ซึบาสะ: จากการ์ตูนสู่เกมของค่าย TECMO ความฮิตที่ยาวนาน เล่นกันยันลูกบวช

ซึบาสะ: จากการ์ตูนสู่เกมของค่าย TECMO ความฮิตที่ยาวนาน เล่นกันยันลูกบวช

จากการ์ตูนสู่เกมของค่าย TECMO ความฮิตที่ยาวนาน เล่นกันยันลูกบวช

การ์ตูนเรื่องกัปตันซึบาสะนั้นจริง ๆ เขียนโดย ทะกะฮะชิ โยอิชิ (高橋陽一) ตั้งแต่ปี ค. ศ. 1981-1988 ก่อนที่ทะกะฮะชิจะตัดสินใจกลับมาเขียนภาคต่อคือภาค World Youth ในปี ค. ศ. 1994 แต่ที่จะพูดถึงในวาระนี้ ไม่ใช่เรื่องเนื้อหาของการ์ตูนเรื่องนี้ แต่เป็น VDO Game ที่ทำจากการ์ตูนกัปตันซึบาสะโดยค่ายเกม TECMO ต่างหาก ความน่าสนใจของเกมนี้ที่ผลิตโดยค่าย TECMO คือมีทั้งหมด 5 ภาค ภาคแรกผลิตในปี 1988 จึงยังค่อนข้างทำตามเนื้อเรื่องในการ์ตูน แต่ภาค 2-5 นั้น ค่าย TECMO “แต่งเนื้อเรื่องขึ้นมาใหม่” เพราะภาค 2-5 ผลิตในช่วงปี ค. ศ. 1990-1994 ก่อนที่ทะกะฮะชิจะกลับมาเขียนภาค World Youth ทำให้ผลงานของ TECMO กลายเป็น Alternative Story ไปโดยปริยาย เป็นการใช้จินตนาการของผู้ผลิตเกมซ้อนเข้าไปกับจินตนาการของผู้เขียนการ์ตูนเรื่องนี้อีกทบหนึ่งนั่นเอง แม้เวอร์ชันการ์ตูนจะเกิดก่อน แต่กลับกลายเป็นว่าเกมของ TECMO ฮิตติดตลาดมากรวมทั้งในไทยด้วย จนกระทั่งทุกวันนี้แฟน ๆ ซึบาสะจำนวนมากก็ยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า テクモ版こそ正史 (เวอร์ชันของ TECMO ต่างหากคือประวัติศาสตร์ซึบาสะที่แท้จริง) จนแม้แต่ทะกะฮะชิเองตอนที่กลับมาเขียนต่อหลังจากปี ค. ศ. 1994 ยังต้องนำท่าไม้ตายหรือเนื้อเรื่องบางส่วนจากเกม TECMO มาเขียนในเนื้อเรื่องของตัวเองด้วยซ้ำ เพราะเวอร์ชันเกมดังครองใจแฟน ๆ มากจริง ๆ ทุกวันนี้ยังหา YouTube ที่เป็นเกม Tsubasa ของค่าย TECMO ดูได้มากมาย และยังมีแฟน ๆ ใช้อีมูเลเตอร์เล่นเกมนี้กันมาจนถึงปัจจุบัน โจทย์ที่ยากมากของการผลิตเกมแบบ TECMO คือต้องตอบโจทย์ทั้งความเป็นเกมฟุตบอล, ความเป็นการ์ตูนแอ็กชันที่มีท่าไม้ตายแบบซึบาสะ, ผู้เล่นเกมต้องสนุกและรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวละครในเรื่องซึบาสะจริง ๆ และ TECMO ทำสำเร็จอย่างงดงาม เกมจึงออกมามีลักษณะของเกม Action RPG ที่การใส่คำสั่งทั้งหมดจะเป็นคำสั่งเกี่ยวกับฟุตบอล และผู้เล่นสนุกไปกับมันได้ เช่น แบ่งเป็นกรณีที่เราได้ครองบอล คำสั่งก็จะเป็น เลี้ยงบอล, ส่งลูก, ยิงประตู ฯลฯ ส่วนถ้าเป็นกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามได้ครองบอล คำสั่งของฝ่ายเราก็จะเป็น ตัดลูก, บล็อก, แทคเกิ้ล ฯลฯ แล้วตัวละครไหนมีท่าไม้ตาย จึงจะเป็นคำสั่งพิเศษ เช่น ตัวละครปกติสั่งให้ยิงประตูก็จะยิงเลยแบบเตะธรรมดา แต่พอเป็นซึบาสะเวลาสั่งยิงประตูจะเลือกคำสั่งพิเศษเพิ่มได้ว่าจะยิงแบบเตะธรรมดา หรือยิงด้วย Drive Shoot เป็นต้น มีฉากปล่อยท่าไม้ตายให้แฟน ๆ ได้ฟินกันไป  (ท่าไม้ตายเด็ด ๆ ชมได้ที่คลิปนี้ https://www.youtube.com/watch?v=5-eSwZJbWGM&t=568s&fbclid=IwAR2mqAd4DY86qT6I6atLcrfBOml7kyYF2uq2mnHaaotsAM0-UqwbMF6_oHg) ข้อดีอีกข้อคือเกมนี้ผลิตเมื่อนานมาแล้ว ทำให้คอมพิวเตอร์ยังแสดงผลเป็นอักษรคันจิไม่ได้ เกมซึบาสะค่าย TECMO ใน 4 ภาคแรกจึงมีแต่อักษรฮิระงะนะ และ อักษรคะตะกะนะ เท่านั้น ผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นมือใหม่ก็สามารถสนุกกับมันได้ ในขณะที่พอเป็นภาค 5 จึงเริ่มแสดงผลเป็นคันจิ ทำให้มีผู้เล่นชาวต่างชาติถอดใจกันไปหลายคน ซึบาสะ: จากการ์ตูนสู่เกมของค่าย TECMO ความฮิตที่ยาวนาน เล่นกันยันลูกบวช

จาก captaintsubasa.fandom.com

เกมภาคแรก (1988) ใน Family Computer – ดำเนินเนื้อเรื่องค่อนข้างตามในการ์ตูน ความว้าวจึงไปอยู่ที่การออกแบบระบบการเล่นที่ตอบโจทย์ผู้เล่นและแฟนการ์ตูน ทีมที่เป็น Last Boss ของภาคนี้คือ เยอรมนีตะวันตก (ตอนนั้นเยอรมนียังไม่รวมประเทศ) ภาค 2 ชื่อภาค Super Striker (1990) ใน Family Computer – มีความว้าวหลายจุดมาก คือแต่งเนื้อเรื่องเพิ่มเข้าไปเลยว่า ซึบาสะได้ไปใช้ชีวิตที่บราซิลในฐานะนักฟุตบอลอาชีพแล้ว ได้ลงแข่งกับ คาร์ลอส ซานตาน่า ด้วย (ในปี 1988 ในหนังสือการ์ตูนต้นฉบับ ตัวละครจากบราซิลยังเป็นตัวละครลับอยู่) แฟน ๆ จึงฮือฮามากที่ได้เจอซานตาน่าตัวเป็น ๆ ในภาคนี้ ภาคนี้เพลงประกอบเพราะมาก แต่งเพลงกันแบบจัดเต็ม และฉากแอ็กชันก็เยอะ ท่าไม้ตายมาเพียบ ซึบาสะเองก็มีท่าไม้ตายเพิ่มคือ Drive-Overhead Kick และ Cyclone โดยเฉพาะฉากฝึกเตะ Cyclone ที่ให้อารมณ์หนังจีนกำลังภายในมาก เพราะฝึกกลางสายฝน ฟ้าผ่า ดนตรีประกอบก็เร้าอารมณ์มาก พร้อมบรรยายวิธีเตะทีละขั้นตอนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ จนสำเร็จวิชา Cyclone  ภาคนี้ Last Boss คือทีมชาติบราซิลทั้งทีม (เก่งมาก โหดมาก) คาร์ลอส ซานตาน่า กลับมาทวงแค้นจากซึบาสะในเกมสุดท้ายนี้ และยังมีตัวละครลับที่โผล่มาเฉพาะครึ่งหลังคือ อาร์เธอร์ อันตูเนส โคอิมบรา (เอาชื่อเต็มของซิโก้มาสมมุติเป็นตัวละครลับภาคนี้เฉยเลย) โคอิมบราในภาค 2 นี้สามารถเลี้ยงลูกได้เร็วกว่าทุกตัวในเรื่องถึง 2 เท่า และ มีลูกเตะ Mach Shoot ซึ่งเป็นลูกเตะความเร็วเสียง บอลจะวิ่งเร็วมากและหมุนเหวี่ยงจนสายตามนุษย์มองเห็นลูกหายไปกลางอากาศ และจะมองเห็นลูกอีกทีคือพุ่งใส่ประตูไปแล้ว โคอิมบราจึงเป็นตัวละครที่เก่งที่สุดในภาคนี้ เก่งยิ่งกว่าซานตาน่าหรือซึบาสะ คำว่า Super Striker ในภาคนี้จึงหมายถึงโคอิมบรา ไม่ได้หมายถึงซึบาสะ คาแรกเตอร์นี้ตอนที่ทะกะฮะชิกลับมาเขียนอีกครั้ง ก็แต่งเรื่องแนวนี้ แต่ตัวละครชื่อ นาทูเรซ่า (แฟนเกมหลายคนไม่พอใจ อยากให้วาดตัวละครโคอิมบรา มากกว่านาทูเรซ่า) ภาค 3 ชื่อภาค Challenge of the Emperor (1992) ย้ายมาอยู่บนเครื่อง Super Family Computer – หน่วยความจุมากขึ้นกว่า Famicom ทำให้จัดเต็มด้านภาพ เสียง เพลงประกอบเพราะมากกกก เช่นกัน ภาคนี้ท่าไม้ตายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งทีมญี่ปุ่นและฝ่ายตรงข้าม ซึบาสะกับมิซากิสามารถทำ Overhead Twin ได้ หรืออย่างฮิวงะก็มีท่าใหม่คือ Lightning Tiger Shot (ทะกะฮะชิก็เอาท่านี้มาเขียนจริงในการ์ตูนภาคต่อเช่นกัน) ซึบาสะยังมีท่าใหม่คือ Neo-Cyclone ด้วย โดย Last Boss ภาคนี้เป็นเยอรมนีอีกครั้ง (เยอรมนีในภาคนี้รวมประเทศตะวันออก-ตะวันตกแล้ว) ภาค 4 ชื่อภาค Professional Rivals (1993) ใน Super Family Computer – เป็นภาคที่พยายามใส่เนื้อเรื่องเข้าไปมาก มีการแบ่งเนื้อเรื่องย่อยได้ตามเหตุการณ์ที่เราตัดสินใจ ทำให้ภาพ เสียง ดนตรี ดร็อปลงไปมาก อีกทั้งมี bug เยอะมาก จึงกลายเป็นภาคแห่งความอัปยศของเกมซีรีส์นี้ไปเลย ได้รับความนิยมน้อยลงกว่า 3 ภาคแรกมาก ภาค 5 ชื่อภาค Campione Champion Title (1994) ใน Super Family Computer – ภาคนี้พยายามสร้างความว้าวโดยการใช้ระบบแสดงผลเป็นอักษรคันจิ! ทำให้เสียฐานแฟนคลับชาวต่างชาติไปเป็นจำนวนมาก เพราะถอดใจ เล่นไม่ไหว ตัวหนังสือบรรรยายเป็นคันจิเกือบทั้งจอ ชื่อตัวละครญี่ปุ่นก็เป็นคันจิหมด อ่านยากมาก นอกจากนี้ ภาคนี้มีปรับระบบการเล่นให้ใกล้เคียงเกมฟุตบอลปกติมากขึ้น เน้นเรียลไทม์ เกมเพลย์จะเร็วเหมือนเกมฟุตบอลปกติ แฟนเกมฟุตบอลจะชอบ แต่แฟนซึบาสะจะไม่ชอบเพราะเห็นท่าไม้ตายน้อยลง ฉากแอ็กชันน้อยลงมาก เน้นเกมเพลย์ไม่เน้นแอ็กชันเหมือน 4 ภาคก่อน ภาคนี้ออกมาใน 1994 ประกอบกับ ทะกะฮะชิกลับมาเขียนภาคต่อในปี 1994 เช่นกัน ทำให้ค่าย TECMO ต้องลดบาทลงเพื่อไม่ให้ไปทับเนื้อเรื่องของเจ้าของเรื่องที่แท้จริง ประกอบกับความนิยมที่ลดลงตั้งแต่ภาค 4 ทำให้เกมซึบาสะของค่าย TECMO ก็สิ้นสุดในภาคนี้ แม้ว่าเกมทั้ง 5 ภาคจะสิ้นสุดลงไปตั้งแต่ปี 1994 แต่เรื่องราวของเกมค่าย TECMO ยังคงสืบทอดมาจนปัจจุบัน ยังมีแฟนคลับซื้อ Famicom หรือ  Superfamicom หรือ อีมูเลเตอร์ มาเพื่อเล่นเกมนี้ ทั่วโลกยังคงทำคลิปรีวิว หรือ คลิปตัดต่อเกมนี้ และยังเป็นที่นิยม มีเว็บ มีเพจ กล่าวถึงเกมนี้อยู่ตลอด จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นความสนุกและจินตนาการที่ยาวนานข้ามกาลเวลาที่แท้จริง