Situationship: เมื่อคำว่า ‘เรา’ ไม่ชัดพอ! นิยามความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อน แต่ไม่ใช่แฟน

Situationship: เมื่อคำว่า ‘เรา’ ไม่ชัดพอ! นิยามความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อน แต่ไม่ใช่แฟน

ความหมายของคำว่า Situationship เกิดจากการรวมกัน 2 คำ เป็นความสัมพันธ์ที่น่าอึดอัด มากกว่าเพื่อนแต่ยังไม่ใช่แฟน แต่ก็มากกว่าคู่นอน เพียงแต่ยังไม่จริงจัง ไม่กำหนดเวลา และไม่มีอนาคตกำกับ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z

  • Situationship มาจาก 2 คำผสมผสานกันเป็นความหมายใหม่ ถูกนิยามในช่วงแรก ๆ ตั้งแต่ปี 2006
  • ความหมายของคำว่า Situationship คือความอึดอัด กระอักกระอ่วนในความสัมพันธ์ มากกว่าเพื่อน มากกว่าคู่นอน แต่ไม่ใช่แฟน
  • ‘จนาธาน อัลเพิร์ต’(Jonathan Alpert) นักจิตบำบัด มองว่าความสัมพันธ์แบบ Situationship ได้รับความนิยมในกลุ่ม Gen Z

ความสัมพันธ์แบบ ‘จูบได้...แต่เป็นแค่เพื่อนกัน’ หลายคนอาจจะงง ๆ ว่ามันคือความสัมพันธ์แบบไหนกันแน่? แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ น่าจะรู้สึกคุ้นเคยอยู่บ้างเพราะพวกเขาเรียกความสัมพันธ์นี้ว่า ‘Situationship’

คำ ๆ นี้ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งช่วงแรก ๆ ที่ถูกนิยามขึ้น มาจาก Urban Dictionary เพื่อจำกัดความความสัมพันธ์แบบนี้ โดยมาจาก 2 คำรวมกัน ก็คือ situation (สถานการณ์) และ relationship (ความสัมพันธ์) หมายถึง ความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกรูปแบบหนึ่งที่ยังไม่มีคำจำกัดความชัดเจน เป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อน อึดอัด กระอักกระอ่วน ของคนสองคน

ถึงแม้ว่าความหมายของคำว่า ‘Situationship’ จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ใน Urban Dictionary แต่ภาพรวมยังคงพูดถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน หรือมีความคลุมเครือสูงอยู่ดี เช่น ในปี 2018 ที่นิยามความหมายไว้ว่า “มาชิล ๆ กัน มีเซ็กซ์กัน แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ก็มีความรู้สึกให้กันและกัน”

ในปี 2022 ‘จนาธาน อัลเพิร์ต’(Jonathan Alpert) นักจิตบำบัด ได้นิยามความหมายคำนี้อีกครั้งว่า “น้อยกว่าเป็นแฟนกัน แต่ก็มากกว่าคู่นอน (booty call) เป็นความสัมพันธ์ที่โรแมนติก แต่ไม่มีสถานะกำหนด ไม่มีการวางอนาคต”

แต่ความสัมพันธ์แบบ Situationship ก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบ FWB : Friend with Benefit ซึ่งมีหลายคนที่เข้าใจผิด เพราะ FWB จะหมายถึงแค่เรื่องเซ็กซ์อย่างเดียว คนใดคนหนึ่งอาจจะมีแฟนหรือความสัมพันธ์ที่จริงจังอยู่แล้วก็ได้ แต่ Situationship จะเป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ระหว่างทาง ไม่ใช่เพื่อน และก็ไม่ใช่แฟน (อาจจะยังศึกษากันอยู่ เดตกัน หรือแช่แข็งความสัมพันธ์ก่อนเพื่อดูท่าที แต่ก็ตอบไม่ได้ว่าจะพัฒนาต่อหรือไม่)

 

ความสัมพันธ์แบบคน Gen Z

งานวิจัยของ ‘เอลิซาเบธ อาร์มสตรอง’ (Elizabeth Armstrong) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในสหรัฐอเมริกา ได้พูดถึงความสัมพันธ์นี้ในกลุ่มคน Gen Z เพราะมาแรง และมีความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าพวกเขาจะรู้สึกว่า Situationship เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ในสถานการณ์การยากจะอธิบาย เป็นการออกเดต ที่บางครั้งก็ทำให้อึดอัด

“นิยามของ Situationship มาช่วยแก้ปัญหาความต้องการที่พลุ่งพล่านของคน Gen Z ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซ็กซ์, ความใกล้ชิด, มิตรภาพ โดยไม่จำเป็นต้องมีกรอบเวลามากำหนด”

ที่น่าสนใจคือ คนกลุ่มใหญ่ขึ้นเริ่มยอมรับความสัมพันธ์แบบ Situationship โดยมีการค้นหาบน Google สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2020 ความนิยมของความสัมพันธ์นี้ยังเคยถูกนำมาตั้งเป็นชื่อเพลงของศิลปินชาวสวีเดนอย่าง Snoh Aalegra เมื่อปี 2019 ด้วย

ในโลกของคนรุ่นใหม่ หรือคน Gen Z อาจจะมองว่าเป็นความแฟร์ในความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องเร่งรีบ ค่อย ๆ ศึกษากัน แต่ก็สามารถทำสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องหักห้ามใจได้ด้วย แต่สำหรับ เอลิซาเบธ อาร์มสตรอง ในฐานะที่เป็นนักวิจัยเรื่องเพศวิถี และความสัมพันธ์แบบนี้โดยเฉพาะ

เธอไม่ค่อยเห็นด้วยกับสิ่งนี้ซึ่งก็ไม่ผิด เพราะมองว่า แนวคิดแบบ Situationship เป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้ ‘เสียเวลา’ เป็นการยึดติดกับคนที่ยังไม่พร้อมจะเดินไปทางไหนเลย ไม่มีเป้าหมาย ซึ่งตรงกันข้ามกับ Gen Z ที่ค่อนข้างเต็มใจเปิดรับพื้นที่สีเทาของความสัมพันธ์ที่ไม่มีอะไรกำหนดชัดเจนเลย

แต่ไม่ว่า ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เรื่องของความสัมพันธ์เป็นเรื่องของคน 2 คน หรือ บางทีก็มากกว่า 2 คน เราไม่ควรตัดสิน ไม่ควรตำหนิ หากความสัมพันธ์นั้น ๆ ไม่ได้สร้างความร้อนใจให้ใคร ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องของความพอดีและถูกจังหวะ เพราะถ้าคนใดคนหนึ่งที่เริ่มรู้สึกมากกว่า คาดหวังมากกว่า และอยากเดินหน้าต่อ...ก็ให้นับว่าเป็นความ(ไม่)พอดี ที่ต้องยุติให้เร็วก่อนจะพัง

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

Situationship

‘Situationships’: Why Gen Z are embracing the grey area

Situationship meaning

A Psychologist Helps You Understand If You’re In A Relationship Or A ‘Situationship’