‘จะนะรักษ์ถิ่น’ นักรบผ้าถุง ผู้ปกป้องทะเลเพื่ออนาคตของลูกหลาน

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ นักรบผ้าถุง ผู้ปกป้องทะเลเพื่ออนาคตของลูกหลาน

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ นักรบผ้าถุงลุกขึ้นสู้ ปกป้องทะเล อาหาร และวิถีชุมชน สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตของลูกหลาน โดยไม่แลกสิ่งแวดล้อมกับทุนใหญ่

KEY

POINTS

  • จะนะรักษ์ถิ่นเป็นการรวมตัวของชุมชนริมหาดสะกอม  อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาที่ลุกขึ้นมาปกป้องทะเลที่พวกเขารัก
  • เพื่อสร้างรายได้ ที่นี่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้วิถีประมงของชาวจะนะ
  • นอกจากนี้ยังมี ‘โมเดลอาหารปันรัก’ การใช้เมนูเป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนและจัดหลักสูตรเพื่อสร้างแกนนำรุ่นต่อไป

26 มิถุนายน คลื่นทะเลที่หาดสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ยังคงซัดเข้าฝั่งอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเสียงของชาวบ้านที่ไม่เคยเงียบหาย พวกเขายืนหยัดอยู่กับทะเล ด้วยหัวใจที่เปี่ยมศรัทธาในผืนดินที่เรียกว่า ‘บ้าน’

ชายหญิงธรรมดาเหล่านี้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ 'เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น' กลุ่มคนที่ยืนอยู่แถวหน้าของการต่อสู้เพื่อรักษาทะเล ความมั่นคงทางอาหาร และสิทธิชุมชน พวกเขาเคยเผชิญกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ตั้งแต่ท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียเมื่อสามทศวรรษก่อน ต่อเนื่องถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน และล่าสุดคือโครงการเขตนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่มาพร้อมเม็ดเงินลงทุนหลายแสนล้านบาท

“เรามองไม่เห็นตัวเลขบนกระดาษ… แต่เรามองเห็นทะเลที่เราหากิน เห็นลูกหลานที่ยังต้องเติบโตอยู่ตรงนี้” ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าว

ชาวจะนะได้ชื่อว่าเป็น ‘นักรบผ้าถุง’ เนื่องจากปี 2564 พวกเขากว่า 40 ชีวิตเดินทางไกลขึ้นกรุงเทพฯ ยืนหน้าทำเนียบรัฐบาลและสำนักงานสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการอย่างรอบด้าน ส่งผลให้ 37 คน ถูกจับกุมในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะสวมเพียงผ้าถุงธรรมดา ๆ กลายเป็นที่มาของชื่อเรียก ‘นักรบผ้าถุง’

ท้ายที่สุด อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีเหล่านี้โดยเห็นว่า การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบปราศจากอาวุธ และเป็นการใช้สิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างถูกต้อง

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ นักรบผ้าถุง ผู้ปกป้องทะเลเพื่ออนาคตของลูกหลาน

ซึ่งถึงแม้โครงการจะถูกชะลอในเวลาต่อมา แต่ชาวบ้านจะนะรู้ดีว่า เม็ดเงินจากทุนใหญ่ไม่ได้หายไปไหน มันแค่ซ่อนตัวอยู่ในเงา และพร้อมจะกลับมาได้ทุกเมื่อ เพราะผลประโยชน์อันมหาศาล ทำให้ชุมชนนี้ รวมถึงอีกหลายชุมชน หลายภาคส่วนในอำเภอจะนะไม่อาจวางใจได้เลย

ที่บ้านของ ‘นางจันทิมา ชัยบุตรดี’ หรือ ‘ก้ะเนาะ’ ประธานกลุ่มนักรบผ้าถุง คือหนึ่งในแนวหน้า พวกเขาเริ่มเก็บ 'ข้อมูลชุมชนโดยชุมชน' ทั้งเรื่องสัตว์น้ำ ทรัพยากรชายฝั่ง อาชีพดั้งเดิม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา EHIA (Environmental Health Impact Assessment : การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) และ SEA (Strategic Environmental Assessment : การจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์) นี่ไม่ใช่เพียงงานวิจัยเชิงวิชาการ แต่คือ 'เครื่องมือแห่งการต่อรอง' ที่มีความแม่นยำและยึดโยงกับชีวิตจริง

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ นักรบผ้าถุง ผู้ปกป้องทะเลเพื่ออนาคตของลูกหลาน

ปี 2567 - 2568 ชาวบ้านจะนะร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ จนเกิดเป็นคลังทรัพยากรชายฝั่งที่น่าทึ่ง ประกอบด้วย  ปลาทะเล 156 ชนิด (ยังเก็บไม่ครบ) หอย 70 ชนิด  ปู 32 ชนิด กุ้ง 22 ชนิด หมึกอีกหลากชนิด กำลังสำรวจ แต่ยังไม่ครบ นอกจากนี้มีปลาใหญ่โลมา ฉลาม และวาฬอีก 9 ชนิด ที่มาผลุบโผล่ปรากฎตัวให้เห็นบริเวณนี้

“สิ่งที่อยู่ในทะเลของเรานั้นไม่ใช่แค่สัตว์น้ำ แต่มันคือมรดกที่หล่อเลี้ยงทั้งหมู่บ้าน” ประธานกลุ่มนักรบผ้าถุงบอก

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ นักรบผ้าถุง ผู้ปกป้องทะเลเพื่ออนาคตของลูกหลาน

ขณะเดียวกัน งานเก็บข้อมูลนี้ไม่ได้จบลงแค่ตัวเลข ชาร์ต หรือกราฟ แต่ถูกแปลงเป็นเมนูอาหารพื้นบ้าน ผ่านกิจกรรมในชุมชนที่เรียกว่า ‘อาหารปันรัก’ ซึ่งไม่เพียงแค่บอกว่า ปลาชนิดนี้คืออะไร แต่ยังสาธิตว่า เรากินมันอย่างไร เราอยู่กับมันอย่างไร ปรุงอาหารอะไรออกไป นี่คือวิธีสื่อสารทรัพยากรธรรมชาติให้เข้าใจได้ง่ายและเข้าถึงใจ

โมเดล ‘อาหารปันรัก’ สะท้อนถึงการเคลื่อนไหวที่เป็นทั้งวัฒนธรรมและการเมือง นี่คือการใช้เมนูอาหารและการเวิร์กช็อปสื่อสารเรื่องสิทธิในทรัพยากรอย่างมีรากฐาน อีกทั้งไม่เพียงแต่ชาวบ้านจะลุกขึ้นปกป้องทะเล แต่ยังกลายเป็นนักวิจัยและครูผู้ถ่ายทอดความรู้ในแบบของตนเอง

เพราะสิ่งที่ชาวจะนะต่อสู้ไม่ใช่เพื่อคนวัยพวกเขา แต่เป็นการต่อสู้เพื่อคนรุ่นต่อไป

จันทิมาเล่าเสริมว่า “เราสู้ ไม่ใช่เพื่อวันนี้ แต่เพื่อให้หลานของเรายังได้เห็นปลา ได้มีที่ออกเรือ ได้มีอาหารจากทะเลที่สะอาดและยั่งยืน”

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ นักรบผ้าถุง ผู้ปกป้องทะเลเพื่ออนาคตของลูกหลาน

อีกทั้งล่าสุดมีการจัดอบรมหลักสูตร 'ผู้นำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน' ประเด็นสิ่งแวดล้อม พื้นที่เรียนรู้จังหวัดสงขลาจากตัวแทนประเทศไทย SDGs (Sustainable Development Goals) หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นประมวลเป้าหมายของโลก 17 ข้อที่เชื่อมโยงกันที่ออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่เป็นพิมพ์เขียวเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองเพื่อประชาชนและโลก

เรื่องราวของจะนะคือบทเรียนสำคัญของการพัฒนาและการมีส่วนร่วมจากชุมชน จากคนธรรมดาที่เคยถูกมองข้าม พวกเขาได้เปลี่ยนบทบาทของตนเองให้กลายเป็นผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมในการตัดสินอนาคตบ้านเกิด

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ นักรบผ้าถุง ผู้ปกป้องทะเลเพื่ออนาคตของลูกหลาน

ชายฝั่งทะเลจะนะจึงไม่ใช่แค่ชายหาดหนึ่งในภาคใต้ แต่คือภาพสะท้อนของการต่อสู้เพื่อชีวิต สิ่งแวดล้อมกับนายทุนใหญ่ระดับประเทศ และอนาคตที่ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยการสูญเสีย

ประธานชุมชนเล่าว่า “จากอดีตถึงปัจจุบัน เราก็ยังทำเหมือนเดิม ยังเฝ้าระวังทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ของเรา พวกเราไม่เคยไว้วางใจรัฐเลย  เพราะรัฐบาลเขาจะคอยดูว่า พวกชาวบ้านเราจะอ่อนแอลงเมื่อไหร่ แล้วเขาจะจ้องจะมาทำนโยบายการลงทุนให้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมของพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กลัวว่าจะต้องสูญเสียทรัพยากรทางทะเล กลัวว่าชุมชนของเราจะต้องล่มสลายวัฒนธรรมของบ้านเราเอง

“พวกเราจึงต้องร่วมปกป้องกันอย่างเข้มแข็งให้มากขึ้น และสื่อสารให้คนข้างนอกได้เห็นความสำคัญ ให้คนทั่วประเทศไทยได้รับรู้ว่าพื้นที่จะนะมีความอุดมสมบูรณ์มากมายอย่างไร เราเก็บข้อมูล ทำ SEA ร่วมมือทำกับสภาพัฒน์ และ กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่ ถึงประมาณสิงหาคม 2568 นี้ก็จะเสร็จ 

“เราขอเรียกร้องว่า รัฐจะต้องคำนึงถึงศักยภาพของคนในพื้นที่ก่อนว่าเรามีแค่ไหน หากจะลงทุน การพัฒนาก็ต้องทำให้สอดคล้องกับวิถีของพวกเรา พี่น้องชาวบ้านต้องการแปรรูปอาหาร ต้องการท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น” 

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ นักรบผ้าถุง ผู้ปกป้องทะเลเพื่ออนาคตของลูกหลาน

ขณะที่อภิญญา ผกาเพชร นิโลมา หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนักรบผ้าถุง เล่าว่า ปัจจุบันชาวจะนะก็พยายามขยายขอบเขตวิถีชาวประมง สร้างรายได้ให้กับชุมชนในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้วิถีของชาวจะนะอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

“บ้านเราเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่อาศัยทะเลเป็นอาหารหลักและอยู่ด้วยกันมานานแล้ว สิ่งที่ชุมชนเราขับเคลื่อนอยู่ก็คือทำนอกจากขายปลาแล้วก็เป็นการแปรรูปทำกะปิ จากสูตรชาวบ้านดั้งเดิมมาปรับปรุงใหม่ให้มีสูตรและได้มาตรฐาน เพิ่มมูลค่าพัฒนาการขายทางออนไลน์ ทำชุมชนท่องเที่ยว วัฒนธรรมวิถี จากนั้นมาทานอาหารกันในชุมชน อันนี้เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์และยั่งยืนสำหรับเรา 

‘จะนะรักษ์ถิ่น’ นักรบผ้าถุง ผู้ปกป้องทะเลเพื่ออนาคตของลูกหลาน

“นอกจากนั้น เพื่อรักษาสมบัติทรัพยากรของเราให้ไปถึงคนรุ่นลูกหลาน เราทำกลุ่ม Young food และ the sea walk พวกเขาตั้งกลุ่มของเขาเอง และเริ่มมีกิจกรรมช่วยเหลือชาวบ้าน ศึกษาเรียนรู้วิถีชุมชน เด็กรุ่นลูกรุ่นเล็กออกไปอีกให้มีการสร้างจิตสำนึกและมีการรู้รักอนุรักษ์บ้านเกิดให้เข้มแข็ง มีการนำชุมชนท่องเที่ยวเสร็จแล้วก็เอาอาหารมาปรุงกันให้พวกเราได้จัดการกันในชุมชนซึ่งเป็นการก้าวต่อไปในอนาคต”

การพัฒนาหรือการลงทุนใด ๆ ในประเทศนี้ รัฐบาลต้องเข้ามาดูและยึดความต้องการของชาวบ้าน ประชาชนก่อน คำนึงถึงความยั่งยืนดูว่าเขามีอะไร เช่นที่จะนะ ที่นี่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารโลก แล้วรัฐฯ จะมาถมทะเล ทำท่าเรือ เปลี่ยนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้นรัฐควรเข้ามาส่งเสริมสิ่งต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ จึงจะสามารถเกิดการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันได้อย่างแท้จริง 

 

ภาพ : สุกรี มะดากะกุล