07 ก.ค. 2568 | 15:58 น.
KEY
POINTS
ในโลกที่เต็มไปด้วยคำทำนายจากเทคโนโลยี และอนาคตที่ไม่มีใครยืนยันได้ว่าแน่ชัด โลกใบเดิมกำลัง ‘กลายพันธุ์’ และคนที่ไม่เข้าใจทิศทาง จะไม่มีที่ยืน
‘ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’ ผู้ก่อตั้ง ‘Bitkub’ ขึ้นเวที Creative Talk 2025 ด้วยการประกาศเสียงดังฟังชัดว่า เขาจะไม่พูดเรื่องอนาคตแบบเลื่อนลอย แต่จะพาเรามอง 2 เรื่องใหญ่ที่กำลังเขย่าเศรษฐกิจไทยและโลกในปีนี้
“พอยต์แรกของผมคือ โลกของเรากำลังกลายพันธุ์”
เขาไม่ได้ใช้คำนี้เล่น ๆ คำว่า ‘กลายพันธุ์’ ของเขาหมายถึงการเปลี่ยนโครงสร้างของระเบียบโลกทั้งหมด โลกที่เราเคยรู้จักกำลังสลายตัวลงอย่างช้า ๆ และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคใหม่ที่เขาเรียกว่า Pre-something world – โลกที่อยู่ในช่วงก่อนบางสิ่งใหม่จะอุบัติขึ้น
“จากโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ วันนี้มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เรากำลังเข้าสู่ยุค regionalization (ภูมิภาคนิยม) ประเทศจะหันกลับมาพัฒนาในภูมิภาคของตัวเอง”
คำพูดของเขาแทงใจตรง ๆ ว่าโลกไม่ได้กระจายตัวด้วยอุดมคติแบบ globalization (โลกาภิวัตน์) อีกต่อไป แต่กลับรวมกลุ่มในทางภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อรับมือกับโลกที่ไม่มีใครเชื่อใจใครอีกแล้ว
“ขณะที่จีนกับสหรัฐฯ หันมาซัดกัน เหล่าตัวเล็กตัวหน่อยก็หันมาจับกลุ่มจับก้อนกัน”
ศูนย์กลางการผลิตที่เคยรวมศูนย์อยู่ในจีน เริ่มย้ายกลับประเทศของตนเอง (reshoring – การย้ายฐานการผลิตกลับ) การแข่งขันไม่ได้วัดกันที่ “ถูกที่สุด” หรือ “ดีที่สุด” อีกต่อไป แต่กลายเป็น “เขียวที่สุด” หมายถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ “ลดการพึ่งพาคนกลาง”
“ไม่มีใครเชื่อมั่นในตัวกลางอีกแล้ว โลกกำลังกระจายความเสี่ยง วางไข่ในหลายตะกร้า”
จีนที่เคยเป็นโรงงานของโลก กำลังเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ผลิตที่เน้นคุณภาพแบบ mass scale (ขนาดใหญ่) เหมือนญี่ปุ่น ในขณะที่การผลิตแบบเดิม ๆ เริ่มย้ายไปแอฟริกาและอินเดีย ประกอบกับเทคโนโลยีอย่าง AI (ปัญญาประดิษฐ์), blockchain (บล็อกเชน), 3D printing (การพิมพ์สามมิติ) และ robotics (หุ่นยนต์) กำลังเข้ามาแทนที่
“นี่คือโลกแบบ Pre-something world ที่กำลังรื้อสร้างฐานการบริโภคทั้งหมดใหม่”
ประเด็นที่สอง คือ AI คำที่ทุกเวทีพูดถึง และไม่มีใครกล้าทำเป็นไม่เห็น โดยเฉพาะจีนที่ไม่ได้แค่พูด แต่เดินเกมรุกแบบที่เขาเรียกว่า AI+
จีนมี Deepseek ซึ่งเป็น open-source AI (ปัญญาประดิษฐ์แบบเปิดเผยซอร์สโค้ด) แตกต่างจากระบบปิดอย่าง ChatGPT
จีนมี Huawei ที่ทำหน้าที่เป็น AI cloud solution (ระบบคลาวด์ AI) ให้ทุกอุตสาหกรรม
และจีนมีสิ่งที่น่ากลัวที่สุด data ที่รัฐบาลบังคับให้เปิดใช้ร่วมกันเพื่อเร่งนวัตกรรม
“AI+ คือการที่จีนบังคับให้ทุกอุตสาหกรรมใช้ AI เป็น operating system (ระบบปฏิบัติการ) จากนี้จีนจะโตแบบ through the roof (พุ่งทะลุหลังคา) คือพุ่งแบบไร้เพดาน”
แม้จีนกับสหรัฐฯ จะเหมือนกัดกัน แต่นั่นไม่ได้แปลว่าทั้งสองจะหยุดทำการค้ากัน เขาเผยว่า เบื้องหลังมีการเปิด nominee (ตัวแทน) ทำธุรกิจแบบทางอ้อม (indirect – ทางอ้อม) ยิ่งกว่าเดิม เพราะต่างฝ่ายยังปรับตัวไม่ทันกับโลกใหม่ที่ตัวเองสร้างขึ้น
เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด เขาตอบชัดเจน
“ถ้าจะให้ผมแนะนำ คือคนจะพูดเรื่อง speed (ความเร็ว) เยอะ แต่จริง ๆ สำคัญกว่าคือ direction (ทิศทาง) พูดง่าย ๆ คือ เร็วก็สำคัญนะ แต่อย่าหลุดทิศ”
“บริษัทที่จะอยู่รอดจะต้องเป็น AI-driven company (บริษัทที่ขับเคลื่อนด้วย AI) ทุกคนที่จะมีงานทำ และไม่ตกงาน จะต้องเป็น AI-enabled employee (พนักงานที่ใช้ AI ได้)
“ถ้าเรามีพนักงาน 30,000 คน อีกหน่อยจะเหลือแค่ 50 คน…อย่าไปประหยัดเรื่องการลงทุนใน AI tools (เครื่องมือ AI) หรือการ upskill และ reskill (เพิ่มและปรับทักษะ) พนักงานในองค์กร”
เขายืนยันว่าเราได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนของ ระบบการเงินโลก
“บุคคลล้มละลายได้ บริษัทล้มละลายได้ ประเทศก็ล้มละลายได้”
เขาอธิบายว่าในอดีต เราเคยเจอแต่ recession (ภาวะเศรษฐกิจถดถอย) ที่กินเวลา 6–18 เดือนแล้วกลับมาฟื้น แต่ครั้งนี้อาจเป็น depression (ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ) แบบในปี 1929–1939 ที่ยืดยาวถึง 10 ปี
“เรากำลังเข้าสู่วงจรของการ reset (ตั้งต้นใหม่) ทุกอย่าง…โลกจะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว
“อย่างของ Bitkub ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ผมไม่ต้องลดคน หลับตาอยู่ได้อีก 4 ปี ด้วยเงินสดล้วน ๆ คือต้องรัดเข็มขัด และต้องรู้ว่าสิ่งที่จะตายคือ liquidity (สภาพคล่อง) ของบริษัทที่ไม่มี”
“AI-enabled employee มันต้องเริ่มตั้งแต่เมื่อวานแล้ว ไม่ใช่วันนี้ เราต้องถามว่าถ้าโลกกำลังจะไปสู่ Pre-something world เขาขาดอะไร บริษัทเราตอบโจทย์ได้ไหม เพราะฉะนั้นกลับมาดูที่ vision (วิสัยทัศน์) ขององค์กร”
“ต้องเข้าใจให้ถูก ที่บอกว่าคนจะตกงานเยอะมากคือคนที่ไม่มีทักษะ AI…วันนี้สิ่งที่เราทำได้เลยคือ integrate AI (ผสาน AI) เข้าไปใน workflow (กระบวนการทำงาน) และ lifeflow (วิถีชีวิต)”
สุดท้าย เขาทิ้งคำถามปลายเปิดที่ทั้งจริงจังและแหลมคมไว้ให้ทุกคนในห้องต้องคิดต่อ
“สมมติผมถามว่า มีเด็กฝึกงานคนหนึ่งอยู่ข้างตัวพี่ตลอดเวลา แต่เด็กคนนี้ฉลาดกว่าเด็ก MIT ฉลาดกว่าเด็ก Harvard ทำงาน 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่งอแง ไม่หลับไม่นอน ยิ่งทำยิ่งฉลาด เขาขอเงินเดือน 650 บาทต่อเดือน…จ่ายไหม?”