02 ก.ค. 2568 | 13:00 น.
“ผมมีทุกอย่างที่ตัวเองเคยนึกฝันไว้ ทว่าทุกอย่างก็ปลาสนาการหายลับ หลงเหลือไว้เพียงความมืด จากการที่ผมพุ่งชนด่านกั้นด้วยความเร็ว 176 ไมล์ต่อชั่วโมง (283 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)”
ลองจินตนาการว่าคุณประสบอุบัติเหตุ ในชั่วพริบตา โลกก็ปกคลุมไปด้วยความมืดจากสติที่เลือนหาย และภายหลังจากม่านกาฬค่อย ๆ ถอยร่นจากไป รู้ตัวอีกทีคุณก็เกิดใหม่อีกครั้งบนเตียงของโรงพยาบาล ก่อนที่หมอผ่าตัดจะเดินเข้ามาบอกว่า คุณจะไม่สามารถทำสิ่งที่คุณรัก สิ่งที่คุณเคยคิดว่ามันคือไฟแห่งความฝัน สิ่งที่เคยเป็นบทพิสูจน์ถึงความสำเร็จในชีวิต ได้อีกต่อไป
สำหรับใครแต่ละคนก็ย่อมมี ‘คำในช่องว่าง’ ที่แตกต่างกันไป แต่ย้อนกลับไปปฐมบทของยุคเก้าศูนย์ ‘มาร์ติน ดอนเนลลี’ ก้าวเข้ามาสู่ทศวรรษใหม่ในฐานะนักแข่งฟอร์มูล่าวัน (F1) ที่กำลังไล่คว้าความสำเร็จกับรายการแข่งขันกรังด์ปรีซ์ (Grand Prix) ครั้งถัดไปที่จัดขึ้นในประเทศสเปน ทว่าในช่วงเวลานั้น เหตุไม่คาดฝันก็เกิดขั้น จนทำให้ดอนเนลลีต้องก้าวผ่านจากปีดังกล่าวในฐานะอดีตดาวรุ่งนักแข่งฟอร์มูล่าวันที่จะไม่มีวันลงแข่งได้อีกตลอดกาล
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ณ รอบคัดเลือกการแข่งขันในรายการกรังด์ปรีซ์ที่สนามเฆเรซ ในประเทศสเปน ไม่เพียงแค่เป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนชีวิตของ มาร์ติน ดอนเนลลี จากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่มันยังเป็นหนึ่งในอุทาหรณ์ที่สะท้อนว่าในการแข่งขันฟอร์มูล่าวันที่ตัดสินกันด้วยความเร็ว อันตรายถึงชีวิตก็กำลังสะกดรอยตามนักแข่งทุกคนอยู่ไม่ห่างออกไป
เรื่องราวของ ‘มาร์ติน ดอนเนลลี’ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับภาพยนตร์อย่าง ‘F1: The Movie’ (2025) ที่นำแสดงโดย แบรด พิทท์ (Brad Pitt) ในบทบาท ‘ซอนนี เฮย์ส’ (Sonny Hayes) นักแข่งรถดาวรุ่งในอดีตที่หวนกลับมาลงแข่งฟอร์มูล่าวันอีกครั้งภายหลังจากอุบัติเหตุครั้งใหญ่ แต่แน่นอนว่าในชีวิตจริงอาจไม่ง่ายเหมือนฝัน ดอนเนลลีไม่สามารถลงแข่งได้อีก แล้วชีวิตของดาวรุ่งที่สว่างวาบก่อนจะดับลงในชั่วปีจะเป็นอย่างไรต่อ?
‘มาร์ติน ดอนเนลลี’ (Martin Donnelly) เกิดที่เมืองเบลฟาสต์ (Belfast) บริเวณไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) ในปี 1964 ภายในครอบครัวชนชั้นแรงงานที่อาจไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบายนัก พ่อของเขาต้องออกจากบ้านตั้งแต่เวลาตีสองถึงตีสามแทบทุกวันเพื่อไปพบปะกับชาวไร่ชาวนา เพื่อรับผลผลิตไปขายต่อที่ตลาดชุมชน ถึงกระนั้น ครอบครัวของเขาก็ยังถือว่าเป็นครอบครัวที่อบอุ่นและอบอวลไปด้วยความรักจากพ่อและแม่ของเขา
ทว่าไม่นานหลังจากดอนเนลลีลืมตาดูโลก เบลฟาสต์อันเป็นบ้านเกิดของเขาก็คละคลุ้งไปด้วยความขัดแย้งที่จะลากยาวกระทั่งสิ้นศตวรรษ ระหว่างผู้คนสองฝั่งที่มีจุดยืนทางแนวคิดและการเมืองของไอร์แลนด์เหนือแตกต่างกัน ณ ขณะนั้น โดยฝ่ายชาตินิยม (Nationalist) ที่มีความต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือไปรวมกับประเทศไอร์แลนด์ ส่วนฝ่ายนิยมสหภาพ (Unionist) ที่มีจุดยืนต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือยังคงรวมอยู่กับสหราชอาณาจักร
นอกจากมีการแบ่งแยกทางจุดยืนทางการเมืองของพลเมืองทั้งสองฝ่ายแล้ว ในแต่ละฝ่ายก็ยังแบ่งแยกในด้านของการนับถือศาสนาอีกด้วย โดยฝ่ายนิยมสหภาพมีแนวโน้มที่จะนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ส่วนฝ่ายชาตินิยมส่วนใหญ่นับถือนิกายคาทอลิก
ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เบลฟาสต์กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรง มีการปะทะกันหลายรูปแบบ ทั้งการปะทะกันของกลุ่มติดอาวุธจากสองฝ่าย การปะทะกันของพลเรือนเอง หรือแม้แต่กองทัพอังกฤษที่พยายามเข้ามาควบคุมความขัดแย้งและเหตุการณ์จลาจล แต่ก็จบลงด้วยเหตุการณ์ ‘วันอาทิตย์นองเลือด’ (Bloody Sunday) จากการที่พลเรือนถูกสังหารโดยบรรดาทหารที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์
ในสารคดีสั้น ‘Martin Donnelly: Life on the Edge’ (2023) ที่ผลิตโดย F1 มาร์ติน ดอนเนลลี ได้เล่าย้อนถึงห้วงเวลาดังกล่าวว่าจากมุมมองของเด็กคนหนึ่ง มันถือเป็นช่วงเวลาที่สับสนอลหม่าน ความขัดแย้งและความรุนแรงจากบรรดาผู้คนกลายเป็นของธรรมดาที่เพียงชะเง้อมองไปบนถนนนอกบ้านก็สามารถเห็นทั้งการก่อจลาจล การปะทะกัน หรือแม้แต่เสียงคำรามของปืนได้อย่างง่ายดาย
ความขัดแย้งที่เรื้อรังบันดาลให้เกิดการสร้างกำแพงรั้วสูงที่ห้อยคล้องด้วยลวดหนามที่ทำหน้าที่ขวางกั้นระหว่างพลเมืองทั้งสองกลุ่มออกจากกันเพื่อลดทอนความรุนแรงจนเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘กำแพงสันติภาพ’ (Peace Wall) ที่ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้หายไปไหน ซึ่งมันก็ได้กลายเป็นประจักษ์พยานสำคัญของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในช่วงเวลานั้น ไปจนถึงความทรงจำในวัยเด็กของ มาร์ติน ดอนเนลลี อีกด้วย
มาร์ตินได้เริ่มลิ้มลองรสชาติความพลิ้วไหวของรถยนต์บนสนามแข่งตั้งแต่อายุยังไม่ก้าวถึงเลขสองหลัก พ่อของเขาก็ชอบแข่งรถ และมักพามาร์ตินไปด้วยเวลามีการแข่งขัน หรือแม้แต่ให้มาร์ตินได้ลองขับเองอีกด้วยภายหลังจากแข่งเสร็จ โดยเอาหมอนมาดุนบริเวณเบาะนั่งไว้ เพื่อที่ขาของเด็ก 9 ขวบ จะสามารถเอื้อมเหยียบคันเร่งของ Crossle 16F ได้
บริเวณบ้านเกิดของพวกเขามีเพียงแค่ ‘สนามแข่งรถเคอร์กิสทาวน์’ (Kirkistown Racing Circuit) อันเป็นที่รวมตัวกันของผู้คนที่มีหัวใจรักการซิ่ง มาร์ตินยังจำได้ดีถึงเสียงบรรยากาศของเครื่องยนต์และกลิ่นของยางรถ ณ สถานที่แห่งนั้น โดยตัวเขาเองเปรียบว่ามันเหมือนกับ ‘สนามเด็กเล่นขนาดมโหฬาร’ (Massive Playground)
สนามแข่งที่ว่าคือสถานที่ที่ทำให้มาร์ตินได้มีโอกาสพบปะกับบรรดาเพื่อน ๆ ของเขาอีกมากมาย และได้เห็นผู้คนจำนวนไม่น้อยที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์สามารถพูดคุยกับผู้ที่นับถือนิกายคาทอลิกได้อย่างราบรื่น ไม่มีความขัดแย้งระอุขึ้นเลยแม้แต่น้อย เสมือนว่าอุดมการณ์หรือศาสนามาขวางกั้นบนถนนของเบลฟาสต์อันตรธานหายไปเสียอย่างนั้น
ทว่าเมื่อเสร็จทุกคนเดินทางกลับไปที่เมือง พวกเขาก็ต้องถูกขวางกั้นด้วยกำแพงสูง จนทำให้พวกเขาไม่สามารถแม้แต่สนทนากันได้เลยในช่วงวันธรรมดา ต้องเฝ้ารอแต่ช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น ที่มาร์ตินสามารถจะพบปะพูดคุยกับเพื่อนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของกำแพงได้
ทั้งความหลงใหลที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็กจากพ่อของเขา ถึงการที่สนามแข่งรถที่ทำหน้าที่เป็นสนามเด็กเล่นมหึมาและ ‘พื้นที่สงบศึก’ ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น น่าจะช่วยหล่อหลอมให้ภาพฝันในชีวิตของ มาร์ติน ดอนเนลลี ชัดเจนขึ้น — ความฝันที่จะเป็นนักแข่งรถมืออาชีพให้ได้
“ผมรู้สึกในห้วงลึกเสมอ
ว่าชีวิตของผมมีอะไรมากกว่าการอยู่ที่เบลฟาสต์”
การแข่งรถถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มาร์ตินเห็นความเป็นไปได้ในชีวิต ว่าตัวของเขาอาจทะยานไปได้ไกลกว่าแค่เมืองในไอร์แลนด์เหนือที่อุดมไปด้วยความขัดแย้ง ด้วยเป้าหมายที่ว่าก็ได้หล่อหลอมให้มาร์ตินมุ่งมั่น ตั้งใจ และพุ่งเป้าอย่างสุดกำลังเพื่อที่จะฝึกฝนการแข่งรถเพื่อถางทางสู่ความเป็นมืออาชีพ และโอกาสในการกระโดดไปเห็นโลกที่กว้างกว่าเบลฟาสต์
หากอ้างอิงตามชีวประวัติที่เขียนโดย สตีเฟน ลาธัม (Stephen Latham) ในวันที่อายุครบ 17 ปี มาร์ตินเริ่มลงแข่งด้วยรถ Crosslé 32F Ford เป็นประจำ ความหลงใหลในการแข่งรถของเขาสะท้อนผ่านการที่เขาได้ลงแข่งด้วยรถคันแรกที่ว่าบ่อยที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ ครั้งหนึ่งเขาเคยลงแข่งถึง 4 รายการใน 4 สนาม ในช่วงสุดสัปดาห์ที่เป็นวันหยุดยาว
มาร์ตินเริ่มสั่งสมความเข้มข้นและความจริงจังในการแข่งขันขึ้นไปเรื่อย ๆ พร้อมกับเปลี่ยนรถประจำตัวในการแข่งขันไปพร้อม ๆ กัน จนท้ายที่สุดเขาก็สามารถคว้าแชมป์ไอร์แลนด์ไปครองได้ในปี 1983 ซึ่งเป็นขั้นบันไดที่พาเขาไปแข่งขันในระดับที่ใหญ่ขึ้นอย่างรายการแข่งขันในประเทศอังกฤษ
“ผมคว้าโอกาสที่นั้นไว้ให้แน่นที่สุดด้วยสองมือที่ผมมี เพราะผมตระหนักดีว่าสำหรับเด็กหนุ่มจากเบลฟาสต์ โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีมาบ่อย ๆ”
ในปี 1985 มาร์ตินได้เข้าร่วมการแข่งขัน British FF2000 และ Euroseries FF2000 ซึ่งเป็นการแข่งขันที่มีความเข้มข้นต่างจากระดับไอร์แลนด์เป็นอย่างมาก เพราะการแข่งขันในรายการเหล่านี้ เปรียบเสมือนกับเวทีระดับโลกที่มีผู้เข้าแข่งขันมากฝีมืออยู่เหลือคณา ภาวะความกดดันทั้งหมดจึงเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ มาร์ตินเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
มาร์ตินใช้เวลาในช่วงดังกล่าวฝึกฝนและพัฒนาฝีมือจนสามารถไต่เต้าขึ้นไปจนถึงการแข่งขันในรายการ Formula 3 จนได้ ก่อนที่เขาจะคว้าชัยชนะอีกหลายรายการจนทำให้สื่อต่างกันขนานนามว่าเขาคือดาวรุ่งอันเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการการแข่งรถ
หลังจากคว้าชัยชนะในสนามสำคัญอย่าง ดอนนิงตัน (Donington), อูลตันพาร์ก (Oulton Park), ซิลเวอร์สโตน (Silverstone) และ มาเก๊า (Macau) ในปี 1987 มาร์ตินก็ขยับสู่เวที Formula 3000 กับทีมของ ‘เอ็ดดี จอร์แดน’ (Eddie Jordan) คู่กับ ‘ฌอง อาเลซี’ (Jean Alesi) ในปี 1988 ซึ่งเขาทำผลงานได้โดดเด่น คว้าชัยถึงสองสนามและจบอันดับสามของฤดูกาล แม้จะลงแข่งเพียงห้ารายการ
สานต่อด้วยอันดับรองแชมป์ในปีถัดมา พร้อมควบตำแหน่งนักขับทดสอบให้ทีม Camel Lotus F1 และในปีเดียวกัน ดอนเนลลีได้ลงสนาม Formula 1 เป็นครั้งแรกกับทีม Arrows ในฐานะนักแข่งตัวสำรองที่เข้ามาแทนที่นักแข่งหลักที่บาดเจ็บ ที่รายการ French Grand Prix ซึ่งนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของเขาบนเส้นทาง F1 ในปี 1989
จะเห็นได้ว่าความดาวรุ่งพุ่งแรงของ มาร์ติน ดอนเนลลี เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ไต่ลำดับจากการแข่งด้วยรถคันแรก มาจนถึง F3 ก่อนที่จะได้โอกาสก้าวเข้าสู่ F1 และภายในปี 1990 มาร์ตินก็ได้กลายเป็นนักแข่งเต็มตัวกับทีม ‘โลตัส’ (Lotus) หนึ่งในทีมแข่ง F1 ชั้นนำของอังกฤษ คู่กับ เดเร็ค วอร์ริค (Derek Warwick) ด้วยการเซ็นสัญญาสองปีมูลค่ากว่า 5.6 ล้านปอนด์
แม้แต่ตัวเขาเองก็ไม่อยากจะนึกว่านี่คือเรื่องจริง การได้มีโอกาสแข่งในรายการ F1 เคียงบ่าเคียงไหล่กับนักแข่งอีกหลายคนที่เขาชื่นชม มันไม่ต่างอะไรจากฝันเลยแม้แต่น้อย แต่ภายในปีเดียวกันนี้เอง เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็ได้ทำให้แสงสว่างที่ค่อย ๆ เจิดจรัสขึ้นของมาร์ติน ดอนเนลลี ดับลงในชั่วพริบตาเสียอย่างนั้น
“ผมมั่นใจในตัวเองอย่างเต็มเปี่ยม
ผมเชื่อมั่นในตัวผมเอง
และผมรู้ว่าผมสามารถครองแชมป์โลก F1 ได้”
ตอนเช้าของวันที่ 28 กันยายน 1990 ณ สนามการแข่งเฆเรซ (Circuit of Jerez) ในประเทศสเปน ถือเป็นช่วงเวลาสำหรับการแข่งขันรอบคัดเลือกในกรังด์ปรีซ์ประเทศสเปน (Spanish Grand Prix) มาร์ติน ดอนเนลลีในวัย 26 ปี ที่สวมชุดแข่งขันสีเหลือง นั่งอยู่ในรถ Lotus 102 ก็เป็นหนึ่งในนักแข่งที่กำลังเตรียมพร้อมในครั้งนี้
การซ้อมรอบนั้นเริ่มต้นและดำเนินไปอย่างปกติ มาร์ตินบรรยายว่า “รถเร็วดี เวลาแต่ละรอบก็ดีมาก ผมดันเต็มที่ที่สุด” ทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ จนกระทั่งเขากำลังขับเข้าสู่โค้งขวาสุดท้ายของสนาม ในช่วงเวลานั้น ปรากฎว่าระบบกันสะเทือนด้านหน้าของ Lotus 102 เกิดทำงานขัดข้อง ส่งผลให้รถของมาร์ติน ดอนเนลลี พุ่งชนเข้ากับสิ่งกีดขวางด้วยความเร็วกว่า 283 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
“ผมมีทุกอย่างที่ตัวเองเคยนึกฝันไว้ ทว่าทุกอย่างก็ปลาสนาการหายลับ หลงเหลือไว้เพียงความมืด จากการที่ผมพุ่งชนด่านกั้นด้วยความเร็ว 176 ไมล์ต่อชั่วโมง (283 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)”
สำหรับผู้ดูแลการแข่งขัน นักแข่งขันคนอื่น ๆ หรือผู้ชมทั้งที่สนามและทางบ้าน สิ่งที่เห็นคือซากรถที่แหกออกเป็นสองท่อน ควันขาวขโมงลอยขึ้นจากซากรถที่เหลือเพียงครึ่งท่อน ห่างออกไป 15 เมตร มาร์ติน ดอนเนลลีที่ยังติดอยู่กับเบาะที่นั่งที่แยกตัวออกมาจากซากรถ นอนแน่นิ่งอยู่กลางสนาม สิ่งที่เกิดขึ้นในไม่กี่วินาทีก่อนหน้าถือเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุที่รุนแรงที่สุด จนผู้คนต่างก็คิดว่าเขาไม่รอด
มาร์ติน ดอนเนลลี นอนแน่นิ่งอยู่กลางสนามเช่นนั้นเป็นเวลากว่า 11 นาทีครึ่ง
อย่างไรก็ตาม มาร์ติน ดอนเนลลี ยังมีชีวิตอยู่ อาจจะด้วยความโชคดีในความโชคร้าย ผสานเข้ากับการช่วยเหลือได้ทันท่วงทีจากศาสตราจารย์ซิด วัตกินส์ (Professor Sid Watkins) ผู้แทนด้านการแพทย์ของ FIA (Fédération Internationale de l'Automobile) และศาสตราจารย์ด้านประสาทศัลยศาสตร์ ที่ได้ปฐมพยาบาลและประคองอาการก่อนส่งตัวมาร์ตินไปที่โรงพยาบาล
สภาพของรถย่อยยับถึงขั้นที่ทีมงานก็ไม่สามารถหาต้นตอความบกพร่องได้
ส่วน มาร์ติน ดอนเนลลี อยู่ในสภาวะโคม่าเป็นเวลากว่าเจ็ดสัปดาห์ เครื่องในของเขาแทบทุกส่วนได้รับความเสียหาย กระดูกต้นขาทะลุออกมาด้านข้าง ในตอนที่นอนแน่นิ่งอยู่นั้น เขาได้กลืนลิ้นตัวเองจนแทบไม่หายใจ อาการของมาร์ตินน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก ถึงขั้นว่าในช่วงที่อาการเข้าขั้นวิกฤต ได้มีการอ่านบทสวดสุดท้าย (The Last Rite) ให้แก่เขา แต่ท้ายที่สุด เขาก็ฟื้นจากอาการขั้นวิกฤต
“ความทรงจำของผมในวันนั้นแหลกสลายเป็นเสี่ยง ๆ
ผมอยู่ในอาการโคม่ากว่าเจ็ดสัปดาห์
และเมื่อผมตื่นขึ้น ผมก็จำอะไรไม่ได้เลย”
ข่าวดีคือเขารอดชีวิตจากหนึ่งในอุบัติเหตุครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขันฟอร์มูลาวัน
แต่สำหรับข่าวร้าย — มาร์ติน ดอนเนลลี ไม่สามารถแข่งรถได้อีกตลอดชีวิต
“ในวันที่หมอผ่าตัดเดินมาบอกกับผมว่า ผมจะไม่สามารถลงแข่ง F1 ได้อีก มันทำให้ผมแตกสลาย ผมร้องไห้อย่างหยุดไม่ได้ มันราวกับว่าทุกความพยายามและความเจ็บปวดที่ผมฝ่าฟันมากว่าจะถึงจุดนี้ เพื่อมาพบกับความจริงว่า มันได้จากไปแล้ว
“จิตใจของผมไม่สามารถรับมือกับความจริงนี้ได้”
ภายหลังจากที่ฟื้นจากโคม่า มาร์ตินต้องเข้ารับการกายภาพบำบัดอย่างเข้มข้นเป็นเวลาหลายเดือน โดยที่ตัวเขาได้เล่าว่ามันเป็นอะไรที่ยากและเจ็บปวดอย่างมาก แต่เขาก็พยายามที่จะก้าวข้ามความทรมานเหล่านั้น ด้วยความหวังที่อยากจะกลับไปลงแข่งอีกครั้ง ก่อนจะเผชิญกับความจริงว่า ร่างกายของเขาได้รับความเสียหายมากเกินกว่าที่จะกลับไปลงแข่งได้อีกแล้ว
อุบัติเหตุที่ทำให้ขาซ้ายแตกละเอียดทำให้ขาข้างซ้ายของเขานั้นสั้นกว่าขาขวาถึงหนึ่งนิ้วครึ่ง (ตามจริงแล้ว ทางโรงพยาบาลเกือบจะต้องตัดขาซ้ายของเขาแล้วด้วย) และตั้งแต่ส่วนเขาลงไป ขาข้างซ้ายของเขาก็แทบจะไร้ความรู้สึก เส้นประสาทที่ได้รับความเสียหายที่นิ้วโป้งเท้าซ้าย กระดูกสะบักที่ยังคงแตกหัก แก้วหูทะลุ ต้องฟอกไตทุก ๆ สามชั่วโมง อวัยวะภายในที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัส รวมไปถึงการที่โรงพยาบาลต้องปั๊มหัวใจเขาให้กลับมามีชีวิตถึงสามครั้ง
“อุบัติเหตุครั้งนั้นพรากทุกอย่างไปจากผม ผมสูญเสียทุกอย่าง มันพรากรายได้ สุขภาพกายและใจ ความสามารถในการเดินอย่างปกติ รวมไปถึงความฝันที่จะเป็นแชมป์โลก F1 ของผม”
แม้ว่าจะใช้เวลานานในการฟื้นฟูร่างกายกว่าจะกลับมาเดินเหินได้ตามปกติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความฝันที่จะเป็นแชมป์ F1 ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว มาร์ติน ดอนเนลลี ย่อมเจ็บปวดกับโชคชะตาของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ท้ายที่สุด การที่เขาได้โอกาสอีกครั้งในการชีวิต ก็ถือเป็นพรข้อสำคัญที่โชคชะตาจะพอให้เขาได้
“ชีวิตคนเราสามารถผันแปรไปได้ในชั่วพริบตา ผมรู้สึกยินดีมากี่ได้ใช้ชีวิตและอยู่กับคนที่ผมรักในทุก ๆ วันที่ผ่านไป สิ่งที่อุบัติเหตุครั้งนั้นสอนผม คือการที่เราต้องใช้ทุกเสี้ยววินาทีเสมือนว่ามันเป็นครั้งสุดท้าย”
ท้ายที่สุด ชีวิตของมาร์ตินก็ยังคงคลุกคลีอยู่กับการแข่งรถ เขาได้ผันตัวจากนักแข่งในทีม Lotus เป็นผู้ดูแลการฝึกซ้อม ก่อนที่จะเปิดสถาบัน Donnelly Track Academy ในเวลาต่อมา หรือแม้แต่ทำหน้าที่เป็นกรรมการควบคุมการแข่งขันทั้งในรายการ F1 และตั้งทีมของตัวเองขึ้นในชื่อ Martin Donnelly Racing
ในบางโอกาส มาร์ตินก็อาจมีการลงแข่งขันในรายการรองอยู่บ้าง แต่ในปี 2011 ภายหลังจากผ่านไป 21 ปี มาร์ตินก็ได้ลองขับ Lotus 102 รถฟอร์มูลาวันรุ่นเดียวกับที่เกิดอุบัติเหตุอีกครั้ง นับว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เหตุการณ์ในปี 1990 ที่มาร์ตินได้ขับรถรุ่นดังกล่าวอีกครั้ง
“ผมจวนจะสูญเสียทุกอย่างไปแล้วที่เฆเรซ
แต่สิ่งที่ยังไม่เคยหายไปจากผมคือไฟปรารถนา
ที่พาให้ผมไล่คว้าความรู้สึกเหล่านั้น”
มาร์ตินเริ่มทำความเข้าใจกับสถานการณ์และโอบรับความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น แม้ว่าอุบัติเหตุครั้งนั้นจะพรากแทบทุกสิ่งไปจากเขา แต่ในวันนี้เขายังสามารถเดินได้ ยังสามารถมองเห็น มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ยังมีโอกาสได้โอบกอดครอบครัวอันเป็นที่รัก และแม้ว่าโอกาสจะเป็นแชมป์โลกจะหลุดลอยไป แต่สิ่งที่เขายังคว้าไว้ได้อยู่นั้น คือโอกาสในการใช้ชีวิตในฐานะชายที่มีนามว่า ‘มาร์ติน ดอนเนลลี’
อ้างอิง
History.com (2025, June 26). The devastating real-life crash that inspired 'F1'. History.com.
RaceFans.net (n.d.). Martin Donnelly. RaceFans.net.
Motor Sport Magazine (n.d.). Martin Donnelly. Motor Sport Magazine Database.
F1 Forgotten Drivers (n.d.). Martin Donnelly. F1 Forgotten Drivers.