ถอดนัยของ ‘แบบเรียนไทย’ สมัยคณะราษฎร ทำไมใช้แมวเป็นตัวกลางให้เด็กซึมซับประชาธิปไตย?

ถอดนัยของ ‘แบบเรียนไทย’ สมัยคณะราษฎร ทำไมใช้แมวเป็นตัวกลางให้เด็กซึมซับประชาธิปไตย?

ชวนอ่าน ‘แบบเรียนภาษาไทย’ สมัยคณะราษฎร ‘แบบเรียนที่มีแมว ผัก จักรยาน และทะเล’ (ไม่มีกิ้งกือ ไข่ต้ม และน้ำปลา) สะท้อนการศึกษาในยุคหนึ่งของไทย

  • แบบเรียนไทยในสมัยคณะราษฎร เคยใช้แมวเป็นตัวกลางเพื่อดึงดูดและสื่อสารให้เด็กซึมซับประชาธิปไตย
  • แบบเรียนนั้น มี ‘แมวสีสวาด’ เป็นตัวเอก เป็นแบบเรียนสำหรับสอนอ่านภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2484

‘สีสวาด’ กับอำนาจอธิปไตยแบบแมว ๆ ในแบบเรียนภาษาไทยหลัง 2475

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหลังการอภิวัฒน์ 2475 และเป็นช่วงเดียวกับก่อนจะเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาเพียงไม่นาน เมื่อ พ.ศ.2484 ‘กระทรวงศึกษาธิการ’ ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนจาก ‘กระทรวงธรรมการ’ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ปรับปรุงระบบการศึกษาและสร้างแบบเรียนใหม่ขึ้น แบบเรียนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะรักและหวงแหนระบอบรัฐธรรมนูญสืบต่อไป 

ด้วยความที่สังคมสยามสมัยนั้นมีความเชื่อว่า แมวเป็นสัตว์เลี้ยงตัวแทนของระบอบประชาธิปไตย ผู้เลี้ยงแมวจะต้องยอมรับและเข้าใจในความมีสิทธิเสรีภาพแบบแมว ๆ แม้จะเป็นเจ้าของหรือเลี้ยงแมว แต่จะบังคับแมวให้ทำตามใจตนเองนั้นไม่ได้ ในขณะที่หมานั้นแตกต่างอย่างเป็นตรงกันข้าม 

ปรากฏว่าแบบเรียนในยุคคณะราษฎรนั้น มี ‘แมวสีสวาด’ เป็นตัวเอก (คำว่า ‘สีสวาด’ นั้นหมายถึงสีเทาอมเขียวที่เหมือนเมล็ดลูกสวาด) เป็นแบบเรียนสำหรับสอนอ่านภาษาไทย สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2484 จากฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2489 ซึ่งเป็นการพิมพ์ตามรอบปีและเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 5 เฉพาะปีนั้นปีเดียวมีจำนวนพิมพ์กว่า 120,000 เล่ม 

ต่อมา ในการพิมพ์ซ้ำเมื่อ พ.ศ.2499 โดยโรงพิมพ์คุรุสภา ได้ระบุนามผู้เรียบเรียงคือ ‘นายกี กีรติ วิทโยลาร กับ ขุนศึกษากิจพิสัณฑ์’ และผู้เขียนภาพประกอบคือ ‘เหม เวชกร’ การพิมพ์ครั้ง พ.ศ.2499 ซึ่งเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 23 มีจำนวนเล่มมากถึง 280,000 เล่ม  

เมื่อเทียบจากต้นฉบับที่หลงเหลืออยู่จากฉบับพิมพ์ของ 2 ปีข้างต้น พบว่าไม่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาของเรื่องที่นำเสนอในแบบเรียนแต่อย่างใด เปลี่ยนเพียงภาพประกอบที่เหม เวชกร เข้ามามีบทบาทวาดเมื่อ พ.ศ.2499 เท่านั้น นั่นหมายความว่าเด็กเยาวชนรุ่นที่ต้องเข้าเรียนชั้นประถมในช่วงระหว่าง พ.ศ.2484-2500 นั้นโตมากับ ‘เจ้าสีสวาด’ 

ก่อนที่จะมีการสร้างแบบเรียนใหม่ที่ตัวละครมีสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ หลากหลายขึ้นในอีก 21 ปีต่อมา (คือใน พ.ศ.2521 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) ตามแบบเรียนสอนอ่านฉบับที่รู้จักกันดี อาทิ ‘สีเทา’ แมวของชูใจ, ‘เจ้าโต’ หมาของมานี, ‘เจ้าแก่’ ม้าของปิติ, ‘เจ้าจ๋อ’ ลิงของวีระ, ‘เจ้าแก้ว’ นกของมานะและมานี เป็นต้น 

‘มัชชารนิติ’ ตำราแมวและตำราเรียนภาษาบาลี อันเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจให้แก่ตำราเรียนภาษาไทยฉบับแรกเริ่มของกระทรวงศึกษาธิการ

‘เรื่องแมวสีสวาด’ เป็นแบบเรียนสอนอ่านภาษาไทย เป็นบทบาทหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกับ ‘มัชชารนิติ’ ตำราแมวที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นผู้พระนิพนธ์ขึ้นมาใช้ในคณะสงฆ์ ในแง่ที่เป็นตำราสอนอ่านเขียนภาษา แต่ตำราแมวของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์นั้นเป็นตำราใช้แมวสำหรับสอนภาษาบาลีแก่พระภิกษุสงฆ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3

เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ตามเสด็จพระวชิรญาณภิกขุ (รัชกาลที่ 4) มาประทับจำพรรษาอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร และได้รับมอบหมายให้เป็นพระอาจารย์สอนพระภิกษุสงฆ์ทั้งในวัดบวรนิเวศวิหารและวัดอื่น ๆ ในย่านใกล้เคียงของกรุงเทพฯ ในครั้งนั้นได้ทรงพระนิพนธ์ตำราแมวขึ้นฉบับหนึ่งเป็นภาษาบาลีเพื่อประกอบการเรียนการสอนอ่านบาลี เป็นตำราอย่างง่ายก่อนที่จะให้อ่านพระไตรปิฎก 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งถือเป็น ‘เจ้าพระชั้นผู้ใหญ่’ (เจ้านายที่ผนวชเป็นพระภิกษุ) ได้รับสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระวชิรญาณภิกขุ (รัชกาลที่ 4) ให้เป็นผู้ปฏิรูปการอ่านเขียนของพระภิกษุสงฆ์ทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมือง พระองค์ทรงสังเกตเห็นว่าตามกุฏิของเหล่าบรรดา ‘ลูกศิษย์พระ’ ของพระองค์นั้นล้วนแต่มีแมว การเลี้ยงแมวเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ ผ่อนคลายจากการเล่าเรียนและวัตรปฏิบัติต่างๆ 

อีกทั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เองก็ทรงโปรดแมวและเลี้ยงแมวอยู่ที่กุฏิของพระองค์ด้วย จึงเห็นว่าหากทรงแต่งตำราเรียนภาษาบาลีที่ถือว่าเรียนยากมากนั้นเป็นตำราเกี่ยวกับแมวแล้ว บรรดาลูกศิษย์พระของพระองค์จะตั้งใจเรียนและอ่านออกเขียนบาลีกันได้ดีขึ้น และนั่นก็เป็นที่มาของ ‘มัชชารนิติ’ ตำราแมวยอดนิยมและเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด ก่อนจะมีตำราฉบับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี เมื่อ พ.ศ.2500   

สมัยนั้นยังไม่มีการแปลพระไตรปิฎกออกเป็นภาษาไทย นิยมศึกษาจากภาษาบาลีโดยตรง นั่นคือแมวได้มีบทบาทช่วยให้พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ได้รู้พระบาลี และจะอ่านเข้าใจหลักพระธรรมคำสอนขององค์พระศาสดาจนบรรลุธรรมได้ก็เพราะมีแมวเป็นผู้ช่วยให้แรงบันดาลใจ 

การสอนอ่านเขียนบาลีโดยอุบายคือใช้แมวเป็นสื่อ ตามแบบที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเคยใช้และประสบผลสำเร็จมาก่อนนี้ ได้ปฏิบัติกันสืบเนื่องมาจนถึงหลังการอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 ผ่านบทบาทของกระทรวงธรรมการ เมื่อกระทรวงนี้ได้ปรับปรุงเปลี่ยนมาสู่กระทรวงศึกษาธิการในสมัยคณะราษฎร ก็ยังคงใช้วิธีการอย่างเดียวกันแต่ปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น คือการใช้แมวเป็นสื่อช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการอ่านออกเขียนได้แก่เยาวชน    

ขณะที่ ‘เรื่องแมวสีสวาด’ นี้เป็นแบบเรียนสำหรับสอนภาษาไทยแก่เด็กเยาวชนรุ่นใหม่หลังการอภิวัฒน์ คล้ายคลึงกับตำราแมวที่เคยใช้ในหมู่พระสงฆ์ เรียกได้ว่าเมื่อบวชเป็นพระจะอ่านเขียนบาลีออกก็เพราะแมว เมื่อเป็นเยาวชนนักเรียนสมัยนั้นจะอ่านเขียนภาษาไทยได้ก็เพราะแมว (อีกแล้วครับท่าน) 

 

‘แมวเจ้าของบ้าน’ กับ ‘ประชาชนเจ้าของประเทศ’ & เจ้านายใหม่ที่เอาใจยากภายใต้ระบอบสังคมแบบใหม่

‘เรื่องแมวสีสวาด’ แต่งในรูปร้อยแก้วเรื่องสั้น อ้างอิงสถานที่จริง อย่างเช่น กรุงเทพฯ, ชลบุรี, ศรีราชา, เกาะสีชัง, เกาะลอย เป็นต้น นอกจากนี้ แบบเรียนนี้ยังแสดงให้เห็นเหตุการณ์สำคัญ อาทิ การเข้ามาของเทคโนโลยีจักรยาน นโยบายส่งเสริมการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และทำสวนครัวในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม  การจัดงานประกวดสัตว์เลี้ยง ความนิยมท่องเที่ยวชายทะเลภาคตะวันออกที่ศรีราชาในหมู่ประชาชน ก่อนที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะมีนโยบายจัดทำโครงการปรับปรุงบริเวณย่านชายหาดบางแสนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในวันหยุด เป็นต้น 

เนื้อเรื่องเริ่มต้นจากการที่ลุงชมนำแมวใส่ตะกร้ามาให้แช่มกับสารภี หลานซึ่งเป็นฝาแฝดชาย-หญิง สำหรับเป็นของขวัญวันเกิด ตั้งชื่อตามสีขนว่า ‘สีสวาด’ (คือแมวชนิดที่ในตำราแมวนิยมเรียก ‘แมวมาเลศ’ หรือ ‘แมวดอกเลา’ ปัจจุบันนิยมเรียกอีกชื่อว่า ‘แมวโคราช’) พร้อมกับกำชับว่า

“แมวสีสวาดอย่างนี้เป็นแมวมีราคา ถ้านำไปประกวดในงานสมาคมสงเคราะห์สัตว์ อาจได้รับรางวัลก็ได้  หนูทั้งสองต้องคอยดูแลมันให้ดีนะ รักษาขนของมันให้สะอาดทุกวัน ให้มันได้กินอิ่มและให้กินเป็นเวลาด้วย”

พ่อของเด็กทั้งสองก็ช่วยยืนยันว่า “แช่มกับสารภีโชคดีจึงได้มันมา แมวสีนี้มีราคามาก” 

นอกจากนี้ ยังพบการอ้างถึงตำราแมวโบราณแต่ตีความต่างออกไป เช่นที่แช่มกล่าวว่า “คนโบราณพูดกันว่า ใครเลี้ยงแมวสีสวาดไว้ล่ะก็ดี มันอาจจะนำโชคลาภมาให้เจ้าของ เขาเห็นจะหมายความว่า แมวชนิดนี้หายาก ขายได้ราคาแพง” แต่เด็กทั้งสองไม่ได้สนใจเรื่องราคาของแมวมาก เพราะ “เมื่อมีลูกแมวสำหรับเลี้ยงไว้ดูเล่นแล้วเช่นนี้ ก็คิดถึงแต่ความสนุกอย่างเดียว”

‘เรื่องแมวสีสวาด’ ยังสะท้อนให้เห็นประเด็นเรื่องชนชั้นที่สัมพันธ์กับการเลี้ยงแมวในช่วงหลัง 2475 เพราะแช่มกับสารภีเป็นเด็กครอบครัวที่มีฐานะยากจน อาชีพทำสวนปลูกผัก ไม่มีเงินพอที่จะซื้อจักรยานให้ลูกเหมือนอย่างเพื่อนบ้านที่มีฐานะกว่า ราคาจักรยานสมัยนั้นคันละ 50 บาท ถือเป็นของแพงสำหรับสมัยนั้นและเป็นสัญลักษณ์ของฐานะมั่งมี ขณะที่สัตว์เลี้ยงอย่างแมวเป็นเครื่องปลอบใจของบ้านที่มีรายได้น้อย ดังที่สารภีพูดกับแช่มว่า

“ดูซิ เห็นไหมว่า ถึงเราไม่มีรถจักรยาน เราก็ยังมีแมวเล่น ดีกว่าเด็กพวกนั้นอีก”

สีสวาดเองแบบเรียนระบุถึงอุปนิสัยของมันว่า “มันรักเจ้าของมันนัก ทุกคราวที่เขาไปเล่นกับมัน มันเข้าไปเคล้าขา เพื่อแสดงให้รู้ว่ามันชอบเขามาก” นอกจากตะกร้าแล้ว สีสวาดยังมีปลอกคอและมีชุดสำหรับสวมใส่เข้าประกวดอีกด้วย ความแสนรู้และซุกซนแบบแมว ๆ ของสีสวาดก็เห็นได้จากการที่หลุดหายไปจากบ้าน คนตามหาจนทั่ว แต่ไม่พบ จนเมื่อ 2-3 วันผ่านไป สีสวาดก็เดินโซเซกลับมายังที่ที่มันเคยอยู่ได้เอง 

สุดท้ายแช่มกับสารภีก็ได้มีจักรยานเหมือนเด็กบ้านข้าง ๆ เมื่อนำเอาสีสวาดเข้าร่วมงานประกวดสัตว์เลี้ยงแล้วได้รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัลที่ได้เพียงพอที่จะซื้อจักรยาน สะท้อนการใช้แบบเรียนในลักษณะคล้ายกับที่เคยปรากฏในตำราแมวมาก่อน ในแง่ว่าการเลี้ยงแมวจะนำพาโชคลาภมาให้แก่ผู้เลี้ยง จากเดิมที่เป็นการอวยยศต่าง ๆ จากเจ้านาย มาสู่การประกวดแมวเป็นเครื่องยืนยันคุณวิเศษของการเลี้ยงแมว ไม่ใช่แมวในฐานะ ‘เจ้านาย’ หรือแมวในฐานะที่ทำให้ผู้เลี้ยงต้องตกเป็น ‘ทาส’ วาทกรรมทาสแมวยังไม่เกิดมีในยุคนั้น

แต่ทว่าการที่แบบเรียนได้นำแมวมาถ่ายทอดเรื่องราวแก่เยาวชนเพื่อปลูกฝังให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ที่จะยอมรับเสรีภาพและตัวตนของประชาชน ก็ทำให้แมวเป็นเจ้านายคนอยู่กลาย ๆ แต่ไม่ใช่เจ้านายในแง่เจ้าขุนมูลนายแบบเก่าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นเจ้านายที่หมายถึงประชาชนผู้มีสิทธิเสรีภาพและเป็นเจ้าของบ้าน (ประเทศชาติ)    

 

‘อ่านออกเขียนได้เพราะแมว’: ‘สีสวาด’ แมวกับการนำเสนออุดมการณ์คณะราษฎร

ในด้านนัยความหมาย ‘สีสวาด’ นอกจากเป็นแมวที่ช่วยให้เด็กเยาวชนรุ่นหลัง 2475 ได้อ่านออกเขียนได้แล้ว ‘สีสวาด’ ยังเป็นสื่อนำพาให้เยาวชนรุ่นนั้นได้มีตัวแบบเรียนรู้ถึงอุดมการณ์ของคณะราษฎรอย่างน้อย 4 ประการดังนี้

ประการแรก, การให้ตัวละครผู้เลี้ยงสีสวาดเป็นเด็กฝาแฝดชาย-หญิง ถือเป็นความพยายามที่จะสื่อถึงความมีสิทธิเสมอภาคกันระหว่างชายกับหญิงตั้งแต่เกิด ตามที่รัฐธรรมนูญหลังเปลี่ยนการปกครองได้ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ชายและหญิง หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียงเท่ากัน มาตั้งแต่แรกเริ่มมีรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องรอให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายเรียกร้องเอาเองเหมือนอย่างหลายประเทศในยุคสมัยเดียวกัน   

ประการที่สอง, เนื่องจากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แมววิเชียรมาศถูกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7 ทำให้แมววิเชียรมาศกลายเป็น ‘สัญลักษณ์ของระบอบเก่า’ เมื่อเกิดความต้องการที่จะใช้แมวสำหรับเป็น ‘สัญลักษณ์ของระบอบใหม่’ จึงต้องใช้แมวมงคลชนิดอื่น ซึ่งแมวสีสวาดได้รับการเลือกให้มีบทบาทหน้าที่ดังกล่าวนี้ แมวทั้งสองกลายเป็นคู่ตรงข้ามในทางภาพตัวแทน จาก ‘วิเชียรมาศภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ มาสู่ ‘สีสวาดในระบอบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญ’ 

อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ‘แมววิเชียรมาศ’ ในไทยและต่างแดน 200 ปีของน้องเหมียว จากสยาม ดังไปไกลทั่วโลกได้อย่างไร จากบทความนี้

ประการที่สาม, แบบเรียนเรื่องแมวสีสวาดสะท้อนการปรับเปลี่ยนความเป็นภาพตัวแทน (representation) ของแมว จากแมวในฐานะตัวแทนของ ‘ไพร่’ ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่แมวในฐานะตัวแทนของ ‘ประชาชน’ ที่มีอำนาจอธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในการเป็นตัวของตัวเอง 

ประการที่สี่ (ต่อเนื่องจากประการที่สาม), แมวอย่างสีสวาดเหมาะจะเป็นตัวแทนรูปธรรมของราษฎรผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ราษฎรหรือประชาชนที่มีอำนาจแบบแมว ๆ ที่ใครก็ไม่ควรจะไปบังคับกะเกณฑ์ให้ทำตามใจตน ถึงแม้จะเป็นฝ่ายที่มีบทบาทดูแลและปล่อยวิ่งเล่นในบ้านหรือกระทั่งเป็นผู้หาอาหารมาประเคนให้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเจ้าของแมว แมว/ประชาชนต่างหากคือเจ้าของเรา หรือนัยหนึ่งแมวก็มีอธิปไตยเหนือที่อยู่อาศัยเท่ากันกับมนุษย์ การเลี้ยงแมวจึงเป็นการฝึกจิตใจให้สอดคล้องเหมาะสมกับการเมืองและสังคมระบอบใหม่นั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า ตำราเรียนของเก่าดีกว่าของใหม่ หากแต่เพราะว่าตำราแต่ละฉบับเกิดขึ้นมาเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลแตกต่างกัน วัตถุประสงค์และอุดมการณ์เบื้องหลังต่างกัน จึงนำมาสู่ความพิถีพิถันในการถ่ายทอดแตกต่างกันตามมา เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรมีจุดมุ่งหมายที่จะนำเสนออุดมการณ์ของการเมืองการปกครองภายใต้ระบอบใหม่ โดยมีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ จึงได้ออกแบบตำราเรียนออกมาแบบนั้น

แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นในทศวรรษ 2490 สืบเนื่องจากการรัฐประหาร พ.ศ.2490 แต่แบบเรียนสอนอ่านภาษาไทยฉบับ พ.ศ.2484 ก็ไม่ได้ถูกยกเลิกหรือมีการเขียนใหม่แต่อย่างใด แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารซ้ำในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ.2501 จึงได้มีการยกเลิกแบบเรียนฉบับดังกล่าวนี้ เนื่องจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้เล่นบท ‘ปากว่าตาขยิบ’ หากแต่ประกาศอย่างตรงไปตรงมาว่าตนจะใช้อำนาจบริหารอย่างเผด็จการรวมศูนย์อำนาจ “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” และนั่นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาที่สังคมไทยถอยห่างออกจากวิถีอารยธรรมของโลกประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ชนชั้นนำไทยและผู้นำทหารในยุคหลังต่อมา     

เมื่อถึงยุคที่รัฐบาลเป็นเผด็จการอำนาจไม่ได้มีความจริงใจที่จะถ่ายทอดหรือส่งเสริมการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จะเกิดมีตำราเรียนที่พาให้เด็กไปรังแกสัตว์เล็ก ๆ อย่างกิ้งกือก็ไม่แปลก แทนที่จะปลูกฝังอุปนิสัยให้รู้จักรัก ทะนุถนอม เข้าใจ เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และเห็นค่าทุกสรรพชีวิตเท่าเทียมกัน

ในเมื่อทุกท่านต่างตระหนักถึงความสำคัญของแบบเรียน การจะมีเนื้อหาแบบใดออกมาก็ควรต้องคิดพิจารณากันให้ถี่ถ้วนรอบคอบและแสดงภูมิปัญญามากกว่าที่เป็นอยู่         

 

ภาคผนวก

หนังสือชุดแบบสอนอ่านภาษาไทย เรื่องแมวสีสวาด ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ตัวอย่างในส่วนบทที่ 1 ของหนังสือที่มีทั้งหมด 6 บท ไฟล์ตัวอย่างจากหอสมุดแห่งชาติ) 

ถอดนัยของ ‘แบบเรียนไทย’ สมัยคณะราษฎร ทำไมใช้แมวเป็นตัวกลางให้เด็กซึมซับประชาธิปไตย? ถอดนัยของ ‘แบบเรียนไทย’ สมัยคณะราษฎร ทำไมใช้แมวเป็นตัวกลางให้เด็กซึมซับประชาธิปไตย? ถอดนัยของ ‘แบบเรียนไทย’ สมัยคณะราษฎร ทำไมใช้แมวเป็นตัวกลางให้เด็กซึมซับประชาธิปไตย? ถอดนัยของ ‘แบบเรียนไทย’ สมัยคณะราษฎร ทำไมใช้แมวเป็นตัวกลางให้เด็กซึมซับประชาธิปไตย? ถอดนัยของ ‘แบบเรียนไทย’ สมัยคณะราษฎร ทำไมใช้แมวเป็นตัวกลางให้เด็กซึมซับประชาธิปไตย? ถอดนัยของ ‘แบบเรียนไทย’ สมัยคณะราษฎร ทำไมใช้แมวเป็นตัวกลางให้เด็กซึมซับประชาธิปไตย?

 

อ้างอิง:

ตำราดูลักษณะแมว กวนข้าวทิพย์-พิธีพิรุณศาสตร์ของวัดอนงคาราม. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ พุทธสรมหาเถระ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2500, พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2500.

แบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแมวสีสวาด. พระนคร: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2499.

ไม่ระบุนามผู้เขียน. ‘เรื่องแมวพึ่งพระ’ วชิรญาณวิเศษ. เล่มที่ 9 แผ่นที่ 40 วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม ร.ศ.113.  

หนังสือชุดแบบสอนอ่าน เรื่องแมวสีสวาด สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3. พระนคร: กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, 2489.

หสช. (หอสมุดแห่งชาติ) เลขที่ 2 ตู้ 121 สมุดไทยขาว ปกดำ อักษรไทย ภาษาไทย หมวดจดหมายเหตุ ชื่อมัชชารนีติ (ตำราดูลักษณะแมวและนก).