‘อิมครานิบ 100’ มากกว่าความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์คือ ‘อธิปไตยทางยา’

‘อิมครานิบ 100’ มากกว่าความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์คือ ‘อธิปไตยทางยา’

เบื้องหลังความสำเร็จของยา ‘อิมครานิบ 100’ คือเรื่องราวของความกล้าและศักดิ์ศรี เมื่อประเทศเล็ก ๆ ไม่ยอมให้ชีวิตประชาชนต้องขึ้นกับสิทธิบัตรของบริษัทยาข้ามชาติ

KEY

POINTS

  • ‘อิมครานิบ 100’ คือก้าวแรกของไทยในการสร้างอธิปไตยทางยา
  • บทเรียนจาก อินเดีย คิวบา แอฟริกาใต้ ชี้ว่า ‘สิทธิในการเข้าถึงยา’ คือเรื่องของมนุษยธรรม ไม่ใช่แค่กฎหมาย
  • ประเทศเล็ก ๆ สามารถท้าทายบริษัทยาใหญ่ได้ หากไม่ยอมจำนน

เดือนกรกฎาคม 2568 ประเทศไทยได้เริ่มใช้ยา ‘อิมครานิบ 100’ ยารักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) ที่ผลิตได้เองในประเทศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ด้วยแรงหนุนจากอุตสาหกรรมยาระดับโลก หากแต่เป็นผลจากพระราชปณิธานของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และความเพียรของแพทย์ นักวิจัย ที่ไม่ยอมให้ผู้ป่วยถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง เพียงเพราะไม่มีเงินซื้อยานำเข้า

ข่าวนี้อาจดูเหมือนความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับใครหลายคน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา มันคือชัยชนะที่มากกว่าเรื่องของยา แต่คือคำประกาศว่า “ชีวิตของคนตัวเล็ก ๆ มีค่า” และไม่ควรถูกจำกัดด้วยราคาที่ผูกขาดไว้โดยบริษัทยาข้ามชาติ

ไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่เลือกเดินบนเส้นทางอันขรุขระนี้ เพราะปี 2006 อินเดียเคยถูกวิจารณ์จากบริษัทยาระดับโลก หลังปฏิเสธคำขอสิทธิบัตรยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ‘Gleevec’ ของบริษัทโนวาร์ทิส โดยให้เหตุผลว่าสูตรยาที่ขอยื่นใหม่ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้บริษัทอินเดียสามารถผลิตยาราคาถูกออกมาได้ โดยไม่ถือว่าละเมิดสิทธิ

การตัดสินนั้น ทำให้ราคายาลดลงจากเดือนละ 2,600 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 200 ดอลลาร์ และช่วยให้ผู้ป่วยนับล้านเข้าถึงยาที่เคยถูกจำกัดไว้ให้เฉพาะผู้ที่มีเงินมากพอจะซื้อได้ โนวาร์ทิสจึงฟ้องรัฐบาลอินเดีย ฐานละเมิดสิทธิบัตร

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่คดีในชั้นศาล แต่มันคือการต่อสู้ระหว่าง ‘สิทธิของชีวิต’ กับ ‘สิทธิของธุรกิจ’

และเมื่อถึงปี 2013 ศาลฎีกาของอินเดียมีคำตัดสินที่เขย่าโลก พวกเขาไม่ให้สิทธิบัตรกับโนวาร์ทิส เพราะถือว่าไม่ได้มีนวัตกรรมใหม่เพียงพอ และยืนยันว่า ‘การเข้าถึงยาของประชาชน’ เป็นสิ่งที่รัฐมีสิทธิปกป้อง

ในอีกฟากหนึ่งของโลก ‘คิวบา’ ประเทศเล็ก ๆ ที่ต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การค้า และการเงินจากสหรัฐฯ ยาวนานกว่าหกสิบปี กลับกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคมะเร็งได้ด้วยตนเองอย่างโดดเด่น

‘CimaVax-EGF’ คือวัคซีนที่พัฒนาโดยศูนย์ ‘Center of Molecular Immunology’ ในกรุงฮาวานา และเริ่มแจกจ่ายให้ประชาชนภายในประเทศอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี 2011 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

วัคซีนนี้ออกแบบมาเพื่อใช้กับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลาม ช่วยชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งและยืดอายุผู้ป่วยได้ในหลายกรณี 

ไม่ใช่วัคซีนเชิงพาณิชย์ที่ตั้งราคาเพื่อทำกำไร แต่นับเป็นเครื่องมือของรัฐที่พัฒนาโดยเชื่อมั่นว่า การเข้าถึงการรักษาไม่ควรถูกจำกัดโดยภูมิศาสตร์หรืออำนาจการซื้อ

ย้อนกลับไปในแอฟริกาใต้ ปลายยุค 1990s – ต้น 2000s  เมื่อผู้ป่วยโรคเอดส์ต้องจ่ายค่ายาที่แพงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ครอบครัวต่อเดือน รัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้ ‘Compulsory Licensing’ หรือ ‘มาตรการความยืดหยุ่นตาม WTO TRIPS’ เพื่อให้สามารถนำเข้ายาราคาถูกจากประเทศอื่นมาช่วยประชาชน

ผลลัพธ์คือ บริษัทยา 39 รายทั่วโลกฟ้องรัฐบาลแอฟริกาใต้ ฐานละเมิดสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา

แต่ประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในแอฟริกา ก็ไม่ถอย เพราะมี ‘ชายคนหนึ่ง’ ยืนอยู่หน้าศาล พร้อมถือแผ่นป้ายเรียกร้อง

เขาชื่อ ‘แซคกี้ แอชมัด’ (Zackie Achmat) ผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งปฏิเสธการกินยาจนกว่าคนทั้งประเทศจะได้กินด้วย

‘อิมครานิบ 100’ มากกว่าความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์คือ ‘อธิปไตยทางยา’

เขาไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่นายทุน เขาเป็นประชาชนธรรมดาที่ตั้งกลุ่ม ‘Treatment Action Campaign’ เพื่อผลักดันให้รัฐกล้าสู้

สองปีหลังจากนั้น บริษัทยาต่างทยอยถอนฟ้อง คนในประเทศเริ่มได้เข้าถึงยารักษา และแอฟริกาใต้กลายเป็นแบบอย่างของ ‘รัฐที่กล้าต่อรองแทนประชาชน’

ในวันที่ประเทศไทยกำลังเริ่มต้นกับ อิมครานิบ 100 นอกจากความสามารถทางด้านการแพทย์ ยังมีเหตุผลที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ เราไม่ยอมปล่อยให้ชีวิตใครต้องจบลงเพียงเพราะไม่มีเงินพอจะซื้อสิ่งที่ควรเป็นสิทธิพื้นฐาน

ในวันที่ประเทศใหญ่กำหนดกฎของโลก การที่ประเทศเล็กยืนหยัดในแบบของตัวเอง กลายเป็นการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่ใช่การหยิบอาวุธ แต่คือการพัฒนา ไม่ใช่การต่อรองด้วยความกลัว แต่คือการประกาศด้วยศักดิ์ศรี

‘อธิปไตยทางยา’ ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู แต่คือความจริงที่แสดงให้เห็นว่า เราสามารถต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า และไม่ยอมให้ใครมาทำให้ชีวิตเราเป็นเพียงตัวเลขในสถิติ

 

เรื่อง: พาฝัน ศรีเริงหล้า

ภาพ: กรุงเทพธุรกิจ

 

อ้างอิง:

"‘ซิมาแว็กซ์’ วัคซีนรักษามะเร็งจากคิวบา แจกฟรีตั้งแต่ปี 2011." กรุงเทพธุรกิจ, 1 ก.ค. 2024, https://www.bangkokbiznews.com/health/well-being/1188036. Accessed 8 July 2025.

"South Africa’s Moral Victory." The Lancet, vol. 357, no. 9268, 2001, p. 1346, https://www.thelancet.com/pdfs/journals/lancet/PIIS0140-6736(00)04474-3.pdf. Accessed 8 July 2025.

"Drug Companies Withdraw HIV Drug Lawsuit Against South Africa." HIV i-Base, 17 May 2001, https://i-base.info/htb/4380. Accessed 8 July 2025.

Maslin, Janet. "South African AIDS Activist Seeks to Inspire Change." Los Angeles Times, 20 Apr. 2001, https://www.latimes.com/archives/la-xpm-2001-apr-20-mn-53295-story.html. Accessed 8 July 2025.

"The Power of Activism." Nature, vol. 406, 2000, p. 484, https://www.nature.com/articles/21472. Accessed 8 July 2025.

"South African AIDS Activist Zackie Achmat." TIME Archive, https://time.com/archive/6918517/south-african-aids-activist-zackie-achmat/. Accessed 8 July 2025.

"All His Life: South Africa’s Hero." Médecins Sans Frontières (MSF), https://www.msf.org/all-his-life-south-africas-hero. Accessed 8 July 2025.

Rodríguez Garavito, César. "South Africa vs. Big Pharma: Duking It Out Over Patent Law." Dejusticia, 2 Feb. 2015 https://www.dejusticia.org/en/column/south-africa-vs-big-pharma-duking-it-out-over-patent-law/. Accessed 8 July 2025.

"Vacuna Cubana Contra el Cáncer Combate Diagnóstico Grave." teleSUR, 21 Mar. 2022, https://www.telesurtv.net/vacuna-cubana-contra-el-cancer-combate-diagnostico-grave/. Accessed 8 July 2025.

"Promisorio Aval de Vacuna Cubana Contra el Cáncer Pulmonar." Granma, 23 Oct. 2018, https://www.granma.cu/cuba/2018-10-23/promisorio-aval-de-vacuna-cubana-contra-el-cancer-pulmonar-23-10-2018-20-10-39. Accessed 8 July 2025.

"The Critical Analysis of Novartis v. Cipla Case Verdict by Supreme Court." LexSpeak, 10 June 2013, https://lexspeak.in/2013/06/the-critical-analysis-of-novartis-v-cipla-case-verdict-by-supreme-court/. Accessed 8 July 2025.

"Novartis Loses Indian Glivec Patent Case." PharmaTimes, 2 Apr. 2013, https://pharmatimes.com/news/novartis_loses_indian_glivec_patent_case_1004741/. Accessed 8 July 2025.