โนแลน บุชเนลล์: จากเจ้าของเกมอาเขตสุดฮิต ‘Pong’ สู่เจ้าของฉายาบิดาแห่งเกมอิเล็กทรอนิกส์

โนแลน บุชเนลล์: จากเจ้าของเกมอาเขตสุดฮิต ‘Pong’ สู่เจ้าของฉายาบิดาแห่งเกมอิเล็กทรอนิกส์

จากเจ้าของเกมอาเขตสุดฮิต ‘Pong’ สู่เจ้าของฉายาบิดาแห่งเกมอิเล็กทรอนิกส์

หากจะยกให้ใครสักคนเป็นบิดาแห่งเกมอิเล็กทรอนิกส์ เขาคนนั้นคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ‘โนแลน บุชเนลล์’ (Nolan Bushnell) เพราะไม่ว่าจะเป็น ‘เกมอาเขต’ (Arcade game) หรือวิดีโอเกมสุดคลาสสิกที่ฮิตในหมู่เด็กยุค 80s ภายใต้บริษัท ‘อาตาริ’ (Atari) ต่างก็มีจุดเริ่มต้นมาจากชายคนนี้ด้วยกันทั้งคู่ โนแลน บุชเนลล์: จากเจ้าของเกมอาเขตสุดฮิต ‘Pong’ สู่เจ้าของฉายาบิดาแห่งเกมอิเล็กทรอนิกส์ Full-time นักศึกษาวิศวกรรม Part-time พนักงานสวนสนุก โนแลน บุชเนลล์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 1943 ในครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่ได้มีชีวิตลำบากมากนัก ทำให้บุชเนลล์ในวัยเด็กมีเวลาว่างมากพอจะหางานอดิเรกสักชิ้นทำ บุชเนลล์มีความสนใจในการประดิษฐ์สิ่งของ เขาเล่นกับวงจรไฟฟ้า และสร้างจรวดเชื้อเพลิงเหลวติดไว้ที่โรลเลอร์สเก็ตจนเกือบทำไฟไหม้โรงรถของบ้าน แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ความรักและชื่นชอบในอิเล็กทรอนิกส์ของเขาก็ไม่ลดลง ต่อมาบุชเนลล์จึงเลือกศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ก่อนหน้านั้นในช่วงที่บุชเนลล์อายุได้ 15 ปี พ่อของเขาได้เสียชีวิตลง บุชเนลล์จึงต้องเข้ามาดูแลธุรกิจของครอบครัวแทน ซึ่งหัวการค้าและความสามารถในการทำธุรกิจของเขาก็เริ่มฉายแววตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อบุชเนลล์เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขาได้เข้าเรียนวิชาการทำคอมพิวเตอร์กราฟิกขั้นพื้นฐาน และเริ่มทำงานพิเศษด้วยการเป็นพนักงานแผนกเกมในสวนสนุก ‘Lagoon Amusement Park’ ควบคู่ไปกับการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งสิ่งนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นและใบเบิกทางให้บุชเนลล์ได้พบเจอกับความสำเร็จในอนาคต การเป็นพนักงานในแผนกเกมทำให้บุชเนลล์ต้องใช้ชีวิตอยู่กับเกมตลอดเวลา เขาเริ่มคิดถึงการรวมเอาเกมที่เขาชื่นชอบอย่าง ‘Spacewar’ เกมยิงอวกาศ กับระบบการเล่นเกมในสวนสนุกที่ต้องจ่ายเงินทุกครั้งที่เล่นเอาไว้ด้วยกัน แต่มันยังคงเป็นเพียงแค่ความคิดเท่านั้น กระทั่งปี 1970 บุชเนลล์และเพื่อนของเขา ‘เท็ด แดปนีย์’ (Ted Dabney) ได้ร่วมกันสร้างเกมอาเขตจากความคิดเริ่มแรกของบุชเนลล์ขึ้น พวกเขาตั้งชื่อมันว่า ‘Computer Space’ เกมแนวอวกาศ ซึ่งมีแนวคิดในการสร้างจากการซื้อฮาร์ดแวร์ ‘Data General Nova’ มาเชื่อมต่อกับเครื่องปลายทางแบบหยอดเหรียญหลายเครื่อง บุชเนลล์นำเอาไอเดียนี้ไปเสนอขายให้กับบริษัท ‘Computer Quiz’ จนสร้างยอดขายได้มากกว่า 1,500 เครื่อง แต่เป็นที่น่าเสียดายเมื่อเกมนี้ซับซ้อนเกินไปจึงไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร โนแลน บุชเนลล์: จากเจ้าของเกมอาเขตสุดฮิต ‘Pong’ สู่เจ้าของฉายาบิดาแห่งเกมอิเล็กทรอนิกส์ จาก Computer Space สู่ Pong เกมฮิตติดตลาด บทเรียนจากการสร้าง Computer Space ทำให้บุชเนลล์เห็นว่าผู้คนส่วนใหญ่มักจะมองหาเกมที่สามารถเล่นได้ง่าย ๆ และไม่ซับซ้อนจนเกินไป พวกเขาจึงนำเอาเงินที่ได้จากการขายไอเดียเกม Computer Space ​​มาก่อตั้งบริษัทของตัวเองด้วยเงินทุนเพียง 500 เหรียญสหรัฐ โดยใช้ชื่อว่า ‘อาตาริ’ (Atari) และเริ่มพัฒนาเกมอาเขตเกมใหม่ขึ้นภายใต้ชื่อ ‘Pong’ Pong เป็นชื่อที่ย่อมาจาก Ping-Pong โดยมีวิธีการเล่นที่ง่ายแสนง่ายด้วยการตีโต้ลูกบอลกันไปมาระหว่างผู้เล่น 2 คน Pong เปิดตัวครั้งแรกที่บาร์ในซันนีเวล รัฐแคลิฟอร์เนีย ในปี 1971 และถูกปล่อยอย่างเป็นทางการในปี 1972 ซึ่งเกมนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนเกิดปรากฏการณ์ขึ้นในวงการเกม เมื่อตู้เกมอาเขตตามสถานที่ต่าง ๆ ได้เหรียญจนเต็มตู้ภายในชั่วข้ามคืน โนแลน บุชเนลล์: จากเจ้าของเกมอาเขตสุดฮิต ‘Pong’ สู่เจ้าของฉายาบิดาแห่งเกมอิเล็กทรอนิกส์ จากกระแสความนิยมของ Pong ทำให้ในปี 1975 อาตาริตัดสินใจพัฒนา Pong ที่จากเดิมเป็นเกมอาเขตให้กลายเป็นวิดีโอเกมที่สามารถเล่นได้ในครอบครัว และก็เป็นอีกครั้งที่เกมของบริษัทกวาดรายได้ไปอย่างถล่มทลาย จนกลายเป็นเกมในตำนานมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังส่งผลให้อาตาริตัดสินใจผลิตวิดีโอเกมออกมาอีกมากมายส่งให้บริษัทก้าวทะยานสู่การเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเกม แต่หลังจากนั้นในปี 1976 บุชเนลล์ได้ขายอาตาริให้กับ ‘Time Warner’ ในราคา 28 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปี 1982 อาตาริสามารถทำยอดขายไปได้กว่า 2 พันล้านเหรียญฯ ต่อปี ส่วนบุชเนลล์ได้ออกไปตั้งบริษัท ‘Chuck E. Cheese Pizza Restaurants’ ในปี 1977 ซึ่งเป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้สนุกสนานไปกับการเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่ไปกับการกินอาหารนอกบ้าน หลังจากนั้นบุชเนลล์ยังสร้างบริษัทอีกมากกว่า 20 แห่งในเวลาต่อมา และทำงานในหลายด้านทั้งคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ บุชเนลล์เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เกมคือ ‘สื่อ’ ที่สามารถส่งเสริมความรู้และความคิดสร้างสรรค์ไปควบคู่กันได้ ซึ่งเกมที่เขาสร้างก็เป็นทั้งแรงบันดาลใจ และแนวทางในการพัฒนาวิดีโอเกมเพื่อการศึกษาในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยหนึ่งในบริษัทของเขาอย่าง ‘BrainRush’ ก็ใช้เทคโนโลยีวิดีโอเกมในการผลิตซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษาเช่นกัน จากความสำเร็จและสิ่งที่บุชเนลล์ทำให้สังคมจึงไม่แปลกใจที่เขาจะถูกเลือกให้เป็น 1 ใน 50 บุคคลผู้เปลี่ยนแปลงอเมริกาโดยนิตยสาร ‘Newsweek’ กระทั่งไม่นานมานี้ บุชเนลล์ยังคงอยู่ในวงการเทคโนโลยีที่เขาสนใจโดยการก้าวเข้าสู่แวดวง ‘NFT’ โดยร่วมมือกับ ‘Zai Ortiz’ เพื่อนร่วมงานที่เคยทำวิชวลเอฟเฟกต์สุดอลังการในภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง ‘Iron Man 2’ (2010) และ ‘Mission: Impossible-Ghost Protocol’ (2011) โดยทั้งสองได้สร้างคอลเลกชันชื่อ ‘genesis’ ขึ้นสำหรับการประมูลใน ‘MakersPlace’ หลังการประมูลดังกล่าวในเดือนตุลาคม 2021 ผ่านไป บุชเนลล์ยังคงสร้าง NFT ใหม่ออกมา โดยในครั้งนี้จะไม่ใช่แค่ภาพหรือวิดีโอดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังรวมถึง Augmented Reality (AR) ด้วย เรียกได้ว่า ‘โนแลน บุชเนลล์’ เป็นชายผู้ไม่เคยหยุดเรียนรู้ในสิ่งที่เขาสนใจ จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบุชเนลล์ถึงเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการเกมอิเล็กทรอนิกส์ที่ก้าวทันโลกเสมอมา เรื่อง: มณิสร วรรณศิริกุล ภาพ: Photo by Adolph/ullstein bild via Getty Images https://www.youtube.com/watch?v=PtwpP5Lnl_8 ที่มา: https://lemelson.mit.edu/resources/nolan-bushnell https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-09-27/nolan-bushnell-the-man-behind-atari-and-chuck-e-cheese-is-releasing-an-nft  https://www.fastcompany.com/3068135/the-untold-story-of-atari-founder-nolan-bushnells-visionary-1980s-tech-incubator