เคทลิน ‘บรูซ’ เจนเนอร์ เกิดเป็นชาย แต่ขอตายเป็นหญิง วีรบุรุษโอลิมปิก สู่ราชินีข้ามเพศ

เคทลิน ‘บรูซ’ เจนเนอร์ เกิดเป็นชาย แต่ขอตายเป็นหญิง วีรบุรุษโอลิมปิก สู่ราชินีข้ามเพศ

เคทลิน ‘บรูซ’ เจนเนอร์ เกิดเป็นชาย แต่ขอตายเป็นหญิง วีรบุรุษเหรียญทองโอลิมปิก และบิดา (พ่อเลี้ยง) ตระกูล ‘คาร์เดเชียน’ ก้าวมาเป็น ‘ราชินีสตรีข้ามเพศ’ ไม่กลัวคนเรียกขานชื่อเก่า และยอมรับตัวตน ‘สองคนในร่างเดียว’

“เขายังคงอยู่ในร่างของฉัน ฉันยังทำอะไรหลายอย่างที่บรูซคนเก่าเคยทำ ฉันยังคงชอบขับเครื่องบินและขับรถแข่งเป็นครั้งคราว ฉันสามารถมีโลกสองใบที่ดีที่สุดได้พร้อม ๆ กัน”

เคทลิน เจนเนอร์ (Caitlyn Jenner) กล่าวถึงความรู้สึกของตัวเอง

หากเหรียญมีสองด้าน และมนุษย์ทุกคนล้วนมีสองมุม ทั้งมุมมืดและมุมสว่าง ผู้หญิงข้ามเพศที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลกอย่าง ‘เคทลิน เจนเนอร์’ ยอมรับว่า เธอก็มีสองร่างทั้งชายและหญิงอยู่ในคน ๆ เดียวกัน

‘เคทลิน เจนเนอร์’ หรือชื่อเดิมที่คนทั่วโลกรู้จักกันมายาวนานว่า ‘บรูซ เจนเนอร์’ (Bruce Jenner) เป็นชาวอเมริกัน เกิดที่เมืองเมาต์คิสโก ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1949

ชีวิตของเธอเริ่มจากการเป็นเด็กผู้ชายธรรมดา ซึ่งมีปัญหาบกพร่องด้านการเรียนรู้ (dyslexia) ทำให้เรียนหนังสือไม่เก่ง แต่พอขึ้นชั้น ป.5 ก็มาค้นพบพรสวรรค์ด้านกีฬา เมื่อครูพละสั่งให้นักเรียนทุกคนวิ่งจับเวลาแข่งกัน และเธอเป็นเด็กที่ทำเวลาได้ดีที่สุดในโรงเรียน

หลังจากนั้น ชีวิตของเด็กชาย ‘บรูซ’ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บรูซกลายเป็นนักกีฬาที่สาว ๆ คลั่งไคล้ เล่นได้ทั้งบาสเกตบอล กรีฑา ไปจนถึงสกีน้ำ และได้ทุนเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่เกรซแลนด์ คอลเลจ ในรัฐไอโอวา ด้วยโควตานักกีฬาอเมริกันฟุตบอล

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ร่างกายกำยำและหน้าตาอันหล่อเหลาของหนุ่มผู้มีนามว่า ‘บรูซ’ ยังมีอีกร่างของหญิงสาวชื่อ ‘เคทลิน’ ซุกซ่อนไว้ และไม่เปิดเผยให้ใครได้เห็น

“ตอนฉันอายุราว 10 - 11 ขวบ ฉันชอบแอบเข้าไปในตู้เสื้อผ้าของแม่ เมื่อพ่อแม่ออกไปข้างนอก ฉันจะเอาเสื้อผ้ามาลองใส่ ทาลิปสติก กลัวแทบตายว่าจะถูกจับได้ แต่ก็ไม่เคยมีใครมาเห็น” เคทลินเปิดใจในหนังสารคดีของ Netflix ที่ชื่อ ‘Untold: Caitlyn Jenner’

เธอบอกว่า นอกจากปัญหา dyslexia ที่ทำให้เรียนหนังสือไม่เก่ง เธอยังมีอาการ gender dysphoria ที่ก่อให้เกิดความทุกข์ใจจากเพศสภาพ และทำให้รู้สึกสับสนในตัวตนของตัวเองมาตลอด

“ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ทุกอย่างมันเกิดขึ้นในหัวของคุณ ฉันเป็นแค่คนชอบแต่งตัวข้ามเพศใช่มั้ย การแต่งตัวข้ามเพศมันช่วยปลุกเร้าอารมณ์ทางเพศของฉันใช่มั้ย งั้นฉันกำลังมีเซ็กซ์กับตัวเองเหรอ นี่ฉันเป็นเกย์หรือไม่?”

คำถามและความสับสนเหล่านี้ที่เข้ามารบกวนจิตใจ ทำให้บรูซเลือกหาทางออกด้วยการทุ่มเทเวลาไปกับการเล่นกีฬา

ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิก

บรูซเบนเข็มจากการเป็นนักอเมริกันฟุตบอล มาเป็นนักทศกรีฑา (decathlon) หลังจากมีปัญหาบาดเจ็บที่หัวเข่า เขาทุ่มเทเวลาฝึกซ้อมจนติดทีมชาติสหรัฐอเมริกาไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยการคว้าเหรียญทองทศกรีฑาชายในโอลิมปิกปี 1976 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา

บรูซ เจนเนอร์ กลายเป็นฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกของอเมริกา เพราะนอกจากจะทำลายสถิติโลกได้สำเร็จ เขายังโค่นแชมป์เก่าจากสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอเมริกา ทั้งในสนามกีฬาและเวทีการเมือง ท่ามกลางความตึงเครียดของโลกในยุคสงครามเย็น

“ฉันพิชิตมาแล้วทุกยอดเขา ฉันประสบความสำเร็จมาทุกอย่างที่สามารถทำได้ บรูซ เจนเนอร์ แชมป์โอลิมปิก นักกรีฑาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก แต่ฉันก็ยังเป็นคนเดิม ต้องเผชิญกับปัญหาเดิม ๆ

“ฉันจำได้ดีในวันถัดมา ตอนตื่นนอน เดินไปเข้าห้องน้ำ เหรียญรางวัลวางอยู่ตรงนั้นบนเคาน์เตอร์ ฉันไม่ได้สวมเสื้อผ้าสักชิ้น มีแค่เหรียญโอลิมปิกห้อยคอ ฉันมองไปยังกระจกบานใหญ่ และพูดว่า ‘นายเพิ่งทำบ้าอะไรลงไป”

หลังกลับจากโอลิมปิกครั้งนั้น กราฟชีวิตของบรูซก็พุ่งขึ้นแบบสุด ๆ เขาได้ขึ้นปกนิตยสารมากมาย และไปตระเวนออกรายการทีวี กลายเป็นนายแบบโฆษณา และแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับซีเรียลอาหารเช้าชื่อดัง ก่อนจะมาเล่นหนังและละครหลายเรื่อง กลายเป็นเซเลบริตี้คนดังภายในชั่วข้ามคืน

“โอลิมปิกเกมส์ คือ สิ่งที่ทำให้ชีวิตฉันไขว้เขวจากตัวตนจริง ๆ มากที่สุด ฉันหวาดกลัวว่า สิ่งนั้นอาจทำให้ตอนนี้ฉันต้องหันมาจัดการกับตัวเองอีกครั้ง

“ผู้คนหลงใหลเรื่องราวดี ๆ แบบนี้ เป็นลูกหลานชาวอเมริกันตัวจริง มีภรรยาออกไปช่วยทำงาน ฉันไม่คิดว่าจะทนมีชีวิตอย่างนั้นได้”

 

ชีวิตสมรสและตัวตนที่ซ่อนไว้

บรูซแต่งงานทั้งหมด 3 ครั้ง ภรรยาคนแรกเป็นเพื่อนนักศึกษาที่คบกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ชื่อ ‘คริสตี้’ (Crystie) มีลูกด้วยกัน 2 คน (เบิร์ต และเคซี) จากนั้นจึงหย่าร้างและไปแต่งงานอยู่กินเป็นเวลาสั้น ๆ กับดารานางแบบชื่อ ‘ลินดา ธอมป์สัน’ (Linda Thompson) มีลูกด้วยกัน 2 คน (แบรนดอน และโบรดี) ก่อนจะมาพบรักกับ ‘คริส คาร์เดเชียน’ (Kris Kardashian) แอร์โฮสเตสไฮโซที่เป็นแม่ของ ‘คิม คาร์เดเชียน’ อดีตเจ้าสาวของแรปเปอร์ชื่อดัง ‘คานเย่ เวสต์’

เคทลินเผยว่า ก่อนมารับบทพ่อเลี้ยงตระกูลคาร์เดเชียน เธอใช้ฮอร์โมนเพื่อบำบัดอาการ gender dysphoria และเคยคิดจะผ่าตัดแปลงเพศมาก่อนแล้ว ซึ่ง ‘คริส’ รู้เรื่องนี้ดี แต่เพราะทั้งคู่รักกัน และคริสมั่นใจว่า เธอสามารถดึง ‘บรูซคนเดิม’ กลับมาได้ ทั้งสองจึงตกลงแต่งงานกัน และมีลูกด้วยกันอีก 2 คน (เคนดัลล์ และไคลี)

การมีครอบครัวใหญ่ต้องดูแล (บรูซ - คริสมีลูกติดมาฝั่งละ 4 คน ทำให้ทั้งคู่มีลูกรวมกัน 10 คน) และแต่ละคนมีไลฟ์สไตล์ที่หรูหราฟู่ฟ่า ทำให้พ่อแม่ต้องพยายามหาทางปั๊มเงินมาเติมในบัญชี จนในที่สุดจึงเกิดเป็นรายการเรียลิตี้ เกาะติดชีวิตของสมาชิกตระกูลนี้ที่ชื่อ ‘Keeping Up with The Kardashians’ เริ่มออกอากาศซีซั่นแรกในปี 2007

ความสำเร็จของรายการ ‘Keeping Up with The Kardashians’ ที่ออนแอร์ติดต่อกันยาวนานถึง 20 ซีซั่น นอกจากจะทำให้ครอบครัว ‘คาร์เดเชียน - เจนเนอร์’ มีชื่อเสียงและร่ำรวยขึ้นไปอีกขั้น มันยังทำให้ชื่อของ ‘บรูซ เจนเนอร์’ เป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ แม้จะเกิดไม่ทันกีฬาโอลิมปิกปี 1976 ก็ตาม

“ฉันรักการทำหน้าที่พ่อ รักการขับรถพาลูก ๆ ไปไหนมาไหน ชอบให้คำปรึกษา และเลี้ยงดูพวกเขาจนเติบใหญ่ แต่ปัญหาส่วนตัวของฉันก็ยังไม่ได้หายไป”

ความพยายามดึง ‘บรูซคนเดิม’ กลับมาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะในปี 2015 ‘บรูซ’ ขณะมีอายุ 65 ปี ตัดสินใจหย่าขาดกับภรรยาคนที่สาม ซึ่งอยู่กินกันมานาน 22 ปี และประกาศเปิดตัว ‘เคทลิน’ ในร่างของตัวเองออกมาให้คนทั่วโลกรับทราบเป็นครั้งแรก

เธอเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ และเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เคทลิน’ อย่างเป็นทางการ ก่อนขึ้นปกนิตยสาร Vanity Fair อวดเรือนร่างใหม่ที่กลายเป็นหญิง และถูกยกย่องให้เป็น ‘ราชินี’ สตรีข้ามเพศที่โด่งดังที่สุดในโลก ถึงขั้น ‘กินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด’ ต้องจดบันทึกไว้ในเดือนมิถุนายน 2015 ในฐานะผู้ทำยอดคนติดตามบน ‘ทวิตเตอร์’ ครบล้านได้เร็วที่สุด ภายในเวลา 4 ชั่วโมง 3 นาที ทำลายสถิติเดิมของ ‘บารัก โอบามา’ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ

“ฉันใช้เวลาทั้งชีวิตปิดบังตัวเองมาจนถึงจุดนั้น ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ฉันแค่ต้องการตบหน้าทุกคน และพูดว่า ‘พวกมึงหยุดยุ่งกับกูได้แล้ว นี่แหละตัวกู’ จงยอมรับมัน”

เคทลินระบายด้วยความอัดอั้น แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า แม้คนข้ามเพศทั่วไปจะไม่ชอบให้ใครมาเรียกชื่อเก่าของตัวเอง เพราะชื่อนั้นสำหรับพวกเขาเหมือน ‘คนที่ตายไปแล้ว’ แต่สำหรับเธอ ‘บรูซ’ ยังไม่จากไปไหน และเป็นอีกร่างที่เธอภาคภูมิใจเสมอ

“ฉันมีชีวิตมา 65 ปี ถูกต้องมั้ย ฉันชอบบรูซ เขาเป็นคนดี ชีวิตของเขาทำสิ่งต่าง ๆ สำเร็จมามากมาย จะบอกว่า ‘เขาไม่มีตัวตน’ งั้นเหรอ มันไม่ใช่อย่างนั้น เขามีตัวตน เขาสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา เขาเป็นแชมป์กีฬาโอลิมปิก เขาเลี้ยงดูลูก ๆ ได้น่าทึ่ง เขาทำสิ่งดี ๆ มากมาย และมันไม่ใช่เพราะฉันต้องการทิ้งขว้างเขาไป”

เคทลินตอกย้ำการมีโลกสองใบภายในตัวเอง โดยชี้ว่า แม้ตอนนี้เธอจะอยู่ในร่างสตรี แต่บางทีเธอก็ยังเล่นกีฬาที่ ‘บรูซ’ เคยชอบ เธอยังชอบขับเครื่องบินและแข่งรถเหมือนที่บรูซเคยทำ

เธอไม่ต้องการให้ใครลืมคนชื่อ ‘บรูซ เจนเนอร์’ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากกักขังตัวเองไว้ในเพศสภาพเดิมอีกต่อไป และนั่นคือเหตุผลว่า ทำไมเธอจึงเลือกเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงอีกมุมในชื่อ ‘เคทลิน เจนเนอร์’ ออกมา เพื่อจะบอกให้โลกรู้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในเพศสภาพใด คนเราล้วนมีคุณค่าและสามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ต่างกัน

 

เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล

ภาพ: (ซ้าย) บรูซ เจนเนอร์ กับเหรียญทองโอลิมปิก 1976 และภาพหลังผ่าตัดแปลงเพศเป็น ‘เคทลิน เจนเนอร์’ จาก Getty Images

อ้างอิง:

‘Untold: Caitlyn Jenner’ ภาพยนตร์สารคดีของ Netflix

The Guardian