‘ดาวตก’ ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า กับความหมายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย

‘ดาวตก’ ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า กับความหมายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย

‘ดาวตก’ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ (แต่) มีความหมายทางสังคมวัฒนธรรม

KEY

POINTS

  • ‘ดาวตก’ ในสมัยอยุธยา ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าในฐานะลางร้าย คำทำนายถึงบ้านเมือง และผู้มีบุญจะสิ้นบารมี
  • ‘ดาวตก’ ในสมัยรัชกาลที่ 4 : ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าตามแนวคิดวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แบบตะวันตกหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 
     

เมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 4 มีนาคม และวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา หลายคนมองเห็นแสงสีเขียวพุ่งลงมาจากท้องฟ้า ชาวโซเชียลฯ ที่ถ่ายคลิปได้ทัน ก็นำเอาคลิปมาโพสต์ให้ชมกันเป็นของตื่นตาตื่นใจ ก่อนที่ในค่ำวันเดียวกันนั้นเอง สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติจะออกมาให้ข่าวยืนยันว่า ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่ชาวไทยได้เห็นกันนั้น สำหรับวันที่ 4 มีนาคมนั้นคือ ‘ดาวตกชนิดลูกไฟ’ และสำหรับวันที่ 6 มีนาคม คือ ‘ดาวตกชนิดระเบิด’

สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติยังยืนยันด้วยว่า ดาวตกทั้งสองชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อชาวโลก สำหรับประเทศไทยสามารถมองเห็นได้จากหลายพื้นที่จังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ, ราชบุรี, เพชรบุรี, กาญจนบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, พระนครศรีอยุธยา, ฉะเชิงเทรา, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, สระบุรี, สุพรรณบุรี, ลพบุรี, นครสวรรค์, ศรีสะเกษ, บุรีรัมย์, ชลบุรี, สมุทรสาคร, นครปฐม, นครนายก, ระยอง, ชัยภูมิ, เชียงใหม่ เป็นต้น

ดาวตกทั้งสองชนิดนี้แตกต่างกันอย่างไร จะได้เห็นอีกเมื่อไหร่ อย่างไร ท่านผู้อ่านสามารถสืบค้นข้อมูลกันเอาเอง สำหรับในที่นี้ผู้เขียนจะชวนมองประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนท้องฟ้ากับโลกทัศน์ความเชื่อทางสังคม โดยเฉพาะสำหรับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ การได้ดูดาวตกด้วยกันเป็นอะไรที่โรแมนกะติก ดาวตกครั้งเดียวตกเยอะ ๆ ที่เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์ฝนดาวตก’ ยิ่งโรแมนกะติก สามารถอธิษฐานขอพรความรักจากดวงดาวได้ 

เมื่อเกิดมีกระแสข่าวทำนายว่าจะเกิดฝนดาวตก หลายคนได้ไปปักหลักกางเต็นท์กันบนดอย เพื่อได้ชมปรากฏการณ์นี้เป็นการเฉพาะ และเมื่อได้ชมครั้งหนึ่งแล้วเป็นต้องอยากชมอีกในปีต่อ ๆ ไป 

ความปรารถนาของหนุ่มสาวรุ่นใหม่เช่นนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับมุมมองต่อปรากฏการณ์เดียวกันนี้ในหมู่คนรุ่นก่อน ซึ่งมีความเชื่อว่าดาวตกเป็นลางไม่ดี จึงไม่อยากเห็นหรือไม่อยากให้เกิดขึ้นมาอีก  

ในขณะเดียวกันทุกครั้งที่เกิดปรากฏการณ์แปลกประหลาดที่นาน ๆ ครั้งจะเกิดให้ได้เห็นทีหนึ่งเช่นนี้  ก็จะถูกคนไทยอีกส่วนหนึ่งนำเอาไปมองเชื่อมโยงกับประเทศชาติบ้านเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว (นานเสียจนยากจะค้นหาจุดเริ่มต้นว่าเริ่มมีความเชื่อเช่นนี้เมื่อใด) ที่มีความเชื่อกันว่า ชะตาชีวิตคนเราเรื่อยไปจนถึงชีวิตทางสังคมเป็นสิ่งที่มีขึ้น ๆ ลง ๆ สัมพันธ์กับดวงดาว ตามความรู้ที่เรียกว่า ‘โหราศาสตร์’  เวลาฟังคำทำนายทายทักก็จะแบบช่วงนี้ช่วงโน้นจะดวงดี ดวงไม่ดี เพราะเป็นช่วงดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ราหูบดบัง โคจรปกติ โคจรวิปริต มฤตยูอโคจร พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก ฯลฯ    

และแม้ว่าสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติจะออกมายืนยันว่าที่ได้เห็นบนท้องฟ้ากันนั้นเป็น ‘ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ’ คือเป็นของปกติที่เกิดขึ้นได้ ก็ยังไม่วายที่จะมีคนไทยจำนวนหนึ่งนำเอาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไปมองเชื่อมโยงเป็น ‘ลางไม่ดี’ แก่บ้านเมือง อันที่จริงก็ช่วยไม่ได้  เพราะต้องยอมรับอยู่อย่างว่าความเชื่อเช่นนี้มีมาแต่ครั้งอดีตเช่นกัน  

‘ดาวตก’ ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า กับความหมายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย

‘ดาวตก’ ในสมัยอยุธยา : ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าในฐานะลางร้าย คำทำนายถึงบ้านเมือง และผู้มีบุญจะสิ้นบารมี

คนไทยสมัยก่อนมีความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้ากันมากขนาดไหนนั้น เห็นได้ประปรายจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในที่นี้จะยกตัวอย่างเฉพาะในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อชี้ให้เห็นลักษณะความเชื่อที่ต่างกันระหว่างคนสองยุค และเป็นความเชื่อที่ยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน (ไม่เชื่อก็ลองสังเกตแคปชันของญาติสนิทมิตรสหายในเฟซบุ๊กของท่านดูก็ได้)   

ตามเอกสาร ‘คำให้การชาวกรุงเก่า’ ซึ่งเป็นหลักฐานความทรงจำของเชลยอยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าหลังกรุงแตก พ.ศ. 2310 ได้กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่ยังความตื่นตะลึงให้แก่ชาวกรุงศรี อันเป็นนิมิตว่า กรุงจะแตก ดังต่อไปนี้: 

“เมื่อพระเจ้ามหาธรรมราชา (สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ - ผู้อ้าง) จวนเสด็จสวรรคตนั้น เกิดนิมิตหลายประการ เป็นต้นว่า อุกกาบาตตกลงในท่ามกลางพระนคร และเกิดมีดาวหาง อากาศแดงเป็นแสงไฟ สำแดงเหตุใหญ่หลายประการ เป็นนิมิตสำหรับผู้มีบุญจะสิ้นอายุ” 

เรื่องนี้ไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับสมัยอยุธยา เพราะช่วงเวลาหลังจากนั้นเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย ยังไม่รู้แน่ว่า ‘ผู้มีบุญ’ องค์ใหม่ที่จะมาแทนสมเด็จพระเจ้าบรมโกศที่เพิ่งสวรรคตไปนั้นจะเป็นเจ้านายพระองค์ใด เพราะเวลานั้นมีผู้ที่อยู่ในเกณฑ์จะได้ราชสมบัติอยู่หลายพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้าอุทุมพร (สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรในเวลาต่อมา), เจ้าพระกรมขุนอนุรักษ์มนตรี (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ในเวลาต่อมา), พระองค์เจ้าแขก (กรมหมื่นเทพพิพิธ), เจ้าสามกรม (กรมหมื่นจิตรสุนทร, กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี)  

พระราชพงศาวดารฉบับก่อนชำระหรือฉบับแต่งสมัยธนบุรีให้ความสำคัญกับเหตุการณ์วุ่นวายดังกล่าวนี้มาก่อน ไม่มีเรื่องดาวตกเป็นสัญญาณ สัญญาณที่กรุงจะแตกเกิดมีนิมิตอย่างอื่นกับสิ่งอันเป็นหลักเป็นประธานของบ้านเมือง ซึ่งเป็นเหตุการณ์เมื่อปลายสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แล้ว เป็นต้นว่าพระพุทธรูปหลวงพ่อโต พระประธานวัดพนัญเชิง มีน้ำพระเนตรไหลเป็นสีแดง จู่ ๆ มีอีกาบินเหนือท้องฟ้าแล้วตกอกถูกยอดพระปรางค์วัดมหาธาตุเสียบตาย เทวรูปสมเด็จพระนเรศวรซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ทิศใต้พระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์แสดงปาฏิหาริย์กระทืบพระบาทเสียงดังกัมปนาท   

แน่นอนว่าความทรงจำของเชลยที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า อาจสับสนเพราะอยู่ในช่วงชุลมุนวุ่นวาย แต่มีหลักฐานอีกแหล่งที่เป็นอิสระแก่กันเล่าตรงกันว่า มีเหตุการณ์ดาวตกเป็นนิมิตร้ายมาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศสวรรคต คือ ‘พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์วัดพระเชตุพนฯ’ ซึ่งเป็นพระราชพงศาวดารชำระในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่มีชีวิตอยู่ร่วมยุคของเหตุการณ์ ได้กล่าวความพิสดารเอาไว้ดังนี้: 

“ณ วันเดือนสิบสอง แรมสองค่ำ ปีฉลู นพศก กลางคืนลมว่าวพัดหนัก พระมหาธาตุซึ่งเป็นหลักวัดโพธิ์โทรมลงทลาย ทั้งอากาศสำแดงร้ายอาเพศ ประทุมเกตุตกต้องมหาธนูลำพู่กัน อนึ่ง ดวงดาวก็เข้าในวงพระจันทร์ ทั้งดาวหางคลองช้างเผือก ประชาชนก็เย็นยะเยือกทั้งนคร ด้วยเทพเจ้าสังหรณ์ให้เห็น ด้วยพระองค์เป็นหลักชัยในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา” 

เหตุที่ความทรงจำของคนที่ถูกกวาดต้อนไปพม่ากับข้อมูลจากพระราชพงศาวดารฉบับชำระมาสอดคล้องตรงกัน อาจจะสืบเนื่องมาจากความเชื่อที่มีร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตาม ‘จดหมายเหตุโหร’ ซึ่งเป็นหลักฐานของผู้ที่คร่ำหวอดอยู่กับเหตุการณ์บ้านเมืองมากที่สุด เพราะเป็นโหรที่ต้องโน้ตต้องจดบันทึกว่ามีอะไรเกิดขึ้นในวันเวลาไหน อย่างไร กลับไม่ได้กล่าวว่ามีเหตุการณ์วิปริตบนท้องฟ้าในคืนวันที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสด็จสวรรคตแต่อย่างใด จดหมายเหตุโหรกลับกล่าวถึง ‘กลาบาตตก’ ในวันจันทร์ ขึ้นแปดค่ำ เดือนห้า ปีกุน จุลศักราช 1129 ตรงกับวันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ.2310  

วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2310 ตามหลักฐานแหล่งอื่นจะระบุว่าเป็นวันเสียกรุง เนื่องจากเป็นวันที่พม่าบุกเข้าเมืองยึดอยุธยาได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่จดหมายเหตุโหรระบุไว้ต่างว่า เป็นอีกวันหนึ่งคือวันพุธ ขึ้นเก้าค่ำ เดือนห้า ปีกุน ยังเป็นอัฐศก ตรงกับวันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 

แต่จะเป็นวันที่ 6 หรือวันที่ 7 เมษายนในปีเดียวกันนั้น ก็ไม่เป็นประเด็นสำคัญสำหรับในที่นี้ เพราะถึงจะบันทึกไว้คลาดเคลื่อนวันกัน แต่การอธิบายให้นัยยะต่อปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเป็นแบบเดียวกัน ทั้งพระราชพงศาวดาร คำให้การ และจดหมายเหตุโหร ซึ่งทำให้ทราบโดยรวมได้ว่า เป็นความเชื่อของปัญญาชนในยุคสมัยโน้น ที่จะอธิบายว่าก่อนจะเกิดเหตุการณ์วิปริตแปรปรวนขึ้นในบ้านเมือง จะต้องมีสัญญาณร้ายบอกเหตุบางอย่างbเป็นเหตุการณ์ที่นาน ๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง  

‘ดาวตก’ ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า กับความหมายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับการสิ้นบุญบารมีของ ‘ประมุขของชนชั้นนำ’ และในช่วงที่ยังไม่ปรากฏ ‘ผู้มีบุญองค์ใหม่’ ที่จะมาแทน ‘ผู้มีบุญองค์เก่า’ นั้น เป็นช่วง ‘ว่างแผ่นดิน’ ซึ่งต้องระมัดระวัง เพราะจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นมา จนกว่าจะเกิดผู้อวรตารลงมาปราบยุคเข็ญได้สำเร็จ ถ้าพูดภาษาปัจจุบันปัญญาชนนักวิชาการมักจะนิยามช่วงเวลาดังกล่าวนี้ว่าคือ ‘ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ (transition period) 

ในโลกตะวันตก ‘อันโตนิโอ กรัมชี’ (Antonio Gramsci) เคยกล่าวเปรียบเปรยว่า ในช่วงว่างแผ่นดินหรือช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนี้ ‘ปีศาจร้าย’ จะปรากฏตัวขึ้น ซึ่งสำหรับกรัมชีหมายถึงเผด็จการทหารฟาสซิสต์ในอิตาลีและเยอรมนี ยิ่งช่วงดังกล่าวนี้กินเวลามากเท่าใด ความเสียหายอันเนื่องมาจากปีศาจร้ายก็จะมากขึ้นตามตัว  จนกว่าช่วงเวลาปกติจะกลับคืนมา    

‘ดาวตก’ ในสมัยรัชกาลที่ 4 : ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าตามแนวคิดวิทยาศาสตร์สมัยใหม่แบบตะวันตกหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 

ความเชื่อในแบบดังกล่าวนี้ต่อมาถูกท้าทายจากการเข้ามาของแนวคิดและความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่การเข้ามาของการแพทย์และระบบสาธารณสุขแบบใหม่ เทคโนโลยีการพิมพ์ เรือกลไฟ กล้องถ่ายรูป ฯลฯ องค์ประกอบของเทคโนโลยีตะวันตกอย่างแนวคิดประจักษ์นิยม (Empiricism) ก็เข้ามามีบทบาท รวมถึงความรู้ดาราศาสตร์ก็เข้าไปมีส่วนต่อการปรับเปลี่ยนความรู้โหราศาสตร์ ตลอดจนความเชื่อเกี่ยวกับดวงดาวและชะตาราศีต่าง ๆ 

กลุ่มชนชั้นนำสยามได้กระตือรือร้นในการศึกษาแนวคิดและวิทยาการเหล่านี้มาปรับใช้กันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอย่างน้อย อนุสรณ์ที่ยืนยันถึงการปรับตัวของชนชั้นนำในส่วนนี้ก็มีตัวอย่างเช่น ‘หนังสือแสดงกิจจานุกิจ’ ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรียบเรียงขึ้นเพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมิชชันนารีตะวันตก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมัยที่ยังครองเพศบรรพชิตเป็น ‘พระวชิรญาณภิกขุ’ วัดที่ทรงจำพรรษาอยู่ในช่วงแรกอย่างวัดราชาธิวาส ก็อยู่ใกล้ชิดติดกับโบสถ์สามเสน ซึ่งเป็นย่านชาวคริสต์  มีบาทหลวงมิชชันนารีองค์สำคัญอย่างเช่นสังฆราชปาลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) เป็นต้น ทั้งสอง (พระวชิรญาณภิกขุกับสังฆราชปาลเลอกัวซ์) ต่างก็ได้แลกเปลี่ยนความรู้กันและกัน  พระวชิรญาณภิกขุถ่ายทอดภาษาและวัฒนธรรมไทยแก่สังฆราชปาลเลอกัวซ์ สังฆราชปาลเลอกัวซ์ก็ถ่ายทอดวิชาภาษาอังกฤษ ละติน และความรู้ตะวันตกอื่น ๆ ให้แก่พระวชิรญาณภิกขุ  

สิ่งนี้มีผลอย่างสำคัญให้เกิดขบวนการปฏิรูปพุทธศาสนาจนเกิดนิกายใหม่ที่เรียกว่า ‘ธรรมยุติกนิกาย’ ซึ่งเป็นศาสนาพุทธที่เน้นความเป็นเหตุผลทางโลกย์มากกว่าพุทธนิกายหินยานเดิม ธรรมยุติกนิกายได้พยายามตัดความเชื่อเหนือธรรมชาติที่แฝงอยู่ในพุทธศาสนาแบบพื้นบ้านที่มีกระจายอยู่ทั่วท้องถิ่น โดยโจมตีว่าพุทธศาสนาแบบนั้นไม่บริสุทธิ์เนื่องจากการเสียกรุง ทำให้แก่นหลักของพุทธศาสนาที่เข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่นั้นมัวหมองไป   

เมื่อพระวชิรญาณภิกขุลาผนวชมาขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 ผ่านไปเป็นเวลา 9 ปีย่างปีที่ 10 ได้เกิดเหตุการณ์ดาวตกขึ้นเมื่อ พ.ศ.2404  ราษฎรผู้คนต่างแตกตื่นวุ่นวายเพราะเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับในสมัยปลายอยุธยา ยิ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระชราภาพ ยิ่งทำให้ผู้คนคิดว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์แบบสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  

เมื่อเรื่องนี้เล่ากันแพร่หลายจนทราบไปถึงราชสำนัก  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเป็นปราชญ์และ ‘กษัตริย์นักเขียน’ จึงได้ทรงอธิบายโต้แย้งความเชื่อดังกล่าวนี้ไว้ในประกาศราชกิจจานุเบกษา ภายหลังรวบรวมไว้ในเล่ม ‘ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4’ ดังความต่อไปนี้:      

“พระเจ้าแผ่นดิน คนทั้งปวงยกย่องตั้งไว้เป็นที่พึ่ง ใครมีทุกข์ร้อนถ้อยความประการใด ก็ย่อมมาร้องให้ช่วย ดังหนึ่งทารกเมื่อมีเหตุแล้ว ก็มาร้องหาบิดามารดา เพราะฉะนั้น พระเจ้าแผ่นดินชื่อว่าคนทั้งปวงให้เป็นบิดามารดาของตัวแล้ว ก็มีความกรุณาแก่คนทั้งปวง ดังหนึ่งบิดามารดาแก่บุตรจริง ๆ โดยสุจริตจึงกล่าวสั่งสอนมาให้รักษาตัวรักษาชีวิตในเหตุที่น่ากลัวจะเป็น แลมีตัวอย่างเคยเป็น  แต่ฝ่ายราษฎรไทยจีนเป็นอันมากทั้งปวงนี้ เป็นคนถือผีถือสาง ถือมดถือหมอดู คนกลัวอะไรมาก อยากอะไรมาก  คนทรงผีแลหมอดู ก็พอใจเอาสิ่งนั้นมาว่ายุแยงให้คนตื่นไปต่าง ๆ เมื่อเห็นดาวหางครั้งก่อนมีมา ก็พอใจจะลือกันว่าเจ้าจะตายนายจะล้ม ผู้มีบุญจะมา บ้านเมืองจะเป็นจลาจล ผู้คนจะเกิดรบพุ่งกันพอใจกันว่าดังนี้จนตื่นกันไปเปล่า ๆ เป็นนักเป็นหนา เหมือนอย่างครั้งเมื่อปีมะเมียสัมฤทธิศกนั้น เหตุเช่นนั้น ก็ไม่ได้เป็นได้มีเลย เราเคยจับปดคนทรงผีแลหมอดูได้แล้วไม่ใช่หรือ”

จากประกาศที่มีต้นทางมาจากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวข้างต้นนี้  เป็นสิ่งแสดงถึงการปรับตัวทางความเชื่อและความรู้ของชนชั้นนำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่มีต่อปรากฏการณ์บนท้องฟ้า  เป็นการอธิบายเพื่อแยกปรากฏการณ์ธรรมชาติออกจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พูดง่าย ๆ คือทรงชี้ว่าดาวตกไม่เกี่ยวว่าผู้มีบุญจะสิ้นหรือบ้านเมืองจะมีเหตุการณ์ปั่นป่วนวุ่นวายแต่อย่างใด    

‘ดาวตก’ ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า กับความหมายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย

“หลายคนยลตามช่อง” & เหตุการณ์เดียวกัน แต่มองต่างมุม เรื่องก็ต่างออกไป

อย่างไรก็ตาม มุมมองความเชื่อต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติแบบก่อนหน้าที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ก็ไม่ได้หมดไป ยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน ความรู้ดาราศาสตร์สมัยใหม่แบบตะวันตกที่ชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์รับเข้ามาจากโลกอาณานิคมผ่านทางคณะมิชชันนารี เพียงแต่เป็นความรู้อีกแขนงหนึ่งที่แทรกปนเข้ามา เกิดเป็นสองแง่มุมที่มีอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมไทยสยาม  

ฝ่ายก้าวหน้าที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกยุคสมัยที่ดีกว่า แม้จะผ่านการศึกษาสมัยใหม่กันมาก็ยังใช้ประโยชน์จากมุมมองความเชื่อแบบเก่าก่อนปฏิรูป แต่แน่นอนว่าการปฏิรูปศาสนาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 นั้นมีการเมืองแฝงอยู่อย่างเข้มข้น ดังที่ ส.ธรรมยศ (นามปากกาของแสน ธรรมยศ) ผู้เขียนผลงานคลาสสิคเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 3 - 4 ได้เคยเสนอไว้ว่า ธรรมยุตินั้นคือองค์กรจัดตั้งทางการเมืองเพื่อการกลับขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของพระวชิรญาณภิกขุ เนื่องจากคณะสงฆ์เป็นกลุ่มที่มีบทบาทและอิทธิพลทางสังคมการเมืองสูงมากในสังคมไทยสยาม ผู้ที่ได้รับการยอมรับหรือมีฐานสนับสนุนจากคณะสงฆ์ย่อมมีสิทธิที่จะขึ้นเป็นผู้นำของฝ่ายอาณาจักร  

นอกจากนี้เหตุผลและความรู้แบบตะวันตกสมัยใหม่ที่ชนชั้นนำสมัยโน้นให้การยอมรับกันนั้น ก็เป็นเหตุผลและความรู้ที่จะถูกนำเข้ามาใช้สร้างสิทธิธรรมใหม่ เป็นสิทธิธรรมที่นอกเหนือไปกว่าสิทธิธรรมที่มีอยู่เดิมอย่าง ‘ชาติกำเนิด’ หรือลำดับชั้นทางสายพระโลหิต ซึ่งสำหรับครึ่งหลังในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ชาติกำเนิดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างความชอบธรรมแก่ชนชั้นนำได้  จำเป็นต้องมีอย่างอื่นเข้ามาเสริม และสิ่งนั้นในยุคโน้นคือความรู้แบบวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสมัยใหม่จากโลกอาณานิคม นำมาสู่การละทิ้งแนวคิดสมมติเทพ มาใช้แนวคิดสัจนิยม (Realism) และมนุษย์นิยม (Humanism)    

ครั้นเมื่อผ่านเวลามาแล้วสังคมกลับหลังหันไปสู่ช่วงอนุรักษ์นิยมครองอำนาจนำ ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแบบประจักษ์นิยมสมัยใหม่ได้เสื่อมคลายมนต์ขลังไป ชนชั้นนำไทยสยามก็ได้หวนคืนกลับไปใช้อ้างความชอบธรรมจากแหล่งอื่น ปล่อยให้ความเชื่อทั้งสองสายนี้ไหลวนลูปอยู่ในสังคมต่อไป จึงเกิดแง่มุมต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แตกต่างกัน 2 แง่มุมข้างต้นดำรงอยู่ควบคู่กันดังที่เราจะเห็นในปัจจุบันนั่นเอง     

 

เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์

อ้างอิง :

“จดหมายเหตุโหร” ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542. 

คำให้การชาวกรุงเก่า. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2549. 
ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. หนังสือแสดงกิจจานุกิจ. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2513. 

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2401-2404. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2503. 

ปาลเลอกัวซ์, มงเซเญอร์. เล่าเรื่องกรุงสยาม. แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2549. 

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: ศรีปัญญา, 25553. 

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2563. 

มหาราชวงษ์ พงศาวดารพม่า ฉบับนายต่อแปล. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545. 

ส. ธรรมยศ (แสน ธรรมยศ). Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน, 2547