‘นนทิ์’ ผู้กระตุ้นเรื่อง ‘ความตาย’ เป็นสิ่งใกล้ตัว ปลูกฝังให้มี 'สติ' ในขณะที่ยังหายใจ

‘นนทิ์’ ผู้กระตุ้นเรื่อง ‘ความตาย’ เป็นสิ่งใกล้ตัว ปลูกฝังให้มี 'สติ' ในขณะที่ยังหายใจ

‘นนทิ์’ ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น "Death Designer" ต้องการกระตุ้นเรื่อง ‘ความตาย’ ให้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และจับต้องได้กว่าที่เคยเป็น เพราะธรรมชาติของโลกความตายคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน

เมื่อพูดถึง ‘ความตาย’ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับใครหลายคน และก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าน่าหดหู่ใจ แต่ทำไมล่ะ? ทั้งที่ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าคนเราเกิดมาแล้วต้องพบกับจุดจบก็คือความตายเฉกเช่นเดียวกัน นั่นจึงเป็นที่มาเบื้องหลังของร้าน The Death Shop – ร้านค้าความตาย โดย ‘นนทิ์’ หรือหลายคนรู้จักเขาในนาม ‘นักออกแบบความตาย’ (Death Designer) ผู้ที่อยากสร้างความคุ้นเคยกับความตาย และระวังในการใช้ชีวิตมากขึ้น

“ผมไม่ได้เรียกตัวเองเป็น Creator ผมเรียกตัวเองว่าเป็น Death Designer คือคนที่ออกแบบความตาย เอาความตายมาออกแบบให้คนมีสติ” ประโยคสั้น ๆ แต่กินใจ จากคนรุ่นใหม่ที่อายุไม่กี่หลักสิบ ‘นนทิ์’ ผู้ที่ไม่ขอเอ่ยนามจริงของตัวเอง แต่อยากให้คนจดจำที่ผลงานและแนวคิดมากกว่า

‘นนทิ์’ ผู้กระตุ้นเรื่อง ‘ความตาย’ เป็นสิ่งใกล้ตัว ปลูกฝังให้มี \'สติ\' ในขณะที่ยังหายใจ

อยากให้ทุกคนเข้าใจ ‘ความตาย’

หนุ่มหน้าตาดี อายุยังไม่เท่าไร เขาเรียนจบคอมพิวเตอร์กราฟิกและแอนิเมชัน หลังเรียนจบเขาได้รับงานเป็นฟรีแลนซ์ออกแบบกราฟิกให้กับหลาย ๆ งานมาก่อน แต่แล้ววันหนึ่งเขารู้สึกว่าอยากให้เวลากับ passion ตัวเองอย่างเต็มที่ ด้วยความฝันที่อยากจะช่วยเหลือคนให้ได้เยอะ ๆ

ส่วนหนึ่งที่ทำให้นนทิ์คิดแบบนี้เพราะเคยเป็นจิตอาสามาตั้งแต่เด็ก เขาเคยเป็นคุณครูอาสาสอนเด็กที่มีความพิการทางสายตา ซึ่งความฝันวัยเด็กของเขาก็คือ อยากจะวาดการ์ตูนแอนิเมชันขึ้นมาสักเรื่องเพื่อปลูกฝังเด็ก ๆ ให้ทำในสิ่งที่ดี ๆ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเงิน จึงทำให้เขาต้องบิดความฝันตัวเอง เริ่มจากการรับรู้เรื่อง ‘ความตาย’ เพราะคิดว่ากระตุ้นคนได้ สร้างแบรนด์ได้ ทำให้คนรู้จักตัวตนของเขาได้เร็วด้วย

‘นนทิ์’ ผู้กระตุ้นเรื่อง ‘ความตาย’ เป็นสิ่งใกล้ตัว ปลูกฝังให้มี \'สติ\' ในขณะที่ยังหายใจ

“เราเป็นคนไม่กลัวอยู่แล้วด้วยเรื่องเกี่ยวกับความตาย ก็เลยแบบ เฮ้ย ความตายมันคือการช่วยเหลือคนอย่างหนึ่งนะ คือทำให้คนมีสติในการใช้ชีวิต

“คือเราเจอคนมาเยอะมากครับ ตามโรงพยาบาล ต่างจังหวัด ฯลฯ มันก็มักจะมีเรื่องเศร้าเสมอ ทุกอย่างมันคือเวลา แบบทำไมฉันไม่ทำอย่างนู้น ทำไมฉันไม่ทำอย่างนี้ แล้วก็มานั่งเสียดายทีหลังอะไรอย่างนี้ครับ เลยรู้สึกว่ามันคือ passion ของเราตั้งแต่แรกเลยว่าอยากจะช่วยเหลือคนให้มากที่สุด”

นนทิ์เริ่มเล่าในแต่ละช่วงชีวิตของเขาว่า สิ่งที่เขาเริ่มต้นทำแรก ๆ เลยก็คือ การทำคอนเทนต์เกี่ยวกับความกลัว เริ่มจากเอาภาพถ่ายมาจับคู่กับความตาย เช่น วันเกิด, งานรับปริญญา, งานแต่งงาน, งานสงกรานต์ ฯลฯ ซึ่งเรียกกระแสทำให้คนรู้จักผลงานของนนทิ์มากขึ้น จนเป็นไวรัลเลยก็ว่าได้

จนกระแสนั้นสร้างโอกาสให้นนทิ์ได้ปรากฏตัวอยู่ในแวดวงข่าว มีรายการต่าง ๆ ติดต่อมากมาย แต่หลังจากนั้นกระแสเกี่ยวกับเขาและผลงานของเขาก็เงียบหายไป วังเวงจนแทบจะคล้ายกับบรรยากาศในป่าช้า ผลงานแรก ๆ ที่จุดประกายเกี่ยวกับตัวเขา

นนทิ์ได้เล่าว่า “พอออกข่าวครั้งหนึ่งมันก็จะหาย เราเลยคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้มันจับต้องได้ ให้มันยังคงวนเวียนอยู่ตลอด จึงเกิดเป็นไอเดียทำให้เรื่องราวเหล่านั้นมาเป็นสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เริ่มแรกเลยที่เราทำก็คือเคสโทรศัพท์ เพราะคิดว่าคนเราจะจับโทรศัพท์ก่อนหลังที่ตื่นนอน

“จากนั้นเราก็เริ่มพัฒนามาเรื่อย ๆ เป็นสินค้า แว่นตา เป็นหน้ากากอนามัย เป็นพวงกุญแจครับ”

‘นนทิ์’ ผู้กระตุ้นเรื่อง ‘ความตาย’ เป็นสิ่งใกล้ตัว ปลูกฝังให้มี \'สติ\' ในขณะที่ยังหายใจ

สิ่งที่ผู้เขียนสงสัยอีกอย่างก็คือ นนทิ์เลือกที่จะทำสินค้าที่ขัดต่อความเชื่อโบราณของประเทศไทย หลายคนมองว่าเขาพยายามนำเรื่องความตายมาเป็นเรื่องตลก ทำให้เป็นสิ่งแฟชั่น ซึ่งขัดต่อความเชื่อและความกลัวของกลุ่มคนเหล่านั้น

โดยเฉพาะช่วงที่เป็นผลงานการถ่าย pre-wedding ในป่าช้า ถือว่านนทิ์โดนต่อต้านเยอะพอสมควร เพราะหลายคนมองว่าเป็นการลบหลู่ความเชื่อหรือพิธีกรรม ที่ทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่าการทำแบบนั้นคือไม่ถูกต้อง

 

ใช้ชีวิตอย่างมีสติ

นนทิ์บอกกับผู้เขียนว่า ทาร์เก็ตของเขา 60% เลยเป็นเด็ก ๆ ป.4 ขึ้นไป และประมาณ 30% เป็นคนอายุ 55 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่น่าสนใจทีเดียว เพราะมีช่วง gap ค่อนข้างห่าง ซึ่งนนทิ์พูดว่า เขาอยากจะปลูกฝังให้เด็ก ๆ เห็นว่า ความตายมันเป็นเรื่องปกตินะ

“ประเด็นหลักก็คือ เราต้องทำอย่างไรให้กลุ่มที่เป็น gap อยู่เขาสนใจกับสินค้าเรา ซึ่งก็คือวัยทำงานนั่นเอง ตอนนี้เราก็กำลังพัฒนาสินค้าไปเรื่อย ๆ แบบไม่ให้มันน่ากลัวในความเชื่อของคนไทยขนาดนี้ แล้วก็ต้องทำให้มันน่ารัก คนรู้สึกว่าใช้งานง่ายมากขึ้นครับ”

ส่วนแพลนในอนาคต นนทิ์บอกกับผู้เขียนว่า การวาดการ์ตูนแอนิเมชันที่ยังเป็นความฝันของเขาเสมอ คิดว่าเมื่อเจาะตลาดกับกลุ่มคนวัยทำงานได้แล้ว ต่อไปก็คงเป็นการทำการ์ตูน โดยจะแทรกเรื่องราวความตาย ความปลง และสติอยู่ในนั้นด้วย

และเมื่อผู้เขียนถามถึงตลาดในต่างประเทศ เพราะความเป็นไทย เอกลักษณ์แบบไทย ๆ ถูกตาต้องใจคนเชื้อชาติอื่นไม่น้อยเลย นนทิ์บอกว่า “อาจจะไม่ได้ตีตลาดเพื่อนบ้าน แต่คิดว่าจะเป็นต่างประเทศเลยที่พวกเขาไม่ได้เชื่อเรื่องนี้ เห็นสินค้าของเราเป็นแค่สินค้าไทย เป็นลายไทยปกติ เราก็ไม่ได้แบบว่าใส่ที่เป็นกิมมิคเกี่ยวกับความตายของคนฝรั่งหรือว่าคนจีนคนอะไรขนาดนั้น เราขายความเป็นไทยมากกว่า ก็คิดว่ามุ่งไปที่ตลาดนั้นน่าจะเหมาะครับผม”

‘นนทิ์’ ผู้กระตุ้นเรื่อง ‘ความตาย’ เป็นสิ่งใกล้ตัว ปลูกฝังให้มี \'สติ\' ในขณะที่ยังหายใจ

สิ่งสุดท้ายที่ผู้เขียนตั้งคำถามกับนนทิ์ เพราะดูจากเรื่องราวเขาคงต้องผ่านจุดแย่ ๆ ที่ลบกับสิ่งที่เขาทำมาพอสมควร ผู้เขียนอยากรู้ว่า เขาอยากจะบอกอะไร หรือพูดอะไรเกี่ยวกับความตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาบูชาในตอนนี้เพื่อทำตาม passion ตัวเอง

นนทิ์ได้บอกว่า “ความตายไม่ได้ปล้นเวลาอันมีค่าของเราไป แต่อาจเป็นเพราะตัวเราเองที่มองไม่เห็นคุณค่าของมันในขณะที่ยังมีอยู่”

ก็นั่นแหละค่ะ ชีวิตคนเรามันสั้น ผู้เขียนเองก็ไม่อยากให้คนเรามานั่งรู้สึกผิดหรือรู้สึกแย่กับสิ่งที่ยังไม่ได้ทำเมื่อสายไปแล้ว หวังว่าเรื่องราวและบทสัมภาษณ์นี้ของ นนท์ - Death Designer จะทำให้เรารู้และเข้าใจเรื่องบางอย่างกระจ่างขึ้น...แด่ วันฮาโลวีน

 

ภาพ : Death Designer/The Death Shop – ร้านค้าความตาย