รวมแนวคิดผู้นำระดับประเทศหลายวงการบนเวที THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023

รวมแนวคิดผู้นำระดับประเทศหลายวงการบนเวที THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023

เวที THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 กิจกรรมที่ The People จัดในวาระครบรอบ 5 ปี มีผู้นำระดับประเทศหลากหลายวงการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อมูลด้านต่าง ๆ เพื่อก้าวไปในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืนท่ามกลางความท้าทายมากมายในโลกยุคใหม่

  • PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 งานพิเศษในวาระครบรอบ 5 ปี The People มีกิจกรรมมากมาย
  • งานนี้เริ่มต้นด้วย  Visionary Leadership Talk: การถอดบทเรียน ‘คน’ เปลี่ยนเกม ปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อทะยานสู่เส้นทางแห่งอนาคต ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายวงการมาแสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนข้อมูล

เรามักได้ยินใครหลายคนกล่าวไว้ว่า โลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเดิม ความเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งส่งผลกระทบใหญ่น้อยแตกต่างกันไปตามบริบท และใครหลายคนก็กล่าวไว้เช่นกันว่า มีเพียงผู้ปรับตัวเก่งที่จะอยู่รอด แต่เชื่อว่า ผู้ปรับตัวเก่งหลายคนมีปณิธานอันแรงกล้ามากกว่าแค่อยู่รอด หลายคนมีวิสัยทัศน์และความฝันอยากเห็นตัวเอง สังคม และโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม 

ในโอกาสวันครบรอบ 5 ปี และก้าวสู่ปีที่ 6 ของ THE PEOPLE สื่อรุ่นใหม่ที่นำเสนอเรื่องราวการสร้างแรงบันดาลใจเรื่อง ‘คน’ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น The People จึงจัดงาน Celebrating The People 5th Anniversary ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ณ คริสตัล บ็อกซ์ ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร

งานนี้มาพร้อม Exclusive Forum พาทุกคนก้าวสู่ ‘ความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ กับ THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 เวลา 13.00-16.30 น.

ช่วงเริ่มต้นงาน The People ได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ขึ้นเป็นประธาน และแสดงวิสัยทัศน์หัวข้อ ‘การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง บนโลกที่เปลี่ยนเร็ว’

รวมแนวคิดผู้นำระดับประเทศหลายวงการบนเวที THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023

“ถ้าคาดหวังว่าจะได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลง เชิงชื่อเสียงมากขึ้น ถูกจารึกในประวัติศาสตร์...อย่าเชื่ออย่างนั้น สิ่งที่เราทำวันนี้อีกร้อยปีคนลืม ไม่มีใครสนใจ ทำไปเพื่อความเปลี่ยนแปลงโดยมีความรู้สึกว่าอยากทำ เป็นความสุขที่ได้ทำ อย่าคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ใครจะจดจำ แล้วเราจะผิดหวัง”

นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวถึงแนวคิดเรื่องความเปลี่ยนแปลงต่อโลก และสังคม ในเวที THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023

ในฐานะบุคคลสำคัญเบื้องหลังคณะทำงานด้านซอฟต์พาวเวอร์ซึ่งเป็นคำที่ถูกพูดถึงมากที่สุดอันดับต้นในรอบปีที่ผ่านมา นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงว่า เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่ท้าทายในภาวะโลกกำลังเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงมีทั้งเปลี่ยนตัวเอง สังคม และโลก การเปลี่ยนตัวเองเป็นเรื่องใหญ่สำหรับหลายคน คนที่ผ่านโลกมาแล้วจะรู้สึกว่า สุดท้าย อะไรก็ไม่สำคัญเท่าการเปลี่ยนตัวเราให้มีความสุข แต่หลายคนบอกว่า ไม่ ฉันอยากทำให้โลกนี้ดีขึ้น ตั้งปณิธานว่า เมื่อจากโลกไป อยากให้โลกวันที่จากไป ดีกว่าวันที่ถือกำเนิด

ความตั้งใจในการเปลี่ยนเกมส่วนหนึ่งเริ่มต้นจากความฝัน นพ.สุรพงษ์ ยกตัวอย่างบทสนทนาที่เคยพูดคุยกับนายแพทย์ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ว่ามีความฝันอะไร หมอสงวน ตอบว่า อย่างหนึ่งคือเรื่องสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอีกเรื่องคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งหมอสงวน ต้องพยายาม และอดทนอย่างมากเพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายขึ้นจริง ๆ ซึ่งเมื่อมีโอกาสแล้ว นโยบายนี้เกิดขึ้นจริงและอยู่มาจนถึงวันนี้ ทั้งที่ในอดีตเคยมีคนมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝันสำหรับไทย

คำถามที่คิดว่าต้องถามคือ ถ้ามีความฝัน วันที่ฝันในวันนั้นกับวันนี้ สิ่งที่ทำอาจเปลี่ยนแปลง เพราะระบบเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน จึงต้องมาทบทวนข้อมูลต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น เรื่อง Soft Power ที่พูดถึงกันมาก ในสมัยที่โจเซฟ นาย (Joseph Nye) พูดถึงคำนี้คือบริบทหลังสงครามเย็น แต่วันนี้มีหลายอย่างเปลี่ยนไป จึงมองว่า อย่าติดกับสิ่งที่เคยเชื่อ เคยเรียนรู้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตามบริบท เทคโนโลยี ทุกอย่างเมื่อถึงเวลาทำจริง ต้องทบทวนว่า ยังเป็นสิ่งที่ยึดถือได้ไหม

เมื่อมีความฝันแล้ว หากจะทำเรื่องยาก ๆ เปลี่ยนโลก สังคม ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนช่วย ต้องมีผู้นำ และวางโครงสร้างสถาปัตยกรรมของระบบที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ผู้นำในการเปลี่ยนแปลงต้องเป็นนักเล่าเรื่อง ถ้าเล่าไม่เป็น คนไม่เข้าใจ ถ้าเล่ายาว คนไม่เข้าใจ ถ้าใช้เวลาเล่าเรื่องยาว แสดงว่าไม่เข้าใจมันจริง ๆ เล่าสั้น ๆ แล้วคนจะเข้าใจ

นพ. สุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างต้องอาศัยความเชื่อ ความตั้งใจ ความอดทน อาศัยสติ ขอให้ทบทวนข้อมูลต่าง ๆ ทุกอย่างมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้

“การเปลี่ยนแปลง ถ้าคาดหวังว่าจะได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลง เชิงชื่อเสียงมากขึ้น ถูกจารึกในประวัติศาสตร์...อย่าเชื่ออย่างนั้น สิ่งที่เราทำวันนี้ อีกร้อยปีคนลืม ไม่มีใครสนใจ ทำไปเพื่อความเปลี่ยนแปลง โดยมีความรู้สึกว่าอยากทำ เป็นความสุขที่ได้ทำ อย่าคาดหวังว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ใครจะจดจำ แล้วเราจะผิดหวัง”

รวมแนวคิดผู้นำระดับประเทศหลายวงการบนเวที THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 “...วันนี้ผมบรรยายแทบทุกสัปดาห์..บอกทุกมหาวิทยาลัยว่า พอแล้ว ตัวเลือกผมเยอะมากจนเลือกไม่ไหว ไม่ต้องสร้างเกมเมอร์เพิ่มให้ประเทศนี้แล้ว แต่เปลี่ยนเอาเกมเมอร์ไปเป็นอาชีพต่าง ๆ...”

สันติ โหลทอง นายกสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลถึงบริบทของวงการอีสปอร์ตและนักกีฬาไทยในปัจจุบัน

นายสันติ โหลทอง เล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่า เส้นทางการต่อตั้งสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยใช้เวลาหลายปี จุดเปลี่ยนสำคัญคือเมื่อรัฐบาลเห็นคุณค่าและโอกาสจากตัวอย่างและความเปลี่ยนแปลงเมื่อสภาโอลิมปิกเอเชียให้มีแข่งอีสปอร์ตในเอเชียนเกมส์ ทำให้ไทยต้องเตรียมตัวล่วงหน้า นำมาสู่การก่อร่างสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยอย่างจริงจัง

กว่าจะมาถึงวันนี้ ใช้เวลาไป 6 ปี เป็นการลงแรงและลงทุน ระหว่าง 6 ปี มีคำถามมากมาย มีคำถามที่ทำให้ถอดใจเลยก็มี เช่นถูกมองว่า เป็นภัยความมั่นคงของประเทศ บางคนมองว่า เมื่อเกมเป็นกีฬาจะทำให้คนเล่นเกมเยอะขึ้น คำตอบที่ให้ไปตามประสาคนซื่อตรงคือ ใช่ เล่นเกมเยอะขึ้นแน่ ๆ แต่ถ้าเป็นอาชีพแล้วไม่จริงจังก็อย่าเป็นอาชีพ หากได้รับรองเป็นกีฬาแล้ว ลองดูเหรียญรางวัลก่อนไหม แล้วเอาเหรียญไปสร้างต้นแบบให้เยาวชนในประเทศดู

สันติ โหลทอง เล่าว่า เมื่อมาถึงวันนี้ ไปบรรยายแทบทุกสัปดาห์ตามมหาวิทยาลัย และแจ้งว่า เข้ามาด้วยจิตอาสา อีสปอร์ตไม่ต้องจ้างแล้ว ตัวเลือกเยอะมากจนเลือกไม่ไหว ไม่ต้องสร้างเกมเมอร์เพิ่มแล้ว แต่เปลี่ยนเอาเกมเมอร์ไปเป็นอาชีพต่าง ๆ

ในปัจจุบัน อีสปอร์ตมีคำนิยามทางกฎหมายเขียนชัดว่า คือการแข่งเกม เอาเกมมาแข่งกัน เด็กจะได้ไม่ต้องโกหกพ่อแม่ว่าเป็นกีฬาทางกายภาพ แต่ชัดแล้วว่าเป็นกีฬาทางสมอง มีค่าเท่าหมากรุกแต่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

เมื่อสมาคมฯ ถูกรับรองและอยู่ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงสร้างเครือข่ายทำกิจกรรมที่มีทีมงานดูแล ขณะที่เงินรางวัลจากการแข่งเกมเป็นเม็ดเงินมหาศาลแล้ว อีสปอร์ตเริ่มเข้าสู่มหาวิทยาลัย ทีมงานไปให้ความรู้ด้านสายงาน สายอาชีพ อบรมบุคลากร ขณะที่การแข่งขันเอเชียนเกมส์ นักกีฬาไทยได้เหรียญรางวัลด้วย ในเวลานี้นักกีฬาอีสปอร์ตไทยทำผลงานอันดับต้น ๆ ในเอเชีย

ความเปลี่ยนแปลงที่ตามมาคือ การให้ความรู้ จากที่เคยบรรยายนักเรียน เปลี่ยนไปเป็นสร้างครู สร้างบุคลากรมากขึ้น และให้ครูมาสอนนักเรียนในแต่ละจังหวัด กลายเป็นการขยายตัวของวงการ

รวมแนวคิดผู้นำระดับประเทศหลายวงการบนเวที THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 วิทยากรอีกท่านหนึ่งคือ แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด และผู้ช่วยผู้จัดการกรรมการใหญ่ บริษัท กรุงศรี จำกัด ขึ้นกล่าวถึงเคล็ดลับการเป็น Game Changer สำหรับสตาร์ทอัพไทยที่อยากเป็นยูนิคอร์น

แซม เล่าว่าเขาทำงานอยู่ในวงการธนาคารมากกว่าสองทศวรรษ คุ้นชินกับ Innovation และ Fintech มาเป็นสิบ ๆ ปี และในฐานะที่เขาเองก็เป็นแฟนพันธุ์แท้สโมสรลิเวอร์พูล แฟนบอลที่ต้องใช้ความอดทนรอคอยชัยชนะมาเป็นเวลานานกว่าจะคว้าชัยมาครอง ซึ่งไม่ต่างจากธุรกิจสตาร์ทอัพที่เจ้าของกิจการจะต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษกว่าความสำเร็จจะมาครอง

“หลายคนอาจจะสงสัยว่าการที่จะเป็นแฟนพันธุ์แท้ลิเวอร์พูลเกี่ยวอะไรกับสตาร์ทอัพ เพราะการที่จะเป็นแฟนพันธุ์ลิเวอร์พูล คุณต้องอดทน นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะผมเคยอดทนมาแล้วสามสิบปีกว่าลิเวอร์พูลจะได้แชมป์

“ไม่มีอะไรซื้อมาด้วยความสำเร็จ ฉะนั้นการจะทำอะไรให้สำเร็จต้องใช้ระยะเวลา เช่นเดียวกับคนที่ทำสตาร์ทอัพ”

และในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา แซมเล่าว่า กรุงศรี ฟินโนเวต เป็น Corporate Capital เจ้าเดียวในเมืองไทยที่ทำครบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน เรื่องของ Strategic Partnership ธุรกิจธนาคารและลูกค้าธนาคาร อีกทั้งยังจัดตั้งโรงเรียนสอนสตาร์ทอัพขึ้นมา เพื่อให้เหล่านักลงทุนเล็งเห็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่น่าจับตามอง เลือกเข้ามาลงในในอนาคต

อีกหนึ่งความท้าทายที่แซมพบเจอมาในช่วงขวบปีหลัง คือ เขาเริ่มเห็นอัตราการเติบโตของสตาร์ทอัพระดับ Series A ลดน้อยถอยลง ซึ่งนี่อาจเป็นวิกฤติที่ทำให้สตาร์ทอัพในประเทศไทยล้มหายตายจาก

“นี่คืออย่างแรกที่ประเทศไทยต้องเปลี่ยน วันนี้แทบจะไม่มี Venture Capital ในเมืองไทยเลยที่จะเริ่มลงทุนในสตาร์ทอัพใน Early Stage นั่นคือสิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในประเทศไทย

“อย่างที่สอง ที่เราต้องเปลี่ยน นั่นคือในเรื่องของการกำลังในการทำสตาร์ทอัพที่ดี หมายถึงกลุ่มที่เป็นโปรแกรมเมอร์ IT Developer วันนี้น่าเป็นห่วง ประเทศไทยทั้งประเทศมีกองกำลังทำ IT Developer ไม่ถึงห้าหมื่นคน นี่คือตัวเลยสวยหรู ในขณะที่เวียดนามมีมากกว่าครึ่งล้าน”

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับสตาร์ทอัพในประเทศไทย คือ หลายคนมักเป็นนักคิด แต่ไม่ใช่นักปฏิบัติ ดังนั้นการจะยกระดับสตาร์ทอัพในประเทศไทยให้ทัดเทียมประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ประเทศไทยอาจต้องมีคนลงมือปฏิบัติมากกว่านี้

“ถ้าเราเป็นไปได้ แล้วสามารถทำให้สตาร์ทอัพเติบโตไประดับโลก ผมขอแค่ระดับอาเซียนแค่นี้ก็เจ๋งพอแล้ว ทั้งหมดทั้งปวง ถ้าวันนี้เราแก้สองอย่าง สิ่งที่ผมเห็นวันนี้ผมเริ่มไปลงทุนในเวียดนาม ผมเริ่มไปลงทุนและนำมาต่อร่างในประเทศไทย

“วันนี้เราไม่อยากน้อยหน้าไปกว่าเพื่อนบ้าน หลาย ๆ คนเห็นในประเทศอินโดนีเศียเอง นักศึกษาจบใหม่ในอินโดนีเซียมากกว่าร้อยละแปดสิบ อยากทำงานกับ Local Unicorn ของอินโดนีเซีย วันนี้เรายังไม่เห็นเลยว่านักศึกษาจบใหม่บอกว่าจะทำงานกับ Local Unicorn

“และวันนึงเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเขาก็คือสตาร์ทอัพมาก่อน และจะดีกว่านี้ไหม ขอให้อย่างน้อยสัก 3-4 บริษัท ที่เป็น Top 10 เหล่านั้น เป็นเทคคอมพานีของคนไทย สตาร์ทอัพไทย ถ้าเราเห็นมีสักสิบแฟลช มีสิบคมสัน มีสิบ ท็อป-จิรายุ มีสิบยอด วงใน ประเทศไทยจะดีกว่านี้ไหม นั่นคือการจ้างงานนับล้าน ๆ คน

“นั่นคือสิ่งที่เราเห็น วันนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะไม่หยุดอยู่ที่ 23 สตาร์ทอัพ ปีหน้าเราตั้งใจจะลงทุนทั้งในกิจการสตาร์ทอัพเล็ก และสตาร์ทอัพใหญ่ อีกประมาณยี่สิบกว่าสตาร์ทอัพ เราตั้งใจจริง ๆ ว่าหนึ่ง เราจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทย ผมหวังว่าวันนึงประเทศไทยจะเป็น 4.0 หรือ 5.0 ออกไปโม้กับชาวบ้านอย่างแท้จริงได้ว่า ประเทศไทยเป็นกิจการที่ขับเคลื่อนด้วยสตาร์ทอัพ และกิจการของเทคโนโลยี”

รวมแนวคิดผู้นำระดับประเทศหลายวงการบนเวที THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 “ตอนนี้โลกของเรามีอยู่ 30,000 กิโลวัตต์ แล้วในปี 2050 จะเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 กิโลวัตต์”

สินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์พลังงานทั่วโลก ขณะที่ปัจจุบัน ในวงการ ‘พลังงาน’ คำนิยมที่หลายคนรู้จัก คือ ‘Net Zero’ หรือการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กำลังขับเคลื่อนเพื่อเป็น “กลไกเล็ก ๆ ในการขับเคลื่อนเรื่อง net zero ของภูมิภาค” ตามที่สินนท์กล่าวไว้ในงานเสวนา

สินนท์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้บ้านปู เน็กซ์ มีการบริการด้านพลังงานสะอาดหลายด้าน โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนวงการพลังงานสะอาดผ่าน 6 ธุรกิจ เช่น การนำซอฟต์แวร์มาใช้บริหารพลังงานในอาคารหรือโรงงาน มีการสร้างเซอร์วิสรถ EV ตั้งแต่รถ 2 ล้อถึง 6 ล้อ การสร้างแท่นชาร์จรถ EV และโครงสร้างพื้นฐาน และการจำหน่ายไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ยกตัวอย่างถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้กับพื้นที่จริง คือ การรณรงค์เรื่อง smart waste บริเวณสวนเบญจกิตติ ที่หวังให้เรื่องรักโลกและขยะเป็นเรื่องใกล้ตัว รวมถึงกำลังขยายพื้นที่เข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครในอนาคต

สินนท์ยังบอกอีกว่า สิ่งสำคัญท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว คือ องค์กรต้องเท่าทัน ปรับตัวให้ทัน และมีเป้าหมายในการทำงานใกล้เคียงกัน

“สมัยก่อนบ้านปูเป็นบริษัทสำหรับคนอายุ 40-50 ปี ต่อมาเรารีแบรนด์ลงทุนในแก๊ส รวมถึงการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ปัจจุบันเราให้ความสำคัญเรื่องแพสชัน เมื่อเรามีแพสชันจะมีความคิดสร้างสรรค์

“เรามีพนักงานเป็นพันคน ต่างสัญชาติ แต่เรามีวัฒนธรรมเดียวกัน คือ Banpu Heart ที่ปลูกฝังไว้ในพนักงานบ้านปู ประกอบไปด้วย 3 อย่าง คือ แพสชัน นวัตกรรม และข้อตกลงที่เรามีร่วมกัน

และผมก็คิดว่าอนาคตบ้านปูก็คงมีภาพที่เปลี่ยนไป”

รวมแนวคิดผู้นำระดับประเทศหลายวงการบนเวที THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 วิทยากรผู้กล่าวในงานอีกท่านคือ เติม - อดิทิพ ภาณุพงศ์ Industry Head, Strategic Partnerships, Google ประเทศไทย ซึ่งมาพูดถึงความสำคัญของ AI ในยุคนี้ในฐานะที่เป็นตัวแทนของ Google ซึ่งอยู่ในทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุคแรก ๆ จนถึงยุคที่เกิดการปฏิวัติโลกอินเทอร์เน็ต

โดยไล่เรียงไทม์ไลน์แบบกระชับพูดถึงตั้งแต่ยุคแรกที่เป็นยุคของโมเด็ม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราสามารถเข้าถึงโลกภายนอกได้แม้ว่าจะนั่งอยู่ที่บ้าน ขยับมายุคที่ 2 ก็คือ ‘โมบาย’ ที่อินเทอร์เน็ตเข้าสู่มือถือ ซึ่งตอนนั้น เติม – อดิทิพ บอกว่า Google ได้เริ่มมองถึงเรื่องของโลเกชั่นแล้ว ดังนั้นทุกอย่างจะเริ่ม personalize เข้ามาหาผู้คนมากขึ้น เป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญมากขึ้น จนมาสู่ยุคที่ 3 เป็นยุคของ AI ที่มองว่าน่าจะเป็นยุคเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดมากที่สุด

“ในมุมมองของ Google ผ่านคุณซุนดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ซึ่งเป็นซีอีโอของ Google and Alphabet ได้พูดไว้ว่า Google จะขยับตัวเองตั้งแต่ mobile first จนเป็นบริษัท AI first ตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งหมายความว่า AI จะเป็นหัวใจหลักทุกอย่างของ Google และโปรดักส์ของ Google ที่ทำมา”

“ไม่ว่าจะเป็น Google Maps, Gmail Google ได้มีการนำ AI มาพัฒนาโปรดักส์ใหม่ ๆ รวมทั้ง Google Search และ Google Translate และอีกมากมาย”

“การเพิ่ม logic มากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาจนตอนนี้ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ AI สนทนากับเราได้ ที่เรารู้จักกันก็คือ Chatbot และพยายามให้เข้าใจและสื่อสารได้เหมือนคน”

ตัวอย่างโมเดลมากมายที่ เติม – อดิทิพ ได้พูดถึงวิวัฒนาการของ Google สะท้อนความเชื่อและวัฒนธรรมบางอย่างได้น่าสนใจ ซึ่งบ่งบอกได้ชัดว่า AI เติบโตเร็วกว่าที่เราคิดไว้มาก จากครั้งแรก ๆ ที่ Google มองเพียงการเป็นเสิร์ชเอนจิน แต่โลกของ AI ทำให้ Google ในวันนี้เปลี่ยนไปสู่การเป็นผู้ช่วย ที่จะทำให้ AI สามารถช่วยแก้ปัญหา ช่วยสังคม สิ่งแวดล้อมได้

รวมไปถึงโลกธุรกิจที่จะสามารถนำ AI เข้ามาสร้างโปรดักส์ใหม่ ๆ ที่ innovative มากขึ้น ง่ายขึ้น และสามารถเอาชนะคู่แข่งทางธุรกิจได้

ทั้งนี้ เติม – อดิทิพ ได้ยกตัวอย่างเครื่องมือมากมายจาก Google ที่จะช่วยผู้คน สังคม และธุรกิจได้ เช่น Google Photo ที่นำระบบ AI เข้ามาช่วย, Society AI ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา เช่น ในประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ได้นำระบบนี้มาช่วยคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับไฟป่า ส่วน AI Solution ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยหาโซลูชั่นได้

“ทุกวันนี้คนถามอากู๋ (Google) มากขึ้น มากขึ้นทุกวัน มากขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ คำถามคือเราจะทำยังไงให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด และได้อย่างแม่นยำ เข้าได้อย่างถูกวิธีและทันต่อเวลาที่พวกเขาต้องการด้วย”

เติม – อดิทิพ ยังพูดสรุปสิ่งที่ AI จะเข้ามาช่วยอย่างเข้าใจง่ายแบ่งเป็น 3 เรื่อง ก็คือ Customer Connection เข้าหาได้ถูกวิธี และถูกต้องขึ้น, Creative นำ AI มาช่วย ไม่ใช่เข้ามาแทนสกิลของคน และ Confidence สร้างความแม่นยำ

“ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคเหมือนกัน ผมอยากจะพูดจบแบบนี้ว่า เราไม่ได้แข่งกับ AI แต่เราแข่งกับธุรกิจ กับนักตลาดที่ใช้ AI แข่งกับคู่แข่งของเราที่เขาใช้ AI ดังนั้น สิ่งแรกเลยคือ จะทำยังไงถึงเอา data มารวมกับ AI ซึ่งการเอาทั้งสองอย่างมาบวกกันมันเป็น Comparative advantage (ความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ) ของคุณ”

เติม – อดิทิพ ได้พูดทิ้งท้ายเกี่ยวกับการเปลี่ยน mindset ทั้งตัวเองและองค์กรในยุคที่เป็น AI ว่า “การซื้อเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ง่าย แต่จะทำยังไงที่จะเริ่มเปลี่ยน mindset คนในองค์กรของเรา โดยเฉพาะการเริ่มตั้งแต่ผู้บริหาร หรือ C-Level ทั้งหลาย เพราะการที่เราและองค์กรจะมูฟไปจุดที่มี AI ได้ เราต้องมี Experimental Mindset (กล้าลองลองถูก) ด้วย”

“ในยุคของ AI ตอนนี้ไม่ใช่คำว่า If (ถ้า) อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นคำว่า “When” (เมื่อไหร่) เมื่อไหร่ที่คุณพร้อมก็อยากจะให้ลองเช้ามาสู่ journey ของ AI ครับ”

งานครบรอบ 5 ปีของ The People ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมบนเวที นั่นคือ Panel Discussion: เสวนาพิเศษจากตัวจริงของแวดวงธุรกิจไทย มีผู้นำที่มาแบ่งปันประสบการณ์ในการสร้างพลวัตการเปลี่ยนแปลง ‘คน’ และ ‘องค์กร’ เพื่อพัฒนาให้พร้อมสำหรับโลกอนาคต ภายใต้หัวข้อ : CHANGE อย่างไรให้ก้าวนำโลก

อ่านเนื้อหาจากเวที Panel Discussion ที่นี่