03 ก.ค. 2568 | 13:30 น.
KEY
POINTS
“จริง ๆ ทุกคนอาจต้องได้ใช้บริการนี้”
‘ทศวรรษ บุญมา’ หรือ ‘แบงค์’ หนุ่มจิตอาสาวัยทำงานจากเชียงใหม่ ไม่ได้พูดประโยคนี้ด้วยน้ำเสียงเหน็บแนม หากแต่เป็นน้ำเสียงจริงใจของคนที่คลุกคลีอยู่กับความเหงา ความโดดเดี่ยว และความเจ็บปวดของผู้สูงวัยมาหลายปี กระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งในทีมงาน ‘Buddy Home Care’ ที่ริเริ่มไอเดียบริการสุดสะดุดหู ‘เช่าลูก’ เพื่อดูแลผู้สูงอายุแทนลูกหลานที่ไม่สามารถอยู่ใกล้ชิดได้
“เมื่อก่อนผมเป็นอาสาสมัครในชุมชน ดูแลผู้สูงอายุที่เข้าไม่ถึงสิทธิการรักษา หรือไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม บางคนอยู่ลำพัง บางคนก็มีลูกแต่ลูกต้องดิ้นรนทำงานไกลบ้าน ผมเลยเริ่มทำตรงนี้ควบคู่ไปกับเรียน จนวันหนึ่งได้มาเป็นส่วนหนึ่งของทีม Buddy Home Care”
โครงการเช่าลูก จึงเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ดูเหมือนจะประชดประชันโลกสมัยใหม่ แต่กลับสะท้อนความจริงอย่างเจ็บลึก “มีคนพูดเล่น ๆ ว่า เดี๋ยวนี้คนไม่อยากมีลูกกันแล้ว เพราะไม่มีเวลาจะเลี้ยง หรือไม่มีความสามารถจะดูแล เราเลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้น… เราก็เป็นลูกให้เช่าเลยสิ”
เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นอย่างถ่อมตัว แต่เบื้องหลังความเข้าใจผู้สูงอายุที่ลึกซึ้งนั้น ไม่ได้มาจากชั่วโมงทำงานหรือการอบรม เท่ากับประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวของเขาเอง
“ผมโตมากับยายครับ ยายเลี้ยงผมตั้งแต่เล็ก ๆ อยู่กับยายเลยก็ว่าได้ ผมเลยเข้าใจเวลาคนแก่พูดซ้ำ ๆ เดินช้า ๆ ลืมนู่นลืมนี่ หรือขอให้เราไปอยู่ด้วยเฉย ๆ แบบไม่ต้องทำอะไรเลย”
ภาพของคุณยายที่ค่อย ๆ แก่ลงทีละน้อย และกลัวว่าตัวเองจะเป็นภาระ กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้แบงค์หันมาทำงานเพื่อผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว ไม่ใช่เพราะมองว่านี่คือปัญหาสังคมใหญ่โต หากแต่เป็นเพราะความเข้าใจเล็ก ๆ ที่เขาเชื่อว่า ไม่มีใครแก่เกินไปที่จะได้รับความใส่ใจ
ชื่อ ‘เช่าลูก’ ฟังดูแรง แต่จำง่าย และกระแทกใจ ถึงอย่างนั้น ทีมงานก็ยังลังเลในตอนแรก แต่สุดท้ายกลับได้รับเสียงตอบรับที่ดี โดยเฉพาะจากครอบครัวที่ต้องการใครสักคนมาช่วยแบ่งเบา ไม่ใช่แค่เรื่องแรงกาย แต่รวมถึงแรงใจ
“บริการของเรามีทั้งไปเยี่ยม ไปคุย พาไปโรงพยาบาล ช่วยจัดยา พาไปทำธุระ ไปวัด ไปธนาคาร หรือแม้กระทั่งสอนผู้สูงอายุเล่นเฟซบุ๊กกับติ๊กต็อก” แบงค์เล่าพลางหัวเราะ “ผู้ใหญ่บางคนก็อยากเรียนเทคโนโลยีนะ แต่ไม่มีใครสอน”
สิ่งที่ผู้สูงอายุขาดไม่ใช่แค่แรงกาย แต่อาจลึกไปถึงความรู้สึกว่าตนเอง ‘ไร้คุณค่า’ เมื่อถูกทิ้งให้อยู่ลำพัง ความเงียบงันในบ้านกลายเป็นประตูเปิดไปสู่ภาวะซึมเศร้า และเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ความเจ็บป่วย ความหลงลืม และโรคอัลไซเมอร์ ก็เข้ามาแทนที่บทสนทนาในแต่ละวัน
“บางคนเล่าเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน เราก็ต้องนั่งฟัง เพราะเราเข้าใจว่าเค้าแค่ต้องการคนคุย” แบงค์พูดพลางนิ่งไปนิดหนึ่ง แล้วเสริมว่า “จริง ๆ เราทุกคนก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุในวันหนึ่งแหละครับ”
เขาเองได้พบเจอหลายกรณีที่สะเทือนใจจนยากจะลืม ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่เป็นอัลไซเมอร์ และต้องถูกขังอยู่ในบ้านเพื่อความปลอดภัย เพราะลูกหลานไม่อาจหยุดงานเพื่อดูแลได้ หรือคุณตาวัย 80 กว่าที่เอ่ยปากว่า “ไม่อยากอยู่แล้ว” เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครแคร์ ไม่มีใครฟัง
“บางคนกลัวเป็นภาระจนไม่กล้าขอความช่วยเหลือ แม้จะไปหาหมอก็ไม่กล้าให้ลูกลางานพาไป เพราะรู้ว่าค่าแรงหนึ่งวันมันสำคัญ”
คำถามที่น่าสนใจคือ คนแปลกหน้าอย่างแบงค์สามารถแทนที่ลูกหลานแท้ ๆ ได้หรือไม่?
“ก็ไม่เชิงแทนหรอกครับ แต่เราเป็นตัวแทนได้ อย่างน้อยในวันที่ลูกไม่ว่าง ก็มีเราอยู่ ผู้ใหญ่จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ลูกก็สบายใจว่าแม่มีคนพาไปวัด พาไปหาหมอ”
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจ บางคอมเมนต์ในโซเชียลก็เหน็บแนมว่ากลัวพ่อแม่จะยกมรดกให้ ‘ลูกเช่า’ แทนลูกแท้ๆ
“บางคนก็กลัวว่าพวกเราเข้ามาแล้วจะหลอกผู้สูงอายุ แต่เราก็คัดกรองคนที่มาทำงานอย่างดี ต้องใจเย็น ผ่านการอบรมมาแล้ว และต้องตรวจประวัติอาชญากรรมด้วย เพราะเรากลัวเหมือนกันว่าทีมงานที่เราส่งไปจะสร้างปัญหา”
เมื่อถามว่า งานนี้ให้อะไรกับชีวิตของเขา แบงค์นิ่งไปเล็กน้อยก่อนตอบว่า
“เราได้เห็นเลยครับว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมากขึ้น คนแชร์เรื่องนี้กันเยอะมาก ทำให้เรารู้ว่า…สิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า และทำให้เรากล้าจะเดินหน้าต่อ”
เพราะสุดท้ายแล้ว ความแก่ไม่ใช่แค่เรื่องของใครคนหนึ่ง แต่มันคือภาพสะท้อนของอนาคตของเราทุกคน
สัมภาษณ์: พาฝัน ศรีเริงหล้า