‘คิมรันโด’ จากฝันเป็นข้าราชการให้พ่อแม่ภูมิใจ กลายเป็น ‘ผู้ชี้ทางด้านความเจ็บปวด’ แห่งเกาหลีใต้

‘คิมรันโด’ จากฝันเป็นข้าราชการให้พ่อแม่ภูมิใจ กลายเป็น ‘ผู้ชี้ทางด้านความเจ็บปวด’ แห่งเกาหลีใต้

เปิดมุมมองจาก ‘คิมรันโด’ ชายที่ถูกเรียกว่าเป็น ผู้ชี้ทางด้านความเจ็บปวดแห่งเกาหลีใต้ ชีวิต เรื่องราว และหนังสือที่ขายดีที่สุด 'เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด'

  •  ‘คิมรันโด’ จากคนที่ไม่เคยคิดจะเป็นนักเขียนหนังสือ กลายมาเป็นคนที่มียอดขายหนังสือเรื่องความเจ็บปวดมากที่สุดในเกาหลีใต้
  • มุมมอง ความเข้าใจ และชีวิต ของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นกูรูของเด็กวัยรุ่นที่ต่างก็เจ็บปวด ผ่านประสบการณ์ตัวเองที่เคยเจ็บปวดไม่ต่างกัน

ตำแหน่ง ‘ผู้ชี้ทางด้านความเจ็บปวดแห่งเกาหลีใต้’ คำนี้ไม่มีอะไรเกินจริงสำหรับผู้ชายที่ชื่อว่า ‘คิมรันโด’ อาจารย์รันโดจากมหาวิทยาลัยโซล (เพราะเขาเป็นทั้งอาจารย์ภาคเรียนการบริโภค และมีคลาสวิชาที่ชื่อว่า ‘คลาสอาจารย์รันโด’)

เขาเป็นไม่กี่คนในเกาหลีใต้ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ ‘ความเจ็บปวด’ ในแต่ละช่วงอายุวัย ยิ่งเป็นหนังสือ “เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด” และหนังสือของเขายังมียอดขายถล่มทลาย เฉพาะแค่ในเกาหลีใต้มากกว่า 2 ล้านเล่ม ยังไม่นับการตีพิมพ์ไปอีกหลายประเทศ เช่น ประเทศไทย, ไต้หวัน, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, บราซิล, ญี่ปุ่น, เวียดนาม

หนังสือเล่มนี้ยังติดเป็นอันดับหนึ่ง Best Seller ในเว็บไซต์ amazon.com ประเทศจีน นานกว่า 16 สัปดาห์ พูดได้ว่า คิมรันโด เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่น่ายกย่องและน่าชื่นชม เขามีส่วนทำให้วัยรุ่นในเกาหลีใต้ที่เป็นวัยฮอร์โมนกำลังพลุ่งพล่าน เข้าใจตัวเอง เข้าใจเหตุผลในเรื่องที่เกิดขึ้น

‘คิมรันโด’ จากฝันเป็นข้าราชการให้พ่อแม่ภูมิใจ กลายเป็น ‘ผู้ชี้ทางด้านความเจ็บปวด’ แห่งเกาหลีใต้

แต่กว่าที่วันนี้ คิมรันโด จะเข้าใจและให้คำแนะนำกับผู้อื่นได้ เขาเองก็เคยผ่านช่วงว้าวุ่นและไม่เข้าใจตัวเองมามากเช่นกัน เขาเคยเป็นคนหนึ่งที่คาดหวังกับชีวิตที่พ่อแม่ภูมิใจ และก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ชีวิตพลิกผันไม่เป็นไปตามที่วางเป้าหมายไว้

และนี่คือเหตุผลที่คิมรันโด เลือกหยิบคำพูดจากประโยคหนึ่งในหนังสือของเขามาแชร์ หลังจากที่เราขอให้เลือกเพียงหนึ่งประโยคที่อยากสื่อสารมากที่สุด เพราะทุกวันนี้เรื่องราวที่เข้าใจและไม่เข้าใจมันช่างเยอะเหลือเกิน

“หนังสือเล่มนี้ (เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด) เรียกว่าเป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้สึกแล้วก็ความเจ็บของผมไว้ แต่หากจะให้เลือกแค่ 1 เรื่องสำหรับผมมันเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะว่าสตอรี่ทั้งหมดในเรื่องนี้มันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างมีความหมาย” คิมรันโด ใช้เวลาคิดต่ออีกเล็กน้อย ขณะที่ผู้เขียนกำลังเฝ้ารอคำตอบอย่างใจจดใจจ่อ

“ผมขอเลือกประโยคนี้ คือว่า ชีวิตคนเราไม่ใช่ลูกธนูแต่ว่าเป็นเรือกระดาษ เพราะตอนเด็ก ๆ เราอาจจะเคยคิดว่าชีวิตเราเมื่อมีเป้าหมายแล้ว เราต้องเป็นลูกธนู เราต้องพุ่งชน แต่พอผ่านมาแล้ว เราจะรู้ได้ว่ามันไม่ใช่แบบนั้น ผมจึงเปรียบชีวิตเราเหมือนกับเรือกระดาษมากกว่า ที่ในระหว่างทางที่แล่นเรือไปมันอาจจะโคลงเคลง หรือว่าอาจเจอกับอะไรก็ตามที่ให้ไปในทิศทางอื่น ๆ สุดท้ายถ้าเราขยัน แล้วเราตั้งใจใช้ชีวิตต่อไปเรื่อย ๆ เรือกระดาษลำนั้นมันจะพาเราไปอยู่ในที่ที่เราไม่เคยคิดมาก่อนก็ได้”

‘คิมรันโด’ จากฝันเป็นข้าราชการให้พ่อแม่ภูมิใจ กลายเป็น ‘ผู้ชี้ทางด้านความเจ็บปวด’ แห่งเกาหลีใต้

มาถึงตรงนี้ หากกำลังสงสัยว่าทำไม คิมรันโด ถึงเลือกประโยคนี้มาแชร์กับเรา นี่คือคำตอบที่เราอยากให้คนอ่านรู้จักตัวตนของนักเขียนคนนี้มากกว่าที่รู้จักเขาผ่านปกหนังสือ และตัวอักษรข้างในหนังสือเท่านั้น

 

ไม่เคยคิดเป็นนักเขียน

เป็นเพียงช่วงชีวิตหนึ่งของ ‘คิมรันโด’ ที่พาเขามาถึงจุดที่เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงอย่างทุกวันนี้ แต่จุดเริ่มต้นของเขากลับไม่เคยคิดจะเป็นนักเขียนเลยแท้แต่น้อย

คิมรันโด ให้สัมภาษณ์กับ The People เขาพูดว่า “ก่อนที่จะเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่เคยคิดเลยว่าจะเป็นนักเขียน ไม่มีแม้แต่นิดเดียวเลย แต่จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ผมเริ่มจากเขียน Blog เพื่อให้ลูกศิษย์อ่าน เขียนทีละนิด ๆ เพื่อให้คำแนะนำ แล้ววันหนึ่งตัวบทความใน Blog มันเกิดโด่งดังขึ้นมา”

เมื่อถามถึง ‘ความฝันที่แท้จริง’ ของคิมรันโด ตั้งแต่เด็ก ๆ หากไม่ใช่นักเขียน เขาฝันที่จะเป็นอะไรกันแน่? คำตอบก็คือ ‘นักการทูต’ เขาบอกว่าในสมัยก่อนเป็นช่วงที่การจะได้ไปต่างประเทศมันค่อนข้างยากมาก ๆ ซึ่งในวัยเด็กยังมีมุมมองที่ไม่กว้างนัก มีประสบการณ์ชีวิตที่น้อยมาก

“พอผมเข้ามหาวิทยาลัย ก็เริ่มรู้สึกว่า อยากเป็นข้าราชการ ตอนนั้นก็เลยพยายามจะเป็นข้าราชการ ขณะเดียวกันก็เป็นอาชีพที่คิดว่าพ่อแม่จะภูมิใจด้วย”

‘คิมรันโด’ จากฝันเป็นข้าราชการให้พ่อแม่ภูมิใจ กลายเป็น ‘ผู้ชี้ทางด้านความเจ็บปวด’ แห่งเกาหลีใต้

“ผมเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่คิดแค่ว่าอยากตอบแทนพ่อแม่ ด้วยผมเป็นลูกชายคนโตก็จะมีความคาดหวังมากกว่าน้อง ๆ ดังนั้น ความฝันตั้งแต่วัยเด็กจนถึงตอนเข้ามหาวิทยาลัย น่าจะเป็นความฝันที่พ่อแม่อาจจะภูมิใจถ้าเกิดได้เป็น”

คิมรันโด พูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเกี่ยวกับความฝันตัวเอง แล้วอธิบายเพิ่มว่า “สิ่งที่อยากทำหรืออยากเป็น มันเป็นสิ่งที่คนอื่นอยากให้เราเป็น เพราะในวัยเด็กหลายครั้งเลยที่เด็ก ๆ อาจจะคิดว่าสิ่งนี้แหละคือสิ่งที่ฉันต้องการ เป็นความฝัน แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงแค่สิ่งที่คนรอบตัวเราต้องการเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรา ดังนั้น เมื่อผมโตเป็นผู้ใหญ่จึงได้รู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว เราฝันอยากเป็นอะไรกันแน่”

 

 

ล้มเหลวกี่ครั้งกับคำว่า ‘ข้าราชการ’

อย่างที่บอกว่าความฝันในวัยที่โตขึ้นมาหน่อยของ คิมรันโด คือ ‘ข้าราชการ’ แต่สุดท้ายแล้วชีวิตคนเราก็เป็นเพียง ‘เรือกระดาษ’ จริง ๆ

เหตุผลที่เราย้ำคำว่า ‘เรือกระดาษ’ เพราะว่าคิมรันโดไม่ได้เป็นข้าราชการตามที่หวัง แถมยังเป็นการสอบเข้าบรรจุที่ตกซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกด้วย แม้ในตอนนั้นเขารู้สึกแย่กับตัวเองมาก แต่ ณ วันนี้เขากลับคิดว่า “เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับเขา”

‘คิมรันโด’ จากฝันเป็นข้าราชการให้พ่อแม่ภูมิใจ กลายเป็น ‘ผู้ชี้ทางด้านความเจ็บปวด’ แห่งเกาหลีใต้

“ถ้าเกิดว่าผมมาถึงจุดนี้แล้วย้อนกลับไปมองการสอบตกแล้วไม่ได้เป็นข้าราชการในตอนนั้น ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับชีวิตผมเลยก็ได้ เพราะบางครั้งเพื่อของผมที่เคยสอบบรรจุด้วยกัน ซึ่งตอนนั้นเขาสอบผ่านแล้วก็ได้เป็นข้าราชการตามฝัน กลับพูดกับผมบ่อย ๆ ว่าสำหรับผมบางทีการที่สอบไม่ผ่านในตอนนั้นมันอาจจะดีที่สุดที่เกิดขึ้นแล้ว (เป็นน้ำเสียงของเพื่อนที่ดูเศร้าหมอง)”

“ผมจึงมองว่า ชีวิตคนเรามันไม่ใช่ลูกธนู แต่ว่าเป็นเรือกระดาษ เหมือนชีวิตผมตอนนี้ไง”

มีหลายครั้งที่เราแว่บคิดขึ้นมาระหว่างที่ฟัง คิมรันโด พูดเกี่ยวกับเรื่องราวของตัวเอง เราเห็นผลงานมากมายของเขา ซึ่งไม่ใช่แค่หนังสือเล่มเดียวที่เราพูดถึง แต่ยังมีอีก 4 เล่มที่เป็นการพูดถึงช่วงวัยต่าง ๆ ของคนเร

ทั้งหนังสือ พันครั้งที่หวั่นไหว กว่าจะเป็นผู้ใหญ่, ในเวลาที่หม่นเศร้า ชีวิตก็ยังเป็นของเรา, จงหางานที่มีแต่คุณเท่านั้น ที่ทำได้ และ แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้

เชื่อหรือไม่ว่า ทุกการเติบโตของคนเรา และทุกการเติบโตของผลงานหนังสือของ คิมรันโด มีเพียงจุดประสงค์เดียวเท่านั้นก็คือ “การที่เป็นคนที่ดีกว่าเมื่อวาน”

“เป้าหมายของผมไม่ใช่การที่เขียนหนังสือที่ดีที่สุดในโลกหรือขายดีที่สุด แต่ว่าการเขียนของผมต้องดีกว่าที่เคยเขียนมาเมื่อวาน ความพยายามของผมไม่ใช่เพื่อรางวัลโนเบล แต่ว่ามันทำให้เราเป็นคนที่ดีกว่าเมื่อวานนี้ได้”

‘คิมรันโด’ จากฝันเป็นข้าราชการให้พ่อแม่ภูมิใจ กลายเป็น ‘ผู้ชี้ทางด้านความเจ็บปวด’ แห่งเกาหลีใต้

จากการพูดคุยกับ คิมรันโด เราสัมผัสได้ในความมีพลังบวกที่สูงมากของเขา อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งคนที่ถ่ายทอดเพื่อให้เกิดความเข้าใจได้อย่างน่าสนใจ เราได้ถาม คิมรันโด เพิ่มเติมว่านับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มให้คำแนะนำกับลูกศิษย์ในปี 2004 (ช่วงที่เขาอยู่สหรัฐอเมริกาเพราะไปเรียนต่อ)

ผ่านมา 19 ปีแล้ว ทำไมหนังสือเกี่ยวกับความเจ็บปวดของคิมรันโด ยังได้รับความนิยมและยังเป็นที่สนใจ อาจจะเพราะว่าปัญหาและความวิตกเหล่านี้ไม่เคยหายไปเลยหรือไม่?

เขาบอกกับเราว่า “ผมคิดว่าในช่วงวัย 10 ปี 20 ปีที่เรากำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศไหนหรือผ่านมากี่ยุคสมัย การก้าวไปเป็นผู้ใหญ่และสิ่งที่เราจะต้องเจอ มันค่อนข้างคล้ายกัน และหนังสือเล่มนี้มันค่อนข้างปรับใช้ได้กับทุกคน”

ส่วนตัวผู้เขียนชอบประโยคหนึ่งในหนังสือที่บอกว่า “ในชีวิตหนึ่ง ไม่มีช่วงอายุใดที่เร็วเกินไป หรือสายเกินแก้” เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเราล้วนสร้างกรอบมันขึ้นมา บางคนคิดว่าการเริ่มต้นในวันที่สายไปแล้วมันไม่ถูกต้อง หรือเริ่มต้นในช่วงอายุน้อย ๆ ก็อาจไม่ได้เป็นการเริ่มต้นที่เร็วเกินไป

ภาพจำและกรอบความคิดของคนบางยุคสมัย ไม่สามารถนำมาใช้ได้กับทุกบริบทหรือทุกยุคสมัยได้ เหมือนกับที่ คิมรันโด มองว่า “คนแต่ละยุคแต่ละสมัยเติบโตขึ้นมาในแบบแผนที่ตัวเองรับรู้และเข้าใจ ดังนั้น การบังคับคนรุ่นอื่นจากประสบการณ์ของตัวเองจึงไม่ใช่สิ่งที่สมควรนัก”

‘คิมรันโด’ จากฝันเป็นข้าราชการให้พ่อแม่ภูมิใจ กลายเป็น ‘ผู้ชี้ทางด้านความเจ็บปวด’ แห่งเกาหลีใต้

 

คำสอนถึงลูกชาย

ในฐานะที่ คิมรันโด เป็นบุคคลที่ถูกยกย่องเรื่องความเข้าใจความเจ็บปวด และสิ่งที่วัยรุ่นวิตกกังวลอีกหลายอย่าง ดังนั้น เราจึงสงสัยว่า เรื่องไหนที่เขาเลือกจะถ่ายทอดถึงลูกชายเป็นเรื่องแรก ๆ

คำตอบก็คือ ‘เวลา’ คิมรันโด อธิบายว่า “เวลามันเป็นวัตถุดิบของตัวเราเสมอ การเป็นที่ 1 ของโลกไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง แต่ว่าใน 1 นาทีหรือ 1 ชั่วโมงที่เรามีอยู่ เราสามารถทำอะไรได้บ้างอันนี้สำคัญที่สุด ต่อให้เราจะคิดเก่งคิดดีขนาดไหน แต่ถ้าไม่ลงมือทำกับเวลาที่เรามีอยู่ มันก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีค่าอะไรเลย”

นอกจากมุมมองที่น่าสนใจของ คิมรันโด ก็คงเป็นเรื่อง ‘ฤดูกาลของดอกไม้’ ที่ใครต่อใครพูดถึงทั้งความหมาย การสื่อสาร และภาษาที่ใช้

เขาบอกว่า บทความช่วงแรก ๆ ที่เขียนน่าจะเป็นเรื่องของฤดูกาลของดอกไม้ที่ผลิบานของแต่ละคน ซึ่งเขาจะเรียกช่วงนั้นว่า ‘Slump’ เป็นเรื่องของอุปสรรคที่เกิดขึ้นรวมถึงช่วงชีวิตที่ขึ้นลงของแต่ละวัย

โดยภาษาในการเขียน ตั้งแต่การเปรียบเปรย ไปจนถึงการพรรณาต่าง ๆ ในหนังสือ คิมรันโดบอกว่า “ยากที่สุดในการเขียนหนังสือ” ซึ่งการเรียนรู้ของเขาก็คือ อ่านเยอะ จดเยอะ พยายามจดทุกอย่างที่เขาเห็นว่าน่าสนใจ

“ผมใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง เพื่อรวบรวมแล้วก็จัดทำ ที่จริงตามกำหนดมันคือ 1 ปี แต่ผมรู้สึกว่ามันยังรวบรวมได้ไม่ดีพอ ก็เลยยืดเวลาออกไปอีกหน่อย ซึ่งในช่วงนั้น เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็จะมีวงที่เป็นวงที่โด่งดังชื่อว่า BIGBANG ช่วงที่ผมรวบรวม BIGBANG ยังเป็นเด็กฝึกอยู่เลย”

“เรื่องตลกก็คือ ตอนที่สำนักพิมพ์ติดต่อมา ผมบอกเขาไปว่าผมเป็นนักเขียนไม่ได้หรอก ผมไม่ได้เกิดมาเป็นนักเขียน แต่ทางสำนักพิมพ์บอกว่าสนิทกับวง BIGBANG นะ เพราะเขียนหนังสือด้วยกัน ถ้าเกิดว่าเขียนหนังสือให้ จะเอาลายเซ็น BIGBANG มาให้ ผมก็เลยหลงกล ไปทำสัญญากับเขาเลย ซึ่งถ้าถามว่าตอนนี้ชอบใคร ผมชอบ BIGBANG ที่สุด ชอบแทยังกับ G-Dragon ครับ”

พูดง่าย ๆ ถ้าไม่มี BIGBANG ในวันนั้น ก็คงไม่มี ‘คิมรันโด’ ในวันนี้ เพราะคงไม่มีเหตุผลให้ทางสำนักพิมพ์เอามาอ้างกับเขาได้แน่ ๆ

นอกจากนี้ คิมรันโด ยังกระซิบบอกด้วยว่า ในอนาคตอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องความเจ็บปวดที่เขาจะเขียน แต่จะเป็นช่วงวัยในเรื่องต่าง ๆ เพราะบางทีการเป็นผู้ใหญ่ก็หนักหนากว่าวัยรุ่นก็มีเยอะแยะไป