การเมืองเรื่องผู้ลี้ภัย “ฮาคีม อัล อาไรบี” ชายผู้แสวงหาที่ปลอดภัยเพื่อเล่นฟุตบอล

การเมืองเรื่องผู้ลี้ภัย “ฮาคีม อัล อาไรบี” ชายผู้แสวงหาที่ปลอดภัยเพื่อเล่นฟุตบอล

ชายผู้แสวงหาที่ปลอดภัยเพื่อเล่นฟุตบอล

“มันเยี่ยมมากที่ได้เล่นฟุตบอล แต่ทำไมผมถึงต้องเตะฟุตบอลในคุก ในเมื่อผมไม่ได้ทำอะไรผิด ผมเป็นผู้ลี้ภัย” (ฮาคีมกล่าวกับเครก ฟอสเตอร์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลียขณะเข้าเยี่ยม) สำหรับฮาคีม อัล อาไรบี (Hakeem Al-Araibi) นักฟุตบอลกองหลังหมายเลข 5 ของสโมสรพาสโค เวล (Pascoe Vale FC) ในลีกกึ่งอาชีพในประเทศออสเตรเลีย คงไม่คิดว่าการเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยกับภรรยาเพื่อฮันนีมูนเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 และถูกจับที่สนามบินสุวรรณภูมิจะทำให้ชีวิตของเขาตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศบาห์เรนที่ตัวเขาหนีภยันตรายมา การจับกุมดังกล่าวเกิดจากนายฮาคีมมีหมายจับที่ออกโดยองค์กรตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ออกให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกติดตามเขาให้มารับโทษที่บาห์เรน ทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ออกแถลงการณ์ว่า “การกักตัวดังกล่าวเป็นไปตามการตอบสนองต่อการแจ้งหมายแดง ซึ่งได้รับการแจ้งเตือนจากสำนักงานกลางตำรวจสากลแห่งชาติออสเตรเลีย (Interpol National Central Bureau) และคำร้องขออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลบาห์เรนเพื่อจับกุมและส่งผู้ร้ายข้ามแดน” อย่างไรก็ตามยังมีข้อสงสัยต่างๆ ถึงการออกหมายแดงของสำนักงานกลางตำรวจสากลแห่งชาติออสเตรเลีย หรือการจับกุมนายฮาคีมที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยทั้งที่มีเอกสารการเดินทางและวีซ่าที่ถูกต้อง ก่อนที่เขาจะลี้ภัยไปออสเตรเลีย ฮาคีมเป็นนักเตะที่มีพรสวรรค์และเป็นนักเตะอนาคตไกลของทีมชาติบาห์เรน เขาคงไม่คิดว่าชีวิตการค้าแข้งของเขาจะถึงจุดเปลี่ยนเมื่อเขาถูกตัดสินจากศาลในประเทศบาห์เรนใน ปี 2557 ให้จำคุก 10 ปี ในข้อหา 1) ลอบวางเพลิงสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในกรุงมานามา เมืองหลวงประเทศบาห์เรนซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน 2) ชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายมากกว่า 5 คนในที่สาธารณะ 3) ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออาชญากรรมและก่อกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชน 4) ครอบครองวัตถุไวไฟ ซึ่งเป็นระเบิดขวด เพื่อวัตถุประสงค์ในการก่ออันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และ 5) ทำให้รถยนต์ส่วนบุคคลของผู้อื่นเสียหาย โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2555 แต่อย่างไรก็ตามการตัดสินคดีครั้งนี้เป็นการตัดสินคดีแบบลับหลังซึ่งเป็นการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม เพราะเขาอยู่ในระหว่างการเล่นฟุตบอลกับทีมชาติของเขาในประเทศการ์ตา จากนักเตะที่มีพรสวรรค์สูงสู่ผู้ต้องหา หากจะถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับฮาคีม อาจจะต้องย้อนกลับไปที่เหตุการณ์อาหรับสปริงในประเทศบาห์เรน การชุมนุมประท้วงของประชาชนในประเทศอาหรับเพื่อเรียกร้องการปฎิรูปการเมือง ความเท่าเทียมระหว่างผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกาย ซุนนีและชีอะห์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเริ่มขึ้นในประเทศบาห์เรนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2554 สำหรับประเทศบาห์เรนนั้นปกครองโดยราชวงศ์ อัล คาลิฟะห์ โดยกลุ่มผู้ปกครองนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือนิกายชีอะห์ โดยผู้คนหลายพันคนเข้าร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ โดยกลุ่มนักกีฬาในประเทศบาห์เรน อาทิเช่น นักฟุตบอล นักมวยปล้ำ นักแฮนด์บอลก็ได้เข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนั้น อย่างไรก็ตามการชุมนุมในครั้งนี้ได้ถูกยุติลงจากการปราบปรามด้วยความรุนแรง หลังจากเหตุการณ์อาหรับสปริง เจ้าหน้าที่รัฐบาลบาห์เรนได้มีการติดตามจับกุมนักกีฬาที่ได้เข้าร่วมการชุมนุม โดยมีนักฟุตบอล 3 คนได้ถูกไล่ออกจากสโมสรและทีมชาติ ต่อมาได้ถูกจับ และทรมาน หลังจากนั้นนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน 6 คนได้ทำการลี้ภัยออกนอกประเทศ ในปี 2555 ได้เกิดเหตุการณ์การประท้วงอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์นั้นคือการทำลายสถานีตำรวจในเมืองมานามา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงมาถึงฮาคีม ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 นายฮาคีมวัย 19 ปีโดนจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ระหว่างการเดินทางไปดูฟุตบอลบิ๊กแมตช์ ระหว่าง รีล มาดริดกับบาร์เซโลน่า ที่คาเฟ่แห่งหนึ่ง ซึ่งนับเป็นการฉลองวันเกิดอันน่าเศร้าของเขา เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาการทำลายสถานีตำรวจแก่ฮาคีม ซึ่งฮาคีมอ้างว่าเขาไม่ส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เพราะเขากำลังเตะฟุตบอลให้กับสโมสรต้นสังกัด อัล ชาบับ (Al-Shabab) ที่มีการถ่ายทอดสดอยู่ จากข้อมูลของสถาบันเพื่อสิทธิและประชาธิปไตยบาห์เรนพบว่าการตัดสินของศาลดังกล่าวไม่ชอบธรรมและไม่สอดคล้องกับหลักฐาน การกล่าวหาเริ่มมาจากการสารภาพของพี่ชายของนายฮาคีม (ที่มีการคาดการณ์ว่าจะถูกข่มขู่และบีบบังคับ) ที่ขณะนี้รับโทษจำคุก 10 ปีในข้อหาเดียวกับน้องชาย ว่าในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2555 เขา นายฮาคีม และผู้ชุมนุมกว่า 150 คนเข้าทำลายสถานีตำรวจในเวลา 18.30 น. โดยเวลาดังกล่าวอยู่ในช่วงที่ฮาคีมลงเตะให้ทีมต้นสังกัดอยูซึ่งเริ่ม 17.30 น. และสิ้นสุด 19.20 น. และมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ อย่างไรก็ตามศาลได้ตัดสินว่าผู้ชุมนุมได้เริ่มโจมตีสถานีตำรวจเวลา 20.00 น. ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าฮาคีมมีเวลาเดินทางจากสนามฟุตบอลเข้าร่วมก่อเหตุ เขาถูกกักขังเป็นเวลา 45 วัน โดยในระหว่างนี้เขากล่าวว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่ทำทรมานให้รับสารภาพ “เจ้าหน้าที่เอาผ้าปิดตาผม พวกเขาทุบตีผม โดยเฉพาะตรงขาและพูดว่า พวกเขาจะทำลายอนาคตการเล่นฟุตบอลของผม และจะทำให้ผมไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้อีก” เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาตัดสินใจลี้ภัยเมื่อได้โอกาสเดินทางไปเล่นฟุตบอลทีมชาติในประเทศกาตาร์ โดยเขาหนีไปยังประเทศอิหร่านก่อนที่จะทำเรื่องขอลี้ภัยในประเทศออสเตรเลียในเดือนพฤษภาคม 2557 และได้สถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ในช่วงที่เขาลี้ภัยในประเทศออสเตรเลีย เขาได้แสดงความคิดเห็นหลายต่อหลายครั้งต่อ ชีคซัลมาน บิน อิบราฮิม อัล คาห์ลิฟห์ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลบาห์เรนในขณะนั้น ว่าไม่ได้ทำอะไรเพื่อคุ้มครองนักฟุตบอลที่ถูกจับและทรมานและมีส่วนในการจับกุมนักกีฬาที่เข้าร่วมการชุมนุมในเหตุการณ์อาหรับสปริง โดยเฉพาะในช่วงที่ชีคซัลมานลงสมัครเป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติในปี 2559 หลังจากลี้ภัย ฮาคีม ด้วยความรักในอาชีพฟุตบอล เขาได้เริ่มชีวิตค้าแข้งใหม่กับสโมสรฟุตบอลในประเทศออสเตรเลีย ได้ลงเล่นให้กับสโมสรฟุตบอลในประเทศออสเตรเลีย 3 สโมสรก่อนที่จะเป็นกองหลังหมายเลข 5 ของสโมสรพาสโค เวล ตั้งแต่ปี 2560 (2017) โดยประธานสโมสรพาสโค เวล ได้กล่าวกับสนำข่าว ABC ของออสเตรเลียว่า “นายอัล อาไรบี เป็นคนสุภาพ และเป็นที่รักของเพื่อนร่วมทีม เขาไม่เคยออกนอกกรอบ เขาเป็นคนที่ถ่อมตัว” ถึงแม้ว่าผ่านหลังหมายแดงของนายฮาคีมจะถูกยกเลิกเพราะการออกหมายเพื่อจับกุมผู้ลี้ภัยหรือผู้ที่กำลังยื่นเรื่องขอลี้ภัยทางการเมือง เป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการของอินเตอร์โพล แต่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้เริ่มต้นแล้วโดยในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลอาญาของไทยยังไม่ได้พิจารณาคำขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากนายฮาคีมให้การปฏิเสธการกลับไปรับโทษที่ประเทศบาห์เรนโดยสมัครใจ โดยศาลให้นายฮาคีมและทนายยื่นคำร้องคัดค้านการส่งกลับบาห์เรนภายในวันที่ 5 เมษายน 2562 และจะทำการพิจารณาเอกสารในวันที่ 22 เมษายน 2562 เหนือสิ่งอื่นใดและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศาลประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับหลักฐาน ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม หลักการสากล การไม่บังคับผลักดันออกนอกประเทศไปสู่อันตราย หรือ non-refoulement และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการคุ้มครองผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง นักฟุตบอลคนหนึ่ง พลเมืองโลกคนหนึ่ง และมนุษย์คนหนึ่ง “ขอให้พวกคุณช่วยต่อสู้เพื่ออิสรภาพของผม และโปรดอย่าหมดหวัง” จากเรื่องราวทั้งหมดจะเห็นได้ว่าทุกช่วงชีวิตของฮาคีม เขามีฟุตบอลอยู่เคียงข้างเขาเสมอ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่บ้านเกิดบาห์เรน ประเทศที่เขาลี้ภัยออสเตรเลีย หรือในเรือนจำในประเทศไทย เพราะเขารักในการเล่นฟุตบอล กีฬาสอนให้เรามีน้ำใจและมีมิตรภาพต่อผู้อื่น ผู้ลี้ภัยสอนให้เราเคารพความแตกต่างและรักเพื่อนมนุษย์ เพื่อให้เขาได้กลับไปเตะฟุตบอลที่เขารัก อ้างอิง http://fiasports.com/hakeem-al-araibi-football-hero-to-tortured-villain/ https://www.worldfootball.net/player_summary/hakeem-al-araibi/ https://gulfnews.com/world/gulf/bahrain/bahrain-sentences-football-player-to-10-years-in-jail-1.1275112 https://voicetv.co.th/read/YIICNj3vy https://www.itv.com/news/2015-11-03/itv-news-speaks-to-bahraini-footballer-as-fifa-presidential-candidate-sheikh-salman-denies-allegations-of-torture/ https://www.nytimes.com/2016/02/25/sports/soccer/sheikhs-candidacy-opens-new-door-to-criticism-of-fifa-human-rights.html https://www.youtube.com/watch?v=wxaroSUUIek&t=101s https://www.sbs.com.au/news/how-al-araibi-became-a-political-football https://www.news.com.au/sport/sports-life/craig-foster-steps-up-campaign-to-help-refugee-footballer-hakeem-alaraibi/news-story/d7b56da24963e536ab269d79a8e6396c https://www.theguardian.com/australia-news/2018/dec/13/hakeem-al-araibi-australian-interpol-office-alerted-thailand-arrival-bahrainian-refugee http://mfa.go.th/main/th/news3/6886/97217-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2-Hakeem-Ali-Mohamed-Ali-Al-Oraibi.html http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/826088 https://web.facebook.com/AmnestyThailand/videos/230722034478801 เรื่อง: Our Fields’ Story(เรื่องเล่าจากในฟิลด์)