ถกปัญหาซีเกมส์ ยุคเจ้าภาพกัมพูชา จากมวย ยันที่พักนักกีฬาส่อเสร็จไม่ทัน ถึงค่าลิขสิทธิ์

ถกปัญหาซีเกมส์ ยุคเจ้าภาพกัมพูชา จากมวย ยันที่พักนักกีฬาส่อเสร็จไม่ทัน ถึงค่าลิขสิทธิ์

ซีเกมส์ 2023 ยุคเจ้าภาพกัมพูชา เกิดปัญหาและข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับชนิดกีฬา กฎกติกา และความพร้อมด้านต่าง ๆ มีตั้งแต่เรื่องการแข่งกีฬามวยไทย ยันที่พักนักกีฬาส่อเสร็จไม่ทัน ถึงค่าลิขสิทธิ์

  • ซีเกมส์ 2023 ที่มีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ เกิดปัญหาและคำถามมากมาย ไล่มาตั้งแต่ชนิดกีฬาที่บรรจุแข่งขัน ไปจนถึงข้อกำหนดส่งนักกีฬาเข้าแข่ง
  • ปมปัญหาที่ยังถกเถียงกันอยู่คือ ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขัน ซึ่งสำหรับไทยแล้ว กฎ Must have ทำให้ต้องมีถ่ายทอดสดยิ่งต้องเร่งหาทางออก

การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ประจำปี 2023 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาที่มีกำหนดจัดการแข่งขันกันในระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2023 นั้น กลายเป็นมหกรรมซีเกมส์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชวนปวดหัวตั้งแต่เกมการแข่งขันยังไม่เริ่มต้นขึ้น

กระแสข่าวความไม่พร้อมของทางประเทศกัมพูชาเจ้าภาพมีปรากฏให้เห็นตามหน้าสื่อต่าง ๆ อย่างมากมายไม่เว้นแต่ละวัน

เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนชนิดกีฬาและการจัดกีฬาที่ไม่เป็นสากลมากจนเกินไป เรื่องราวของกุนขแมร์ที่ถูกนำมาจัดการแข่งขันแทนมวยไทยจนทำให้เกิดเป็นกระแสในโลกออนไลน์ หรือแม้แต่ความไม่พร้อมของหมู่บ้านนักกีฬา

และล่าสุด การจะเก็บเงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเป็นจำนวนเงินที่สูงอย่างไม่เคยมีเจ้าภาพประเทศใดทำมาก่อน

บทความนี้จะรวบรวมปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับการแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ที่จะเริ่มต้นขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลสำหรับการประเมินผลงานทัพนักกีฬาไทย หรือเป็นข้อมูลสำหรับพิจารณาถึงความสำคัญของมหกรรมกีฬานี้ในอนาคต

อุดมไปด้วยกีฬาไม่เป็นสากล ขาดการต่อยอดไปในระดับสูง

การแข่งขันซีเกมส์ 2023 ในครั้งนี้ ทางเจ้าภาพกัมพูชากำหนดให้มีการชิงชัยเหรียญทองทั้งสิ้น 581 เหรียญทอง จาก 36 ชนิดกีฬา (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2023) นับว่าเป็นการชิงเหรียญทองที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของกีฬาซีเกมส์

แต่ใน 36 ชนิดกีฬาที่ทางเจ้าภาพจัดชิงชัยนี้ เป็นกีฬาที่ไม่ได้มีการแข่งขันในมหกรรมกีฬาอย่างเอเชียนเกมส์ เวิลด์เกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ หลายชนิดกีฬา ได้แก่ อาร์นิส, กุนโบกาตอร์, กุนขแมร์, ศิลปะการต่อสู้เกาหลี, โววีนัม, ออบสตัสเคิล เรช และปันจักสีลัต โดยในแต่ละชนิดกีฬาก็จัดให้มีการชิงชัยเหรียญทองกันอย่างมากมาย

ในขณะที่กีฬาที่ถือว่าเป็นกีฬาสากลมีการจัดแข่งขันในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์หรือโอลิมปิกเกมส์ กลับไม่ถูกบรรจุในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ก็มีมากมายนับสิบชนิดกีฬา ได้แก่ ว่ายน้ำมาราธอน, ยิงธนู, เบรคแดนซ์, เบสบอล, ซอฟต์บอล, เรือแคนู, จักรยาน (บีเอมเอ็กซ์), จักรยาน (แทร็ค), ขี่ม้า, ยิมนาสติก (แทมโพลีน), แฮนด์บอล, กาบัดดี้, คูราช, ปัญจกีฬาสมัยใหม่, โรลเลอร์ สปอร์ต, เรือพาย, รักบี้ 7 คน, ยิงปืน, ปีนหน้าผา และสควอช

นอกจากนี้ กีฬาสากลที่มีการแข่งขันมาก่อนหน้าอย่างฟุตซอลก็ไม่ได้รับการบรรจุเอาไว้ในซีเกมส์ครั้งนี้เช่นกัน

เรียกได้ว่าการแข่งขันซีเกมส์ในครั้งนี้มีชนิดกีฬามากมายที่สมควรจะถูกบรรจุเข้าแข่งขันเพื่อใช้สร้างรากฐานและประสบการณ์ของนักกีฬาในชาติอาเซียนเพื่อที่จะพัฒนาต่อยอดไปในระดับที่สูงขึ้น แต่ทางเจ้าภาพลับเลือกที่จะไม่จัดการแข่งขันเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว กลับมุ่งเน้นไปที่กีฬาที่ยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติเพียงเพื่อที่จะใช้กีฬาเหล่านี้สร้างความได้เปรียบในการแย่งชิงเจ้าเหรียญทอง

จะว่าไปแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานของหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่มักจะคิดหาทางเป็นเจ้าเหรียญทองโดยการตัดชนิดกีฬาหรืออีเวนต์ที่ควรจะจัดการแข่งขันออกไป และแทนที่ด้วยกีฬาที่ไม่ใช่กีฬาสากลเข้ามาแทน ทำให้ในช่วงหลังการแข่งขันกีฬาซีเกมส์นั้นดูไม่มีมาตรฐานและคนจำนวนมากก็เริ่มที่จะไม่ให้ความสนใจหรือให้ความสำคัญในมหกรรมกีฬาของชาวอาเซียนนี้

 

ปรับเปลี่ยนตามใจ ขาดความแน่นอน ไร้ซึ่งมาตรฐานและมิตรภาพ

กัมพูชาอาศัยสิทธิ์ความเป็นเจ้าภาพในการปรับเปลี่ยนชนิดกีฬาตามแต่ความต้องการของตนเองจนไม่คิดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาคนี้ อย่างเช่นการถอดกีฬาเพาะกายออกจากซีเกมส์ในครั้งนี้ เพียงเพราะนักกีฬาของประเทศตนเองประสบปัญหาในการเตรียมความพร้อม ทำให้นักกีฬาจากประเทศอื่นที่เตรียมตัวมาแล้วไร้ซึ่งเวทีการแข่งขันหรือประลองฝีมือ

และอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากนั่นก็คือ การที่ทางเจ้าภาพกัมพูชาถอดกีฬามวยไทยซึ่งมีบรรจุการแข่งขันในเอเชียน อินดอร์ แอนด์ มาร์เชียลอาร์ต เกมส์ และเวิลด์ เกมส์ ออกจากการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้ แล้วแก้ไขระเบียบการแข่งขัน (Technical Handbook) เป็นชื่อของกุนขแมร์แทน นำมาซึ่งการบอยคอตจากสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (International Federation of Muaythai Associations) หรืออิฟมา (IFMA) เป็นปัญหาความขัดแย้งของแฟนกีฬาในโซเชียลมีเดีย

ซึ่งมวยไทยสมัครเล่นนั้นถูกบรรจุจัดการแข่งขันในซีเกมส์มาตั้งแต่การแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ปี 2005 จนถึงการแข่งขันครั้งล่าสุดในซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ปี 2021 ที่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ โดยมีเว้นการจัดการแข่งขันไปเพียง 2 ครั้งเท่านั้นในปี 2011 และ 2015 เท่านั้น

นอกจากนี้ กีฬามวยไทยยังถูกบรรจุอยู่ในการแข่งขันเวิลด์เกมส์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นกีฬาสากลและรอการผลักดันสู่เวทีการแข่งขันอย่างโอลิมปิกเกมส์ โดยการกระทำดังกล่าวส่งผลให้นักกีฬาจากประเทศในอาเซียนขาดเวทีเก็บเกี่ยวประสบการณ์และการเตรียมพร้อมนักกีฬาเพื่อเข้าแข่งขันเอเชียน อินดอร์ แอนด์ มาร์เชียลอาร์ตเกมส์ในปลายปีนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

เจ้าภาพยังให้กำเนิดอีเวนต์ใหม่อย่างการแข่งขันแบดมินตันประเภททีมผสม ซึ่งโดยปกติแล้ว การแข่งขันในประเภทนี้จะไม่มีในมหกรรมกีฬาซีเกมส์หรือเอเชียนเกมส์ จะมีก็แต่ประเภททีมชาย ทีมหญิงและประเภทบุคคลเท่านั้น

ที่สำคัญ ในประเภทนี้ยังออกกติกาไม่ให้ประเทศมหาอำนาจในกีฬาแบดมินตันอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ และเวียดนามส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งหากจะมองว่าเพื่อให้ประเทศในระดับเทียร์ 2 ได้ทำการแข่งขันกันเพื่อเป็นการพัฒนาฝีมือก็สามารถมองได้ แต่อย่างไรก็ควรเป็นอีเวนต์พิเศษมากกว่าที่จะมีการชิงชัยเหรียญรางวัล

ทางเจ้าภาพกัมพูชายังมีกำหนดกฎยิบย่อยในแต่ละชนิดกีฬาอีกมากมาย และไม่มีความสมเหตุผลจนดูเหมือนว่าเป็นการเปิดโอกาสในนักกีฬาของตัวเองมากกว่าที่จะมุ่งมั่นพัฒนาไปด้วยกัน เช่น ซอฟต์เทนนิสที่มีการชิงชัยกันทั้งหมด 7 เหรียญทอง กัมพูชากำหนดว่าประเทศตนในฐานะเจ้าภาพสามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันได้ครบทุกประเภท แต่ประเทศอื่นจะส่งแข่งขันได้ 5 ประเภท และนักกีฬาที่ใช้จะต้องไม่เกินชาย 6 คนและหญิง 6 คนเท่านั้น แต่เจ้าภาพสามารถส่งชื่อได้เต็มที่คือ ชาย 12 หญิง 12 คน

ยังมีกำหนดว่าไทย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จะไม่สามารถส่งแข่งขันในประเภทชายคู่กับคู่ผสมได้ ซึ่งข้อจำกัดละเอียดยิบย่อยแบบนี้ไม่ค่อยปรากฎให้เห็นในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ

มวยสากลที่มีชิงชัยกันทั้งสิ้น 17 เหรียญทอง (ชาย 12 เหรียญทอง และหญิง 5 เหรียทอง) เจ้าภาพมีข้อกำหนดว่าประเทศอื่นจะสามารถส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันได้ในประเภทชายชาย 8 รุ่นจาก 12 รุ่น ส่วนประเภทหญิงได้ 3 รุ่น จาก 5 รุ่น ขณะที่กัมพูชาเจ้าภาพส่งได้ครบทุกรุ่น

หรือเซปักตะกร้อที่มีการชิงชัยกันทั้งสิ้น 10 เหรียญทอง ทางเจ้าภาพกำหนดว่าแต่ละประเทศจะส่งแข่งทีมชายได้ 3 อีเวนต์ จากการจัดการแข่งขัน 6 อีเวนต์ และประเภททีมหญิงประเทศอื่นจะส่งแข่งขันได้ 2 อีเวนต์จาก 4 อีเวนต์ และนักกีฬาที่ใช้จะต้องไม่เกิน 12 คน

จนถึงเวลานี้ (เดือนกุมภาพันธ์ 2023) กัมพูชาเจ้าภาพยังคงมีความไม่แน่นอนในเรื่องชนิดกีฬาที่จะทำการแข่งขันจนนายธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาไทยกล่าวว่า

“การที่รายการยังไม่นิ่งแบบนี้ เจ้าภาพพร้อมถอดเข้าถอดออกตลอดเวลา ทำให้ทีมชาติไทยประสบปัญหาในการเตรียมทีมนักกีฬาพอสมควร จึงทำให้ต้องปรึกษากับสำนักงานซีเกมส์เพื่อหาข้อสรุปเรื่องชนิดกีฬาที่จะจัดการแข่งขันให้ได้โดยเร็ว”

คำกล่าวของนายธนา ไชยประสิทธิ์ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาในการจัดการแข่งขันของเจ้าภาพในเรื่องชนิดและจำนวนรายการที่จะมีการชิงชัยเหรียญทองกันในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

 

ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาตินั้นก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของที่พักอาศัยของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ ทีมงานของแต่ละประเทศ ซึ่งโดยส่วนมาก ประเทศเจ้าภาพจะมีการจัดเตรียมหมู่บ้านนักกีฬาไว้ในปริมาณที่เพียงพอและไม่แออัดจนเกินไป แต่ล่าสุด ดูเหมือนว่ากัมพูชาจะประสบกับปัญหาในเรื่องที่พักนักกีฬา เมื่อหมู่บ้านนักกีฬาอาจจะไม่สามารถเสร็จได้ทันตามกำหนดการ

ซึ่งจากการที่ ‘บิ๊กต้อม’ ธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาทีมชาติไทย ได้เดินทางไปร่วมประชุมหัวหน้าคณะนักกีฬาที่กรุงพนมเปญ  และสำรวจความพร้อมของกัมพูชาเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ก็พบว่า

“สิ่งที่น่ากังวลคือเรื่องของหมู่บ้านนักกีฬา ซึ่งเจ้าภาพระบุว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ แต่เวลานี้ (ต้นเดือนกุมภาพันธ์) การเตรียมการสร้างตึกสูงสำหรับใช้เป็นหมู่บ้านนักกีฬาอาจจะไม่สามารถเสร็จได้ทัน ซึ่งเจ้าภาพได้มีการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาเป็นแบบทาวน์เฮาส์ 3 ชั้นสำรองเอาไว้แล้ว

แต่ทางเจ้าภาพกำหนดไว้ว่า ทาวน์เฮาส์ 1 หลังนักกีฬาจะพักร่วมกัน 14 คน ถือได้ว่ามีความคับแคบ ทั้งยังไม่มีห้องครัวหรือพื้นที่สำหรับพักผ่อน นอกจากนี้ กัมพูชาเตรียมแผนสำรองเอาไว้อีกแผนว่า หากทั้งหมดเสร็จไม่ทันจะโยกนักกีฬาไปเข้าพักในโรงแรม”

เรียกได้ว่างานนี้ประเทศต่าง ๆ ต้องลุ้นความพร้อมของทางเจ้าภาพกันจนวินาทีสุดท้ายเลยทีเดียว และก็คงเป็นงานหนักสำหรับทัพนักกีฬาหากเจ้าภาพไม่สามารถสร้างหมู่บ้านนักกีฬาได้แล้วเสร็จตามกำหนด

 

เก็บค่าถ่ายทอดสดแพงเป็นประวัติกาล

จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด เราคงต้องมาลุ้นกันแล้วละครับว่า การแข่งขันซีเกมส์ในครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบใด ซึ่งล่าสุดก็มีปัญหาใหม่เข้ามาเมื่อมีรายงานข่าวว่าทางประเทศกัมพูชาเจ้าภาพนั้นเตรียมจะเก็บค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ในครั้งนี้เป็นวงเงินจำนวนทั้งสิ้น 800,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 28 ล้านบาท จากเดิมที่การแข่งขันซีเกมส์ในครั้งที่ผ่านมา เจ้าภาพจะมีการเรียกเก็บเพียงแค่ค่าธรรมเนียมเท่านั้น

โดยล่าสุดนายวัธ จำเริญ เลขาธิการคณะกรรมการจัดงานซีเกมส์กัมพูชาหรือ แคมซอค (CAMSOC) ได้ออกมาระบุว่า การรายงานข่าวของสื่อไทยนั้นมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยทางเจ้าภาพกัมพูชาไม่เคยเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์สำหรับการถ่ายทอดสดการแข่งขันซีเกมส์ในครั้งนี้ โดยการเจรจาในเรื่องการถ่ายทอดสดนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาระหว่างแคมซอคกับทางการของไทยซึ่งยังไม่แล้วเสร็จแต่อย่างใด

ด้านฝั่งไทยโดย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า จากข่าวที่เผยแพร่ออกไปนั้นต้องยอมรับว่า หากเป็นจำนวนเงินดังกล่าวมา ถือว่าเป็นมูลค่าการถ่ายทอดสดที่สูงมาก ซึ่ง กกท. ได้ตั้งงบประจำปีไว้แต่ไม่ได้เตรียมไว้ในจำนวนมากขนาดนั้น

กรณีนี้ กกท. และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะได้พูดคุยกันภายในสัปดาห์นี้ เพื่อเตรียมหาทางออกต่อไป เนื่องจากกีฬาซีเกมส์อยู่ภายใต้กฎมัสแฮฟ (Must have) ที่ต้องมีถ่ายทอดให้แฟนกีฬาได้รับชมกัน

ทั้งหมดนี้คือปัญหาและอุปสรรคทั้งหมดที่เกิดขึ้นก่อนการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 32 ประจำปี 2023 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่ประเทศแห่งนี้จะมีโอกาสรับหน้าเป็นเจ้าภาพครั้งแรกจะเริ่มต้นขึ้น

เราคงต้องติดตามกันต่อไปครับว่าในช่วงเวลาที่เหลืออยู่จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นตามมาอีก หรือทางเจ้าภาพจะสามารถบริการจัดการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาแล้วได้ดีเพียงใด

ก็เพียงเพื่อให้กีฬาซีเกมส์นั้นยังคงเป็นมหกรรมกีฬาที่ทรงค่า และมีความสำคัญอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา

 

เรื่อง: ธิษณา ธนคลัง (เต้นคุง)

ภาพ: แฟ้มภาพซีเกมส์ 2013 ที่เมียนมา ไฟล์จาก Getty Images