วิเคราะห์เส้นทางชีวิต กว่าจะเป็น ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ แบบที่รู้จัก จากแรกเกิด ถึงผลิตงาน

วิเคราะห์เส้นทางชีวิต กว่าจะเป็น ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ แบบที่รู้จัก จากแรกเกิด ถึงผลิตงาน

ย้อนมองเส้นทางชีวิต และผลงานของ ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ ด้วยระเบียบวิธีทางประวัติศาสตร์ นับจากภูมิหลังแรกเกิด ไปจนถึงผลงานเขียนต่าง ๆ อันลือลั่นแวดวงประวัติศาสตร์และสังคมไทย

  • นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ และอาจารย์ที่สร้างผลงานซึ่งส่งอิทธิพลต่อหลายแวดวง ภูมิหลังของนิธิ มีความเกี่ยวข้องกับบริบทหลายรูปแบบ
  • นิธิ วิพากษ์แนวทางการศึกษาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เคารพนับถือเป็นครูอาจารย์และยกย่องเป็น ‘พระบิดาของประวัติศาสตร์ไทย’ โดยนิธิ แขวนป้ายเรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบสกุลดำรงราชานุภาพ’

เมื่อได้รับมอบหมายจากกองบก.เดอะพีเพิล (The People.co) ให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับนิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้เขียนรู้สึกยุ่งยากลำบากใจอยู่อย่างหนึ่ง ปกติการเขียนประวัติให้กับบุคคลที่เคารพนับถือ เป็นการยากสำหรับนักศึกษาประวัติศาสตร์ที่ถูกฝึกมาให้วิพากษ์วิจารณ์มากกว่าจะมาสรรเสริญเยินยออะไรกัน 

สำหรับอาจารย์นิธิ ยิ่งเป็นความยุ่งยากลำบากใจเพิ่มขึ้นไปอีก ด้วยความที่อาจารย์เป็นบุคคลสาธารณะโด่งดังมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักแก่ผู้คนมากมาย คงมีคนเขียนเยอะแยะแล้ว เมื่อทราบข่าวการจากไปของอาจารย์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ตลอดวันนั้นฟีดเฟซบุ๊กของผมเต็มไปด้วยใครต่อใครแสดงความอาลัยและรู้จักอาจารย์มากกว่าผู้เขียน จนผู้เขียนไม่รู้ว่าจะเขียนถึงอาจารย์ในแง่มุมไหนดี  จะไปเขียนซ้ำกับคนอื่นเขาก็กระไรอยู่

ระหว่างที่คิด ๆ ๆ อยู่ ทันใดนั้น ก็นึกถึงเล่ม ‘The Young Karl Marx’ ของ David Leopold ซึ่งเสนอแนวการศึกษาชีวประวัติของปัญญาชนคนสำคัญของโลกอย่างคาร์ล มาร์กซ์ โดยมีมุมการแบ่งช่วงเวลา (Periodization) โดยแยก ‘มาร์กซ์หนุ่ม’ ออกจาก ‘มาร์กซ์แก่’ อาจารย์นิธิที่เรารู้จักกันนั้น มักจะเป็น ‘นิธิวัยดึก’ แล้ว ภาพจำที่แพร่ตามสื่อเกือบทั้งหมดเป็นนิธิจะเป็นภาพชายสูงวัย ท่าทางใจดี  นาน ๆ จะมีภาพ ‘นิธิหนุ่ม’

เมื่อลีโอโปลด์ มาชี้นำทางสว่างให้เช่นนั้นแล้ว ก็คิดว่าจะมีงานเขียนถึงอาจารย์นิธิในมุมที่คนไม่ค่อยรู้ไม่ค่อยพูดถึงขึ้นมาบ้างละ แม้จะมีเล่ม ‘The Young Karl Marx’ เป็นต้นแบบ ก็ไม่ใช่ว่าผมกำลังจะเสนออะไรเห่ย ๆ ทำนองว่า อาจารย์นิธิเป็นมาร์กซิสต์ โง้นงี้นะครับ เพราะมุมแบบนั้นมีคนเสนอไว้เมื่อไม่กี่ปีมานี้แล้วคือ อาจารย์ยิ้ม - สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ           

เป็นธรรมดาที่บุคคลสาธารณะหรือปัญญาชน จะมีสตอรีหลากหลายให้ผู้คนได้เล่าถึงหรืออธิบายเชื่อมโยงเข้ากับตนเอง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ผู้คนรู้จักมีหลายแบบ และแบบที่ผู้เขียนรู้จัก อาจจะไม่ตรงกับที่ใครหลายคนรู้จัก ไม่ใช่แต่เฉพาะอาจารย์ บางส่วนอาจจำเป็นต้องพาดพิงถึงบุคคลอื่นซึ่งนิธิ เป็นตัวแทน อาจจะเรียกว่า ‘คนรุ่นนิธิ’ หรือ ‘ปัญญาชนรุ่นนิธิ’ หมายถึงปัญญาชนไทยรุ่นที่เกิดในช่วง 30 ปีแรกหลังการอภิวัฒน์ 2475 หรืออีกนัยหนึ่งก็คือคนที่เกิดในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ถึง 10 ปี 

ปัจจุบันเราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ‘เบบี้บูมเมอร์’ (Baby boomer generation) หรือ คน ‘Gen B’ เรามักไม่คิดถึงอาจารย์นิธิ ในฐานะปัญญาชนบูมเมอร์ เพราะอาจารย์แตกต่างและไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญเหมือนอย่างบูมเมอร์ที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบัน   

ด้วยความที่อาจารย์มีภูมิหลังทางวิชาการเป็นนักประวัติศาสตร์ ผู้เขียนเลยถือวิสาสะว่า อาจารย์และเพื่อนผองน้องพี่คงไม่ว่ากระไร ถ้าผู้เขียนจะใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์มาเขียนถึงอาจารย์บ้าง ลำดับถัดไปขออนุญาตเรียก ‘นิธิ’ เฉย ๆ ตามขนบวิชาการ ไม่เกี่ยวว่าไม่เคารพอาจารย์แต่อย่างใด  

‘จีนปนลาว’ ท่านหนึ่ง

นิธิ เกิดเมื่อพ.ศ.2483 ในครอบครัวชาวจีน ซึ่งก็ไม่ใช่ ‘จีนแท้’ เป็น ‘จีนผสม’ แบบเดียวกับที่สุจิตต์ วงษ์เทศ คนรุ่นเดียวกันแต่เรียกนิธิว่า ‘อาจารย์’ นิยามเรียกว่า ‘จีนปนลาว’ (จปล.) มีข้อเปรียบเทียบที่น่าสนใจก็คือว่า คำว่า ‘ลาว’ สำหรับกรณีสุจิตต์ คนรุ่นน้องนิธิ 5 ปี (สุจิตต์ เกิดพ.ศ.2488) เป็น ‘ลาวพวน’ สืบเชื้อสายมาจากคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากล้านช้าง ภายหลังจากศึกปราบเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะที่นิธิ มีความเชื่อมโยงกับ ‘ลาวล้านนา’  

กรณีสุจิตต์ ดูเหมือนอัตลักษณ์ลาวจะเข้มข้นกว่าจีน เพราะเป็นชุมชนโคกปีบที่ปราจีนบุรี ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘อำเภอศรีมโหสถ’ จากการค้นพบเมืองโบราณตามตำนานที่คนลาวเล่าขานโดยอิงกับเนื้อเรื่องพระมโหสถชาดก ‘โคกปีบ’ เลยต้องถอยฉากให้กับ ‘ศรีมโหสถ’ เช่นเดียวกับ ‘จระเข้สามพัน’ ถอยฉากให้กับ ‘เมืองอู่ทอง’

เมื่อครั้งที่คนลาวอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ‘ศรีมโหสถ’ อยู่ในสภาพเกือบเป็นเมืองร้าง คนลาวเลยกลายเป็นกลุ่มวัฒนธรรมหลักในพื้นที่อย่างรวดเร็ว เพราะมีจำนวนประชากรมากที่สุดในย่าน รองลงมาคือเขมร รองลงมาอีกคือมอญ พอ ๆ กับมอญก็เป็นจีน ไม่มีเป็นไทย จะมีคนที่บอกตัวเองเป็นไทยบ้าง ก็เป็นพวกชนชั้นมูลนายหรือข้าราชการจากส่วนกลาง    

กรณีนิธิ อัตลักษณ์จีนเข้มข้นกว่าลาว คำว่า ‘ลาว’ เลือนไป ไม่ฮิตเท่า ‘คนเมือง’ เพราะการรวมศูนย์อำนาจแบบอาณานิคมที่สยามกระทำต่อล้านนา ปีที่นิธิเกิด (พ.ศ.2483) นั้น การอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 เพิ่งผ่านมาได้เพียง 8 ปีเท่านั้นเอง ระบอบใหม่เพิ่งตั้งไข่ ยังไม่ทันจะได้จุติ ก็มีความพยายามจะทำแท้งตั้งอยู่ตลอด ดังจะเห็นได้จากกรณีการรัฐประหารเงียบของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) กบฏบวรเดช

จนเมื่อฝ่ายคณะราษฎรปราบกบฏได้ราบคาบลงแล้ว ได้จัดการเลือกตั้งครั้งแรกขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ทำให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แรก และนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่มาจากการโหวตของสส. คือพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ซึ่งผ่านฉลุย เพราะสมัยนั้นยังไม่มีสว. หรือต่อให้มีก็จะมีสิทธิโหวตนายกฯ กับเขาด้วยไม่ได้ รัฐบาลระบอบใหม่จึงค่อย ๆ มีเสถียรภาพมากขึ้น ต่อมาก็ค่อยเข้าสู่ยุครุ่งเรืองของรัฐบาลคณะราษฎรเมื่อพ.ศ.2481 นำโดยนายกรัฐมนตรีคือพลตรีหลวงพิบูลสงคราม (ภายหลังศึกอินโดจีนได้เป็น ‘จอลพล ป. พิบูลสงคราม)   

จากไทม์ไลน์ข้างต้น ปีที่นิธิ เกิด จึงเป็นปีเดียวกับที่รัฐบาลคณะราษฎรนำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือกำเนิดมาได้ 2 ปีแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่การเปลี่ยนนามประเทศจาก ‘สยาม’ เป็น ‘ประเทศไทย’ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482

แนวคิดทฤษฎีว่าด้วยชนเชื้อชาติไทย (Tai Race) ที่เสนอขึ้นโดยมิชชันนารีผู้เป็นนักมานุษยวิทยา-ชาติพันธุ์วิทยามือสมัครเล่น เช่น ‘ดร.ดอดด์’ หรือ ‘หมอดอดด์’ หรือ ‘วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์’ (William Clipton Dodd) ถูกนำมาขยายเป็นนโยบายโดยเอฟซีตัวยงของหมอดอดด์  ผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายชาตินิยมสมัยจอมพล ป. คือ ‘หลวงวิจิตรวาทการ’ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา)

การเกิดและเติบโตในช่วงยุคสมัยที่รัฐเพิ่งสร้างความเป็นชาติไทยขึ้นมา (ทั้งกรณีนิธิและสุจิตต์) คงมีส่วนไม่มากก็น้อยทำให้ไม่เชื่อว่า ‘ชาติ’ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและมีอยู่มาช้านานตั้งแต่ดึกดำบรรพ์หรือเมื่อครั้งยังอยู่ภูเขาอัลไตกัน และไม่เชื่อว่า ‘รัฐชาติ’ จะดำรงอยู่สืบต่อไปอีกอย่างไม่มีวันล่มสลายเหมือนอย่างนิยายชาตินิยมของไทยเขาหลอกลวงกัน  

นอกจากที่เชียงใหม่ นิธิ ยังมีเครือญาติอีกฝั่งหนึ่งอยู่ที่ย่านสุขุมวิท กรุงเทพฯ  สุขุมวิทยุคที่ยังไม่ใช่ย่านผู้ดีมีเงิน ไม่มีคอนโดหรู รถไม่ติด เลยพ้นจากถนน สองฟากฝั่งยังเป็นท้องทุ่งและลำคลอง ด้วยไม่ใช่กรุงเทพฯ ชั้นใน ไม่ใช่เกาะรัตนโกสินทร์ ชื่อย่าน (สุขุมวิท) ที่ได้ชื่อนี้มาเพราะถนนชื่อเดียวกันซึ่งตัดเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองชายทะเลตะวันออก 

ถนนเจริญกรุงที่สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยมักระบุให้เป็นถนนแรกแบบสมัยใหม่ของไทย ตัดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นยังเป็นถนนสำหรับรถม้าและรถลาก แต่ถนนสุขุมวิทที่ตัดผ่านชุมชนบ้านในกรุงเทพฯ ของนิธินั้นถือเป็นถนนแรก ๆ สำหรับรถยนต์ ไม่ใช่เพื่อการคมนาคมในแง่ประโยชน์ของมหาชนชาวสยามหรอกครับ เพราะเจ้าคุณพระพิศาลสุขุมวิทผู้ให้กำเนิดโปรเจกต์ถนนสายนี้ ท่านเป็นนักแข่งรถตัวยง ก็ถนนในกรุงเทพฯ มันต้องผ่านตลาดร้านค้ามากมาย เจ้าคุณและพวกพ้องเจ้านายที่เพิ่งจะขับรถเป็นกัน จะแว้นเตร็ดเตร่ไปมาก็กระไรอยู่ ถนนออกสู่ต่างจังหวัด จึงเป็นคำตอบสำหรับผู้รักในความเร็วรุ่นคุณทวด 

อย่างไรก็ตาม ถนนสุขุมวิทนี้เองเป็นเหตุให้คนจากเมืองกรุงมุ่งสู่ชายฝั่งทะเลของภาคตะวันออกกันมาก เกิดแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลขึ้นหลายแห่ง ก่อนหน้านั้น ช่วงสมัยที่ยังไม่มีถนน คนกรุงก็นิยมนั่งเรือเมล์ไปหัวเมืองทะเลตะวันออก ท่านที่เป็นทหารเรือก็ยิ่งนิยมมีบ้านพักตากอากาศอยู่แถบนั้น แม้แต่ทหารบกอย่างจอมพล ป. ก็ไปสร้างสถานตากอากาศอยู่ที่บางปูและบางแสน และทะเลศรีราชา เกาะลอย เกาะสีชัง ก็ปรากฏในแบบเรียนภาษาไทยสมัยคณะราษฎร (ดู กำพล จำปาพันธ์. ‘ถอดนัยของ ‘แบบเรียนไทย’ สมัยคณะราษฎร ทำไมใช้แมวเป็นตัวกลางให้เด็กซึมซับประชาธิปไตย?’

เมื่อเกิดสงครามโลก กรุงเทพฯ เป็นเป้าหมายการบอมบ์-ทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร เพราะรัฐบาลจอมพล ป. ประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะไปแล้ว แม้จะมีขบวนการเสรีไทยและจอมพล ป. เองก็แอบต่อต้านญี่ปุ่นอยู่ลับ ๆ แต่ตอนนั้นประเทศไทยในภาพพจน์ที่เป็นทางการก็เป็นฝ่ายอักษะ ย่านบางรักที่โรงเรียนอัสสัมชัญตั้งอยู่ก็เป็นเป้าหมายของการทิ้งระเบิดอยู่ด้วย จนเกิดเด็กนักเรียนที่เป็นกำพร้าขึ้นหลายคน 

โรงเรียนอัสสัมชัญก็แสวงหาที่ตั้งใหม่ให้กับโรงเรียน ไม่มีที่ไหนเหมาะไปกว่าศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งมีชุมชนชาวคริสต์ตั้งอยู่ เป็นบริเวณที่ไม่อยู่ในเป้าหมายการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร อีกทั้งยังเป็นที่ที่มีทัศนียภาพที่งดงาม ทิศตะวันออกเป็นภูเขา ทิศตะวันตกเป็นทะเล มองเห็นเกาะลอยและเกาะสีชัง เหมาะจะเป็นที่เยียวยาจิตใจแก่เด็กกำพร้าและให้การศึกษาแก่เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพตามปณิธานของโรงเรียน และโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชานี้เองที่หนุ่มน้อยนิธิ จากย่านสุขุมวิทจะได้มาเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษา 

วิเคราะห์เส้นทางชีวิต กว่าจะเป็น ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ แบบที่รู้จัก จากแรกเกิด ถึงผลิตงาน

จาก ‘ศรีราชา’ ถึง ‘สามย่าน’       

กระทรวงศึกษาธิการมักบอกเราเสมอถึงความสำคัญของการเรียนรู้ในระดับพื้นฐานตั้งแต่ประถม-มัธยม ผู้เขียนก็เชื่อเช่นนั้น เพียงแต่ไม่เชื่อว่าระบบการเรียนการสอนแบบที่กระทรวงท่านวางรากฐานตามนโยบายรัฐที่เป็นเผด็จการจะสามารถผลิตคนชั้นที่เป็นปัญญาชนได้ และเมื่อศึกษาเรื่องราวการก่อเกิดปัญญาชน  เราก็มักเริ่มต้นพิจารณาการศึกษาของท่านผู้นั้นในระดับมหาวิทยาลัย แต่ที่จริงคนเราจะสามารถเอาตัวรอดในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ การศึกษาในระดับชั้นก่อนหน้านั้นสำคัญไม่น้อย 

ถ้าว่าตามสำนวนภาษาแบบนิธิ ๆ อาจจะเรียกตรงนี้ว่าคือ ‘ปัจจัยภายใน’ ของปัญญาชนแต่ละคนก็คงได้ เป็นคำตอบว่า ทำไมนิธิ ถึงไปไกลกว่าเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็นั่นแหละ ถ้าต้องอธิบายด้วยมุมแบบ ‘ปัจจัยภายใน’ ก็อาจต้องย้อนกลับไปดูช่วงก่อนหน้าปรากฏการณ์ที่เราต้องการพิจารณาโดยไล่เลียงลำดับไทม์ไลน์กลับไปเรื่อย ๆ โดยไม่เกิดผลลัพธ์ที่ย่าพอใจอะไร

เช่น หากถามว่าทำไมสุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส. ศิวรักษ์) ซึ่งก็จบจากโรงเรียนอัสสัมชัญเหมือนอย่างนิธิ แต่ความเป็นปัญญาชนของทั้งสองท่าน (ส. ศิวรักษ์ vs. นิธิ) ถึงเป็นคนละเรื่อง ไปคนละทางกันลิบ ซึ่งหากอธิบายด้วยปัจจัยภายใน ก็ต้องจำแนกว่า ส. ศิวรักษ์นั้น คือศิษย์เก่าของโรงเรียนอัสสัมชัญช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือช่วงที่โรงเรียนยังตั้งอยู่แค่ที่บางรัก กรุงเทพฯ ขณะที่นิธิ เป็นผลิตผลของโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา จ.ชลบุรี  

ขนาดโรงเรียนเดียวกันแต่ต่างที่ตั้งกันก็ยังไม่เหมือนกัน นับประสาอะไรกับคนละโรงเรียน จะบอกว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ย่อมผิดไปจากความเป็นจริงของสังคมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ทุ่งรังสิต คนบอกไม่ต่างกัน คนพูดก็คงพูดจากแค่ในห้องประชุมเท่านั้น ไม่อย่างนั้นเด็กมันไม่สร้างนิยามเรียกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตว่า ‘ธรรมศาสตร์ตะวันออก’ กับเรียกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์ว่า ‘ธรรมศาสตร์ตะวันตก’ ทำนองล้อเลียนว่ามีกำแพงกั้นกลางแบบเยอรมันตะวันออกกับเยอรมันตะวันตกในยุคสงครามเย็น   

ถึงแม้ว่าสงครามโลกจะยุติลงแล้ว และโรงเรียนอัสสัมชัญได้ย้ายกลับมาที่บางรัก แต่ที่บางรักกลับไม่อาจเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานของโรงเรียนได้อีกต่อไป ก็แน่นอนศรีราชามีอะไรน่าอภิรมย์กว่าตั้งเยอะ ศรีราชาก็เลยกลายเป็นศูนย์ใหญ่ของโรงเรียนอัสสัมชัญแทนบางรัก การจัดการเรียนการสอนในรูปโรงเรียนกินนอนยังเหมาะกับครอบครัวชนชั้นกลางที่เริ่มจะไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก เพราะหลังสงครามต้องดิ้นรนสร้างเนื้อสร้างตัว 

ยิ่งเมื่อรัฐไทยเลี้ยวขวาไปเป็นเผด็จการทหารหลังรัฐประหารรอบสองของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อพ.ศ.2501 โรงเรียนของมิชชันนารีเป็นคำตอบสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่อยากให้ลูกหลานซึมซับระบอบเผด็จการแบบไทย ๆ ที่มักใช้โรงเรียนของรัฐเป็นเครื่องมือสร้างพลเมือง นั่นหมายความว่าในช่วงทศวรรษ 2500 ที่รัฐไทยเป็นเผด็จการ นิธิ ได้หลบเข้าไปอยู่ในโลกที่เปิดกว้างมากกว่า ไม่ใช่นิธิ คนเดียว แม้แต่ชนชั้นนำก็นิยมส่งลูกหลานไปเรียนกับมิชชันนารีที่โรงเรียนนี้ เพราะชื่อเสียงด้านการสร้างคนของที่นี่   

โรงเรียนอัสสัมชัญสมัยโน้นเขาเรียนเขาสอนอะไรยังไงบ้าง ผู้เขียนไม่ได้ค้นมาพอจะอภิปรายได้ครบถ้วนหรอก แต่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านิธิจะล่วงลับ ได้ไปเลือกซื้อหนังสือแบบเรียนให้หลาน แล้วก็ไปเห็นหนังสือเล่มชุดที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชนำเอากลับมาพิมพ์ใหม่ในเล่มชื่อ ‘ดรุณศึกษา’ เป็นแบบเรียนภาษาไทยที่เคยใช้ในการศึกษาเล่าเรียนของโรงเรียนอัสสัมชัญ แต่งโดยเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ (F. Hilaire or François Touvenet) อดีตครูโรงเรียนอัสสัมชัญ เข้าใจว่าหลัง ฟ. ฮีแลร์ กลับสู่อ้อมกอดของพระเจ้า ตำราที่ท่านแต่งไว้ยังคงใช้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนอัสสัมชัญเรื่อยมา รวมถึงยุคที่นิธิเข้าเรียนที่ศรีราชาด้วย 

เมื่อพลิกเปิดดู ‘ดรุณศึกษา’ ก็พบอย่างตื่นตาตื่นใจว่า ถึงแม้จะเป็นแบบเรียนภาษาไทย แต่เนื้อหาอัดแน่นด้วยเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยและสากล หลายเรื่องที่แม้ทุกวันนี้จะได้เรียนก็ต่อเมื่อเข้าสู่ระดับชั้นมหาวิทยาลัย แต่ ฟ. อีแลร์ กลับเอามาให้เด็กเรียนกันตั้งแต่ระดับพื้นฐานแล้ว

ในนั้นมีตั้งแต่เรื่องพระเจ้าตากกู้บ้านเมืองอย่างไร พระนารายณ์ค้าขายกับต่างชาติมากแค่ไหน พระนเรศวรชนช้างกับใครเมื่อไหร่ที่ไหน การสถาปนากรุงเทพฯ และราชวงศ์จักรี การเข้ามาขององเชียงสือหรือเหงียนฟุกอันห์ การปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 เรื่องของชาวต่างชาติเช่น ออกญาวิไชยเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ฯลฯ เรียกได้ว่าอ่านเพลินจนลืมนึกไปว่านี่คือแบบเรียนของนักเรียนชั้นก่อนมหาวิทยาลัย และช่วงที่นิธิ เรียนอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญนั้น ฟ. ฮีแลร์ ก็ยังเป็นครูสอนหนังสืออยู่ 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อนิธิ เลือกเรียนต่อที่แผนกวิชาประวัติศาสตร์ (สมัยนั้นยังไม่เรียกว่า ‘ภาควิชา’) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครูอาจารย์หลายท่านเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อยุธยาและรัตนโกสินทร์ นิธิ ไม่ได้ขาดแคลนเนื้อหาข้อมูลที่จำเป็นจะต้องทราบ ที่ต่างจากการเรียนในระดับชั้นมัธยมก็คือการเรียนเรื่องวิธีการทางประวัติศาสตร์ และเมื่อใช้ชีวิตกินนอนอยู่โรงเรียนที่มีครูผู้สอนและดูแลเป็นบาทหลวงมิชชันนารี ก็ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากเมื่อโตกว่านั้นแล้วได้อ่านเขียนเรื่องเกี่ยวกับความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม โดยที่ตัวเองก็เป็นลูกจีนที่ไปเรียนกับฝรั่ง แน่นอนว่ามีลูกจีนที่ไปเรียนฝรั่งแถมยังที่เดียวกันแต่ไปคนละทิศละทางกันเช่นรุ่นน้องนิธิ อย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้เป็นต้นกำเนิด ‘ลูกจีนรักชาติ (ไทย)’ ที่แท้ทรู แต่นั่นก็ต้องพิจารณาแยกออกไปต่างหาก

เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ครอบครัวอีลีตที่มีฐานะหน่อยก็ส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศเลย เช่น ส. ศิวรักษ์ ที่เมื่อจบแล้วก็บินไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ หรืออย่างสนธิ ลิ้มฯ ที่จบแล้วไปเรียนต่อที่ประเทศไต้หวัน เพราะบิดาเป็นสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง จึงมีเครือข่ายญาติพี่น้องอยู่ที่นั่น 

ด้วยความที่โรงเรียนอัสสัมชัญเป็นโรงเรียนคุณภาพเกินมาตรฐานสังคมไทยไปแล้ว คนจบที่นี่ส่วนใหญ่และในเครื่องหมายคำพูดคือ ‘บ้านรวย’ ก็ไม่จำเป็นจะต้องไยดีกับสถาบันการศึกษาใด ๆ ในประเทศไทยอีกต่อไป 

แต่ครอบครัวของนิธิ มิได้มีฐานะมากพอที่จะส่งลูกไปนอกได้เช่นนั้น กว่านิธิ จะได้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ก็เมื่อเข้าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และได้ทุนลาไปศึกษาต่อ เมื่อจบโรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนชั้นเลิศในสมัยนั้นนิธิได้ย้ายจากศรีราชากลับเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่สามย่าน โดยเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อยู่จนถึงปริญญาโท หากสมัยนั้นมีปริญญาเอกแล้ว นิธิ ก็อาจจะเป็น ‘ชาวอักษร’ อยู่จนจบปริญญาเอก อีกคนหนึ่งที่เป็นรุ่นน้องจบจากโรงเรียนอัสสัมชัญแล้วมาผจญภัยที่สามย่านเช่นกัน แต่เป็นที่คณะรัฐศาสตร์ คือ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ผู้มีสมญา ‘เจ้าพ่อโพสต์โมเดิร์น’ ภายหลัง       

ถึงจะเป็นคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ทศวรรษ 2500 ยุคที่จัดว่า เป็นแหล่งเพาะอนุรักษ์นิยมตัวพ่อตัวแม่ แต่ก็เป็นคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่มีรุ่นพี่ระดับตำนานอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ อย่าลืมว่ากลุ่มนิสิตที่จับจิตร ไปทุ่มโยนลงพื้น ที่เรียกกันว่า ‘โยนบก’ นั้น เป็นกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในขณะที่นิสิตอักษรเป็นกลุ่มที่เข้าไปช่วยจิตรที่หมดสติให้ฟื้นคืนมา และนิสิตอักษรจำนวนไม่น้อย แม้จะไม่ได้เห็นด้วยกับจิตร แต่ก็แสดงความคิดเห็นตำหนิติเตียนพวก ‘นิสิตวิดวะ’ ในเวลานั้น 

ในประเพณีการรับน้องของบางคณะที่จุฬาฯ อดีตเคยมีการจับรุ่นน้องโยนลงสระน้ำ ไม่ได้ทำกันเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ หากแต่คณะรัฐศาสตร์ที่บ่มเพาะนักปกครองให้กระทรวงมหาดไทยกับสร้างนักการทูตให้กระทรวงการต่างประเทศนั่นก็ใช่ย่อย ดังนั้น จึงมีศิษย์เก่าบางท่าน เช่น ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ออกความเห็นต่อกรณีโยนบกของจิตร ว่าเป็นแต่ประเพณีปกติ ก็ไม่รู้ว่าการจับน้องโยนจากเวทีลงพื้นจนหมดสติไปนั้นเป็นประเพณีปกติตรงไหน ขึ้นชื่อว่า ‘โซตัส’ ไม่มีหรอกประเพณีปกติ จะกดคนให้หงอให้เชื่องกับรุ่นพี่ก็ต้องใช้วิธีการป่าเถื่อนเป็นปกติ 

ในช่วงที่ยังเป็นนิสิตอักษร แม้นิธิ กับเพื่อนจะเคยเขียนวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะการทำกิจกรรมนักศึกษาของนิสิตจุฬาฯ ที่ออกแนว ‘สายลมแสงแดด’ ผ่านสื่ออย่างสังคมศาสตร์ปริทัศน์ แต่ท้ายที่สุด เขาก็รู้จักทำตัวเงียบ โลว์โปรไฟล์ (สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า ‘อยู่เป็น’) ซึ่งก็เป็นธรรมดาเพราะเป็นช่วงที่เรื่องนิสิตอักษร รุ่นพี่ถูกจับโยนบกนั้น ยังรับรู้กันอยู่ ข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ก็ยังฮอตฮิตกันอยู่ในสังคมการเมืองสมัยนั้น เพราะสงครามเย็นยังปะทุอยู่ในเวทีโลกสากล คนรุ่นนั้นยังไม่รู้หรอกว่า หลายปีหลังจากนั้นชนชั้นนำไทยจะหันไปซูฮกคอมมิวนิสต์จีนและต่อต้านอเมริกาอย่างทุกวันนี้ 

เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิธิ เข้าเรียนต่อระดับปริญญาโทที่คณะเดิม และสำเร็จการศึกษาเมื่อพ.ศ.2509 ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘การปราบฮ่อและการเสียดินแดน พ.ศ. 2431’ มีหม่อมราชวงศ์แสงโสม เกษมศรี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ไม่ได้เป็นวพ.เด่น เหมือนเขียนเพื่อได้เรียนจบและรับปริญญาไป  

หากมองจากยุคปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงหลังจากวงวิชาการไทยศึกษามีงานอย่าง ‘Siam mapped’ ของธงชัย วินิจจะกูล ออกมาแล้ว การทำวิทยานิพนธ์ประเด็นหัวข้อเรื่องการเสียดินแดน จัดว่าเห่ยเอามาก ๆ แต่ ณ พ.ศ.2509 นั้นยังไม่มีคนรู้ว่าการเสียดินแดนจะเป็นประเด็นที่ไปเกี่ยวกับการที่สยามส่งกองทัพไปบุกตะลุยในดินแดนล้านช้างได้ยังไง คนจะคิดได้แค่เพียงว่า สยามอยู่ของสยามมาดี ๆ แล้ววันหนึ่งก็มีฝรั่งเศสเข้ามารุกรานและยึดเอาดินแดนไป 

การที่กองทัพสยามไม่สามารถรักษาความสงบสุขให้แก่บ้านเมืองล้านช้างได้นั้นทำให้ลาวหันไปพึ่งฝรั่งเศส ใครจะไปคิดว่ากองทัพสยามอันยิ่งใหญ่เกรียงไกร จนยึดอำนาจเป็นใหญ่ในสังคมการเมืองไทยได้ตลอดเช่นนั้นจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการเสียดินแดนไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพ.ศ.2509 รัฐบาลก็ยังเป็นยุครัฐบาลทหารภายใต้การนำของ ‘ลุงหนอม’ (จอมพลถนอม กิติขจร) ซึ่งสืบทอดอำนาจมาจาก ‘ลุงหลิด’ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) โดยตรง     

หากวิพากษ์วิทยานิพนธ์ใด ๆ ก็ตาม โดยละเลยประเด็นว่าเป็นงานเขียนเพื่อขอจบการศึกษาที่ไหน มีใครเป็นที่ปรึกษา ย่อมจะไม่แฟร์ต่อผู้ทำวิทยานิพนธ์เล่มนั้น เพราะในการทำวิทยานิพนธ์คนที่เคยผ่านการศึกษาในระดับป.โท ป.เอก ในไทยมาจะทราบดีว่า อาจารย์ที่ปรึกษาและหน่วยงานที่อาจารย์ท่านนั้นสังกัดอยู่ มีผลต่อการทำวิทยานิพนธ์มาก ไม่ใช่ว่าผู้ทำวิทยานิพนธ์จะเขียนยังไงก็ได้ ดังนั้น การที่นิธิ ไม่พิมพ์วิทยานิพนธ์ ไม่พูด ไม่อ้างถึงวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้อีกเลย ก็แสดงอยู่โดยนัยว่าวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้สะท้อนอิทธิพลจากอาจารย์ที่ปรึกษามากกว่าตัวนิสิตผู้ทำ 

หลายคนเจอทางตันเมื่อพบว่า อาจารย์ที่ปรึกษาและหน่วยงานสังกัดของท่าน ไม่ได้ไปกันได้กับแนวทางและเนื้อหาของวิทยานิพนธ์ที่จะทำ นิสิตนักศึกษาก็มักจะต้องเลือกระหว่างวิทยานิพนธ์กับปริญญา หมายความว่า หากเขียนโดยที่อาจารย์ที่ปรึกษาไม่อนุมัติ ก็อาจจะได้งานเขียนชิ้นหนึ่ง (อาจจะดีกว่าเขียนโดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาก็ได้) แต่ไม่ได้ปริญญา หลายคนเมื่อเข้าถึงสัจธรรมที่ว่า ปริญญาสำคัญกว่า ก็ต้องเชื่อฟังและทำตามอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อจะได้จบและไปต่อได้ โดยสภาพเงื่อนไขที่เป็นแบบนี้ทำให้นิธิ ก็เช่นเดียวกับนักวิชาการรุ่นเดียวกัน คือมักไม่มีผลงานโดดเด่นมาก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย    

 

‘สกุลดำรงราชานุภาพ’ (ยกที่หนึ่ง เริ่ม...)

เมื่อจบไปเป็นอาจารย์อยู่ที่เชียงใหม่แล้ว ทีนี้ก็จึงค่อยถึงเวลาของนิธิ ในจำนวนงานเขียนหลังจากเป็นอาจารย์ช่วงแรก ๆ นั้นที่โด่งดังเป็นที่พูดถึงกันมาก เป็นชิ้นที่วิพากษ์แนวทางการศึกษาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เคารพนับถือเป็นครูอาจารย์และยกย่องเป็น ‘พระบิดาของประวัติศาสตร์ไทย’ แต่นิธิ แขวนป้ายเรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบสกุลดำรงราชานุภาพ’

โดยสาระสำคัญของการแสดงตัวเป็น ‘ศิษย์นอกคอก’ ของนิธิ ประวัติศาสตร์ไทยแบบสกุลดำรงราชานุภาพ มีลักษณะดังนี้:

(1) การเขียนประวัติศาสตร์แบบนี้ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อในทฤษฎีมหาบุรุษ (The great man theory) เมื่อมองประวัติศาสตร์ ก็จะมุ่งนำเสนอภาพลักษณ์และบทบาทของวีรกษัตริย์บางพระองค์ที่มีเกียรติประวัติสูงเด่น เช่น สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนารายณ์ จนถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ประวัติศาสตร์แบบนี้จึงขาดเนื้อหาที่เป็นประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจ และคนธรรมดาสามัญชนไม่ได้มีบทบาทต่อความเปลี่ยนแปลง ภายหลังส่วนนี้ธงชัย วินิจจะกูล นำไปขยายต่อเป็น ‘ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม’ (Royal-nationalism of Thai historiography) 

(2) การเขียนประวัติศาสตร์แบบนี้ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่า ประวัติศาสตร์สามารถใช้เป็นบทเรียนให้แก่ปัจจุบันได้ เป็นการมองประวัติศาสตร์แบบต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบัน และกำลังดำเนินต่อไปในอนาคตไม่สิ้นสุด แต่นิธิ แสดงความเห็นพ้องด้วยกับนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศสมัยนั้นอย่างเอ็ดเวิร์ด ฮอลเล็ต คารร์ (Edward Hallet Carr or E. H. Carr) ซึ่งมองว่าประวัติศาสตร์เป็นผลจากการทำงานของนักประวัติศาสตร์โดยยึดโยงกับการตีความหลักฐาน 

ประวัติศาสตร์แบบคารร์ เป็นประวัติศาสตร์ของความไม่ต่อเนื่องหรือขาดตอน เพราะคารร์ เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่เขียนเรื่องการปฏิวัติรัสเซียในมุมประวัติศาสตร์เป็นคนแรก ๆ ช่วงแห่งการปฏิวัติเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ตัดสินใจกระทำบางสิ่งที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เป็นมาก่อนหน้า ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของการศึกษาความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องความต่อเนื่อง เช่น เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เปลี่ยนจากระบบทุนนิยมเป็นสังคมนิยม เป็นต้น     

(3) นักประวัติศาสตร์แบบนี้มองว่าตนกำลังนำเสนอความจริงเกี่ยวกับอดีต โดยความจริงที่ว่านั้นได้มาจากหลักฐานที่จัดจำแนกประเภทออกเป็นหลักฐานชั้นต้นกับหลักฐานชั้นรอง ซึ่งเป็นมุมมองที่นักประวัติศาสตร์ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาการศึกษาแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) โดยมักเข้าใจไปว่า วิธีการศึกษาของตนนั้นมีความเป็นวิทยาศาสตร์ เที่ยงตรง ไม่มีอคติ นักประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องรู้ทฤษฎี เพราะสิ่งที่ตนศึกษานั้นมาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้ง ๆ ที่มุมมองดังกล่าวควรจะถือเป็นทฤษฎีหนึ่งของประวัติศาสตร์เท่านั้นซึ่งมีลีโอโปลด์ วอน รังเก (Leopold von Ranke) เป็นผู้นำ ประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพจึงเป็นประวัติศาสตร์ไทยฉบับรังเกเท่านั้น  ไม่ใช่การนำเสนอความจริงสัมบูรณ์แต่อย่างใด 

(4) นักประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพมีความเชื่อว่า ประวัติศาสตร์ที่ดีคือประวัติศาสตร์ที่มีเป้าหมายมุ่งส่งเสริมความรู้สึกรักและภูมิใจในความเป็นชาติ บางท่านถึงกับนำเสนอว่าสิ่งนี้คือหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์เลยด้วยซ้ำ แต่นิธิ เห็นว่านักประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องกระทำหน้าที่เช่นนั้น ชาติตั้งอยู่ได้โดยไม่ต้องมีนักประวัติศาสตร์ช่วยเหลือแต่อย่างใด สิ่งที่ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ควรสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดในบรรยากาศการเรียนการสอน น่าจะเป็นจิตใจวิพากษ์ (Critical mind) ต่างหาก ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเติบโตต่อไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ไม่ใช่พลเมืองที่เชื่องหรือตกเป็นเหยื่ออันโอชะของการโฆษณาชวนเชื่อใด ๆ ของรัฐและชนชั้นนำ

นอกจากนี้ ในผลงานหลายชิ้นต่อมา นิธิ ยังเป็นคนแรก ๆ ที่นำเอาแนวคิดของเบน แอนเดอร์สัน (Ben Anderson) มาใช้วิพากษ์กะเทาะเปลือกชาตินิยมไทยว่า เป็นชาติที่มีเนื้อหาเพื่อชนชั้นนำหรือคนส่วนน้อย ไม่ใช่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ ท่ามกลางนิยามความหมายของชาติแบบนี้ การทำเพื่อชาติไม่ได้หมายถึงทำเพื่อส่วนรวมแต่อย่างใด 

ผลงานด้านประวัติศาสตร์นิพนธ์และปรัชญาประวัติศาสตร์ของนิธิในช่วงแรก ๆ นี้เป็นที่ประทับใจแก่คนหนุ่มสาวรุ่นหลัง 14 ตุลา-6 ตุลา เพราะช่วงที่นิธิ วิพากษ์ประวัติศาสตร์แบบอักษรหรือแบบสกุลดำรงราชานุภาพอยู่นั้น เป็นช่วงเวลาไม่นานหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกันนั้น นิธิ ได้เปิดให้เห็นเงื่อนไขโอกาสใหม่แก่ปัญญาชนนักศึกษารุ่น 6 ตุลา ในการเข้าสู่วงวิชาการในเวลาต่อมา

ถึงนิธิ จะไม่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519 และนักศึกษาปัญญาชนรุ่นดังกล่าวนี้จะมีภูมิหลังจากสถานศึกษาระดับมัธยมต่างจากนิธิ ก็ตาม (ธงชัย วินิจจะกูล, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จบจากโรงเรียนสวนกุหลาบ เกษียร เตชะพีระ จบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อรรถจักร สัตยานุรักษ์ เป็นข้อยกเว้น เพราะมีพื้นเพทางการศึกษามาจากภาคตะวันออกเช่นเดียวกับนิธิ)           

ไม่ใช่แต่นิธิ จะได้วิจารณ์คณะเก่าของตนเองแต่เพียงถ่ายเดียว บ้านเก่าของอาจารย์ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตอกกลับอาจารย์ด้วยเช่นกัน ทั้งจากบ้านที่อัสสัมชัญและอักษร บ้านอัสสัมชัญนั้น ส.ศิวรักษ์ ได้ตอบโต้ข้อเสนอเรื่อง ‘ประวัติศาสตร์นิพนธ์สกุลดำรงราชานุภาพ’ อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน เพราะ ส.ศิวรักษ์ ช่วงก่อนหน้านั้นได้เคยปวารณาตัวเป็นศิษย์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่นิธิ ไม่ได้ตอบโต้อะไรต่อ ส.ศิวรักษ์  มีเพียงจดหมายสั้น ๆ ไปยังกองบก.ศิลปวัฒนธรรม ว่ายังเคารพนับถืออาจารย์สุลักษณ์ อยู่เสมอ 

ส่วนบ้านอักษร มีตัวแทนหมู่บ้านคือ อาจารย์ปรีชา ช้างขวัญยืน ซึ่งแสดงความเห็นต่างจากนิธิ ในบทความเรื่อง ‘ภาษาไทยมาตรฐานกับการเมือง’ บทความชิ้นสำคัญที่ควรจะนำมารวมเล่มในชุด ‘ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียน และอนุสาวรีย์’ แต่ไม่ได้รวมไปอย่างน่าเสียดาย นิธิ เขียนโต้ปรีชา ในรูปจดหมายถึงบก. (คือ ธเนศ วงศ์ยานนาวา บก.รัฐศาสตร์สาร)

พีคตรงที่ในการโต้ปรีชา ครั้งนั้น นิธิ ใช้ ‘Discourse’ ของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) มาอภิปรายบทบาทของคณะอักษรศาสตร์ในฐานะตัวแปรสำคัญของปฏิบัติการทางภาษา (สมัยนั้นสมเกียรติ วันทะนะ ยังไม่ได้แปล Discourse ว่า ‘วาทกรรม’) จดหมายตอบนี้กลายเป็นงานที่รู้จักกันภายหลังว่า ได้ใช้ฟูโกต์ เป็นครั้งแรกโดยนักวิชาการไทย        

 

จาก ‘สามย่าน’ สู่ ‘เชิงดอย’

กล่าวกันว่าในช่วงแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.2503 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นที่รวมของเหล่าบรรดาศิษย์นอกคอกของสำนักวิชาการแขนงต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ และนิธิ เองก็คงมีความรู้สึกหลงใหลกับมนต์เสน่ห์เมืองเหนืออย่างเชียงใหม่มาบ้าง เพราะเป็นยุคที่มีเพลงร้องว่า ‘ป่าเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บาน’ ดังกระหึ่มกรุงเทพฯ และปริมณฑล

แล้วโอกาสก็มาถึงเมื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประกาศรับสมัครอาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ สังกัดคณะมนุษยศาสตร์ 

คู่แข่งขันในการสอบเข้าเป็นอาจารย์ของนิธิคือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งได้ยื่นใบสมัครไปและได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยให้ขึ้นไปสอบด้วย แต่เมื่อสุชาติรู้ว่าคู่แข่งคือนิธิ สุชาติ ก็ยอมถอยสละสิทธิ์ให้ เพราะเห็นว่าคู่แข่งมีป.โทและเป็นคนเชียงใหม่ ขณะที่สุชาติ เป็นชาวกรุงเก่า จากอ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นชาวทุ่งสีกัน ดอนเมือง และสุชาติ มีวุฒิเพียงป.ตรี จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ก่อนจะทราบภายหลังว่า ที่จริง สุชาติ เป็นตัวเต็ง เพราะถึงแม้จะมีวุฒิแค่ป.ตรี แต่ก็เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และสุชาติมีผลงานในฐานะนักเขียนบ้างแล้ว ในขณะที่นิธิ ยังไม่ส่อแววว่า จะเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ดังปัจจุบัน ถึงแม้สมัยนั้นจะยังไม่มีเรื่องตัวชี้วัด อาจารย์ต้องผลิตผลงานล่าแต้ม เพื่อให้ผู้บริหารเอาไปปีนป่ายแรงกิ้งดังในปัจจุบัน แต่การมีอาจารย์เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าเรียนของนักเรียนจบใหม่สมัยนั้นได้เป็นอย่างดี 

ในเมื่อนักเรียนเหล่านั้นอาจเป็นเอฟซีผลงานของสุชาติอยู่แล้ว เพราะเป็นยุคที่คนรุ่นใหม่อ่านวรรณกรรมติดกันงอมแงม มีการ์ตูน ภาพยนตร์ ดึงความสนใจเด็กนักเรียนไปบ้าง แต่ไม่มากเหมือนอย่างเกมและโซเชียลอย่างทุกวันนี้    

ที่สำคัญ อย่างที่บอกไว้แล้วว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เวลานั้นเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน มีความใฝ่ฝันจะเป็นมหาวิทยาลัยพันธุ์ใหม่แข่งกับจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ จึงสนใจรับอาจารย์ที่เป็นพวก ‘ศิษย์นอกคอก’ มากกว่าจะเป็นพวกเครือข่ายเก่า ชาวลูกแม่โดมและนักเขียนหัวก้าวหน้าอย่างสุชาติ จึงเป็นตัวเต็ง แต่เมื่อสุชาติยอมถอยให้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลับได้ศิษย์นอกคอกชนิดหัวหมู่ทะลวงฟัน

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้พีกอยู่อย่างตรงที่สุชาติ ซึ่งเป็นนักเขียนมีชื่อเสียง เจ้าของนามปากกา ‘สิงห์สนามหลวง’ นั้น อีกด้านหนึ่งเคยคิดอยากเป็นนักประวัติศาสตร์ เมื่อจบการศึกษาในฐานะศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มาเป็นบรรณาธิการสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ก็เปลี่ยนโฉมสังคมศาสตร์ปริทัศน์จากยุคที่ ส. ศิวรักษ์ เป็นบก. มาสู่สังคมศาสตร์ปริทัศน์ที่มีงานตีพิมพ์เป็นบทความประวัติศาสตร์แนวก้าวหน้ามากขึ้น หลายคนแจ้งเกิดจากเวทีนี้ หนึ่งในนั้นก็มีศรีศักร วัลลิโภดม ด้วยบทความเกี่ยวกับอโยธยา เป็นต้น    

นอกจากนี้ สุชาติ ยังเป็นบก.ร่วมกับชาญวิทย์ เกษตรศิริ ทำหนังสือรวมบทความที่กลายเป็นงานคลาสสิกที่นักศึกษาประวัติศาสตร์ใช้อ่านเขียนทำรายงานกันหลายยุคหลายสมัยอย่างเล่มเรื่อง ‘ปรัชญาประวัติศาสตร์’ หรืออย่างเล่ม ‘ประวัติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ไทย’ บางท่านอาจจะเคยมีผลงานมาบ้าง แต่ไม่เป็นที่รู้จัก ก็มาแจ้งเกิดจากพื้นที่นี้เช่นกัน เช่น ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ในบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การชำระพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งก็ไปต่อกันกับงานคลาสสิกของนิธิ เรื่องเกี่ยวกับการชำระพระราชพงศาวดารอยุธยาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เป็นต้น 

ในขณะที่นิธิ ก็เคยเล่าว่าความฝันเมื่อครั้งยังเป็นนิสิตจริง ๆ แล้วคืออยากจะเป็นนักเขียน ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ เคยลองหัดเขียนเรื่องสั้นโดยใช้นามปากกาด้วย แต่แล้วเมื่อได้อ่านซ้ำอีกรอบก็ต้องกลบฝังความฝันที่อยากจะเป็นนักเขียน เพราะเรื่องที่เคยเขียนโดยใช้วางโครงเรื่องให้ตัวละครเป็นทหารไปรบในสงครามเกาหลี โดยที่ผู้เขียน (นิธิ) ไม่เคยไปเกาหลีมาก่อนนั้น ชวนให้รู้สึกแบบ ‘แหม ทำไปได้!’

ความพีกของเรื่องนี้มันอยู่ตรงที่สุชาติ อยากเป็นนักประวัติศาสตร์แต่ต้องมาเป็นนักเขียน (ต่อไป) ในขณะที่นิธิ ที่อยากเป็นนักเขียนกลับได้เป็นนักประวัติศาสตร์ อาจจะเป็นดังภาษิตจีนที่ว่า ‘คนคำนวณหรือจะสู้ลิขิตฟ้า’ ล่ะมั้ง? 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากความฝันอยากเป็นนักเขียนนั้น แม้มีอันให้ต้องรู้สึกไปต่อไม่ไหว นิธิ ค้นพบว่าแท้ที่จริงแล้ว ระหว่างการเป็นนักประวัติศาสตร์กับนักเขียนนั้น อาจารย์ไม่จำเป็นจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งแต่อย่างใดเลย มันสามารถไปด้วยกันได้ เพราะประวัติศาสตร์ก็จำต้องนำเสนอตนเองผ่านงานเขียน  งานประวัติศาสตร์นิพนธ์ก็มีด้านที่เป็นเรื่องแต่งอยู่ด้วย ไม่ใช่แต่ในแง่ที่เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงแห้ง ๆ จากหลักฐานแต่อย่างใด    

ถัดจากยุค ‘สังคมศาสตร์ปริทัศน์’ เข้าสู่ยุคของ ‘ศิลปวัฒนธรรม’ พื้นที่ทางวิชาการที่เปิดขึ้นใหม่ โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ ซึ่งก็เป็น ‘ศิษย์นอกคอก’ จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะที่ไม่ควรมีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย แต่ก็เป็นเช่นนั้นไปแล้ว จาก ‘ศิลปวัฒนธรรม’ เขยิบเข้าสู่มติชนฯ ในเวลาต่อมา เพราะสุจิตต์ เป็นเพื่อนซี้ย่ำปึ้กกับขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งได้ชวนนิธิ ให้มาเขียนคอลัมน์ให้ คอลัมน์ที่ทำคนอ่านติดกันงอมแงม    

วิเคราะห์เส้นทางชีวิต กว่าจะเป็น ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’ แบบที่รู้จัก จากแรกเกิด ถึงผลิตงาน

‘ศิษย์นอกคอก’ & ประวัติศาสตร์-มานุษยวิทยา

วิชั่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่แบ่งสาขาวิชาทางมนุษยศาสตร์กับสังคมศาสตร์ออกจากกัน แล้วให้สาขาอย่างประวัติศาสตร์ไปสังกัดอยู่มนุษยศาสตร์ ให้มานุษยวิทยาไปสังกัดอยู่สังคมศาสตร์ แม้จะดูแปลก ๆ แต่ก็สร้างอัตลักษณ์ให้แก่มหาวิทยาลัยได้ดี ที่อื่นอาจจะคิดกลับกันให้มานุษยวิทยาอยู่มนุษยศาสตร์ (ถ้ามองมนุษยศาสตร์กว้างกว่าศาสตร์วิชาทางภาษา) กับให้ประวัติศาสตร์ไปอยู่กับสังคมศาสตร์ หรือให้ทั้งประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาไปอยู่ในคณะสังคมศาสตร์ เหมือนอย่างที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทำ 

แต่เมื่อมานุษยวิทยาไทยไม่เคยเป็นเอกราชหรือแยกขาดจากสังคมวิทยาได้ ไม่เหมือนต่างประเทศ  มานุษยวิทยาคือมานุษยวิทยา สังคมวิทยาก็คือสังคมวิทยา จะมายุ่งเกี่ยวกันก็ในการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา และประวัติศาสตร์รุ่นบุกเบิกนั้นอยู่กับคณะอักษรศาสตร์ เพราะถือว่าหลักฐานหลักที่นักประวัติศาสตร์ใช้นั้นคือหลักฐานลายลักษณ์อักษร เมื่อเป็นดังนั้น ประวัติศาสตร์เลยสามารถจะอยู่ร่วมชายคาเดียวกับสายภาษาในมนุษยศาสตร์เขาได้ โดยอาจจะมีเคอะเขินกันบ้าง ก็ไม่เป็นไร   

ช่วงทศวรรษ 2500-2520 วิชาการสังคมศาสตร์เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ เมื่อนักมานุษยวิทยาอเมริกันได้เขยิบความสนใจจากกรุงเทพฯ รอบนอกอย่างบางชันมาเป็นเชียงใหม่ และจากการศึกษาชาวนามาสู่ชาวเขา ภายใต้บริบทของโลกสงครามเย็นที่ฝ่ายอเมริกาเกิดความหวั่นเกรงว่า ชาวเขาในภาคเหนือของประเทศไทยจะเป็นคอมมิวนิสต์ จึงได้ทุ่มเทงบประมาณส่งเสริมการวิจัย นำไปสู่การจัดตั้งศูนย์วิจัยชาวเขา และยังจัดหาทุนให้นักวิชาการที่มีแววได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาพวกเขาก็มาเป็นนักวิจัยศูนย์วิจัยชาวเขา และบางส่วนก็ไปเป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ 

คณะสังคมศาสตร์กลายเป็นอีกฮับ (hub) หนึ่งของมานุษยวิทยาอเมริกันยุคสงครามเย็น มีบทบาทหน้าที่และพันธกิจลับอย่างการช่วยให้ทางการเข้าถึงกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบ อย่างไรก็ตาม รุ่นลูกศิษย์ของนักมานุษยวิทยาฝรั่งเหล่านี้ ต่อมา ก็เป็นศิษย์นอกคอกของนักมานุษยวิทยาอเมริกันรุ่นก่อนหน้าเช่นกัน เช่น กลุ่มลูกศิษย์ของชาร์ล เอฟ คายส์ (Charles F. Keyes) จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งคายส์ เองในช่วงหลังก็ไม่ใช่ศิษย์ในคอกของรุ่นก่อน หรืออย่างรุ่นที่เป็นรอยต่ออย่างสุเทพ สุนทรเภสัช และอานันท์ กาญจนพันธุ์ ก็ล้วนแต่เป็นศิษย์นอกคอกในภายหลังด้วยเช่นกัน 

นิธิ เมื่ออยู่เชียงใหม่ได้อ่านศึกษาความก้าวหน้าของศาสตร์เพื่อนบ้านอย่างมานุษยวิทยาในคณะสังคมศาสตร์ และได้นำเอามุมมองและคอนเซปต์หลายส่วนด้วยกันมาปรับประยุกต์ใช้ในงานเขียนของตน โดยเฉพาะอย่างมุมมองต่อวัฒนธรรมที่ถือเป็นหัวใจหลักของมานุษยวิทยาไทย กลุ่มงานเขียนประเภทนี้คืองานเขียนคอลัมน์ในมติชนรายวันและมติชนสุดสัปดาห์       

ด้วยการลอบหยิบยืมมโนทัศน์ของมานุษยวิทยามาใช้นี้เอง ทำให้นิธิ เป็นนักประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่นักประวัติศาสตร์ อย่างน้อย ๆ ก็ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์แบบดั้งเดิม (Traditional) เพราะหากยึดตาม Traditional เป๊ะ ๆ (ถึงเป๊ะเว่อร์) แล้วล่ะก็ นิธิ จะไม่ใช่นิธิ ในแบบที่เรารู้จัก อาจจะเป็นเพียงตาแป๊ะคนหนึ่งที่เอะอะ ก็ถามหาแต่หลักฐาน ๆ ๆ อยู่แค่นั้น ไม่ไปไหน

ดังนั้น เมื่อเห็นนิธิ ไปเขียนคอลัมน์ให้กับหนังสือพิมพ์ จนไม่มีเวลาผลิตงานเล่มใหญ่ ๆ โต ๆ ได้แบบ ‘การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี’ หรืออย่าง ‘ปากไก่และใบเรือ’ แล้ว วินัย พงศ์ศรีเพียร ถึงกับกล้าประกาศ (อย่างเงียบ ๆ) ว่าท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ที่เก่งที่สุด ซึ่งก็จริง เพราะหากประวัติศาสตร์แบบ Traditional เอะอะก็หลักฐาน ๆ ๆ บลา บลา บลา ก็ต้องยกให้ท่านอาจารย์เก่งที่สุด 

แต่นิธิ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะแม้แต่หลักฐานชั้นต้น นักประวัติศาสตร์ก็ไม่ควรจะเชื่อมัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่านิธิ จะเขียนอะไรโดยที่ไม่มีหลักฐาน หากแต่เพราะหลักฐานสำหรับนิธิ พลิ้วกว่านั้น เพราะอันที่จริงมิได้มีแต่บันทึกลายลักษณ์อักษรเท่านั้นที่หลงเหลือตกทอดมาจากอดีต และการให้ความสำคัญกับหลักฐานลายลักษณ์อักษรจะเท่ากับให้ความสำคัญกับหลักฐานจากชนชั้นนำเท่านั้น เพราะชนชั้นล่างสามัญชนมิได้อยู่ในวัฒนธรรมลายลักษณ์อักษร จำนวนคนรู้หนังสือหรือแต่งตำราในอดีตมีไม่มาก 

เมื่อนิธิ มาเขียนคอลัมน์ทางวัฒนธรรม ซึ่งนิธิ เคยบอกว่าชอบมาก เพราะถ้าเป็นเรื่องวัฒนธรรมแล้ว หลักฐานก็ลื่นไหลเกินกว่าจะอยู่ในรูปลายลักษณ์อักษร และเมื่อเป็นเรื่องวัฒนธรรม ก็เป็นเรื่องของความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ในสังคม เป็นวัฒนธรรมของประชาชนคนส่วนใหญ่ในการปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมรอบตัว เมื่อเขียนถึงคนจน นิธิ ก็ไม่ได้บอกว่าที่จนนั้นจนเพราะโง่ ไม่ขยัน หรือไม่มีการศึกษา หากแต่จนเพราะไม่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรได้ไม่เท่าเทียมกันของรัฐและสังคม     

จากมโนทัศน์ข้างต้น เมื่อนักมานุษยวิทยาไทย เช่นอาจารย์ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล เขียนคำนำเล่มเรื่อง ‘โขน คาราบาว น้ำเน่าและหนังไทย’ ให้กับหนังสือรวมบทความของนิธิ จึงได้เริ่มเรื่องโดยการเล่ามุกขำ ๆ หนึ่งว่า ครั้งหนึ่งอาจารย์ปริตรตา เคยสอบถามนักศึกษามานุษยวิทยาของ ม.ธรรมศาสตร์ ในวิชาที่ท่านรับผิดชอบว่า ใครคือนักมานุษยวิทยาในดวงใจระดับไอดอลของนักศึกษา นักศึกษาหลายคนตอบว่า ‘นิธิ เอียวศรีวงศ์’

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของอาจารย์ปริตรตา เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเมื่อใครสังเกตจะพบว่าบทความที่นิธิเขียนราวกับ ‘ด้นสด’ ในมติชนฯ นั้น ล้วนแต่เป็นมุมมองทางวัฒนธรรมที่เป็นจุดเด่นของมานุษยวิทยาไทย ในท่ามกลางการถูกจับไปเป็นคู่ตรงข้ามกับ ‘ปัจจัยภายนอก’ ของฉัตรทิพย์ นาถสุภา (อย่างที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ทำเมื่อตั้งปี 2525) และธงชัย วินิจจะกูล (อย่างที่ทวีศักดิ์ เผือกสม ทำเมื่อปี 2540) เราลืมจับคู่นิธิ กับเพื่อนบ้านของอาจารย์เองอย่างมานุษยวิทยาคณะสังคมศาสตร์ มช. ไปเสียสนิทเลย มาดูอีกที ก็แบบ ‘อ้าว เอะ เรามีนักประวัติศาสตร์ที่มีมุมมานุษยวิทยาขั้นเทพแบบนี้ได้ยังไงหว่า’

แต่เป็นธรรมดาสำหรับนักประวัติศาสตร์ที่ใฝ่ใจเสาะแสวงหาแนวคิดทฤษฎีหรือมุมมองจากศาสตร์สาขาอื่นมาปรับประยุกต์ใช้ในงานของตนอยู่ตลอด ด้วยมุมมองทางวัฒนธรรมที่ได้จากเพื่อนบ้านนี้เอง ทำให้อาจารย์มีเครื่องมือทำมาหากินกับคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์อยู่ช้านานหลายสิบปี แต่หลังจากนี้อาจจะเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะมี ‘นิธิ 2’ เพราะสื่อหนังสือพิมพ์ค่อนข้างซบเซาลงกว่าแต่ก่อนมาก ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกการอ่านออนไลน์อย่างไม่เคยมีมาก่อน จะมีคนที่ตื่นเช้ามาตั้งหน้าตั้งตารอหนังสือพิมพ์แล้วพลิกเปิดหาคอลัมน์ในดวงใจ ก็คงมีแต่คนแก่อายุ 70-80 อัป ที่อ่านออนไลน์แล้วเกิดปวดตาหรือเวียนหัวเท่านั้น     

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังเป็นยุคที่งานเขียนที่ไม่มีเชิงอรรถไม่ถือเป็นงานวิชาการ นับแต้ม คิดตัวชี้วัดไม่ได้ เอาไปขอตำแหน่งทางวิชาการยิ่งไม่ได้ กลายเป็นยุคที่มีบทความวิชาการไม่มีคุณค่า (และมูลค่า) เท่าบทความวิจัย หนังสือเล่มไม่มีความหมายเท่าบทความตีพิมพ์ในวารสารลึกลับที่ไม่มีใครอ่าน

ในทางตรงข้าม หากนิธิ เกิดในรุ่นหลังนี้ นิธิ จะไม่ได้เป็นนิธิ ในแบบที่เรารู้จักแน่นอน เพราะงานที่อ้างอิงแพร่หลายอย่าง ‘ปากไก่และใบเรือ’ นั้นเป็นหนังสือรวมบทความ เอาไปขอตำแหน่งไม่ได้ อย่าว่าแต่นิธิ เลย ‘Siam mapped’ ของธงชัย ที่แพร่หลายในโลกวิชาการไทยและเทศนั้น หากเป็นอาจารย์สังกัดมหาวิทยาลัยไทย ธงชัย จะได้แต่ฝันถึงตำแหน่งศาสตราจารย์ ชนิดที่เกษียณไปแล้วก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้เป็นกับเขา เพราะ ‘Siam mapped’ เป็นงานปรับจากวิทยานิพนธ์   

 

‘นิเธียน & ตะวันออกเกี้ยน’ ปัจจุบันและปัจจัยภายในของนิธิ

เมื่อพิจารณาเส้นทางชีวิตประกอบผลงานวิชาการ จะเห็นได้ว่านิธิ เช่นเดียวกับปัญญาชนนักประวัติศาสตร์ท่านอื่น ๆ ที่จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เส้นทางชีวิตกับผลงานวิชาการมีส่วนพัวพันกันอย่างมาก ประวัติศาสตร์ไทยฉบับนิธิเป็น ‘ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน’ เช่นกัน 

บุคคลสำคัญที่มีภูมิหลังสัมพันธ์กับหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก กับศูนย์กลางอำนาจ ก่อนจะขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ ในอดีตนั้นก็คือ ‘สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ’ และบุคคลที่คนตะวันออกให้ความสำคัญอีกท่านหนึ่งเนื่องจากเคยไปตะวันออกก็คือ ‘สุนทรภู่’ ทั้งสอง (พระเจ้าตากกับสุนทรภู่) คือตัวละครสำคัญในงานประวัติศาสตร์ฉบับนิธิ 

การที่เคยใช้ชีวิตและเรียนอยู่ย่านสำคัญอย่างศรีราชา บริเวณที่มีเรือสินค้าแล่นผ่านเข้าออกไปมาอยู่ตลอด  คงมีส่วนโดยอ้อมให้ระลึกความสำคัญของการค้าและเทคโนโลยีเรือ เรือใบที่เป็นตราประจำโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชานั้นก็เป็นชื่อเล่มและธีมหลักของงานคลาสสิกอย่างเล่มเรื่อง ‘ปากไก่และใบเรือ’ 

เพราะเป็นคนที่โตมาจากตะวันออกนี้เอง จึงไม่รู้สึกอิน เมื่อมาอ่านงานประวัติศาสตร์เขียนโดยนักประวัติศาสตร์รุ่นก่อนหน้าที่มักยกให้การทำสนธิสัญญาเบาริงเมื่อพ.ศ.2398 ตลอดจนการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นจุดตั้งต้นของการเข้าสู่สมัยใหม่ เนื่องจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกมีความคึกคักมาตั้งแต่สมัยอยุธยาปลายและเฟื่องฟูอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 3 ในความเป็น ‘นิเธียน ๆ’ ที่พูดถึงกัน มีเนื้อในที่เป็น ‘ตะวันออกเกี้ยน’ อยู่ในนั้น ไม่ใช่น้อย ๆ   

 

จาก ‘ครรภ์มารดา’ (ยุคคณะราษฎร) ถึง ‘เชิงตะกอน’ (ยุคเขาไม่โหวตพิธา)   

เมื่อพิจารณาเส้นทางชีวิตกับผลงาน คิดว่าสามารถแบ่งนิธิออกเป็น 4 แบบ เป็นอย่างน้อย คือ (1) นิธิในฐานะครูอาจารย์ (2) นิธิในฐานะนักวิชาการ (3) นิธิในฐานะนักเขียน/คอลัมนิสต์ และ (4) นิธิในฐานะนักกิจกรรมทางสังคม อาจไม่ตรงกับท่านอื่นในการแบ่งแบบนี้ 

อย่างไรก็ตามแต่ อย่าลืมว่า นี่คืองานเขียนที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เขียนเกือบจะทันทีหลังจากที่มีข่าวการจากไปของอาจารย์ ใจหายเหมือนกันที่บุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือและเป็นผู้อาวุโสในวงการวิชาการเดียวกัน จู่ ๆ ต้องมาจากไปเช่นนี้         

ช่วงหลังเกษียณอายุราชการเป็นต้นมา จะเห็นว่านิธิ เข้าร่วมกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองอยู่เรื่อยมา ตั้งแต่ยุคเอ็นจีโอ สมัชชาคนจน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ฯลฯ เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดในประวัติศาสตร์ไทยคือ รัฐประหาร 2549 กับ 2557 นิธิ เป็นปัญญาชนท่านหนึ่งที่ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยคืนอำนาจแก่ประชาชน ซึ่งก็ทำให้พวกเด็ก ๆ รู้สึกเป็นปลื้มว่านักวิชาการยิ่งใหญ่ระดับนี้อยู่เคียงข้างพวกเขา 

ดังที่ทราบกันว่านิธิ ได้รับรางวัลในฐานะนักวิชาการมากมายหลายรางวัลทั้งในไทยและต่างประเทศ  แต่รางวัลใด ๆ ก็คงไม่ฟูลฟิลอาจารย์มากเท่าการได้อยู่ในหัวใจของคนรุ่นใหม่ เป็นบูมเมอร์ที่ได้รับการยกเว้นจากความแค้นและความชังของฝ่ายประชาธิปไตยคนรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์, ดินาร์ บุญธรรม ที่ล่วงลับไปก่อนหน้า 

นิธิ ยังได้ทันเห็นความพยายามของคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยกลับสิ่งบูดเบี้ยวให้ฟื้นคืนดี  ด้วยวิถีทางแห่งการเลือกตั้ง วิถีทางที่เคารพเสียงโหวตของประชาชนคนส่วนใหญ่ แม้ว่าเสียงโหวตนี้จะไม่ถูกนับเป็นเสียงชี้ขาดในสังคมประเทศนี้ เขาใช้คนเพียง 250 คน ก็บล็อกเสียงของคนส่วนใหญ่ได้แล้ว (ก็ตาม) ไม่รู้ว่าผู้มีอำนาจเบื้องหลังความบูดเบี้ยวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนับแต่รัฐประหารสองครั้งหลังนี้มาจะรู้สึกรู้สาอะไร อย่างไร หรือไม่ เมื่อคนสำคัญที่ประวัติศาสตร์จะบันทึกเล่าสืบกันต่อไปนั้น ต่างก็ล้มหายตายจากไปคนแล้วคนเล่า ในยุคสมัยของท่าน 

เฟซบุ๊คของคุณชัยธวัช ตุลาธน ที่สื่อหลายสำนักนำมาโควต ได้บอกเล่าความรู้สึกของคนที่มีต่อความสูญเสียครั้งนี้ได้ดี จึงขอนำมาลงปิดท้ายบทความชิ้นแรกที่ผู้เขียนได้เขียนถึงอาจารย์นิธิ เช่นกันดังนี้

“แม้ชีวิตจะเป็นสิ่งไม่เที่ยง แต่การสูญเสียใครสักคนที่เรารู้สึกผูกพันด้วย ย่อมทำให้เราใจหายเสมอ”

 

เรื่อง: กำพล จำปาพันธ์

ภาพ: แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO