นั้นเจ้าตัวลงสนามทั้งหมดทุกรายการรวม 40 นัด ทำประตูได้ 21 ประตู มีส่วนสำคัญในการพาสโมสรแอสตัน วิลลาคว้าแชมป์ฟุตบอลดิวิชั่น 1 ของประเทศอังกฤษ 

ฤดูกาล 1981-1982 หลังจากที่ปีเตอร์ วิธ มีส่วนสำคัญในการพาสโมสรความแชมป์ฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศได้แล้ว ฤดูกาลดังกล่าวปีเตอร์ วิธ ได้ลงสนามให้กับสโมสรแอสตัน วิลลา ในฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรป หรือรายการยูโรเปียน คัพ (European Cup) โดยในรอบแรกนัดแรกกับสโมสรวาเลอร์ จากประเทศไอซ์แลนด์เจ้าตัวทำประตูได้ 2 ประตู มีส่วนช่วยให้สิงห์ผงาดสามารถเอาชนะไปได้ 5-0

จากนั้นปีเตอร์ วิธก็ได้ลงสนามในเวทียุโรปอย่างต่อเนื่องทั้งในเกมรอบที่ 2 กับสโมสรบีเอฟซี ไดนาโม จากเยอรมันตะวันออก รอบควอเตอร์ไฟนอลกับสโมสรไดนาโม เคียฟ จากสหภาพโซเวียต รอบรองชนะเลิศกับสโมสรอันเดอร์เลซ จากเบลเยี่ยม แม้เจ้าตัวจะไม่สามารถทำประตูเพิ่มได้แต่ก็ได้รับความไว้วางใจและมีส่วนสำคัญในการพาสโมสรแอสตัน วิลลาเดินทางมาถึงรอบชิงชนะเลิศได้อย่างเหลือเชื่อ

รอบชิงชนะเลิศของฟุตบอลยูโรเปียน คัพในฤดูกาล 1981-1982 นั้น สโมสรแอสตัน วิลลา โคจรมาพบกับยอดทีมอย่างสโมสรบาเยิร์น มิวนิก จากเยอรมันตะวันตก และปีเตอร์ วิธ ก็ยังคงได้รับความไว้วางใจให้ลงสนามอีกครั้ง และเจ้าตัวก็ตอบแทนความไว้วางใจดังกล่าวด้วยการทำประตูโทนในนัดนี้ ช่วยให้สโมสรแอสตัน วิลลาสามารถเอาชนะสโมสรบาเยิร์น มิวนิค ไปได้ 1-0 คว้าแชมป์ยูโรเปียน คัพไปครองได้สำเร็จ ท่ามกลางผู้ชมกว่า 40,000 คน ผลงานดังกล่าวถือว่าเป็นจุดสูงสุดในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพของปีเตอร์ วิธ โดยเจ้าตัวค้าแข้งอยู่กับสโมสรแอสตัน วิลลา รวมกว่า 5 ฤดูกาล (1980-1985) ลงสนามไปทั้งสิ้น 182 นัด ทำประตูไป 74 ประตู

จากนั้นปีเตอร์ วิธ ก็เริ่มต้นเดินทางใหม่อีกครั้งโดยในฤดูกาล 1985-1989 เจ้าตัวย้ายไปยังสโมสรเชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด แต่ก็เปรียบเสมือนช่วงเวลาขาลงของอาชีพนักฟุตบอลแล้ว ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้นเจ้าตัวลงสนามน้อยลงเรื่อย ๆ ความยิ่งใหญ่ที่เคยสั่งสมไว้ก็เริ่มกลายเป็นอดีต จากนั้นปีเตอร์ ย้ายไปยังสโมสรฮัดเดอร์ฟิลด์ ทาวน์ ในฤดูกาล 1989-1990 โดยลงสนามไป 18 นัดทำได้ 1 ประตู เป็นการปิดฉากอาชีพนักฟุตบอลด้วยวัย 39 ปี

 

เริ่มต้นเส้นทางสายกุนซือพาทีมชาติไทยสร้างประวัติศาสตร์มากมาย

หลังจากแขวนสตั๊ดปีเตอร์ วิธ เริ่มต้นเส้นทางการเป็นกุนซือด้วยการคุมสโมสรวิมเบิลดัน ในฤดูกาล 1991-1992 แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจากผลงานของทีมจอมโหดนั้นไม่เป็นไปตามเป้าหมายชนะเพียง 1 นัดจากการลงสนามไปทั้งสิ้น 14 นัด จนทางสโมสรไม่อาจจะเสี่ยงต่อไปได้จึงปลดเจ้าตัวออกจากตำแหน่งหลังเริ่มต้นทำงานอาชีพกุนซือไปได้เพียง 3 เดือนกว่าเท่านั้น

จากนั้นเจ้าตัวก็ไม่เคยได้มีโอกาสคุมทีมใดอีกเลย จวบจนปี 1998 ก่อนการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ประมาณ 1 เดือน ปีเตอร์ วิธ มีโอกาสเข้ามารับงานคุมทีมชาติไทยชุดใหญ่ทำศึกในระดับเอเชีย

อย่างที่เกริ่นให้ทราบไปแล้วว่าทีมชาติไทยในเวลานั้นกำลังบอบช้ำมาจากการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียนหรือก็คือรายการไทเกอร์ คัพ ครั้งที่ 2 ในปี 1998 ที่ทีมชาติไทยไม่สามารถป้องกันแชมป์ได้และจบเพียงอันดับที่ 4 ของรายการเท่านั้น แถมมาด้วยความเสื่อมศรัทธาของแฟนฟุตบอลไทยเพราะนอกจากจะไม่สามารถคว้าชัยชนะกลับมาได้แล้ว ทีมชาติไทยยังมีส่วนเกี่ยวกับแมตช์อัปยศที่เอาชนะทีมชาติอินโดนีเซียไปได้ 3-2 ในแบบที่นักเตะอินโดนีเซียตั้งใจยิงเข้าประตูตัวเอง

ปีเตอร์ วิธ มารับงานเป็นกุนซือทีมชาติไทยในฟุตบอลรายการใหญ่ระดับทวีปโดยที่เจ้าตัวมีเพียงประสบการณ์การเป็นนักฟุตบอลอาชีพพเนจรมาแล้วโชกโชนเท่านั้น ส่วนประสบการณ์ด้านการคุมทีมฟุตบอลก็มีเพียงความล้มเหลวกับสโมสรวิมเบิลดันเท่านั้น อีกทั้งในช่วงเวลานั้นทีมชาติไทยที่กำลังโดนวิจารณ์อย่างหนัก จะทำอะไรก็โดนจับตา ความกดดันถาโถมเข้ามาตลอดเวลา และด้วยเวลาที่จำกัดยากที่ปีเตอร์ วิธ จะทำความคุ้นเคยกับนักฟุตบอลทีมชาติไทย เรียกได้ว่าโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นแทบจะไม่มีความเป็นไปได้เลยในสายตาของสื่อมวลชนและแฟนฟุตบอลไทยในช่วงเวลานั้น

 

We can do it - พวกเราทำได้’

ประโยคที่แสนเรียบง่ายที่ปีเตอร์ วิธ เอาไว้ใช้ตอบคำถามเวลาถูกถามถึงความน่าจะเป็นถึงความสำเร็จของทีมชาติไทย เจ้าตัวใช้ประสบการณ์สมัยเป็นนักฟุตบอลพเนจรมาถ่ายทอดให้กับขุนพลช้างศึกในยุคสมัยนั้น ปีเตอร์ วิธ คุมทีมชาติไทยด้วยระเบียบวินัยที่เข้มข้น แต่ก็แฝงไว้ด้วยรอยยิ้มและความเป็นกันเอง นั่นคือจุดเด่นของเจ้าตัวที่สามารถซื้อใจนักฟุตบอลทีมชาติไทยได้ในเวลานั้น และนักฟุตบอลทีมชาติไทยก็ตอบแทนด้วยผลงานในสนามอย่างยอดเยี่ยม

ปีเตอร์ วิธ ปลุกเร้าลูกทีมด้วยจิตวิทยาเวลาที่ทีมชาติไทยเป็นรอง อย่างเช่นในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี 1998 รอบ 8 ทีมสุดท้ายกับทีมชาติเกาหลีใต้ที่จบ 90 นาทีทั้งคู่เสมอกัน 1-1 แต่ทีมชาติไทยเหลือผู้เล่นลงสนามเพียง 9 คนเท่านั้น ระหว่างพักเบรก ปีเตอร์ วิธ ปลุกเร้าลูกทีมของตนให้ลืมความเสียเปรียบทั้งหมดไป และลงสนามเล่นให้เต็มที่ตอบแทนแฟนฟุตบอลกว่า 60,000 คนในสนามราชมังคลากีฬาสถาน และในท้ายที่สุดทีมชาติไทยก็สามารถพลิกเอาชนะทีมชาติเกาหลีใต้ไปได้ 2-1 จากลูกยิงฟรีคิกแสนมหัศจรรย์ของธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล เป็นโกลเด้นโกลด์ส่งทีมชาติไทยเข้าสู่รอบรองชนะเลิศก่อนจะจบการแข่งขันด้วยอันดับที่ 4 เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกกล่าวถึงมาจนทุกวันนี้

ปี 1999 ปีเตอร์ วิธ ก็สร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมเมื่อเจ้าตัวคุมทีมชาติไทยไปคว้าเหรียญทองฟุตบอลในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ได้สำเร็จด้วยฟอร์มการเล่นอันยอดเยี่ยม เป็นการคว้าแชมป์รายการหลักได้เป็นครั้งแรกกับทีมชาติไทยและเป็นการส่งท้ายฟุตบอลซีเกมส์ที่จะเปลี่ยนแปลงไปใช้ผู้เล่นชุดอายุไม่เกิน 23 ปีในครั้งต่อไปได้อย่างสวยงาม

และในปีถัดมา ปีเตอร์ วิธ ก็พาทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติไต้หวัน 1-0 ชนะเกาหลีเหนือได้อย่างสุดมันส์ 5-3 ตบท้ายด้วยการเอาชนะทีมชาติมาเลเซียได้ 3-2 ในการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟซี เอเชียน คัพ ปี 2000 รอบคัดเลือกเลก 2 ที่กรุงเทพมหานคร คว้า 9 คะแนนเต็มไปครอง เมื่อรวมกับ 4 คะแนนที่ได้จากการเอาชนะทีมชาติไต้หวัน 2-0 เสมอทีมชาติเกาหลีเหนือ 0-0 และแพ้ทีมชาติมาเลเซีย 2-3 ในการแข่งขันเลกแรกที่ประเทศมาเลเซีย ก็ส่งผลให้ทีมชาติไทยสามารถผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบสุดท้ายที่ประเทศเลบานอนได้

การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งทวีปเอเชีย หรือรายการเอเอฟซี เอเชียน คัพ ปี 2000 ที่ประเทศเลบานอนนั้น ทีมชาติไทยทำผลงานได้น่าพอใจ เมื่อสามารถเก็บได้ 2 คะแนนจากการเสมอกับทีมชาติอิหร่านและเลบานอนไป 1-1 ทั้งสองนัดในการแข่งขันรอบแรกด้วยฟอร์มการเล่นที่สู้ได้และมีลุ้นถึงชัยชนะ ทีมชาติไทยในช่วงเวลานั้นสามารถยกระดับไปต่อกรกับระดับเอเชียบางทีมได้อย่างสนุก และฟอร์มที่ร้อนแรงอย่างต่อเนื่องทำให้ในช่วงปลายปี 2000 ทีมชาติไทยก็สามารถกลับมาครองแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียนได้ โดยในรอบชิงชนะเลิศนั้นก็สามารถเอาชนะอินโดนีเซียไปได้แบบขาดลอย 4-1 เป็นแชมป์ที่สองของปีเตอร์ วิธ กับทีมชาติไทยและเป็นการพาทีมชาติไทยกลับมายึดบัลลังก์เจ้าอาเซียนอีกครั้ง

ปี 2001 ปีเตอร์ วิธ ยังไม่หยุดสร้างผลงานกับทีมชาติไทย เริ่มต้นด้วยการพาทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติคูเวตในเกมกระชับมิตรแบบ FIFA International A Match ไป 5-4 และเอาชนะทีมชาติกาตาร์ได้ 2-0 ในนัดชิงอันดับที่ 3 ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ คัพ จากนั้นปีเตอร์ วิธ พาทีมชาติไทยสร้างประวัติศาสตร์ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก โดยในรอบแบ่งกลุ่มนั้น ทีมชาติไทยสามารถผ่านด่านศรีลังกา, ปากีสถาน และเลบานอน โดยสามารถเอาชนะไปได้ถึง 5 นัดและเสมอเพียง 1 นัดกับทีมชาติเลบานอน ส่งผลให้ทีมชาติไทยสามารถผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือก 10 ทีมสุดท้ายของเอเชียได้เป็นครั้งแรก

และในรอบสุดท้ายทีมชาติไทยก็สามารถเก็บคะแนนมาได้ 4 คะแนนเมื่อสามารถเสมอกับอิหร่าน 0-0 (เหย้า), เสมอ บาห์เรน 1-1 (เยือน), เสมอ อิรัก 1-1 (เหย้า) และ เสมอบาห์เรน 1-1 (เหย้า) โดยมีเพียงทีมชาติซาอุดิอาระเบียเท่านั้นที่ทีมชาติไทยพ่ายแพ้ไปทั้งเกมเหย้าและเยือน

ปี 2002 ปีเตอร์ วิธ สามารถสร้างประวัติศาสตร์พาทีมชาติไทยชุดใหญ่คว้าแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน หรือไทยเกอร์ คัพมาครองได้เป็นสมัยที่ 3 ของทีมชาติไทยจากการจัดการแข่งขันทั้งสิ้น 4 ครั้ง และความสำเร็จในครั้งนั้นคือแชมป์ลำดับที่ 3 ของปีเตอร์ วิธ กับทีมชาติไทยโดยนับเฉพาะรายการเมเจอร์ (ซีเกมส์ 1999, ไทเกอร์ 2000 และ 2002)

นอกจากนี้ ปีเตอร์ วิธ ยังพาทีมชาติไทยชุดเอเชียนเกมส์คว้าอันดับที่ 4 มาครองได้อีกสมัย โดยในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ปี 2002 ณ เมืองบูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เป็นครั้งแรกที่ใช้ผู้เล่นหลักเป็นรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ทีมชาติไทยสามารถเอาชนะเยเมน, เวียดนาม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ในรอบแรก

จากนั้นในรอบ 8 ทีมสุดท้ายทีมชาติไทยก็สามารถเอาชนะเกาหลีเหนือได้อย่างพลิกความคาดหมาย ก่อนที่ในรอบรองชนะเลิศและรอบชิงเหรียญทองแดง ทีมชาติไทยจะต้านทานความแข็งแกร่งของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไม่ไหว ชวดสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ไปอย่างน่าเสียดาย

ปีเตอร์ วิธ ต้องยุติเส้นทางของตัวเองกับทีมชาติไทยไว้ในปี 2003 หลังจากที่ทีมชาติไทยต้องตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโอลิมปิกเกมส์ด้วยน้ำมือของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งแม้ตอนจบจะไม่สวยงามนักแต่ตลอดเส้นทางเดินของเจ้าตัวกับทีมชาติไทยก็เต็มไปด้วยการสร้างประวัติศาสตร์และผลงานให้กับวงการฟุตบอลไทยมากมาย อย่างน้อยทีมชาติไทยก็อยู่ในจุดที่ควรอยู่อย่างเป็นเจ้าอาเซียนที่สามารถต่อกรกับทีมระดับเอเชียได้อย่างสง่าผ่าเผย

 

ชีวิตหลังจากลาจากทีมชาติไทย

หลังจากลาออกจากการเป็นกุนซือทีมชาติไทย ปีเตอร์ วิธ รับงานคุมทีมชาติอินโดนีเซียต่อในปี 2004-2007 โดยตลอดระยะเวลาที่คุมนั้นก็สามารถพาทีมคว้ารองแชมป์ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียนได้ในการแข่งขันฟุตบอลไทเกอร์ คัพ ครั้งที่ 5 ปี 2004 ที่เวียดนามและมาเลเซียเป็นเจ้าภาพร่วมกันในรอบแรก

และเมื่อสิ้นสุดการคุมทีมชาติอินโดนีเซียปีเตอร์ วิธ ไม่ได้รับงานคุมทีมจริงจังอีกเลย จนกระทั่งปี 2013 ชื่อของปีเตอร์ วิธ มาปรากฏในวงการฟุตบอลไทยอีกครั้ง เมื่อเจ้าตัวมารับงานคุมสโมสรปตท. ระยอง ในศึกฟุตบอลไทยลีก ลีกสูงสุดของประเทศไทย

ข่าวการรับตำแหน่งเป็นกุนซือทีมพลังเพลิงของปีเตอร์ วิธ สร้างความฮือฮาให้กับแฟนฟุตบอลไทยเป็นอย่างมาก หลายคนอยากเห็นฝีไม้ลายมือของกุนซือระดับตำนานของทีมชาติไทยอีกครั้ง แต่เมื่อศึกไทยลีกเริ่มต้นแข่งขันกันไปได้เพียง 13 นัด ก็มีข่าวร้ายเกิดขึ้น

“ปตท.ระยอง ปลด ปีเตอร์ วิธ ผลงานไม่เข้าตา ตั้ง ชัยยงค์ แทน”

นี่คือพาดหัวข่าวจากเว็บไซต์ไทยรัฐ วันที่ 30 พฤษภาคม 2014 เมื่อสโมสรปตท. ระยอง ตัดสินใจยกเลิกสัญญากับกุนซือระดับตำนานของทีมชาติไทยเพราะเจ้าตัวทำทีมเก็บได้เพียง 9 คะแนนจากการลงสนามทั้งสิ้น 13 นัด อยู่อันดับ 18 จากจำนวน 20 ทีม มีโอกาสตกชั้นสูง และเมื่อหลังจากถูกปลด เจ้าตัวก็รับงานเป็นที่ปรึกษาสโมสรนครปฐม ยูไนเต็ด ในศึกยามาฮ่าลีกวัน หรือก็คือไทยลีก 2 นั่นคืองานสุดท้ายของเจ้าตัวกับวงการฟุตบอลไทย (นับจนถึงพฤษภาคม 2566)

ครับ และนี่คือเรื่องราวของ ‘ปีเตอร์ วิธ’ อีกหนึ่งประวัติศาสตร์ของกุนซือทีมชาติไทย

 

เรื่อง: ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)       

ภาพ: (ซ้าย) ปีเตอร์ วิธ หลังเกมชิงแชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ (ขวา) ปีเตอร์ วิธ ขณะทำงานคุมทีมชาติไทย ภาพจาก Getty Images