‘มายา แองเจลู’ เด็กน้อยที่เคยถูกขืนใจจนไม่ยอมพูดถึง 5 ปี กลายเป็นกวีผู้โด่งดัง

‘มายา แองเจลู’ เด็กน้อยที่เคยถูกขืนใจจนไม่ยอมพูดถึง 5 ปี กลายเป็นกวีผู้โด่งดัง

มายา แองเจลู ผู้เผชิญกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก ความบอบช้ำจากฝันร้ายครั้งนั้นทำให้เธอไม่ยอมพูดถึง 5 ปี แต่เธอกลับมายืนหยัดอีกครั้งในฐานะกวีที่เขียนนวนิยายเชิงชีวประวัติของตัวเอง จนกลายเป็นนักกวีผู้มีอิทธิพลที่ใช้เรื่องราวของตนมอบแรงผลักดันให้ใครหลายคน

  • มายา แองเจลู นักเขียน กวี นักร้อง นักแสดง บรรณาธิการ ผู้โด่งดังจากการเขียนนวนิยายเชิงชีวประวัติ ‘ฉันรู้ว่าไยนกในกรงจึงขับขาน’
  • เธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศเมื่อตอนอายุ 7 ปี แต่หลังจากที่เธอเอ่ยชื่อของชายผู้กระทำผิดคนนั้น เขาก็ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต สร้างตราบาปในใจของเธอจนเธอไม่เปิดปากพูดเลยเป็นเวลา 5 ปี
  • เธอนำเสนอแนวคิดของตัวเองผ่านหนังสือที่เธอเขียนขึ้น เล่าประสบการณ์เลวร้ายที่เธอพบเจอเพื่อปลอบโยนและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่าน

 

“เราอาจจะพบกับความพ่ายแพ้มากมาย แต่เราต้องไม่ยอมพ่ายแพ้ ในความเป็นจริงเราจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับมัน เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าคุณเป็นใคร คุณจะลุกขึ้นจากอะไร และคุณจะออกมาจากมันได้อย่างไร” บทสัมภาษณ์ของ มายา แองเจลู ในรายการโทรทัศน์ของอเมริกา Bill Moyers Journal

‘มายา แองเจลู (Maya Angelou)’ เธอเป็นนักเขียนผิวดำเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันผู้ทรงอิทธิพล เป็นที่รู้จักจากการเขียนนวนิยายเชิงชีวประวัติเกี่ยวกับตัวเองถึง 7 เล่มด้วยกัน ซึ่งกลายเป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน รวมทั้งคนดังมากมาย อาทิเช่น ริฮานน่า (Rihanna), บียอนเซ่ (Beyoncé), นิกกี้ มินาจ (Nicki Minaj) รวมถึงบารัก โอบามา (Barack Obama) เป็นต้น

หนึ่งในคนดังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากมายา แองเจลู ก็คือ ‘โอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey)’ พิธีกรรายการทอล์กโชว์ระดับชาติที่มีเรตติ้งการรับชมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ เธอเล่าว่าตอนเธออายุ 15 หนังสือเล่มแรกที่เธออ่านคือ ‘ฉันรู้ว่าไยนกในกรงจึงขับขาน (I Know Why the Caged Bird Sings)’ ช่วยให้เธอจัดการกับความรู้สึกสับสนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เธอเผชิญเมื่อตอนเป็นเด็ก และทำให้เธอสามารถก้าวข้ามมันไปได้

โอปราห์ วินฟรีย์ บอกกับ O, The Oprah Magazine นิตยสารรายเดือนของอเมริกาว่า “ตั้งแต่วินาทีแรกที่ฉันเปิด I Know Why the Caged Bird Sings ขึ้นมา ฉันรู้สึกผูกพันกับมายา แองเจลูเป็นอย่างมาก ในแต่ละหน้าของหนังสือ ช่วงชีวิตของเธอดูเหมือนจะสะท้อนถึงชีวิตของฉัน ในตอนเด็ก ๆ เธอได้รับการเลี้ยงดูจากคุณย่า และเมื่อตอนเป็นเด็กสาวเธอกลับถูกข่มขืน มันคล้ายกันกับชีวิตของฉัน”

‘ฉันรู้ว่าไยนกในกรงจึงขับขาน’ (1969) เป็นนวนิยายเชิงอัตชีวประวัติของมายา แองเจลู เป็นหนังสือเล่มแรกในบรรดานวนิยายเชิงชีวประวัติทั้ง 7 เล่ม สะท้อนถึงความเป็นไปในสังคมอเมริกันผ่านชีวิตของเธอตั้งแต่ในวัยเด็กถึงช่วงวัยเยาว์ ทำให้เห็นถึงความเติบโตและความรักในวรรณกรรมที่ทำให้เธอผ่านเรื่องเลวร้ายไปได้

แม้ในแต่ละช่วงชีวิตของเธอจะมีเรื่องราวที่ย่ำแย่ แต่ถึงอย่างนั้นทัศนคติที่ดีของเธอก็พาเธอก้าวเดินต่อไปในเส้นทางที่ดีกว่าเดิมได้ ถือเป็นนวนิยายที่สร้างอิทธิพลให้กับคนอ่านได้ไม่น้อย

เพราะคำพูดฆ่าคนได้จึงไม่เอ่ยปากพูด

จริง ๆ แล้วชื่อจริงของมายา แองเจลู คือ มาร์เกอรีต เเอนนี่ จอห์นสัน (Marguerite Annie Johnson) เธอเกิดในรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา แต่เพราะพ่อและแม่แยกทางกัน มายาในวัย 3 ขวบและพี่ชายจึงต้องย้ายไปอาศัยอยู่กับย่าและลุงในเมืองชุมชนคนดำทางใต้ของอเมริกา หลังจากที่แม่สร้างเนื้อสร้างตัวได้แล้ว แม่จึงรับเธอและพี่ชายกลับมาอยู่ด้วยกัน

แต่ว่าแทนที่ชีวิตของมายาน้อยในวัย 8 ขวบจะมีความสุขเมื่อได้กลับมาอยู่กับแม่ผู้เป็นที่รัก เธอกลับต้องเผชิญกับเรื่องที่เลวร้ายมากที่สุดในชีวิต เมื่อเธอถูกแฟนใหม่ของแม่ล่วงละเมิดทางเพศ ด้วยความกลัวและสับสน มายาเก็บงำเรื่องนี้ไว้กับตัวเป็นเวลาหลายวัน

เมื่อน้องสาวผู้เป็นที่รักไม่ยิ้มแย้มและดูเศร้าหมองตลอดเวลา พี่ชายของมายาก็คอยปลอบโยนอยู่ข้าง ๆ และถามไถ่อย่างเป็นห่วง จนในที่สุดเธอก็เอ่ยปากบอกกับพี่ชายว่าเธอถูกแฟนใหม่ของแม่ข่มขืน พี่ชายของมายาจึงนำไปบอกครอบครัว นำไปสู่การแจ้งความจับชายคนนี้

แฟนใหม่ของแม่มายาถูกจำคุกได้เพียงวันเดียวเท่านั้น หลังจากที่ถูกปล่อยตัวออกมาเขาก็โดนทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต มายาทราบในภายหลังว่าคนที่เป็นผู้กระทำคือลุงของเธอ เหตุการณ์นี้กระทบกระเทือนจิตใจของเธอเป็นอย่างมาก จนทำให้เธอโทษตัวเองว่าเป็นเพราะสิ่งที่เธอพูดออกมา ชายคนนั้นจึงเสียชีวิต

"ฉันคิดว่าคำพูดของฉันฆ่าคนได้ ฉันฆ่าชายคนนั้นเพราะฉันบอกชื่อของเขา แล้วฉันก็คิดว่าจะไม่พูดอีก เพราะถ้าฉันพูดออกไป เสียงของฉันอาจจะฆ่าใครอีกก็ได้”

ผลพวงจากความบอบช้ำทางจิตใจจากเหตุการณ์นั้น ทำให้มายาไม่เปิดปากพูดเลยตลอด 5 ปี มายาเก็บตัว ใช้ชีวิตต่อด้วยการทำเพียงนั่งฟังเสียงของคนอื่นและอ่านวรรณกรรมเท่านั้น เธอเล่าว่าเธออ่านหนังสือทุกเล่มในโรงเรียนของคนผิวดำ จนจำโคลงของเชกสเปียร์ทั้ง 60 บทได้

“มันเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายและน่าสะพรึงกลัว แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้ฉันได้รู้จักวรรณกรรม”

การได้อ่านวรรณกรรมทำให้มายาตระหนักได้ถึงอำนาจของถ้อยคำ และมายาในวัย 13 ปีก็รวบรวมความกล้ากลับมาพูดอีกครั้ง รวมถึงทำให้เธอได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ

 

หันหลังให้กับอดีต และเขียนความหวังขึ้นมาใหม่

“คุณไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับคุณได้ แต่คุณสามารถเลือกได้ว่าจะไม่ถูกเหตุการณ์เหล่านั้นลดทอนคุณค่าของคุณลง” จากหนังสือ ‘จดหมายถึงลูกสาว’ (Letter to My Daughter) (2009)

มายาหันหลังให้กับอดีตอันเจ็บปวด และใช้ชีวิตต่อด้วยความหวัง หลังจากที่ครอบครัวของเธอย้ายไปอยู่ที่ซานฟรานซิสโก มายาเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมจอร์จวอชิงตัน (George Washington High School) และได้รับทุนการศึกษาด้านการละครและการเต้นรำจากโรงเรียนแรงงานแคลิฟอร์เนีย (California Labor School)

เมื่ออายุ 16 มายาพักการเรียนเพราะอยากเป็นพนักงานควบคุมรถราง เธอชอบชุดเครื่องแบบที่มีหมวก ผ้าพันคอ และแจ็กเก็ตที่เข้ากัน แต่เธอกลับถูกเลือกปฏิบัติไม่รับเข้าทำงานเพราะเชื้อชาติและสีผิวของเธอ สะท้อนปัญหาการแบ่งแยกสีผิวที่รุนแรงในตอนนั้น

ด้วยการสนับสนุนของแม่ มายานั่งประท้วงอยู่ที่สำนักงาน Market Street Railway (บริษัทขนส่งมวลชนรายใหญ่ที่สุดในเมืองซานฟรานซิสโกในขณะนั้น ผู้ให้บริการรถบัสและรถราง) ถึง 2 สัปดาห์ จนสุดท้ายเธอก็ได้เป็นหญิงผิวดำคนแรกที่ได้เป็นพนักงานควบคุมรถราง

ในปี 1951 มายาแต่งงานกับ ‘ทอช แองเจโลส์’ (Tosh Angelos) กะลาสีชาวกรีก แต่พวกเขาหย่ากันหลังจากแต่งงานได้ 3 ปี แต่เธอยังคงใช้นามสกุลของเขา โดยเปลี่ยนจาก ‘แองเจโลส์’ เป็น ‘แองเจลู’ เพื่อให้มันเป็นนามสกุลของเธอเอง และใช้ชื่อเล่น ‘มายา’ ที่พี่ชายตั้งให้ ซึ่งเธอเคยทำงานที่ไนต์คลับในชิคาโกในชื่อ ‘มายา แองเจลู’ เธอออกอัลบั้มและทัวร์ในยุโรป อิสราเอล และอียิปต์ในฐานะนักร้องนักแสดง นอกจากนี้เธอยังเขียนบทในละครเวทีหลายเรื่อง

หลังจากนั้นเธอยังทำงานเป็นนักเขียน บรรณาธิการ เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในอียิปต์และกานา และกลับมาที่สหรัฐอเมริกาในปี 1960 เธอเริ่มเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของเธอในหนังสืออย่างละเอียด ในขณะเดียวกันเธอก็รวมกลุ่มกับเหล่าศิลปินและนักเขียนผิวดำรุ่นใหม่ในนิวยอร์กเพื่อเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำผ่านงานศิลปะของพวกเขา

ปี 1969 มายาได้ตีพิมพ์นวนิยายเชิงอัตชีวประวัติเรื่องแรก ‘I Know Why the Caged Bird Sings’ สอดแทรกทั้งประเด็นของการเลือกปฏิบัติการกดขี่ทางเชื้อชาติ การข่มเหงกระทำชำเรา ความรุนแรงที่ผู้ใหญ่ทำต่อเด็ก นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงบทบาทของสตรี ความเป็นแม่และสถาบันครอบครัว ซึ่งล้วนเป็นประสบการณ์ที่เธอพบเจอมา อีกทั้งยังมีการวิจารณ์ตัวเองที่เป็นตัวละครหลักในเรื่อง หลังจากนั้นหนึ่งทศวรรษต่อมา นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฉายในช่องโทรทัศน์ CBS

มายาได้แรงบันดาลใจจากคำพูดที่ว่า “ที่นกในกรงส่งเสียงขับขานไม่ใช่เพราะมันมีคำตอบ แต่เพราะมีเพลงที่อยากร้องต่างหาก” ที่มาจาก โจน วอลช์ อังลันด์ (Joan Walsh Anglund) กวีผู้เขียนหนังสือสำหรับเด็ก มายาอธิบายว่าเธออยากจะเริ่มต้นเขียนหนังสือ ‘I Know Why the Caged Bird Sings’ ด้วยความคิดที่ว่า ทำไมผู้คนถึงเขียนบทกวีและเล่นดนตรี พวกเขาเขียนเพราะพวกเขามีอะไรจะเล่าถึงบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต บางอย่างเกี่ยวกับความเจ็บปวด บางอย่างเกี่ยวกับความรัก รวมทั้งเสียงหัวเราะ

“ทำให้ดีที่สุดเท่าที่คุณทำได้จนกว่าคุณจะรู้ดีกว่านี้ แล้วเมื่อคุณรู้ดีกว่านี้ คุณก็จะทำได้ดีกว่านี้” มายาให้สัมภาษณ์ผ่านสารคดีเรื่อง ‘Maya Angelou: And Still I Rise’ (2016)

หลังจากนั้น มายาได้เติบโตในเส้นทางของกวีมาเรื่อย ๆ จากการเขียนนวนิยายอัตชีวประวัติของเธอ รวมถึงหนังสืออื่น ๆ จนในปี 1993 มายาถูกเชิญให้อ่านบทกวี ‘On the Pulse of Morning’ ของเธอในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี ‘บิล คลินตัน (Bill Clinton)’ และได้รับรางวัลแกรมมีอวอร์ด ในสาขา Best Spoken Word Album ในปี 1994

ในปี 2010 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา มอบเหรียญแห่งอิสรภาพของประธานาธิบดีให้กับเธอ ซึ่งเป็นเกียรติยศพลเรือนสูงสุดของประเทศ เพื่อยกย่องชีวิตและยอมรับอาชีพกวีที่โดดเด่นและสร้างแรงบันดาลใจด้านศิลปะวัฒนธรรมให้กับผู้คนของมายาอย่างเหมาะสม

ตลอดช่วงชีวิตที่โดดเด่นของเธอ มายามีหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน กวี นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมือง นักเขียนบทละคร นักแสดง ผู้กำกับ นักแต่งเพลง นักร้อง และนักเต้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด เธอเป็นนักเล่าเรื่อง เล่าเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเธออย่างแน่วแน่เพื่อการต่อสู้เพื่อสิทธิของพลเมือง เพื่อความเสมอภาค และเพื่อสันติภาพ ให้ผู้อ่านได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ของเธอและยอมรับตัวเองในแบบที่เป็น

มายา แองเจลู เสียชีวิตในวัย 86 ปี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2014 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัก โอบามา ได้แถลงหลังทราบข่าวการเสียชีวิตของเธอไว้ว่า “วัยเด็กแห่งความทุกข์ทรมานและการทารุณกรรมผลักดันให้เธอหยุดพูด แต่เสียงที่เธอพบช่วยให้คนอเมริกันรุ่นต่อรุ่นค้นพบสายรุ้งท่ามกลางหมู่เมฆที่มืดดำ และเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเราที่เหลือเป็นตัวของตัวเองให้ดีที่สุด รวมถึงแม่ของผมด้วย เธอเป็นแรงบันดาลใจให้แม่ของผมตั้งชื่อน้องสาวของผมว่ามายา”

 

ภาพ : Getty Images

อ้างอิง :

People [1]

People [2]

BBC

Cbsnews

Politico

Oprah

Harpersbazaar

Traffickinginstitute

Encyclopediaofarkansas

Youtu.be

Lithub

Streetcar