27 ก.ค. 2568 | 18:00 น.
“เฟอร์รารีคือทีมอิตาเลียน มีหัวใจแบบอิตาเลียน และวัฒนธรรมแบบอิตาเลียน และเราภูมิใจในสิ่งนั้น”
— มัตเตีย บิน็อตโต้, อดีตหัวหน้าทีมที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2022
เมื่อคุณได้ยินชื่อ ‘เฟอร์รารี’ คุณก็คงนึกถึงรถยนต์อิตาเลียนที่มีดีไซน์โฉบเฉี่ยวสีแดงฉาด พร้อมกับเสียงคำรามของเครื่องยนต์ V12 จนกลายเป็นแบรนด์ซุปเปอร์คาร์ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นสิงห์นักขับหรือเปล่าก็ต้องรู้จักอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่นอกจากแบรนด์ม้าลำพองที่เรารู้จักนั้นก็ยังมี ‘สคูเดอเรีย เฟอร์รารี’ (Scuderia Ferrari) ทีมแข่งฟอร์มูล่าวัน (Formula 1) หรือ F1 ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ก่อตั้งโดย ‘เอ็นโซ เฟอร์รารี’ (Enzo Ferrari) และนับตั้งแต่ปี 1929 สคูเดอเรีย เฟอร์รารี ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเร็ว ความหลงใหล และความยิ่งใหญ่ในโลกมอเตอร์สปอร์ตมาอย่างยาวนาน
ตำนานของเฟอร์รารีนับว่าไม่เป็นสองรองใคร ตั้งแต่การเป็นแชมป์โลกของ ‘โจดี เชกเตอร์’ (Jody Scheckter) ในปี 1979 ไปจนถึงยุคทองของ ‘ไมเคิล ชูมัคเคอร์’ (Michael Schumacher) ที่พาทีมคว้าแชมป์โลกประเภทนักขับ 5 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2004 ด้วยรถที่ใช้เครื่องยนต์ V10 ‘N/A’ (Naturally Aspirated) ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของยุคนั้นอย่างแท้จริง ถือเป็นช่วงเวลาที่เฟอร์รารีนั้นไม่ใช่แค่แข็งแกร่ง แต่พวกเขานั้นเป็นทีมที่ ‘ไร้เทียมทาน’ เลยก็ว่าได้
ทว่าในปัจจุบันนี้ แม้เฟอร์รารี จะยังคงเป็นหนึ่งในชื่อที่ทรงพลังและเป็นที่จดจำมากที่สุดทั้งในวงการแข่งรถและอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมฐานแฟนคลับที่ใหญ่และภักดีที่สุดทีมหนึ่งใน F1 แต่สถานการณ์ปัจจุบันก็สะท้อนว่าพวกเขากลับกลายเป็น หนึ่งในทีมที่คว้าน้ำเหลวมากที่สุดเสียอย่างนั้น
ภายหลังจากจบการแข่งขัน Spanish Grand Prix ปี 2025 เสียงของ ‘ชาร์ล เลอแคลร์’ (Charles Leclerc) ทางวิทยุสื่อสารกับทีมก็สื่อทุกอย่างให้พวกเราเช้าใจได้อย่างชัดเจน
“เรากำลังโยนแต้มทิ้งอีกแล้ว”
ดูเหมือนว่าคำกล่าวที่ว่าจะจริงไม่น้อยเลยทีเดียว
จนถึงเดือนกรกฎาคม 2025, เฟอร์รารีได้มีโอกาสขึ้นโพเดียมได้เพียงแค่ 4 ครั้ง จาก ‘ชาร์ล เลอแคลร์’ (Charles Leclerc) เพียงเท่านั้น ไม่ใช่จาก ‘ลูอิส แฮมิลตัน’ (Lewis Hamilton) เลย ซึ่งประกอบไปด้วยผลงานอันดับ 3 ในรายการ Saudi Arabian GP, Spanish GP, Austrian GP และผลงานอันดับ 2 ในรายการ Monaco GP ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับปี 2024 ที่ได้ขึ้นโพเดียมถึง 22 ครั้ง
หากแนวโน้มยังคงดำเนินต่อไป ปี 2025 อาจเลวร้ายพอๆ กับปี 2020 ปีที่ถูกจดจำว่าเป็นฤดูกาลที่เลวร้ายที่สุดของ Ferrari ในรอบกว่า 40 ปี ซึ่งในปีนั้น พวกเขาจบอันดับที่ 6 และคว้าโพเดียมได้เพียง 3 ครั้ง
อันดับ 2 – Charles Leclerc, สนาม Austrian GP
อันดับ 3 – Charles Leclerc, สนาม British GP
อันดับ 3 – Sebastian Vettel, สนาม Turkish GP
แม้ปีนั้นจะเจ็บปวด แต่ Ferrari ก็ยังมีแววไฟแห่งความหวังอยู่บ้างเนื่องจากการขึ้นโพเดียมอย่างน้อยยังได้มีการขึ้นของทั้ง 2 นักแข่ง
ทว่าในปี 2025 นี้? ฟางเส้นสุดท้ายก็จวนจะขาดอยู่แล้ว
บทสัมภาษณ์ก่อนและหลังแข่งเริ่มเต็มไปด้วยความตึงเครียด สะท้อนให้เห็นถึงความหงุดหงิดของนักแข่งอย่างชัดเจน ทั้งภาษากายระหว่างวิศวกรกับนักแข่งก็เผยทุกอย่างที่แผนกประชาสัมพันธ์ไม่อาจปกปิดได้ และเบื้องหลังยังมีข่าวลือว่า เฟอร์รารีอาจกำลัง หันไปโฟกัสกับปี 2026 แทนแล้ว? ซึ่งเป็นปีที่ F1 จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎครั้งใหญ่ ทั้งในเรื่องของเครื่องยนต์และกฎต่างๆ พูดง่าย ๆ ก็คือ ‘Ferrari อาจกำลังละถอดใจผลงานของปี 2025 ไปแล้วก็เป็นได้’
สคูเดอเรีย เฟอร์รารี เดินทางมาตั้งแต่การก่อตั้งของ เอ็นโซ เฟอร์รารี ด้วยก้าวเดินที่แข็งขัน สร้างชื่อเสียงและความสำเร็จตลอดประวัติศาสตร์จนชื่อของพวกเขาแผ่กระจายไปในความทรงจำของคนธรรมดาที่อาจจะขับรถไม่เป็นเสียด้วยซ้ำ แต่เพราะเหตุใดกัน ที่ทำให้ทีมอย่างเฟอร์รารีร่วงหล่นจากความไร้เทียมทานในอดีตสู่ความล้มเหลวเฉกเช่นปัจจุบัน บทความนี้จะพาคุณไปสำรวจ 3 เหตุผลหลัก ที่ทำให้ทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ F1 ต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่แฟน ๆ ทางบ้านกำลังเริ่มหมดความอดทน
เชื่อว่าเรื่องราวของเฟอร์รารีจะสะท้อนให้เราเห็นถึงสัจธรรมบางอย่างที่ไม่ได้ตั้งอยู่เพียงในโลกของกีฬามอเตอร์สปอร์ต เพราะเรื่องราวของพวกเขาอาจชวนผู้อาจคิดถึงเรื่องราวของ ‘กับดักความสำเร็จ’ หรือผลพวงของการยึดโยงกับอดีตและการปฏิเสธที่จะขยับตามโลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปรไปไม่เว้นวัน
ฝ่ายวางกลยุทธ์ของเฟอร์รารีมักจะพลาดในวันแข่ง จนกลายเป็นทีมที่มีชื่อเสียงในเรื่องการตัดสินใจผิดพลาด ทั้งที่จริง ๆ แล้วพวกเขาควรจะเป็นทีมที่มีมาตรฐานสูง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าพิทที่ไม่ตรงจังหวะ หรือการเลือกใช้ยางที่ยากที่จะเข้าใจ ความผิดพลาดเหล่านี้ทำให้เฟอร์รารี และนักขับของพวกเขาต้องเสียแต้มสำคัญไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือใน Hungarian Grand Prix ปี 2022 เมื่อ ชาร์ล เลอแคลร์ กำลังนำการแข่งขันอยู่ แต่ทางทีมเฟอร์รรีกลับเรียกเข้าพิทเพื่อใส่ยางแข็ง ทั้ง ๆ ที่ทุกทีมในสนามต่างก็เห็นแล้วว่ายางแข็งไม่เหมาะในสภาพอากาศเย็นแบบนั้น ผลคือ เลอแคลร์หล่นจากอันดับ 1 ไปอยู่อันดับ 6 ทำให้แฟน ๆ พูดไม่ออกเลยทีเดียว และความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเพียงเท่านี้
ใน Bahrain GP ปี 2025 เลอแคลร์สื่อสารทางวิทยุกับทีมเพื่อขอเปลี่ยนจาก ‘แผน B’ ไปเป็น ‘แผน C’ และปรับกลยุทธ์เรื่องยางให้เหมาะกับสภาพแทร็ก โดยทีมตอบกลับด้วยคำสั้น ๆ ว่า “Copy.” หรือแปลว่า “รับทราบ”
ทว่าพอ เลอแคลร์กลับเข้าพิทมา พวกเขาดันใส่ ยางชนิดเดิมที่ตัวเลอแคลร์ใช้อยู่แล้ว สรุปว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เสียเวลา เสียตำแหน่ง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ เฟอร์รารีที่ไม่สามารถปรับแผนในสถานการณ์จริงได้เพราะยึดโยงกับแผนที่ตนเองวางไว้และไม่ยอมที่จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์หรือแม้แต่ไม่สนใจรับฟังความคิดเห็นของนักแข่งของตน
ใน Miami GP ปี 2025 เฟอร์รารีติดต่อให้ ลูวิส แฮมิลตัน เปิดทางให้ ชาร์ล เลอแคลร์ แซง โดยแฮมิลตัน ได้ตอบว่า “คุณสงสัยผมหรอ หรือคิดว่าผมไม่มีศักยภาพพอ?”
ทีมก็ตอบกลับมาว่า “ใช่”
หลังจากนั้นอีกไม่นานทีมก็ได้รายงานว่าระยะห่างที่ ‘คาร์ลอส ไซน์ซ’ (Carlos Sainz) คู่แข่งที่กำลังตามหลังแฮมิลตันอยู่นั้นว่าห่างจะเขาแค่ไหน และแชมป์โลก 7 สมัยอย่างแฮมิลตันก็ได้ตอบกลับไปอย่างประชดประชันว่า
“คุณจะให้ผมหลีกให้เขาด้วยเหรอ?”
ทั้งๆที่ความเร็วของไซน์ซยังไม่มากพอที่จะทำอะไรได้ด้วยซ้ำ การสลับตำแหน่งที่ซับซ้อนนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย กลับกลายเป็นว่าแม้แต่นักแข่งระดับโลกยังงงกับการตัดสินใจของทีมเฟอร์รารี
ในเวลาเดียวกันทีมแม็คลาเรน (McLaren) และ เมอร์เซเดส (Mercedes) ยังคงพัฒนาแผนการแข่งให้เฉียบคมขึ้นเรื่อย ๆ และก็ยังเก็บคะแนนได้ดีจาก การตัดสินใจที่ชัดเจนและเป็นระบบ ในขณะเดียวกับที่เฟอร์รารี ยังคงติดอยู่ในวงจรของ อีโก้ ความลังเล ความผิดพลาดในการสื่อสาร และการคิดมากเกินไป หรือแม้แต่บางครั้งนักแข่งที่มองเห็นสถานการณ์ได้ชัดกว่าทีมงานเองก็ยังถูกปฏิเสธวิธีการแก้ไขสถานการณ์เสียอย่างนั้น
ทีมที่มีทั้งรถระดับแถวหน้าและนักแข่งระดับท็อป กลับถูกฉุดไว้ด้วยความลังเลในจังหวะที่ ทุกวินาทีมีค่า
วัฒนธรรมภายในของเฟอร์รารี ขึ้นชื่อว่าเข้มข้นจนหลาย ๆ ครั้งบางคนก็นิยามว่า ‘อึดอัด’ เลยเสียด้วยซ้ำ
ทีมต้องทำงานภายใต้แรงกดดันมหาศาลจาก สื่ออิตาลี รัฐบาล และกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ของทีมที่เรียกว่า ‘ทีโฟซี’ (Tifosi) ซึ่งไม่ได้มองเฟอร์รารี เป็นเพียงแค่ทีมแข่ง แต่เป็นสัญลักษณ์แห่งชาติของอิตาลี ดังนั้นในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ความล้มเหลวเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แรงกดดันที่ถาโถมเช่นนี้ได้สร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเครียด และส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่ไม่เฉียบขาดของทีมรวมถึงการเปลี่ยนแปลงผู้นำบ่อยครั้ง
ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา Ferrari เปลี่ยนทีมบอสถึง 7 คน ไม่ว่าจะเป็น สเตฟาโน โดเมนิกาลี (Stefano Domenicali), เมาริซิโอ อาร์ริวาเบเน (Maurizio Arrivabene), มัตเตีย บิน็อตโต้ (Mattia Binotto) และหัวหน้าทีมคนปัจจุบัน เฟรด วาสเซอร์ (Fred Vasseur) ในขณะเดียวกัน ทีมอย่างเรดบูล (Red Bull) และ เมอร์เซเดส กลับมีความมั่นคงภายใต้การนำของ ‘ทีมบอส’ อย่างชัดเจนดังที่สะท้อนผ่านผลลัพธ์ในสนาม
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่ากังขามากที่สุดของเฟอร์รารี ก็คือแนวโน้มในการเลือกบุคลากรที่เป็น ‘ชาวอิตาเลียน’ มากกว่าการเปิดรับความสามารถจากนานาชาติ แนวทางนี้อาจใช้ได้ผลเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่เห็นได้ชัดว่าล้าสมัยสำหรับโลก F1 ทุกวันนี้ที่ต้องอาศัยการบูรณาการระดับโลกและข้อมูลขั้นสูงเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
แม้แต่ มัตเตีย บิน็อตโต้ อดีตหัวหน้าทีมที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2022 ก็เคยกล่าวไว้ว่า
“เฟอร์รารีคือทีมอิตาเลียน มีหัวใจแบบอิตาเลียน
และวัฒนธรรมแบบอิตาเลียน และเราภูมิใจในสิ่งนั้น”
แต่ความภาคภูมิใจนี้ ก็มักกลายเป็น ‘ดาบสองคม’ ที่ปิดกั้นความคิดใหม่จากภายนอก ในขณะที่ทีมอื่น ๆ มองหา ‘ที่สุดจากทั่วโลก’ เฟอร์รารีกลับดูเหมือนยังคงเลือกบุคลากรที่เป็น ‘ที่สุดในประเทศ’ เพียงเท่านั้น โดยเน้นความเข้ากันได้ทางวัฒนธรรม มากกว่าความสามารถดิบล้วน ๆ เปรียบเสมือนการเลือกตกบาในบึงเล็ก ๆ ใกล้บ้าน แทนที่จะขยับไปที่มหาสมุทรที่มีโอกาสที่หลากหลายกว่ามากรออยู่
รายงานจาก Motorsport.com และ The Race ก็ได้กล่าวถึงโครงสร้างทีมเทคนิคของ Ferrari ที่มักประกอบด้วยคนอิตาเลียนที่อยู่กับทีมมานาน นักวิเคราะห์ในอิตาลีเองก็เริ่มตั้งคำถามว่าแนวคิด ‘อิตาเลียนเป็นที่หนึ่ง’ ของเฟอร์รารีอาจเป็นตัวขัดขวางการพัฒนาของทีม
ที่น่าขันคือ ช่วงยุคทองของชูมัคเคอร์ คือช่วงที่ทีมเปิดกว้างเต็มที่พวกเขามีทั้ง รอส บรอว์น (Ross Brawn) จากอังกฤษ, รอรี เบิร์น (Rory Byrne) จากแอฟริกาใต้ และฌ็อง ท็อดต์ (Jean Todt) จากฝรั่งเศส เป็นกำลังหลักในฝ่ายบริหารและวิศวกรรม ซึ่งจะได้ผลกว่าหรือไม่ ก็สะท้อนผ่านผลลัพธ์ในสนามที่สามารถดูได้ไม่ยาก
การเลือกสรรผู้คนโดยกรอบของความเป็นอิตาเลียนหรือแม้แต่การยกชูคุณค่าของอิตาเลียนเป็นเลนส์ในการตัดสินทุกสิ่งอาจเป็นกับดักที่ทำให้เฟอร์รารีอุปสรรคสำคัญที่พวกเขาก่อให้กับตัวเองและทำให้ทีมไปไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น…
หรือว่า Ferrari กำลังหันไปโฟกัสที่ปี 2026 แล้วหรือเปล่า?
นี่คือเสียงกระซิบหนาที่เริ่มจะหนาหูขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่แฟนๆในวงการ F1
ปี 2026 จะเป็นปีที่กฎระเบียบของ F1 เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รวมถึงการใช้เครื่องยนต์รูปแบบใหม่ การเน้นพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนมากขึ้น และการปรับกฎต่างๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในการแข่งขัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะ รีเซ็ทสมดุลของสนามทั้งหมด
แน่นอนว่าเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงนี้ ทีมต่าง ๆ ก็เริ่มเตรียมตัวล่วงหน้าแล้ว แต่พฤติกรรมของเฟอร์รารี ในปี 2025 ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนารถแข่งที่ไม่เสถียร ไปจนถึงการยกระดับที่ไม่สร้างแรงกระเพื่อมใด ๆ ทำให้แฟน ๆ หลายคนเริ่มสงสัยว่าเฟอร์รารีกำลังถอดใจกับปี 2025 แบบเงียบ ๆ เพื่อหวังผลในระยะยาวหรือไม่?
แม้เฟอร์รารีจะยังไม่เคยออกมายืนยันอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อดูจากการที่ทีมแทบไม่มีความคืบหน้าชัดเจนในช่วงกลางฤดูกาล บวกกับปัญหาเชิงกลยุทธ์และขวัญกำลังใจที่ยังไม่ดีขึ้น มันก็ยิ่งกระตุ้นความกังวลในหมู่แฟน ๆ Tifosi
นักข่าวเคยถามแฮมิลตัน ว่า “ได้ข่าวว่ารถยนต์อัพเกรดมาใหม่ เป็นยังไงบ้างคะ?”
Hamilton ก็ตอบกลับไปแบบสีหน้าผิดหวังและงงว่า “อัพเกรดอะไรครับ ถ้ามีก็คงดี” แล้วเจ้าตัวก็ส่ายหน้าแล้วเดินจากไป
ต้องยอมรับว่า การเตรียมตัวล่วงหน้าสำหรับยุคกฎใหม่ไม่ใช่เรื่องแปลก และในหลายกรณีก็ถือว่าจำเป็น แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ เมอร์เซเดสและแม็คลาเรน ก็เตรียมความพร้อมสำหรับปี 2026 เช่นกัน แต่พวกเขาก็ยังแข่งขันได้เต็มที่ในปี 2025
เพราะแม็คลาเรนยังคงครองความเหนือชั้นในแต่ละสนาม
ส่วนเมอร์เซเดส แม้จะยังไม่มีรถที่ลุ้นแชมป์โลกได้ แต่ก็ยังสามารถขึ้นโพเดียมได้จาก การยกระดับที่แม่นยำควบคู่กับกลยุทธ์ที่เฉียบคม
ส่วนในฝั่งของเฟอร์รารีกลับดูเหมือนจะยังติดกับดักแนวคิดแบบ ‘เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง’ คือการเลือกที่จะทุ่มเทกับระยะสั้นหรือระยะยาวไปเลยอย่างหนึ่ง แต่ทำสองอย่างพร้อมกันไม่ได้
ความคิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปในปี 2014 ช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคเครื่องยนต์ V6 Turbo Hubrid ทีมเฟอร์รารีประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะถูกวิจารณ์ว่าเตรียมตัวช้ากว่าทีมอื่น ๆ จนส่งผลให้ทีมล้าหลังคู่แข่งหลายปี ในตอนนี้ พวกเขาอาจกลัวที่จะซ้ำรอยเดิม จึงเลือกการเตรียมตัวให้เร็วที่สุดเพื่อปี 2026 แต่การทุ่มหนักเกินไปกับอนาคตก็อาจและมาด้วยผลงานปัจจุบันของพวกเขา และสำหรับแฟน ๆ มันคือความน่าหงุดหงิดอย่างยิ่ง เพราะทั้ง ชาร์ล เลอแคลร์ และ ลูอิส แฮมิลตัน ต่างก็เป็นนักขับระดับโลกที่เก่งและมีความสามารถในการเอาชนะ แต่กลับดูเหมือนทุกคนติดอยู่ในรถที่ไม่มีทั้งความเร็วและทิศทาง
ในสายตาของแฟน ๆ เฟอร์รารีคิดไกลเกินไปจนลืมปัจจุบัน แม้ข่าวลือเรื่องการหันไปโฟกัสปี 2026 จะยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่ทุกเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันแบบนี้ ก็เพียงพอที่จะทำให้แฟน ๆ ไม่สบายใจแล้ว
หากคุณเป็นแฟนบอลของแมนยู คุณคงเข้าใจแฟนเฟอร์รารี และอาจเป็นเพื่อนกันได้แต่ถ้าคุณเป็นแฟนทั้งแมนยูและเฟอร์รารี — คุณนี่โคตรจะน่าเห็นใจเลยครับ…
ความล้มเหลวของเฟอร์รารี ไม่ได้เกิดจากการขาดนักขับที่มีพรสวรรค์ หรืองบประมาณในการสร้างรถยนต์ เพราะพวกเขายังมีนักขับระดับโลกถึง 2 คน มีวิศวกรที่เปี่ยมด้วยความหลงใหล และยังถือครองชื่อแบรนด์ที่เป็นหนึ่งในตำนานของโลกมอเตอร์สปอร์ตแต่สิ่งที่ฉุดรั้งพวกเขาไว้คือสิ่งที่แก้ไขได้ยากกว่า นั้นก็คือ ความลังเลในการกำหนดกลยุทธ์ ความยึดติดในวัฒนธรรมจนมากเกินไป และเหนือสิ่งอื่นใด การสื่อสารที่ไร้ความเป็นมืออาชีพ
ในกีฬาที่วินาทีและจังหวะการตัดสินใจสำคัญกว่าทุกสิ่ง การที่เฟอร์รารี ไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่างชัดเจน ทั้งภายในทีมและบนกำแพงพิท ยังคงทำให้พวกเขาต้องสูญเสียโอกาสครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะในโลกของ F1 การสื่อสารถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่สำคัญที่สุด
วิธีแก้ไขปัญหานี้คงไม่ยากเลยหากเฟอร์รารี กล้าที่จะเรียนรู้จากอดีต เริ่มลดอัตตาเพื่อยอมรับฟังนักขับให้มากขึ้น และเริ่มปรับโครงสร้างภายในทีมให้สอดคล้องกับมาตรฐานของโลก F1 ไม่มีเหตุผลใดที่พวกเขาจะกลับมายิ่งใหญ่ไม่ได้
เพราะท้ายที่สุด คู่แข่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเฟอร์รารี หาใช่ทีมเด่นดังอย่าง เรด บูล, เมอร์ซีเดซ หรือแม็คลาเรน
แต่คือตัว สคูเดอเรีย เฟอร์รารี เองต่างหาก…